xs
xsm
sm
md
lg

“ป้าแจ๋ว” เห็นต่าง MV ยักษ์เที่ยวไทย ไม่ค่อยมีรสนิยม - อดีต ปธ.โขนธรรมศาสตร์ ระบุไม่น่าใช้เป็นตัวตลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้กำกับละครชื่อดัง ระบุ เอ็มวี เที่ยวไทยมีเฮ ทำให้เป็นป๊อปไม่ว่า แต่ดูรวม ๆ แล้วไม่ค่อยมีรสนิยม ไม่สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น ขาดรสนิยมทางศิลปะในการนำเสนอ ด้านอดีตประธานชมรมโขนธรรมศาสตร์ ห่วงเอาโขนมาเป็นตัวตลก ทั้งที่เป็นเครื่องแต่งกายของกษัตริย์ อยากให้ใจเขาใจเรา เปรียบเหมือนฝรั่งแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ชาวพุทธก็ไม่สบายใจ

แม้จะมีกระแสความไม่พอใจที่หน่วยงานภาครัฐออกมาตำหนิมิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” ของ อ๊อด บัณฑิต ทองดี ไม่เหมาะสม แต่ก็มีความเห็นต่างที่น่าสนใจ เฉกเช่น ป้าแจ๋ว - ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ผู้กำกับละครชื่อดัง โพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว @paajaew ระบุว่า “เพิ่งได้ชม MV ที่แชร์กันมากมาย ขอบอกว่า การเอาเรื่องคลาสสิก มาทำเป็นป๊อปคัลเจอรัลนั้น ทำได้ไม่ผิดหรอก แต่ถ้าจะมีอะไรที่ไม่เข้าท่า ก็คือ การออกแบบ MV และการถ่ายทำที่ดูไม่ค่อยมีรสนิยม ทำให้ของคลาสสิกที่นำมาบูรณาการ ดูไม่สวยงามเท่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งวิวเมืองไทย ก็เลือกมาไม่สวย คอสตูมไพร่พล ก็ดูลวก ๆ หยาบ ๆ จังหวะจะโคนของดนตรีก็ยังไม่น่าฟัง ถ้าคิดภาพรวม เลือกโลเกชันเมืองไทยที่สวย ๆ วางแผนการถ่ายให้ดูมีเรื่องราวมากกว่านี้ ทำเพลงที่มีกลิ่นอายของดนตรีไทยในแบบโขนลงไปในเพลง MV ชุดนี้อาจจะไม่มีชะตากรรมที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนี้ ดูแล้วเข้าใจนะว่าไม่ได้เอามาปู้ยี่ปู้ยำ แต่น่าจะเรียกว่า ทำไม่เป็น ใช้ของดี ๆ มาประยุกต์ไม่เป็นจะดีกว่า ขาดรสนิยมทางศิลปะ ในการนำเสนอ”

ของคลาสสิค ใช่ว่าจะต้องอยู่บนหิ้งเสมอไป ไม่ใช่ว่าแตะต้องไม่ได้ เลือกมาใช้เพื่อเผยแพร่ไปสู่คนยุคใหม่ได้ โดยวิธีการใหม่ๆที่เป็นสากลได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ทำให้เป็น ที่ทำไปน่ะเข้าใจว่าไม่ได้เอามาปู้ยี่ปู้ยำ แต่มันขาดรสนิยม ขาดความสวยงามทางศิลปะ และขาดความคิดสร้างสรรค์ มันถูกทำขึ้นมาแบบลวกๆคิดตื้นไปหน่อย เลยออกมาไม่น่าชมนั่นเอง

A photo posted by paajaew (@paajaew) on




ต่อมา ป้าแจ๋วได้โพสต์อินสตาแกรม ระบุว่า “ออกความเห็นเรื่อง MV ไป เลยโดนด่าเข้ามาเยอะ ว่าถ้ามีรสนิยมนักก็ทำ MV ออกมาให้ดูหน่อยซิ ว่าจะเป็นยังไง ก็ต้องบอกเลยว่า คงทำไม่ได้เพราะไม่ถนัด ไม่ได้มาทางสายนี้ และไม่กล้าทำด้วย แค่ดูเป็นว่าอะไรที่เรียกว่า ดี ไม่ดี ความเห็นที่ออกไป กลายเป็นหอกกลับมาทิ่มตัว ใคร ๆ นึกว่าฉันเลือกข้าง แต่จริง ๆไ ม่ได้เลือกข้างใคร ส่วนตัว เป็นคนชอบอะไรที่เป็นไทยทุกชนิด เรียกว่ารักทุกอย่างที่เป็นไทย และยินดีที่เห็นคนรุ่นใหม่ต่อยอดศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในทางไหน ชอบหมด เห็นด้วยว่าถึงเป็นของคลาสสิก ก็ไม่ควรเก็บไว้บนหิ้ง ควรนำมาปรับปรุงให้ร่วมสมัย ให้เด็กรุ่นใหม่รู้จัก ให้คนต่างชาติได้เห็นและเข้าใจง่าย แต่สำหรับ MV ที่ว่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีไปเสียทั้งหมด แต่ที่เห็นชัดกว่าคือ การออกแบบการถ่ายทำ และ องค์ประกอบศิลป์ ยังไม่ลงตัว และการออกความเห็นก็ไม่ได้จะไปทับถมหรือเอาให้ตาย เพราะงานละครของฉัน ก็โดนอยู่บ่อย ๆ ทำดี 10 ครั้งไม่ค่อยมีคนเห็น แต่ถ้าทำพลาด ครั้ง สองครั้ง คนกลับจำได้และด่ากันไปนานแสนนาน ประมาณฉากล้มตาจ้องตา 3 วิ แต่เอาเถอะผลงานออกมา ถ้าจะไม่ให้ใครติชม คงไม่ยุติธรรมสำหรับคนดู ฉันยอมรับได้อยู่แล้ว คงไม่มีใครทำได้ดีสมบูรณ์แบบทุกสิ่ง

และนี่คือภาพที่ ดูงดงาม ในสายตาของฉันนะ คนอื่นอาจเห็นต่างก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว

ป.ล. ละครเพลงไทย เรื่อง รอยดุริยางค์ ก็นำเสนอเรื่อง วัฒนธรรมดนตรีไทยที่กำลังจะหายไป กับคนรุ่นใหม่ได้ดีนะ มีใครได้ดูบ้างหรือเปล่า !?!"

Cr. Pic #ชมรมถ่ายภาพพระนครศรีอยุธยา ออกความเห็นเรื่อง MV ไป เลยโดนด่าเข้ามาเยอะ ว่าถ้ามีรสนิยมนักก็ทำ MVออกมาให้ดูหน่อยซิ ว่าจะเป็นยังไง ก็ต้องบอกเลยว่า คงทำไม่ได้เพราะไม่ถนัด ไม่ได้มาทางสายนี้ และไม่กล้าทำด้วย แค่ดูเป็นว่าอะไรที่เรียกว่า ดี ไม่ดี ความเห็นที่ออกไป กลายเป็นหอกกลับมาทิ่มตัว ใครๆนึกว่าฉันเลือกข้าง แต่จริงๆไม่ได้เลือกข้างใคร ส่วนตัว เป็นคนชอบอะไรที่เป็นไทยทุกชนิด เรียกว่ารักทุกอย่างที่เป็นไทย และยินดีที่เห็นคนรุ่นใหม่ต่อยอดศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในทางไหน ชอบหมด เห็นด้วยว่าถึงเป็นของคลาสสิค ก็ไม่ควรเก็บไว้บนหิ้ง ควรนำมาปรับปรุงให้ร่วมสมัย ให้เด็กรุ่นใหม่รู้จัก ให้คนต่างชาติได้เห็นและเข้าใจง่าย แต่สำหรับ MV ที่ว่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีไปเสียทั้งหมด แต่ที่เห็นชัดกว่าคือ การออกแบบการถ่ายทำ และ องค์ประกอบศิลป์ ยังไม่ลงตัว และการออกความเห็นก็ไม่ได้จะไปทับถมหรือเอาให้ตาย เพราะงานละครของฉัน ก็โดนอยู่บ่อยๆ ทำดี 10 ครั้งไม่ค่อยมีคนเห็น แต่ถ้าทำพลาด ครั้ง สองครั้งคนกลับจำได้และด่ากันไปนานแสนนาน ประมาณฉากล้มตาจ้องตา 3 วิ แต่เอาเถอะผลงานออกมา ถ้าจะไม่ให้ใครติชม คงไม่ยุติธรรมสำหรับคนดู ฉันยอมรับได้อยู่แล้ว คงไม่มีใครทำได้ดีสมบูรณ์แบบทุกสิ่ง และนี่คือภาพที่ ดูงดงาม ในสายตาของฉันนะ คนอื่นอาจเห็นต่างก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว ปล. ละครเพลงไทย เรื่อง รอยดุริยางค์ ก็นำเสนอเรื่อง วัฒนธรรมดนตรีไทยที่กำลังจะหายไป กับคนรุ่นใหม่ได้ดีนะ มีใครได้ดูบ้างหรือเปล่า !?!

A photo posted by paajaew (@paajaew) on



ด้านเฟซบุ๊ก Rajice Au ซึ่งเป็นอดีตประธานชุมนุมโขนธรรมศาสตร์ 2556 ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น จิตวิญญาณกลับถูกละเลย” ระบุว่า จากนักศึกษาคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสสัมผัส เรียน และทุ่มเทให้กับกิจกรรมของชุมนุมโขนธรรมศาสตร์ ตลอดระยะเวลา 3 ปี (ไม่ได้เชียวชาญทางด้านนาฏศิลป์นะ ขอพูดในมุมเท่าที่ได้สัมผัส)

เรามองว่า เราควรแยก ระหว่างทศกัณฐ์ในวรรณกรรม กับทศกัณฐ์ตัวโขนก่อน ในที่นี้พูดถึงทศที่เป็นโขน

ประเด็กแรก คือ การแต่งชุดทศ ถ้าถามว่าเอามาทำแบบนี้ เหมาะไหม หากเราไม่ได้สัมผัสมาก่อน เราก็มองว่าทำไมจะทำไม่ได้ เป็นการเผยแพร่ก็ดีออก แต่เครื่องแต่งกาย องค์ประกอบต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีลายละเอียดของจารีต ประเพณี เครื่องแต่งกายต่าง ๆ ก็เลียนแบบเครื่องแต่งกายของกษัตริย์ เมื่อเป็นเครื่องแต่งกายเลียนแบบของกษัตริย์แล้ว มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่จะมาแต่งแล้วมาทำเล่น ๆ ตลก ๆ หรือเปล่า ชุดที่ใส่ใช้มือปักเส้นด้ายทีละเส้น และหัวโขนในส่วนหัวโขน 1 หัว กว่าจะออกมาได้ต้องใช้ทักษะง่านช่างถึง 10 หมู่ ซึ่งก็เป็นศิลปะชั้นสูง ที่ไม่ควรเอามาทำอะไรเล่น แต่ก็จะมีประเด็นเรื่องเก็บไว้บนหิ้ง จะขอพูดในประเด็นต่อไป

ประเด็นที่สอง โขนเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนทางจิตใจ การจะอนุรักษ์โขน ไม่เหมือนกับ อนุรักษ์วัตถุต่าง ๆ ที่เก็บไว้ในตู้ได้จบ แต่โขนมันต้องเก็บไว้ในตัวคน ดังนั้น มันจึงต้องมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พอมีการถ่ายทอดเรามองว่า ท่ามันอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เอาง่าย ๆ เราเคยเล่นเกมยืนต่อแถวกัน แล้วให้คนแรกทำท่า ส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงคนสุดท้าย สุดท้ายท่าคนแรกกับคนสุดท้ายก็ต่างกัน ดังนั้น เรามองว่า ตัวจารีต ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเข้ามาช่วยรักษาท่าโขนไว้ การสร้างให้ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งดนตรีที่มีเพลงหน้าพาทย์ ต่าง ๆ (ที่โบราณเชื่อว่า ดนตรีคือเสียงที่ใช้สื่อกับโลกหลังความตาย) พอมันมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา มันก็ทำให้ผู้เรียนและผู้สอน ก็จำเป็นต้องมีความตั้งใจ หน้าพาทย์บางเพลง เวลาจะถ่ายทอดหรือต่อท่ารำจำเป็นที่ต้องต่อในวัดหรือวังเท่านั้น เพราะมันถูกสร้างมาให้สูง คนที่ได้ถ่ายทอดหรือผู้เรียนโขน (คนส่วนน้อยของประเทศ) จึงมองว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองยึดมั่นทางจิตใจ ถูกนำไปกระทำในทางที่ไม่เหมาะสมประมาณนั้น ถ้านึกไม่ออก ก็ประมาณ เรานับถือพุทธ ฝรั่งเอาคนแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ไปเล่น เราเองก็คงไม่สบายใจ ใจเข้าใจเราครับ ให้เกียรติในสิ่งที่เขานับถือซึ่งกันและกันจะดีกว่า แต่ไม่ใช่ว่าจะปรับเปลี่ยน แตะต้องไม่ได้ มันทำได้แต่มีขอบเขตในตัวมันเองอยู่

ประเด็นที่สาม เรามองว่าไม่จำเป็นที่โขนจะต้องเข้าถึงทุกคน หรือทุกคนต้องมาเข้าถึงโขน บางสิ่งที่เข้าถึงยาก มีน้อย มันก็จะมีคุณค่ามากกว่า ก็สามารถดูได้จากโขนอยู่ในราชสำนัก มีเพียงคนในวังที่เกี่ยวข้อง แต่ก็สามารถสานต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน กระบวนการสืบทอดก็ถูกสร้างไว้ดีอยู่แล้วด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งการเอามาทศมาทำแบบนี้ เพื่อให้คนสนใจโขนมากขึ้นก็ดี มันไม่จำเป็น เพราะมีโขนสมเด็จ (ตั๋วเต็มทุกรอบ) และวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ช่วยสานต่อ ยังไงโขนก็ไม่หาย ผมมองว่าส่วนของการโปรโมต ในตัวคลิปนั้น มันก็เปรียบเหมือน ลัทธิหนึ่งที่ต้องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่การเผยแผ่นั้นภายนอกดูดี แต่ไส้ในเน่า จิตวิญญาของสิ่งนั้นไม่ได้ถูกเผยแผ่มาด้วย

ประเด็นที่สี่ ถ้าเอาตัวละครอื่น อย่างหนุมานมา เรื่องมันจะไม่ดราม่าขนาดนี้ ดูได้จากลงประชามติหนุมานมาช่วยรณรงค์ แต่ด้วยความเป็นทศ บางฉากบางตอนทำให้คนวงการรู้สึกไม่เหมาะสม ประมาณนั้น

ประเด็นที่ห้า ถามว่าแล้วโขนไม่ปรับตัวไปตามความเจริญของโลกหรอ?? มันก็มีการปรับตัวมาตลอด ถ้าไม่ปรับตัวก็คงหายไปนานแล้ว แต่ก็ยังต้องยึดตามจารีตประเพณีที่เหมาะสม เพราะถ้าไม่มีจารีตแล้ว คนจะเอาไปทำ ดัดแปลงเป็นอะไรก็ได้ สุดท้ายอะไรคือความเป็นโขน ก็เหมือนผู้หญิงสวยหน้าพลาสติก แต่ไร้เสน่ห์ ไร้อรรถรส จืด ไม่อร่อย

ประเด็นที่หก เรื่องหิ้งที่คนชอบเปรียบ

เรื่องราวตอนเรียนโขนกับชุมนุมโขนธรรมศาสตร์ที่เคยตั้งคำถามเหมือนกัน ใครอยากลองสัมผัส สามารถไปสมัครเรียนได้ฟรี ทุกเย็นวันจันทร์ กับพุธ ณ หอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ เรื่องที่จะเล่ามีอยู่ว่า ตอนเรียน (ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนนั้นรู้สึกอยากหาชุมนุมเข้า แล้วได้เจอประธานชุมนุมตอนนั้น เค้าชวนเราเลยลอง) ผมเลือกเรียนตัวพระ (ชุมนุมให้เสรีภาพกับคนที่สนใจเรียน อยากเรียน พระ นาง ยักษ์ ลิง เลือกได้เลย) ครูที่สอนก็เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ และสำนักการสังคีต ในส่วนของตัวพระ การเรียนครูก็จะสอนตั้งแต่พื้นฐานการทุกอย่างของการรำ พอเรียนได้สักระยะ ก็อยากรำเพลงใหม่ ๆ บ้าง ตอนนั้นก็ถามรุ่นพี่ทำไมครูไม่ต่อเพลงอื่น ๆ ให้บ้าง อย่างเพลงหน้าพาทย์ทำไมครูไม่ต่อให้บ้าง ด้วยความอยากรู้ รุ่นพี่คนนั้นเค้าก็บอกว่าครูไม่ต่อกันให้ง่าย ๆ หรอก ในใจก็คิดทำไมครูหวงจัง แต่พอได้เรียนไปสัมผัสไป การต่อเพลงหน้าพาทย์ หรือต่อเพลงอะไรใหม่ ๆ ก็ตาม ครูเขาจะดีความเหมาะสม ว่าถึงเวลาที่คนนั้นควรต่อเพลงอะไร นอกจากนี้ยังมีจารีต พิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ ในก่อนต่อเพลงอีก และตอนนี้ก็เริ่มเข้าใจ ถ้าครูต่อให้กับคนที่ไม่เหมาะสม คนนั้นอาจเอาไปทำอะไรไม่เหมาะสมได้

ประเด็นสุดท้าย เรียนรำเรียนโขนไม่มีครู เรียนกับยูทิวบ์ รำตามได้ไหม??

มันก็ได้นะ ได้ “ท่า” แต่ขาด “ที” ขาดอารมณ์ ขาดจริตของตัวละคร ท่าบางครั้งที่เรารำตามคลิป มันก็ไม่สวย ถ้าครูไม่มาจับ ปรับองศาของร่างกายในมุมที่สวย สง่า ตามตัวละครนั้น ๆ ครูจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการถ่ายทอดท่ารำ โดยเฉพาะทศ ตัวละครที่ปิดหน้าตาตัวเอง การแสดงผ่านร่างกายให้คนดูสัมผัสถึงอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวละคร มันจึงเป็นเรื่องที่ยากและต้องมีครูคอยควบคุม

สุดท้ายจริง ๆ อยากให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปดูโขนสมเด็จ จองได้ที่ Thai Ticket Major ทุกสาขา ลองไปดู แม้มันอาจเข้าใจยาก น่าเบื่อ เพราะมันเป็นภาษากาย ศิลปะชั้นสูง แต่สนุก ถ้าอยาก “ดูโขนให้เป็น ก็ต้องเล่นโขนได้” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้

ผมในฐานะ นศ. คนหนึ่งที่ได้มีโอกาสสัมผัสโขนและจิตวิญญาณของโขนอันทรงคุณค่า แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ ด่าได้แต่อย่าแรง”


กำลังโหลดความคิดเห็น