นี่คือ ตัวจริง เสียงจริง ของแท้ แน่นอน สำหรับผู้ให้เสียงเริ่มต้นของรายการข่าวจากทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ที่ทุกคนในประเทศไทยคงจะได้ยินในช่วง 7 โมงเช้า หรือว่าช่วง 1 ทุ่ม ผ่านทางการกระจายเสียงครอบคลุมทั่วประเทศ
หลายๆ คน ในสังคมออนไลน์ ต่างยกย่องว่าเสียงนี้คือตำนานบ้าง เสียงนี้คือเสียงที่จดจำบ้าง แต่ถ้ามาถามกับ “บุญมา ศรีหมาด” เจ้าของเสียงประกาศดังกล่าวนั้น เขากลับบอกกับเราเพียงว่า เขาแค่รับใช้การเป็นสื่อมวลชนคนธรรมดา ที่นำเสนอผ่านการอ่านข่าวให้ประชาชนไทย ได้ทราบถึงความเป็นไปในสังคมไปตามปกติเท่านั้น
จากเด็กชายบ้านนอกชาวกระบี่ ผู้มีวิทยุทรานซิสเตอร์เป็นเพื่อนคู่ใจ และฝึกหัดเสียงตามผู้ประกาศของสถานีวิทยุเป็นประจำ ผ่านการพูดมาทุกรูปแบบ ไล่มาตั้งแต่เสียงตามสายในโรงเรียน, โต้คารมและพิธีกรในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย มาจนถึงนักสื่อสารมวลชนชำนาญการ ของกรมประชาสัมพันธ์ เรียกได้ว่า บุญมาผ่านประสบการณ์มากว่า 30 ปี แห่งการรับใช้ภาษาไทยผ่านการพูดมาตลอดชีวิต
เริ่มความฝันในการเป็นผู้ประกาศ
“ผมเป็นคนตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง กระบี่ เป็นเด็กบ้านนอกเลย แล้วที่บ้านคืออาชีพค้าขาย คุณพ่อ-คุณแม่ก็มีอาชีพนี้ ท่านก็ค้าขายปกติ เป็นร้านขายของชำ ขายกาแฟ แต่เพราะเราได้ซึมซับการฟังข่าวจากวิทยุทรานซิสเตอร์ ก็รู้สึกว่าเราต้องเป็นแบบเขาให้ได้ ฉันต้องอ่านข่าว ให้คนต้องฟังเสียงของฉันไปทั่วประเทศให้ได้
“เราเป็นคนที่ชอบการพูด อย่างเวลาที่เล่นกับเพื่อน ก็จะชอบเอากิ่งไม้มาตั้งเป็นไมค์ แล้วก็พูด และบังคับให้เพื่อนๆ นั่งฟัง ชอบมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าเรียนชั้นประถม ก็ฝึกภาษาไทยมาด้วยตนเอง มีคุณครูท่านหนึ่งชื่อว่า “ชะอ้อน ใสไทย” เป็นครูชั้น ป.2 ถ้าจำไม่ผิดนะครับ ท่านสอนวิชาภาษาไทย ให้ออกเสียง ร.เรือ โดยท่านจะทำเสียง รือ (ทำเสียงประกอบ) เราก็เริ่มเลย ทำตามที่ท่านทำ จนได้เสียง ร.เรือ ชัด เป็นธรรมชาติ เพราะท่านฝึกให้เรานวดลิ้นแบบที่ท่านทำมาตลอด และสอนมาตั้งแต่ ป.2 ว่าต้องออก ร.เรือให้ได้ อักขระวิธีได้ ก็เลยเป็นผลดีกับผมตั้งแต่มา
“พอจบ ป.6 ก็เข้ามาศึกษาต่อมัธยมที่โรงเรียนอำมาตย์พาณิชนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดของกระบี่ ระหว่างเรียนที่นั่น ผมก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโรงเรียน ให้ไปจัดรายการวิทยุ ชื่อรายการ “อำมาตย์ปริทัศน์” นอกจากนั้นก็ได้จัดรายการเสียงตามสายในโรงเรียนด้วย อีกทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.กระบี่ เขาให้เวลากับโรงเรียนให้ไปฝึกหัดจัดรายการออกอากาศจริงๆ เลย ก็ฝึกจัดตั้งแต่ตอนนั้น”
“ในระหว่างที่จัดรายการอยู่ก็ได้คุยกับพี่ๆ ที่อยู่ สวท. กระบี่ ชื่อว่า พี่อ้อย - มยุรี สุขใหญ่ ผมก็ไปคุยถามไถ่บ้าง ปรึกษาถึงความอยากที่จะเป็นของเราบ้าง พี่เขาก็บอกว่า ก็ไปสอบใบผู้ประกาศสิ ตอนนั้นไฟแรง ชอบ รู้ตัวเองว่าต้องทำด้านนี้ ก็เลยปรึกษาพี่เขาว่าต้องทำยังไง
“ตอนนั้นการสอบใบผู้ประกาศไม่ได้อยู่ใน กสทช. เหมือนปัจจุบัน เป็นของกรมประชาสัมพันธ์ เขาก็มีให้ยื่นใบสมัครประเภทประชาชนทั่วไป แต่ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมนักวิทยุแห่งประเทศไทย ค่าสมัครก็ 100 บาทแค่นั้นเอง แล้วก็มาสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมนี่แหละ แล้วก็ยื่นตัวเองไปสอบ มีสถาบันนี้ยืนยันว่าเรามีที่มาที่ไปแค่นั้นเอง แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่หรือบริษัทข้างนอกมาร่วมผลิตรายการกับสถานีวิทยุ เขาก็ไม่มีปัญหา ก็ส่งสอบได้อยู่แล้ว ผมก็มาสมัครสอบตอนช่วงประมาณ ม.5 ถ้าจำไม่ผิด มายื่นใบสมัคร ซึ่งตอนนั้นกรมยังอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ก็มายื่นใบสมัครเรียบร้อยหมดทุกอย่าง แล้วก็รอเขาเรียก แต่ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 พอดี กรมถูกเผา เอกสารอะไรต่างๆ หายหมดไม่เหลือเลย ก็เลยต้องรื้อข้อมูลใหม่ กว่าจะสอบผ่านได้ ก็เป็นปีถัดมา จะจบ ม.6 คือขึ้นมาสอบที่กรุงเทพฯ ครั้งเดียวผ่าน คือ จบ ม.6 ก็มีบัตรผู้ประกาศแล้ว
กิจกรรมให้ฝึก รามคำแหงให้ทาง
“หลังจากนั้น ผมก็ได้เข้าเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน (คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปัจจุบัน) คือรู้เลยว่ามุ่งตรงทางนี้ ไม่ไปทางอื่นแล้ว มีความรักความชอบมา เลยมุ่งตรงมาที่นี่เลย ซึ่งระหว่างที่เรียน เราก็ทำกิจกรรมไปด้วย นั่นคือการได้เข้าชมรมปาฐกถาและโต้วาที ซึ่งชมรมนี้ จะมีรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมากมาย เช่น อ.จตุพล ชมพูนิช อ.พิษณุ สกุลโรมวิลาศ อ.สมชาย หนองฮี อ.อุสมาน ลูกหยี อ.ประดิษฐ์ กิตติฤดีกุล อ.สุรวงศ์ วัฒนกูล และอีกหลายๆ ท่าน ก็เป็นรุ่นพี่ชมรมเรา ปั้นนักพูด ใช้เสียง ใช้ไมค์เยอะมาก ก็เข้าชมรมนั้นด้วย แล้วที่คณะเอง ก็เปิดรับสมัครนักศึกษา คือได้ช่วงเวลาในการจัดรายการว่า มหาวิทยาลัยไหนมีนักศึกษาวิชาทหาร ให้เวลาไปจัดรายการได้เลย สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ผมก็ไปสมัคร และได้รับการคัดเลือก ก็มาจัดรายการต่ออีกในสมัยช่วงปี 1-2 แล้วเนื้อหารายการก็คล้ายรายการช่วงมัธยมครับ เอาเรื่องราวข่าวสาร มหาวิทยาลัยมีการประชุมอะไรบ้าง ว่าจะเอาเรื่องอะไรในสัปดาห์นี้ ไปพูดคุยและจัดรายการ
“ในขณะที่เรียน ก็ไม่ใช่แค่จัดรายการหลังไมค์อย่างเดียว แต่ยังมีการแข่งโต้คารมอุดมศึกษาพาสอน ของ อ.กรรณิการ์ ธรรมเกสร ซึ่งเวทีก็ปั้นนักพูดมาหลายคนเหมือนกัน ทั้งคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ คุณอรอุมา เกษตรพืชผล เสนาลิง (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์) คุณทุเรียน (สุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ) ก็มาจากเวทีนี้หมดเลย แต่ผมมาจากสายอุดมศึกษา ก็เติบโตกันมา แล้วก็แยกย้ายกันไปตามหน้าที่ของตัวเอง ตามที่ตัวเองชอบ ซึ่งตัวผมได้รางวัลถ้วยรองชนะเลิศให้กับมหาวิทยาลัยในรายการดังกล่าว ซึ่งรอบชิงจะมี อ.จตุพล ชมภูนิช อ.อภิชาติ ดำดี เป็นกรรมการ หลังจากนั้นก็มีโครงการนักพูดของคุณกรรณิการ์เหมือนกัน คือ “นักพูดบานฉ่ำ” ผมก็เข้าไปสมัครและได้รับการคัดเลือก และคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ก็ผูกพันกับคนในวงการการพูดมานาน
“ตอนที่ผมเรียนที่นี่ เป็นช่วงที่กิจกรรมบูมมาก เป็นในทางที่ฝึกกิจกรรมเลย ฝึกการพูด ฝึกทุกอย่าง แล้วเด็กกิจกรรมต้องพูดเก่ง ต้องพูดเป็น แล้วมันจะมีงานหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ เสือ ธนพล อิทธิฤทธิ์ กำลังดัง แล้วจัดคอนเสิร์ตชื่อ เสือบุกราม ผมก็ขึ้นทำหน้าที่เป็นพิธีกร ปรากฏว่าตีกันแหลกลาญเลย (หัวเราะ) คือคอนเสิร์ตนี้ เล่นไปได้ไม่กี่เพลง ก็มีการตีกัน จนพี่เสือให้หยุดเคลียร์ก่อน แล้วเป็นช่วงที่คอนเสิร์ตที่รามฯ เริ่มซาๆ แล้ว มันไม่เหมือนยุคแรกเริ่ม เด็กกิจกรรมนักศึกษา ที่พลังนักศึกษากำลังแรง ซึ่งตอนที่ผมเข้าไป จะเป็นช่วงที่กำลังซาพอดี อย่างคอนเสิร์ตเมื่อก่อนก็จะมาจัดที่ เวที สวป. และนั่นคือกิจกรรมครั้งแรกที่ขึ้นพูดบนเวทีใหญ่ต่อหน้าคนเป็นหลักหมื่น คือเราก็ชอบพูดต่อหน้าสาธารณชนอยู่แล้ว ก็เลยบ่มเพาะมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว เหตุการณ์ตอนนั้นนี่คือน่ากลัวมาก รุ่นพี่ก็ดันเราใหญ่เลย ไปๆ ไปพูด คือเขาก็ผลักเราไปที่หน้าเวที เราก็กลัวว่าไม้หน้าสามจะลอยมาหาหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ผ่านมาได้ ก็สนุกสนานดี และเป็นสุดยอดของประสบการณ์ชีวิตเช่นกัน”
สู่ผู้ประกาศอย่างเป็นทางการ
“พอใกล้เรียนจบ ด้วยความที่เป็นเด็กกิจกรรม แล้วรุ่นพี่ที่อยู่ในชมรม ชื่อ กนกวรรณ กนกวนาวงศ์ ก็ชักชวนผม เนื่องด้วยว่าเขาไปทำงานก่อนผมที่รายการ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ที่ไอเอ็นเอ็น ด้วยที่ว่า เรารู้จักกันในชมรม แต่เขาไปทำงานก่อน เขาก็มาถามหาว่า มีใครที่มีบัตรผู้ประกาศหรือเปล่า ผมก็บอกว่าผมมี เขาก็ชวนเราไปทำงานที่ไอเอ็นเอ็น ซึ่งออฟฟิศในตอนนั้นอยู่ที่สาธร เยื้องๆ สถานทูตออสเตรเลีย ตึกไทยออยล์ จำได้เลย ก็ไปสมัครในช่วงที่คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ คุณสนธยา หนูแก้ว (ปัจจุบันคือ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม) และคุณสมชาย แสวงการ เป็นผู้บริหาร และอีกหลายๆ ท่าน ก็ให้โอกาสผม ในการที่จะร่วมอ่านข่าวกับเขา ซึ่งเวลานั้น รายการลักษณะนี้กำลังมาใหม่ๆ รูปแบบรายการก็คือเป็นการช่วยเหลือในเรื่องการจราจร ใครมีปัญหาอะไร ก็โทรมาในรายการนี้ได้ ผมก็ไปสมัครอ่านข่าวที่นั่น และก็ได้รับการคัดเลือก
“แต่เนื่องด้วยว่าผมเหลือเรียนอีกครึ่งเทอมก็จะจบแล้ว เลยทำให้มีการตะขิดตะขวงใจ ทั้งๆ ที่ทางเขาก็โอเคกับผมแล้ว เพราะใช้วุฒิ ม.6 สมัคร แต่เขาให้เงินเดือนระดับปริญญาตรีเลย แต่เราก็ยังลังเล เขาก็ถามว่า จะทำงานมั้ย ถ้าจะเริ่มงาน ก็ให้เวลาคิด 1 สัปดาห์ ไปคิดดูจะทำงานด้วยมั้ยยังไง หรือยังไม่เอางาน เรียนอย่างเดียว ผมก็ตัดสินใจ และสรุปว่าเอางานด้วยดีกว่า ตอนนั้นเราก็สองจิตสองใจนะว่า ถ้าเราเอางานด้วย จะเรียนจบมั้ย เราก็ขอข้อแม้เขานะว่า ถ้าไปสอบก็ขออนุญาตไปนะ เขาก็ยินดี ผมก็เลยเอางานด้วย สรุปคือ ได้งานก่อนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย พอถึงเวลาสอบก็มาสอบ พอเรียนจบ ก็ไม่มีปัญหาแล้ว ทำงานเต็มตัว ตั้งแต่ปลายปี 2539 ซึ่งผมถือว่าโชคดีมากที่ผมตัดสินใจอย่างนั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แล้วพอผ่านวิกฤตตรงนั้นมา เรารู้สึกว่าโชคดีมากๆ ที่ตัดสินใจแบบนั้น เพราะถ้าเราเลือกอีกแบบ ก็ไม่มีทางได้งานในช่วงนั้นแน่ๆ เพราะนักศึกษาที่จบในช่วงนั้น ตกงานกันหมดเลย บริษัทเขาเลย์ออฟคนออกทั้งนั้น เพราะบริษัทเหล่านั้นไปไม่ไหว เจ๊งกันเยอะ ซึ่งเราเลือกงานก่อน ก็เลยได้ทำงานตั้งแต่ตอนนั้นมา ทำมาเรื่อยๆ
“ผมทำงานที่ไอเอ็นเอ็นมาจนมาถึงปี 2547 ก็เลยมาสมัครที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเขาเปิดรับสมัครข้าราชการ โดยระหว่างที่เราอยู่องค์กรเอกชนนั้น ใจหนึ่งก็อยากที่จะรับราชการ เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดในชีวิต สมัยเด็กๆ ผมมีเครื่องวิทยุทรานซิสเตอร์ ชอบฟังวิทยุ แล้วข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยเราเป็นเด็ก ทุกคนจะต้องฟังข่าวของคลื่นนี้ ที่ออกอากาศทั่วประเทศ ตอน 7 โมงเช้า กับ 1 ทุ่ม แล้วเราชอบเลียนแบบเสียงพวกเขา ตอนนั้นก็มีใคร คุณปรีชา ทรัพย์โสภา คุณอดุลเดช สุจริตกุล คุณประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ เราฟังเสียงแล้วเลียนแบบเสียงเขา แล้วฝันตั้งแต่เด็ก ตอนสมัยประถมเลยว่า ยังไง เราก็ต้องมาอ่านข่าว ณ ที่แห่งนี้ให้ได้ เพราะมันเป็นที่เดียว ที่คนอ่านข่าวจะได้ออกอากาศไปทั่วประเทศ ซึ่งถ้าไปอยู่คลื่นอื่น คุณก็จะได้แค่เครือข่ายของเขา แต่ถ้าอยู่ที่นี่ ทุกคลื่นจะต้องรับสัญญาณจากที่นี่ทั่วประเทศ เราก็ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กเลย
ฝันที่เป็นจริง
“พอผ่านการสอบได้ ทางกรมเขาก็เรียกคุย ตอนนั้น มีเรียกเสนอให้บรรจุหลายที่ แต่ทางเขาก็เชิงว่าให้เราลงกรุงเทพนี่แหละ เพราะที่กรุงเทพฯ ผู้ประกาศขาดพอดี เขาต้องการตัวด่วน ซึ่งคู่กะที่อ่านข่าวในตอนนั้น ที่เริ่มที่นี่ ตอนภาคค่ำ คือคุณเตชินทร์ มัชชันติกะ เขาอ่านคนเดียวมาพักนึงแล้ว ผมก็เข้าไปฝึกไปอ่าน เขาก็ช่วยฝึกช่วยอะไรให้ เขาก็ปรับอะไรให้นิดหน่อย เข้าไปถึงก็ใช้งานได้เลย เพราะเราอ่านข่าวสไตล์นี้อยู่แล้ว แต่อ่านในภาคเอกชนแค่นั้นเอง ก็มาสมัครสอบ
ผู้ที่มาสอบสัมภาษณ์ผมในตอนนั้นก็คือ ท่าน ผอ.สุริยงต์ หุนทสาน อดีต ผอ.ช่อง เอ็นบีที ท่านก็ให้โอกาสผม คำถามที่ท่านถามเรา ท่านถามว่า อยู่เอกชนเงินเดือนสูงกว่าตั้งเยอะ แล้วทำไมต้องมารับราชการ ผมก็ให้คำตอบไปว่า เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก อยากเป็นผู้ประกาศของที่นี่ให้ได้ เพราะที่นี่ เสียงเราจะออกอากาศไปทั่วประเทศแน่นอน คืออย่างที่บอก อยากทำที่นี่ ปรากฏว่าคำตอบของผมชนะใจกรรมการ ก็ได้เข้ามาทำงานที่นี่ เราก็ขอขอบพระคุณ ผอ.สุริยนต์ ถ้าท่านไม่เปิดโอกาสให้ในวันนั้น ก็ไม่มีผมในวันนี้นะ เป็นเพราะท่านเปิดโอกาสให้ผมได้มาทำงานที่นี่ จากนั้นเราก็ทำงานๆ ไปเรื่อยๆ อ่านช่วงเช้าบ้าง ช่วงค่ำบ้าง
“พอผ่านไปประมาณ 3-4 ปี สถาบันการประชาสัมพันธ์ก็ให้ความสำคัญ ซึ่งที่แห่งนี้เป็นการเปิดหลักสูตรที่ครอบคลุมหมดทั้งหลักสูตรต่างๆ ทั้งการพูด การจัดรายการ เสียงตามสาย การอ่านข่าว ทุกอย่าง ที่นี่เปิดอบรมหลักสูตร โดยท่าน ผอ. ในตอนนั้น คือ ผอ.รวงทอง ยศธำรง ซึ่ง ผอ.รวงทอง ท่านประสานมาเลยว่า บุญมา พี่อยากให้เธอมาเป็นวิทยากร มาสอนที่นี่ ผมก็บอกกลับไปว่า จะทำได้เหรอ ผมไม่เคยสอนนะ ท่านก็บอกว่า ไม่รู้ล่ะ พี่มั่นใจว่าเธอทำได้ ท่านก็เปิดโอกาสให้เราบุกเบิกมาอีกทางเลยในทางการเป็นอาจารย์ สายสอนเลย ซึ่งมันเลยสร้างประสบการณ์ให้เราอีกทางด้วย ก็ต้องขอบคุณท่าน มา ณ ตรงนี้ ที่เปิดทางให้เราทั้งหมดเลย ก็มาสอบและสอนที่นี่เรื่อยๆ หลักสูตรที่สอนก็คือการอ่านข่าว ซึ่งคนที่มาเรียนที่นี่ เขาต้องมีใบประเมินวิทยากรด้วย และแน่นอนคะแนนประเมินของคนที่เรียนที่นี่ก็ประเมินตามความรู้สึกและความเป็นจริงอยู่แล้ว เพราะเขาจ่ายเงินมาเรียน และไม่ใช่คนในกรมเรานะ เป็นคนนอกมาเรียน เพราะถ้าเราสอนแล้วไม่ได้การยอมรับ เขาก็ต้องประเมินให้เราตกอยู่แล้ว เพราะเขาจ่ายเงินแล้วนี่ ถ้าได้ไม่คุ้ม เขาก็ไม่เอา แต่คะแนนที่เขาประเมินมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เขาก็ให้ผมสอนเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันนี้ 4-5 ปี แล้ว
“แน่นอนว่าอาการตื่นเต้นในการอ่านข่าวก็ต้องมี เพราะวิทยุของกรมนั้นเป็นคลื่นหลัก คลื่นใหญ่ ก็รู้สึกเครียดเหมือนกันนะ มันไม่ใช่แค่อ่านเหมือนเอกชนแล้ว เพราะเอกชนเราอ่านแค่ในกรุงเทพคลื่นเดียวไง แต่พอมาที่นี่ มัน 140 กว่าสถานี เฉพาะในเครือกรมนะ แล้วยิ่งเป็นช่วงใหญ่ 7 โมงเช้า กับ 1 ทุ่ม เนี่ย ทั้งประเทศนะ ตอนแรก ยอมรับว่านี่คือเสียงสั่นเลย อ่านจนตัวเองไม่ขยับเลย จนพี่เขาบอกเราว่า เกร็งไปน้อง เกร็งไป เราก็ตอบแบบซื่อๆ กลับไปว่า พี่ครับ ผมประหม่ามากเลย แต่พอเราอ่านไปจนเป็นทักษะอย่างที่บอก มีเวทีเยอะ ฝึกเยอะ เริ่มผ่อนคลายแล้ว เริ่มสบายแล้ว เพราะเราชินเวทีแล้ว
อุปสรรค คือสำเนียงถิ่น
“ก็ฝึกอ่าน ฝึกเลียนแบบอะไรอย่างงี้ ฝึกอ่านออกเสียง เพื่อให้ภาษาไทยชัดเจน แต่ก็มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะเกือบถอยหนีเหมือนกัน ด้วยความที่เราเป็นคนใต้ อยู่กระบี่ แล้วลักษณะการพูด แน่นอนว่าจะต้องออกเป็นทองแดง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีนะ ซึ่งพูดอาจจะมีบ้าง แต่อ่านข่าวจะไม่มีเลย เมื่อก่อนสำเนียงทองแดงเยอะมาก แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่ง อยู่ในช่วงระหว่างเรียนนี่แหละ ด้วยความที่ได้รับความไว้วางใจ ว่ามีใบผู้ประกาศ ได้ไปช่วยลงเสียงสารคดีให้เขาด้วย เป็นหลายสิบตอน ประมาณว่ารับจ็อบนี่แหละ น่าจะเป็นครั้งแรกด้วยมั้ง
คือเราสำเนียงทองแดง มันหนักกว่านี้เยอะ แล้วไปลงเสียง จนโปรดิวเซอร์ ด่าแล้วด่าอีก เป็น 10 ๆ เทคเลยกว่าจะได้ เราท้อมากเลยนะ แล้วสมัยก่อนระบบอัดเสียงก็ไม่ใช่แบบสมัยนี้นะ ใช้เทปรีล เขาก็ต้องมานั่งกรอกลับไปใหม่ แบบเขาเหนื่อยกับเรามาก แล้วเราอ่านประกบคู่กับผู้ประกาศชื่อดังคนหนึ่ง โปรดิวเซอร์ด่าเรา แล้วเราก็สงสารพี่เขาด้วย เนื่องจากมันต้องตอบโต้กัน พี่เขาต้องมาเสียเวลากับเรา แล้วโปรดิวเซอร์ก็ด่าทุกวัน เหมือนกับด่าแบบว่า ไม่ไหวแล้วโว้ย ประมาณนี้ จนเรากลับมาท้อเลยนะ จะไปต่อหรือหยุดดี ก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ก็คือพยายามสู้ต่อ
“จนเรากลับมาสังเกตว่า คนภาคกลางคือคนกรุงเทพเนี่ย เวลาเขาพูดออกเสียง ทำไมถึงไม่เพี้ยน ก็เลยจับสังเกตได้ว่า คนกรุงเทพเวลาพูด เขาจะมีการผ่อนเสียง มีหางเสียง มีการพูดจาแบบ ‘ไปไหน’ (ทำเสียงประกอบ) คนใต้เขาจะพูดเร็วและรีบ จึงทำให้เกิดทองแดง สำเนียงเลยเป็นสำเนียงถิ่น ก็เลยต้องพยายามดัดจริตซะนิดนึง (หัวเราะเบาๆ) ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่อยู่บนรถไฟ คนใต้เขาจะถามสั้นๆ และตอบสั้นๆ เช่น ไหน ใหญ่ นั่นหมายถึงว่า ไปไหน ไปหาดใหญ่ พอมาพูดกลางก็กลายเป็นทองแดง เราก็เลยจับสังเกตว่า เราต้องพูดให้นุ่มนวลลง และมีหางเสียงมากขึ้น มันเลยช่วยได้ ก็เลยหายไป จนน้อยที่สุด
“ถือว่าเป็นอุปสรรคเดียว แต่มันใหญ่มาก มันทำงานไม่ได้ ซึ่งถ้ามาอ่านแบบสำเนียงถิ่น ใครจะมาฟัง เพราะว่าเราอ่านให้คนฟังทั้งประเทศ ไม่ใช่อ่านให้เฉพาะคนใต้ฟังน่ะ เพราะฉะนั้น เราต้องปรับตัวเอง ก็พยายามฝึกอยู่หลายปี ฝึกจนได้ ซึ่งช่วงที่มาอ่านที่ ไอ.เอ็น.เอ็น ใหม่ๆ ก็ยังมีทองแดงอยู่นะ แต่ด้วยความที่ว่า พี่ๆ เขายังให้โอกาส ให้ฝึก ให้อะไรต่างๆ พี่ๆ หลายคนช่วยกันบอกช่วยกันกล่าว
มีพี่อีกท่านหนึ่งที่เป็นดีเจตอนนี้ ที่ยังนึกถึงอยู่ คือ พี่สายพิณ ผาสุกคง ตอนนี้ แกเป็นดีเจอยู่คลื่นจราจรเพื่อสังคม 99.5 ก็พยายามบอกเราว่า ยังอ่านแบบทองแดงอยู่นะ พยายามบอก พยายามชี้แนะ คืออยากจะบอกว่า ทำไมถึงเอาชื่อแต่ละคนมาพูด คือผมนึกเสมอว่า ถ้าเราลืมคนที่เคยมีพระคุณกับเรา ไม่เจริญหรอกครับ แล้วถ้าใครมาสัมภาษณ์ ผมจะเอ่ยชื่อพวกเขาเหล่านี้เสมอ เพราะเขาทั้งหลายเหล่านี้แหละ เราถึงได้มีวันนี้ ถ้าไม่มีบุคคลเหล่านี้ เราไม่มีทางจะมีวันนี้แน่ๆ ผมเชื่ออย่างนั้น
ผู้อยู่หลังไมค์ประกาศ
“คนอ่านข่าววิทยุ เป็นคนที่ปิดทองหลังพระอยู่แล้ว ไม่เห็นหน้าอยู่แล้ว ฟังแต่เสียง คือผมมีความรู้สึกว่า ในเมื่อประชาชนศรัทธาเราขนาดนี้ เชื่อมั่นในการอ่านของเราขนาดนี้ เราก็ต้องให้สิ่งที่ตอบแทนให้กับเขาคือ ต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง ต้องคงมาตรฐานให้ดีที่สุด พยายามอ่านให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เพื่อที่จะให้เขาไม่ผิดหวังเวลาได้ยินเสียงเรา เพราะตอนนี้ถ้าเขากดแชร์ กดไลค์กันมากขนาดนี้ แสดงว่าเขาคาดหวังในตัวเราสูงนะ แต่ถ้าเกิดวันไหนมาตรฐานตกนี่ เราก็รู้สึกไม่ดี ที่ทำให้เขาผิดหวัง ก็ต้องให้มาตรฐานเราดีที่สุด
“ผมคิดเสมอนะว่า ไม่มีรางวัลใดในโลกหล้า จะยิ่งใหญ่ไปกว่าแรงศรัทธาจากประชาชน งานสื่อสารมวลชนทุกแขนงครับ ตามที่บอก เพราะสื่อมวลชน ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คือผู้ที่สื่อสารกับมวลชน ต่อให้คุณได้รับรางวัลสื่อดีเด่นมา แต่ถ้าไม่มีคนมาสนใจผลงานคุณเลย คุณจะประสบความสำเร็จมั้ย ถามว่า ต่อให้ได้รางวัลใหญ่ๆ ภูมิใจอยู่คนเดียว แต่คนไม่เคยชอบคุณเลย สมมุตินะ คุณไปรับรางวัลมา อาจจะไปใช้เส้นได้มา แต่การอ่านข่าว อักขระไม่ได้ คนก็จะเกิดความสงสัยว่าไปได้ยังไง รางวัลนี้ได้มายังไง อ่านก็ไม่ได้เรื่อง จัดรายการก็ไม่เห็นจะดี คนด่ากันทั่ว แต่ถามว่าคุณภูมิใจกับรางวัลเหรอ
“ผมถึงบอกว่า สิ่งที่ผมอยากได้สูงสุดไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น แต่ที่ผมอยากได้คือ กำลังใจจากคนฟัง ความชื่นชมจากคนฟัง การที่คนฟังชอบเรา การที่คนฟังให้เกียรติเรา การที่คนฟังศรัทธาเรา เชื่อมั่นในตัวเรา นี่คือสุดยอดแล้ว มันสุขยิ่งกว่านั่งกอดถ้วยรางวัลอีก ผมจะบอกให้ ทุกวันนี้ผมมองว่าผมมีความสุขนะ คนชอบเราอย่างงี้มีความสุขมาก คือพร้อมที่จะทำงาน
“อีกคำหนึ่งที่คนสงสัยว่าเป็นน้ำเสียงเป็นตำนาน คือผมเริ่มอ่านข่าวที่นี่มา 12 ปีเอง แต่คนก็เอาไปเขียนว่าเป็นตำนาน เป็นอย่างงี้ครับ ผมจะอธิบายให้ฟังว่าผมเวอร์หรือเปล่า ว่ายกตนเป็นตำนาน ซึ่งผมมิอาจจะเบียดบังรุ่นพี่อาวุโสทั้งหลายที่เขามีอยู่แล้ว ท่านปรีชา ทรัพย์โสภา ที่เป็นปูชนียบุคคล เป็นปรมาจารย์เลย ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว หรือท่านประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ หรือ ท่านอดุลยเดช สุจริตกุล พวกเขาคือปรมาจารย์แล้ว นี่แหละคือตำนาน แต่เข้าใจไหมว่า กรมประชาสัมพันธ์ โทนเสียงในการอ่านข่าว จะคล้ายๆ กัน นี่คือมาตรฐาน ต้องโทนนี้นะ ถ้าไม่ใช่แบบนี้ ไม่เอา เพราะเสียงมันคล้ายกัน คนก็เลยฟัง แล้วถ้าฟังแบบเผินๆ เหมือนว่าได้ยินมานาน ซึ่งผมกับคุณเตชินทร์ มัชชัญติกะ ก็มีโทนเสียงละม้ายกัน นี่คือโทนเสียงแบบที่นี่ ทำให้คนอาจจะเหมือนว่าเคยฟังมานาน
“สำหรับการดูแลเสียงของผมนั้น ผมใช้หลักชีวจิต ชีวะบำบัด มีการเล่นโยคะ และออกกำลังกาย เพื่อให้ฝึกปอด พยายามหายใจฝึกปอด อะไรต่างๆ นานา เสียงของผมที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งเสียงพูดและอ่าน จะคนละโทนกัน เพราะว่าเสียงพูดทั่วไปๆ ผมก็ธรรมดา แต่เสียงอ่าน ผมจะปรับบุคลิกของเสียงให้เป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนกับว่าเสียงที่อ่านข่าว ผมจะอ่านมาจากข้างในคือกระบังลม เพราะผมก็เคยไปเรียนร้องเพลงมาบ้าง ก็นำจากตรงนั้นมาใช้ หายใจเข้าท่องป่อง หายใจออกท้องแฟบ เก็บลมเยอะๆ แล้วพยายามให้เสียงออกจากกระบังลม เอามาใช้กับการอ่านข่าว ให้เสียงออกจากข้างใน
“พูดง่ายๆ ว่า พยายามจินตนาการตัวเอง อันนี้เผื่อว่าท่านใดเป็นผู้ประกาศอยู่ ไม่ว่าคลื่นไหน ดีเจ หรือนักใช้เสียงทั้งหลายแหล่ เอาไปใช้ได้ด้วยก็ได้ เผื่อเอาไปเป็นแบบได้ ให้คิดว่าตัวเองเปรียบเสมือนจิตรกรวาดภาพ จิตรกรใช้สี พู่กันและผืนผ้าใบ ใช้พู่กัน จุ่มสีแล้วระบายออกมาเป็นภาพ เราก็เหมือนกับจิตรกรคนหนึ่ง แต่เราใช้เสียง ไม่ใช่จิตรกรสี แล้วพู่กันเราคืออะไร ก็คือลำคอ สีคืออะไร ก็คือเสียง เราใช้ลำคอของเราจุ่มเสียงของเรา แล้วระบายบนหน้าปัดวิทยุแทนผืนผ้าใบ ให้เกิดสีสันบนหน้าปัดวิทยุ แล้วออกอากาศออกไปให้คนได้ชื่นชม แล้วถ้าเกิดคุณเป็นจิตรกรที่ฝีมือดี มีสีสัน แล้วฟังแล้วดีมากเลย แล้วภาพราคาเป็นล้าน คุณก็ได้รับการยอมรับจากคนฟัง อยู่ที่ว่าคุณจะระบายเสียงของคุณออกไปยังไง นั่นแหละครับ
เอกลักษณ์และภาษาที่ต้องชัดเจน
“รูปแบบการนำเสนอ ผมบอกแล้วว่า เสียงของคนเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่างที่ผมเปรียบเทียบไป ต้องการให้อารมณ์ร้อนแรง ใช้สีโทนร้อน ต้องการให้คนดูรู้สึกเย็น ใช้โทนสีนิ่มนุ่มนวล ส่วนกลางๆ ก็โทนกลาง อันนี้ก็เหมือนกัน เนื้อหาข่าวแต่ละชิ้น อย่างข่าวแห่งประเทศไทย ใช้เสียงยังไง ผมก็ต้องใช้จากลำคอจุ่มเสียงให้ออกมาเป็นทางการ ไม่ต้องใส่ความคิดเห็น ไม่ต้องใส่สร้อยคำ ไม่ต้อง ผมก็จะอ่านแบบนี้เลย แต่ถ้าเกิดผมจุ่มสีใหม่ ใช้ลำคอจุ่มเสียงใหม่ ผ่อนคลายกว่านี้ ไม่เอาทางการ เหมือนเล่าข่าว ปัจจุบันสื่อส่วนใหญ่ ผมกล้าพูดได้เลยว่า เหลือที่กรมเราที่เดียว ที่เป็นการอ่านข่าวจริงๆ แท้ๆ ที่เป็นคงเอกลักษณ์ไว้ ส่วนที่อื่นเขาเล่าข่าวหมดแล้วครับ ไม่ใช่อ่านข่าว คือมันให้อารมณ์ต่างกันจากที่ออกไป
“การอ่านข่าวแท้ๆ ในปัจจุบันจะเริ่มหายไป เพราะว่าตอนนี้สื่อส่วนใหญ่ ชอบเล่าข่าว แม้แต่ข่าวต้นชั่วโมงในตอนนี้ ก็ยังเล่าข่าว ไม่ใช่อ่านข่าว ผมกล้าพูดได้เลย รูปแบบที่เป็นการอ่านข่าวจริงๆ อยู่ที่กรมเราที่เดียว เพราะการอ่านข่าวช่วง 7 โมงถึง 7 โมงครึ่ง จะไม่มีหางเสียงเลย น้อยมาก อีกอย่างมันก็เป็นยุคสมัยด้วย และเป็นความนิยมของสื่อที่ไหลตามกันไป พอเห็นว่าวิธีการนี้โอเค ก็ทำตามกัน จนความเป็นเอกลักษณ์ในการอ่านข่าวหายไป ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าว คุณสมบัติคือ หนึ่ง เสียงต้องได้ อารมณ์ต้องได้ อักขระต้องชัด ถ้าเป็นเล่าข่าว อาจจะมีการพลั้งพลาดบ้าง ร.เรือ ล.ลิง นิดหน่อยไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นการอ่าน ต้องเป๊ะตามสคริปต์ อักขระต้องชัด ภาษาไทย ต้องเก็บให้ครบทุกตัว ร.เรือมีกี่ตัวเอามาให้ครบ
“ในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องศึกษาการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะคำราชาศัพท์ เพราะโดยตำแหน่ง เราไม่ใช่แค่อ่านข่าวอย่างเดียวนะ ต้องถ่ายทอดเสียงพระราชพิธีต่างๆ สำนักพระราชวังจะให้ความไว้วางใจกับวิทยุแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เจ้าเดียวเท่านั้นที่เข้าไปถ่ายทอดเสียงได้ แล้วก็ดึงสัญญาณให้เครือข่ายอื่นรับ ซึ่งต้องมาที่เราที่เดียว ซึ่งตอนที่เราทำแรกๆ ก็หนักนะ แล้วตอนที่เราออกอากาศแรกๆ นี่ เกร็งมาก งานใหญ่ แล้วภาษาที่ใช้อีกล่ะ แถมกดดันเป็นทวีคูณ เพราะเป็นภาษาในราชสำนัก แถมเครืออื่นจากทั่วประเทศ รับสัญญาณจากที่นี่อีก ต้องเป๊ะ ต้องละเอียด ซึ่งต้องศึกษาคำอย่างหนักเลยครับ อ่านข้อมูล แล้วแบกหนังสือราชาศัพท์ไปด้วย
“เชื่อไหมว่า ถ่ายทอดแค่ 1 ชั่วโมง แต่ต้องเตรียมตัวและข้อมูลกว่า 4-5 ชั่วโมง เพราะเผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อมีอะไรฉุกเฉิน เช่น อาจจะยืดไปหรือสั้นหดได้ อย่างนี้เป็นต้น ต้องเตรียมตัวไม่ต่ำกว่า 4-5 เท่า เพื่อความสบายใจ ซึ่งต่างจากถ่ายทอดแบบปกติ เพราะไปจัดรายการนอกสถานที่ แต่อันนี้จะผ่อนคลายกว่า สามรถใส่ครับใส่ค่ะได้ เหมือนจัดรายการนอกสถานที่ แต่ก็ยังทรงความเป็นทางการอยู่ เพราะเป็นงานพระราชพิธี
“การที่ได้มาทำงานตรงนี้ มันสอนหลายอย่าง หนึ่ง อย่าประมาท ทุกวันนี้ยังต้องฝึก ไปสอนคนที่เตรียมตัวในบัตรผู้ประกาศ ต้องฝึกเสียง เพื่อให้นวดลิ้นให้นิ่ม ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ ท่องกลอนเพื่อทดสอบว่า ส.เสือ ของตัวเองยังชัดเจนอยู่มั้ย ก็ยังทดสอบอยู่ คำกลอน ร.เรือ ล.ลิง ก็ยังทำอยู่ ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในระดับที่ไม่ได้ดีเด่นอะไรมากมาย อยู่ในระดับที่ประสบการณ์พอสมควร แต่เราก็ทิ้งไม่ได้ พื้นฐานต้องฝึกอยู่เสมอ เพื่อให้เรารู้สึกว่ามีความมั่นใจอยู่ตลอดเวลา ทิ้งไม่ได้หรอกครับ มันสอนเราหลายอย่าง
“สอง ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะอยู่ในขั้นที่ทำมานานแล้วก็เถอะ แต่อย่าหยุดฝึกฝน จงฝึกต่อไป และที่สำคัญ สื่อมวลชน อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเด็ดขาด ต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว พร้อมที่จะเติมอะไรใหม่ๆ รับฟังคนอื่น บางคนพอเป็นสื่อมวลชน พอเริ่มมีชื่อเสียง เริ่มไม่ฟังใครแล้ว เพราะความมีอีโก้ไง หลายคนแล้วที่ตายคาที่เลย อัตตาบัง ส่วนมากสื่อมวลชนนี่ พอดัง สิ่งดังกล่าวเริ่มมาแล้ว ไม่ฟังใคร แล้วพอแหล่งข่าวมา ก็ไปจิกหัวเขามาสัมภาษณ์ คือกูแน่ ตายมาหลายคนแล้วครับ อย่างที่เราเห็นกัน เพราะถ้าเราทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเมื่อไหร่ เราจะหยุดการพัฒนาทันทีเลย เราต้องคิดว่าตัวเองยังอ่อนหัดอยู่ เพื่อที่จะให้เราไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และก็พยายามฝึกตัวเอง ศึกษาไปเรื่อยๆ ผมเองถ้าใครมาติหรือชม ผมรับฟังนะ หรืออย่างเพื่อนๆ ด้วยกัน น้องๆ ก็ยังมาบอกกับเรานะว่า คำบางคำยังออกเสียงไม่ชัดเจนหรือถูกต้อง ผมก็ฟังแล้วก็ปรับ ต้องฟัง ต้องปรับ ซึ่งถ้าเราไม่ฟังใครเลย เท่ากับว่าเราหยุดแล้วชีวิต เราจะไม่พัฒนา
“การที่เขามองผมแบบนี้ ผมไม่ได้คิดหรือรู้สึกว่า ผมเป็นต้นแบบของใครใดๆ ทั้งสิ้น ผมก็ยังเป็นบุญมา ศรีหมาด คนเดิม พร้อมที่จะให้คำแนะนำกับทุกคน ถ้าคนรุ่นใหม่คิดว่าผมสอนได้ บอกเขาได้ ช่วยเหลือเขาได้ในเรื่องการออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน ยินดีเลยครับ เป็นการสนับสนุนให้คนได้ออกเสียงภาษาไทยให้ชัดด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านนี้
“จุดมุ่งหมายอีกอย่างที่สูงสุดในชีวิตเลย นอกจากการได้รับความศรัทธาจากประชาชนแล้ว ก็คือเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในด้านภาษาไทย ตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ ภาษาไทยเป็นของคนไทย ต้องรักษาในการออกเสียง ให้ถูกต้องและชัดเจน ทั้งการเขียนและการอ่าน ผมก็จะเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้านนี้ ในการอนุรักษ์และใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการออกเสียง ให้ถูกต้อง คือถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะจุดกระแสเลยล่ะ เด็กรุ่นใหม่ฟังนะ คุณลองพิจารณาตัวเองซิ ลองมาอ่านซักข่าวซิ ถ้ายังอ่านสำเนียงเพี้ยนอยู่ แสดงว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ซึ่งใจจริงผมก็อยากทำอย่างนั้น
“ด้วยความที่เราเองก็เป็นข้าราชการนักสื่อสารมวลชนชำนาญการที่แห่งนี้ โดยท่าน ธารทิพย์ ทองงามขำ ซึ่งเป็น ผอ. คนปัจจุบันนี้ และท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ท่านอภินันท์ จันทรังสี ความเป็นข้าราชการของเราคืออะไร ข้าราชการ คำมันก็บอกอยู่แล้ว คือผู้เดินตามรอยพระยุคลบาท ทำงานตามรอยพระราชา ช่วยทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ นี่คือภาระหน้าที่ของข้าราชการ ใครทำด้านไหนก็ทำไป ผมอยู่ที่นี่ ก็ต้องสืบสานดำริในเรื่องภาษาไทย ช่วยทำให้คนออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจุดกระแสอย่างนี้ว่าต่อไปเราช่วยกันเถอะครับภาษาไทย มันไม่ใช่เรื่องยากเลย ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องไปจ่ายเงิน เพียงแต่คุณศึกษาและเข้าใจให้ดี แล้วลองทบทวนตัวเองนิดหนึ่งว่า ออกเสียงภาษาไทยเพี้ยนไหม กลับไปพูดให้ชัดว่า ร.เรือ ล.ลิงเราได้ไหม ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็มีมาเอง เพราะการที่คุณพูด ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ออกสื่อเหมือนผม ไม่ได้ออกวิทยุหรือทีวี แต่คุณไปพูดกับลูกคุณน่ะ เพราะถ้าคุณพูดผิด เด็กก็ทำตามได้นะ ภาษาไทยมันก็เลยไม่ชัด ลองพูดให้ชัด
“ความตั้งใจของเราอีกอย่างคือการจุดประกาย หันมาให้ความสำคัญกับการออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน ถ้ามีแรงพอจะทำ ถึงแม้ว่าคุณไปจบจากต่างประเทศมาได้ ดร.กี่ใบ ไม่ว่าเลย อยากจะพูดภาษาอื่น พูดภาษานั้นให้เก่งไป แต่ภาษาไทย อย่าทิ้ง และต้องพูดให้เก่งด้วย ไม่ใช่ว่า แต่ละภาษา ได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่รู้จะไปทางไหนดี เอกลักษณ์ของเราต้องมี ความเป็นคนไทย นี่แหละคือความภูมิใจ นี่คือวัฒนธรรมเรา ภาษาที่เรามีใช้เป็นของตนเองคือภาษาไทย แสดงถึงความมีเอกราช มีอิสระของคนไทย ภาษาคือสุดยอดวัฒนธรรมของเรา บางประเทศที่เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ เขาใช้ภาษาอื่นเป็นทางการ แต่เราใช้ภาษาไทยเป็นทางการ เพราะเป็นภาษาของบรรพบุรุษของเราที่คิดค้นกันมา ภูมิใจเถอะครับ”
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร
หลายๆ คน ในสังคมออนไลน์ ต่างยกย่องว่าเสียงนี้คือตำนานบ้าง เสียงนี้คือเสียงที่จดจำบ้าง แต่ถ้ามาถามกับ “บุญมา ศรีหมาด” เจ้าของเสียงประกาศดังกล่าวนั้น เขากลับบอกกับเราเพียงว่า เขาแค่รับใช้การเป็นสื่อมวลชนคนธรรมดา ที่นำเสนอผ่านการอ่านข่าวให้ประชาชนไทย ได้ทราบถึงความเป็นไปในสังคมไปตามปกติเท่านั้น
จากเด็กชายบ้านนอกชาวกระบี่ ผู้มีวิทยุทรานซิสเตอร์เป็นเพื่อนคู่ใจ และฝึกหัดเสียงตามผู้ประกาศของสถานีวิทยุเป็นประจำ ผ่านการพูดมาทุกรูปแบบ ไล่มาตั้งแต่เสียงตามสายในโรงเรียน, โต้คารมและพิธีกรในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย มาจนถึงนักสื่อสารมวลชนชำนาญการ ของกรมประชาสัมพันธ์ เรียกได้ว่า บุญมาผ่านประสบการณ์มากว่า 30 ปี แห่งการรับใช้ภาษาไทยผ่านการพูดมาตลอดชีวิต
เริ่มความฝันในการเป็นผู้ประกาศ
“ผมเป็นคนตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง กระบี่ เป็นเด็กบ้านนอกเลย แล้วที่บ้านคืออาชีพค้าขาย คุณพ่อ-คุณแม่ก็มีอาชีพนี้ ท่านก็ค้าขายปกติ เป็นร้านขายของชำ ขายกาแฟ แต่เพราะเราได้ซึมซับการฟังข่าวจากวิทยุทรานซิสเตอร์ ก็รู้สึกว่าเราต้องเป็นแบบเขาให้ได้ ฉันต้องอ่านข่าว ให้คนต้องฟังเสียงของฉันไปทั่วประเทศให้ได้
“เราเป็นคนที่ชอบการพูด อย่างเวลาที่เล่นกับเพื่อน ก็จะชอบเอากิ่งไม้มาตั้งเป็นไมค์ แล้วก็พูด และบังคับให้เพื่อนๆ นั่งฟัง ชอบมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าเรียนชั้นประถม ก็ฝึกภาษาไทยมาด้วยตนเอง มีคุณครูท่านหนึ่งชื่อว่า “ชะอ้อน ใสไทย” เป็นครูชั้น ป.2 ถ้าจำไม่ผิดนะครับ ท่านสอนวิชาภาษาไทย ให้ออกเสียง ร.เรือ โดยท่านจะทำเสียง รือ (ทำเสียงประกอบ) เราก็เริ่มเลย ทำตามที่ท่านทำ จนได้เสียง ร.เรือ ชัด เป็นธรรมชาติ เพราะท่านฝึกให้เรานวดลิ้นแบบที่ท่านทำมาตลอด และสอนมาตั้งแต่ ป.2 ว่าต้องออก ร.เรือให้ได้ อักขระวิธีได้ ก็เลยเป็นผลดีกับผมตั้งแต่มา
“พอจบ ป.6 ก็เข้ามาศึกษาต่อมัธยมที่โรงเรียนอำมาตย์พาณิชนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดของกระบี่ ระหว่างเรียนที่นั่น ผมก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโรงเรียน ให้ไปจัดรายการวิทยุ ชื่อรายการ “อำมาตย์ปริทัศน์” นอกจากนั้นก็ได้จัดรายการเสียงตามสายในโรงเรียนด้วย อีกทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.กระบี่ เขาให้เวลากับโรงเรียนให้ไปฝึกหัดจัดรายการออกอากาศจริงๆ เลย ก็ฝึกจัดตั้งแต่ตอนนั้น”
“ในระหว่างที่จัดรายการอยู่ก็ได้คุยกับพี่ๆ ที่อยู่ สวท. กระบี่ ชื่อว่า พี่อ้อย - มยุรี สุขใหญ่ ผมก็ไปคุยถามไถ่บ้าง ปรึกษาถึงความอยากที่จะเป็นของเราบ้าง พี่เขาก็บอกว่า ก็ไปสอบใบผู้ประกาศสิ ตอนนั้นไฟแรง ชอบ รู้ตัวเองว่าต้องทำด้านนี้ ก็เลยปรึกษาพี่เขาว่าต้องทำยังไง
“ตอนนั้นการสอบใบผู้ประกาศไม่ได้อยู่ใน กสทช. เหมือนปัจจุบัน เป็นของกรมประชาสัมพันธ์ เขาก็มีให้ยื่นใบสมัครประเภทประชาชนทั่วไป แต่ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมนักวิทยุแห่งประเทศไทย ค่าสมัครก็ 100 บาทแค่นั้นเอง แล้วก็มาสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมนี่แหละ แล้วก็ยื่นตัวเองไปสอบ มีสถาบันนี้ยืนยันว่าเรามีที่มาที่ไปแค่นั้นเอง แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่หรือบริษัทข้างนอกมาร่วมผลิตรายการกับสถานีวิทยุ เขาก็ไม่มีปัญหา ก็ส่งสอบได้อยู่แล้ว ผมก็มาสมัครสอบตอนช่วงประมาณ ม.5 ถ้าจำไม่ผิด มายื่นใบสมัคร ซึ่งตอนนั้นกรมยังอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ก็มายื่นใบสมัครเรียบร้อยหมดทุกอย่าง แล้วก็รอเขาเรียก แต่ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 พอดี กรมถูกเผา เอกสารอะไรต่างๆ หายหมดไม่เหลือเลย ก็เลยต้องรื้อข้อมูลใหม่ กว่าจะสอบผ่านได้ ก็เป็นปีถัดมา จะจบ ม.6 คือขึ้นมาสอบที่กรุงเทพฯ ครั้งเดียวผ่าน คือ จบ ม.6 ก็มีบัตรผู้ประกาศแล้ว
กิจกรรมให้ฝึก รามคำแหงให้ทาง
“หลังจากนั้น ผมก็ได้เข้าเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน (คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปัจจุบัน) คือรู้เลยว่ามุ่งตรงทางนี้ ไม่ไปทางอื่นแล้ว มีความรักความชอบมา เลยมุ่งตรงมาที่นี่เลย ซึ่งระหว่างที่เรียน เราก็ทำกิจกรรมไปด้วย นั่นคือการได้เข้าชมรมปาฐกถาและโต้วาที ซึ่งชมรมนี้ จะมีรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมากมาย เช่น อ.จตุพล ชมพูนิช อ.พิษณุ สกุลโรมวิลาศ อ.สมชาย หนองฮี อ.อุสมาน ลูกหยี อ.ประดิษฐ์ กิตติฤดีกุล อ.สุรวงศ์ วัฒนกูล และอีกหลายๆ ท่าน ก็เป็นรุ่นพี่ชมรมเรา ปั้นนักพูด ใช้เสียง ใช้ไมค์เยอะมาก ก็เข้าชมรมนั้นด้วย แล้วที่คณะเอง ก็เปิดรับสมัครนักศึกษา คือได้ช่วงเวลาในการจัดรายการว่า มหาวิทยาลัยไหนมีนักศึกษาวิชาทหาร ให้เวลาไปจัดรายการได้เลย สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ผมก็ไปสมัคร และได้รับการคัดเลือก ก็มาจัดรายการต่ออีกในสมัยช่วงปี 1-2 แล้วเนื้อหารายการก็คล้ายรายการช่วงมัธยมครับ เอาเรื่องราวข่าวสาร มหาวิทยาลัยมีการประชุมอะไรบ้าง ว่าจะเอาเรื่องอะไรในสัปดาห์นี้ ไปพูดคุยและจัดรายการ
“ในขณะที่เรียน ก็ไม่ใช่แค่จัดรายการหลังไมค์อย่างเดียว แต่ยังมีการแข่งโต้คารมอุดมศึกษาพาสอน ของ อ.กรรณิการ์ ธรรมเกสร ซึ่งเวทีก็ปั้นนักพูดมาหลายคนเหมือนกัน ทั้งคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ คุณอรอุมา เกษตรพืชผล เสนาลิง (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์) คุณทุเรียน (สุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ) ก็มาจากเวทีนี้หมดเลย แต่ผมมาจากสายอุดมศึกษา ก็เติบโตกันมา แล้วก็แยกย้ายกันไปตามหน้าที่ของตัวเอง ตามที่ตัวเองชอบ ซึ่งตัวผมได้รางวัลถ้วยรองชนะเลิศให้กับมหาวิทยาลัยในรายการดังกล่าว ซึ่งรอบชิงจะมี อ.จตุพล ชมภูนิช อ.อภิชาติ ดำดี เป็นกรรมการ หลังจากนั้นก็มีโครงการนักพูดของคุณกรรณิการ์เหมือนกัน คือ “นักพูดบานฉ่ำ” ผมก็เข้าไปสมัครและได้รับการคัดเลือก และคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ก็ผูกพันกับคนในวงการการพูดมานาน
“ตอนที่ผมเรียนที่นี่ เป็นช่วงที่กิจกรรมบูมมาก เป็นในทางที่ฝึกกิจกรรมเลย ฝึกการพูด ฝึกทุกอย่าง แล้วเด็กกิจกรรมต้องพูดเก่ง ต้องพูดเป็น แล้วมันจะมีงานหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ เสือ ธนพล อิทธิฤทธิ์ กำลังดัง แล้วจัดคอนเสิร์ตชื่อ เสือบุกราม ผมก็ขึ้นทำหน้าที่เป็นพิธีกร ปรากฏว่าตีกันแหลกลาญเลย (หัวเราะ) คือคอนเสิร์ตนี้ เล่นไปได้ไม่กี่เพลง ก็มีการตีกัน จนพี่เสือให้หยุดเคลียร์ก่อน แล้วเป็นช่วงที่คอนเสิร์ตที่รามฯ เริ่มซาๆ แล้ว มันไม่เหมือนยุคแรกเริ่ม เด็กกิจกรรมนักศึกษา ที่พลังนักศึกษากำลังแรง ซึ่งตอนที่ผมเข้าไป จะเป็นช่วงที่กำลังซาพอดี อย่างคอนเสิร์ตเมื่อก่อนก็จะมาจัดที่ เวที สวป. และนั่นคือกิจกรรมครั้งแรกที่ขึ้นพูดบนเวทีใหญ่ต่อหน้าคนเป็นหลักหมื่น คือเราก็ชอบพูดต่อหน้าสาธารณชนอยู่แล้ว ก็เลยบ่มเพาะมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว เหตุการณ์ตอนนั้นนี่คือน่ากลัวมาก รุ่นพี่ก็ดันเราใหญ่เลย ไปๆ ไปพูด คือเขาก็ผลักเราไปที่หน้าเวที เราก็กลัวว่าไม้หน้าสามจะลอยมาหาหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ผ่านมาได้ ก็สนุกสนานดี และเป็นสุดยอดของประสบการณ์ชีวิตเช่นกัน”
สู่ผู้ประกาศอย่างเป็นทางการ
“พอใกล้เรียนจบ ด้วยความที่เป็นเด็กกิจกรรม แล้วรุ่นพี่ที่อยู่ในชมรม ชื่อ กนกวรรณ กนกวนาวงศ์ ก็ชักชวนผม เนื่องด้วยว่าเขาไปทำงานก่อนผมที่รายการ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ที่ไอเอ็นเอ็น ด้วยที่ว่า เรารู้จักกันในชมรม แต่เขาไปทำงานก่อน เขาก็มาถามหาว่า มีใครที่มีบัตรผู้ประกาศหรือเปล่า ผมก็บอกว่าผมมี เขาก็ชวนเราไปทำงานที่ไอเอ็นเอ็น ซึ่งออฟฟิศในตอนนั้นอยู่ที่สาธร เยื้องๆ สถานทูตออสเตรเลีย ตึกไทยออยล์ จำได้เลย ก็ไปสมัครในช่วงที่คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ คุณสนธยา หนูแก้ว (ปัจจุบันคือ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม) และคุณสมชาย แสวงการ เป็นผู้บริหาร และอีกหลายๆ ท่าน ก็ให้โอกาสผม ในการที่จะร่วมอ่านข่าวกับเขา ซึ่งเวลานั้น รายการลักษณะนี้กำลังมาใหม่ๆ รูปแบบรายการก็คือเป็นการช่วยเหลือในเรื่องการจราจร ใครมีปัญหาอะไร ก็โทรมาในรายการนี้ได้ ผมก็ไปสมัครอ่านข่าวที่นั่น และก็ได้รับการคัดเลือก
“แต่เนื่องด้วยว่าผมเหลือเรียนอีกครึ่งเทอมก็จะจบแล้ว เลยทำให้มีการตะขิดตะขวงใจ ทั้งๆ ที่ทางเขาก็โอเคกับผมแล้ว เพราะใช้วุฒิ ม.6 สมัคร แต่เขาให้เงินเดือนระดับปริญญาตรีเลย แต่เราก็ยังลังเล เขาก็ถามว่า จะทำงานมั้ย ถ้าจะเริ่มงาน ก็ให้เวลาคิด 1 สัปดาห์ ไปคิดดูจะทำงานด้วยมั้ยยังไง หรือยังไม่เอางาน เรียนอย่างเดียว ผมก็ตัดสินใจ และสรุปว่าเอางานด้วยดีกว่า ตอนนั้นเราก็สองจิตสองใจนะว่า ถ้าเราเอางานด้วย จะเรียนจบมั้ย เราก็ขอข้อแม้เขานะว่า ถ้าไปสอบก็ขออนุญาตไปนะ เขาก็ยินดี ผมก็เลยเอางานด้วย สรุปคือ ได้งานก่อนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย พอถึงเวลาสอบก็มาสอบ พอเรียนจบ ก็ไม่มีปัญหาแล้ว ทำงานเต็มตัว ตั้งแต่ปลายปี 2539 ซึ่งผมถือว่าโชคดีมากที่ผมตัดสินใจอย่างนั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แล้วพอผ่านวิกฤตตรงนั้นมา เรารู้สึกว่าโชคดีมากๆ ที่ตัดสินใจแบบนั้น เพราะถ้าเราเลือกอีกแบบ ก็ไม่มีทางได้งานในช่วงนั้นแน่ๆ เพราะนักศึกษาที่จบในช่วงนั้น ตกงานกันหมดเลย บริษัทเขาเลย์ออฟคนออกทั้งนั้น เพราะบริษัทเหล่านั้นไปไม่ไหว เจ๊งกันเยอะ ซึ่งเราเลือกงานก่อน ก็เลยได้ทำงานตั้งแต่ตอนนั้นมา ทำมาเรื่อยๆ
“ผมทำงานที่ไอเอ็นเอ็นมาจนมาถึงปี 2547 ก็เลยมาสมัครที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเขาเปิดรับสมัครข้าราชการ โดยระหว่างที่เราอยู่องค์กรเอกชนนั้น ใจหนึ่งก็อยากที่จะรับราชการ เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดในชีวิต สมัยเด็กๆ ผมมีเครื่องวิทยุทรานซิสเตอร์ ชอบฟังวิทยุ แล้วข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยเราเป็นเด็ก ทุกคนจะต้องฟังข่าวของคลื่นนี้ ที่ออกอากาศทั่วประเทศ ตอน 7 โมงเช้า กับ 1 ทุ่ม แล้วเราชอบเลียนแบบเสียงพวกเขา ตอนนั้นก็มีใคร คุณปรีชา ทรัพย์โสภา คุณอดุลเดช สุจริตกุล คุณประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ เราฟังเสียงแล้วเลียนแบบเสียงเขา แล้วฝันตั้งแต่เด็ก ตอนสมัยประถมเลยว่า ยังไง เราก็ต้องมาอ่านข่าว ณ ที่แห่งนี้ให้ได้ เพราะมันเป็นที่เดียว ที่คนอ่านข่าวจะได้ออกอากาศไปทั่วประเทศ ซึ่งถ้าไปอยู่คลื่นอื่น คุณก็จะได้แค่เครือข่ายของเขา แต่ถ้าอยู่ที่นี่ ทุกคลื่นจะต้องรับสัญญาณจากที่นี่ทั่วประเทศ เราก็ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กเลย
ฝันที่เป็นจริง
“พอผ่านการสอบได้ ทางกรมเขาก็เรียกคุย ตอนนั้น มีเรียกเสนอให้บรรจุหลายที่ แต่ทางเขาก็เชิงว่าให้เราลงกรุงเทพนี่แหละ เพราะที่กรุงเทพฯ ผู้ประกาศขาดพอดี เขาต้องการตัวด่วน ซึ่งคู่กะที่อ่านข่าวในตอนนั้น ที่เริ่มที่นี่ ตอนภาคค่ำ คือคุณเตชินทร์ มัชชันติกะ เขาอ่านคนเดียวมาพักนึงแล้ว ผมก็เข้าไปฝึกไปอ่าน เขาก็ช่วยฝึกช่วยอะไรให้ เขาก็ปรับอะไรให้นิดหน่อย เข้าไปถึงก็ใช้งานได้เลย เพราะเราอ่านข่าวสไตล์นี้อยู่แล้ว แต่อ่านในภาคเอกชนแค่นั้นเอง ก็มาสมัครสอบ
ผู้ที่มาสอบสัมภาษณ์ผมในตอนนั้นก็คือ ท่าน ผอ.สุริยงต์ หุนทสาน อดีต ผอ.ช่อง เอ็นบีที ท่านก็ให้โอกาสผม คำถามที่ท่านถามเรา ท่านถามว่า อยู่เอกชนเงินเดือนสูงกว่าตั้งเยอะ แล้วทำไมต้องมารับราชการ ผมก็ให้คำตอบไปว่า เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก อยากเป็นผู้ประกาศของที่นี่ให้ได้ เพราะที่นี่ เสียงเราจะออกอากาศไปทั่วประเทศแน่นอน คืออย่างที่บอก อยากทำที่นี่ ปรากฏว่าคำตอบของผมชนะใจกรรมการ ก็ได้เข้ามาทำงานที่นี่ เราก็ขอขอบพระคุณ ผอ.สุริยนต์ ถ้าท่านไม่เปิดโอกาสให้ในวันนั้น ก็ไม่มีผมในวันนี้นะ เป็นเพราะท่านเปิดโอกาสให้ผมได้มาทำงานที่นี่ จากนั้นเราก็ทำงานๆ ไปเรื่อยๆ อ่านช่วงเช้าบ้าง ช่วงค่ำบ้าง
“พอผ่านไปประมาณ 3-4 ปี สถาบันการประชาสัมพันธ์ก็ให้ความสำคัญ ซึ่งที่แห่งนี้เป็นการเปิดหลักสูตรที่ครอบคลุมหมดทั้งหลักสูตรต่างๆ ทั้งการพูด การจัดรายการ เสียงตามสาย การอ่านข่าว ทุกอย่าง ที่นี่เปิดอบรมหลักสูตร โดยท่าน ผอ. ในตอนนั้น คือ ผอ.รวงทอง ยศธำรง ซึ่ง ผอ.รวงทอง ท่านประสานมาเลยว่า บุญมา พี่อยากให้เธอมาเป็นวิทยากร มาสอนที่นี่ ผมก็บอกกลับไปว่า จะทำได้เหรอ ผมไม่เคยสอนนะ ท่านก็บอกว่า ไม่รู้ล่ะ พี่มั่นใจว่าเธอทำได้ ท่านก็เปิดโอกาสให้เราบุกเบิกมาอีกทางเลยในทางการเป็นอาจารย์ สายสอนเลย ซึ่งมันเลยสร้างประสบการณ์ให้เราอีกทางด้วย ก็ต้องขอบคุณท่าน มา ณ ตรงนี้ ที่เปิดทางให้เราทั้งหมดเลย ก็มาสอบและสอนที่นี่เรื่อยๆ หลักสูตรที่สอนก็คือการอ่านข่าว ซึ่งคนที่มาเรียนที่นี่ เขาต้องมีใบประเมินวิทยากรด้วย และแน่นอนคะแนนประเมินของคนที่เรียนที่นี่ก็ประเมินตามความรู้สึกและความเป็นจริงอยู่แล้ว เพราะเขาจ่ายเงินมาเรียน และไม่ใช่คนในกรมเรานะ เป็นคนนอกมาเรียน เพราะถ้าเราสอนแล้วไม่ได้การยอมรับ เขาก็ต้องประเมินให้เราตกอยู่แล้ว เพราะเขาจ่ายเงินแล้วนี่ ถ้าได้ไม่คุ้ม เขาก็ไม่เอา แต่คะแนนที่เขาประเมินมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เขาก็ให้ผมสอนเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันนี้ 4-5 ปี แล้ว
“แน่นอนว่าอาการตื่นเต้นในการอ่านข่าวก็ต้องมี เพราะวิทยุของกรมนั้นเป็นคลื่นหลัก คลื่นใหญ่ ก็รู้สึกเครียดเหมือนกันนะ มันไม่ใช่แค่อ่านเหมือนเอกชนแล้ว เพราะเอกชนเราอ่านแค่ในกรุงเทพคลื่นเดียวไง แต่พอมาที่นี่ มัน 140 กว่าสถานี เฉพาะในเครือกรมนะ แล้วยิ่งเป็นช่วงใหญ่ 7 โมงเช้า กับ 1 ทุ่ม เนี่ย ทั้งประเทศนะ ตอนแรก ยอมรับว่านี่คือเสียงสั่นเลย อ่านจนตัวเองไม่ขยับเลย จนพี่เขาบอกเราว่า เกร็งไปน้อง เกร็งไป เราก็ตอบแบบซื่อๆ กลับไปว่า พี่ครับ ผมประหม่ามากเลย แต่พอเราอ่านไปจนเป็นทักษะอย่างที่บอก มีเวทีเยอะ ฝึกเยอะ เริ่มผ่อนคลายแล้ว เริ่มสบายแล้ว เพราะเราชินเวทีแล้ว
อุปสรรค คือสำเนียงถิ่น
“ก็ฝึกอ่าน ฝึกเลียนแบบอะไรอย่างงี้ ฝึกอ่านออกเสียง เพื่อให้ภาษาไทยชัดเจน แต่ก็มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะเกือบถอยหนีเหมือนกัน ด้วยความที่เราเป็นคนใต้ อยู่กระบี่ แล้วลักษณะการพูด แน่นอนว่าจะต้องออกเป็นทองแดง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีนะ ซึ่งพูดอาจจะมีบ้าง แต่อ่านข่าวจะไม่มีเลย เมื่อก่อนสำเนียงทองแดงเยอะมาก แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่ง อยู่ในช่วงระหว่างเรียนนี่แหละ ด้วยความที่ได้รับความไว้วางใจ ว่ามีใบผู้ประกาศ ได้ไปช่วยลงเสียงสารคดีให้เขาด้วย เป็นหลายสิบตอน ประมาณว่ารับจ็อบนี่แหละ น่าจะเป็นครั้งแรกด้วยมั้ง
คือเราสำเนียงทองแดง มันหนักกว่านี้เยอะ แล้วไปลงเสียง จนโปรดิวเซอร์ ด่าแล้วด่าอีก เป็น 10 ๆ เทคเลยกว่าจะได้ เราท้อมากเลยนะ แล้วสมัยก่อนระบบอัดเสียงก็ไม่ใช่แบบสมัยนี้นะ ใช้เทปรีล เขาก็ต้องมานั่งกรอกลับไปใหม่ แบบเขาเหนื่อยกับเรามาก แล้วเราอ่านประกบคู่กับผู้ประกาศชื่อดังคนหนึ่ง โปรดิวเซอร์ด่าเรา แล้วเราก็สงสารพี่เขาด้วย เนื่องจากมันต้องตอบโต้กัน พี่เขาต้องมาเสียเวลากับเรา แล้วโปรดิวเซอร์ก็ด่าทุกวัน เหมือนกับด่าแบบว่า ไม่ไหวแล้วโว้ย ประมาณนี้ จนเรากลับมาท้อเลยนะ จะไปต่อหรือหยุดดี ก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ก็คือพยายามสู้ต่อ
“จนเรากลับมาสังเกตว่า คนภาคกลางคือคนกรุงเทพเนี่ย เวลาเขาพูดออกเสียง ทำไมถึงไม่เพี้ยน ก็เลยจับสังเกตได้ว่า คนกรุงเทพเวลาพูด เขาจะมีการผ่อนเสียง มีหางเสียง มีการพูดจาแบบ ‘ไปไหน’ (ทำเสียงประกอบ) คนใต้เขาจะพูดเร็วและรีบ จึงทำให้เกิดทองแดง สำเนียงเลยเป็นสำเนียงถิ่น ก็เลยต้องพยายามดัดจริตซะนิดนึง (หัวเราะเบาๆ) ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่อยู่บนรถไฟ คนใต้เขาจะถามสั้นๆ และตอบสั้นๆ เช่น ไหน ใหญ่ นั่นหมายถึงว่า ไปไหน ไปหาดใหญ่ พอมาพูดกลางก็กลายเป็นทองแดง เราก็เลยจับสังเกตว่า เราต้องพูดให้นุ่มนวลลง และมีหางเสียงมากขึ้น มันเลยช่วยได้ ก็เลยหายไป จนน้อยที่สุด
“ถือว่าเป็นอุปสรรคเดียว แต่มันใหญ่มาก มันทำงานไม่ได้ ซึ่งถ้ามาอ่านแบบสำเนียงถิ่น ใครจะมาฟัง เพราะว่าเราอ่านให้คนฟังทั้งประเทศ ไม่ใช่อ่านให้เฉพาะคนใต้ฟังน่ะ เพราะฉะนั้น เราต้องปรับตัวเอง ก็พยายามฝึกอยู่หลายปี ฝึกจนได้ ซึ่งช่วงที่มาอ่านที่ ไอ.เอ็น.เอ็น ใหม่ๆ ก็ยังมีทองแดงอยู่นะ แต่ด้วยความที่ว่า พี่ๆ เขายังให้โอกาส ให้ฝึก ให้อะไรต่างๆ พี่ๆ หลายคนช่วยกันบอกช่วยกันกล่าว
มีพี่อีกท่านหนึ่งที่เป็นดีเจตอนนี้ ที่ยังนึกถึงอยู่ คือ พี่สายพิณ ผาสุกคง ตอนนี้ แกเป็นดีเจอยู่คลื่นจราจรเพื่อสังคม 99.5 ก็พยายามบอกเราว่า ยังอ่านแบบทองแดงอยู่นะ พยายามบอก พยายามชี้แนะ คืออยากจะบอกว่า ทำไมถึงเอาชื่อแต่ละคนมาพูด คือผมนึกเสมอว่า ถ้าเราลืมคนที่เคยมีพระคุณกับเรา ไม่เจริญหรอกครับ แล้วถ้าใครมาสัมภาษณ์ ผมจะเอ่ยชื่อพวกเขาเหล่านี้เสมอ เพราะเขาทั้งหลายเหล่านี้แหละ เราถึงได้มีวันนี้ ถ้าไม่มีบุคคลเหล่านี้ เราไม่มีทางจะมีวันนี้แน่ๆ ผมเชื่ออย่างนั้น
ผู้อยู่หลังไมค์ประกาศ
“คนอ่านข่าววิทยุ เป็นคนที่ปิดทองหลังพระอยู่แล้ว ไม่เห็นหน้าอยู่แล้ว ฟังแต่เสียง คือผมมีความรู้สึกว่า ในเมื่อประชาชนศรัทธาเราขนาดนี้ เชื่อมั่นในการอ่านของเราขนาดนี้ เราก็ต้องให้สิ่งที่ตอบแทนให้กับเขาคือ ต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง ต้องคงมาตรฐานให้ดีที่สุด พยายามอ่านให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เพื่อที่จะให้เขาไม่ผิดหวังเวลาได้ยินเสียงเรา เพราะตอนนี้ถ้าเขากดแชร์ กดไลค์กันมากขนาดนี้ แสดงว่าเขาคาดหวังในตัวเราสูงนะ แต่ถ้าเกิดวันไหนมาตรฐานตกนี่ เราก็รู้สึกไม่ดี ที่ทำให้เขาผิดหวัง ก็ต้องให้มาตรฐานเราดีที่สุด
“ผมคิดเสมอนะว่า ไม่มีรางวัลใดในโลกหล้า จะยิ่งใหญ่ไปกว่าแรงศรัทธาจากประชาชน งานสื่อสารมวลชนทุกแขนงครับ ตามที่บอก เพราะสื่อมวลชน ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คือผู้ที่สื่อสารกับมวลชน ต่อให้คุณได้รับรางวัลสื่อดีเด่นมา แต่ถ้าไม่มีคนมาสนใจผลงานคุณเลย คุณจะประสบความสำเร็จมั้ย ถามว่า ต่อให้ได้รางวัลใหญ่ๆ ภูมิใจอยู่คนเดียว แต่คนไม่เคยชอบคุณเลย สมมุตินะ คุณไปรับรางวัลมา อาจจะไปใช้เส้นได้มา แต่การอ่านข่าว อักขระไม่ได้ คนก็จะเกิดความสงสัยว่าไปได้ยังไง รางวัลนี้ได้มายังไง อ่านก็ไม่ได้เรื่อง จัดรายการก็ไม่เห็นจะดี คนด่ากันทั่ว แต่ถามว่าคุณภูมิใจกับรางวัลเหรอ
“ผมถึงบอกว่า สิ่งที่ผมอยากได้สูงสุดไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น แต่ที่ผมอยากได้คือ กำลังใจจากคนฟัง ความชื่นชมจากคนฟัง การที่คนฟังชอบเรา การที่คนฟังให้เกียรติเรา การที่คนฟังศรัทธาเรา เชื่อมั่นในตัวเรา นี่คือสุดยอดแล้ว มันสุขยิ่งกว่านั่งกอดถ้วยรางวัลอีก ผมจะบอกให้ ทุกวันนี้ผมมองว่าผมมีความสุขนะ คนชอบเราอย่างงี้มีความสุขมาก คือพร้อมที่จะทำงาน
“อีกคำหนึ่งที่คนสงสัยว่าเป็นน้ำเสียงเป็นตำนาน คือผมเริ่มอ่านข่าวที่นี่มา 12 ปีเอง แต่คนก็เอาไปเขียนว่าเป็นตำนาน เป็นอย่างงี้ครับ ผมจะอธิบายให้ฟังว่าผมเวอร์หรือเปล่า ว่ายกตนเป็นตำนาน ซึ่งผมมิอาจจะเบียดบังรุ่นพี่อาวุโสทั้งหลายที่เขามีอยู่แล้ว ท่านปรีชา ทรัพย์โสภา ที่เป็นปูชนียบุคคล เป็นปรมาจารย์เลย ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว หรือท่านประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ หรือ ท่านอดุลยเดช สุจริตกุล พวกเขาคือปรมาจารย์แล้ว นี่แหละคือตำนาน แต่เข้าใจไหมว่า กรมประชาสัมพันธ์ โทนเสียงในการอ่านข่าว จะคล้ายๆ กัน นี่คือมาตรฐาน ต้องโทนนี้นะ ถ้าไม่ใช่แบบนี้ ไม่เอา เพราะเสียงมันคล้ายกัน คนก็เลยฟัง แล้วถ้าฟังแบบเผินๆ เหมือนว่าได้ยินมานาน ซึ่งผมกับคุณเตชินทร์ มัชชัญติกะ ก็มีโทนเสียงละม้ายกัน นี่คือโทนเสียงแบบที่นี่ ทำให้คนอาจจะเหมือนว่าเคยฟังมานาน
“สำหรับการดูแลเสียงของผมนั้น ผมใช้หลักชีวจิต ชีวะบำบัด มีการเล่นโยคะ และออกกำลังกาย เพื่อให้ฝึกปอด พยายามหายใจฝึกปอด อะไรต่างๆ นานา เสียงของผมที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งเสียงพูดและอ่าน จะคนละโทนกัน เพราะว่าเสียงพูดทั่วไปๆ ผมก็ธรรมดา แต่เสียงอ่าน ผมจะปรับบุคลิกของเสียงให้เป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนกับว่าเสียงที่อ่านข่าว ผมจะอ่านมาจากข้างในคือกระบังลม เพราะผมก็เคยไปเรียนร้องเพลงมาบ้าง ก็นำจากตรงนั้นมาใช้ หายใจเข้าท่องป่อง หายใจออกท้องแฟบ เก็บลมเยอะๆ แล้วพยายามให้เสียงออกจากกระบังลม เอามาใช้กับการอ่านข่าว ให้เสียงออกจากข้างใน
“พูดง่ายๆ ว่า พยายามจินตนาการตัวเอง อันนี้เผื่อว่าท่านใดเป็นผู้ประกาศอยู่ ไม่ว่าคลื่นไหน ดีเจ หรือนักใช้เสียงทั้งหลายแหล่ เอาไปใช้ได้ด้วยก็ได้ เผื่อเอาไปเป็นแบบได้ ให้คิดว่าตัวเองเปรียบเสมือนจิตรกรวาดภาพ จิตรกรใช้สี พู่กันและผืนผ้าใบ ใช้พู่กัน จุ่มสีแล้วระบายออกมาเป็นภาพ เราก็เหมือนกับจิตรกรคนหนึ่ง แต่เราใช้เสียง ไม่ใช่จิตรกรสี แล้วพู่กันเราคืออะไร ก็คือลำคอ สีคืออะไร ก็คือเสียง เราใช้ลำคอของเราจุ่มเสียงของเรา แล้วระบายบนหน้าปัดวิทยุแทนผืนผ้าใบ ให้เกิดสีสันบนหน้าปัดวิทยุ แล้วออกอากาศออกไปให้คนได้ชื่นชม แล้วถ้าเกิดคุณเป็นจิตรกรที่ฝีมือดี มีสีสัน แล้วฟังแล้วดีมากเลย แล้วภาพราคาเป็นล้าน คุณก็ได้รับการยอมรับจากคนฟัง อยู่ที่ว่าคุณจะระบายเสียงของคุณออกไปยังไง นั่นแหละครับ
เอกลักษณ์และภาษาที่ต้องชัดเจน
“รูปแบบการนำเสนอ ผมบอกแล้วว่า เสียงของคนเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่างที่ผมเปรียบเทียบไป ต้องการให้อารมณ์ร้อนแรง ใช้สีโทนร้อน ต้องการให้คนดูรู้สึกเย็น ใช้โทนสีนิ่มนุ่มนวล ส่วนกลางๆ ก็โทนกลาง อันนี้ก็เหมือนกัน เนื้อหาข่าวแต่ละชิ้น อย่างข่าวแห่งประเทศไทย ใช้เสียงยังไง ผมก็ต้องใช้จากลำคอจุ่มเสียงให้ออกมาเป็นทางการ ไม่ต้องใส่ความคิดเห็น ไม่ต้องใส่สร้อยคำ ไม่ต้อง ผมก็จะอ่านแบบนี้เลย แต่ถ้าเกิดผมจุ่มสีใหม่ ใช้ลำคอจุ่มเสียงใหม่ ผ่อนคลายกว่านี้ ไม่เอาทางการ เหมือนเล่าข่าว ปัจจุบันสื่อส่วนใหญ่ ผมกล้าพูดได้เลยว่า เหลือที่กรมเราที่เดียว ที่เป็นการอ่านข่าวจริงๆ แท้ๆ ที่เป็นคงเอกลักษณ์ไว้ ส่วนที่อื่นเขาเล่าข่าวหมดแล้วครับ ไม่ใช่อ่านข่าว คือมันให้อารมณ์ต่างกันจากที่ออกไป
“การอ่านข่าวแท้ๆ ในปัจจุบันจะเริ่มหายไป เพราะว่าตอนนี้สื่อส่วนใหญ่ ชอบเล่าข่าว แม้แต่ข่าวต้นชั่วโมงในตอนนี้ ก็ยังเล่าข่าว ไม่ใช่อ่านข่าว ผมกล้าพูดได้เลย รูปแบบที่เป็นการอ่านข่าวจริงๆ อยู่ที่กรมเราที่เดียว เพราะการอ่านข่าวช่วง 7 โมงถึง 7 โมงครึ่ง จะไม่มีหางเสียงเลย น้อยมาก อีกอย่างมันก็เป็นยุคสมัยด้วย และเป็นความนิยมของสื่อที่ไหลตามกันไป พอเห็นว่าวิธีการนี้โอเค ก็ทำตามกัน จนความเป็นเอกลักษณ์ในการอ่านข่าวหายไป ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าว คุณสมบัติคือ หนึ่ง เสียงต้องได้ อารมณ์ต้องได้ อักขระต้องชัด ถ้าเป็นเล่าข่าว อาจจะมีการพลั้งพลาดบ้าง ร.เรือ ล.ลิง นิดหน่อยไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นการอ่าน ต้องเป๊ะตามสคริปต์ อักขระต้องชัด ภาษาไทย ต้องเก็บให้ครบทุกตัว ร.เรือมีกี่ตัวเอามาให้ครบ
“ในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องศึกษาการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะคำราชาศัพท์ เพราะโดยตำแหน่ง เราไม่ใช่แค่อ่านข่าวอย่างเดียวนะ ต้องถ่ายทอดเสียงพระราชพิธีต่างๆ สำนักพระราชวังจะให้ความไว้วางใจกับวิทยุแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เจ้าเดียวเท่านั้นที่เข้าไปถ่ายทอดเสียงได้ แล้วก็ดึงสัญญาณให้เครือข่ายอื่นรับ ซึ่งต้องมาที่เราที่เดียว ซึ่งตอนที่เราทำแรกๆ ก็หนักนะ แล้วตอนที่เราออกอากาศแรกๆ นี่ เกร็งมาก งานใหญ่ แล้วภาษาที่ใช้อีกล่ะ แถมกดดันเป็นทวีคูณ เพราะเป็นภาษาในราชสำนัก แถมเครืออื่นจากทั่วประเทศ รับสัญญาณจากที่นี่อีก ต้องเป๊ะ ต้องละเอียด ซึ่งต้องศึกษาคำอย่างหนักเลยครับ อ่านข้อมูล แล้วแบกหนังสือราชาศัพท์ไปด้วย
“เชื่อไหมว่า ถ่ายทอดแค่ 1 ชั่วโมง แต่ต้องเตรียมตัวและข้อมูลกว่า 4-5 ชั่วโมง เพราะเผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อมีอะไรฉุกเฉิน เช่น อาจจะยืดไปหรือสั้นหดได้ อย่างนี้เป็นต้น ต้องเตรียมตัวไม่ต่ำกว่า 4-5 เท่า เพื่อความสบายใจ ซึ่งต่างจากถ่ายทอดแบบปกติ เพราะไปจัดรายการนอกสถานที่ แต่อันนี้จะผ่อนคลายกว่า สามรถใส่ครับใส่ค่ะได้ เหมือนจัดรายการนอกสถานที่ แต่ก็ยังทรงความเป็นทางการอยู่ เพราะเป็นงานพระราชพิธี
“การที่ได้มาทำงานตรงนี้ มันสอนหลายอย่าง หนึ่ง อย่าประมาท ทุกวันนี้ยังต้องฝึก ไปสอนคนที่เตรียมตัวในบัตรผู้ประกาศ ต้องฝึกเสียง เพื่อให้นวดลิ้นให้นิ่ม ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ ท่องกลอนเพื่อทดสอบว่า ส.เสือ ของตัวเองยังชัดเจนอยู่มั้ย ก็ยังทดสอบอยู่ คำกลอน ร.เรือ ล.ลิง ก็ยังทำอยู่ ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในระดับที่ไม่ได้ดีเด่นอะไรมากมาย อยู่ในระดับที่ประสบการณ์พอสมควร แต่เราก็ทิ้งไม่ได้ พื้นฐานต้องฝึกอยู่เสมอ เพื่อให้เรารู้สึกว่ามีความมั่นใจอยู่ตลอดเวลา ทิ้งไม่ได้หรอกครับ มันสอนเราหลายอย่าง
“สอง ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะอยู่ในขั้นที่ทำมานานแล้วก็เถอะ แต่อย่าหยุดฝึกฝน จงฝึกต่อไป และที่สำคัญ สื่อมวลชน อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเด็ดขาด ต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว พร้อมที่จะเติมอะไรใหม่ๆ รับฟังคนอื่น บางคนพอเป็นสื่อมวลชน พอเริ่มมีชื่อเสียง เริ่มไม่ฟังใครแล้ว เพราะความมีอีโก้ไง หลายคนแล้วที่ตายคาที่เลย อัตตาบัง ส่วนมากสื่อมวลชนนี่ พอดัง สิ่งดังกล่าวเริ่มมาแล้ว ไม่ฟังใคร แล้วพอแหล่งข่าวมา ก็ไปจิกหัวเขามาสัมภาษณ์ คือกูแน่ ตายมาหลายคนแล้วครับ อย่างที่เราเห็นกัน เพราะถ้าเราทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเมื่อไหร่ เราจะหยุดการพัฒนาทันทีเลย เราต้องคิดว่าตัวเองยังอ่อนหัดอยู่ เพื่อที่จะให้เราไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และก็พยายามฝึกตัวเอง ศึกษาไปเรื่อยๆ ผมเองถ้าใครมาติหรือชม ผมรับฟังนะ หรืออย่างเพื่อนๆ ด้วยกัน น้องๆ ก็ยังมาบอกกับเรานะว่า คำบางคำยังออกเสียงไม่ชัดเจนหรือถูกต้อง ผมก็ฟังแล้วก็ปรับ ต้องฟัง ต้องปรับ ซึ่งถ้าเราไม่ฟังใครเลย เท่ากับว่าเราหยุดแล้วชีวิต เราจะไม่พัฒนา
“การที่เขามองผมแบบนี้ ผมไม่ได้คิดหรือรู้สึกว่า ผมเป็นต้นแบบของใครใดๆ ทั้งสิ้น ผมก็ยังเป็นบุญมา ศรีหมาด คนเดิม พร้อมที่จะให้คำแนะนำกับทุกคน ถ้าคนรุ่นใหม่คิดว่าผมสอนได้ บอกเขาได้ ช่วยเหลือเขาได้ในเรื่องการออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน ยินดีเลยครับ เป็นการสนับสนุนให้คนได้ออกเสียงภาษาไทยให้ชัดด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านนี้
“จุดมุ่งหมายอีกอย่างที่สูงสุดในชีวิตเลย นอกจากการได้รับความศรัทธาจากประชาชนแล้ว ก็คือเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในด้านภาษาไทย ตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ ภาษาไทยเป็นของคนไทย ต้องรักษาในการออกเสียง ให้ถูกต้องและชัดเจน ทั้งการเขียนและการอ่าน ผมก็จะเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้านนี้ ในการอนุรักษ์และใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการออกเสียง ให้ถูกต้อง คือถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะจุดกระแสเลยล่ะ เด็กรุ่นใหม่ฟังนะ คุณลองพิจารณาตัวเองซิ ลองมาอ่านซักข่าวซิ ถ้ายังอ่านสำเนียงเพี้ยนอยู่ แสดงว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ซึ่งใจจริงผมก็อยากทำอย่างนั้น
“ด้วยความที่เราเองก็เป็นข้าราชการนักสื่อสารมวลชนชำนาญการที่แห่งนี้ โดยท่าน ธารทิพย์ ทองงามขำ ซึ่งเป็น ผอ. คนปัจจุบันนี้ และท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ท่านอภินันท์ จันทรังสี ความเป็นข้าราชการของเราคืออะไร ข้าราชการ คำมันก็บอกอยู่แล้ว คือผู้เดินตามรอยพระยุคลบาท ทำงานตามรอยพระราชา ช่วยทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ นี่คือภาระหน้าที่ของข้าราชการ ใครทำด้านไหนก็ทำไป ผมอยู่ที่นี่ ก็ต้องสืบสานดำริในเรื่องภาษาไทย ช่วยทำให้คนออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจุดกระแสอย่างนี้ว่าต่อไปเราช่วยกันเถอะครับภาษาไทย มันไม่ใช่เรื่องยากเลย ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องไปจ่ายเงิน เพียงแต่คุณศึกษาและเข้าใจให้ดี แล้วลองทบทวนตัวเองนิดหนึ่งว่า ออกเสียงภาษาไทยเพี้ยนไหม กลับไปพูดให้ชัดว่า ร.เรือ ล.ลิงเราได้ไหม ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็มีมาเอง เพราะการที่คุณพูด ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ออกสื่อเหมือนผม ไม่ได้ออกวิทยุหรือทีวี แต่คุณไปพูดกับลูกคุณน่ะ เพราะถ้าคุณพูดผิด เด็กก็ทำตามได้นะ ภาษาไทยมันก็เลยไม่ชัด ลองพูดให้ชัด
“ความตั้งใจของเราอีกอย่างคือการจุดประกาย หันมาให้ความสำคัญกับการออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน ถ้ามีแรงพอจะทำ ถึงแม้ว่าคุณไปจบจากต่างประเทศมาได้ ดร.กี่ใบ ไม่ว่าเลย อยากจะพูดภาษาอื่น พูดภาษานั้นให้เก่งไป แต่ภาษาไทย อย่าทิ้ง และต้องพูดให้เก่งด้วย ไม่ใช่ว่า แต่ละภาษา ได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่รู้จะไปทางไหนดี เอกลักษณ์ของเราต้องมี ความเป็นคนไทย นี่แหละคือความภูมิใจ นี่คือวัฒนธรรมเรา ภาษาที่เรามีใช้เป็นของตนเองคือภาษาไทย แสดงถึงความมีเอกราช มีอิสระของคนไทย ภาษาคือสุดยอดวัฒนธรรมของเรา บางประเทศที่เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ เขาใช้ภาษาอื่นเป็นทางการ แต่เราใช้ภาษาไทยเป็นทางการ เพราะเป็นภาษาของบรรพบุรุษของเราที่คิดค้นกันมา ภูมิใจเถอะครับ”
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร