หัวข้อใหม่ในประวัติศาสตร์ที่ถูกยกมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในขณะนี้ ก็คือ “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” ทำเอาหลายคนเสียอารมณ์ที่ถูกคัดค้านความเชื่อ ความรู้ที่ร่ำเรียนกันมา แต่ก็มีนักวิชาการอีกกลุ่มยืนยันความเชื่อเดิม ต่างฝ่ายต่างก็ยกเหตุผลมาอ้าง ก็อยู่ที่เหตุผลหรือหลักฐานของใครจะน่าเชื่อกว่ากัน
ความจริงประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เขียนกันขึ้นหลังเหตุการณ์ผ่านมานาน บางเรื่องก็เป็นร้อยปีจึงมาลำดับเรื่องราวในอดีตบันทึกไว้ จากหลักฐานบางอย่างที่พอมี หรือจากเรื่องราวที่เล่ากันมา บางช่วงเรื่องขาดหายต่อไม่ติดก็คาดเดากันไป เรื่องจึงคลาดเคลื่อนไปได้ ต่อมาเมื่อพบหลักฐานใหม่ที่น่าเชื่อกว่า ความเชื่อจึงเปลี่ยนไป ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนไปด้วย
อย่างเช่นประวัติศาสตร์ที่เราเคยเรียนกันมาบอกว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา อพยพหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทองในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วมาสร้างราชธานีใหม่ที่หนองโสนใน พ.ศ.๑๘๙๓ พระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา”
เหตุการณ์ของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ซึ่งเกิดเมื่อ ๖๖๖ ปีมาแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทว่า “ความเชื่อ” นั้นเปลี่ยนได้ เพราะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่พระเจ้าอู่ทองมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่มีใครอยู่เล่าหรือจดบันทึกไว้ นอกจากนักวิชาการทางประวัติศาสตร์มาค้นคว้าหาหลักฐานทางโบราณวัตถุตลอดจนตำนานเก่าๆ มาปะติดปะต่อเรื่องราวแล้วสันนิษฐานไว้ เมื่อพบหลักฐานใหม่น่าเชื่อถือกว่า “ความเชื่อ”นั้นก็ต้องเปลี่ยนไป
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ กรมศิลปากรได้เชิญ ศาสตราจารย์ ช็อง บัว เซอริเยร์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ประเทศฝรั่งเศส มาช่วยสำรวจโบราณสถานในประเทศไทย และได้สรุปผลสำรวจไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ว่า เมืองอู่ทองที่เชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เป็นเมืองที่ร้างไปก่อนจะมีการสร้างกรุงศรีอยุธยาราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าอู่ทองจะอพยพมาจากเมืองอู่ทอง
เรื่องนี้นักวิชาการโบราณคดีของไทยก็ได้สำรวจเมืองอู่ทองและเมืองโบราณต่างๆมามาก ได้เขียนแสดงความคิดเห็นไว้ แต่คนไทยก็ไม่ค่อยเชื่อคนไทย ต้องจ้างฝรั่งมายืนยันอีกที
อาจารย์มานิต วัลลิโภดม อดีตผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ซึ่งเคยสำรวจเมืองอู่ทอง ได้เขียนบทความในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๐๖ เปิดเผยผลสำรวจมาแล้วว่า เมืองอู่ทองร้างมาก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี
ต่อมารองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นบุตรของอาจารย์มานิต เคยสำรวจเมืองอู่ทอง ละโว้ และอยุธยา ตลอดจนแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มาแล้ว ได้เขียนบทความเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๙ ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาไกลจากไหนก่อนที่จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ครองกรุงอโยธยาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำที่มีวัดพนัญเชิงนั่นแหละ ต่อมามีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงมาสร้างราชธานีใหม่ที่ฝั่งตรงข้าม
ส่วนอาจารย์มานิตได้ค้นคว้าเอกสารโบราณหลายฉบับ และได้เขียนบทความชื่อ “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีอโยธยา” ซึ่งคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้รวบรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “เฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว” เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ และอยุธยาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓
บทความเรื่องนี้ได้ลำดับเรื่องราวของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๑๖๒๕ มีกษัตริย์ปกครอง ๑๐ พระองค์ ซึ่งพระองค์ที่ ๑๐ ก็คือ พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๘๗ ก่อนจะย้ายราชธานีใน พ.ศ.๑๘๙๓
นักประวัติศาสตร์และโบราณคดียังไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่า เหตุใดพระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายราชธานี อาจจะเป็นเพราะโรคห่าก็เป็นได้ รู้แต่ว่าทรงย้ายอย่างกะทันหัน และไม่ได้ไปสร้างพระราชวังใหม่ที่หนองโสนหรือบึงพระรามในทันที แต่ไปสร้างตำหนักที่ตำบลเวียงเหล็กก่อน แล้วจึงหาทำเลใหม่ ต่อมาเมื่อได้ย้ายมาประทับพระราชวังใหม่ที่หนองโสนแล้ว จึงได้ถวายพระตำหนักเวียงเหล็กเป็นพุทธบูชา สร้างเป็นวัดพุทไธยสวรรย์ขึ้น
ความจริงประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปนี้ ก็ไม่มีผลทำให้ประเทศไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปแต่อย่างใด เราก็ยังภูมิใจที่บรรพบุรุษของเราสละเลือดและชีวิตสร้างประเทศนี้ไว้ให้เราอยู่ ถึงอย่างไรเราก็ต้องหวงแหนไว้ให้อนุชนรุ่นหลังด้วยชีวิตเช่นกัน
แต่ถ้าพบหลักฐานใหม่ที่ทำให้เรารู้ความจริงก็น่าจะดีกว่า ทำให้เราอยู่กับความจริง ไม่ว่าจะเกิดผลอะไรขึ้นก็ตาม ขอแต่เพียงให้จริงแน่ๆ ไม่ต้องมาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมากันอีก