ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผย ตู้เอทีเอ็ม 1 ใน 3 ยี่ห้อที่ธนาคารใช้อยู่ ถูกคนร้ายปล่อยมัลแวร์ที่ตู้นอกสถานที่ 21 เครื่อง เสียหาย 12 ล้านบาท พร้อมสั่งปิดให้บริการทันที ย้ำ ไม่เกี่ยวข้องกับเงินฝากของลูกค้า ให้ถอนฟรีตู้ต่างธนาคารจังหวัดเดียวกันในช่วงปิดบริการ
วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ขอปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มบางส่วนเป็นการชั่วคราว เฉพาะตู้บางรุ่นที่ต้องปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของตู้เอทีเอ็ม หลังพบเงินของธนาคารที่ใส่ในเครื่องเอทีเอ็มหายไป ซึ่งไม่ใช่เงินของลูกค้า ไม่ได้กระทบบัญชีของลูกค้าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการตรวจสอบพบว่า เครื่องเอทีเอ็ม 1 ใน 3 ยี่ห้อที่ธนาคารออมสินใช้อยู่ เงินในเครื่องได้หายไป เริ่มแรกพบว่า มีจำนวน 5 เครื่อง ที่เงินหายไป เป็นจำนวน 960,000 บาท ธนาคารจึงได้ตัดสินใจปิดบริการเครื่องยี่ห้อนี้ทุกเครื่อง เพื่อสำรวจเงินทั้งหมดร่วมกับบริษัทเจ้าของเครื่อง และทำการตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุที่เกิดขึ้น
ล่าสุด ได้รับแจ้งจากบริษัท ว่า เป็นลักษณะการโจรกรรมเงินในกล่องเงินเครื่องเอทีเอ็ม เฉพาะที่ติดตั้งนอกสถานที่ (Stand Alone) โดยใช้โปรแกรมมัลแวร์ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินแก้ไขให้เครื่องมีความปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการ และระหว่างนี้ธนาคารออมสินได้เปิดบริการในจุดติดตั้งที่มีความปลอดภัยเครื่องเอทีเอ็มยี่ห้อดังกล่าว 3,343 เครื่อง ตรวจสอบครบแล้วพบมีเงินหายไปจำนวน 21 เครื่อง เป็นเงินรวม 12,291,000 บาท
“ธนาคารออมสิน ต้องการชี้แจงเพื่อให้ประชาชนและลูกค้าทราบสาเหตุที่ธนาคารต้องปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มบางรุ่น เพื่อตรวจสอบระบบเอทีเอ็มของธนาคาร และเป็นการป้องกันความเสียหายเงินของธนาคารที่อยู่ในตู้ โดยขอยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเงินของลูกค้าแต่อย่างใด และจะเร่งดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจับตัวผู้กระทำความผิดอย่างเร่งด่วน” นายชาติชาย กล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปิดบริการตู้เอทีเอ็มบางรุ่นดังกล่าว อาจทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก โดยลูกค้าสามารถใช้บริการตู้เอทีเอ็มที่ติดตั้งอยู่หน้าสาขาของธนาคารออมสินได้ทุกสาขา รวมถึงตู้เอทีเอ็มที่อยู่นอกสาขาบางส่วน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริการผ่านช่องทางอื่น ๆ ของธนาคารได้ตามปกติ ได้แก่ บัตรเอทีเอ็ม บัตรออมสินวีซ่าเดบิต บริการ MyMo (Mobile Banking) และ Internet Banking หรือใช้บริการที่เคาน์เตอร์สาขาของธนาคารออมสิน ตามวันและเวลาเปิดทำการของสาขานั้น ๆ
และเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการเอทีเอ็ม ลูกค้าสามารถใช้บริการที่ตู้เอทีเอ็มได้ทุกธนาคารในเขตพื้นที่เดียวกัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการทำรายการตลอดระยะเวลาที่ปิดบริการดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เครื่องเอทีเอ็มธนาคารออมสินที่ถูกคนร้ายแฮกนั้น เป็นเครื่องยี่ห้อ NCR มีจำนวน 3,343 เครื่อง จากทั้งหมดประมาณ 7,000 เครื่อง โดยคนร้ายจะเลือกเฉพาะตู้ที่ติดตั้งนอกสถานที่ (Stand Alone) เข้าไปติดตั้งโปรแกรมโดยการฝังมัลแวร์ แล้วใช้บัตรเอทีเอ็มที่ออกในสหราชอาณาจักร และ สกอตแลนด์ มาตระเวนกดเงินครั้งละ 40,000 บาท เมื่อกดปุ่มยกเลิก เงินก็จะไหลออกมา โดยได้ตระเวนก่อเหตุลักษณะเช่นนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เริ่มต้นจาก จ.ภูเก็ต ขึ้นมาจนถึงกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินได้ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งให้ธนาคารอื่น ๆ ระมัดระวังตู้เอทีเอ็มยี่ห้อ NCR ที่มีกว่า 10,000 เครื่องทั่วประเทศ
สำหรับตู้เอทีเอ็มยี่ห้อ NCR ธนาคารออมสิน ที่ถูกคนร้ายแฮก ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต 6 เครื่อง, จ.สุราษฎร์ธานี 2 เครื่อง, จ.ชุมพร 2 เครื่อง, จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 เครื่อง, จ.เพชรบุรี 2 เครื่อง และ กรุงเทพมหานคร 5 เครื่อง ตั้งอยู่ย่านถนนสุขุมวิท และถนนวิภาวดีรังสิต โดยก่อเหตุในช่วงระหว่างวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพบว่ามีเงินหายจากระบบ ถึงวันที่ 8 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มยี่ห้อ NCR เป็นการชั่วคราวเพื่อระงับความเสียหายไม่ให้ลุกลาม