xs
xsm
sm
md
lg

เรียกเธอว่าเจ้าแม่บุฟเฟต์!! “ยงฤดี นุชจังหรีด” สุดยอดคุณแม่นักสู้ชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ลิ้มรสหรือไม่ก็เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของร้านหมูกระทะชื่อจัดจ้านอย่างร้าน “รสเด็ด” มากันบ้างแล้ว นั่นก็เพราะเป็นร้านที่มีอยู่แทบทั่วตัวเมืองกรุงเทพมหานคร และยังคงยืนหยัดในฐานที่มั่นเดิมมาอย่างเหนียวแน่นตลอดหลายปี

จากอดีตเด็กน้อยบ้านนา อุดรธานี ที่ออกจากบ้านมาร่ำเรียนหนังสือจนได้ดิบได้ดี แต่ชีวิตก็ล้มมาไม่น้อยครั้ง ทว่ายังยืนหยัดสู้ กระทั่งก้าวสู่ความสำเร็จ ด้วยกิจการร้านรสเด็ดหมูกระทะกว่าสิบสาขา ร้านอาหารบ้านไม้ขาว ร้านชาบูบ้านไร่ เธอคือ “แป๊ก-ยงฤดี นุชจังหรีด” คุณแม่ยอดนักสู้ เจ้าของสมัญญา “เจ้าแม่บุฟเฟต์” !!

รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา
จากสาวอุดรฯ คนจน สู่เจ้าแม่บุฟเฟต์

“เราเกิดและโตที่จังหวัดอุดรธานี อาศัยอยู่กับย่า น้องชายและพ่อ ซึ่งคุณพ่อเองก็ติดสุรา รายได้ทางเดียวที่เรามีก็คือจากค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500 บาท เลี้ยง 4 ชีวิตก็ไม่พอ เราก็ต้องดิ้นรนสารพัด รับจ้างทำงานทุกอย่าง ล้างจานตั้งแต่เช้าถึง 6 โมงเย็นแลกเงิน 20 บาท สำหรับมาเสริมค่าเดินทางไปโรงเรียนวันละ 7-8 บาท ไปช่วยลูกพี่ลูกน้องขายก๋วยเตี๋ยว แลกเนื้อหมูมาเป็นอาหารให้ครอบครัวได้ทาน คือตรงไหนมีงานเราเอาหมด”

เจ้าแม่บุฟเฟต์ เล่าย้อนเส้นทางชีวิตในอดีตที่ต้องขวนขวายต่อสู้เพื่อดำรงชีพตามมีตามเกิด ก่อนจะถึงจุดพลิกผัน

“ชีวิตก็ดำเนินมาอย่างนั้นจนกระทั่งจบ ม.6 คุณยายก็บอกว่าส่งเรียนต่อไม่ไหวแล้ว เพราะสมัยนั้นที่เราเรียนช่วงปี 2534-2535 ต้องเอนทรานซ์ เขตของเราต้องไปที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ไม่มีเงินทั้งจะสมัครและเดินทาง ท่านอยากให้แต่งงานมีครอบครัวตามความคิดของท่านที่จะทำให้เรามีกิน ไม่ต้องอด และได้ทำงานทำการช่วยครอบครัวได้อีกทาง

“แต่เรายังไม่อยากอยู่ในจุดนั้น เราโตมาในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ เราก็ฝันอยากจะมีฐานะที่มั่นคง อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น แม้ว่าเราจะเรียนหนังสือกลางๆ ไม่ได้เก่งมาก แต่เราเห็นคนที่เขาไปเรียน คนที่เขามีการศึกษา เวลาเขากลับมาบ้าน เขามีรถ เขาแต่งตัวใส่สูทผูกเน็กไท เราก็คิดและมองว่าถ้าอยู่สภาพนั้นโดยที่ไม่ได้เดินสักก้าว ก็คิดว่าจะไม่ถึง ฝันนั้นคงไม่มี ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนตรงนั้นได้ ใบปริญญาตรีเป็นสิ่งที่เราอยากได้อยู่แล้ว ก็อาจจะช่วยเราให้มีงานที่ดีกว่านี้ได้ ก็เลยปรึกษาไปทางพี่สาวแท้ๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ ให้ช่วยหางาน พอได้งาน เราก็เกิดความหวัง เงินเดือนเดือนละ 1,500 บาท มีที่พัก เราก็ตัดสินใจออกจากบ้าน”

จึงรอนแรมไปแบบขอตายเอาดาบหน้า ใช้เสื้อใหม่ตัวเก่งแลกตั๋วรถกับเพื่อน ก่อนหอบความฝันและเงิน 50 บาท เดินทางเข้า กทม. ทำงานควบคู่กับเรียนหนังสือ

“ก็มาเรียน และทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์ให้อพาร์ทเมนท์แถวรามคำแหง คอยประสานติดต่อคนที่โทรเข้ามาพัก เพราะสมัยก่อน โทรศัพท์มือถือมีใช้น้อย เราก็ทำจนกระทั่งมีเงินสมัครเรียนรามฯ ก็ลงทะเบียนเรียนบริหารการตลาด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เราถนัดที่สุดที่เราเคยทำมาตอนเด็กๆ งานทุกอย่าง การขายเป็นสิ่งที่สำคัญ คือถ้าไปเรียนอย่างอื่นมันก็จะตอบสนองความฝันเราช้าหรืออาจจะไม่ได้เลย ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านนี้

“แต่ก็ทำงานตรงนั้นได้ 4 เดือน ก็ออก เพราะแม้ว่างานตรงนี้จะไม่เหนื่อย แต่ก็ต้องทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน แล้วพอหยุดจริงๆ ก็เหมือนไม่ได้หยุด เพราะต้องทำล่วงเวลาแทน สมมุติถึง 6 โมงเย็นก็เป็นเที่ยงคืน เราเรียนติวด้วยในช่วงนั้น ก็รู้สึกว่าเราไม่มีเวลาให้กับการเรียนเท่าที่ควร อีกอย่างหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่น่าจะทำให้เราพัฒนาไปได้มากกว่านี้ เพราะหนึ่ง ไม่ได้เพิ่มพูนทักษะเรื่องเรียนของเรา สอง เนื่องจากเราอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ทำให้เราได้เห็นความเคลื่อนไหว ไหนจะคนที่พักและคนที่สัญจรไปมา เราก็เลยมองว่าถ้าเราขยันอีกนิดหนึ่ง ขยับหางานที่เหมาะกับเรา เราน่าจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่านี้ เราก็ตัดสินใจที่จะย้ายออกมาและหางานทำ

และจากที่ต้องอดมื้อหนึ่งในวันที่ไม่ได้ไปเรียน เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับตัวเอง นอกจากต้องอยู่รอด แต่ยังต้องทำประโยชน์ในแต่ละวันอีกด้วย ความมุ่งมั่นนี้จึงเป็นเสมือนแรงผลักให้สาวน้อยจากบ้านนาอุดรธานีค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ช่วยติวเตอร์ให้กับเด็กนักศึกษารุ่นราวคราวเดียวกัน

“สมัยนั้นข้าวแกงถุงละ 15 บาท คือถ้าวันไหนไปเรียนจะกินข้าว 3 มื้อ วันไหนไม่ได้ไปเรียน กินข้าว 2 มื้อ คือเรารู้สึกว่าเราต้องทำประโยชน์ให้ตัวเองก่อน เราถึงจะยอมจ่ายตรงนั้น แต่ถ้าวันนี้ตัวเราไม่ได้ไปเรียน ไม่ได้ทำงาน มันไม่เกิดประโยชน์มากมาย เราก็จะกินน้อย เป็นความตั้งใจให้ตัวเรารู้ว่ามีไม่มี เราก็อยู่ในสภาพที่ต้องอยู่ให้ได้

“ทีนี้ พอเราอยู่ได้ เราออกมาหางาน ในระหว่างนั้นเราเรียนติว ก็บังเอิญไปรู้จักกับติวเตอร์คนหนึ่ง เขาก็คงเห็นความสามารถ เราก็คิดว่าเราเรียนอยู่ในนั้นและก็ทำตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับเราด้วย พอเขาชวนเราไปร่วมทำงานกับเขา ก็ทำงานเป็นผู้ช่วย ช่วยสืบค้นหาข้อมูล อัดเทปเวลาเรียน แล้วก็พิมพ์งาน หลังจากนั้นชีวิตก็เริ่มขยับขึ้น เพราะช่วงนั้นเป็นยุคของเอนทรานซ์ ใครที่สอบไม่ติด ส่วนใหญ่จะเลือกมาเรียนรามฯ ตอนแรกที่เราทำ จากที่ชื่อเสียงยังไม่เป็นที่รู้จัก ก็ค่อยๆ บูมขึ้นๆ จนกลายเป็นสถาบันที่รู้จักและยอมรับ รายได้ต่อเดือนหลักแสน บางเดือนเป็นล้าน

เจ้าแม่บุฟเฟต์เผยด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า เพราะจากจุดเริ่มต้นตรงนี้ ทำให้ชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี สถาบันติวเตอร์แห่งนี้ยังเป็นต้นรักที่ทำให้เกิดครอบครัวที่สมบูรณ์อย่างที่เธอวาดหวังตั้งแต่เยาว์วัย

“คือพอเราทำงานเข้าคู่กัน เราก็เกิดความสัมพันธ์ ก็คบหาดูใจสักระยะ หลังจากนั้นก็แต่งงาน มีลูกกัน 2 คน ชีวิตก็มีความสุข ครอบครัวแฮปปี้ สร้างฐานะร่วมกัน มีบ้าน มีรถขับ มีชื่อเสียง จะไม่มีอย่างเดียวคือใบปริญญา เพราะเรามัวแต่ทำงานจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง เหลือตัวสุดท้ายก็เลยไม่ลง ครบกำหนด 8 ปี ก็ไม่จบ แต่นอกนั้นดีหมด ก็เลยคิดว่าการทำงานตรงนี้มันจะสามารถทำให้เราร่ำรวยแล้วก็อยู่กับมันได้ตลอดชีวิต”

เจ้าแม่บุฟเฟต์กล่าวพลางเว้นวรรค ซึ่งไม่ต่างไปจากจังหวะชีวิตที่ฟังแล้วทำท่าเหมือนจะจบลงที่ตรงนี้ ทว่าทุกอย่างก็พังทลายลง ช่วงระยะเวลา 12 ปี กลายเป็นอดีตอันเลือนราง ดั่งโลกหลังนิทรา

“ถ้าถามว่าชีวิตเรา ณ ตอนนั้น นั่นคือสิ่งที่หวังไว้มากที่สุด ชีวิตมั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น แต่พอปี 2542-43 ทุกอย่างเปลี่ยนไป มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาลัยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้เด็กจากที่เอนทรานซ์ไม่ติด เลือกที่จะมาเรียนรามฯ น้อยลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การแข่งขันของการติวเตอร์เยอะมาก จากยุคสมัยที่บูม ทุกคนต้องจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม สุดท้าย สรุปเราไปไม่รอด

“ทีนี้ พอธุรกิจแย่ เรามีปัญหาเรื่องเงิน ครอบครัวพอมีปัญหาเรื่องเงิน ทุกอย่างก็ค่อยๆ สุม ครอบครัวก็แตก ต่างคนก็ต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราก็เริ่มตระหนักรู้ถึงความเป็นเด็กของเรา เรามองว่าการที่เราอยู่ในที่สูงแล้วจะตกลงมานั้น มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราคิดอย่างนั้นตอนนั้น ซึ่งพอลงมา เราไม่เหลืออะไรเลย แต่มันก็ทำให้เราเห็นสัจธรรมว่าสิ่งที่เราคิดว่าแน่นอน บางทีมันอาจไม่แน่นอน เราจะทำอะไรก็ระมัดระวังมากขึ้น ด้วยวัยด้วยประสบการณ์ เราต้องรู้เราด้วย รู้ว่าเรากำลังทำอะไร แล้วก็มุ่งมั่นกับมันอย่างไร แล้วก็ทำให้มันเต็มที่ ไม่ประมาท”

รากขม ผลหวาน
เส้นทางวิบากจักทำให้เราแกร่ง

แม้ในวันนั้นที่ชีวิตผิดหวังพังครืน เหมือนกลับไปยืนที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง แต่เมื่อตระหนักคิดได้ คำว่าท้อแท้ที่อาจจะมีในส่วนลึก จึงไม่เป็นผล เพราะอย่างน้อยๆ เธอก็ได้ทำมันเต็มที่สุดความสามารถ ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นเหตุผลให้ลุกขึ้นสู้และก้าวต่อจนคว้าความสำเร็จมาไว้ในอ้อมกอดอีกครั้ง

“ความเต็มที่ของเรา ทำให้เกิดความรู้ อย่างการติว เราทำเต็มที่จนมีความรู้ อะไรที่มันยาก เรายิ่งทำ แล้วเราก็ยิ่งรู้ อันไหนทำไม่ได้ยิ่งทำ แก้ปัญหาให้ได้ มันก็คือความรู้ วันนี้เจอเรื่องนี้ พรุ่งนี้มาเจอเรื่องใหม่ แต่ถ้าเจอเรื่องเดิมที่เราเคยแก้ มันก็คือสิ่งที่เราเรียนรู้มาแล้ว เราจึงคิดว่ายิ่งเจอปัญหา ยิ่งทำให้เราแกร่ง”

เจ้าแม่บุฟเฟต์เผยข้อคิดที่ทำให้ลุกขึ้นยืนหยัดสู้ ก่อนจะเล่าถึงช่วงชีวิตในเวลาต่อมาที่ก่อให้เกิดสมญานาม “เจ้านายหญิงใหญ่เจ้าแม่บุฟเฟต์” ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในกรุงเทพมหานคร

“ระหว่างที่กำลังจะหย่า เราก็เริ่มเตรียมตัวหาช่องทางเลี้ยงดูตัวเองและลูกๆ บังเอิญช่วงที่ติวเตอร์กำลังเป็นที่นิยม พี่สาวที่อยู่ต่างประเทศ เขาก็กลับมาเปิดสำนักติวเหมือนกัน ก่อนจะค่อยๆ ซบเซา ก็เลยปรึกษากับพี่สาวว่าเรากำลังจะไม่ไหวแล้ว มาร่วมหุ้นกันเปิดร้านอาหารดีกว่า กลางวันเป็นอาหารอีสานที่เราถนัด กลางคืนเป็นบุฟเฟต์หมูกระทะ เพราะตอนนั้น หมูกระทะกำลังฮิต เราก็เลยคิดว่าน่าจะไปได้สวย แต่สุดท้ายก็ “ไปได้เสีย” มากกว่า ไม่ประสบความสำเร็จ

“ถามว่าท้อไหม เราก็ท้อ แต่เรายอมแพ้ไม่ได้ เพราะเราก็ต้องย้ายออกจากบ้านสามี ตอนนั้นเลยไปลงทุนขายก๋วยเตี๋ยวช่วงกลางวัน เช้ามืดก็ไปตลาด พอลูกตื่นก็แต่งตัวอาบน้ำพาไปส่งโรงเรียน แล้วก็มาขายก๋วยเตี๋ยว บ่าย 3 โมงเย็นเก็บร้าน ไปรับลูกกลับจากโรงเรียน แล้วก็กลับมาเตรียมของไปขายวันรุ่งขึ้น”

เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนั้น 2-3 เดือน ทำท่าเหมือนจะตั้งตัวได้ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อลูกน้อยวัย 5 ขวบซึ่งเป็นคนโตและกำลังอยู่ในช่วงวัยพัฒนาการ หยุดสานการเจริญเติบโต ในขณะที่คนเล็ก 4 ขวบ หนูน้อยวัยซุกซนก็สลดหดหู่ด้วยโรคซึมเศร้า

“จริงๆ รายได้ตรงนี้ก็แทบไม่สามารถทำให้เรา 3 แม่ลูกอยู่ได้ ลูกเราก็มาเป็นแบบนี้อีก เราก็ยิ่งล้มไม่ได้ นอกจากความฝันที่เรามี เรายังมีลูกที่ต้องดูแล เราก็สู้ ก็มองหาธุรกิจอื่นที่สามารถจะทำได้ ซึ่งในระหว่างที่กำลังคิดอยู่นั้น บังเอิญขับรถไปแถววัดบางเพ็งใต้ (เขตมีนบุรี) เห็นพื้นที่ว่างเป็นป่ากก มีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด เขาติดป้ายว่าให้เช่า เราก็โทรสอบถามว่าให้เช่าอะไรยังไง ก็ได้ความว่าต้องถมดินให้เขา ถ้าจะเช่า เพื่อแลกกับระยะเวลาอายุสัญญา

“ความคิดตอนนั้นก็ว่าจะเปิดเป็นร้านหมูกระทะบุฟเฟต์ ด้วยความที่เราชอบอาหาร แต่ครั้งที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ครั้งนี้เราจึงมองให้รอบคอบขึ้น ก็ได้ความแตกต่างที่พิเศษกว่าคนอื่น คือร้านของเราจะมีความหลากหลาย จะมีอาหารกว่าร้อยชนิด เพราะเมื่อก่อน หมูกระทะจะมีแค่เนื้อหมู เนื้อไก่ ตับ หมึก แค่นั้น กุ้งก็ยังไม่มี เราก็มาเพิ่มของทอดของยำที่เราถนัดใส่ลงไป ให้ดูหลากหลายขึ้น ลูกค้าก็มองว่าคุ้มค่ากว่า

“แต่ใจหนึ่งก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะเราไม่มีเงินสักบาทที่จะลงทุน ถ้าไม่สำเร็จอีกแล้วจะเอาที่ไหนไปคืน”

แต่ภาพใบหน้าอาบยิ้ม ภาพความสุขของลูกน้อย ก็ผุดว่ายอยู่ในความคิดนึก หัวอกผู้เป็นแม่ มารดาที่ให้กำเนิด จึงไม่อาจหยุดอยู่ที่คำว่ากลัวหรือเหนื่อย

“คือระยะเวลาเราเริ่มจะหมด เราใกล้จะต้องออกจากบ้านเต็มที่แล้ว แล้วลูกเราจะอยู่ที่ไหน ก็เลยตัดสินใจโทรหาพี่สาว ขอยืมเงินมาลงทุนจำนวนล้านกว่าบาท จัดการถมที่ ตระเวนหาผู้รับเหมาด้วยตัวเอง ถามไถ่เอา เห็นใครตรงไหนกำลังสร้างกำลังทำอะไร เราก็จะแวะถาม ไม่อาย ไม่เหนื่อย เพื่อจะสืบราคาให้ได้เหมาะสมที่สุด

“ทีนี้ พอได้โรงเรือน ได้รูปร่างร้าน เรื่องเก้าอี้ เรื่องโต๊ะ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ คือตอนที่ทำติวเตอร์ เราก็เป็นคนจัดการเก้าอ้งเก้าอี้ โต๊ะ สำหรับผู้มาติว ติดต่อช่างไฟ ช่างแอร์ เราก็ทำ ไฟกี่เฟส เรารู้หมด เรามีทักษะ ทำให้เรามีความรอบคอบขึ้น จากประสบการณ์ที่เราทำทุกอย่างเต็มที่ พอเราทำเต็มที่ เราก็มีความรู้”

ผลลัพธ์นั้นปรากฏว่า ลูกค้าจึงเต็มแน่นทั้ง 30 โต๊ะ 120 ที่นั่ง ตั้งแต่วันแรกของการเปิดร้านร้าน “รสเด็ดหมูกระทะ” สาขาแรก ที่ซอยรามคำแหง 187

“เพราะเรามีเทคนิคของการทำธุรกิจมาจากติวเตอร์ โดยการที่เราโปรโมทแบบเดียวกัน สมัยทำติวเตอร์ เราใช้ใบปลิวแจก เอาวิธีนี้มาแจก รัศมี 1 กิโลเมตรรอบร้าน แจกทุกซอกทุกมุม ลดราคาครึ่งหนึ่ง จาก 79 เหลือ 50 หรือ 39 บาท ระยะเวลาแค่ 3 วัน เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ว่าเรามีอะไรบ้าง และทำให้ลูกค้ารู้ว่าเรามีอะไรที่เหนือกว่าคนอื่น ทำให้ลูกค้าติด แต่อาจจะไม่ถึงกับช่วงลดราคา แต่ก็ถือว่าดี คึกคักตั้งแต่ 4 โมง

“ทีนี้ก็เป็นเรื่องของการจัดการ งานบริการ อย่างที่บอกว่า พอเราทำเอง เรามีความรู้ เรามาทำตรงนี้ เราก็ลงมือเองทุกอย่าง เก็บจาน เปลี่ยนเตา เสิร์ฟ รับลูกค้า เราถึงได้รู้ว่าฝ่ายเสิร์ฟที่เด็กในครัวมองว่าสบาย ก็ไม่ได้สบาย ก็เหนื่อยเหมือนกัน เขาก็เหนื่อยเหมือนกันทุกตำแหน่ง เราถึงรู้ว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร วิธีที่เราใช้ก็คือ ใช้เรื่องสวัสดิการช่วย เลี้ยงอาหาร มีที่พัก ทำทุกอย่างให้เขาสะดวกที่สุด ตอนนั้นร้านอื่นๆ เขาก็มี แต่รายได้ไม่ได้เยอะ เขาให้ค่าแรงขั้นต่ำ 120 บาท เราให้เท่าเลย รูปแบบงานก็เหมือนเดิม

“จากนั้น เขาทำอะไร เราก็ทำกับเขา เราช่วยเขาได้ทุกตำแหน่ง เราไม่ทอดทิ้งเขา มาก่อนกลับหลัง ทีนี้ พอเปิดได้สักเดือนสองเดือน เราก็มองว่าอยู่ได้แล้ว ก็เลยไปหย่า แล้วเอาร้านเข้าธนาคาร ทำเรื่องกู้ซื้อบ้านให้ลูก ซึ่งบ้านก็อยู่ซอยตรงข้าม ทีนี้พนักงานเริ่มเยอะขึ้น ที่พักไม่พอ เราก็จัดแจงที่พักให้นอนกับเราและลูกที่บ้าน เวลาเราทำงาน ก็เดินมาทำงาน เลิกงานร้านปิด ก็เดินกลับด้วย เราก็ได้ใจ”

ตีหนึ่งกว่าๆ ดึกกว่านั้นไม่เกินตีสอง จึงเกิดเป็นภาพคุ้นตาที่เจ้าของหรือหัวหน้าเดินเกาะกลุ่มกับพนักงาน หยอกล้อคุยเล่น เสมือนเป็นเพื่อนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน กลับเคหาที่พัก ซึ่งทุกวันนี้ ยงฤดียังคงอดยิ้มไม่ได้ในทุกครั้งที่นึกถึง

“มีวันหนึ่งเป็นวันเกิดเรา เราไม่มีเงิน ร้านปิดแล้ว กำลังเดินกลับกันตามปกติ เราก็เอาลูกอมให้คนละอัน เขาบอกไม่กิน ไม่อยากกิน ดึกแล้ว เราก็บอกว่ากินเถอะๆ คะยั้นคะยอ พอรับไป เราก็บอกว่ากินนะ แล้วก็บอกเขาว่าทำไมอยากให้กิ นรู้ไหม เพราะว่าวันนี้วันเกิดพี่ พอบอกว่าเป็นวันเกิด เขาก็ตกใจ เขาก็อวยพรเรา

“คือเราอยู่เหมือนกับครอบครัวเดียวกัน เราเคยผ่านความยากลำบากมาด้วย เราก็มองเขาว่าทุกคนมาอยู่กับเรา เพราะว่าคาดหวังอนาคตหรือว่าความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เหมือนเรา ทำงานหนัก เราก็อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้าในการทำงาน มีความรู้ เราก็คิดว่าเขาไม่ต่างจากเรา เราก็พยายามให้ความรู้กับเขา ให้ความสุข สารทุกข์สุกดิบ ถามหมด

“เราเคยได้รับโอกาส พี่สาวเราให้โอกาส ทำให้เราลุกขึ้นได้ พอเรามีความพร้อมตรงไหน และเห็นคนที่ขาดโอกาส กำลังอยากได้โอกาส และมองอนาคตตัวเอง เราจะมอบให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าวหรือว่าคนไทย ตอนนี้ ต่างด้าวที่ร้านอ่านหนังสือได้หลายคนแล้ว ขับรถก็ได้ สอบใบขับขี่ได้ เป็นผู้จัดการก็คนหนึ่ง แล้วก็อุปถัมภ์เด็ก 2 คนที่ไม่ได้เรียนต่อ เพราะไม่มีเงิน ให้เขาได้มีโอกาสเรียน”

นอกจากความอร่อยเด็ดสมชื่อ ที่แม้กระทั่งรายการดัง อย่าง “ตี๋อ้วนชวนหิว” ยังมาชมชิม ท่ามกลางคู่แข่งนับร้อยของธุรกิจหมูกระทะ ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี ร้านรสเด็ดก็ปลดหนี้หมดสิ้น และต่อเติมเพิ่มร้านเพื่อรองรับลูกค้า ขยายสาขาที่ 2 ในปีต่อมา และอีก 12 สาขาในเวลาไม่นาน และนั่นก็เป็นที่มาแห่งสมญานาม 'เจ้าแม่บุฟเฟต์'

“ทำเลที่เขาทำโดยเจ้าที่มีชื่อเสียงทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ทำจนติดตลาด”
เจ้าแม่บุฟเฟต์เผย ก่อนจะกล่าวถึงพื้นที่ปราบเซียนซึ่งทำให้หลายคนขาดทุนจากธุรกิจประเภทนี้

“การควบคุมต้นทุน เรื่องการจัดการ อีกเรื่องคือเรื่องแรงงาน ซึ่งตรงนี้จำนวนคนยังไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องค่าแรงที่จากร้อยกว่าๆ มาเป็น 300 บาท ค่อนข้างหนัก แรกๆ ก็เป็นปัญหา แต่ช่วงต่อมา ด้วยความที่เราอยู่อย่างครอบครัว เราก็สามารถที่จะควบคุมได้ กำไรอาจจะไม่เยอะ

“หลักๆ เราจะยึดหลักอยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือหัวใจ...ใช้หัวใจทำงาน ใจแลกใจ สองคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ของเรามีทุกวัน เรียนรู้จากประสบการณ์การลงมือทำงานกับลูกน้อง เรียนรู้จากซัพพลายเออร์หรือคนที่มาส่งของให้เรา อย่างบางบริษัทมีการอบรมให้ความรู้ เราก็เข้าไปอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และสมัครเรียนตามคอร์สต่างๆ ที่เปิด เรื่องของการจัดการร้านอาหาร อย่าหลักสูตร SSRC ของเครือ FFI ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ของเอกชน รวมกูรูและอาจารย์ด้านต่างๆ มาจัดเป็นคอรส ตั้งแต่แบรนดิ้งร้านอาหาร การจัดการ เราเรียนหมดเลย ก็ทำให้เราจัดมันเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

“สาม ความอดทน คนที่เขาประสบความสำเร็จ เพราะเขาอดทนมากกว่าเรา พอเริ่มต้นทำปุ๊บ ความอดทนก็ต้องมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องอดทนเยอะๆ แล้วก็ขยัน มันมาคู่กัน หลักการ 3 อย่าง ใจ การแสวงหาความรู้ ขยัน อดทน”

“ความพ่ายแพ้” กุญแจสู่ชัยชนะ
บทส่งท้ายเจ้าแม่ผู้มาจากศูนย์

หลังประสบความสำเร็จ แม้ว่าปัจจุบัน ร้านรสเด็ดจะดำรงคงอยู่ลดลงกว่าครึ่งเหลือ 6 สาขา ตามสัญญาเช่าที่ซึ่งหมดลง แต่ร้านที่เหลือยังยืนหนักแน่นและนับวันจะยิ่งเพิ่มเติมความพิเศษลงไป

“มีคนเคยบอกว่าเราทำหมูกระทะอีกหน่อยก็ตาย เราบอกว่าตอนนี้ เราได้สัญญาเพิ่มอีก 10 ปี เราจะอยู่ให้ได้ เป็น 20 ปี หมูกระทะต้องไม่ตาย และหลังจากนั้นมาก็ต้องปรับตัวให้ได้

“รสเด็ดจะทำเดลิเวอรี่เป็นชุด เพราะลูกค้าถามเข้ามาเยอะมาก ก็เลยมีความคิดว่าจะจัดส่งที่บ้าน แต่พื้นที่อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด คิดว่าจะเริ่มต้นจากใกล้ๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มขอบเขต แล้วอีกอย่างที่คิดไว้คือจะขายแฟรนไชส์ โดยความพิเศษคือความรู้ที่จะทำให้เขาอยู่ได้แบบเรา ก็ต้องคิดให้ได้ว่าเขาจะอยู่กับเราได้อย่างไร ไม่ได้เอาเปรียบกัน เราก็ให้ความรู้เขาว่าการทำอย่างนี้ ต้องทำแบบไหน ให้ได้ใจลูกค้า เป็นต้น

“เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ และอีกอย่าง คือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า สำหรับคนที่มีใจที่อยากจะทำร้านอาหารจริงๆ เพราะว่าการทำบุฟเฟต์และการทำหมูกระทะ มีคู่แข่งเยอะ แต่ว่ามาตรฐานที่ได้รับไม่เท่ากัน เราก็คิดว่าตั้งใจจะทำจริงๆ แล้วก็อยากให้มีมาตรฐาน บริหารจัดการอย่างที่เราเป็นให้ได้”

เจ้าแม่บุฟเฟต์เผยความรู้สึก ซึ่งคงจะจริงดังว่า เพราะนอกจากโครงการที่จะพัฒนาขยายร้านหมูกระทะ อันเป็นธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัว ยังมีธุรกิจร้านอาหารแตกไลน์เพิ่มอีกสองร้าน คือร้านบ้านไม้ขาวและร้านชาบูบ้านไร่ พร้อมกับเป็นวิทยากรรับเชิญให้ไปพูดแชร์ประสบการณ์

“ร้านบ้านไม้ขาว เป็นร้านสไตล์ครอบครัว สไตล์รักสุขภาพ มีอาหารจำพวกสลัด สปาเก็ตตี้ สเต็ก แต่สอดแทรกเมนูเพื่อสุขภาพ เกิดจากการที่เรามีความถนัด ก็มาลองเพิ่มธุรกิจใหม่จากการเรียนรู้ ก็เริ่มอยู่ตัวแล้วหนึ่งปี ลูกค้าตอบรับดี เป็นธุรกิจอาหารเหมือนกัน แต่ก็มีความยากในตัวเองคนละแบบ

“ส่วนร้านชาบูบ้านไร่ สำหรับคนที่ไม่ชอบปิ้งย่าง ชอบแบบหม้อร้อน ก็มาร้านนี้ คอนเซ็ปต์จะออกสไตล์มนต์รักลูกทุ่ง มีผักที่หาทานยาก เช่น ดอกขจร ถั่วหวาน หรือยอดฟักแม้ว ที่หาได้ตามฤดูกาล ก็คิดว่าเป็นสไตล์บ้านไร่เรา อันนี้ก็คงต้องใช้ระยะเวลาสักนิดหนึ่ง แต่เราก็ทำเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปที่ทำให้ได้รับเชิญไปพูดแชร์ประสบการณ์ ก็เกิดจากตรงนี้ เราสร้างเราประสบความสำเร็จจริงๆ เขามองว่าเราได้ใจลูกน้อง มีลูกน้อง 200 กว่าคน บริหารจัดการคนเดียว ทำได้อย่างไร แล้วก็ทำร้านหลายๆ สาขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร

“ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ที่ว่าเป็นประโยชน์ เพราะชีวิตตัวเองกว่าจะถึงตรงนี้ได้ หลายๆ คนที่เขาไม่มีกำลังใจ ได้ฟังเรา เขาก็จะมีกำลังใจขึ้นมาได้ จากคนที่ติดลบ ไม่เหลืออะไร แถมมีปัญหาเรื่องครอบครัว ลูกก็อยู่ในสภาวะที่ไม่สมบูรณ์ หลายสิ่งหลายอย่างที่ตกต่ำ แล้วทำสิ่งนี้ได้ หลายคนมองว่าเป็นประโยชน์ นำไปคิดให้มีกำลังใจ

“ท้อได้แต่อย่าถอย อย่างที่เราเดินออกมาจากบ้านครั้งแรก ถ้าเราไม่ออกจากบ้าน เราก็ไม่รู้ว่าเราจะสำเร็จ เหมือนกับครั้งนี้ ถ้าเราไม่ทำ เราจะบอกว่าเราล้มเหลวได้อย่างไร เราต้องทำก่อน พยายามให้สุด ก่อนนี้เราแทบไม่ได้นอน วันๆ ไม่ได้กิน มันต้องประหยัดทุกอย่าง ต้องทำให้ได้ เราก็ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่ แต่เราก็สู้ ทุกวันนี้ก็ยังสู้อยู่ เพื่อองค์กร เพื่อลูก เพื่อหลายๆ คน โอกาสการเติบโตของเขา เราพาเขามาขนาดนี้ เขาพร้อมจะอยู่กับเรา สิ่งไหนที่เราคิดว่าเราจะต้องทำให้เขามีความก้าวหน้า ตรงนั้นเราอยากจะทำให้ดีที่สุด จนหมดความสามารถ หรือจนกว่าร่างกายเราจะไม่ไหว”

ร้านรสเด็ดสาขา 1 ตลาดน้ำขวัญเรียม รามคำแหง 187
ร้านรสเด็ดสาขา 2 นวมินนทร์ 155
ร้านรสเด็ดสาขา 3 อ่อนนุช 90
ร้านรสเด็ดสาขา 4 ประชาชื่น (กรุงเทพ-นนท์ 8/1)
ร้านรสเด็ดสาขา 5 พระประแดง (สุขสวัสดิ์ 53)
ร้านรสเด็ดสาขา 6 หทัยราษฎร์ ซอย 31-33
และร้านบ้านไม้ขาว สาขา ตลาดน้ำขวัญเรียม รามคำแหง 187, ร้านชาบูบ้านไร่ หทัยราษฎร์ ซอย 31-33 รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง ซึ่งถึงตรงนี้ สมญานาม "เจ้าแม่" เห็นจะแบ่งได้ออกเป็นสอง หนึ่งคือ "เจ้า" ที่หมายถึงกิจการมากมายหลายสาขา และคำว่า "แม่" อันเป็นต้นชีวิตและต้นแบบอย่าง พร้อมกับโอบอุ้มสิ่งที่ก่อร่างสร้างไว้ด้วยรักจากใจจริง

“อย่างเรา เราทำได้ เราใช้ความอดทน ไม่ได้เก่งไม่ได้รวยเลย แต่เราก็สามารถที่จะทำได้ ก็อยากให้ทุกคนพยายาม ความพยายามทำให้เราประสบความสำเร็จได้ อาจจะฟังดูเก่า แต่เพราะมันจริง จึงยังมีคำนี้อยู่

“ถามว่าถึงวันนี้เราสำเร็จแล้วหรือยัง คือง่ายๆ เราอยู่สบายกว่าเดิม เราไม่ต้องดิ้นรนมากมาย แต่เราต้องเรียนรู้ ประสบความสำเร็จแล้วก็ยังต้องเรียน เพราะว่าเคยเจอปัญหาตรงที่คิดว่าแน่นอน แต่มันกลับไม่แน่นอน ณ ตอนนี้ เรามองว่ามันไม่แน่นอน ถ้าเราไม่ปรับตัว มันก็จะเจอกับทางตัน เพราะทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเยอะมาก เราต้องตามให้ทัน

“ท้ายที่สุดถามว่าถูกหรือผิด ที่เรามองว่าสิ่งที่ผลักดันให้เราดีขึ้นเราต้องเรียน คำตอบคือถูก การเรียนรู้มันสำคัญมาก จากชีวิต เรามีเงินเปิด แต่เรายืมมา นั่นเท่ากับเราติดลบ แต่เราสามารถตั้งตัวได้ เพราะยิ่งเรียนมาเท่าไหร่ ยิ่งทำหนักมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ความอดทนเรามากกว่าคนอื่นเท่าไหร่ ความสำเร็จมันก็จะตามมา

“แต่สำเร็จแล้วก็อย่าประมาท เพราะมันมีความไม่แน่นอน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่อยากจะฝาก เพราะโลกเราก้าวไปเร็วมาก วันหนึ่ง หลายอย่างที่เราเห็นอยู่ มันสามารถเปลี่ยนไป ธุรกิจหลายๆ ธุรกิจล้มหายตายจาก เพราะไม่ได้มีการปรับตัว”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น