xs
xsm
sm
md
lg

“โมเตอร์คาร์” ในวันที่งามเริด ขบวนรถ ๑๑๐ คันแต่งสุดหรู ฉลอง ร.๕ ครองราชย์ยาวนานที่สุด!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ขบวนโมเตอร์คาร์ขณะผ่านถนนราชดำเนินใน
มีบันทึกกล่าวไว้ว่า รถยนต์คันแรกมาถึงเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดย จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) สั่งเข้ามาในราวปี ๒๔๔๐ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า

“รถคันแรกในเมืองไทย รูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน หลังคาเป็นประรำ มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่”

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๗ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ได้นำรถเดมเลอร์ของเยอรมัน รุ่นปี ๑๙๐๑ เข้ามา แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดรถคันนี้มาก เพราะสะดวกสบายเดินทางได้เร็วกว่ารถม้า นับเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ ทรงใช้ในการเสด็จไปตรวจงานพระราชวังสวนดุสิตซึ่งอยู่ในระยะการก่อสร้างเป็นประจำ ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯให้สั่งเข้ามาอีกหลายคัน เพื่อพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี

ปัญหาของการมีรถยนต์ในตอนนั้นก็คือ “คนขับ” เพราะคนไทยไม่มีใครขับรถเป็น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่สั่งรถยนต์เข้ามาเป็นคนแรกแค่ใส่เกียร์ก็ยังไม่เข้า เผอิญมีน้องชายคือ พระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต) เคยไปรับจ้างทำงานที่อังกฤษ รู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกดี เลยเป็นคนไทยคนแรกที่ขับรถในกรุงสยาม

ส่วนกรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเคยขับรถยนต์ในยุโรปมาแล้ว จึงทรงสอนให้พระธิดาและมหาดเล็กในวังขับกันหลายคน หม่อมเจ้าหญิงพิมพ์รำไพ พระธิดา จึงเป็นสตรีไทยคนแรกที่ขับรถยนต์ได้ ส่วนมหาดเล็กก็เป็นครูสอนขับรถยนต์ให้คนอื่นต่อๆไป

ปัญหาอีกอย่างก็คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ตลอดจนเจ้านายฝ่ายใน มีพระประสงค์จะทรงหัดขับรถยนต์ด้วย เจ้าฟ้ามหาวชิราวูธ มกุฎราชกุมาร จึงโปรดให้ นายเทียบ (ต่อมาคือ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง) มหาดเล็กของพระองค์ ซึ่งหัดขับมาจากวังกรมหลวงราชบุรีฯเหมือนกัน ไปถวายการหัดขับ ปัญหามีอยู่ว่า จะไปนั่งเบาะคู่ถวายการสอนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่บังควร และสร้างความอึดอัดใจให้นายเทียบอย่างมาก จึงประดิษฐ์เป็นที่ยืนยื่นออกมาจากดุมล้อข้างขวาที่ไม่ได้หมุนไปกับรถด้วย และยืนอยู่นอกตัวรถด้วยขาเดียว จึงพอแก้ไขปัญหาไปได้

จากนั้นรถยนต์ก็เป็นที่นิยมในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนคหบดี สั่งเข้ามาใช้กันมาก ซึ่งในตอนนั้นยังเรียกกันว่า “โมเตอร์คาร์”

รถที่สั่งมาจากยุโรปนั้นมีหลายยี่ห้อ แต่พากันตั้งชื่อรถขึ้นใหม่เหมือนที่นิยมตั้งชื่อเรือ อย่างรถเมอร์เซเดส เบนซ์ที่สั่งเข้ามาเป็นรถพระที่นั่งคันที่ ๒ พระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ” แล้วยังมี “ทัตมารุต” “ครุฑพ่าห์” “มหาหงส์” อีก

“เตร็จฟ้า” เป็นรถของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
“ฟ่องฟ้า” เป็นรถของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์
“รามประพาศ” เป็นรถของ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์
“อากาศประกาย” เป็นรถของ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
“อาทิตย์มณฑล” เป็นรถของ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนารถ
“กระบวนช่าง” เป็นรถของ กรมหมื่นกำแพงเพชรอรรคโยธิน
“เหราร่อนหาว” เป็นรถของ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ
“ฉาวพระนคร” เป็นรถของ หม่อมเจ้าไศลทอง
“อาศน์พระยม” เป็นรถของ พระยาสุขุมนัยวินิต ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าพระยายมราช เป็นต้น

ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่นิยมตั้งชื่อรถ แต่ก็มีบางคนที่เล่นด้วยเหมือนกัน อย่าง “สละสลวย” เป็นรถของราชทูตอเมริกัน “กระสวยทอง” เป็นรถของราชทูตฝรั่งเศส

เมื่อรถยนต์เป็นที่นิยมในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนคหบดี จึงทรงพระราชดำริให้จัดงานชุมนุมขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๔๘ ซึ่งนับเป็นวันชุมนุมรถยนต์ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ามีรถยนต์ไปร่วมชุมนุมในบริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นจำนวน ๓๐ คัน ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าของรถทุกคัน เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายสี่โมง จึงได้เคลื่อนขบวนรถไปพระราชวังสวนดุสิตตามถนนสามเสน เพื่อให้ประชาชนได้ชม

วันที่งามเริดของโมเตอร์คาร์ เกิดขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ซึ่งอยู่ในช่วงพระราชพิธีเฉลิมฉลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงครองราชย์สมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ คือยาวนานกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถซึ่งทรงครองราชย์ ๔๐ ปี ยาวนานกว่ากษัตริย์กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่ ๓วัน ๓ คืนในวันที่ ๑๑ ถึงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ และได้เกิดสิ่งสำคัญขึ้นในงานนี้ ๓ อย่าง คือ

ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ได้เสด็จพะราชดำเนินเปิดพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิตในเวลา ๐๘.๐๐ น. จากนั้นทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งอนันตสมาคม รุ่งขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน มีการแห่ขบวนรถโมเตอร์คาร์เฉลิมพระเกียรติ โปรดเกล้าฯให้คนที่มีรถยนต์ ตกแต่งรถมาโชว์กัน แล้วขับไปตามถนนต่างๆรอบเมืองให้ประชาชนชม พร้อมกับเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “สะพานเฉลิมโลก ๕๕” และถนนราชดำริ โดยมีขบวนรถโมเตอร์คาร์ตามเสด็จไปด้วย

รถโมเตอร์คาร์แต่ละคันแต่งกันอย่างงามวิจิตร ตั้งขบวนที่วังสราญรมย์และวัดโพธิ์ มีรถเข้าร่วมถึง ๑๑๐ คัน ราว ๑๖ นาฬิกาจึงเคลื่อนขบวนมาตามถนนราชดำเนิน เข้าสู่ลานพระราชวังสวนดุสิต ผ่านพลับพลาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเครื่องครึ่งยศขาวทหารบกประทับอยู่ เป็นการถวายตัว แล้วเคลื่อนขบวนออกทางถนนใบพร (อู่ทองใน–หน้ารัฐสภาในปัจจุบัน) เลี้ยวขวาเข้าถนนซังฮี้ (ราชวิถี) ข้ามคลองเปรมประชากรไปถนนลก (พระรามที่ ๕) หยุดคอยเสด็จพระราชดำเนินที่เชิงสะพานถนนดวงตะวัน (ศรีอยุธยา) เมื่อมากันพร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงรถพระที่นั่งทัตมารุต แต่งเป็นนารายณ์ทรงครุฑ โดยสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบถวาย มีรถบันลือฤทธิ์ ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงขับนำขบวน เลี้ยวเข้าถนนคอเสื้อ (พิษณุโลก) ไปออกถนนประแจจีน (เพชรบุรี) รถพระที่นั่งหยุดที่สะพานเฉลิมโลก ๕๕ (ประตูน้ำ) ทรงตัดแพรคลุมป้ายเปิดสะพาน จากนั้นเสด็จประทับรถพระที่นั่งข้ามสะพานไปตามถนนราชดำริเป็นปฐมฤกษ์ ผ่านถนนหัวลำโพงที่ศาลาแดง ไปตามถนนสีลม เลี้ยวเข้าถนนเจริญกรุงที่หน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ จนถึงถนนสนามไชย ไปตามถนนราชดำเนินจนถึงลานหน้าพระราชวังสวนดุสิต รถพระที่นั่งเลี้ยวเข้าถนนใบพร เข้าประตูกวางของพระราชวังสวนดุสิต หยุดที่พลับพลาโรงละคร พระราชทานเหรียญรัชมังคลาภิเศกแก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับพระราชทาน เมื่อรถกระบวนตามเสด็จมาถึงพร้อมกันแล้ว โปรดเกล้าฯให้มีการเลี้ยงน้ำชาพ่อค้าประชาชนที่เชิญมา ที่เตนท์หน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นการจบรายการ

นับเป็นวันที่กรุงรัตนโกสินทร์มีรถยนต์สวยพิเศษกว่าทุกวัน และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ชาวพระนครที่เฝ้าชมตลอดเส้นทาง
รถที่แต่งเริ่มตั้งขบวนที่ข้างวังสราญรมย์
อีกขบวนที่วัดโพธิ์
รถพลโกษี ของหลวงสุนทรโกษา (คอยู่เหล ณ ระนอง) แต่งด้วยเปลือกหอย
ยูงรำแพน
ตั๊กแตนตำข้าวของนายห้างฝรั่ง
นารายณ์ทรงโมเตอร์คาร์
ร.๕ ประทับยืนหน้ารถพระที่นั่งนารายณ์ทรงครุฑเปิดสะพานเฉลิมโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น