xs
xsm
sm
md
lg

แง้ม สน.ความคิด ผู้หมวดสุดสวย “หมวดหญิง” ร.ต.ท.หญิง สิริรัตน์ เพียรแก้ว กูรูกฎหมายเพื่อประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เพราะปัจจุบัน คนรู้กฎหมายอย่างแท้จริงยังมีน้อย จึงทำให้หมวดหญิงวัย 25 ที่ชื่นชอบการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ ลุกขึ้นมาหยิบจับเอาสิ่งที่ตัวเองถนัด ผสานเข้ากับอาชีพตำรวจเปิดเพจนามว่า “หมวดคะ” ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายได้ง่ายและถูกต้อง

“ร.ต.ท.หญิง สิริรัตน์ เพียรแก้ว” หรือ “หมวดหญิง” คือเจ้าของเพจ “หมวดคะ” ที่มีผู้ติดตามหลักแสน มุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายแก่ผู้ติดตาม และมักจะหยิบจับเรื่องใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจแบบผิดๆ มาให้คนอ่านได้ศึกษากัน จนใครต่อใครยกให้หมวดหญิงเป็นกูรูทางด้านกฎหมายไปโดยปริยาย

 ก่อนอื่น ขอถามถึงการสร้างเพจ “หมวดคะ” หน่อยค่ะว่ามีที่มาอย่างไร

เริ่มจากการที่หมวดชอบวาดรูปอยู่แล้วค่ะ พอเรามาเป็นตำรวจ ก็มีคนมาถามเรื่องกฎหมายเยอะมาก เราก็เลยได้ไอเดียขึ้นมาว่าเราน่าจะเอาสิ่งที่ชอบกับสิ่งที่เราเป็นมารวมกัน เพราะเราก็ไม่อยากจะทิ้งศิลปะ มันเป็นความชอบ ก็เลยเอามาใช้

หมวดดูแลเพจนี้คนเดียวหมดเลย ทั้งโพสต์ ทั้งวาดรูป ทั้งตอบคำถามต่างๆ ซึ่งเราจะใช้เวลาหลังเลิกงานมาทำค่ะ ตอนนี้เพจนี้ก็เปิดมาได้ประมาณ 2 เดือนได้แล้วค่ะ ก็มีคนติดตามประมาณหนึ่งแสนสองหมื่นกว่าคนค่ะ

จุดประสงค์คือ หนึ่ง เราอยากให้คนเข้าใจง่าย สอง อยากให้เข้าใจถูกต้อง เราอยากแชร์ให้คนได้รู้กฎหมาย อยากบอกต่อในสิ่งที่เรารู้ บางที ที่เห็นเขาแชร์กัน มันผิด เราก็อยากจะบอกเขาตรงนั้น แต่ถ้าจะให้บอกตัวต่อตัว มันก็เข้าถึงน้อย ถ้าบอกเป็นเพจ คนอาจจะเห็นเยอะขึ้น และมันก็ง่ายดีค่ะ (ยิ้ม)

• คิดว่าเพจหมวดคะมีอะไรโดดเด่นจากเพจอื่นบ้างคะ คนถึงได้เข้ามาติดตามเยอะขนาดนี้

จริงๆ หมวดไม่ได้กดโปรโมตเพจเลยนะคะ แต่คิดว่าการที่คนมาตามเพจเยอะเพราะเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะทางที่คนกลุ่มน้อยจะดู แต่นี่ทุกคนต้องรู้กฎหมายอยู่แล้ว ก็เลยชวนกันมากดไลค์ อีกอย่าง มันมีการ์ตูน มีข้อความสั้นๆ มีสัญลักษณ์ มีสีสันที่เข้าใจได้ง่าย เลยทำให้น่ามาติดตาม

อีกประการ หมวดว่ามันเป็นเรื่องของคอนเทนต์ที่เราทำลงไป ว่าเนื้อหามันไปโดนใจเขา เพราะหมวดจะเอาเรื่องใกล้ตัวมาเขียนเลยค่ะ อย่างเรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่องที่ตบกัน ไม่ใช่ปรับ 500 บาท เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดว่าการตบกันมันต้องปรับ 500 บาท แค่นั้นก็จบ แต่ความจริงคือมันไม่ใช่ มันต้องปรับหนึ่งหมื่นบาทนะ ก็เลยอยากบอกต่อเพื่อนๆ ว่าที่เราเคยเข้าใจมา มันไม่ใช่

หรืออย่างเรื่องอื่นก็จะมีเรื่องการโพสต์ประจานในเฟซบุ๊ก พวกนี้ก็มีความผิดแต่คนอาจจะเข้าใจว่ามันไม่ผิดอะไร หมวดจะหยิบจับเอาแต่เรื่องใกล้ตัว เราเล่นโซเชียลอยู่แล้ว พอเห็นข่าวในโซเชียลหรือเวลาคนแชร์อะไรที่มันผิดบนโซเชียล เราก็อยากบอก ก็เลยมาทำเป็นเพจค่ะ หรืออย่างบางคนไม่กล้าเล่าให้ตำรวจผู้ชายฟัง อย่างเรื่องคดีเพศ โดนข่มขืนหรือล่วงละเมิดมา เขาไม่กล้าเล่า เขาก็เลยจะมาบอกเราแทน หรือว่าต้องเป็นโรงพักที่มีตำรวจหญิงอยู่ เขาถึงจะกล้าเล่า มันก็จะทำให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้นด้วยส่วนหนึ่งค่ะ

• แบบนี้มีคนเข้ามาปรึกษาหรือถามเรื่องคดีกฎหมายมากน้อยแค่ไหนคะ มีเรื่องไหนบ้างที่คนเข้ามาปรึกษาเยอะๆ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ

มีพอสมควรเลยค่ะ เขาจะส่งข้อความเข้ามาทางเพจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาหมดเลยนะคะ เรื่องผัวเมียจะเยอะหน่อย ประมาณว่าแฟนนอกใจจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง แฟนทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขู่จะทำอะไรได้บ้างไหม หรืออย่างเรื่องลูก เรื่องคนใกล้ตัว เรื่องคนที่ทำงาน ซึ่งเราก็จะตอบไป ถ้าเรื่องไหนที่เรารู้อยู่แล้ว เราก็ตอบได้เลย แต่ถ้าบางเรื่องไม่รู้จริงๆ ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม จากรุ่นพี่บ้าง อย่างบางเรื่อง ถ้าเรารู้ว่ามีพี่คนนี้เก่ง เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เราก็โทรหาเขาเลยค่ะ หรือบางอย่างก็หาจากอินเตอร์เน็ต หาหลายที่เหมือนกัน เพราะทุกครั้ง ก่อนลงโพสต์ ก็ต้องศึกษาก่อน แต่ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่เราพอรู้อยู่แล้ว เขาจะถามเหมือนเรื่องที่เขาขึ้นโรงพัก เหมือนเราเคยทำมาบ้างแล้ว ตอนนี้หมวดก็ได้ไปเรียนเกี่ยวกับอาชญาวิทยาเพิ่ม ซึ่งจะเกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของอาชญากรรมว่าทำไมคนร้ายถึงคิดจะทำแบบนี้ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาชญากรรม

สรุปแล้ว หมวดจะคอยให้คำปรึกษาอยู่เรื่อยๆ นะคะ แต่ก็ไม่ได้มีการเก็บเงินอะไรแต่อย่างใด เราจะทำหน้าที่ไม่เหมือนทนาย เราอยากช่วย เราก็จะช่วยเฉยๆ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ตอบครบทุกคนนะคะ บางทีก็ต้องเลือกเหมือนกัน

 เลือกตอบ?? แล้วเลือกตอบประมาณไหนคะ

จริงๆ มีกรณีที่คนเขามาปรึกษาแล้วเราตอบไม่ได้นะคะ ก็มีเยอะเหมือนกัน ถ้าตอบไม่ได้ เราก็จะดูว่าเราไปหาข้อมูลให้เขาได้ไหม ถ้าหาไม่ได้จริงๆ เช่นเรื่องเกี่ยวกับคดีแพ่ง หรือเรื่องที่เรียกค่าเสียหายว่าได้กี่บาท อย่างนี้หมวดตอบไม่ได้ ก็ต้องบอกเขาไปตรงๆ ว่าเราไม่ทราบจริงๆ คือเราจะตอบเฉพาะที่เราศึกษาได้ ที่มันเกี่ยวกับองค์กรตำรวจ แต่ถ้าเกิดมันเกี่ยวกับการพิพากษาของศาล การลงโทษจะจำคุกกี่ปี จะปรับกี่บาท อันนี้หมวดไม่ทราบก็จะไม่ตอบค่ะ เราจะให้คำปรึกษาในด้านที่ว่าแบบนี้จะผิดกฎหมายข้อไหนไหม ประมาณนั้นค่ะ

• เลือกที่จะมาให้คำปรึกษา ให้ความรู้ด้านกฎหมาย แบบนี้หมวดหญิงคิดว่ากฎหมายจำเป็นหรือสำคัญอย่างไรกับสังคมไทยบ้างคะ

จริงๆ ทุกคนควรจะต้องรู้กฎหมายนะคะ เพราะว่าบางอย่างเราถูกละเมิดสิทธิ แต่เราไม่รู้เราจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง หรือบางคนไปละเมิดคนอื่น ไปทำคนอื่น ก็เป็นเรื่องที่ผิดไป ทุกคนควรจะรู้ แต่กฎหมายบางทีมันเข้าใจยาก จากหนังสือ จากสื่อมันเข้าใจยาก เราก็เลยเลือกที่จะสรุปความ ย่อความให้เขาเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

 แล้วคิดยังไงกับกฎหมายไทยอย่างบางคนบอกว่ากฎหมายประเทศเรายังอ่อนไป จึงทำให้มีคดีอาชญากรรมค่อนข้างเยอะ

หมวดว่าเป็นเรื่องความคิดมากกว่า เด็กสมัยใหม่จะคิดว่าทำเอาสะใจไว้ก่อน เช่น มีเรื่องทะเลาะอะไรกันมา ก็ตบดีกว่า ตบเลย ยอมเสียเงิน เหมือนเป็นเรื่องของจิตสำนึกของเขา อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องปลูกฝังใหม่ หรืออย่างคดีข่มขืนก็แล้วแต่ คือจิตใจของเขาไม่ได้คิดถึงเรื่องโทษเรื่องอะไร คิดแค่ว่าอยากทำ เห็นแก่ตัว อยากจะได้มาเป็นของตัวเอง พอเขาขัดขืนก็ฆ่าเขา เป็นเรื่องจิตสำนึกที่ต้องปลูกฝังใหม่

กฎหมายไทยอ่อนไหม จริงๆ กฎหมายแรงนะ แต่การบังคับใช้อาจจะยังไม่แรงพอ หรือว่าการลดหย่อนโทษต่างๆ ทำให้จากจำคุกตลอดชีวิตก็ลดมาเรื่อยๆ ทำให้เขาแทบไม่โดนลงโทษอะไรเลย ตรงนี้มากกว่าที่ทำให้คนมองว่ากฎหมายมันอ่อน แต่จริงๆ มันไม่อ่อนนะคะ

เอาง่ายๆ อย่างคดีฆ่าข่มขืน อันนั้นคือมีโทษประหารอยู่แล้วนะคะ เพราะเป็นการฆ่าคนตาย คือฆ่าคนตายไม่ว่ากรณีใด ไม่ว่าจะฆ่าข่มขืน หรือไม่ข่มขืน ก็ประหารอยู่แล้ว แต่ต้องไปดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมายว่าเขาจะลงโทษหนักได้แค่ไหน แต่ข่มขืนเฉยๆ อาจจะยังไม่ต้องเป็นโทษประหาร ซึ่งหมวดก็ไม่เห็นด้วยว่าข่มขืนเฉยๆ จะต้องประหาร เพราะว่ามันมีผลกับเหยื่อ สมมุติว่าข่มขืนทุกรายจะต้องลงโทษประหาร คนที่เป็นเหยื่อจะต้องถูกฆ่า เหมือนพอคนร้ายรู้ว่ายังไงก็ประหารอยู่แล้ว ฉันก็ฆ่ามันซะเลย เพราะยังไงโทษก็เท่ากัน อย่างนี้เหยื่อจะตายเร็วมากขึ้น ทำให้มีคนเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม

หมวดมองว่าการเพิ่มโทษหนัก ไม่ได้ทำให้คนร้ายกลัว แต่ทำให้เหยื่อตายมากขึ้น ในมุมมองของหมวด เพราะหมวดเรียนอาชญาวิทยามา อาจารย์ก็สอนว่าการเพิ่มโทษหนัก ต่อให้ทุกความผิด ประหารชีวิตหมด ไม่ได้แปลว่ามันจะเลิกทำ มันจะทำเหมือนเดิม และมันจะแอบทำ และจะมีการฆ่า มีการซ่อนศพ ทำทุกอย่างเพื่อปกปิดความผิด มันจะหนักกว่าเดิม

 เราได้อะไรจากการทำเพจบ้างนี้บ้าง แล้วคิดว่าประชาชนที่ติดตามเพจหมวดคะจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างคะ

ถ้าในเรื่องตัวเงินเราไม่ได้อะไรเลยค่ะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องความรู้สึกดี ความภูมิใจของเรา ที่ว่าสิ่งที่เรามีมันเป็นประโยชน์กับคนอื่น คล้ายกับว่าเรามีพรสวรรค์เรื่องวาดรูป เรื่องการย่อความ พอเอาตรงนี้ไปสร้างสรรค์ให้คนส่วนใหญ่รับรู้ รู้สึกว่ามีประโยชน์ มันก็มีค่า เหมือนเราให้ความรู้คน ให้เขารู้มากขึ้น บางคนก็มีส่งข้อความเข้ามาบอกว่าเพจนี้ทำให้ลูกเขาสนใจเรื่องเรียนมากขึ้น ลูกอยากไปเรียนนิติศาสตร์เพราะอ่านเพจ “หมวดคะ” ทำให้เขารู้ว่ากฎหมายมันเข้าใจง่าย จนอยากไปเรียน อะไรประมาณนี้ค่ะ

อีกอย่างคือเราได้รู้เลยว่าจริงๆ แล้ว ผู้หญิงโดนรังแก โดนเอาเปรียบ โดนละเมิดทางเพศเยอะมาก แต่บางครั้งเขาไม่กล้าแจ้งความ หรือบางครั้งแจ้งไปก็ทำอะไรไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นสามีภรรยากัน พอมาแจ้ง สามีก็นอนรออยู่ที่บ้าน กลับไปก็โดนอีก เขามักจะมาขอคำปรึกษา บางทีก็ไม่เอาเรื่องก็มี เหมือนมาขอคำปรึกษาว่าควรจะอยู่อย่างไร ถึงจะอยู่รอดปลอดภัย เขาเข้าหาเรา เหมือนเข้ามามาหาเพื่อน มาหากำลังใจ

หมวดคิดว่าคนที่เข้ามาติดตามเพจอย่างน้อยๆ เรื่องแรกเลยคือเขาจะรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วผิด อะไรที่ทำแล้วถูก จะได้ไม่โดนเอาเปรียบด้วย ถ้ามีคนเอาเปรียบเรา เราก็จะได้รู้ว่าเราสามารถแจ้งความได้ เราเอาผิดได้ ทำให้เขาใช้ชีวิตได้ง่ายมากขึ้น

 ถามถึงการเป็นตำรวจหน่อยค่ะ ไม่ทราบเส้นทางความรักความชอบในการเป็นตำรวจมาจากอะไร ทำไมถึงอยากเป็นตำรวจ

เริ่มมาจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วค่ะ ตอนนั้นหมวดจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็ได้ไปสอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ตอนนั้นที่หมวดไปสอบเขาเปิดเป็นรุ่นแรกด้วยค่ะ พอสอบได้ก็ไปเรียนเป็นเวลา 4 ปี แล้วก็จบมาทำงาน ตอนนี้ก็จบมาทำงานได้ 3 ปีแล้วค่ะ (ยิ้ม)

จริงๆ หมวดมีความฝันมาตั้งแต่เด็กแล้วนะคะว่าโตไปจะต้องเป็นทหารหรือไม่ก็ตำรวจ แล้วเราก็ไม่มีความฝันอื่นด้วย นอกจากนี้ ส่วนตัวจะเป็นคนมุ่งมั่น ชอบอะไรก็จะชอบอยู่อย่างเดียว เราอยากเป็นผู้หญิงเท่ๆ ผู้หญิงยิงปืนเป็น ไปจับคนร้ายได้ มันดูเท่มากนะ ตอนนั้นคิดแค่นั้นเองค่ะ (หัวเราะ) แต่พอโตขึ้น มีคนมาแนะแนวที่โรงเรียนว่านอกจากจะเท่แล้ว ยังมีสวัสดิการ พ่อแม่เราสบาย คือเรานึกถึงพ่อแม่ก่อน นึกว่าต่อไป พ่อแม่สบายแน่นอน เพราะเรามีอาชีพรองรับ มีเกียรติ ไม่เสียอะไรเลย กินฟรีอยู่ฟรี มีเงินเดือนให้ด้วย เราแค่เหนื่อยอย่างเดียว แต่ว่ามันก็คุ้มนะคะ

อย่างที่บ้าน ครอบครัวไม่มีใครเป็นตำรวจเลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่เป็นพนักงานโรงงานเลยค่ะ แต่เราชอบ อยากเป็นคนในเครื่องแบบ ตอนแรกอะไรก็ได้ เป็นตำรวจก็ได้ ทหารก็ได้ พอเขาเปิดสอบเราก็ตั้งใจ แต่ตอนนั้นไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่างเลยนะคะ สายตาก็สั้น ว่ายน้ำก็ไม่เป็น วิ่งก็ไม่เคยวิ่ง แต่พออยากจะเป็น ก็ไปเรียนเพิ่มทุกอย่าง (หัวเราะ)

 การฝึกฝนล่ะคะ ตำรวจหญิงแตกต่างจากตำรวจชายบ้างไหม

จะบอกว่ารุ่นหนึ่งจะมีผู้ชาย 200 คน ผู้หญิง 70 คน พอได้เข้าไปเรียนตลอด 4 ปี ก็มีเรียนด้วย มีฝึกด้วย มียิงปืน ฝึกอยู่ป่า ฝึกกระโดดร่ม ทำทุกอย่างเหมือนผู้ชายหมด อยู่ด้วยกัน ยกเว้นตอนนอน ต้องนอนแยกกัน แต่นอกนั้นก็ฝึกด้วยกัน จะมีช่วงแรกๆ ที่ปรับพื้นฐาน แยกให้ผู้หญิงเบาหน่อย แต่พอเริ่มปรับตัวได้ปี 1 ปี 2 ก็เหมือนกันหมดเลยค่ะ (ยิ้ม) จะบอกว่ามันก็คุ้มนะ ทนเหนื่อยหน่อย 4 ปี แต่จบมาโอเคเลย

 แล้วพอได้มาเป็นตำรวจหญิงแล้วเป็นยังไงบ้าง งานหลักๆ หรือหน้าที่ที่ทำตอนนี้มีอะไรบ้างคะ

หนักกว่าเดิมอีก (หัวเราะ) ตอนที่เข้ามาเป็นตำรวจแล้ว มันเหนื่อย เหนื่อยเกินกว่าที่เราคิด จนบางครั้งอยากจะลาออก แต่พอคิดถึงพอแม่ ก็โอเค ทนได้ (หัวเราะ) อาบน้ำนอน ตื่นมาก็หาย

ส่วนหน้าที่หลักๆ เดิมที หมวดเป็นรอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองราชบุรี เป็นร้อยเวรอยู่โรงพัก รับแจ้งความ คดีเพศ อะไรประมาณนี้ค่ะ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่โรงพักแล้ว เพราะหมวดได้ปฏิบัติราชการตามท่านผู้ช่วย ผบ.ตร.(พล.ต.ท.ดร.สุวิระ ทรงเมตตา) ทำมาเกือบ 2 เดือนแล้วค่ะ หน้าที่ส่วนมาก จะดูเรื่องโซเชียลมีเดีย เรื่องการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน เพราะว่าเราเชี่ยวชาญทางนี้ด้วยค่ะ

 อาชีพตำรวจมีความกดดันเรื่องอะไรบ้างไหมคะ

กดดันตลอด (หัวเราะ) กดดันตั้งแต่เรียนจบมา เหมือนเขาคาดหวังเยอะกับตำรวจหญิงว่าจะเป็นอย่างไร รับมาแล้ว หรือจบมาแล้วจะรอดไหม จะทำอะไรได้ไหม ส่วนหนึ่งที่มาทำเพจ คืออยากให้เขามองตำรวจหญิงในมุมใหม่ด้วย ไม่ใช่เป็นแค่ไม้ประดับขององค์กรแค่นั้น อยากให้เห็นว่าผู้หญิงเก่งหลายด้าน ยิ่งปืนเก่ง ต่อสู้เก่ง แต่ก่อนจะเริ่มมีตำรวจหญิง คนก็จะมองว่าจะเก่งได้เท่าผู้ชายเหรอ จะทำอะไรได้บ้าง ทุกวันนี้ เหมือนเราเริ่มพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำอะไรได้เยอะกว่านั้น

อีกอย่าง นอกจากความกดดันจากตำรวจด้วยกันแล้วก็มีความกดดันเรื่องความคาดหวังจากสังคม ความหวังว่าเราจะต้องทำให้มันได้ดี ไม่เสียชื่อ เวลาจะทำอะไรก็ต้องระวัง หาข้อมูลมาให้ดีๆ ก่อนจะทำอะไร

 แล้วตำรวจหญิงมีหน้าที่อะไรบ้าง?

มีเยอะเลยค่ะ ถ้าเป็นปราบจลาจล ก็จะทำหน้าที่ตรงนั้น มีจราจร โบกรถ อยู่อำนวยการ อยู่โรงพัก รับแจ้งความ สอบสวนคดีเพศก็เยอะ คล้ายตำรวจชายเลย บางคนไปเป็นผู้ฝึกก็มี เป็นครูฝึกคุมตำรวจผู้ชายก็มี อยู่สันติบาล หลายอย่างตำรวจหญิงเริ่มมามีบทบาทมากขึ้น หมวดก็รู้สึกดีเหมือนกันนะคะ เหมือนว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขามองภาพลักษณ์ของตำรวจหญิงดีขึ้น

 หลายคนมีอคติต่ออาชีพตำรวจจนเกิดการเหมารวมว่าตำรวจไม่ดี มองภาพลักษณ์ของตำรวจในแง่ลบ ตรงนี้หมวดหญิงคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ

แต่ก่อนหมวดก็เคยมองตำรวจไม่ดีเหมือนกันนะ (หัวเราะ) รู้สึกว่าทำไมต้องมาปรับฉันล่ะ ทำไมต้องมาตั้งด่านล่ะ ไม่เข้าใจกับการทำงาน แล้วฉันผิดอะไร แต่พอมาเป็น ถึงได้รู้ว่ามันเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเขาไม่ตั้งด่านแล้วมีคนเอาสิ่งผิดกฎหมายเข้าไปหรือลักลอบเอาอะไรมาขาย เขาก็ต้องโดนลงโทษ เรื่องผิดก็เหมือนกัน ถ้าคนที่ผิดแล้วไม่ปรับ ก็คือละเว้นหน้าที่ เขาก็ต้องทำ คือตำรวจอยู่กับประชาชนตลอด มันต้องมีอยู่แล้ว ถูกใจกับไม่ถูกใจ เป็นธรรมดาที่จะถูกมองไม่ดี

ในฐานะที่เป็นตำรวจก็อยากจะให้ประชาชนลองมองตำรวจแบบไม่มีอคติ เพราะตำรวจที่ดีๆ ก็ยังมีอีกเยอะ ตำรวจที่ช่วยเหลือคนอื่นโดยที่ไม่หวังผลมีอีกเยอะมาก เพียงแค่ว่าคนอื่นอาจจะไม่เห็น และตำรวจเป็นอาชีพที่น่าสงสาร ต้องอดทน ทำงานหนัก แล้วยิ่งโดนเกลียดด้วย ยิ่งทำให้กำลังใจเราน้อยลง เนี่ยตรงนี้ก็เป็นเรื่องกดดันเหมือนกันนะ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าอะไรที่เราไม่ได้ทำผิด ก็ไม่ต้องกลัว ส่วนตัวเราก็ยอมรับนะว่ามีตำรวจที่ดี และที่ไม่ดี ในส่วนที่ไม่ดี และเขาเห็น เขาก็ไม่ชอบอยู่แล้ว แต่โดยมากคือมีตำรวจที่ดี แต่ไม่มีคนเห็นเฉยๆ อยากให้มองกลางๆ ว่ามันมีทั้งสองอย่าง

ทุกอาชีพมีคนดีและไม่ดี เข้าใจ แต่ว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่คนเห็น บางอาชีพมีคนไม่ดี แต่ว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นก็มี อันนี้คือเราต้องปรับตัวเองด้วยบางส่วน ตำรวจไม่ดี เราก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ถ้าบางส่วนที่ดี เราก็ต้องสนับสนุนให้คนเห็นบ้าง แต่ถ้ามันเป็นเรื่องจริงก็ต้องยอมรับนะ อย่างบางคลิปที่ออกมา ตำรวจเขาก็ทำผิดจริงๆ ตำรวจทำไม่ดีจริงๆ หมวดก็เห็นด้วยที่เขาจะโดนว่า แต่บางคลิปที่ว่าทำดีอยู่แล้ว แต่มาคอมเมนต์ด่าเรื่องอื่น อย่างนี้ หมวดก็เสียใจนิดหนึ่ง ถ้ามีโอกาส บางที หมวดก็ไปคอมเมนต์บ้าง (หัวเราะ)

อาชีพตำรวจกดดันแล้วก็เครียดนะคะ ตำรวจฆ่าตัวตายเยอะมากกว่าอาชีพอื่นเลย ทุกคนเอาปัญหามาให้ พอฉันมีปัญหาก้อนหนึ่ง เอามาลงที่เธอ เธอต้องแก้ปัญหาให้ฉันให้ได้คล้ายๆ กับหมอ ป่วยมา คุณต้องรักษาให้ได้ เหมือนเขามาฝากความหวังไว้ บางทีไม่สามารถแก้ปัญหาให้ทุกคนได้ มันเยอะไปหมด บางเรื่องเราแก้ไม่ได้จริงๆ ก็กลายเป็นว่าตำรวจไม่ดี ตำรวจช่วยฉันไม่ได้ อย่างนี้ก็โดนเกลียดอีก แต่ก็มีคำสอนหนึ่งของตำรวจก็คือ อดทนต่อความเจ็บใจ เป็นอุดมคติของตำรวจข้อแรกเลย เหมือนต้องเจอความกดดันในสังคม มีเจ็บใจ เสียใจ ให้อดทน ถ้าเรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำเรื่องผิด ก็ไม่เป็นไร

จริงๆ ทุกวันนี้ไม่อยากใส่ชุดตำรวจไปไหน หรือไม่ค่อยอยากบอกใครว่าเป็นตำรวจเลยนะคะ จะใส่ชุดนอกตลอด ถ้าไม่จำเป็น บางทีเขาอคติอยู่แล้ว เคยโดนแต่มองๆ ไม่เคยโดนพูดใส่หน้า เหมือนเป็นผู้หญิงด้วยแหละ เหมือนเขาจะไม่กล้าด่า แต่ถ้าเป็นตำรวจชาย หมวดว่าโดนเหน็บบ้าง โดนว่าบ้าง แต่ยังไงก็ต้องอดทน

 ไม่กล้าใส่เครื่องแบบตำรวจ?

ไม่ได้อายหรืออะไรนะคะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากทำให้เขาปฏิบัติกับเราไม่เหมือนคนอื่น คือเราไม่รู้ว่าเขาชอบหรือเขาไม่ชอบตำรวจ ถ้าเราเป็นคนทั่วไป มันง่ายกว่า และการใส่เครื่องแบบไปไหนมาไหน มันต้องระวังว่าจะเสื่อมเสียหรือเปล่า จะเข้าร้านอาหาร เราก็ต้องระวังตัวทุกอย่าง เพราะเป็นเรื่องขององค์กร เขามองว่านี่คือตำรวจนะ เขาไม่ได้มองว่าเป็นผู้หญิงธรรมดาทั่วไป ถ้าทำอะไรไม่ดี เขาก็จะด่าว่าตำรวจผู้หญิงไทย ทำไมเป็นอย่างนี้ได้ เราเลยต้องระวังเรื่องการวางตัว แต่ไม่ใช่ว่าอาย เพราะจริงๆ เราภูมิใจมากที่ได้เป็นตำรวจ ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ (ยิ้ม)

 แบบนี้มีน้อยใจบ้างไหมคะ

ก็มีน้อยใจบ้างนะคะ (หัวเราะ) แต่ไม่ถึงกับอยากจะลาออก คือเข้าใจว่าเราเป็นประชาชนมาก่อน ก่อนมาเป็นตำรวจ เราก็เป็นพลเรือนทั่วไป มีบ้างที่ตำรวจขัดใจเรา หรือตำรวจทำงานไม่ได้ดั่งใจ ไม่เร็วพอ ไม่ดีพอ เราก็ไม่ชอบ แต่มันก็ทำงานร่วมกัน ได้ใกล้ชิด มันต้องมีคนที่ไม่ชอบอยู่แล้ว มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่หมวดทำได้ก็คือมาทำเพจ ทำอะไรที่เป็นการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนรู้สึกดีกับองค์กรตำรวจบ้าง อะไรที่เราช่วยคนอื่นได้ ช่วยประชาชนได้ ช่วยให้เขารู้สึกดีได้ เขาจะได้มององค์กรตำรวจในแง่ดีบ้าง

อย่างเพื่อนหมวดบางคน เขาท้อจนถึงขนาดย้ายสายไปเลยก็มีนะคะ ไปสอบเนติบ้าง ไปเป็นอัยการบ้าง ผู้พิพากษาก็มีบ้าง หรือบางคนก็ลาออกไปทำธุรกิจก็มี เหมือนว่าไม่ใช่ทาง ส่วนมากที่อยู่ได้คืออดทนอยู่ เหมือนอยู่ในโรงเรียน เจอเรื่องเครียดเรื่องกดดัน เขาสอนตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนแล้วว่าบางทีเราไม่ทำผิด แต่ต้องโดนลงโทษ ก็สอนให้เรารู้ว่าบางเรื่องก็ไม่มีเหตุผลหรอก แต่เราก็ต้องอดทนให้ได้ พอจบมา พอเจอเรื่องที่มันไม่มีเหตุผล เราก็ต้องรับได้ เคยเจอหนักกว่านี้มาก่อนแล้ว ดึกๆ เที่ยงคืนโดนลงโทษ ไม่เป็นไร ทนได้ กดดันกันคนละแบบ จากรุ่นพี่ จากครูฝึก และก็จากคนทั่วไป เราไม่เก็บมาใส่ใจมาก ไม่อย่างงั้น เครียดตาย (หัวเราะ)

พูดจริงๆ เรารู้สึกว่าอาชีพนี้มันเหนื่อยนะคะ เป็นอาชีพที่เขาบอกว่าเหมือนต้องคำสาป เป็นอาชีพที่คนเกลียด แต่เราก็ต้องอยู่กับมัน เข้าใจว่าทำไมคนเกลียดตำรวจ ในบางมุม หมวดเห็นตำรวจยืนข้างทาง บางทีก็รู้สึกว่ายืนทำไมนะ เรียกรับอะไรหรือเปล่า เหมือนมองอคติเป็นอัตโนมัติก็มีบ้าง แต่รู้สึกว่าถ้าเราทำดี เราไม่ต้องกลัวอะไร ถ้าราไม่ได้เรียกรับ เป็นตำรวจที่ไม่ดี ไม่ต้องกลัวอะไร คนจะเกลียดตำรวจ ก็ไม่ต้องสนใจ ไม่ได้แคร์ว่าเขาเกลียดแล้วเราจะอยู่ไม่ได้ หรือเลิกเป็นตำรวจดีกว่า ไม่เคยคิดอย่างนั้นค่ะ

 แล้วตำรวจที่ดีในมุมมองของหมวดหญิงต้องเป็นอย่างไรคะ

อันที่จริง ทุกคนจะมองว่าตำรวจดี คือต้องตามใจเขา ถ้าขัดใจเขาคือตำรวจไม่ดี หรือเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจ (หัวเราะ)

จริงๆ ตำรวจมีกฎในการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้วนะคะ อย่างตำรวจจราจรก็จะดู พ.ร.บ.จราจร ว่ามันผิด พ.ร.บ.จราจรตรงไหน ก็ต้องปรับตามหน้าที่ ตำรวจที่ดีคือ ไม่ใช่ตำรวจที่รับอะไรมาเพื่อทำให้สิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูก อันนี้คือไม่ดี ต้องไม่มองเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ให้มองเรื่องความถูกต้องเป็นหลัก ถ้าอะไรบางอย่างที่มันไม่ถึงกับผิดกฎหมาย หยวนๆ ได้ก็โอเค แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาทำผิดกฎหมายจริงๆ และไปรับเรื่องผลประโยชน์มา แล้วพลิกให้เขาถูก หมวดว่าก็ไม่ใช่ตำรวจที่ดี

 เราภูมิใจกับอาชีพนี้มาก?

ภูมิใจมากค่ะ ภูมิใจตั้งแต่สอบมาเป็นนายร้อยตำรวจหญิงเลย เพราะว่ามีไม่กี่คน พอเข้ามาก็เป็นผู้หญิงกลุ่มน้อยๆ ที่ได้เรียนได้ฝึกกับผู้ชาย ได้ผ่านอะไรมาด้วยกัน ได้รับการยอมรับจากผู้ชาย จริงๆ โรงเรียนนายร้อยเขาค่อนข้างเน้นเรื่องการยอมรับนะคะ เพราะเขาจะยอมรับยากมากที่ผู้หญิงจะเข้ามาฝึก เขาจะมองว่าจะทำได้เหรอ แต่พอเราผ่านการยอมรับจากเพื่อน จากรุ่นพี่ จากทุกคนที่เห็นว่าผู้หญิงก็มีศักยภาพนะ นี่แหละคือความภูมิใจ พอจบมาทำงาน เขาก็จะมองว่าตำรวจหญิงไม่ได้เหมือนที่คิด ตำรวจหญิงมีศักยภาพ ให้ไปฝึกก็ฝึกได้ ให้ไปลุยก็ลุยได้ ทำงานเอกสารก็ทำได้ (ยิ้ม)

 ถ้ามีน้องๆ เยาวชนผู้หญิงที่อยากเป็นตำรวจหญิงบ้าง มีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ

นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจะเปิดสอบทุกๆ ต้นปีค่ะ น้องๆ คนไหนที่สนใจอย่างแรกเลยก็คือต้องเตรียมใจมาก่อน ถ้าใจอยากเป็น เชื่อว่ามันต้องผ่าน ร่างกายไหวไม่ไหว เดี๋ยวก็ผ่าน วิชาการไม่ได้ ก็ไปอ่านหนังสือเพิ่ม ต้องมีใจมาก่อนเป็นอย่างแรก เพราะถ้าใจอยากเป็นจริงๆ ก็ต้องทำได้อยู่แล้ว ส่วนอย่างที่สอง อยากให้เตรียมความรู้วิชาการและร่างกายมาให้พร้อมค่ะ

วิชาที่ใช้ในการสอบก็ใช้วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม เหมือนสอบเข้ามหา'ลัยทั่วๆ ไปเลยค่ะ ส่วนร่างกายจะมีทดสอบวิ่งและว่ายน้ำค่ะ ซึ่งถ้าผ่าน ก็จะได้เข้าไปเรียนค่ะ จริงๆ หลายด่านเหมือนกันนะ กว่าจะได้มาเป็น แล้วก็ต้องฝึกรวมกันกับเพื่อนผู้ชายอีก 4 ปี (ยิ้ม)

คือจะบอกว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่กดดันนะคะ ต้องเตรียมใจก่อนมาเรียน เพราะไม่ใช่แค่สอบอย่างเดียว เวลาเข้าไปเรียนแล้วเครียด ร้องไห้ อยากลาออก มันจะเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เลย อย่างหมวด แรกๆ นี่ร้องไห้ทุกวันเลยนะคะ เครียดจนต้องเขียนระบาย บอกกับตัวเองว่าทำไมไม่เป็นเหมือนที่คิดไว้เลย ทำไมมันเหนื่อยกว่าที่คิดไว้ มันยากมากๆ ตอนแรกเราวาดฝันไว้ว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะหนักในระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอหลายเรื่องมาก เรื่องความกดดันนี่เยอะมาก ซึ่งถ้าผ่านการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงมาได้ อะไรก็จะไม่หนักหนาแล้วค่ะ (ยิ้ม)

• ท้ายนี้ในฐานะที่เป็นตำรวจ อยากให้หมวดหญิงเป็นตัวแทนขององค์กร พูดกับประชาชนหน่อยค่ะ

ในฐานะที่เป็นตำรวจ ก็อยากจะให้ประชาชนลองมองตำรวจแบบไม่มีอคติ เพราะตำรวจที่ดีๆ ก็ยังมีอีกเยอะ ตำรวจที่ช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลมีอีกเยอะมาก เพียงแค่ว่าคนอื่นอาจจะไม่เห็น และตำรวจเป็นอาชีพที่น่าสงสาร ต้องอดทน ทำงานหนัก แล้วยิ่งโดนเกลียดด้วย ยิ่งทำให้กำลังใจเราน้อยลง ก็ไม่อยากให้เหมารวมไปค่ะ (ยิ้ม)








 
Profile
 

ชื่อ : ร.ต.ท.หญิง สิริรัตน์ เพียรแก้ว
ชื่อเล่น : หญิง
วันเกิด : 27 กุมภาพันธ์ 2534
อายุ : 25 ปี
การศึกษา : ปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ กำลังศึกษาปริญญาโท อาชญวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่ง : รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองราชบุรี, ปฏิบัติราชการ สนง.ผู้ช่วย ผบ.ตร. (พล.ต.ท.ดร. สุวิระ ทรงเมตตา)
 




 

 

เรื่อง : วรัญญา งามขำ, นงนุช พุดขาว
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช

กำลังโหลดความคิดเห็น