xs
xsm
sm
md
lg

มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ ยังกล่าวชม!! “เรไร รายวัน” เด็กน้อยมหัศจรรย์แห่งวงการหนังสือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชื่นชมในความสามารถ...สร้างงานเขียนจากเรื่องราวชีวิตที่พบเจอในแต่ละวัน ทรงพลังแห่งมุมมองที่ซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัดของความไร้เดียงสา เป็นเสน่ห์ให้ใครต่อใครต่างเกาะชิดติดตาม อ่าน “บันทึก” ของเด็กน้อยอายุแค่ 7 ขวบ อุ่นหนาฝาคั่งกว่าหนึ่งแสนคน!!

“เรไร รายวัน” หรือ “เด็กหญิงเรไร สุวีรานนท์” หรือชื่อเล่นจริงๆ ว่า "น้องต้นหลิว" หนูน้อยวัยประถม ทายาทของนักคิดนักเขียน “ประชา สุวีรานนท์” และคุณแม่ชนิดา สุวีรานนท์... เธอตัวน้อยเริ่มต้นเตาะแตะบนเส้นทางสายอักษร ด้วยการเขียนความประทับใจลงหน้ากระดาษในโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ และจากการเล็งเห็นความสำคัญของมารดา สนับสนุนส่งเสริม จน “กลายเป็น” นักเขียนตัวน้อยที่สร้างความคิดแตกความอ่าน เพิ่มมุมมองให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ โดยไม่คาดฝัน

บางคนกล่าวว่า เธอคือ “ความมหัศจรรย์”
กระทั่ง “มกุฎ อรฤดี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ยังเอ่ยชมว่า
“เรไรกลายเป็นนักเขียนชื่อดังไปแล้ว
แต่สำหรับผม เธอไม่ได้ ‘กลาย'
ข้อเขียนของเธอทุกบท บอกเราว่า
เป็นผลงานของนักเขียนนับตั้งแต่เริ่มต้น”

• กระดาษหน้าแรกของ “เรไร รายวัน”

น้องเรไร :ริ่มจากไลน์คุณแม่เด้งขึ้นมาว่ามีโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ ของคุณตา 'มกุฎ อรฤดี' แล้วพอคุณแม่กลับมาบ้านก็ถามว่าหนูสนใจไหม คุณแม่ว่าคุณแม่สมัครไว้ให้แล้ว (หัวเราะ) แล้วพอเขาส่งสมุดมา หนูก็เริ่มเขียนเลยค่ะ

คุณแม่ : คือโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ เป็นโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ต้องการรณรงค์ให้เด็กรักการเขียน รักการอ่าน เขาก็จะมีการแจกสมุดบันทึกให้เข้าร่วมโครงการ กลับมาถึงบ้าน บอกเขา เขาก็ถามว่าเขียนบันทึก เขียนอะไรเหรอ แล้วเขาจะเขียนไหม เราก็บอกว่า ลองดู

ทีนี้ พอได้สมุดหนังสือสักอาทิตย์หนึ่ง สมุดรูปเล่มมันก็น่ารัก เขาก็เปิดเข้าไป พยายามอ่าน มันมีหน้าหนึ่งที่มีให้เขียนเป็นสัญญาประชาคม สัญญาว่าจะเขียนบันทึกทุกวัน เขียนเรื่องราวที่มีประโยชน์ วาดรูปและสิ่งต่างๆ เขาอ่านเสร็จก็เซ็นชื่อสัญญา เรไร สุวีรานนท์ ก็เหมือนเป็นการผูกมัดตัวเอง เราก็ยังตกใจ ยังถามเขาเลยว่าลงชื่อน่ะ คิดหรือยังว่าเขียนได้เหรอ (ยิ้ม) เขาก็บอกว่าได้ ก็เริ่มเขียน

• เรื่องแรกตอนนั้น เขียนเรื่องอะไรครับ

น้องเรไร : เรื่องแรกที่เขียนคือเรื่องหวี เพราะว่าวันนั้นสอบเขียนคำศัพท์ภาษาไทย แล้วหนูเขียนผิด (ยิ้ม) เขียนเอาสระอีไว้บน ห.หีบ

คุณแม่ : เพราะว่าเราบอกเขาว่าบันทึกเล่มนี้ไม่ใช่มีไว้เขียนความลับ แต่มีไว้เขียนความประทับใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เขารู้สึก เนื่องจากว่าที่โรงเรียนที่เรียนจะมีสอบเขียนคำภาษาไทยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง 10 คำ ก่อนจะเขียน เราก็ให้เขาเล่า มีอะไรที่ประทับใจ เขาก็จะเล่าหลายๆ เรื่อง หลายๆ ราว แต่ละเรื่อง เขาก็จะเล่าๆ คือเด็กบางที เวลาเล่าก็จะข้ามไปข้ามมา ฉะนั้น ในช่วงเริ่มต้น 3 เดือนแรก ต้องค่อยโยนหินถามทาง พอประโยคนี้ เขาบอกมาแล้วหนูคิดอย่างไร แล้วต่อไปเป็นอย่างไร แม่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แม่อยากรู้ เล่าให้ฟังหน่อยสิ เราต้องทำเป็นอยากรู้มากๆ พอเขาพูดออกมาก็บอกว่าเขียนตามที่เราพูดนั้นแหละ

ฉะนั้น เท่ากับว่าเขาถอดจากภาษาพูดลงเลย เขาพูดอะไรก็เขียนแค่นั้น แต่กลุ่มคนอ่านก็จะเข้ามาทักเรื่องสะกด เข้ามาคอนเมนต์แก้ให้ จนตอนหลังๆ เราก็เลยต้องค่อยๆ อธิบายว่าเด็กๆ เล็กๆ อย่างนี้ ถ้าเราไปฟิกมากเรื่องหลักภาษา เขาจะสะดุด ไม่มีความมั่นใจ การเล่าหรืออะไรมันก็จะไม่ไหลลื่น เพราะฉะนั้น ที่ผิด เราก็จะปล่อย เพราะเขาเข้าใจความหมายของคำว่าหมายถึงอะไร แต่พอเขียนเสร็จแล้ว มาอ่าน ก็จะบอกว่าอันนี้ผิดนะ ถ้าคราวหน้าเจอ ก็แก้ ถ้ายังจำไมได้ ก็แสดงว่ายังจำไม่ได้ ก็ให้ค่อยๆ พยายามผ่านมาจาก ป.1 ขึ้น ป.2 คำศัพท์เริ่มเยอะขึ้น ก็พัฒนาไปตามสเต็ป

• มีงานเขียนออกมาทุกวัน และเขียนได้เป็นเรื่องเป็นราวด้วยอายุอานนามเพียงแค่นี้

คุณแม่ : ค่ะ หลังจากที่เราถามเขาโดยให้เขาเล่าแล้วเราก็ค่อยๆ ถามที่มาที่ไป ถามเหตุผล หลังจากนั้นเราก็เริ่มสอนเขาจากการเปรียบเทียบการเขียน เหมือนสิ่งที่เขาอยากทำ นั่นก็คือการขับรถ เขาเห็นเราขับได้ เขามองเราเป็นฮีโร่ เพราะคุณพ่อขับรถไม่ได้ เขาก็อยากที่จะขับรถอย่างเราเป็นบ้าง ก็พยายามกินนมให้ขายาว จะได้ขับรถได้ไวๆ (หัวเราะ)

เราก็เลยเอาตรงนี้มาเปรียบเทียบ บอกว่าการเขียนมันก็เหมือนกับการขับรถ ขับรถก็ต้องสตาร์รถ สตาร์รถเราใช้อะไร เขาก็บอกว่ากุญแจ แล้วการเขียน อะไรคือกุญแจ เขาบอกดินสอ จากนั้นเราจะขับรถไป เขาอยากให้มีคนนั่งไปด้วยไหม ถ้าเราอยากให้มีคนไปด้วย เราก็ต้องชวนคนโน้นคนนี้ และก็คงไม่มีใครอยากกระโดดขึ้นรถไปโดยที่ไม่รู้จะไปไหน เราก็จะต้องเล่าว่าวันนี้เราจะพาไปโน่นนี่นั่น จะสนุกอย่างนี้ อย่างนั้น แล้วพอในระหว่างเรื่อง เราขับรถไปเรื่อยๆ ถึงที่หมายจะจอดรถ เขาก็เห็นเราจอดรถ ค่อยๆ เบรคนิ่มๆ เราก็บอกว่าถ้าแม่จอดรถเข้าซองเบรกไม่ดี หัวทิ่มหัวตำ ก็ไม่ดี การเบรกก็คือประโยคจบที่ต้องให้ดีเหมือนกัน

ก็จะเหมือนกับประโยคแรกที่เขาเขียนทุกวันนี้ ฉะนั้นจะเห็นว่าเขาจะเป็นเด็กที่ค่อนข้างจะพิถีพิถันกับประโยคแรก กับประโยคจบ เขาจะคิดมาก นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าทำไมเขาเขียนได้ พอเขาเขียนได้ เราก็เริ่มเอามาลงในเฟซบุ๊กของเรา เพื่อนๆ พ่อแม่พี่ป้าน้าอา ก็เข้ามาอ่าน กดไลค์กดแชร์กัน 10-20 ไลค์ จากนั้นก็เลยคิดตั้งเพจเพื่อดูพัฒนาการของเขา แล้วก็มองเรื่องของการศึกษา เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนไปขนาดไหน เรามีลูกตอนอายุเยอะ เขาโตมา เราอาจจะแนะนำไม่ได้แล้ว เพราะทิศทางสังคมมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรื่องของการเขียนก็ทำให้เขาฝึกความคิด ถ้าเขาคิดอะไรได้ อีกหน่อยจะไปเลือกงานเลือกเส้นทางอะไรชีวิตเขา เขาก็ทำได้

สรุปก็เป็น “เรไร รายวัน” ออกมา ซึ่งคุณพ่อยังขำที่ตั้งชื่อนี้ เพราะนอกจากจะมีคนมาทักว่าให้กู้เงินหรือเปล่า (หัวเราะ) ยังเหมือนจำกัดตัวเองว่าต้องออกทุกวันอีกด้วย แต่พอเราเขียนออกมาทุกวัน ก็รู้ว่าเขาทำได้ แถมกระแสตอบรับก็เข้ามาเป็นหลักร้อย เป็นหลักพัน จนตอนนี้ผู้ติดตามกว่าแสนคน ทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น วัยพ่อแม่ วัยปู่ย่า ก็ยอมรับว่าตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะขนาดนี้ ขนาดเพจโหดสัสยังแชร์บอกว่า เด็กแถวบ้านโหดไหมละ

• เคยลองคิดทบทวนดูหรือไม่ว่าทำไมเรื่องราวบันทึกของเด็กคนหนึ่งถึงโดนใจใครหลายคนขนาดนั้น

คุณแม่ : คืออย่างที่กล่าว 3 กลุ่มที่ติดตาม อย่างกลุ่มเด็กๆ เขาก็คือกลุ่มที่เคยเขียน แต่เขียนไปได้สักพักก็หยุด ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่น เขาบอกว่าน้องมีมุมมองความคิดที่เจ๋ง คิดดี มองแล้วฮิป อ่านแล้วฟิน อีกกลุ่ม กลุ่มคนพ่อแม่ คนสูงวัย อ่านแล้วเขานึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ ซึ่งถ้าถามว่าทุกวันนี้จะเอาหนังสือเรไรไปวางส่วนไหนของชั้นหนังสือ จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนก็ไม่ใช่ หนังสือเด็กก็ไม่เชิง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อ่านหนังสืออะไรมากมายอย่างที่หลายคนคิดว่าเขียนระดับนี้ต้องอ่านหนังสือ เป็นหนอนหนังสือแน่ๆ เขาก็อ่านในระดับของวัยเขา

คือยกตัวอย่างอย่างเรื่อง “สัจธรรมซูชิ” เขาคิดว่าจานซูชิที่แม่อยากจะกินแล้วเขาหยิบให้ไม่ทัน พอสายพานมันเลยไป ทุกคนในโต๊ะก็จะตะโกนทักกัน รีบบอกให้หยิบๆ เขาก็บอกว่าไม่ต้องหรอก เดี๋ยวมันก็วนมาใหม่ แล้วเขาก็เขียนประมาณว่าอะไรที่มันผ่านไป ก็ไม่ต้องเสียดาย เดี๋ยวมันก็จะวนกลับมาใหม่ แล้วมันก็กลายเป็นว่าพออ่านแล้วก็ไปตีความ มีเรื่องความรักว่ามันเป็นสัจธรรมความรักที่มันไม่ใช่ของเรา มันวนไป มันกลับมา หรือเรื่องของโอกาสที่ถ้ามีเข้ามา เราจะปล่อยให้เลยไปไม่ได้ ต้องคว้าเอาไว้ ซึ่งตอนจบ เขาบอกติดตลกว่าถ้าเราไม่โชคร้าย โดนโต๊ะอื่นๆ ตัดหน้าไปก่อน เพจดังๆ อย่าง “คุณหมอขอพักร้อน” ก็เอาไปตีความ เราคิดว่างานเขียนเขาบางที ที่คนติดตาม ที่คนชอบ เพราะว่ามันเปิดกว้างให้ได้ตีความ

• ทำอย่างไรให้รู้สึกสนุกกับการเขียน โดยไม่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

คุณแม่ : คือการเขียนมันเป็น Thinking คือการคิด ฉะนั้น เด็กทุกคิดเป็นอยู่แล้ว การเขียนความคิด ถ้าพอทำไปบ่อยๆ มันก็คือการฝึกระบบคิด ระบบคิดถ้าฝึกได้ ให้คิดแบบมี Logic มีเหตุมีผล ก็เลยทำให้เขาสนุก พอสนุกและทำเรื่อยๆ ก็จะมีวินัย ซึ่งตรงนี้ ถ้าย้อนมองคิดว่าเขาผ่านจุดขั้นที่เขียนสนุกแล้ว คล้ายๆ คนที่ออกกำลังกาย เป็นประจำ ถ้าไม่ออกแล้วครั่นเนื้อครั่นตัว แรกๆ ก็ยังสงสัยคำที่คนเคยพูดว่า อะไรก็ตามที่ทำเกิน 21 วัน จะกลายเป็นนิสัย เวลาเขาฝึกอะไร เราก็ไม่รู้ว่าจริงเปล่า แต่พอมาดู ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น

เขาทำเป็นออโตเมติกแล้ว เล่นๆ กลับมา รู้เวลาแล้ว เวลาจะเขียนบันทึกเริ่มเขียนแล้ว ถ้าวันไหนยังไม่รู้จะเขียนอะไร เขาก็จะเดินเล่นโน่นเล่นนี่ไป วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 วันที่ก่อตั้งเพจ นี่ก็ครบ 365 วัน หนึ่งปีพอดี ซึ่งคิดว่ามันเป็นระยะเวลาที่เขามีประสบการณ์ กราฟการเขียนของเขาก็เลยขึ้นเรื่อย ฉะนั้น ถ้าถามว่ามีสักวันไหมที่เขางอแง ไม่อยากเขียน ไม่มี มีแต่ถ้าเขาง่วงๆ เขาจะขอไปล้างหน้าก่อน ไปเล่นก่อน เพื่อรีเฟรชตัวเองแล้วก็มาเขียน

• เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่เป็นความประทับใจที่เจอะเจอได้ทุกวัน

น้องเรไร : ก็เรื่องที่เจอที่โรงเรียน เรื่องที่บ้าน และเวลาที่บ้านพาไปข้างนอก

คุณแม่ : ก็อาจมีบางคนคิดว่าเราคิดแก๊กขึ้นมาหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้คิดเลย เพราะเขาไม่ได้คิดถึงเรื่องที่เป็นก้อนโตๆ หนังก็หนังทั้งเรื่องแบบเมื่อก่อนที่เขามักจะเล่าให้เราฟังก่อนเขียน ซึ่งเราก็บอกว่าจริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลย ไม่ใช่ต้องเป็นเรื่องทั้งเรื่อง จะเป็นแค่ฉากเดียวก็ได้ เพียงแต่ว่านิดหนึ่งตรงนั้น เราจะทำอย่างไรให้คนอ่านเห็นภาพ แล้วคนอ่านที่เขาไม่ได้เจอในเหตุการณ์นั้น เขาอ่านแล้วเข้าใจ

เมื่อก่อนก็จะใช้คำคุณศัพท์เยอะ กล่าวถึงความรู้สึกตัวเอง แต่พอตอนหลังเป็นเปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบปุ๊บ มันก็ทำให้เห็นภาพ เช่นฉันรู้สึกชอบสิ่งนี้ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเหมือนกับอย่างนั้น เขาก็พอได้ฉากเรื่องที่จะเล่า เขาก็จะดึงสิ่งที่เคยเจอะเจอ เคยได้ยินคุณยายพูด เคยได้เห็นตรงนั้น โยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เวลาจะเขียน ก็เลยมีคีย์เวิร์ดขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ไปทานผัดไทที่ร้าน แล้วบังเอิญเขาติดป้ายข้อห้ามในการปฏิบัติในร้านเยอะไปหมดเลย แล้วเขาก็บอกว่าถ้าโลกนี้มันมีแต่ให้ๆ อย่างเดียว มันก็คงเกิดชุลมุนวุ่นวาย มีคำว่าไม่บ้างก็ดี เพราะตรงป้ายนั้นมันเขียนว่าไม่ แล้วมันก็ไปแตกต่อว่าไม่อะไรบ้าง

พอตรงนั้นเป็นจุดที่สะกิดใจ เขาจะเริ่มเขียน เขาก็จะมานั่งนึกว่า แล้วไอ้เสียงดังรบกวนคนข้างเคียงกับร้านที่เขากินก๋วยเตี๋ยว เขาก็ไปคิดว่าที่ผ่านมา ที่อื่นๆ ที่เคยไปกินมันเสียงดัง ล้งเล้ง เขาก็จะบอกว่าเวลาเสียงดัง เขาจะหันไปมอง โต๊ะไหนก็หันไปดู เขาไม่มีสมาธิกิน แล้วไม่มีสมาธิกิน ก็กินไม่อร่อย เขาก็เลยบอกว่าผัดไทร้านนี้อร่อย เพราะมีป้ายบอกว่าไม่ส่งเสียงรบกวนคนข้างเคียง พอโพสต์ไปก็มีคนแสดงความคิดเห็นหลากหลาย มีคิดต่างบ้าง คิดไม่เหมือนเด็กคิดบ้าง


• อย่างนี้ มีปัญหาบ้างหรือไม่ในความคิดที่แตกต่างในบางเรื่องบางราว

คุณแม่ : ไม่ค่ะ แต่ก็เคยมีคนถามว่าเขามีปัญหาอะไรไหม เพราะเด็กทั่วไปต้องมีปัญหา ทว่าสำหรับเราเขาไม่มีปัญหาอะไรแบบนั้น ไม่ได้ทำให้เราหนักใจ ที่โรงเรียนก็ไม่ได้เป็นภาระใคร แล้วเมื่อก่อน ถ้าเขาบอกว่าชอบอะไร เราจะชั่งใจ เพราะว่าเด็กก็จะชอบไปเรื่อยๆ แต่พอเขาเริ่มอธิบายความคิดตัวเองได้ คุณแม่ชอบอันนี้เพราะอย่างนี้ และยิ่งกว่านั้นบอกชอบอย่างเดียวไม่พอ ยังยกเหตุผลมาเปรียบเทียบให้เราเห็นอีกด้วย (ยิ้ม)

พอมีระบบทางความคิดก็ส่งให้มีเหตุมีผลตามมาด้วย ต่างจากก่อนเริ่มเขียน

คุณแม่ : เขาเริ่มมีเหตุมีผล รู้จักยกใช้สมทบคำพูดเขา แล้วเขาก็จะเป็นเด็กที่จะมองโลกในแง่ดี ทีนี้พอเขาเป็นอย่างนี้ แรกๆ ก็กลัวว่าเขาจะพอเข้าใจเรื่องต่างๆ มากกว่าเพื่อน จะยอมเพื่อน แต่พอตอนหลังมาเห็นในบันทึก เขาเล่าว่ามันไม่ใช่ยอมแบบอย่างนั้น เขาก็ยอมแค่ระดับหนึ่ง ถ้าล้ำเส้นมากก็ไม่เอา เช่นมีบันทึกวันหนึ่งตอนเช้าก่อนเข้าเรียน เขาก็วิ่งเล่นกับเพื่อน แล้วเขาบอกว่าเพื่อนชวนเล่นเป็นแม่มดปรุงยา ก็ต้องมีคนโดนเสก เป็นกบคนหนึ่ง เป็นอึ (อุจาระ) คนหนึ่ง เขายอมเป็นกบ เพราะเพื่อนผู้หญิงส่วนใหญ่ก็อยากเป็นแม่มดกัน เขาก็สละยอมขอเป็นกบ เพราะเขารู้ว่าถ้าเล่นแม่มด ไม่มีคนเป็นกบ จะไม่สนุก แต่ยอมให้ถึงขนาดเป็นอึ เขาก็ไม่ยอม

การเขียนตรงนี้มันก็นับว่าเป็นข้อที่ดีมาก อย่างเรื่องนี้ทำให้รู้ว่าไม่ต้องถึงกับขนาดเขียนแล้วต้องออกเป็นหนังสือรูปเล่มอย่างน้องทุกคน แต่ถ้าเกิดเขาเขียน เราจะรู้ว่าวันหนึ่ง ลูกเราเจอะอะไรมาบ้าง คิดอะไรบ้าง เขาไปถึงไหนแล้ว บางทีเราฟังอย่างเดียว ไม่มีการบันทึกจด เราก็จะลืม เราก็จะไม่รู้ว่าเขาสามารถผ่านมันไปได้หรือไม่ แต่อันนี้เรากลับย้อนมาเปิดดู 3 เดือนก่อน เรื่องเดียวกัน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว คือคิดว่ามันมีประโยชน์ทั้งในตัวเขาเองและตัวเราเองด้วย

• นอกจากประโยชน์ที่เอ่ยมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ ถึงวันนี้มีเรื่องอะไรที่เราประทับใจที่สุดที่เขาเขียนมา

คุณแม่ : ในแง่มุมเรา บางที การเป็นแม่เอง เป็นคนที่นั่งฟังเขา เป็นแอดมินเขา อ่านคอมเมนต์ ได้เห็นคนที่เข้ามาชื่นชอบคำคมต่างๆ เรารู้สึกว่า เราเสียโอกาสที่จะรับความรู้สึกนั้น บางทีเราอยากอยู่วงนอกแล้วเป็นคนที่ไม่รู้จักเขา เป็นคนอ่าน แล้วอยากจะรู้สึกว่าเราจะชื่นชอบเด็กคนนี้ไหม ฉะนั้น การอ่านในแง่ที่เราเป็นคนใกล้ชิดอรรถรสยังไม่ได้เท่ากับคนอื่น แต่ถามว่าเวลาเห็นลูกเขียน เราก็รู้สึกว่าเขาคิดได้ไง (หัวเราะ) ทำไมคิดอย่างนี้ เราเคยลองจินตนาการตามก็คิดไม่ได้อย่างเขา บางเรื่องง่ายๆ แล้วเรามองข้าม อย่างวันนั้นไปออกราการเสร็จ ตอนเย็นเขามีตีเทนนิส พอตีครบคอร์สเรียน เราก็เร่งเขาให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าไวๆ เพราะอยากจะกลับไปดูรีรัน เขาก็พูดออกมาว่า คุณแม่จะรีบไปดูทำไม เขาก็ออกเหมือนกับทุกคำที่เราพูดกันตอนเช้า คือแม่พูดอะไรก็ออกอย่างนั้น แม่ก็รู้ว่าแม่พูดอะไรแล้วจะไปดูทำไม เราก็เลยมองว่าเขาเป็นเด็กยังคิดได้เลย เราทำไมคิดไม่ได้ คือบางทีบางมุม เราไม่ได้มองอะไรแบบนั้น ก็ทำให้เขาสอนเรา นอกจากเราสอนเขาด้วย

มีเสียงชมทั้งในชีวิตจริงและโลกโซเชียลถึงความอัจฉริยะ ความคิดอ่าน ส่วนตัวรู้สึกอย่างไรบ้างกับตรงนี้

คุณแม่ : ต้องบอกก่อนว่าน้องเขาไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องตรงนี้ เพราะเราเป็นแอดมินดูแล แต่ถ้าถามเราว่าเราเรารู้สึกยังไง คือทุกวันนี้เขียนเสร็จแล้วก็แล้วกัน เขาก็ไปทำอย่างอื่นตามประสาวัยเขา แล้วบางคนที่มองว่ามันโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่น เราคิดว่าเป็นเพราะว่ายังไม่มีใครทำจริงๆ จังๆ อันที่จริง เด็กทุกคนสามารถเขียนได้ แต่ว่ายังไม่มี พ่อแม่คนไหนที่ทุ่มเท ให้เวลากับเขา แล้วเด็กคนนั้นทำได้ยาวนาน เด็กหลายๆ คนก็คิดอย่างเขา แม่คิดอย่างนั้น ในฐานะที่เราเลี้ยงลูกมา อยู่กับเด็ก คิดว่าเด็กหลายๆ คนก็ทำได้ เขาไม่ได้โดดเด่นกว่า เพียงแต่ว่าโอกาสที่เขาได้มานั่งเขียน มีเราสนับสนุน เขาก็เลยมีโอกาสที่มีผลงานออกไป

เพราะฉะนั้น คำที่ว่าอัจฉริยะก็น้อมรับไว้ แต่อยากจะบอกว่าเด็กๆ ทุกคนทำได้อย่างน้องน้ำมนต์ เด็กผู้ชายจากเชียงใหม่ เขาก็ทำตรงนี้ คุณแม่เขายังส่งบันทึกที่ลูกเขาเขียนมาให้ เขาเพิ่งเขียนได้ 3 เดือน แต่เขียนเก่งมาก ดีมาก แค่เขามีแรงผลักดัน มีอะไรที่มีที่ทางทำให้เขาทำได้อย่างต่อเนื่อง แล้วพอเด็กเขาเห็น ไม่ได้หมายถึงผลที่จะออกมามีชื่อเสียง แต่ผลที่คนที่เป็นพ่อแม่เขา ชื่นชมเขา มันยิ่งกว่าแฟนเพจมาชมเป็นแสน

เราไม่มองว่าเราไม่อยากเป็นคอมเมอร์เชียล คือถ้าเอาลูกไปสังกัดสำนักพิมพ์เขาก็จะต้องมีแนวทางมีอะไรของเขา ซึ่งบางที ลูกเราอาจจะไม่เหมาะที่ต้องไปทำแบบนั้น เพราะเรามองว่าเรายังเขียนไปเรื่อยๆ ประโยชน์เรามองที่ลูกเรา บังเอิญคุณพ่อก็อยู่ในวงการอยู่แล้ว รู้จักโรงพิมพ์ เราก็ช่วยทำรูปเล่ม ออกทุนพิมพ์เอง แล้วก็มีสายส่งช่วยไปส่ง ทั้งหมด 3,500 เล่ม หมดแล้วในส่วนของปกอ่อน ยังไม่ได้พิมพ์เพิ่ม

• อนาคตวางแผนยังไงต่อ เล่มที่สองเนื่องจากใกล้จะครบปีแล้วในการเขียนบันทึกทั้งหมด

คุณแม่ : หลายคนก็ถามว่างานสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เรามีหรือไม่ คือยังไม่ทำเล่มสอง เราอยากทิ้งพัฒนาการไปสักพักหนึ่งก่อน ให้เขาได้เติมเสริม ถ้าออกก็ช่วงน่าจะปลายปี แต่ก็คิดว่าอาจจะมีเป็นกิมมิค เพื่อนที่จะมาในงาน อาจจะมีของเพิ่มเติม อาจจะเป็นเล่มเล็กๆ หรืออาจจะเป็นพรีเมี่ยมอะไรก็แล้วแต่ให้กับคนที่มาซื้อเล่มปกแข็งที่ยังมีอยู่ในตัวงานสัปดาห์หนังสือที่จะถึง

ก็อยากจะฝากว่าเรไร เขียนทึกรายวัน ยังไงก็ตามอ่านกัน เพราะภาษา เพราะการอ่าน มันทำให้เกิดจินตนาการและการมีส่วนร่วมในประสบการณ์ที่คล้ายๆ กัน ฉะนั้นมองว่างานเขียนสามารถดึงคนที่มีอะไรคล้ายๆ กัน มาอยู่ด้วยกันได้ ในแต่ละโพสต์ บันทึกทุกบันทึกก็จะมีกลุ่มเฉพาะ อย่างเรื่องพี่น้ำหวาน สัตว์แพทย์ที่มาฉีดยาให้น้องหมา เขาก็จะดึงคนที่รักสัตว์ ชอบสุนัข มาแสดงให้ความคิด ความเห็น พูดคุย แลกเปลี่ยนกันและกัน

• เรไร รายวัน จะทำให้วันใหม่สดใสขึ้นมาก็ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

คุณแม่ : (ยิ้ม) ใช่ หรืออาจจะเศร้าบางคน เพราะมันเปิดให้ตีความ เปิดให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเกียง เกิดการแสดงความคิดเห็น เรื่องของเขาเป็นเรื่องสด ทุกวัน เรายังไม่รู้เลยว่าวันนี้เขาจะเขียนอะไร คาดเดาไม่ได้ ว่าเขาจะเขียนเรื่องอะไร ฉะนั้น 365 วัน เขียนเรื่องไม่ซ้ำ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรา แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราบางทีบางคน มันก็มีอะไรที่มันซ้ำๆ ชีวิตน้องก็เหมือนกัน แต่เขาสมารถที่จะพลิกมุมหรือมองอะไร หรือเอาอะไรมาใส่แล้วมันไม่ซ้ำได้

ถ้าทุกคนทำแบบนี้ได้ คนที่รู้สึกเบื่อหน่ายในชีวิต ทำไมชีวิตฉันมันเป็นอย่างนี้ น่าเบื่อ ท้อแท้อย่างนั้น ลองดูว่าเด็ก 7 ขวบ ยังหาอะไรมาทำได้ใหม่ได้ทุกวัน และมีกำลังใจในชีวิตได้ทุกวัน



น้องเรไร กับแม่และพ่อ
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และเฟซบุ๊ก /เรไรรายวัน
ขอบคุณสถานที่ : ร้านหนังสือสุนทรภู่ อ.แกลง จ.ระยอง /ร้านหนังสือสุนทรภู่

กำลังโหลดความคิดเห็น