“ปิยสวัสดิ์” ทำหนังสือถึง “ทีดีอาร์ไอ” ให้ยกเลิกจัดเสวนาเรื่อง “การฟ้องหมิ่นประมาท จุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 มิ.ย. นี้ หลังมีการเชิญ “รสนา” ร่วมวงด้วย โวยเชิญคนไม่เหมาะสม ทำให้งานครั้งนี้ไม่เป็นกลาง นำความเสื่อมเสียมาสู่ “ทีดีอาร์ไอ”
วานนี้ (14 มิ.ย.) ทางเว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน (energynewscenter.com)ได้เปิดเผยว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ได้ทำหนังสือลงวันที่ 14 มิ.ย. 2559 ถึง นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เพื่อคัดค้านการจัดเสวนา เรื่องการฟ้องหมิ่นประมาท จุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ที่ทางทีดีอารืไอ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะจัดขึ้นในวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ช่วงเวลาตั้งแต่ 9.00 - 12.30 น. ที่ห้องซาลอน A โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด ถนนรัชดาฯ
โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ทางผู้จัดได้มีการเชิญวิทยากรบางคนที่มีคดีข้อพิพาท หรือเป็นผู้แทนของกลุ่มที่มีคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นด้วยการเผยแพร่ข้อความที่กระทบผู้อื่น และอ้างว่า เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรม
โดยเห็นว่า หากทางผู้จัดมีความประสงค์ในการหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว และผลประโยชน์ส่วนรวมในกฏหมายหมิ่นประมาทอย่างแท้จริง ก็ควรที่จะเชิญบุคคลสาธารณะที่ถูกละเมิดสิทธิ์ หรือตัวแทนนักกฏหมายของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ ที่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม จนต้องของใช้สิทธิ์ในกระบวนการทางศาล ขึ้นร่วมอภิปรายในฐานะวิทยากรด้วย ทั้งนี้ การเลือกเชิญเฉพาะกลุ่มบุคคลที่คิดว่ากำลังทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม แต่มีแนวปฏิบัติในทางใส่ร้ายป้ายสีบุคคลที่เป็นปรปักษ์ให้เสื่อมเสียด้วยข้อมูลที่โคมลอย จนทำให้ผู้ที่มีความรู้จริงไม่กล้าแสดงความเห็นนั้น จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด และเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศโดยส่วนรวม
โดยในตอนท้ายของหนังสือ นายปิยสวัสดิ์ ได้เสนอให้ทางผู้จัดงาน ยกเลิกการเสวนาในครั้งนี้ เนื่องจากมีรูปแบบที่ไม่เป็นกลาง และจะนำความเสื่อมเสียมาถึงทีดีอาร์ไอ แต่ถ้ายังยืนยันที่จะจัดเสวนา ก็ต้องเชิญบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการพาดพิงด้วยการเผยแพร่ข้อความด้วยวิธีการใด ๆ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้ในจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
สำหรับ หัวข้อการฟ้องหมิ่นประมาท จุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอยู่ในช่วงที่ 2 ของการเสวนา นั้น ทางผู้จัดได้มีการเลือกเชิญวิทยากรจำนวน 5 คนด้วยกัน ประกอบด้วย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช., นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา, นางสาวรสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย, นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายไพโรจน์ พลเพชร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยมี นายธิปไตร แสละวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ