xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-11 มิ.ย.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ธรรมกาย ไม่ให้แพทยสภาส่งหมอตรวจ “ธัมมชโย” แล้ว อ้างไม่มีประโยชน์ ด้านที่ประชุม 3 ฝ่ายยังไร้ข้อยุติ นัดใหม่ 14 มิ.ย. ทนายวัดปากน้ำ ยันธัมมชโยจะเข้ามอบตัว!
พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ และนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 เข้าแจ้งข้อหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น เพิ่มข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ที่เรือนจำกลางบางขวาง(10 มิ.ย.)
ความคืบหน้ากรณีศาลอนุมัติหมายจับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร้องขอ โดยดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการ 2 ทางควบคู่กัน ทางหนึ่งคือ รวบรวมข้อมูลเพื่อขอหมายค้นจากศาล เพื่อเข้าไปจับกุมพระธัมมชโยที่วัดในเวลาที่เหมาะสม โดยประสานขอกำลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้แล้ว และ 2.ประสานพระผู้ใหญ่ เพื่อให้ช่วยเจรจากับพระธัมมชโย เพื่อนำไปสู่การเข้ามอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหา โดยเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ได้มีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่างดีเอสไอ-พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่จะทำหน้าที่ประสานงานกับวัดพระธรรมกาย แต่การหารือไม่ได้ข้อสรุป และนัดหารือรอบสองในวันที่ 6 มิ.ย.

ปรากฏว่า การเจรจา 3 ฝ่ายเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอีก โดย พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเข้าหารือพร้อมคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เผยหลังประชุมว่า เนื่องจากความคิดเห็นบางอย่างยังไม่มีข้อสรุป จึงขอไม่เผยแพร่ และว่า ได้นัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย.เวลา 14.00 น. ที่วัดเขียนเขต

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก พ.ต.ท.สมบูรณ์ ว่า ยังมีข้อติดขัดเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นข้อเสนอและเงื่อนไขของทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างดีเอสไอและพระธัมมชโย จึงต้องหารือร่วมกันอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ในวันที่ 14 มิ.ย. ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ ยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมต่อรองในสิ่งที่ผิดกฎหมายไม่ได้ เพราะทุกอย่างมีหลักเกณฑ์

มีรายงานว่า ข้อเสนอบางอย่างที่ดีเอสไอไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของวัดพระธรรมกายได้ คือ ขอกำหนดตัวบุคคลที่เป็นพนักงานสอบสวนและการร้องขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนบางคนที่เคยทำคดีวัดพระธรรมกาย

ด้านนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักการสอบสวน เผยว่า ทนายความวัดพระธรรมกายได้ทำหนังสือร้องต่อคณะพนักงานสอบสวนในคดีพระธัมมชโย เพื่อขอให้เปลี่ยนตัวตนเอง และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ ซึ่งตนไม่มีปัญหา พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ยืนยันว่าในการทำหน้าที่ไม่มีสองมาตรฐาน

นายขจรศักดิ์ ยังเผยด้วยว่า ทางทนายวัดพระธรรมกายพยายามทำเหมือนขุดบ่อล่อให้เจ้าหน้าที่ทำผิดมาตรา 157 “ทางทนายความของพระธัมมชโย และทีมวัดพระธรรมกายพยายามที่จะวางประเด็นขุดบ่อล่อให้เจ้าพนักงานเกิดแผล ดังนั้น พนักงานสอบสวนต้องระมัดระวังทุกขั้นตอนไม่ให้เกิดเหตุทำผิดมาตรา 157” นายขจรศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่ผู้ต้องหาจะมอบตัวในวัดนั้น เจ้าพนักงานอาจมีความผิดอาญามาตรา 157 เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตนยืนยันว่าถ้าเป็นพนักงานสอบสวนคดีพระธัมมชโยก็จะไม่ยอมให้มีการทำผิดกฎหมาย เพราะพระธัมมชโยต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคดีอื่นที่ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับแล้วก็ต่อรองให้ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่บ้าน ที่พักอาศัย ที่เซฟเฮาส์ แล้วต้องได้ประกันตัวด้วย

ขณะที่ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพระธัมมชโย และเป็น 1 ในบุคคลที่ทางวัดพระธรรมกายขอเปลี่ยนตัว กล่าวว่า เป็นสิทธิของวัดพระธรรมกาย ส่วนจะมีการเปลี่ยนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาของตน พร้อมยืนยันว่า การทำงานของดีเอสไอและพนักงานสอบสวน ทำทุกอย่างตามขั้นตอนและกรอบของกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ และว่า ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้อะลุ่มอล่วยให้พระธัมมชโยตามกฎหมายแล้ว อย่าประวิงเวลาเลย “เราก็อะลุ่มอล่วยตามกฎหมายแล้ว จึงอย่าประวิงเวลาเลย และอยากให้ท่านเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะยิ่งประวิงเวลา ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ อีกทั้งขั้นตอนการดำเนินคดีขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น ยังมีทั้งชั้นอัยการ และศาล ดังนั้นจึงอยากให้ท่านมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว”

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนจากทางวัดพระธรรมกาย และว่า ดีเอสไอไม่เคยมีแนวคิดจะเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนโดยไม่มีเหตุผล

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่แพทย์ที่รักษาพระธัมมชโย ยื่นหนังสือขอให้แพทยสภาส่งแพทย์เข้าไปตรวจพระธัมมชโย เพื่อยืนยันว่าอาพาธจริงหรือไม่ ซึ่งแพทยสภาพร้อมส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน 5 สาขา เข้าไปตรวจพระธัมมชโย เพื่อความกระจ่างต่อสังคม แต่ขอให้พระธัมมชโยมีหนังสือยินยอมให้ตรวจและพร้อมให้เผยผลตรวจต่อสาธารณชน ปรากฏว่า ในที่สุด ทางวัดพระธรรมกายก็ไม่ยอมให้แพทยสภาส่งแพทย์เข้าไปตรวจพระธัมมชโย โดยอ้างเหตุว่า เนื่องจากศาลได้ออกหมายจับพระธัมมชโยแล้ว ถึงตรวจไปก็ไม่เกิดประโยชน์ และไม่มีผลต่อรูปคดี อย่างไรก็ตาม ทางแพทยสภาจะเดินหน้าตรวจสอบเรื่องใบรับรองแพทย์ที่รับรองอาการอาพาธของพระธัมมชโยต่อไปว่าเป็นใบรับรองแพทย์จริงหรือเท็จ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะผู้ประสานงานกับวัดพระธรรมกาย แย้มว่า ในการหารือ 3 ฝ่ายวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะได้ข้อสรุปทุกอย่าง คาดว่าจะจบแบบแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย ถ้าเรื่องไม่จบในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะเกิดปัญหา แล้วกลับไปเหมือนปี 2553 อีก “ที่ผ่านมา ดีเอสไอก็ลดราวาศอกให้วัดธรรมกายทุกอย่าง ต้องต่อสู้กันภายใต้กฎหมาย ไม่เช่นนั้นดีเอสไอก็จะทำงานลำบาก วันที่ 14 จะจบลงด้วยการเจรจาให้พระธัมมชโยมามอบตัวกับดีเอสไอ เพราะถ้าพระธัมมชโยไม่มามอบตัว เรื่องนี้จะไม่จบ ผมยืนยันว่า พระธัมมชโยต้องเข้ามอบตัวกับดีเอสไอแน่นอน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะให้ไปมอบตัวที่ไหน เพราะมติที่ประชุมไม่อนุญาตให้เปิดเผยในตอนนี้ รอดูวันที่ 14 มิ.ย.”

2.ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “ชูชีพ หาญสวัสดิ์-วิทยา เทียนทอง” 6 ปี คดีฮั้วประมูลซื้อปุ๋ยอินทรีย์ 367 ล้าน ยุครัฐบาล “ทักษิณ” !

(ซ้าย) นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีต รมว.กษตรฯ  และอดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย (ขวา) นายวิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ และอดีต ส.ส.สระแก้ว พรรคไทยรักไทย
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อายุ 72 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายวิทยา เทียนทอง อายุ 75 ปี อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส.สระแก้ว พรรคไทยรักไทย เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 17 กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 367 ล้านบาท

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 ว่า ระหว่างวันที่ 17 ก.พ. 2544 - 20 ก.ย. 2545 นายชูชีพ จำเลยที่ 1 รมว.เกษตรฯ ในขณะนั้น และนายวิทยา จำเลยที่ 2 เลขานุการ รมว.เกษตรฯ ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีเสนอให้มีการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอโครงการจัดซื้อปุ๋ย ได้กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกระทำการส่อไปในทางทุจริต ในการร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย(ชสท.) เป็นผู้ประมูลได้เพียงรายเดียว โดย ป.ป.ช.เคยมีหนังสือท้วงติงจำเลยที่ 1 ถึงการกระทำดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ตรวจสอบ และยังดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกท้ายโครงการดังกล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า ป.ป.ช.รับทราบเรียบร้อยแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1-2 ได้รับหนังสือทักท้วงจากหลายหน่วยงาน แต่กลับมีเจตนาประวิงเวลา ไม่ตรวจสอบ และภายหลังการทำสัญญา ชสท.นำปุ๋ยที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และไม่ได้มาตรฐานไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ชี้มูลความผิดนักการเมืองทั้ง 2 ราย และยังชี้มูลความผิดวินัยและอาญาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ บริษัทเอกชน และผู้บริหาร ชสท.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูลด้วย ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตรดังกล่าวใช้งบประมาณ 367 ล้านบาท ปริมาณปุ๋ย 1.31 แสนตัน เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 2545 แต่ปรากฏว่ามีการฮั้วประมูลและนำปุ๋ยปลอมมาผสมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า จำเลยทั้งสองได้เดินทางมาศาลฎีกาฯ พร้อมญาติและผู้ติดตามส่วนหนึ่งที่มาให้กำลังใจ โดยทั้งสองไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด ขณะที่องค์คณะผู้พิพากษาได้ประชุมหารือกันนานกว่า 5 ชั่วโมง ระหว่างนั้น นายวิทยามีอาการปวดหัว ความดันกำเริบ ต้องวัดความดันถึง 2 ครั้ง ซึ่งความดันสูงเกือบ 200 มิลลิเมตรปรอท

ต่อมา องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-2 เร่งรีบในการพิจารณารับราคาในการประกวดราคาจัดซื้อปุ๋ย และไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อพิรุธในการจัดซื้อปุ๋ยที่น่าจะทราบมาตั้งแต่ต้น ทั้งที่น่าจะมีข้อมูลว่าการประกวดราคามีข้อพิรุธหลายรายการ ทั้งเรื่องการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาและการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติที่ระบุว่าจะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อีกทั้งการจัดซื้อเป็นลักษณะรวมความช่วยเหลือจากอุทกภัย ภัยแล้ง และภัยจากพายุดีเปรสชั่น เป็นการรวมจัดซื้อในคราวเดียว ทำให้ต้องมีการจัดซื้อเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่รัฐบาลขณะนั้นยังไม่มีการเสนอโครงการว่าจะมีการช่วยเหลือโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่กระทรวงเกษตรกลับอนุมัติให้จัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะรัฐมนตรีต้องมีความใส่ใจในการตรวจสอบกรณีดังกล่าวที่มีข้อมูลว่าน่าจะทุจริต และเมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.อุดรธานีได้อภิปรายถึงจำเลยที่ 1 โดยขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจโครงการจัดซื้อปุ๋ยที่มีข้อสังเกตหลายประการว่าส่อไปในทางทุจริต แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ไม่สั่งการให้ตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 นับเป็นข้อพิรุธ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามอบหมายให้ที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก และเมื่อมีหนังสือเสนอให้จำเลยระงับโครงการไว้ก่อน แต่จำเลยกลับเร่งรัดอนุมัติการรับราคากระทั่งมีการเซ็นสัญญา

องค์คณะเสียงข้างมาก มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานสนับสนุน ตาม พ.ร.บ.เดียวกัน ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 157 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี

หลังฟังคำพิพากษา นายชูชีพ มีสีหน้าตกใจจนต้องใช้ยาดมบรรเทาอาการ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะคุมตัวทั้งสองขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้รับการเปิดเผยจากนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ว่า หลังจากทางเรือนจำได้ให้แพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้าไปตรวจร่างกายผู้ต้องขังทั้งสองแล้ว พบว่า มีโรคประจำตัวมาก เนื่องจากมีอายุมากแล้ว โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง แพทย์จึงเห็นว่า ให้ย้ายผู้ต้องขังทั้ง 2 ราย ไปรักษาอาการที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่า ต้องให้อยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลกี่วัน จึงจะนำตัวกลับไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

3.ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก “จตุพร” 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีกล่าวหา “อภิสิทธิ์” เป็นอาชญากรสั่งฆ่าประชาชน!

(ซ้าย) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. (ฃวา) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรค ปชป.
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 11 ต.ค.52 จำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน โดยกล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ โจทก์ ทำนองว่า ประวิงเวลาในการทำความเห็นเพื่อเสนอสำนักราชเลขาธิการ พิจารณาผู้ที่ร่วมลงรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 17 ต.ค.52 จำเลยยังได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช.ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กล่าวหานายอภิสิทธิ์ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำนองว่าเป็นอาชญากรและฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน โดยได้มีการเผยแพร่คำปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์พีเพิล แชลแนล โดยในชั้นพิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค.58 ให้จำคุกนายจตุพร ตามมาตรา 328 รวม 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เห็นว่า นอกจากเป็นการกระทำให้โจทก์เสียหายแล้ว ยังกระทบต่อสถาบันฯ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน กรณีจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ โดยให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อด้วย ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ และมติชน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีที่ได้กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์อีกคดีหนึ่งด้วย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 5 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า คำปราศรัยที่จำเลยกล่าวว่า "อาชญากรสั่งฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็น...." นั้น คำปราศรัยของจำเลยดังกล่าว เป็นการยืนยันว่า โจทก์เป็นอาชญากรสั่งฆ่าประชาชน จึงไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการกล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้ถูกดูหมิ่น เสื่อมเสียชื่อเสียง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างเป็นนักการเมืองด้วยกัน จึงสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและเป็นการติชมเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น เจริญขึ้น และเกิดความสงบเรียบร้อย แต่การกระทำของจำเลยไม่ใช่การติชมเพื่อให้บ้านเมืองเจริญขึ้น จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

หลังฟังคำพิพากษา นายจตุพร ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยศาลพิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์มีพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งตนยังติดใจส่วนที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยเรื่องคุณงามความดีของจำเลยเพื่อพิจารณาประกอบการรอการลงโทษ โดยจะยื่นฎีกาประเด็นนี้ด้วย

4.ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ “นิพัทธ พุกกะณะสุต” ชดใช้ค่าเสียหายแก่แบงก์ออมสินกว่า 534 ล้าน กรณีอนุมัติซื้อหุ้นแบงก์บีบีซีมิชอบ!

นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์และอดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งเคยเป็นประธานบอร์ด ธ.ออมสิน
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ธนาคารออมสินเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์และอดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นจำเลย กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารออมสินในเดือน มิ.ย. 2538 ได้เร่งรัดอนุมัติเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี จำนวน 375 ล้านบาท โดยไม่ผ่านมติคณะกรรมการธนาคารออมสิน ภายหลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งระงับไม่ให้บีบีซีประกอบธุรกิจต่อไป ทำให้ธนาคารออมสินได้รับความเสียหาย จึงขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 534,657,5347.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 375 ล้านบาท นับจากวันถัดฟ้องเป็นต้นไป

คดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้นายนิพัทธ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารออมสินจำนวน 534,657,5347.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 375 ล้านบาท นับแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมานายนิพัทธ ได้ยื่นฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2538 หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสินแล้ว จำเลยได้เสนอเรื่องธนาคารบีบีซี เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนกับธนาคารออมสินจำนวน 25 ล้านหุ้นๆ ละ 15 บาท รวมเป็นเงิน 375 ล้านบาท ให้ที่ประชุมทราบ โดยไม่อยู่ในวาระการประชุม ต่อมา วันที่ 30 มิ.ย. 2538 จำเลยอนุมัติให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามคำเสนอของธนาคารบีบีซีดังกล่าว และวันที่ 4 ก.ค. 2538 ธนาคารออมสิน ชำระเงิน 375 ล้านบาท ให้ธนาคารบีบีซี ต่อมาวันที่ 14 ก.ย. 2541 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ยุติกิจการของธนาคารบีบีซี

ศาลเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสินฯ พ.ศ. 2489 กำหนดให้ธนาคารออมสินประกอบธุรกิจได้ในขอบเขตจำกัด การลงทุนนอกเหนือจากที่กำหนด ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การที่ธนาคารออมสินจะลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารบีบีซี จึงต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การที่นายนิพัทธ จำเลยแถลงในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2538 โดยไม่มีวาระการประชุมเรื่องดังกล่าวมาก่อนว่าสมควรซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารบีบีซี พร้อมบอกว่า เมื่อดำเนินการแล้วจะนำเสนอคณะกรรมการให้สัตยาบันต่อไป จึงบ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาให้ธนาคารออมสินต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนมาแต่ต้น โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการ แต่จะดำเนินการขอสัตยาบันในภายหลัง และได้สั่งการให้นายวิบูลย์ อังสนันท์ ผอ.ธนาคารออมสิน พิจารณาตามที่จำเลยแจ้งในที่ประชุม ทั้งที่คณะกรรมการไม่เคยมีมติในเรื่องซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารบีบีซีแต่อย่างใด จึงเป็นการจงใจสรุปผลมติการประชุมให้คลาดเคลื่อนเพื่อผลสำเร็จในการซื้อหุ้นดังกล่าว

ต่อมา นายวิบูลย์ได้มีบันทึกเสนอว่าสมควรซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารบีบีซี โดยอ้างว่ากระทรวงการคลังเคยอนุมัติในหลักการให้ธนาคารออมสินสามารถนำเงินไปลงทุนสถาบันการเงินได้ และจำเลยได้สั่งการอนุมัติในวันเดียวทันที โดยไม่ตรวจสอบว่า ธนาคารออมสินมีอำนาจลงทุนตามที่รายงานหรือไม่ จำเลยยังชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมด้วยว่า ได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรื่องนี้แล้ว ซึ่งนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น ปฏิเสธไม่เคยหารือกับจำเลยมาก่อน จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการธนาคารออมสิน เพื่อโน้มน้าวให้มีการให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลย นอกจากนี้ ในช่วงเกิดเหตุ จำเลยย่อมทราบข่าวจากสื่อต่างๆ ที่รายงานสถานการณ์ของธนาคารบีบีซีว่าอยู่ในขั้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมียอดหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง 12,000 ล้านบาท การที่นายนิพัทธ จำเลยอนุมัติเงินถึง 375 ล้านบาทซื้อหุ้นของธนาคารบีบีซี เงินส่วนหนึ่งย่อมมาจากเงินฝากของประชาชน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเลยและรีบเร่งอนุมัติโดยไม่ผ่านคณะกรรมการ ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามกฎหมาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อธนาคารออมสิน แม้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีความเห็นว่า นายนิพัทธ เพียงประมาทเลินเล่อ แต่ไม่ใช่อย่างร้ายแรง แต่ความเห็นคณะกรรมการฯ ไม่ผูกพันการวินิจฉัยของศาล เมื่อภายหลังธนาคารบีบีซีถูกลดค่าหุ้นลงเหลือหุ้นละ 0.50 บาท และถูกปิดกิจการในที่สุด ธนาคารออมสินต้องได้รับความเสียหายจากหุ้นที่โจทก์ซื้อถูกลดค่าลงและธนาคารบีบีซีเจ้าของหุ้นถูกปิดกิจการ ทำให้ธนาคารออมสินสูญเสียเงิน 375 ล้านบาทที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนายนิพัทธ จำเลย จึงต้องรับผิดชอบชดใช้เงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน

5.ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง บ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านไม่เสียภาษี ส่วนที่รกร้าง เสียภาษีแบบขั้นบันได 1-3% !


เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป และว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างกฎหมายที่เสนอนี้ไม่ใช่การเก็บภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับอัตราภาษีนั้น กำหนดเพดานสำหรับที่ดิน 4 ประเภท คือ 1.เกษตรกรรม เพดานจัดเก็บ 0.2% 2.บ้านพักอาศัย เพดาน 0.5% 3.พานิชยกรรม เพดาน 2% และ 4.ที่รกร้างว่างเปล่า เพดาน 5% แต่อัตราที่ใช้จัดเก็บจริง จะกำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ. โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้า เพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี คือ 1.เกษตรกรรม ตั้งแต่ 0-0.1% โดยยกเว้นสำหรับที่ดินเกษตรมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ที่ดินมูลค่ามากกว่า 50-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% ถ้าสูงกว่า 100 ล้านบาท เก็บ 0.1%

2.ที่พักอาศัย มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่พักอาศัยหลักหรือบ้านหลังแรก เก็บในส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท คือ มากกว่า 50-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% มากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 0.10% สำหรับที่พักอาศัยหลังอื่น แบ่งเป็น 7 ระดับ ตั้งแต่ 5 ล้านบาท-100 ล้านบาท เช่น สูงกว่า 5 ล้านบาท เก็บ 0.03% สูงกว่า 10-20 ล้านบาท เก็บ 0.10% สูงกว่า 50-100 ล้านบาท เก็บ 0.25% ฯลฯ

3.พาณิชยกรรม มีการจัดเก็บ 6 ระดับ เช่น สูงกว่า 20 ล้านบาท เก็บ 0.3% สูงกว่า 50-100 ล้านบาท เก็บ 0.5% สูงกว่า 1-3 พันล้านบาท เก็บ 1.2% สูงกว่า 3 พันล้านบาท เก็บ 1.5% และ 4.ที่รกร้างว่างเปล่า ในปีที่ 1-3 เก็บ 1% ปีที่ 4-6 เก็บ 2% และปีที่ 7 ขึ้นไป เก็บ 3%

นายอภิศักดิ์ ยืนยันด้วยว่า การเสียภาษีตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประชาชน 99.96% จะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และจะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยที่จะเกิน 50 ล้านบาทนั้น มีจำนวนเพียง 8,556 หลัง หรือ 0.04% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ นายอภิศักดิ์ เผยด้วยว่า กระทรวงการคลังจะพยายามผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ให้ทันภายในเดือนมกราคม 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น