xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่ทิ้งฝัน ฝันคงไม่ทิ้งเรา” จับเข่าคุยกับ “ปรีชา นาฬิกุล” นักเขียนเพลงมือใหม่ที่มาจากเด็กวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทำความรู้จักนักแต่งเพลงลูกทุ่งมือกลั่น ผู้ผ่านการฝึกฝนบ่มเพาะและชี้ทางมาจากปรมาจารย์ด้านการแต่งเพลงหลากหลายนาม รวมถึง “บอย เขมราฐ” ผู้แจ้งเกิดให้หญิงลี ศรีจุมพล ด้วยบทเพลงขอใจเธอแลกเบอร์โทร “ปรีชา นาฬิกุล” คือหนุ่มเมืองขอนแก่นผู้ฟาฝันมาโลดแล่นอยู่บนเส้นทางประพันธ์เพลง

แม้ชื่อเสียงเรียงนามจะยังคล้ายจอมยุทธ์หน้าใหม่ที่เพิ่งแนะนำตัวบนคีตภพ แต่จากประสบการณ์ตลอดจนผลงานที่ทำตลอดถึงความคิดความอ่าน ถือว่าน่าจับตาอยู่มาก สำหรับ “ปรีชา นาฬิกุล” ไม่แน่ว่า วันข้างหน้า เขาอาจจะมีเพลงฮิตติดหูให้เราได้ร้องอู้ฮูด้วยความทึ่งก็เป็นได้...

O “วัดบ้านนอก” ศูนย์บ่มเพาะวรยุทธ์ในวัยเยาว์

“ผมเป็นเด็กบ้านนอก มอมแมมคลุกฝุ่นตามประสาคนชนบททั่วไป เกิดที่บ้านฟ้าเหลื่อม ต.หนองเรือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น แต่ที่พิเศษกว่าคนอื่นคือเป็นเด็กวัด เนื่องจากพอบวชเรียนแล้วได้ฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของหลวงปู่ จึงมีความผูกพันกับหลวงปู่ ดูแลกันจนทุกวันนี้ จบมัธยมที่โรงเรียนหนองเรือวิทยา ระดับอุดมศึกษาจบที่สถาบันราชภัฎเลย (ขณะนั้น) สาขานิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์
"ความที่เราเป็นเด็กวัด หลวงปู่เน้นย้ำเสมอให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะผมต้องพาหลวงปู่ออกงานกิจนิมนต์ต่างๆ สะพายย่ามอุ้มบาตร ส่งหลวงปู่เข้าบริเวณงานทุกงาน ต้องรู้จักมีสัมมาคารวะต่อเจ้าภาพต่างๆ นั้นด้วย จึงเป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ การได้พาหลวงปู่ไปงานต่างๆ นี้เอง จะได้ฟังนิทานธรรมบทต่างๆ เรื่องเล่า ทั้งเรื่องจริง เรื่องนิทาน ฟังไปฟังมาก็สนุก บางเรื่องฟังในงานยังไม่หนำใจ ก็ขอให้ปู่เล่าให้ฟังระหว่างขับรถกลับ ยังไม่จุใจก็ไปค้นหนังสือมาอ่านอีก ก็เลยกลายเป็นคนรักการอ่านติดตัวมา

“ผมไม่รู้ว่าความฝันเรื่องการเขียนเพลงอุบัติขึ้นตั้งแต่เมื่อไร แต่ยอมรับว่าชอบฟังเพลงตั้งแต่เด็ก เพราะเราเป็นเด็กวัด เมื่อมีงานบุญต่างๆ มีกิจกรรมที่วัดจัดขึ้น ก็จะได้ยินเสียงเพลงเปิดประหนึ่งเป็นการขับกล่อมคนเตรียมงาน ญาติโยมเข้าวัดเตรียมสถานที่จัดงานบุญต่างๆ ก็จะมีการเปิดเพลงทั้งวัน ทั้งกลอนลำล่อง ทั้งเพลงลูกทุ่ง ทั้งเพลงหมอลำ ลำล่องลำยาวก็แนวพ่อครูทองคำ เพ็งดี พ่อครูเคน ดาเหลา แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน เป็นต้น ส่วนหมอลำก็ในแนวครูพรศักดิ์ ส่องแสง ครูเฉลิมพล มาลาคำ เพลงลูกทุ่งก็เป็นแนวครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ครูชาย เมืองสิงห์ เพลงยุคใหม่ก็ซึมลึกกับบทเพลงในแนวของพี่ไมค์ ภิรมย์พร พี่นาง-ศิริพร อำไพพงษ์ สองท่านนี้ทำให้ผมสนใจเรื่องการเขียนเพลงเป็นพิเศษ ผมประทับใจในถ้อยคำที่ร้อยเรียงเป็นบทเพลงจากผลงานของครูสลา คุณวุฒิ และครูเพลงท่านอื่นๆ

“ยุคที่เป็นเทปคาสเสตต์ ผมซื้อเพลงแต่ละม้วนมาฟัง ผมจะเปิดปกเทปดูชื่อคนทำงานแต่ละเพลง พร้อมทั้งหาสมุดเก่าๆ มาจดเนื้อเพลง หนักๆ เข้า สมุดจดชักเปลือง ผมก็ไปขอกระดาษที่ใช้หน้าเดียวมาจากโรงเรียน เอามาเขียนเนื้อเพลงไว้อ่านเล่นเพลินๆ เหตุผลเดียวที่อยากเขียนเนื้อเพลงคือ เนื้อเพลงที่มากับปกเทปนั้น อ่านไม่ถนัด จดออกมาอ่านจะได้สะใจ!! (เน้นเสียง และหัวเราะ)

O จากนักข่าว ก้าวสู่ถนนคนเขียนเพลง

“ผมได้ทำงานเป็นนักข่าว / นักประชาสัมพันธ์ (ปัจจุบันก็ยังทำอยู่) ด้วยใจรักในเสียงเพลงเป็นทุนเดิม ด้วยไฟฝันที่ปะทุขึ้นในใจแทบจะอะเลิร์ตอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผมตามหาคนเบื้องหลัง และได้รู้จักกับคนเบื้องหลังหลายท่านจนแนบสนิทนับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ เช่น อาจารย์คม ทัพแสง อาจารย์ไพรัตน์ ชูรัตน์ อาจารย์วีระเดช ไกรศรี อาจารย์บอย เขมราฐ และอีกหลายท่าน ผมถือโอกาสขอความรู้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะทราบว่าการเขียนเพลงไม่ใช่เรื่องเป็นกันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์อย่างเดียว แต่ต้องมีไฟแห่งการแสวงหาประกอบเข้ามาจึงจะก่อรูปเกิดร่างได้

“ผมบอกกับตัวเอง ปลอบใจตัวเองในวันที่ไฟฝันเข้าใกล้คำว่ามอดดับ ด้วยคำว่า “ไม่ทิ้งฝัน ฝันคงไม่ทิ้งเรา” ต้องมุ่งมั่นทำต่อไป อาจารย์ไพรัตน์ ชูรัตน์ สอนเสมอว่าถนนสายนี้ไม่มีทางลัด ถนนสายนี้มีตัวอย่างให้เห็นมามาก พร้อมอธิบายขยายความต่างๆ ให้ฟังมากมาย ขออนุญาตสรุปสิ่งที่อาจารย์ท่านยกตัวอย่างว่า “มุ่งมั่นไปเถอะ ทำไปเถอะ เขียนไปเถอะ แรกๆ เขียนร้อยเพลงอาจพอได้แค่หนึ่งเพลง แต่หากขยันเขียนขยันอ่านขยันศึกษา อาจจะทำให้สัดส่วนที่ได้มันขยับขึ้น จากเขียนร้อยได้มาสักสองเพลง สามเพลงก็ยังดี” ผมก็เอาแง่คิดตรงนี้มาปรับใช้ ก็ไม่คาดหวังอะไร แค่เพิ่มทักษะให้ตนเองมากขึ้นเท่านั้นเอง

O ฝึกปรือฝีมือ ในสื่อโซเชียล

“ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณเฟซบุ๊กที่ช่วยให้ผมได้พัฒนาทักษะมากขึ้น เขียนงานได้เร็วขึ้น ผมใช้วิธีเขียนงานในมือถือแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แรกๆ โพสต์อะไรลงเฟซบุ๊กก็แค่เขียนอะไรเรื่อยเปื่อยบ่นพึมพำ ฝนตกรถติดบ้างทั่วๆ ไป แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นจากการที่ผมได้โคจรมาเจออาจารย์อ๋อน “วีระเดช ไกรศรี” ผู้เขียนเพลงให้ศิริพร อำไพพงษ์ หลายเพลง ที่ผมประทับใจมากๆ คือเพลง “ทุ่งรักนาเรา” อาจารย์อ๋อน ชอบเปิดประเด็นถวิลหาอดีต โดยมีภาพประกอบและกลอนสั้นๆ โพสต์ลงไปในเฟซบุ๊ก ผมก็ตามคอมเมนต์แรกๆ ก็คอมเมนต์เปล่าๆ ภาษาแซวกันปกติ แต่อาจารย์อ๋อนทักมาในกล่องข้อความว่า พาเขียนกลอนก็คอมเมนต์เป็นกลอนบ้างก็ดีนะ จากนั้นมา ผมก็เริ่มโต้ตอบเป็นกลอน กลายเป็นที่ครื้นเครงของเพื่อนพ้องน้องพี่เรื่อยมา

“ผมรู้ภายหลังว่าสิ่งที่อาจารย์อ๋อนพาเล่นนั้น แท้จริงคือเรื่องของการช่วยเพิ่มทักษะ เพิ่มความไวในการคิดตอบโต้กันไปมา พอเขียนกลอนสั้นๆ เริ่มรื่นไหล ผมก็เริ่มโพสต์เป็นเนื้อเพลง แรกๆ ก็เขียนได้แค่ท่อนเดียว แต่หลังๆ เริ่มทำเวลาได้ดีขึ้น แรงจูงใจส่วนหนึ่งคงมาจากยอดไลค์ ยอดคอมเมนต์ทำให้เรามีแรงฮึดสู้ ระยะทางจากบ้านเข้ามาที่ทำงาน ใช้เวลาเดินทางราวสองชั่วโมง เวลาประมาณนี้เพื่อนร่วมทางหลายท่านก็อาศัยเป็นการพักผ่อน แต่ผมใช้ช่วงนี้เขียนงาน ขาเข้างาน ได้ 1 โพสต์ ขากลับบ้าน ได้ 1 โพสต์ โพสต์เรื่องทั่วๆ ไป สลับกับโพสต์เพลง”

O กลเม็ดเด็ดพราย

“เป็นคำถามที่จะว่าตอบง่ายก็ง่าย จะว่าตอบยากก็ยากนะครับ เข้าทำนอง “บางคำถามไม่ต้องการคำตอบ บางคำตอบไม่ต้องการคำถาม” เพลงก็เช่นกัน บางเพลงเขียนข้ามปี ขณะที่บางเพลงเขียนไม่กี่นาทีก็จบ ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลครับ ขึ้นอยู่กับการเคี่ยวประเด็นให้ข้น แล้วนำผลึกของประเด็นที่ตกตะกอนแล้วมาจับวางหาที่ทางให้ลงตัว จากนั้นก็สร้างให้เป็นงานในมิติที่หัวใจเราสัมผัสได้ ผมเขียนเพลงอาจไม่มีรูปแบบ แต่ก็ไม่ฉีกหนีจากรุ่นครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนผ่องถ่ายมา ที่ต้องเน้นเลยคือเรื่องฉันทลักษณ์ ต้องเรียนรู้โครงกลอน ผมถือว่าผมโชคดีที่ไม่รู้สึกเบื่อในการจดเนื้อเพลงออกมาอ่านเล่นตั้งแต่สมัยเรียน

“ส่วนโชคดีอีกอย่างคือผมเรียนมาทางด้านนิเทศศาสตร์ และได้ทำงานในสายข่าว ทำให้รู้จักการสื่อสารในรูปแบบ 5 W 1 H (Who, what, where, when, why, How : ใคร, อะไร, ที่ไหน, เมื่อไร, ทำไม, อย่างไร) การหัดพาดหัวข่าว หรือการตั้งชื่อเรื่อง ต้องกระชับรวบยอดเรื่องราว ครอบคลุมเนื้อหา เมื่อมาปรับใช้กับการเขียนเพลง การพาดหัวข่าว ก็คือชื่อเพลงนั่นเอง เพลงที่ผมเขียนจึงค่อนข้างเข้าใกล้คำว่าใช่ เมื่อได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

“ผมมองย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของตัวเอง กว่าจะมาเป็นเพลงได้ ผมสรุปออกมาเป็นคีย์ คอนเซ็ปต์ ได้ 3 คำ คือ “สั่งสม ซึมซับ สื่อสาร” ขยายความได้ว่า “สั่งสม” คือสั่งสมประสบการณ์จากการอ่าน จากการฟัง จากการสังเกต เมื่อทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย กลายเป็นธรรมชาติของตัวเอง เมื่อผ่านกระบวนการสั่งสมมาสักระยะหนึ่ง จะเกิดกระบวนการ “ซึมซับ” โดยไม่รู้ตัว นำมาสู่การ “สื่อสาร” ทั้งในรูปแบบของบทเพลง ทั้งในรูปแบบเรื่องเล่า บทความต่างๆ ที่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก

O ในลำนำทำนองของคนเขียนเพลง

“ต้องออกตัวก่อนนะครับ เพราะไม่รู้จะเป็นการนับว่าเพลงแรกได้ไหม เอาเป็นว่าเป็นงานพิเศษ เป็นเพลงพิเศษ และเพื่อคนพิเศษ เป็นคนขับร้องและทำดนตรีให้ แม้ว่าวันนี้เขาจะโด่งดังระดับประเทศ แต่เขายังเป็นคนคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ชื่อเพลงว่า “ลงเอยด้วยเธอ” ผมเขียนเนื้อร้องขึ้นมาเพื่อมอบให้แฟนในวันแต่งงาน แต่ตัวผมไม่เป็นดนตรีเลยสักชิ้น ร้องเพลงก็คงไม่ไหว (แค่พูดได้ก็บุญแล้ว คำนี้อาจารย์ไพรัตน์ ชูรัตน์ ชอบแซว!!) ส่วนคนร้องคือ อาจารย์บอย เขมราฐ ทั้งร้องทั้งทำดนตรี และยังช่วยขัดเกลาเนื้อเพลงให้มีความรักความอบอุ่นมากขึ้น อาจารย์บอยที่พูดถึงคือคนคนเดียวกันกับที่เขียนเพลง “ขอใจเธอแลกเบอร์โทร” ให้กับ “หญิงลี ศรีจุมพล” เพลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2554 ถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก ต้องขอขอบคุณอาจารย์บอย ไว้ ณ ที่นี้เลยครับ

“หลังจากเพลงแรก ก็ห่างมาหลายปี จนเมื่อต้นปี 2558 มีเพลงที่ผมเขียนและได้รับการถ่ายทอดโดยเพื่อนเรียนร่วมชั้นราชภัฎเลย ชื่อเพลงว่า “กอดลมห่มเหงา” ถ่ายทอดโดย “หงอคง จักรพรรดิ์” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ชัย จักรพรรดิ์”) เป็นเพลงรักโรแมนติกเคล้าสายลมหนาว แรงบันดาลใจก็มาจากความคิดถึงบรรยากาศหน้าหนาวสมัยเป็นนักศึกษา ลมหนาว ก่อกองไฟ ทำข้าวจี่ ถือเป็นพัฒนาการก้าวเล็กๆ ที่เติมเชื้อไฟความฝันไม่ให้ริบหรี่ลงไปมากกว่านี้ ระหว่างเพลงนี้ออกมา ผมตื่นเต้นแทบไม่เป็นอันกินอันนอน เริ่มเขียนโพสต์ประวัติเพื่อนรักนักร้องลงเฟซ เป็นตอนๆ ก็มีคนติดตามอ่านประมาณหนึ่ง จุดนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้เกิดผลงานเพลงถัดๆ มา

ส่วนเพลงลำดับถัดมา ราวกลางปี 2558 เขียนให้นักร้องหมอลำสาวจากจังหวัดมุกดาหาร “รินดา ประกอบบุญ” ชื่อเพลงว่า “สะใภ้หล่าแม่ย่าปล่อย” เพลงนี้ได้รับอิทธิพลจากเพลง “กราบลาแม่ย่าปล่อย” ของ “ศิริพร อำไพพงษ์” ที่ครูสลา คุณวุฒิ เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน

ภาพในเพลงเกิดขึ้นจากที่ได้เห็นภาพจริงในชนบท ที่เริ่มมีการซื้อหาแพมเพิร์สผู้ใหญ่ ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ใช้กันแล้ว บางบ้านพอถึงสิ้นเดือนก็ได้รับกล่องพัสดุใบใหญ่ สืบทราบมาว่าลูกๆ ของบ้านหลังนั้น ส่งแพมเพิร์สผู้ใหญ่มาให้ใช้ จึงกลายมาเป็นข้อความประโยคหนึ่งในเพลงว่า “ส่งแต่แพมเพิร์สผู้ใหญ่ ห่อใจบ่อุ่น” มันคืออารมณ์ความคิดถึงความโหยหาลูกๆ ที่อยู่ห่างบ้านห่างพ่อห่างแม่ แม้จะมีสิ่งของเงินทองมากมายส่งมาให้ แต่ไม่สุขใจเท่ากับการได้เห็นหน้า จากนั้นก็ใส่มิติของอารมณ์ ความรัก ความห่วงใย ความน้อยใจนิดๆ ก็เลยกลายมาเป็นเพลง

ปลายปี 2558 คาบเกี่ยวต้นปี 2559 เขียนเพลง “แค่เหงา” ให้กับ “มดแดง จิราพร ท็อปไลน์” ผมถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์บนโลกออนไลน์มาก เพราะผมเขียนเนื้อเพลงโพสต์ลงเฟซตามปกติ แต่ได้รับการติดต่อกลับจากผู้จัดการส่วนตัวของมดแดงว่ากำลังมองหาเพลงที่ฉีกแนวเดิมๆ ที่มดแดงเคยทำไว้ และทำได้อย่างดีมากๆ เพราะมดแดงเป็นนักร้องแนวเพลงอีสาน ม่วนสุดเหวี่ยงมันส์โสตาย แถมมดแดงยังเป็นนักร้องที่มีชื่อติดชาร์ตด้วย หลังได้รับการดิตต่อกลับว่าของานเพลงนี้ไปทำ ผมก็แทบช็อกเพื่อตั้งสติว่าเราฝันไปไหม ก็ลองเอาหัวตัวเองโขกข้างฝา (แต่ไม่แรงมาก) รู้สึกเจ็บจริงๆ แสดงว่าไม่ได้ฝัน จึงพูดคุยเพื่อจูนความเข้าใจกันเพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพลงนี้ตอนแรก ผมใช้ชื่อเพลงว่า “เหงาทระนง” มีคอนเซ็ปต์ว่า แม้อยู่คนเดียวก็อยู่ได้ ไม่ฟูมฟายไม่น้อยใจ เข้าทำนองผู้หญิงแกร่งไม่ง้อใคร ผู้จัดการของมดแดง เลยขอให้ปรับภาษาเพื่อให้ลงตัวเหมาะสมกับนักร้อง เพราะคำว่าทระนง ถ้ามดแดงสื่อสารออกมา อาจจะดูนักเลงไป แข็งกร้าวไป

“ล่าสุดผมได้ร่วมงานกับ “ครูประสบ คนไทเลย” สำหรับผมแล้วผมถือว่าการร่วมงานครั้งนี้ยิ่งใหญ่ในความทรงจำของผมมาก เพราะเมื่อครั้งผมเป็นนักศึกษา ผมขับมอเตอร์ไซค์ฝ่าสายหมอกไปกลับเกือบ 100 กิโลฯ เพื่อไปขอทำความรู้จัก และขอความรู้เรื่องการเขียนเพลง ครูประสบ คือไอดอลของผม คือครูคนแรกที่ให้คำแนะนำด้านการเขียนเพลงแก่ผม ตั้งแต่ครั้งผมยังเป็นนักศึกษาที่ราชภัฎเลย

“ผมเขียนเพลงให้ครูประสบ 2 เพลง คือ “ปู่คูณ” และ “เจ็บ” โดยผมได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่เพลงเจ็บเป็นเพลงนำของอัลบัม มันคือความรู้สึกที่ยากจะบรรยายจริงๆ ครับ เพลงเจ็บคือเพลงที่แทนคำพูด แทนความรู้สึกของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่สุดจะบอบช้ำแทบตัดสินใจลาโลก แต่ต้องแข็งแกร่งยืนหยัดสู้เพื่อคนข้างหลัง นั่นคือลูกอันเป็นเสมือนมรดกของลมหายใจ เป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่มีอยู่ เรียกว่าเพลงเจ็บคือชีวิต ชีวิตก็คือเพลง มันคือเนื้อเดียวกันกับลมหายใจ ทั้งสองเพลง อาจารย์บุรินทร์ มาศงามเมือง เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี และอาจารย์ไพรัตน์ ชูรัตน์ เป็นโปรดิวเซอร์ดูแลอย่างใกล้ชิด

“ส่วนที่มาที่ไปของเพลง “ปู่คูณ” เพลงนี้มีที่มา ผมเขียนเพลงนี้ในช่วงเย็นวันที่ 16 พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นวันละสังขารของหลวงปู่คูณ ปู่คูณจากพวกเราไปในเช้าวันนั้น ทีวีทุกช่อง สำนักข่าวออนไลน์ทุกแห่ง ต่างพร้อมใจกันนำเสนอข่าว ในทุกมิติเพื่อเป็นการไว้อาลัย ในช่วงบ่ายของวันนั้น สื่อมวลชนเริ่มมีการนำพินัยกรรมที่ปู่คูณทำไว้ ออกมาเผยแพร่ ท่ามกลางกระแสข่าวบางสาย ระบุว่าจะมีการนำสรีระสังขารปู่คูณ กลับวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งหากเป็นไปตามกระแสข่าวนี้ ย่อมเป็นการดำเนินการที่ผิดไปจากพินัยกรรม เนื่องจากข้อความในพินัยกรรมเขียนไว้ชัดเจนว่าภายใน 24 ชั่วโมงหลังละสังขาร ให้นำสังขารของท่านส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ทำการศึกษา

“ช่วงบ่ายของวันนั้น มีการประชุมสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร จะเป็นไปตามกระแสข่าวดังกล่าวหรือไม่นั้น ยังออกได้ทั้งสองทาง คือกลับวัดบ้านไร และไปที่ มข. ข่าวเชิงลึกจากที่ประชุมวงในระบุชัดว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดโคราช ทุบโต๊ะเปรี้ยง ว่าต้องปฏิบัติตามพินัยกรรม ในช่วงเย็นประมาณสองทุ่มจึงมีการเคลื่อนสรีระสังขารปู่คูณ ออกจาก รพ.ที่โคราช มายัง มข. ผมนั่งดูถ่ายทอดสดหน้าจอทีวี และประมวลเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดทั้งวัน ยกมือสาธุการท่วมหัว เพื่อส่งกระแสจิตน้อมส่งปู่คูณไปสู่สวรรค์ จากนั้นก็หยิบกระดาษปากกาขึ้นมาเขียนเพลง แทบไม่น่าเชื่อว่าข้อความต่างๆ ที่กลายมาเป็นเพลงหลั่งไหลออกมาราวน้ำหลากจนกลายมาเป็นบทเพลงออกมาในวันนี้ เพลงที่เขียนไว้เป็นขวบปี ได้รับการประสานขอไปทำหลายครั้ง แต่ก็ไปไม่สุดทาง อาจเกิดการคัดกรองโดยสายบุญที่ได้ร่วมกระทำกันมา อาจเนื่องด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถอธิบาย วันนี้ผลงานเพลงปู่คูณ ที่ผมเขียนได้ถูกถ่ายทอดโดยครูประสบ คนไทเลย ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชาวครูจากจังหวัดเลย

“บทเพลงนี้เป็นเหมือนสะพานบุญที่เชื่อมให้ผมได้รู้จักและฝากตัวเป็นศิษย์กับนักเรียบเรียงเสียงประสานระดับประเทศ อาจารย์ตุ๊ก บุรินทร์ มาศงามเมือง ซึ่งท่านได้เมตตาจัดเต็มในภาคดนตรี ดูแลอย่างใกล้ชิดจนผลงานออกมาอย่างที่ท่านได้ฟังในขณะนี้”

O เส้นทางสายนี้ยังอีกยาว

“ณ วันนี้ บนถนนสายฝัน ผมถือว่าผมมาไกลมาก เป้าหมายแรกตั้งแต่ความฝันมันยังเป็นวุ้นคือแค่อยากให้มีเพลงที่ตัวเองเขียน ลอยอยู่บนอากาศ มีคนได้ยินเพลง มีคนถามถึงคนร้องเพลง คนเขียนเพลง แค่นี้ก็สุขใจแล้ว แต่มาถึงจุดนี้ แม้จะบอกตัวเองว่ามาไกลมาก แต่ถนนสายนี้ยังอีกยาว จึงบอกกับตัวเองว่า ต้องมุ่งมั่นสร้างงานดี ตอบแทนบุญคุณของผู้ให้โอกาส หากไม่ได้รับโอกาสที่ดีคงไม่มีคนเขียนเพลงชื่อ ปรีชา นาฬิกุล เกิดขึ้นบนสารบบแห่งเสียงเพลง ฝากทุกท่านให้การต้อนรับทุกผลงาน ทุกๆ ศิลปินที่ผมสร้างสรรค์งาน”

เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม
ภาพ : ปรีชา นาฬิกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น