กลางดึกของคืนวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๙ ได้เกิดเหตุปล้นขึ้นที่บ้านของ นางเซียมเง็ก แซ่โซว เลขที่ ๔ หมู่ ๕ บางแค อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี โจรได้ยิงปืน ๕ นัดเบิกฤกษ์โจรก่อนเข้าปล้น แล้วรัว ๕ นัดดับนางเซียมเง็กเจ้าทรัพย์ พลทหารประสาร กลิ่นบัว แห่งกรมทหารราบที่ ๑๑ ซึ่งนางเซียมเง็กชวนมานอนเป็นเพื่อน เปิดมุ้งออกมาก็เลยถูกยิงดับคามุ้ง ส่วนนายประดิษฐ์ กลิ่นบัว น้องชายของพลทหารประสาร นอนตัวสั่นอยู่ในมุ้ง โดนแค่บาดเจ็บสาหัส เมื่อเก็บกวาดทรัพย์สินแล้วโจรยังยิงปืนอีก ๕ นัดก่อนล่าถอยเป็นการอำลาวิญญาณเจ้าทรัพย์
ตำรวจมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืนยาวบาเร็ตต้าที่ตำรวจเองก็ใช้ตกอยู่เกลื่อน ประกอบกับพฤติกรรมของโจรที่ยิงอย่างโหดเหี้ยมทีละ ๕ นัด จึงลงความเห็นได้ทันทีว่าโจรรายนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เสือจำเรียง ปางมณี ซึ่งเข้าปล้นแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว
อย่าว่าแต่ตำรวจจะรู้ว่าเป็นฝีมือของใคร ชาวบ้านที่อยู่ในย่านเสือจำเรียงปล้น ต่างก็รู้กันดีว่าการกระทำเช่นนี้ต้องเป็นเสือจำเรียงแน่ และเคยท้าทายกฎหมายด้วยการประกาศชื่อหลังการปล้นมาหลายครั้งแล้ว ชาวบ้านรู้จักเขาในชื่อ “เสือเรียง”
รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์พากันพาดหัวข่าวการปล้นบ้านนางเซียมเง็กที่บางแคนี้อย่างเอิกเกริก และให้ฉายาเสือเรียงอย่างพร้อมเพียงกันว่า “ขุนโจร ๕ นัด”
แม้เสือเรียงจะปล้นมาหลายครั้งแล้วจนชื่อเสียงโด่งดังในหมู่ชาวบ้าน แต่ตำรวจก็ไม่ได้สนใจที่ปราบปราม ต่อเมื่อ นสพ.พากันประโคมข่าวครึกโครมและยังลงข่าวติดต่อกันอีกหลายวัน เลยทำให้ตำรวจนั่งไม่ติด โดยเฉพาะ“จอมอัศวิน” พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจผู้ให้คำขวัญลูกน้องไว้ว่า “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” รู้สึกว่าตำรวจถูกโจรสบประมาท จึงสั่งการให้ตำรวจ ๔ สถานีที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุร่วมกันรับผิดชอบ จับ“ขุนโจร ๕ นัด” จำเรียง ปางมณีให้ได้ ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย
ตำรวจ สน.บางขุนเทียน สน.ท่าข้าม สน.หลักสอง และสน.ภาษีเจริญ ได้ส่งสายสืบออกแกะรอยหา“ขุนโจร ๕ นัด” ทุกแห่งที่สงสัยว่าจะเป็นที่หลบซ่อน โดยเฉพาะบ้านพ่อแม่ที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี แต่ก็ไม่เจอแม้เงา
จนกระทั่ง ๒ สัปดาห์ผ่านไป สายสืบจึงได้เบาะแสว่า เสือเรียงหลบไปซ่อนตัวอยู่ที่กระท่อมกลางสวนลึก เลขที่ ๕ ตำบลหัวกระบือ อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของนายเชื้อ นางผูก ลือเฉย ญาติที่เสือเรียงเคยอาศัยอยู่ในวัยเด็ก
ความโหดเหี้ยมและความแม่นยำ เป็นกิตติศัพท์ของเสือเรียงที่ตำรวจขยาดไม่อยากจะยุ่งด้วย แต่เมื่อ อตร.บัญชามาเช่นนี้ก็จำใจ ต้องบอกกล่าวกันทั้ง ๔ สถานีที่ได้รับมอบหมายให้มารับผิดชอบร่วมกัน การจับเสือเรียงครั้งนี้จึงมีตำรวจยกกันไปกว่า ๑๐๐ คน โอบล้อมตั้งแต่กลางดึก รอจนรุ่งสว่างจึงคืบคลานเข้าไป
ส.ต.อ.ปลอด จันทร์งาม มือปราบวัย ๔๒ ของ สน.บางขุนเทียน เจ้าของท้องที่นำหน้า จนเห็นตัวเสือเรียงและเสือศิริ สงวนพันธุ์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ร่วมปล้นมาด้วยกัน ห่างไปประมาณ ๑๐ เมตร กำลังจะออกเดินทางเพื่อย้ายที่ซ่อน ส.ต.อ.ปลอดจึงจ้องรีวอลเวอร์คู่มือเข้าหาพร้อมกับร้องสั่งให้วางอาวุธ
ทันใดบาเร็ตต้าที่สะพายอยู่บนบ่าของเสือเรียงก็ถูกตวัดเข้ามืออย่างรวดเร็ว และรัวตอบมา ๕ นัด ทำให้วิญญาณของ ส.ต.อ.มือปราบออกจากร่างทันที จากนั้นตำรวจที่ตามมาก็สาดกระสุนเข้าใส่จุดนั้นหูดับตับไหม้ ซึ่งก็มีเสียงปืนยิงตอบมาเป็นระยะ
ร.ต.อ.วุฒิ จำปีรัตน์ สารวัตร สน.ท่าข้ามคลานเข้าไปด้านหลังของขุนโจรด้วยความระมัดระวัง ก้มหัวติดดินเพราะกลัวจะโดนกระสุนปืนของตำรวจด้วยกันเอง จนกระทั่งเห็นเงาตะคุ่มของขุนโจรที่กำลังพุ่งความสนใจยิงสู้กับตำรวจ สารวัตรวุฒิจึงเล็งปืนคู่มือเข้าสู่เป้า แต่ยังไม่ทันจะลั่นไก สัญชาติญาณโจรทำให้เสือเรียงตวัดบาเร็ตต้ารัวมาด้านหลัง สารวัตรมือปราบร้องโอย หงายผลึ่ง กระสุนนัดหนึ่งเจาะต้นแขนขวาจนกระดูกหัก ชอนไปทะลุปอดและตุงอยู่ที่เยื่อหุ้มหัวใจ ลูกน้องต้องช่วยกันลากออกไป หามส่งโรงพยาบาล
ตำรวจทั้งร้อยไม่กล้าผลีผลามบุกเข้าไป รอจนสว่างให้เห็นกันจะจะจึงเข้าเคลียร์พื้นที่ พบแต่รอยเลือดเป็นทางไปจนถึงคลองหัวกระบือ ส่วนตัวเสือเรียงและสมุนล่องหนฝ่าวงล้อมของตำรวจทั้งร้อยไปได้ยังกับปีศาจ
การยกกำลังตำรวจเป็นร้อยไปปราบโจรแค่ ๒ คน ทั้งยังกลับถูกโจรปราบ ทำให้เก้าอี้ผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรีของ พ.ต.อ.โพด อำไพวิทย์ ร้อนขึ้นมาทันที จึงเร่งระดมมือปราบระลอกใหม่ออกล่าขุนโจร ๕ นัดให้ได้
เมื่อสายสืบได้เบาะแสมาว่าเสือเรียงหลบซ่อนอยู่ที่ใด กองทัพตำรวจพร้อมอาวุธครบมือก็จะยกไปล้อมเช่นนี้ทุกครั้ง และใช้ยุทธวิธีต่างๆ เช่นล้อมไว้ให้อดข้าว เพราะการบุกเข้าไปถึงตัวโจรทำให้ตำรวจต้องเสียชีวิตคนแล้วคนเล่า ขนาด พลฯ บุญปลูก มงคล จาก สน.ท่าข้ามย่องเข้าไปพบเสือเรียงนอนคว่ำเหยียดยาวอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมหนองน้ำที่บางหว้าห่างไปประมาณ ๑๕ เมตร แค่เหยียบใบไม้แห้งดังแกร็กเดียว บาเร็ตต้าที่นอนกอดอยู่ยังตวัดมาเข้าแสกหน้าพอดี ส.ต.อ.เจียม พุ่มพวง แห่ง สน.เดียวกัน อ้อมเข้าไปข้างหลังห่างไปราว ๒๐ เมตร เสือเรียงรู้ตัวเอี้ยวคอหันมายิงด้วย คอลท์ ๙ มม.เข้าที่หัวเช่นกัน ส.ต.อ.สว่าง อนันต์สุคนธ์ เห็นเพื่อนถูกยิงไปต่อหน้าจึงยกบาเร็ตต้าขึ้นจะยิง แต่ก็ช้าไป ขุนโจรกราดบาเร็ตต้าไปรอบทิศ ถูก ส.ต.อ.สว่างหงายหลัง ขุนโจรกระโจนออกจากที่กำบังและคว้าเอาบาเร็ตต้าในมือของ ส.ต.อ. สว่างไปด้วย ร.ต.ต.มนู นพฤทธิ์ ซึ่งหมกตัวเงียบอยู่ในป่าริมหนองน้ำ เห็นขุนโจรถือบาเร็ตต้าและสะพายไว้บนบ่าอีกกระบอกทั้งยังมีคอลท์ ๙ มม.เหน็บอยู่ที่เอวด้วย เฉียดเข้ามาใกล้ที่นายตำรวจหนุ่มซุ่มอยู่ จึงเหนี่ยวไกปืนจนหมดลูกโม่ ๖ นัด แต่ก็ไม่ระคายผิวขุนโจร คงเดินจากไปอย่างไม่สนใจใยดี
นายตำรวจหนุ่มให้สัมภาษณ์ นสพ.ขณะที่พา ส.ต.อ.สว่างไปส่งโรงพยาบาลว่า
“กระสุนผมหมดก็เลยต้องกระโจนลงน้ำ ดำหนีแทบขาดใจ”
ร.ต.ท.พินิจ โชติวงศ์ แห่งสน.บางขุนเทียน ซึ่งเผชิญหน้าขุนโจรในระยะประมาณ ๓๐ เมตรให้สัมภาษณ์ นสพ.เหมือนกันว่า
“มันเดินออกไปในที่โล่ง พวกเราระดมยิงเท่าไหร่มันก็ไม่โต้ตอบ แถมยังตะโกนว่า ยิงมาเลย...ยิงมาเลย...ไม่รู้ว่าลูกปืนของเราเป็นอะไรจึงไม่เจาะเข้าร่างมัน”
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ หลวงพ่อเต๋ คงทอง แห่งวัดสามง่าม นครปฐม เกจิอาจารย์ที่กำลังดังสุดๆในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ นสพ.จนพาดหัวกันเอิกเกริกว่า “หลวงพ่อเต๋เผยเสือเรียงหายตัวได้”
ข่าวที่ประโคมกันว่าเสือเรียงมีปาฏิหาริย์เช่นนี้ ยิ่งทำให้ตำรวจเสียขวัญจนไม่อยากจะไปปราบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้ผ่านศึกสงครามและปราบปรามกบฏอย่างโชกโชนมาแล้วให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เรียก พ.ต.ท.เจริญ บุญยะประภูติ รองผู้บังคับการนครบาลธนบุรี ซึ่งรับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการปราบปรามขุนโจร ๕ นัดเข้ารายงาน และให้ความเห็นว่าการยกตำรวจเป็นร้อยไปปราบโจรแบบนี้ไม่น่าจะได้ผล จึงสั่งให้ พล.ต.อ.เผ่าใช้วิธีเจรจาให้มอบตัวจะดีกว่า
แผนของนายกรัฐมนตรีนี้ทำให้มีนายตำรวจไปพบนายอุ่ม ปางมณี พ่อของเสือเรียง จะรับไปพบ พล.ต.อ.เผ่า แต่นายอุ่มส่งนางทิมแม่ของเสือเรียงไปแทน กลับไม่ได้พบ อตร.เผ่าซึ่งติดราชการ ได้พบแต่ พล.ต.ต.จำเนียร วาสนะสมสิทธิ์ ซึ่งนายอุ่มได้เปิดเผยกับนักข่าวว่า พล.ต.อ.เผ่าจะให้เสือเรียงรับใช้ใกล้ชิด อย่างที่มีเสือร้ายบางคนเข้ารับราชการจนได้เป็นนายตำรวจมือปราบไปหลายคนแล้ว
“เขาบอกว่าท่านเผ่าจะเอาเป็นมือปืนประจำตัว ผมก็ลองให้เมียไปพบ แต่กลับไม่ได้พบกับท่านเผ่าอีก เลยไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่า” นายอุ่มบอกนักข่าว
ส่วนนางทิมบอกว่ารับปากกับ พล.ต.ต.จำเนียรแล้วว่าจะไปเจรจากับลูกชาย
“แต่อย่างไรก็แล้วแต่ตัวเขาเอง เราเป็นเพียงพ่อแม่ ถ้าเห็นดีก็สนับสนุน ถ้าไม่ดีก็ห้ามไว้” นางทิมบอก
หลังจากนั้นไม่นาน พล.ต.ต.เยื้อน ประภาวัตร รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง หัวหน้าศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมกรมตำรวจ พร้อมด้วยตำรวจอีกหลายคนต้องไปนั่งตบยุงอยู่ที่บางบัวทองตั้งแต่หัวค่ำจนสว่างของคืนวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เมื่อเสือเรียงติดต่อว่าจะมอบตัว แต่ก็ไม่ได้พบ
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ต่อมา พ.ต.อ.โพด อำไพวิทย์ ไปลอยเรืออยู่ที่คลองบางไผ่ หน้าวัดโมฬี บางบัวทอง ในตอนบ่าย เลยเวลานัดไปหลายชั่วโมงก็ยังไม่เห็นเสือเรียงโผล่หน้ามา ใครคนหนึ่งในกลุ่มตำรวจจึงร้องขึ้นว่า
“เราเจอแผนหลอกเข้าอีกแล้ว”
เสือเรียงยอมรับข้อเสนอของตำรวจให้มอบตัว หลอกให้ตำรวจตายใจเลิกการปิดล้อม ซึ่งทำให้เขาใช้โอกาสนี้หนีออกจากวงล้อมของตำรวจไปได้
ตำรวจหาข่าวอยู่นานจนรู้ว่าเสือเรียงไปส้องสุมสมุนกลุ่มใหม่อยู่ในสวนลึกแถวพระประแดง สมุทรปราการ ซึ่งมี “ลูกประดู่” หนีคดีมาหลบซ่อนอยู่แถวนี้และเข้าร่วมกับเขาด้วย
ขณะที่ตำรวจไปตามหาเสือเรียงแถวพระประแดง ขุนโจร ๕ นัดก็ย้อนกลับมาที่บางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ถิ่นเดิมของพ่อแม่ เพื่อชำระแค้นนายกลิ่น งามแฉล้ม พี่เมียที่ไม่ยอมแบ่งมรดกให้นางคล้อยภรรยาของขุนโจร ศึกครั้งนี้นายกลิ่นรู้ตัวก่อนเลยเตรียมรับมือเต็มที่ เสือเรียงถูกยิงบาดเจ็บและลูกน้องคนหนึ่งต้องสังเวยชีวิตคาลานบ้านนายกลิ่น ขุนโจรหลบไปซ่อนตัวรักษาแผลอยู่ที่ตำบลศาลาธรรมศพ ตลิ่งชัน ธนบุรี
ความจริงเสือเรียงเคยก่ออาชญากรรมมาตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว ตอนนั้นพ่อแม่ได้ย้ายจากบางเชือกหนัง อำเภอตลิ่งชัน บ้านเกิดของเขาไปอยู่ที่บางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ นนทบุรี แต่จำเรียงไม่ย้ายไปด้วย ต้องไปช่วยนายจิ๋ว ลือเฉย ซึ่งเป็นญาติกันทำงานสารพัดรวมทั้งเลี้ยงควายตั้งแต่อายุ ๑๕ จนเป็นหนุ่มก็เกิดความรักกับสาวลูกกำพร้าที่อาศัยอยู่กับยาย พอยายรู้ว่าคนที่มาติดพันหลานเป็นแค่เด็กเลี้ยงควายก็กีดกัน ห้ามไม่ให้หลานสาวติดต่อด้วย และด่าว่าประณามต่างๆนานา ยิ่งเมื่อรู้ว่าหลานสาวปันใจแอบไปพบ ยายก็ตามไปด่าว่าอย่างหนัก จนจำเรียงระงับอารมณ์ไม่ไหวโดดเข้าคว้าปืนยิงยายของสาวคนรักตาย
จำเรียง ปางมณี ถูกตัดสินจำคุกในวัย ๒๓ ฐานฆ่าคนตายถึง ๒๐ ปี แต่ติดอยู่ได้เพียง ๗ ปีก็พ้นโทษออกมาอยู่กับพ่อแม่ที่บางแม่นาง ทำมาหากินอย่างขยันขันแข็งจนมีฐานะ มีเมีย ๒ คน และมีลูกถึง ๘ คน
การที่ต้องหาเลี้ยงเมีย ๒ ลูก ๘ ทำให้ฐานะจำเรียงฝืดเคือง จึงหารายได้พิเศษด้วยการต้มเหล้าเถื่อนขาย และเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้ไม่เลว แม้จะมีตำรวจแวะเวียนมาชิมฟรีกันบ่อยก็ตาม แต่มีพลตำรวจ ๒ พี่น้องของ สภ.อ.บางใหญ่ ซึ่งศรศิลป์ไม่กินกันมาก่อน แวะมาชิมเสร็จก็จับด้วย ทำให้จำเรียงต้องขึ้นโรงพักเสียค่าปรับ ทั้งตำรวจ ๒ พี่น้องก็จองล้างจองผลาญบ่อยขึ้นจนจำเรียงเสียค่าปรับไม่ไหว แม้จะยอมยกมือไหว้ขอความกรุณาแล้วก็ยังไม่ยอมเลิก
ทางออกของจำเรียงในเรื่องนี้ก็คือตัดสินใจจับปืนอีกครั้งดักซุ่มยิงตำรวจคู่อริ แต่ทว่ากลับพลาด ตำรวจคนที่จำเรียงยิงอาการปางตายกลับเป็นตำรวจคนข้างบ้านที่รักใคร่กันดี จำเรียงอุ้มเหยื่อที่ยิงผิดตัวมาส่งให้ญาติช่วยพาส่งโรงพยาบาลแล้วก็ล่องหนออกจากบางแม่นางมาหลบอยู่ที่บ้านญาติในเขตบางขุนเทียน
เมื่อรายได้เลี้ยงตัวในช่วงนี้ไม่มี จำเรียงจึงร่วมกับศิริ สงวนพันธ์ ญาติผู้น้องออกลักเล็กขโมยน้อยจนถึงจี้ปล้นเลี้ยงชีพ และเข้าปล้นนางเซียมเง็ก แซ่โซว จนเป็นข่าวดัง ก็เพื่อชำระแค้นที่นางเซียมเง็กโกงไม่ยอมให้ไถ่คืนโฉนดมรดกร่วมกันของครอบครัวที่ยายของคนทั้ง ๒ เอาไปจำนองกับนางเซียมเง็ก
การติดตามไล่ล่าขุนโจร ๕ นัดของกองทัพตำรวจหลังจากปล้นนางเซียมเง็ก เป็นเวลาถึง ๕ เดือนกว่า สังเวยชีวิตมือปราบไปหลายคนก็ยังไม่สามารถพิชิตขุนโจรได้ คงจับตายได้แต่เสือศิริ สงวนพันธุ์ ซึ่งภายหลังได้แยกตัวออกจากเสือเรียงหนีไปตามลำพัง
วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๐๐ ร.ต.อ.วรดี เถลิงสุข ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับรายงานว่ามีผู้พบคนแปลกหน้าแถวบางพลีใหญ่ สะพายปืนยาว และพกปืนสั้นที่เอวไปพักที่บ้านหลังหนึ่งริมคลองสำโรง แต่ได้ออกจากบ้านนั้นไปแล้ว จึงได้ส่งสายสืบไปหาข่าว ก็ได้ความว่าบ้านหลังนั้นเป็นบ้าน “อาจารย์ชะล่อม” หรือนายชะล่อม กลัดบุปผา อาจารย์ทางสักอยู่ยงคงกะพัน มีลูกศิษย์ลูกหามาก มีคนเข้าออกเป็นประจำ ทั้งยังเป็นแหล่งมั่วสุมเล่นการพนันด้วย จึงพาตำรวจไปล้อมกลางดึกเพื่อจะจับการพนัน
ตร.เข้าล้อมบ้านหลังนั้นไว้ทั้งคืน รอจะบุกเข้าไปตอนสว่าง ตลอดคืนมีแสงไฟจุดอยู่ในบ้าน และมีเสียงคนพูดจากันตลอด จนตี ๕ เศษพอมีแสงรำไรตำรวจจึงคืบคลานเข้าไปใกล้ ทันทีที่มีเสียงหมาเห่าตะเกียงในบ้านก็ดับลง ตำรวจจึงจู่โจมเข้าไป พบอาจารย์ชะล่อมนั่งอยู่กับคน ๒ บอกว่าเป็นลูกศิษย์ แต่ตำรวจเห็นว่าตอนไฟดับนั้นมีอีกคนหนึ่งโดดลงเรือพายหนีไปจึงตะโกนให้หยุด แต่ชายคนนั้นกลับจ้ำเรือหนี พลฯ พุ่ม ทิมเจริญวิ่งตามไปก็ถูกคนร้ายที่พายเรือยิงสกัดมาด้วยปืนสั้น จึงกระโดดเข้ายึดคันนาเป็นที่กำบังยิงตอบไปด้วยปืนเล็กยาวรุ่นโบราณ คนร้ายได้โดดจากเรือขึ้นฝั่งห่างไปประมาณ ๒๐ วา ยึดคันนาเป็นที่กำบังเช่นกัน และตอบโต้มาด้วยปืนรัวเป็นชุด พลฯ พุ่มพยายามยิงอย่างประหยัด เพราะทางสถานีจ่ายลูกปืนมาให้เพียง ๑๐ นัดเท่านั้น
ตอนหนึ่งเสียงปืนของคนร้ายชะงักลง พลฯ พุ่มจึงชะเง้อขึ้นมอง เห็นหัวคนร้ายโผล่พ้นคันนาขึ้นมาหงึกๆหงักๆ เหมือนกำลังบรรจุลูกปืนใหม่ พลฯ พุ่มจึงเล็งเล็กยาวโบราณไปที่จุดนั้นแล้วเหนี่ยวไก ๑ นัด จากนั้นก็รีบก้มหัวแอบคันนา เพราะคิดว่าคนร้ายต้องตอบโต้กลับมาอีกแน่
แต่ทว่าเสียงปืนจากคนร้ายเงียบหายไปจนน่าสงสัย พลฯ พุ่มจึงค่อยๆชะเง้อขึ้นดูก็ไม่เห็นคนร้ายที่บังคันนาอยู่ จึงตัดสินใจจ้องปืนแล้วย่างสามขุมเข้าไป ก็เห็นว่าคนร้ายนอนนิ่ง มีแผลถูกยิงที่ท้ายทอยทะลุเบ้าตา สิ้นใจไปแล้ว ก้มมองหน้าก็ไม่รู้จัก เป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
จนกระทั่ง ร.ต.อ.วรดีวิ่งเข้ามาพลิกดูหน้าคนร้ายให้ชัด แล้วร้องว่า
“เสือเรียง ขุนโจรห้านัด”
พลฯ พุ่มเข่าอ่อนทันที บอกนักข่าวภายหลังว่า
“ถ้ารู้ว่าเป็นเสือเรียง ผมก็ไม่กล้าวิ่งตามไปยิงแล้ว ทั้งฝีมือทั้งปืนผมสู้เขาไม่ได้เลย”
พลฯพุ่มเป็น ตร.มา ๑๗ ปี มีชีวิตที่เรียบง่าย อบอุ่นอยู่กับเมียและลูก ๕ คน ส่วนชีวิตราชการก็ไม่มีจุดด้อยจุดเด่น เลยกลายเป็นคนดังขึ้นมาทันที มีความดีความชอบที่ทำให้ ตร.ทั้งกรมโล่งอก เขาได้รับรางวัลค่าหัวขุนโจรเป็นเงินถึง ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งพลฯพุ่มบอกว่าจะเอาไปซื้อเรือให้ทางการ เพราะ สภ.อ.บางพลีอยู่ริมคลองแท้ๆ แต่ไม่มีเรือใช้
ศพของขุนโจร ๕ นัด จำเรียง ปางมณีนอนคุดคู้อยู่ข้างคันนา มือข้างหนึ่งยังจับบาเร็ตตาไว้แน่น อีกมืออยู่ในท่ากำลังจะดันแม็กกาซีนลูกปืนชุดใหม่เข้า มีกระสุนเหลือยู่อีก ๒๒ นัด ปืนพกโอโตเมติกคอลท์ลามา ๙ มม.เหน็บอยู่ที่เอวอีกกระบอก มีกระสุนอยู่ ๗ นัด บนหัวมีหวีผู้หญิงเสียบอยู่ ๑ อัน พระเครื่อง ๒๐ องค์ยังแขวนอยู่กับสร้อยที่คอเป็นพวง
นี่คือจุดจบของขุนโจรนามกระเดื่องแห่งปี ๒๕๐๐ ที่ตำรวจยกกองทัพเป็นร้อยก็ยังปราบไม่ได้ แต่กลับมาพบจุดจบด้วยปืนโบราณของพลฯตำรวจที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนโจร ๕ นัดผู้เขย่ากรมตำรวจทั้งกรมจนนั่งกันไม่ติด