xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯใต้ฝนเหล็ก!ญี่ปุ่นพิมพ์แบงก์เองกว้านซื้อสินค้าไทยไปเกลี้ยง ทั้งกรุงเทพฯยังต้องใช้ตะเกียง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

“ป้อมบินยักษ์” โปรย “ฝนเหล็ก” ในสงครามโลกครั้งที่ ๒
เมื่อไทยเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น ยังไม่ทันประกาศสงครามกับอังกฤษอเมริกา กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งตั้งมา ๑๖๐ ปี ไม่เคยมีอริราชศัตรูรายใดบุกเข้ามาถึงกำแพงพระนครได้ ก็มีโอกาสต้อนรับข้าศึกเป็นครั้งแรก

ราว ๐๔.๐๐ น.ของวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๕ ขณะที่คนกรุงเทพฯ กำลังนอนหลับกันอย่างสบายเพราะอากาศเย็นยังกับเปิดแอร์ ก็ต้องสะดุ้งตกใจตื่นเพราะเสียงระเบิดดังกึกก้องกัมปนาท และได้ยินเสียงเครื่องบินหลายลำครางกระหึ่มอยู่บนฟ้า จากนั้นอีกครู่จึงได้ยินเสียงไซเรน สัญญาณภัยทางอากาศที่เรียกกันว่า “หวอ” ดังขึ้นอย่างโหยหวน เพราะคนเฝ้าสัญญาณก็ถูกปลุกขึ้นมาด้วยเสียงระเบิดเหมือนกัน เพิ่งลุกขึ้นมาหมุนสัญญาณด้วยมือ ครั้งแรกที่ยังไม่มีประสบการณ์และไม่คาดคิด ก็ต้องขลุกขลักกันแบบนี้

คนกรุงเทพฯไม่เคยเผชิญกับการทิ้งระเบิดมาก่อน นอกจากอ่านข่าวที่อังกฤษฝรั่งเศสและเยอรมันถล่มกันแหลกในยุโรป รู้ว่าพิษสงของมันน่าเกรงกลัวแค่ไหน จึงต่างวิ่งกันลนลาน ไปหามุมซุกตามซอกตึก ซอกตู้ โคนต้นไม้ แม้แต่โคนต้นกล้วย บางบ้านก็ขุดหลุมหลบภัยตามคำเตือนของรัฐบาลไว้ เสียงเครื่องบินครางสลับเสียงปืนต่อสู้อากาศยานและเสียงระเบิดทำให้คนกรุงเทพฯขวัญกระเจิง บนท้องฟ้าก็เห็นลำแสงไฟสาดส่ายขึ้นไปยังกับตราของบริษัททะเวนตี้เซ็นจูรี่ฟ็อกซ์ พอพบเครื่องบินก็สะท้อนแสงวาววับ จากนั้นก็มีเสียง ป.ต.อ. ระเบิดติดๆกัน บางครั้งเครื่องบินก็กราดปืนกลลงมา ทำให้ไฟฉายพากันรีบปิดทันที

เครื่องบินของไทยและญี่ปุ่นไม่มีบินขึ้นไปต่อสู้เลย พลโทอาเคโตะ นากามูระ ผู้บัญชากองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เขียนไว้ในบันทึกที่พิมพ์ออกมาหลังสงครามว่า

“อันที่จริงฝ่ายไทยมีเครื่องบินอยู่หลายสิบลำเหมือนกัน แต่ว่าประสิทธิภาพไม่ดีพอ แม้บินขึ้นไปต่อสู้ก็ไม่มีความหมาย เหมือนกับบินขึ้นไปใช้ “ขาหน้าของตั๊กแตนต่อยมวย” ฉะนั้นจึงไม่มีใครกล้าบินขึ้นไปให้แพ้ ส่วนปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานนั้นมีเพียงไม่กี่กระบอก เป็นอาวุธหลักในการป้องกันการโจมตีทางอากาศ ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่าการโจมตีทางอากาศครั้งนี้จะกลายเป็นเครื่องมือให้การโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เสียงโค่นล้มรัฐบาลพิบูลสงครามจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ความรู้สึกนี้ไม่ได้มีเฉพาะตัวข้าพเจ้า เอกอัครราชทูตทสุโบกามิก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน...”

ความเสียหายทางยุทธศาสตร์เกือบไม่มี แต่ทางด้านจิตวิทยานั้นคนไทยเสียขวัญกันมาก ระเบิดลง ๓ จุด คือที่ หัวลำโพง เยาวราช และตรอกบีแอลฮั้ว ฝั่งธนฯ ซึ่งเป้าหมายก็คงเป็นชุมทางรถไฟหัวลำโพงและสะพานพุทธ แต่ห่างเป้าไปมาก บ้านเรือนราษฎรพังไป ๓๐ หลัง คนตายไป ๑๑ คน รุ่งเช้า “ไทยมุง” แห่ไปดูที่ถูกระเบิดกันล้นหลาม เพราะไม่เคยเห็น พบชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์กระจัดกระจาย พากันขนลุกขนพองสยองเกล้าไปตามกัน

ตลอดวันนั้น ถนนในกรุงเทพฯเห็นแต่คนขนข้าวขนของหนีออกต่างจังหวัดหรือชานเมือง โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ก็ต้องหวาดผวากว่าคนอื่น และการทิ้งระเบิดในยุคนั้นก็ไม่ได้แม่นยำเหมือนจับวางอย่างในยุคนี้ ขนาดจะทิ้งหัวลำโพงยังไปลงกลางเยาวราช ห่างกันไม่น้อย กรุงเทพฯจึงเป็นจุดอันตรายที่มีโอกาสโดนลูกหลงทั้งนั้น สถานที่อพยพหนีระเบิดของคนกรุงเทพฯ ตอนนั้นก็มีแถวสวนฝั่งธนฯ ครอบครัวผู้เขียนเองก็ย้ายไปอยู่กับญาติที่บางบำหรุ หลังห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าในปัจจุบันนี่เอง ตอนนั้น จอมพล ป.ตัดถนนจรัลสนิทวงศ์แล้ว แต่ก็เป็นแค่พูนดิน มีต้นหญ้ารกท่วมหัว มีทางเดินแหวกเป็นช่อง บางตอนก็มีชาวสวนใช้เป็นที่ปลูกอ้อยสิงคโปร์ รถยังวิ่งไม่ได้ ย่านคลองแสนแสบก็เป็นที่นิยมอพยพไปหลบระเบิดอีกแห่ง ริมคลองก่อนถึงลาดกระบังยังมีบ้าน “ไกลหวอ” มาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนประกาศสงคราม ในคืนวันคริสต์มาส กรุงเทพฯก็โดนทิ้งระเบิดอีกครั้ง ที่สะพานกษัตริย์ศึกและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ จากนั้นก็มาเป็นระยะๆ

ในปี ๒๔๘๕ ปรากฏว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯทั่วไปหมด สัมพันธมิตรคงจะเห็นใจเว้นการทิ้งระเบิดไปนานเหมือนกัน ไม่งั้นก็ไม่รู้จะหลบระเบิดตรงไหน เพราะน้ำท่วมหลุมหลบภัยไปด้วย แต่พอเดือนธันวาคม ๒๔๘๖ กลับเปลี่ยนแผนเป็นเอาระเบิดเพลิงมาทิ้งใส่หลายจุด มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ ก็เห็นแต่แสงไฟแดงฉานยังกับทะเลเพลิง

ครั้งที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นเที่ยงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๗ ไม่รู้จะล้างโกดังระเบิดหรืออย่างไร ขนมาทิ้งกรุงเทพฯ ถึง ๔๙ จุด แต่ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ไม่กี่แห่ง เช่น สะพานพระรามหก โรงงานรถไฟมักกะสัน นอกนั้นก็สะเปะสะปะ ทำเนียบสามัคคีชัยของรัฐบาลก็โดนด้วย บริเวณบ้านพักผู้แทนราษฎรหน้าโรงพยาบาลวชิระ สี่แยกเฉลิมกรุง สี่แยกบ้านหม้อ สี่กั๊กพระยาศรี วัดบางกะปิตรงคลองตัน ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่านอกเมืองมาก มีญี่ปุ่นไปตั้งค่ายอยู่แถวนั้น แต่ไม่ลงค่าย กลับไปลงวัด แม้แต่เขาดินก็ยังโดน

โรงพยาบาลน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยมากที่สุด แต่โรงพยาบาลศิริราชอยู่ติดกับจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือสถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งญี่ปุ่นใช้เป็นที่ขนทั้งทหารและยุทธปัจจัยลงใต้ ทางโรงพยาบาลได้สร้างหลุมหลบภัยไว้ที่สนามระหว่างตึกตรีเพชรกับตึกจุฑาธุช ทาเครื่องหมายกาชาดไว้บนหลุมแดงแจ๋ให้เครื่องบินเห็นเด่นชัด คิดว่าจะเป็นยันต์กันระเบิดได้ แต่ก็ไม่วายโดนลูกหลงไปหลายครั้ง ครั้งหนึ่งตอนปลายๆ สงคราม สถานีธนบุรีถูกปูพรม ลูกหลงมาลงที่ตึกพยาธิวิทยาพังราบ รุ่งขึ้นนิสิตแพทย์กับอาจารย์ต้องช่วยกันไปคุ้ยซากตึกหาสไลด์และกล้องจุลทรรศน์เอาไปเรียนอีก อีกลูกหนึ่งขนาด ๕๐ กก.ทะลุหลังคาลงมาถึงพื้นล่างกลางตึกศัลยกรรมหญิง เคราะห์ดีที่ด้าน แต่ทั้งหมอและคนไข้ก็เผ่นกันกระเจิง คนไข้คนหนึ่งเป็นโรคเหน็บชาขนาดหนักเดินไม่ได้ แต่ความกลัวระเบิดกลับเผ่นลงจากเตียงวิ่งปร๋อออกไปหมอบอยู่นอกโรงพยาบาล ขากลับเดินไม่ได้ ต้องหามกลับมาขึ้นเตียง

ทั้งกลางวันกลางคืนไม่เป็นอันทำมาหากิน อยู่ๆสัญญาณภัยทางอากาศก็ดังขึ้น ครวญครางเป็นห้วงๆน่าวังเวง ทุกคนที่ได้ยินต่างก็ขวัญหนีดีฝ่อต้องวิ่งหาที่หลบภัย ซึ่งเกือบทุกบ้านจะขุดหลุมหลบภัยไว้ เล็กใหญ่ตามแต่เนื้อที่และจำนวนคนในบ้าน ลักษณะเป็นหลุมดิน อาจมีฝาไม้เป็นผนังข้าง ด้านบนก็ทำคานหลังคาแล้วเอาดินถม และต้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงไป บางทีฝนตกน้ำลงไปขังอยู่ในหลุมหลบภัยวิดไม่ทัน หวอมาก็ต้องยอมลงไปแช่น้ำดีกว่าล่อระเบิดอยู่บนบ้าน ถ้าทำหลุมหลบภัยไว้ดีหวอมาก็ลงไปหลับต่อในหลุมได้สบาย หลายบ้านก็นิยมเอามะนาวไปโรยไว้ เชื่อว่าป้องกันงูได้ เพราะงูมักจะหลบไปอยู่ในหลุมหลบภัยด้วยเหมือนกัน บางบ้านก็ซวยหนัก เรียกกันว่า “ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง” ลูกระเบิดลงกลางหลุมหลบภัยพอดี ลบสำมะโนครัวไปเลยทั้งบ้าน ส่วนทางราชการก็สร้างหลุมหลบภัยเป็นคอนกรีตไว้หลายจุด จนเสียงหวอลากยาวไม่ขาดเป็นช่วงเป็นสัญญาณปลอดภัยจึงค่อยโล่งอก แต่หลายครั้งเหมือนกันที่หวอปลอดภัยเพิ่งสิ้นเสียงไปหยกๆ หวอสัญญาณภัยทางอากาศก็ดังขึ้นอีก กำลังโล่งอกก็ต้องวิ่งลงหลุมกันอีก

เรื่องอาหารการกินและของใช้ในชีวิตประจำวันเรียกได้ว่า “ข้าวยากหมากแพง” เมื่อคนไม่ค่อยได้ทำมาหากินต้องคอยวิ่งลงหลุม ของกินของใช้ที่เคยผลิตได้ก็น้อยลง ไหนญี่ปุ่นจะกว้านซื้อด้วยราคาสูงกว่าท้องตลาดเพื่อส่งไปเลี้ยงกองทัพ ขนาดข้าวสารบางจังหวัดรัฐบาลต้องใช้วิธี “ปันส่วน” เพราะพ่อค้ากักตุนเอาไปขายญี่ปุ่นจนขาดตลาด ทำให้คนไทยไม่มีกิน จอมพลป. คาดการณ์ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าอาจจะเกิดสงคราม จึงรณรงค์ให้ทุกบ้านทำสวนครัวและเลี้ยงไก่ ใครเชื่อ “ท่านผู้นำ” ก็พออาศัยมีผักมีไข่ไก่กิน อาหารและขนมทำจากแป้งสาลีที่มาจากต่างประเทศอย่าไปหา เช่นเดียวกับวุ้นและนมข้น จำได้ว่าตอนปลายๆสงครามมีคนคิดเอาแป้งข้าวเจ้ามาทำขนมปัง แต่ก็กระด้างจนกระเดือกไม่ค่อยลง ยิ่งค้างคืนด้วยแล้วเอาขว้างหัวยังโน

ยามนั้นเมืองไทยผลิตของใช้ได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศ พอเกิดสงครามสินค้ามาไม่ได้ก็เลยไม่มีใช้ แม้แต่ของที่ผลิตเองได้ก็ถูกกักตุนเอาไปขายญี่ปุ่น ขนาดไม้ขีดไฟยังต้องมีการปันส่วน เพราะในยามนั้นถ้าไม่มีไม้ขีดไฟก็ไม่รู้จะหุงข้าวได้ยังไง พวกขี้ยาสูบบุหรี่หลายคนกลับไปใช้หินเหล็กไฟตีให้ติดสำลีที่ยัดไว้ในกระบอกไม้ไผ่แล้วเอาปากเป่า ย้อนยุคกลับไปสู่สมัยหินกันอีก ส่วนสบู่ก็เป็นของหายากเหมือนกัน หุงข้าวเย็นเสร็จก็โกยขี้เถ้าจากเตาไฟเอาแช่น้ำไว้ พอรุ่งเช้าก็รินน้ำด่างมาซักผ้าแทนสบู่ เสื้อผ้าก็เป็นของหายาก แต่สาวๆสมัยนั้นก็ยังไม่ประหยัดผ้ากันเหมือนสาวสมัยนี้ ทั้งๆที่ผ้ามีล้นตลาด ราคาก็ถูก แต่ก็ยังอุตส่าห์นุ่งน้อยห่มน้อย

ความอดอยากยากแค้นของคนไทยในสมัยสงคราม เนื่องมาจากสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาไม่ได้แล้ว ยังเพราะญี่ปุ่นกว้านซื้อส่งไปเลี้ยงกองทัพในมลายู พม่า และอินเดีย ทั้งยังส่งไปเลี้ยงคนญี่ปุ่นในประเทศด้วย ญี่ปุ่นกว้านซื้อยารักษาโรค น้ำมันหมู สบู่ แป้งข้าวเจ้า ผักสด และต้องการวัวควายถึงปีละ ๖๐๐,๐๐๐ ตัว พวกพ่อค้าก็กักตุนสินค้าไม่ขายให้คนไทย เอาไปขายให้ญี่ปุ่นเพราะได้กำไรมากกว่า จนเกิด “เศรษฐีสงคราม” ขึ้นหลายคน

การขนส่งสินค้าก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะญี่ปุ่นยึดรถไฟไปขนส่งทหาร ทำให้สินค้าจังหวัดหนึ่งกับอีกจังหวัดหนึ่งราคาต่างกันมาก อย่างเช่นในปี ๒๔๘๗ ราคาเกลือในกรุงเทพฯ ถังละ ๖ บาท แต่ที่ลำปางถังละ ๑๒๐-๑๔๐ บาท

ของจำเป็นที่ขาดแคลนมากในยามสงครามก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท รวมทั้งน้ำมันก๊าด น้ำตาลทรายขาว สบู่ ผ้า ไม้ขีดไฟ ตะปู ยารักษาโรค กระดาษ เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง สังกะสี ขนาดในกรุงเทพฯ ประชาชนที่ต้องการสินค้าจำเป็นในครัวเรือน ยังต้องนำทะเบียนสำมะโนครัวไปขอรับบัตรปันส่วนที่อำเภอ แต่ก็ได้น้ำตาลทรายเพียงครึ่งกิโล ไม้ขีด ๑ กลัก และน้ำมันก๊าด ๑ ลิตรเท่านั้น รถโดยสารในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดไม่มีน้ำมันวิ่งเพราะญี่ปุ่นเอาไปใช้หมด จึงมีผู้ประดิษฐ์เตาถ่านเป็นท่อทรงสูงติดท้ายรถ วิ่งไปได้ไม่กี่ป้ายก็ต้องใส่ถ่านกันที ไม่รู้ว่าเป็นเทคโนโลยีของใคร ไม่แน่ว่าอาจจะต้องเอากลับมาใช้กันอีก อย่าชะล่าใจนัก ตอนที่ญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟสายมรณะที่เมืองกาญจน์ แม้แต่จอบเสียมก็อย่าไปหาตามตลาด ญี่ปุ่นกว้านซื้อจนหมด

จารบีก็เป็นของหายาก พ่อค้าหัวใสจึงเอามันเทศต้มบดผสมน้ำมันเครื่องมาขายเป็นจารบี ส่วนตะปูก็เอาลวดมาตัดปลายให้แหลม เอาแท่นเหล็กหนีบอีกด้านแล้วตอกด้วยค้อนให้หัวแบน ขายเป็นตะปู ไม่รู้ว่าจะใช้ตอกไม้ได้หรือไม่ หรือตอกได้แค่หยวกกล้วย

ตอนสงครามต้องพรางไฟ หลอดก็ใช้กันแค่ ๕-๑๐ แรงเทียน แต่กระนั้นไฟฟ้าก็ยังไม่ค่อยพอใช้ เพราะน้ำมันคลาดแคลน มีจังหวัดใหญ่ๆอยู่ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้ แต่หลังจากปี ๒๔๘๕ กรุงเทพฯก็ยังต้องใช้ตะเกียง เพราะโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ ๒ โรง คือที่วัดเลียบ เชิงสะพานพุทธฯ และสามเสน ถูกระเบิดพังทั้งคู่ จนกระทั่งสงครามเลิกถึงได้มีไฟฟ้าใช้อีก แต่ก็หรี่ๆ ดับๆ

ญี่ปุ่นมีเงินเหลือเฟือมากว้านซื้อสินค้าจนคนไทยอดอยาก ก็เพราะพิมพ์ธนบัตรออกมาให้กองทัพใช้ เรียกว่า “เงินเยนพิเศษ” หรือ “เงินเยนทหาร” ตามปกติธนบัตรต้องมีทองค้ำประกันอยู่ในธนาคารชาติ แต่เงินเยนทหารของญี่ปุ่นมีปืนค้ำ ประเทศที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองต้องยอมรับกันทั้งนั้น แต่ไทยเราไม่ยอมรับ เอาเงินไทยให้ญี่ปุ่นกู้ใช้ดีกว่า ญี่ปุ่นก็ยอม แต่นอกจากจะกู้แล้วญี่ปุ่นยังพิมพ์แบงก์ไทยออกมาใช้เองด้วย ใครจะทำไม

ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๕ ญี่ปุ่นบังคับให้ประกาศลดค่าเงินบาทลงเท่ากับเงินเยน จากอัตราแลกเปลี่ยน ๑๕๕.๗๐ เยนต่อ ๑๐๐ บาท เหลือ ๑๐๐ เยนต่อ ๑๐๐ บาท โดยญี่ปุ่นจะชดเชยลดค่าเงินเปียส์ของอินโดจีนซึ่งมีราคาสูงกว่าไทยให้เท่ากับเงินบาทด้วย ซึ่งก็เท่ากับบังคับลดค่าเงินเปียส์ให้เท่ากับเงินเยนแบบเงินบาทนั่นแหละ แต่พูดเสียโก้

ตอนนั้นไทยเราใช้ทองแดงทำเป็นเหรียญ ๑ สตางค์ และครึ่งสตางค์ แต่ทองแดงมีราคาสูง เลยมีคนเอาไปหลอมขายญี่ปุ่นหมด อีกทั้งธนบัตรที่ไทยสั่งพิมพ์จากบริษัทโทมัส เดอ ลารู ประเทศอังกฤษ ก็มาไม่ได้ ตกค้างอยู่ถึง ๑๖.๒ ล้านบาท เลยทำให้ธนบัตรไทยขาดแคลน รัฐบาลไทยจึงพิมพ์ธนบัตรราคา ๑ บาทขึ้นใช้เอง และให้โรงพิมพ์เอกชนอีก ๓ แห่งช่วยพิมพ์ แต่กระดาษดีไม่มีใช้ ฝีมือก็ไม่ถึง สีก็ตก จึงเรียกกันว่า “แบงก์กงเต๊ก” แต่ความจริงแบงก์กงเต๊กตอนนี้คุณภาพยังดีกว่ามาก

นี่ก็เป็นบรรยากาศบางส่วน บางแง่บางมุมในสงครามมหาเอเชียบูรพาที่คนไทยรุ่นหนึ่งได้เผชิญกันมา ทำให้รู้สึกเห็นใจคนในประเทศที่ถูกมหาอำนาจวางอำนาจด้วยการขนเอาระเบิดไปถล่ม คนที่เคยแต่ถล่มคนอื่นเขา ยังไม่เคยถูกถล่มบ้าง จึงไม่รู้สึกถึงความทุกข์ยาก ถึงได้ก่อกรรมทำเข็ญเขาไปทั่ว โดนเข้าบ้างเมื่อไหร่แล้วจะซึ้ง อย่างที่คนไทยรุ่นหนึ่งซึ้งกันมาแล้ว แม้จะโดนเบาะๆ แต่ก็ยาวนานเกือบ ๔ ปี ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จนถึงวันสันติภาพ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘
บริเวณถนนบรรทัดทอง
บริเวณโรงเรียนสายปัญญา
สถานีรถไฟสายปากน้ำตรงข้ามหัวลำโพง
พระที่นั่งอัมพรสถาน
สะพานพระราม ๖ ขณะโดนระเบิด
กำลังโหลดความคิดเห็น