xs
xsm
sm
md
lg

ซินธิไซเซอร์เมืองไทย ได้รางวัลจากญี่ปุ่น “มาดสัมฤทธิ์ พสุภา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้จบมาทางด้านดนตรีโดยตรง และความฝันก่อนหน้านี้จะไม่ได้อยากทำอะไรเกี่ยวกับด้านนี้เลยก็ตาม แต่ทว่าพอเข้าไปศึกษาต่อปริญญาตรี เขาก็สนใจด้านของเสียงเพราะว่ามีโอกาสรวมกลุ่มกันทำดนตรีกับเพื่อนและตำแหน่งซินธิไซเซอร์ก็คือหน้าที่ประจำที่ได้ทำมาโดยตลอดซึ่งนับแล้วก็เป็นระยะเวลากว่าสิบปีที่ “อั๋ม-มาดสัมฤทธิ์ พสุภา” ได้ก้าวเดินบนทางสายนี้



พอรู้ว่าตัวเองชอบเรื่องเสียงหลังจากจบปริญาตรีแล้วทำงานได้สักพักเขาก็ไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขา Sonic Arts ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเขารับตำแหน่งซินธิไซเซอร์ประจำวงดนตรี SO-ME-DAY หรือ โซมีเดย์ อีกทั้งยังมีอาชีพหลักเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อโครงการบริหารร่วมหลักสูตรมีเดียอาร์ตและเทคโนโลยีมีเดียที่มีหน้าที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเสียงและคอนเซ็ปชวลดีไซน์ต่างๆ อีกด้วย

• ก่อนจะมาเป็นซินธิไซเซอร์มืออาชีพ

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผมทำงานเป็นครีเอทีฟอยู่ประมาณปีกว่า ทำว็บไซต์ ทำงานกราฟิก แต่สุดท้าย เราก็มารู้ตัวเองว่าเราชอบเรื่องเสียง เรื่องดนตรี พอเรียนจบปริญญาตรีได้สักพัก ผมก็ไปต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษในด้าน Sonic Arts

• ชอบถึงขั้นไปเรียนต่อเลย?

ครับ (ยิ้ม) ที่ผมไปสนใจเกี่ยวกับเรื่องเสียง เป็นเพราะตอนที่เรียนอยู่เราบังเอิญได้ทำวงดนตรีมาก่อน ซึ่งตอนที่ทำวง เราได้เล่นตำแหน่ง “ซินธิไซเซอร์” (synthesizer) อยู่แล้ว พอเราทำงาน เราก็มีโอกาสช่วยงานทางด้านเสียงซะส่วนใหญ่ ตอนนั้นเลยทำให้เรารู้ตัวเองว่าชอบทำงานเกี่ยวกับเสียงนะ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท

•  นี่คือความฝันเลยหรือเปล่าคะ

ผมมีความฝันหลายอย่าง อยากเป็นสัตวแพทย์ อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ผมเคยเจอความผิดหวัง เพราะเคยไปสอบคอมพิวเตอร์โอลิมปิกแล้วตกรอบ เลยทำให้ผมไม่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์อีกเลย จึงหันมามุ่งเรียนชีวะ เรียนสายวิทย์แทน แต่ทำไปทำมา ก็มาค้นพบตัวเองว่าชอบการวาดรูป ตอนนั้นผมจะวาดไปเรื่อยๆ เลยครับ สุดท้ายพอเริ่มสนใจจริงจัง ผมก็เลยเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ไปเลย (หัวเราะ)

ผมชอบเรื่องของเสียง เมื่อตอนเรียนปริญญาตรีประมาณปี 2 แล้วก็ได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ อารมณ์เหมือนเด็กมหาวิทยาลัยตั้งวงดนตรีกัน ตอนแรกผมเล่นกีตาร์ แต่เล่นไปเล่นมาเหมือนทางวงเขามีมือกีตาร์อยู่แล้วสองคน ถ้ามีผมอีกก็จะเป็นสามคน ผมเลยคิดว่า งั้นเราลองไปเล่นซินธิไซเซอร์ก็ได้ จากวันนั้น เราก็เลยรับตำแหน่งซินธิไซเซอร์เรื่อยมา และกลายเป็นว่าเราก็ชอบไปเลย คิดๆ ไปก็ตลกดีเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

•  เห็นว่าเคยได้รับรางวัลจากประเทศญี่ปุ่น เป็นรางวัลอะไรแบบไหนคะ

เป็นรางวัลที่ได้มาจากผลงานชื่อว่า “บัวตอง” ครับ บัวตองเป็นแอนิเมชันที่ใช้องค์ประกอบศิลป์จากวัฒนธรรมล้านนามาออกแบบ ซึ่งมีการทำงานเป็นทีม ผมรับผิดชอบในส่วนของเสียง ก็ได้ไปประกวดที่งาน DigiCon6 Asia ครั้งที่ 17 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัล "Next generation" เป็นรางวัลในส่วนของเทคนิคพิเศษ ซึ่งตอนที่ทำเรื่องบัวตอง ผมได้โจทย์มาว่าเป็นเรื่องของดนตรีไทย แต่ผมไม่ค่อยถนัดมาก ผมเลยใช้เทคนิคมิกซ์ผสมกับพวกดนตรีแนวแอฟริกันใส่เข้าไปเพื่อให้มันดูสากลมากขึ้น

นอกจากผลงานชิ้นดังกล่าวที่ได้รางวัลจากประเทศญี่ปุ่นปี 2011 แล้วผมก็เคยไปแสดงผลงานที่ต่างประเทศชื่อว่า sound junction เป็น performance ที่มหาวิทยาลัยจัดแสดงครับ

• จะว่าไป งานทางด้านนี้ยากง่ายอย่างไรบ้างคะ

อืมม.. (นิ่งคิด) ผมขอแยกประเภทให้เห็นความชัดเจนนะครับ...ถ้าเสียงในการทำแอนิเมชัน เราจะมีสิ่งที่เราเรียกว่า “โฟเลย์” ซึ่งโฟเลย์จะเป็นเทคนิคการทำเสียงอย่างหนึ่ง เหมือนการใช้วัสดุต่างๆ รอบๆ ตัว มาสร้างเสียง ถ้าดูหนังเก่าๆ ที่แต่ก่อนฟิล์มเขาจะไม่มีเสียงติดมา จะเป็นการใช้คนพากย์แล้วก็จะมีเสียงก๊องแก๊งๆ โช้งเช้ง เสียงแบบนี้จะเรียกว่า “โฟเลย์” ช่วงประมาณยุค 50 อันนี้จะเป็นเทคนิคหนึ่ง และอีกเทคนิคหนึ่งจะเป็นการสร้างเสียงสังเคราะห์ อันนี้จะเรียกว่า “เบสิd เบส ฟอร์ม” ซึ่งตรงนี้เราสามารถเอามาดัดแปลงใหม่ได้ และมันจะกลายเป็นเสียงใหม่ๆ

• คนทั่วไปอาจจะมองว่าเสียงเป็นพระรอง เพราะใครๆ ก็เน้นที่ภาพ

ผมเชื่อว่ามันไปด้วยกันนะครับ ผมว่ามันเหมือนอาหาร ถ้าเป็นหวัด กินอาหารมันก็ไม่อร่อย คือธรรมชาติของมนุษย์ เวลาเรารับรู้อะไรบางอย่าง ทั้งการสัมผัส ทั้งการได้ยิน ทั้งการได้เห็น ทั้งการได้กลิ่น ใช้ในส่วนหู ตา จมูกต่างๆ พอมันไม่ครบ สุนทรียะมันก็จะไม่เกิด เช่น เวลาเรากินข้าวแล้วมีความสุข สนุกไปกับรสชาติอาหาร แต่ถ้าเกิดมีเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย หรือว่าเราไปกินอาหารมื้อหรูๆ แล้วเกิดมีเสียงรบกวน เสียงเด็กร้องไห้ เสียงอะไรต่างๆ ผมว่าความสุนทรีย์มันก็จะน้อยลงหรือไม่ก็หายไปเลย เหมือนโดนดูด โดนดึง ฉะนั้น ก็เหมือนกัน ภาพและเสียงต้องมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน

เสียงมีความสำคัญและขาดไม่ได้ในงานที่เกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ ถ้าพูดถึงความสำคัญในเรื่องของเสียงกับชีวิตประจำวัน เรามองได้หลายมุมมองครับ ทั้งมุมมองในด้านกายภาพและมุมมองของเสียงที่เกี่ยวกับความรู้สึก เวลาสอนในชั้นเรียน ผมก็จะเน้นให้เห็นตรงนี้ ลูกศิษย์ที่จบไปแล้วหลายคน แม้บางคนจะไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเสียงโดยตรง แต่ก็จะเล็งเห็นความสำคัญของเสียงไปด้วย บางคนที่เรียน เขาชอบมากๆ จนผันตัวเองไปเป็นนักดนตรีเลยก็มีหรือบางคนเรียนด้านนี้ก็ไปเป็น Sound Engineer ก็มี คือเรียนมีเดียอาร์ตจบไป สามารถเป็นได้ทุกอย่างเลยนะครับ เพราะว่ามันจะมี 3 เอก ทั้งกราฟิกดีไซน์ มูฟวี่ดีไซน์ และแอนิเมชัน ส่วนที่ผมสอนจะอยู่ทั้ง 3 กลุ่มเลย เพราะเรื่องเสียงมันสำคัญหมด อย่างสมมติเราดูหนังเรื่องหนึ่ง หนังจะไร้อรรถรสไปเลย ถ้าเสียงไม่ดี อารมณ์เหมือนเป็นหวัดแล้วกินข้าวเลยครับ มันจะรู้สึกว่ามันมีรสชาตินะ แต่มันไม่มีกลิ่นเสริม อาหารก็จะไม่อร่อย

• อยากให้วงการนี้พัฒนาอย่างไรต่อไป ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ ทักษะ และเทคนิคต่างๆ

พูดตามจริง ผมเห็นว่าตอนนี้ บุคลากรหรือคนที่ทำเรื่องของเสียงจริงๆ จังๆ ยังมีน้อยอยู่นะครับ อีกทั้งบ้านเราก็ไม่ค่อยมีคอมมูนิตี้เกี่ยวกับพวกนี้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะไปทางดนตรี ไปเป็นนักดนตรีอะไรซะมากกว่า ผมว่าถ้ามีพวกคอมมูนิตี้ไปทางสายนี้เลย มันน่าจะดีกว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังดีขึ้นกว่าแต่ก่อนนะครับ เพราะแต่ก่อน บ้านเราจะยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญเรื่องเสียงมากเท่าไหร่ งานสายอาชีพนี้เพิ่งมามีตัวตนไม่กี่ปีนี้เองครับ อย่างแต่ก่อน โปรดักชั่นเฮาส์บางที่ เขาจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญตรงนี้เท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้ สื่อเทคโนโลยีคุณภาพดีขึ้น คนเลยต้องการสื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น ชมแล้วได้อรรถรสที่ดีมากขึ้น เปรียบเทียบกับอาหารอีกสักครั้ง อย่างคนในยุคหินจะเอาแค่เนื้อไปย่างไฟกิน แค่นั้นก็อร่อยแล้ว แต่สักพักก็มีคนพัฒนาไปเรื่อยๆ จนมันอร่อยมากยิ่งขึ้น บรรทัดฐานมันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเรื่องอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ เพราะแนวโน้มราคาก็ถูกลง คุณภาพก็ดีขึ้น คนเข้าถึงได้มากขึ้น นั่นหมายความว่าอีกหน่อย คนที่เสพงานของเราก็จะต้องการคุณภาพที่มากขึ้น และผมมองว่าเป็นเรื่องท้าทายและสำคัญมากๆ ที่จะต้องพัฒนาตัวเองควบคู่ไปด้วย

ในอนาคตผมไม่ได้คาดหวังว่าการทำเสียงจะดีมากหรือดีเหมือนต่างประเทศเลย แต่สิ่งที่ผมอยากให้มันเป็นก็คือเราทำให้มันดีที่สุดก็พอ เราทำให้เต็มที่ ทำให้งานออกมาแฮปปี้ เพราะสุดท้ายมันจะสามารถออกไปสู่โลกภายนอกได้ ผมเชื่อว่าคนในบ้านเรา หลายคนเก่งมากๆ เลยถ้าไปสู้ฝรั่งก็สามารถวัดกันได้สบายอยู่แล้วครับ

• ถ้ามีคนสนใจอยากเป็นซินธิไซเซอร์หรือทำงานด้านเสียงบ้าง จะแนะนำเขาอย่างไรบ้าง

ต้องเริ่มจากชอบฟัง ชอบสังเกตก่อนครับ ก็เหมือนกับเวลากิน เรากิน เราก็ต้องรู้จักแยกวัตถุดิบว่าเขาใส่อะไรบ้าง ทำไมมันถึงอร่อย เราต้องรู้จักสังเกต เพราะเราจะได้รู้ว่ามันมีคุณค่าตรงไหน อย่างผมจะเป็นคนที่ชอบฟังเพลงทุกแนวอยู่ตลอด ที่สำคัญต้องฝึกเยอะๆ ที่ผมบอกไปว่าต้องสังเกตเยอะๆ มันก็คือส่วนหนึ่งของการฝึกฝนด้วย อีกอย่าง ต้องรู้จักทดลองเยอะ เริ่มทำเลย ทำเดี๋ยวนี้เลย เพราะเวลาเราทดลองอะไรต่างๆ ผมจะเน้นนักเรียนอยู่เสมอว่าเวลาเราทำงาน อย่ามัวแต่คิด ให้ลงมือทำเลย เพราะถ้าเราลงมือทำแล้วเราจะได้แนวคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อจะได้เสริมและพัฒนาคอนเซ็ปต์ของเราไปได้เรื่อยๆ

Like
ชอบเสียงบรรยากาศครับ บางทีเวลาเรานั่งที่เงียบๆ เสียงรอบๆ ตัวก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ บางทีนั่งในห้องเฉยๆ นั่งในป่า นั่งริมทะเล มันมักจะมี detail เล็กๆ น้อยๆ เราฟังก็จะ enjoy กับการค้นหาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในสถานที่นั้นไปด้วย

Don’t like
เสียงเพี้ยนทุกประเภทครับ โดยเฉพาะกีตาร์ ฟังแล้วจั๊กจี้หู ยิ่งถ้าเขาฝืนเล่น ผมฟังแล้วตัวจะบิดงอเลย คันมืออยากเอื้อมไปปรับให้ด้วย น่าจะเพราะความที่เราก็ทำงานเกี่ยวกับเพลงด้วย เลยมีจับผิดบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติ

เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น