โดย สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล
Fund Super Mart Analyst
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในช่วงที่ผ่านมาผมได้พบปะนักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่มากมาย และได้ตอบคำถามเกี่ยวกับกองทุนรวมให้แก่นักลงทุนไปไม่น้อย สิ่งหนึ่งที่สังเกตจากประสบการณ์ที่พบปะพูดคุยกับนักลงทุน นั่นก็คือ ยังมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนกันอยู่
ประเด็นแรกที่คนมักเข้าใจผิดกันคือ กองทุนที่ปันผลนั้นเป็นกองทุนที่ดี บริหารเก่ง จึงมีเงินจ่ายปันผล กองทุนไม่ปันผลนั้นแปลว่าเป็นกองทุนที่ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย
จะพูดเช่นนั้นก็คงไม่ถูก ขอยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือกองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 ของ บลจ.บัวหลวงที่ถือเป็นกองทุนที่มี performance ระยะยาวในเกณฑ์ที่ดีมาก NAV โตแล้วโตอีก แถมความผันผวนก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่กลับเป็นกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล ในขณะที่กองทุนที่จ่ายเงินปันผลบ่อยๆ จาก บลจ.ที่แม้จะจ่ายปันผลบ่อยมากแต่เงินทุนนี่เรียกว่าแทบจะไม่โตเลย แบบนี้จะบอกว่ากองทุนปันผลคือกองทุนที่บริหารงานเก่งกว่าจนมีเงินมาจ่ายปันผลได้หรือ
ประเด็นที่สองคือ หลายคนเข้าใจว่ากองทุนปันผลต้องลงทุนในหุ้นปันผลและกองทุนที่ลงทุนในหุ้นปันผลจะต้องจ่ายปันผลเสมอ
ในความเป็นจริงกองทุนที่จ่ายปันผลนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นปันผล และกองทุนที่ลงทุนในหุ้นปันผลก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายปันผลเสมอไป ประเด็นนี้คงทำให้หลายคนสงสัยว่า ถ้ากองทุนที่จ่ายปันผลแต่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นที่ปันผลแบบนี้กองทุนที่จ่ายปันผลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายปันผลหรือครับ? คำตอบก็คือ กองทุนเขาอาจขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่เพื่อกำไร หลังจากได้เงินมาก้อนหนึ่ง ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ลงทุนต่อและอีกส่วนหนึ่งก็นำมาปันผลให้เรา
ส่วนประเด็นที่กองทุนที่ลงทุนในหุ้นปันผลแต่ตัวเองดันไม่จ่ายปันผลคืนให้นักลงทุนอย่างเรา...คงจะพอเดากันได้ใช่ไหมว่ากองทุนนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไร? คำตอบก็คือ นำเงินที่ได้รับจากปันผลหุ้นที่ถือครองไปลงทุนเพิ่ม หรือที่เรียกว่า Reinvest เพื่อทำให้กระแสเงินสดที่ได้มาจากปันผลเติบโตและเพิ่มมูลค่าของหน่วยลงทุนของเรานั่นเอง
ประเด็นที่สามคือนักลงทุนหลายคนเข้าใจว่ามีเพียงกองปันผลเท่านั้นที่จะให้กระแสเงินสดในระหว่างที่ลงทุน
หลายคนคงถามกลับว่าเราสามารถได้กระแสเงินสดจากการลงทุนในกองทุนที่ไม่ปันผลได้ด้วยหรือ? ขอตอบว่า มี ทราบหรือไม่ว่าบาง บลจ.มีทางเลือกในการจ่ายกระแสเงินสดในอีกรูปแบบให้แก่นักลงทุนซึ่งเรียกว่า Auto-redemption
ทั้งนี้ การ Auto-redemption คือการที่กองทุนซื้อหน่วยลงทุนคืนจากนักลงทุนโดยอัตโนมัติเมื่อถึงรอบเวลาที่กำหนด หรือเมื่อผู้จัดการกองทุนพิจารณาว่าจะจ่ายกระแสเงินสดให้นักลงทุนบ้างแล้ว ในกรณีนี้หลายคนอาจคิดว่าถ้าเช่นนั้นจำนวนหน่วยลงทุนที่เราเหลือก็จะลดลง เช่นนี้ก็คงไม่ต่างกับกองทุนปันผล เพราะกองทุนปันผลเวลาจ่ายปันผลมาแล้วเราจะเหลือหน่วยลงทุนเท่าเดิม
ถ้าพูดกันเรื่องจำนวนหน่วยถือครองก็ถือว่าถูก หน่วยลงทุนของเราจะลดลงแต่มูลค่าที่เป็นตัวเงินนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลย รู้หรือไม่ว่าเวลาที่กองทุนจ่ายปันผลมาให้เรา มูลค่าต่อหน่วยกองทุนจะลดลงเท่าๆ กับเงินปันผลที่จ่ายออกมา ในขณะที่การจ่ายปันผลในรูปแบบ Auto-redemption นั้นมูลค่าต่อหน่วยลงทุนจะยังคงเท่าเดิม ลดลงมาเหมือนกรณีที่กองทุนจ่ายเงินปันผลออกมาในรูปแบบเงินสด
ดังนั้นผมจึงเปรียบเทียบกองทุนที่มีการทำ Auto-redemption ว่าเป็นกองทุนที่จ่ายปันผลเพียงแต่รูปแบบในการจ่ายเงินนั้นอาจต่างออกไปเท่านั้นเอง