ประเทศไทยเคยมีจังหวัดอีก ๔ จังหวัด นอกเหนือจาก ๗๖ จังหวัดในปัจจุบัน แต่ก็เหมือนจังหวัดในฝัน ตั้งขึ้นมาด้วยความชื่นชมยินดีของคนทั้งประเทศ แต่อยู่ได้เพียง ๕ ปี ๔ เดือน ๑ วันก็ฝันสลาย เหมือนไม่เคยมี ๔ จังหวัดนี้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๒ ฝรั่งเศสได้ยื่นเสนอต่อไทยขอทำสัญญาไม่รุกรานกัน เพราะเยอรมันซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีท่าทีว่าจะคุกคามยุโรป ฝรั่งเศสซึ่งสร้างความแค้นไว้กับไทยมากในสมัยล่าอาณานิคม เกรงว่าไทยจะชำระแค้นตอนถูกเยอรมันบุกทางยุโรปถือโอกาสบุกเข้าอินโดจีนด้วย ไทยก็ตอบว่ายินดีจะเจรจาทำสัญญาด้วย แต่ขอให้ปรับปรุงปัญหาเขตแดนเสียด้วยเลย ฝรั่งเศสก็ตกลงว่าจะส่งข้าราชการระดับเอกอัครราชทูตมาเจรจาด้วย แต่แล้วในวันที่ ๑ กันยายนนั้น เยอรมันก็บุกยุโรปแบบสายฟ้าแลบ การเจรจาเรื่องนี้จึงระงับไป
เมื่อฝรั่งเศสทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมันในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๓ แล้ว จึงยื่นข้อเสนอมาใหม่ ว่าจะไม่ส่งเอกอัครราชทูตมา ให้อัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯลงนามในสัญญาไม่รุกรานกันแทน และให้มีผลใช้บังคับทันที ไทยก็ตอบตกลง แต่ขอให้ฝรั่งเศสตกลงก่อนว่า
๑. วางเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงใหม่ ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยใช้ร่องน้ำลึกที่ใช้เดินเรือเป็นเกณฑ์ เพราะตอนนั้นฝรั่งเศสถือเอาแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว เกาะในแม่น้ำแม้ชิดฝั่งไทยก็เป็นของฝรั่งเศส ไทยเราก้าวลงจากตลิ่งไม่ได้เลย
๒. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือใช้แม่น้ำโขงแบ่งเขตแดนตั้งแต่ด้านเหนือสุดจนลงมาถึงดินแดนกัมพูชา ให้ฝ่ายไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง กับตรงข้ามปากเซคืนมา
๓. ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอธิปไตยในอินโดจีนจะเปลี่ยนไปจากฝรั่งเศส ขอให้คืนดินแดนลาวและกัมพูชาให้ไทยก่อน
ที่พูดไปเช่นนี้ก็เพราะไทยเห็นว่าญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไปเต็มอินโดจีน อ้างว่าจะขอขึ้นไปยันกองทัพจีนทางด้านเหนือ โดยฝรั่งเศสไม่มีน้ำยาจะต่อต้าน ไทยเกรงว่าถ้าญี่ปุ่นยึดอินโดจีน ดินแดนของไทยที่ฝรั่งเศสบังคับเอาไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะตกเป็นของญี่ปุ่นด้วย มหาอำนาจหลายชาติก็เห็นด้วยกับไทย ว่าให้ไทยยังมีบุญคุณ ดีกว่าให้ญี่ปุ่นยึด
แต่ฝรั่งเศสเห็นข้อเสนอของไทยแล้วก็อารมณ์เสีย แม้จะหมดน้ำยาแล้วก็ยังไว้ศักดิ์ศรี ตอบกลับมาว่า จะป้องกันอินโดจีนของตนไม่ว่าจะมีศัตรูมาจากแห่งใด แต่ที่ญี่ปุ่นเข้าไปเต็มทำไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งยังขนทหารและอาวุธมาประชิดชายแดน ส่งเครื่องบินรุกล้ำเข้ามาจนกระทบกระทั่งกันเป็นประจำ นักเรียนนิสิตนักศึกษาจึงเดินขบวนครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๓ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังบังคับเอาดินแดนคืนมาจากฝรั่งเศส การเดินขบวนนี้ยังกระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ แสดงประชามติให้รัฐบาลรบ
หลังจากปะทะกันตามชายแดนมาหลายครั้ง ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสก็เล่นของหนัก ส่งเครื่องบินฝูงหนึ่งเข้ามาทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม กองทัพไทยเลยได้ฤกษ์ ส่งทหารลุยข้ามโขง ปรากฏว่าฝรั่งเศสถอยทุกสมรภูมิ รบกันได้แค่ ๒๒ วันฝรั่งเศสก็ไปขอให้ญี่ปุ่นมาช่วยเจรจาสงบศึก ยอมตามคำเรียกร้องของไทย และญี่ปุ่นยังให้แถมมาด้วย
ไทยได้ออกพระราชบัญญัติจัดการปกครองดินแดนที่ได้คืนจากฝรั่งเศส ตั้งขึ้นเป็น ๔ จังหวัดในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๔ คือ
จังหวัดล้านช้าง
ได้แก่ดินแดนหลวงพระบางฝั่งขวา อันเป็นแคว้นปากลาย แบ่งเป็น ๕ อำเภอ คือ
๑. อำเภอปากลาย เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภออดุลเดชจรัส เป็นเกียรติ พล.ต.ต.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ
อำเภอหงษา เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหาญสงคราม เป็นเกียรติแก่ นายพันโทหลวงหาญ
สงคราม แม่ทัพกองพลบูรพา
ส่วนอำเภอสะมาบุรี อำเภอแก่นท้าว อำเภอเชียงฮ่อน คงใช้ตามชื่อเดิม
จังหวัดพระตะบอง
รวมเมืองพระตะบองและศรีโสภณเป็นจังหวัดพระตะบอง แบ่งออกเป็น ๗ อำเภอ คือ
อำเภอสังแก เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอพรหมโยธี เป็นเกียรติแก่ พันเอกหลวงพรหมโยธี (มังกร
พรหมโยธี) แม่ทัพบูรพา
๒. อำเภอระสือ เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภออธึกเทวเดช เป็นเกียรติแก่ พลอากาศตรีหลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) แม่ทัพอากาศ แต่ในเดือนเมษายน ๒๔๘๖ ก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น อำเภอรณนภากาศ เพราะหลวงอธึกเทวเดชลาออก แม่ทัพอากาศคนใหม่คือ หลวงรณนภากาศ (ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี)
๓. อำเภอดึกโช เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสินธุสงครามชัย เป็นเกียรติแก่ พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ สงครามชัย) แม่ทัพเรือ
ส่วนอีก ๔ อำเภอ คือ อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอมงคลบุรี อำเภอศรีโสภณ และอำเภอไพลิน คงใช้ชื่อเดิม
จังหวัดพิบูลสงคราม
คือเมืองเสียมราฐในส่วนที่ได้มานอกจากนครวัด เปลี่ยนชื่อให้เป็นเกียรติแก่ พลตรีหลวง
พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศกระโดดข้ามขั้นขึ้นเป็นจอมพล ตั้งเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม แบ่งการปกครองออกเป็น ๖ อำเภอ คือ
๑. อำเภอบ้านพวก เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอไพรีระย่อเดช เป็นเกียรติแก่ พันเอกหลวงไพรีระย่อเดช (ชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช) รองแม่ทัพบูรพา
อำเภอสำโรง เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นเกียรติแก่ พันเอกหลวง
เกรียงศักดิ์พิชิต (พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต) แม่ทัพอีสาน
ส่วนอีก ๔ อำเภอ คือ กลันทบุรี พรหมขันธุ์ วารีแสน และจอมกระสาน คงใช้ชื่อเดิม
จังหวัดนครจัมปาศักดิ์
คือดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามนครปาศักดิ์ของแคว้นลาว แบ่งเป็น ๕ อำเภอ คือ
อำเภอนครจัมปาศักดิ์เดิม เป็นอำเภอเมืองนครจัมปาศักดิ์
อำเภอมูลป่าโมกข์เดิม เปลี่ยนเป็น อำเภอวรรณไวทยากร เป็นเกียรติแก่ พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร หัวหน้าคณะผู้แทนไทยผู้ไปเซ็นสัญญาสงบศึกที่โตเกียว
ส่วนอำเภอธาราบริวัตร อำเภอมะโนไพร และอำเภอโพนทอง ยังคงใช้ชื่อเดิม
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ อังกฤษออกหน้าบีบให้ไทยคืนดินแดนที่ได้มาในสงครามอินโดจีนให้ฝรั่งเศส เมื่อไทยนำเรื่องไปปรึกษาอเมริกา ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้รีบตกลงกับฝรั่งเศสเสีย มิฉะนั้นฝรั่งเศสจะทำเรื่องวุ่นที่ชายแดนขึ้นอีก และขณะที่กำลังเจรจากันนั้นฝรั่งเศสก็ยิงปืนเล็กปืนใหญ่ข้ามโขงมา ทั้งยังส่งทหารข้ามมายึดดินแดนไทยอยู่หลายวัน อ้างว่าติดตามผู้ร้ายที่ไปรังควานฝรั่งเศส ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายต่างก็เร่งให้ไทยรีบยุติกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ในที่สุดรัฐบาลไทยต้องยอมไปทำสัญญาที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ให้เป็นไปตามประสงค์ของอังกฤษและอเมริกา
๔ จังหวัดใหม่ของไทยจึงต้องสลายไปเพราะสัญญานี้ เหมือนตื่นจากฝัน เหลือแต่เพียงตราจังหวัดที่ออกใช้ในระหว่างนั้นเป็นอนุสรณ์