xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

อนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง ในค่ายพระยอดเมืองขวาง นครพนม
ในยุคที่ไทยถูกนักล่าอาณานิคมคุกคามอย่างหนัก มีเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความระทึกใจให้คนทั้งเมืองและดังไปถึงยุโรป ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการต่างต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด ยอมให้นักล่าอาณานิคมบีบจะเอาอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยนก็ได้ แต่ไม่ยอมอย่างเดียวที่จะให้ข้าราชการไทยใจเด็ดคนหนึ่งต้องติดคุก ถึงกับเอาตัวไปซ่อนหลังจากศาลมีคำพิพากษา

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ร.ศ.๑๑๒ ที่ไทยต้องเผชิญภัยอย่างหนักเกือบเอาตัวไม่รอด หลังจากที่ฝรั่งเศสยึดญวนได้แล้วก็พยายามจะรุกคืบเข้าสู่ดินแดนไทย เมืองใดที่เคยเป็นของญวนมาตั้งแต่สมัยไหน ฝรั่งเศสก็อ้างว่าต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย แม้ไทยจะครอบครองมานานแค่ไหนก็ตาม

ดีที่ตอนยึดเขมร ไม่อ้างว่าขอมเคยครอบครองสุวรรณภูมิมาก่อน

ขณะนั้นดินแดนของไทยครอบคลุมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนจรดเขตแดนญวน โดยมีเมืองคำม่วน เมืองคำเกิดเป็นเมืองชายแดน ขึ้นกับเมืองท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครพนม) ฝรั่งเศสจึงใช้อำนาจบาตรใหญ่ส่งทหารเข้าขับไล่ข้าราชการไทย จะให้ออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด เพื่อขยายอาณานิคมของตนจนจรดแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ

ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ส่งทหารกองหนึ่งที่มีมองสิเออร์ลูซ เป็นผู้บังคับบัญชา มองสิเออร์โซเลร์เป็นผู้ช่วย และยังมีมองสิเออร์กรอสกุรัง ผู้ว่าราชการเมืองวินห์ อาสามาด้วยในฐานะผู้ชำนาญพื้นที่ มีพลทหารเกณฑ์จากญวนและเขมร ๒๐๐ คน เคลื่อนเข้ายึดเมืองเชียงร่มและเมืองผาบังเป็นอันดับแรก คุมตัวข้าหลวงไว้ได้ เมื่อเมืองทั้ง ๒ ถูกฝรั่งเศสยึดไป พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพชร) เจ้าเมืองคำม่วนและคำเกิด เห็นว่าเมืองในปกครองตกอยู่ในอันตราย จึงส่งหนังสือไปถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่เมืองลาวพวน ขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็เตรียมเสบียงอาหารที่จะสู้ศึก

กรมหมื่นประจักษ์ฯรับสั่งให้หลวงวิชิตสรสาตร เจ้าเมืองท่าอุเทน มีคำสั่งไปถึงพระยอดเมืองขวางว่า อย่าได้หวาดหวั่นถอยหนีเป็นอันขาด ให้ตั้งมั่นอยู่ตามหน้าที่

พร้อมกันนั้นหลวงวิชิตฯก็ส่งทหาร ๑๔๔ คนไปช่วย แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว

ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ทหารฝรั่งเศสได้เข้าล้อมเมืองคำม่วน ตามรายงานกล่าวว่า พระยอดเมืองขวางมีทหารอยู่เพียง “สองโหล” เท่านั้น จึงต้องยอมให้ฝรั่งเศสเข้าเมืองแต่โดยดี

นายลูซอ้างว่าดินแดนแถบนี้เป็นของญวนจึงต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย พระยอดเมืองขวางก็เถียงว่าเป็นของไทยและปกครองมาหลายปีแล้ว ให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงกันก่อน เมื่อสั่งการมาอย่างไรจะยอมปฏิบัติตาม แต่นายลูซไม่ฟัง ใช้กำลังบังคับให้ข้าราชการไทยทั้งหมดออกจากเมือง

เมื่อต้องจำนนต่อกองกำลังของฝรั่งเศส พระยอดเมืองขวางจึงทำหนังสืออายัดเมืองมอบให้แก่นายลูซ พร้อมกับโทรเลขรายงานข้อความมายังกรุงเทพฯ ว่า

“ข้าพเจ้าพระยอดเมืองขวาง ปลัดข้าหลวงรักษาราชการเมืองคำเกิด คำม่วน ทำคำมอบอายัดเขตแดนแผ่นดินและผลประโยชน์ในเมืองคำม่วน ไว้กับกงถือฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง

ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักรศิลปาคม โปรดเกล้าให้ข้าพเจ้าขึ้นมารักษาราชการเมืองคำเกิด คำม่วน ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยามติดต่อกับเขตแดนเมืองญวนที่น้ำแข็งด้านตาป้อ ข้าพเจ้าได้รักษาราชการและท้าวเพี้ย ไพร่ภาษาต่างๆ ให้อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยโดยยุติธรรมมาช้านานหลายปี ครั้นถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๒ ท่านกับนายทหารฝรั่งเศสอีก ๔ คนคุมทหารประมาณสองร้อยเศษมาปล้นค่ายข้าพเจ้า แล้วเอาทหารล้อมจับผลักไสแทงด้วยอาวุธขับไล่คุมตัวข้าพเจ้ากับหลวงขุนหมื่นทหารออกจากค่าย

ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ จะอยู่รักษาผลประโยชน์ตามคำสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นเจ้าของข้าพเจ้าต่อไป กงถือฝรั่งเศสหาให้อยู่ไม่ ฉุดลากข้าพเจ้ากับขุนหมื่นทหาร ข้าพเจ้าขอมอบอายัดเขตแดนแผ่นดิน ท้าวเพี้ย ไพร่แลผลประโยชน์ของฝ่ายกรุงสยามไว้กับกงถือฝรั่งเศส กว่าจะมีคำสั่งมาประการใด จึงจะจัดการต่อไป และให้กงถือฝรั่งเศสเอาหนังสือนี้ไปแสดงกับคอเวอรนเมนต์ฝรั่งเศสและสยาม ให้ชำระตัดสินคืนให้กับกรุงสยามตามธรรมเนียมแผนที่เขตแดนแผ่นดินซึ่งเป็นของกรุงสยามตามอย่างธรรมเนียมไทย ฝ่ายกรุงสยามถือว่าเป็นของฝ่ายกรุงสยามได้รักษามาแต่เดิม
พระยอดเมืองขวาง

นายลูซได้สั่งให้นายกรอสกุรังนำทหารคุมพระยอดเมืองขวางไปส่งที่เมืองท่าอุเทน อ้างว่าราษฎรเกลียดชังพระยอดเมืองขวางเกรงจะมีอันตรายระหว่างทาง แต่เดินทางมาได้ ๒ คืนถึงบ้านนาหลักหิน เขตติดต่อเมืองท่าอุเทน นายกรอสกุรังเกิดไม่สบายจึงแยกไปพักที่บ้านแก่งเกียด หรือที่ไทยเรียกว่าแก่งเจ๊ก พระยอดเมืองขวางและคณะจึงพักที่บ้านนาหลักหินนั้น แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นนายกรอสกุรังก็ส่งทหารมาจับหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง อ้างว่าหลวงอนุรักษ์ไปปลุกปั่นราษฎรให้กระด้างกระเดื่องต่อฝรั่งเศส โดยฉุดกระชากลากตัวไปต่อหน้า พระยอดเมืองขวางพยายามเจรจาขอให้ปล่อย ทหารฝรั่งเศสก็จะจับพระยอดเมืองขวางอีกคน จึงต้องพากันถอยไปที่เวียงกระแสนซึ่งอยู่ห่างระยะเดินทาง ๔-๕ ชั่วโมง

เมื่อถึงเวียงกระแสน พระยอดเมืองขวางก็ได้พบกับนายทุ้ย นายแปลก และขุนวัง ซึ่งหลวงวิชิตสารสาตร ข้าหลวงเมืองท่าอุเทนให้คุมทหารหน่วยแรก ๕๐ คนมาช่วย ทั้ง ๔ จึงปรึกษากันที่จะไปช่วยหลวงอนุรักษ์ก่อนอื่น

ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๓๖ พระยอดเมืองขวางพร้อมด้วยนายทุ้ย นายแปลก และขุนวังได้นำทหาร ๑๙ คน แต่มีอาวุธเพียง ๖ คน ไปพบนายกรอสกุรังที่บ้านพัก และให้ขุนวังเป็นผู้เข้าไปเจรจา ส่วนที่เหลือยืนอยู่ห่างราว ๗ วา นายกรอสกุรังปฏิเสธที่จะปล่อยหลวงอนุรักษ์ และจับข้อมือดึงจากระเบียงจะกลับเข้าไปในห้อง พระยอดเมืองขวางได้ตะโกนให้หลวงอนุรักษ์หนี หลวงอนุรักษ์จึงสะบัดมือจากนายกรอสกุรังแล้วกระโดดลงเรือนวิ่งเข้าหากลุ่มคนไทย จากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น ๑นัด ถูกทหารที่ยืนอยู่หน้าพระยอดเมืองขวางตาย และยังมีกระสุนที่ยิงมาจากบนบ้านอีก ๒-๓ นัด ถูกฝ่ายไทยตายอีกรวมทั้งขุนวังคนเจรจา พระยอดเมืองขวางจึงสั่งยิงตอบทันที

ทั้งสองฝ่ายสาดกระสุนเข้าใส่กัน แม้ฝ่ายฝรั่งเศสจะมีกำลังคนและอาวุธที่เหนือกว่า ฝ่ายไทยก็ไม่ถอย พระยอดเมืองขวางนอกจากจะเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่กับทหารแล้ว ยังร่ายกลอนกลางเสียงปืนปลุกขวัญให้ทหารฮึกเหิมด้วยว่า

“เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร”

ซึ่งประโยคนี้เลยเป็นคาถาที่ทหารและข้าราชการไทยใช้ปลุกใจกันต่อมา

ผลของการต่อสู้ นายกรอสกุรังและทหารญวนอีก ๑๒ คนตายในที่รบ ส่วนฝ่ายไทยตาย ๖ คน เกิดเพลิงไหม้บ้านพักนายโกรสกุรังจนหมดทั้งหลัง ทหารไทยเก็บปืนฝรั่งเศสมาได้ ๑๐ กระบอก และจับเป็นทหารญวนได้อีกหลายคน รวมทั้งนายบุนจัน ล่ามเขมร และนายงูเย็นวันคัน ทหารญวนที่บาดเจ็บ

การรบย่อยๆนี้ ทำให้ฝรั่งเศสโกรธแค้นอย่างหนักที่เสียหน้า เป็นครั้งแรกที่แพ้ต่อคนเอเชียซึ่งตนดูถูกมาตลอดว่าด้อยพัฒนา ไม่มีทางต่อสู้กับฝรั่งเศส มองสิเออร์ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม ตัวการสำคัญในการล่าอาณานิคม จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ ยื่นประท้วงให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางอย่างหนักที่ฆ่านายทหารฝรั่งเศส และจ่ายค่าทำขวัญแก่ครอบครัวทหารญวนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ฝ่ายทางการไทยเห็นว่าพระยอดเมืองขวางทำไปถูกต้องชอบธรรมที่ข้าราชการผู้รักชาติรักแผ่นดินต้องปฏิบัติ ควรจะได้ความดีความชอบด้วยซ้ำ ไม่ใช่ถูกลงโทษ จึงจะยอมให้พระยอดเมืองขวางถูกลงโทษไม่ได้ เพราะจะทำให้ข้าราชการไทยเสียขวัญหมดกำลังใจ ต่อไปจะไม่มีใครกล้าหือกับฝรั่งเศสอีก ต้องยอมให้หมาป่าข่มขู่อยู่ข้างเดียว

แต่ยามนั้นฝรั่งเศสถือแต้มเหนือกว่าด้วยอาวุธและกองเรือรบ บีบบังคับจะลงโทษพระยอดเมืองขวางให้ได้ ฝ่ายไทยจำต้องโอนอ่อน แต่ก็ไม่ใช่ยอมอย่างราบคาบ

ฝ่ายไทยเห็นว่าการลงโทษพระยอดเมืองขวางต้องเป็นไปตามกระบวนการศาล แต่ถ้าศาลไทยตัดสินว่าพระยอดเมืองขวางไม่มีความผิด ฝรั่งเศสก็คงไม่ยอมรับคำพิพากษาแน่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ทรงดำริที่จะเชิญนักกฎหมายชาวยุโรปและอเมริกามาเป็นผู้พิพากษา แต่ ม.ปาวีกลับไม่เห็นด้วย อ้างว่าตามอนุสัญญาข้อตกลงที่ทำกันไว้ต้องใช้ศาลไทย ฝ่ายไทยขอให้ใช้ศาลกงสุลในไทย ซึ่งผู้พิพากษาล้วนแต่เป็นกงสุลต่างประเทศ ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมอีก เพราะถ้าศาลตัดสินออกมาไม่ตรงกับความต้องการ ก็ลำบากใจที่จะคัดค้าน ไม่เหมือนศาลไทยที่ข่มขู่เอาได้

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่งเป็นการพิเศษครั้งหนึ่ง สำหรับชำระคนในบังคับสยามที่ต้องหาว่ากระทำความผิดกฎหมายที่ทุ่งเชียงคำ แลแก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน” ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๗ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นประธานผู้พิพากษา มีหลวงสุนทรโกษากับนายหัสบำเรอ หุ้มแพร เป็นทนายแผ่นดิน

ข้อกล่าวหาที่ทนายแผ่นดินยื่นฟ้องพระยอดเมืองขวาง โดยมีนักกฎหมายของฝรั่งเศสมากำกับคดี ให้คำแนะนำกับทนายแผ่นดิน ก็คือ

๑. ได้จงใจและตั้งใจที่จะฆ่าไว้ก่อน ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่านายทหารฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ชื่อมองสิเออร์กรอสกุรัง ตาย

๒. ได้จงใจและตั้งใจที่จะฆ่าไว้ก่อน ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่าพลทหารญวนที่กำหนดรู้แน่ไม่ได้อยู่ในระหว่าง ๑๖ ถึง ๒๔ คน ซึ่งเป็นทหารแต่ส่วนหนึ่งในกองทัพที่มองสิเออร์กรอสกุรังได้บังคับ

๓. ได้จงใจทำเองหรือสั่งให้คนอื่นทำอันตรายมีบาดเจ็บสาหัสแก่บุนจัน ล่ามเขมร กับงูเยนวันคัน ทหารญวน

๔. ได้ปล้นหรือสั่งให้คนอื่นเอาเครื่องศาสตราวุธและกระสุนดินดำ กับทั้งสิ่งของเครื่องใช้สำหรับตัวมองสิเออร์กรอสกุรังแลล่ามเขมรบุนจัน กับเงิน ๘๒ เหรียญซึ่งบรรจุอยู่ในหีบของล่ามนี้ด้วย

๕. ได้จงใจแกล้งทิ้งไฟหรือสั่งให้เอาไฟเผาเรือนโรงซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังและพลทหารของเขาอยู่นั้นไหม้เสีย

การกระทำของจำเลยดังกล่าว อาจก่อให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นได้

ในตอนท้ายของคำฟ้อง ยังขอให้ศาลพิจารณาโทษของพระยอดเมืองขวางในลักษณะโทษ ๘ สถานของไทยในอาญาหลวง เช่น ให้ฆ่าเสีย ให้ตัดมือตัดตีนแล้วประจาน ให้ทวนด้วยลวดหนัง ไม้หวาย ๕๐ ทีแล้วจำไว้ เอาตัวลงหญ้าช้าง เป็นต้น และสำหรับโทษที่ทิ้งไฟก็มีระบุให้ลงโทษถึงตายได้

พระยอดเมืองขวางมีอายุประมาณ ๔๐ ปี เกิดที่นครสวรรค์แล้วมาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าเมืองคำม่วน คำเกิด มา ๘ ปีแล้วก่อนเกิดเหตุ

ศาลได้เริ่มพิจารณาคดีในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๗ และอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๗ มีนาคมต่อมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จำเลยพ้นผิด ปล่อยตัวเป็นอิสระ

ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างยิ่งกับคำพิพากษาของศาล รู้สึกเหมือนถูกหยามหน้าอีกครั้งที่เอาคนทำฝรั่งเศสเสื่อมเสียเกียรติมาลงโทษไม่ได้ จึงหารือมาทางกระทรวงต่างประเทศว่าศาลไทยไม่ยุติธรรม ขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ โดยใช้ “ศาลผสม”

ศาลผสมที่ฝรั่งเศสเรียกร้องมานี้ ให้มีผู้พิพากษาฝ่ายละ ๒ คน โดยมีอธิบดีศาลอุทธรณ์เมืองฮานอยของฝรั่งเศสเป็นประธาน จึงเท่ากับ ๓ ต่อ ๒

แบบนี้ผู้พิพากษาฝ่ายไทยก็ต้องแพ้วันยังค่ำ พระยอดเมืองขวางถ้าไม่ถึงตายก็ต้องติดคุกหัวโตแน่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า

“...แลไม่เห็นเลยว่าจะจบลงเพียงใดกว่าจะตัดหัวพระยอด...”

พระยอดเมืองขวางจึงต้องตกเป็นจำเลยของศาลผสมอีกครั้งในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๓๗ ด้วยข้อหาแบบเดิม แต่มีหลักฐานใหม่ที่นำยื่นต่อศาลในครั้งนี้ คือหนังสือที่พระยอดเมืองขวางมีไปถึงข้าหลวงเมืองท่าอุเทน ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๓๖ ขอให้ยกกำลังทหารมาช่วยต่อสู้ฝรั่งเศส ซึ่งหลักฐานนี้ยืนยันว่าพระยอดเมืองขวางตั้งใจจะรบกับฝรั่งเศสอยู่แล้ว

ในที่สุดศาลผสมก็นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๓๗ ซึ่งฝ่ายไทยเดาออกแล้วว่าคำตัดสินจะออกมาในรูปไหน จึงไม่ให้พระยอดเมืองขวางไปฟังคำพิพากษา เพราะเกรงว่าฝรั่งเศสจะเอาตัวไปคุมขังในดินแดนของฝรั่งเศส ศาลเลยเลื่อนวันอ่านคำพิพากษาออกไป เพราะเดาได้เหมือนกันว่า ถ้าพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด พระยอดเมืองขวางก็จะหลบหนีไปโดยฝ่ายไทยรู้เห็นเป็นใจ ต่างฝ่ายต่างรู้เชิงกัน

หลังจากที่มีการเจรจาต่อรอง ฝรั่งเศสสัญญาว่าถ้าศาลพิพากษาว่าพระยอดเมืองขวางมีความผิด ก็จะให้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายควบคุมตัวนักโทษไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทยจะตกลงกันว่าให้ควบคุมนักโทษไว้ที่ใด ฝ่ายไทยจึงยอมให้พระยอดเมืองขวางไปฟังคำพิพากษาของศาล

ศาลผสมได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๓ มิถุนายนต่อมา ให้จำคุกพระยอดเมืองขวางไว้เป็นเวลา ๒๐ ปี

คำตัดสินนี้ทำความขุ่นเคืองโกรธแค้นแก่ฝ่ายไทยมาก พระพุทธเจ้าหลวงถึงกับรับสั่งว่า

“...การที่มันทำก็เป็นเรื่องที่น่าแค้นเคืองเจ็บช้ำมาก...”

รุ่งขึ้นในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ฝรั่งเศสก็ขอให้ไทยส่งตัวพระยอดเมืองขวางไปขังไว้ในเรือรบฝรั่งเศส เพื่อที่จะส่งตัวออกไปขังในดินแดนของฝรั่งเศสแห่งหนึ่งแห่งใดต่อไป

การยอมรับให้ฝ่ายไทยควบคุมตัวไว้ก่อนจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน ก็เป็นแค่การหลอกลวงเท่านั้น ให้มีหลักฐานว่าฝ่ายไทยเป็นผู้ควบคุมตัวพระยอดเมืองขวางไว้ ไม่ใช่หาตัวไม่ได้ว่าหลบอยู่ที่ใด

คำขอของฝรั่งเศสนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยยอมไม่ได้อย่างแน่นอน กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการทรงมีหนังสือไปถึงอุปทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ว่า คำตัดสินลงโทษพระยอดเมืองขวางแม้จะรุนแรงเพียงใด ฝ่ายไทยก็ยอมรับโทษนั้นโดยไม่เถียงเลย แต่การจะเอาตัวไปจองจำในต่างแดนถึง ๒๐ ปีนับเป็นเรื่องที่ทารุณเกินไป นักโทษคงจะต้องตรอมใจตายก่อนแน่ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโทษเนรเทศนอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลอีกด้วย

ถึงแม้กรมหลวงเทวะวงษ์ฯ จะทรงอัดอั้นขมขื่นพระทัยเพียงใด ก็ไม่ทรงท้อที่จะเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อช่วยพระยอดเมืองวางต่อไป ทรงใช้วิธีทางการทูตผ่านพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส

ในระนั้นเรื่องราวของพระยอดเมืองขวางก็เป็นข่าวที่เกรียวกราวพอควรในยุโรป หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงความเห็นว่าดินแดนเหล่านั้นเป็นของไทย ฝรั่งเศสเป็นผู้รุกราน ทำให้ฝรั่งเศสต้องเสื่อมเสียมาก จึงไม่อยากให้เรื่องนี้อื้อฉาวต่อไป ในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสก็ตอบรับว่ายินดีจะเลิกการร้องขอให้ไทยส่งตัวพระยอดเมืองขวางให้กับฝรั่งเศส โดยมีข้อแม้ ๒ ข้อ คือ

๑. ไทยจะต้องกำกับและควบคุมนักโทษ คือพระยอดเมืองขวาง ให้เหมือนนักโทษธรรมดาทั่วไป

๒. เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นไมตรีของไทย ฝ่ายไทยจะต้องให้สิ่งหนึ่งแก่ฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสจะปรึกษาเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสในภายหลัง

ไม่ยอมให้เปล่าๆ ขออีกจนได้ ทั้งๆ ที่ยังนึกไม่ออกว่าจะขออะไรดี

ฝ่ายไทยเห็นฝรั่งเศสมักได้เช่นนี้ก็ไม่ลดละที่จะเจรจาต่อรองต่อไป พยายามจะปล่อยตัวข้าราชการผู้รักชาติรักแผ่นดินพ้นผิดให้ได้ ในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของฝรั่งเศสก็ยินยอมให้ปล่อยตัวพระยอดเมืองขวางก่อนกำหนด โดยขอสิ่งแลกเปลี่ยน คือ

๑. รัฐบาลไทยรับว่าจะมีการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสในเรื่องการจดทะเบียนคนในบังคับฝรั่งเศส เรื่องเขตแดนหลวงพระบาง และเรื่องเขตปลอดทหาร ๒๕ กม.จากฝั่งขวาแม่น้ำโขง

๒. ขอให้ปล่อยตัวพระยอดเมืองขวางอย่างเงียบๆ อย่าให้มีการลงข่าวแสดงความยินดีอย่างเอิกเกริกในหนังสือพิมพ์

๓. ขอให้ปล่อยคนในบังคับฝรั่งเศสที่ต้องคดีต่างๆ

ฝ่ายไทยโล่งอกที่ข้าราชการไทยที่หาญสู้ฝรั่งเศสจะได้พ้นโทษ จึงยอมรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสทุกข้อ

พระยอดเมืองขวางได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๑ อย่างเงียบๆ รวมเวลาที่ถูกจำคุกอยู่ ๔ ปี ๔ เดือน ๒๔ วัน

พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระบรมราชโองการด้วยความปีติโสมนัส ให้พระคลังสมบัติจ่ายเบี้ยบำนาญให้พระยอดเมืองขวางเดือนละ ๕๐๐ บาทโดยไม่ต้องรับราชการ ซึ่งก็นับเป็นจำนวนมหาศาลในยุคนั้น เพราะอัตราเงินเดือนข้าหลวงเมืองเล็กๆ อย่างคำม่วนที่พระยอดเมืองขวางเคยได้รับมา ก็ตกอยู่ราว ๑๕๐-๒๐๐ บาทเท่านั้น เป็นการตอบแทนแก่ข้าราชการที่ต้องทุกข์ทรมานจากการทำคุณงามความดีเพื่อแผ่นดิน ทั้งยังไม่อาจกลับเข้ารับราชการได้อีกเพราะจะเป็นการหยามหน้าฝรั่งเศสเป็นครั้งที่สาม

พระยอดเมืองขวางพ้นชีวิตราชการไปเพียง ๓ ปีก็ล้มป่วย และเสียชีวิตใน พ.ศ.๒๔๔๓ ขณะมีอายุได้ ๔๘ ปี

วีรกรรมของพระยอดเมืองขวางผู้เป็นต้นตระกูล “ยอดเพชร” ได้รับการยกย่องชื่นชมจากข้าราชการไทยมาก โดยเฉพาะข้าราชการและราษฎรในหัวเมืองแถบลำน้ำโขง พากันให้สมัญญานามว่า “ชายชาติช้างงา”
รูปถ่ายพระยอดเมืองขวาง
รูปเขียนพระยอดเมืองขวาง
 ศาลพระยอดเมืองขวางในค่ายทหารที่นครพนม
นายกรอสกุรัง
กำลังโหลดความคิดเห็น