ประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่มาเยือนไทย ก็คือ ประธานาธิบดียูลิซิส ซิมป์สัน แกรนท์ วีรบุรุษในสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้สร้างประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีสหรัฐรุ่นหลังๆไม่มีโอกาสเจริญรอยตามได้ เพราะเดินทางเข้ามาโดยเรือเมล์ ไม่ใช่ Air Forch One และพักอยู่ในเมืองไทย ๑ สัปดาห์
ประธานาธิบดี ยู.เอส.แกรนท์ เป็นวีรบุรุษอเมริกันจากการเป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือที่ทำสงครามกลางเมืองพิชิตฝ่ายใต้ได้ เนื่องจากความขัดแย้งในการเลิกทาสของประธานาธิบดีอัมราฮัม ลินคอร์น จากชัยชนะในครั้งนี้ นายพลแกรนด์ได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันอย่างสูง มีชื่อเสียงกระเดื่องไปทั่วโลก และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี ๒๔๑๒ ในนามพรรครีพับริกันในวัยเพียง ๔๖ ปี ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดของคนที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในยุคนั้น แต่เนื่องจากได้รับความนิยมจากการเป็นทหาร จึงไม่ค่อยถนัดในเรื่องการเมืองนัก แต่ก็เป็นอยู่ถึง ๒ สมัยจนถึงปี ๒๔๒๐
เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีแกรนท์ได้ลงทุนทำธุรกิจกับพรรคพวก และได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปรอบโลกทางเรือโดยสาร ผ่านอินเดีย สิงคโปร์ มาถึงไทย
แม้จะเป็นการเดินทางมาเป็นการส่วนตัว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็รับสั่งให้จัดการต้อนรับอดีตประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้อย่างสมเกียรติ
ในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีกรมท่า มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ถึงท่านกรมท่า
ด้วยฉันเขียนหนังสือเวลคัมเยเนอราลแกรนท์ กับบอกเขาด้วยที่จะให้อยู่วังสราญรมย์ฉบับ ๑ เพราะเห็นว่าเป็นคนโตควรจะมีได้ จะได้เป็นที่ยินดี ให้ส่งมาในซองนี้ด้วย ให้เธอส่งหนังสือนี้ให้ผู้ที่จะไปรับส่งเปรสิเดนต์แกรนด์ที่ปากน้ำ
อนึ่ง ทราบว่าที่กัลกัตตา เขารับใหญ่สลุต ๒๑ นัด เห็นว่าที่กรุงเทพฯจะไม่ได้ออกใหญ่ถ้าไม่มีสลุต ควรจะให้มีสลุตที่ปากน้ำเวลาเรือเขาผ่านขึ้นมา”
อีกฉบับหนึ่งทรงมีไปถึงพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งทรงเรียกว่า “ท่านกลาง” มีข้อความว่า
“ถึงท่านกลาง
ด้วยเยเนอราลแกรนท์ เปรสิเดนต์อเมริกันคนเก่าจะเข้ามากรุงเทพฯ เขาก็เป็นหัวหน้าประธานาธิบดีในราชการแต่เดิม ถึงเดี๋ยวนี้ไปแห่งใดเขาก็ยังรับรองนับถือคล้ายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเข้ามากรุงเทพฯครั้งนี้เพราะฉันเชิญเขา ด้วย เห็นว่าเป็นการดี เป็นประโยชน์ในราชการซึ่งมีอยู่ในบัดนี้และการจะต่อไปภายหน้า ได้ให้จัดให้เขาอยู่ที่วังสราญรมย์ กับท่านเล็กจะต้องมีบอลให้วันหนึ่ง ครั้นจะให้มีที่วังสราญรมย์ก็จัดลำบากนัก เพราะที่แคบ เขาอยู่ในที่นั้นด้วย จึงต้องขอเกนให้เธอเป็นผู้มีบอล เห็นว่าท้องพระโรงยังกว้างอยู่ คงจะต้องมีวันพุธฤาวันพฤหัศ ให้เธอคิดจัดการให้เหมือนอย่างที่ท่านเล็กมีมาแต่ก่อน จะได้เป็นเกียรติยศแก่ตัวเธอด้วย เงินที่ใช้การบอลนั้นใช้เงินหลวง”
จากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ทำให้ทราบว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงเชิญนายพลแกรนท์ให้แวะมากรุงเทพฯด้วย เพื่อสัมพันธไมตรีที่จะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ไทยกับอเมริกา
นายพลแกรนท์เข้ามาถึงปากน้ำเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ฝ่ายไทยได้จัดเรือออกไปต้อนรับ มีการยิงสลุต ๒๑ นัดอย่างสมเกียรติ และจัดให้เข้าพักที่วังสราญรมย์ ตามหมายกำหนดการนั้นจะให้ประธานาธิบดีแกรนท์เข้าเฝ้าวันจันทร์ รุ่งขึ้นวันอังคารพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปเยี่ยมที่วังสราญรมย์ และจัดให้มีงานราตรีสโมสรสันนิบาตในวันพุธ แต่งานสโมสรสันนิบาตซึ่งจะมีเต้นรำด้วยจำต้องระงับไป ดังข้อความในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเสนาบดีกรมท่าตอนหนึ่งว่า
“วันที่กำหนดจะให้เข้ามาหา ขอให้มาหาในวันจันทร์ตามกำหนดเดิม วันอังคารเวลาเย็นฉันจะไปเยี่ยม ดินเนอร์นั้นอยากจะขอเลื่อนเป็นวันพุธ เพราะติดกันกับปีใหม่นัก ก็ในวันจันทร์ วันอังคาร ค่ำสองวันนั้นจะมีการเลี้ยงรับรองแห่งใดก็ได้ แต่บอลท่านกลางเห็นจะต้องเลิก ด้วยฤดูนี้เป็นฤดูฝน คนทั้งปวงจะได้ความลำบาก ถ้าตกลงเป็นจะเลิก ให้เธอบอกท่านกลางเสียให้ทราบด้วย”
ส่วนหมายกำหนดการต่างๆ ของประธานาธิบดีแกรนท์ ได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานเสนาบดีกรมท่าอีกฉบับหนึ่ง มีข้อความว่า
“ถึงกรมท่า
ด้วยวันนี้ฉันไปพบเยเนอราลแกรนท์ พูดตกลงว่าจะไปเรือบางกอก จะขึ้นไปกรุงเก่าวันพฤหัศ การที่จะให้เขาขึ้นไปนั้นไปด้วยเรือเวสาตรี ทอดที่ท้ายเกาะเกิด ลงเรือปิกนิกเรือปานมารุตจูงขึ้นไปเที่ยวที่กรุงเก่า เวลาบ่ายกลับลงมา พักนอนค้างบนเกาะบางปะอินคืนหนึ่ง เวลาเช้าลงเรือเล็กมาขึ้นเรือเวสาตรี ล่องไปขึ้นเรือบางกอกที่ปากน้ำทีเดียว ถ้าดังนี้พอจึงจะพอสบายได้ ถ้าวันพฤหัศจะกลับลงมานอนกรุงเทพฯ ออกจากนี่เช้า คงจะถึงบางปะอินใน ๔ โมงหรือ ๕ โมงเย็น แล้วล่องกลับลงมาถึงกรุงเทพฯอยู่ใน ๕ ทุ่ม ๒ ยาม เรือเวสาตรีจะแล่นลงมาถึงท่าไม่ได้ ต้องรอเพียงสามเสน ต้องมีเรือเล็กรับช่วงมาอีกชั้นหนึ่ง เห็นเป็นการลำบากเห็นจะเหนื่อยแก่เขามาก ถึงโดยว่าในวันศุกร์นั้น จะลงไปถึงปากน้ำบ่ายก็ไม่เป็นไร ด้วยเรือบางกอกจะออกสันดอนได้ก็คงต่อน้ำดึก การจะส่งมีสลุตและทหารด้วยนั้น ส่งเสียวันพฤหัศเช้าเมื่อลงท่าก็เห็นจะได้ เห็นจะดีกว่าเมื่อคอยเรือผ่านดูเก้อไป ให้เธอสั่งการเสียดังนี้ เรือเวสาตรีกับเรือปานมารุตนั้นฉันสั่งพระองค์สายและกรมอดิศรแล้ว แต่พระองค์สายนั้นจะไปด้วยไม่ได้ เพราะมารดาเธอป่วยมาก ให้กัปตันริเชลลิวจัดการ ขอให้พระศรีธรรมสาสน์เป็นธุระด้วยจึงจะได้”
ในการไปเยี่ยมประธานาธิบดีแกรนท์ที่วังสราญรมย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๒๖ พรรษา จะทรงรับสั่งถึงเรื่องอะไรบ้างนั้นไม่เป็นที่เปิดเผย แต่เรื่องหนึ่งที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๒๒ ได้ทรงเล่าถึงการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่คนไทยกินเหล้ามาก เพราะเหล้าราคาถูกมาจากต่างประเทศ ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...คนยุโรปซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนี้ ก็พูดหลายคนว่าทุกวันนี้มีคนเมาเดินตามถนนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะสุราขายถูก คนกินมาก เมื่อเยเนอราลแกรนท์เอกซ์เปรสิเดนต์อเมริกันเข้ามาในกรุงเทพฯ ฉันได้ไปปฤกษาด้วยเรื่องสุราในเมืองไทย
เยเนอราลแกรนท์พูดว่า การสุรานี้ธรรมดาทุกประเทศต้องคิดจัดรักษาพลเมืองของตัวเอง เพื่อจะไม่ให้เมามายมาก ถ้าสุราขายถูกคนซื้อได้โดยง่าย ก็จะเป็นคนเมาเหลือเกินไปเสียโดยมาก การเรื่องสุรานี้เป็นการสำคัญของประเทศยุโรปแลอเมริกาที่ยังต้องคิดจัดการอยู่เสมอ
การเรื่องสุราในเมืองไทยนี้ เขาก็ได้ทราบว่าคนไทยเสียไปมากด้วยเรื่องสุรา เห็นว่าควรคอเวอนเมนต์จะคิดห้ามปรามคนกินสุราที่เมาเดินตามถนนให้แข็งแรงขึ้น แลอย่าคิดเลยที่จะขอต่อประเทศที่เป็นไลเซนซ์ฤาสิ่งใดเล็กๆน้อยๆ ควรจะคิดจัดการเป็นของคอเวอนเมนต์ให้ตลอด แต่ถ้าจะพูดแล้วอย่าให้ยกที่เงินภาษีอากรตกขึ้นพูด ให้ยกเอาข้อที่บ้านเมืองจะเสียไปเพราะคนกินเหล้ามากขึ้นมาพูดแต่อย่างเดียว ต้องคิดจัดการให้มีที่ขายเฉพาะแห่ง ต่อรับไลเซนซ์จึงจะขายได้ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ กะราคาให้แพงพอสมควรแก่ที่จะปิดไม่ให้คนกินมากได้ ถ้าคิดการตลอดอย่างนี้แล้ว พูดกับกงสุลต่างประเทศเสียแต่พอเป็นที่ที่พูดกับคอเวอนเมนต์ต่างประเทศทีเดียว เห็นว่าคงจะมีผู้เห็นด้วยมาก ด้วยเป็นการจำเป็นที่จะต้องคิดรักษาเมือง การเห็นจะสำเร็จไปได้ ถ้าไม่คิดจัดการเรื่องนี้เสียให้เรียบร้อย บ้านเมืองคงจะต้องเสียเพราะเรื่องเหล้า ประเทศอื่นๆ เขาได้คิดระวังการเรื่องนี้หนัก
ฉันเห็นว่า เยเนอราลแกรนท์เป็นคนราชการสำคัญ เคยปกครองรักษาแผ่นดิน
มา เขาพูดแนะนำดังนี้ ก็เห็นว่าควรจะต้องตรึกตรองการดูให้ตลอด ควรจะจะพูดอย่างไรได้ ก็จะต้องคิดจัดไปตามสมควร
การที่เยเนอราลแกรนท์พูดนี้ ฉันก็ได้บอกกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ เมื่อไปรดน้ำสงกรานต์ไว้โดยย่อ มีราชการอื่นเสียก็หาได้ชี้แจงให้ท่านทราบตลอดไม่ เห็นว่าในขณะนี้พระยาภาสกรวงษ์ยังอยู่ที่ลอนดอน ถ้าเสร็จราชการที่ออกไปแล้ว จะให้พูดจาชี้แจงการขัดข้องของเราประการใดประการหนึ่งต่อคอเวอนเมนต์อังกฤษก็เห็นจะได้ แต่การพูดเรื่องไลเซนซ์นั้น เธอก็ได้พูดครั้งหนึ่งแล้วไปติดเงียบหายอยู่เสีย ไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป การครั้งนี้ขอให้เธอตริตรองดูตามสมควรเถิด”
เมื่อคนที่เคยเป็นใหญ่เป็นโตในอเมริกามาเยือนทั้งที สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงท่านไม่ยอมให้เสียโอกาส ทรงนำปัญหาไปปรึกษาหารือกับคนที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐมาถึง ๒ สมัย และทรงรับสั่งกับนายพลแกรนท์เกี่ยวกับเรื่องสุรา ก็ตรงกับผู้มีประสบการณ์เข้าพอดี เพราะในสมัยที่ ๒ ของประธานาธิบดีแกรนท์ มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นเกิดขึ้นหลายเรื่อง หนึ่งในจำนวนนี้เกี่ยวกับโรงต้มกลั่นสุราหลีกเลี่ยงภาษีการประมูล แม้แต่พลเอกแบ๊บค็อค เลขานุการของนายพลแกรนท์ก็ถูกกล่าวหาด้วย แต่เพราะเป็นเลขานุการของประธานาธิบดี นายพลแกรนท์จึงช่วยให้พ้นข้อหาไปได้
หลังจากกลับจากการเที่ยวรอบโลกทางเรือโดยสารแล้ว ในปี ๒๔๒๒ ธุรกิจของนายพลแกรนท์ประสบกับการล้มละลาย หุ้นส่วนสองคนในบริษัทถึงกับต้องติดคุก ส่วนนายพลแกรนท์ยังมีผู้จงรักภักดีช่วยให้พ้นคดีไปได้ แต่ก็ต้องแบกรับหนี้ถึง ๑๖ ล้านเหรียญ และเป็น ๑๖ ล้านเหรียญใน พ.ศ.๒๔๒๒ อดีตประธานาธิบดีวีรบุรุษอเมริกันต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนบันทึกความทรงจำออกขาย และถึงอสัญกรรมในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๒๘ รวมอายุได้ ๖๓ ปี
อย่างไรก็ตาม ต้องบันทึกไว้ว่า นายพล ยู.เอส.แกรนท์ เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่มาเยือนไทย และคงจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนเดียวที่เดินทางมาไทยด้วยเรือเมล์
ที่สำคัญ ความเห็นที่อดีตประธานาธิบดีแกรนท์ทูลถวายรัชกาลที่ ๕ เรื่องควบคุมไม่ให้คนไทยกินเหล้าหนักนั้น ก็เป็นวิธีที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้