xs
xsm
sm
md
lg

ความฝันของหนุ่มไทยสมัย ร.๕ อยากเห็นตึกสูง ม้าวิ่งในน้ำ ! ร.๖ ทรงชวนกลับบ้าน ก็ว่ายังไม่เต็มอิ่ม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ทองคำและนิวยอร์คในยุคที่ทองคำไปเผชิญโชค
ชีวิตคนเราบางคนก็โลดโผนโจนทะยานยิ่งกว่าในนิยายยิ่งนัก ถ้านักประพันธ์นำเรื่องราวชีวิตคนเหล่านี้ไปเขียนเป็นนิยาย คนอ่านอาจจะหาว่าโอเวอร์ เหลือเชื่อ ก็เป็นได้ กลายเป็นนิยายน้ำเน่าไปเสียอีก

อย่างชีวิต “นายทองคำ” ต้นตำนาน “โรบินฮูดไทย” ในอเมริกา จากเด็กบ้านนอกที่มีความฝันอยากจะเห็นเมืองฝรั่งที่มีสิ่งน่าสนใจมากมาย จึงโดดลงเรือเดินสมุทรขอเป็นกลาสี ทั้งๆที่ไม่มีเงินติดตัวและพูดภาษาต่างประเทศไม่ได้เลยไม่ว่าชาติไหน แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกนานถึง ๒๕ ปี กลายเป็นนักกายกรรมที่ทางคณะต้องใช้รูปโชว์เรียกคนดู ตระเวนแสดงไปทั่วสหรัฐและยุโรป เป็นเจ้าของโรงแรมในอเมริกา แม้แต่ ร.๖ ขณะทรงเป็นสยามมงกุฎราชกุมารชวนกลับมาด้วยกันยังไม่ยอมกลับ อ้างยังผจญภัยยังไม่เต็มอิ่ม และถวายรูปของตัวเองเป็นที่ระลึก ซ้ำยังฝากให้ทรงช่วยส่งต่อให้พ่อแม่อีกด้วย

ชีวิตผจญภัยต่างแดนของเขา ยากที่จะมี “โรบินฮูด” รุ่นหลังคนใดทำได้เข้มข้นเท่า

เมื่อเขากลับมา “ทิดเขียว” หรือ ศิลป์ สีบุญเรือง นักพากย์ชื่อดัง ได้นำคำสัมภาษณ์ของเขาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพยนตร์” เมื่อปี ๒๔๖๘ ลงอยู่ครึ่งปีจึงจบ มีคนอ่านติดกันงอมแงม จนนำไปรวมเล่มโดยห้าง ต.เง็กชวน ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ออกจำหน่ายเล่มละ ๒๐ สตางค์

นายทองคำเป็นชาวเพชรบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนนั้นคนไทยเรายังไม่ใช้นามสกุลกัน พ่อแม่ฝากฝังให้เรียนหนังสือที่วัดใกล้บ้าน แล้วส่งให้มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โดยอยู่กับญาติคนหนึ่งที่เป็นมหาอยู่วัดโสมนัส เรียนอยู่ ๒ ปี พออายุ ๑๖ เพื่อนก็มาชวนให้ออกไปเป็นเสมียน ได้เงินเดือนๆละ ๓ ตำลึง หรือ ๑๒ บาท แต่นิสัยนายทองคำไม่ชอบอยู่กับที่ อยากรู้อยากเห็น อยากเที่ยวไปให้ทั่ว จึงกลับอยู่บ้านที่เพชรบุรีแล้วเที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ ทางบ้านเห็นว่าปล่อยไว้เป็นทโมนแน่ จึงจับบวชเสียที่วัดหน้าพระธาตุเมื่อปี ๒๔๔๑

บวชอยู่ได้ปีเดียวก็ได้พบเพื่อนคนหนึ่ง ชื่อแสวง ที่เพิ่งกลับมาจากฝรั่งเศส เล่าให้ฟังว่าเมืองนอกนั้นสนุกสนานมาก มีของประหลาด เช่นตึกสูงตั้ง ๑๐ ชั้น หน้าหนาวม้าเดินบนน้ำได้ และมีอะไรที่น่าตื่นเต้นอีกมาก

คำบอกเล่าของแสวงทำให้พระภิกษุทองคำอยากเห็นเมืองฝรั่งขึ้นมาทันที และนิสัยของเขาอยากทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ จึงได้ลาสมณเพศออกมาเตรียมเดินทางโดยไม่แพร่งพรายให้ใครรู้ นอกจากแสวงที่ช่วยค่าเดินทางให้ ๕๐ บาท ทองคำจึงอาศัยเรือน้ำตาลเข้ากรุงเทพฯ มาพักห้องเช่าอยู่แถวบางรัก

ดูลาดเลาที่จะหาทางไปเมืองนอกอยู่หลายวันก็ยังไม่พบ จนเห็นชาวอินเดียคนหนึ่งเดินคุยกับฝรั่งมา ทองคำจึงตามชาวอินเดียคนนั้นไปจนถึงบ้าน แล้วแจ้งความประสงค์ว่าต้องการจะไปเที่ยวประเทยุโรป

“โอ..ฉันไม่ใช่เสนาบดีเมืองไทย ที่มีอำนาจจะส่งคนไปประเทศยุโรปได้” ชาวอินเดียคนนั้นบอกพร้อมหัวเราะ และจ้องมองทองคำด้วยความประหลาดใจ

ทองคำชี้แจงว่า ที่พูดหมายถึงจะให้ช่วยทำหนังสือแนะนำตัวและแสดงความประสงค์ให้ เพื่อจะนำไปยื่นกับกัปตันเดินเรือด้วยตัวเอง ชาวอินเดียจึงเข้าใจและทำหนังสือสมัครเป็นกลาสีเรือให้ทันที ซึ่งทองคำก็จ่ายค่าจ้างเขียนให้ถึง ๑๐ บาท

เมื่อได้หนังสือแนะนำตัวแล้ว ทองคำก็ตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ อยากให้เช้าเสียไวๆ ครั้นพอสว่างเขาก็รีบตรงไปที่ท่าเรือจ้าง ให้ไปส่งหมู่เรือใบที่ทอดสมออยู่แถวหน้าวัดพระยาไกร ถนนตก ทองคำได้นำหนังสือแนะนำตัวไปยื่นให้กัปตันเรือ ๓ ลำแรก กัปตันอ่านแล้วก็ส่ายหน้าส่งหนังสือคืน ทำให้ทองคำวิตก แต่ก็ยังมีมานะจะยื่นต่อไปให้ครบทุกลำ

พอถึงลำที่ ๔ ซึ่งเป็นเรือใบสัญชาตินอร์เวย์ ชื่อ “แพดซียา” กัปตันวัยราว ๖๐ ปี ซึ่งต่อมาทราบว่าแกชื่อ นิลสัน พอทองคำยื่นหนังสือให้ แกรับไปอ่านแล้วหันมาส่งภาษาแขกด้วยทันที ทำทองคำยืนเซ่อ เพราะชาวอินเดียที่เขียนหนังสือให้บอกว่าทองคำเป็นชาวอินเดีย ชื่อ “อาหมัดทองคำ” กัปตันจึงต้องเรียกล่ามมาเจรจาจึงรู้เรื่อง เผอิญเรือลำนี้มีกลาสีคนหนึ่งป่วยต้องขึ้นบก กัปตันจึงถามว่าจะไปด้วยกันจริงๆหรือ งานกลาสีลำบากมากนะ ทองคำก็ยืนยันว่าลำบากอย่างไรก็เอาทั้งนั้น ขอให้ได้ไปก็แล้วกัน กัปตันจึงตบบ่าทองคำว่างั้นก็ตกลง แต่ต้องไปแจ้งทางสำนักงานให้เขารู้ก่อน

เมื่อกัปตันพาทองคำไปที่สำนักงานของบริษัทวินเซอร์ หรือที่เรียกกันว่า “ห้างสี่ตา” ก็เกิดปัญหาในข้อกฎหมายที่ห้ามชาวต่างประเทศพาคนไทยออกนอกประเทศ แต่เพราะทองคำอ้อนวอน หรืออาจเป็นเพราะใบสมัครของเขาระบุว่าเป็นคนอินเดีย ทางบริษัทจึงมีทางออก ทองคำขนของลงไปนอนในเรือแพดซียาตั้งแต่คืนนั้น

แพดซียาเป็นเรือใบ ๓ เสา มีลูกเรือ ๒๘ คนมาจากหลายชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวนอร์เวย์ ได้ออกเดินทางในอีก ๒ วันต่อมา และไปจอดที่เกาะสีชังอีก ๓ สัปดาห์เพื่อบรรทุกซุงไม้สัก เพราะถ้าบรรทุกจากท่ากรุงเทพฯ จะทำให้เรือหนักติดสันดอนที่ปากน้ำ ทองคำได้ออกเดินทางจากเกาะสีชังในราววันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๒

ชีวิตกลาสีเรือเดินสมุทรของหนุ่มเมืองเพชร นับว่าสาหัสสากรรจ์พอควร พอออกทะเลใหญ่เขาก็เมาคลื่นหัวปักหัวปำอยู่วันกับคืน จากนั้นจึงเริ่มคุ้นกับทะเลและไม่เมาอีกเลย ทองคำเริ่มเรียนรู้กับการต่อเชือก ฟั่นเชือก เย็บใบ ทำความสะอาดเรือ และท่องจำอุปกรณ์เรือต่างๆเป็นภาษานอร์เวย์ ซึ่งทองคำเรียนรู้ได้เร็วจนได้รับคำชมเชย แต่หนักหนาสาหัสที่สุดก็คือต้องตักน้ำวันละ ๑,๐๐๐ ถังทุกๆเช้าเพื่อล้างเรือ

“วันสองวันแรกมันเล่นเอาแทบเป็นไข้ ถึงตะครั่นตะครอ ครั้นนานๆก็ชินไปเอง จนเห็นเป็นกีฬายามเช้า” ทองคำเล่า ซึ่งมันก็เป็นผลดีกับเขา ทำให้แกร่ง กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ

พอเรือผ่านชวา มุ่งหน้าข้ามไปทวีปอาฟริกา กัปตันนิลสันสั่งให้ต้นหนฝึกทองคำให้หัดถือท้ายเรือ ดูเข็มทิศ ดูทิศทางลม ทำให้ทองคำรู้สึกขยับสูงขึ้น แต่ก็ยังต้องเล่นกีฬายามเช้าตามหน้าที่หลักเช่นเดิม

ถึงเวลานี้นับเวลาที่ออกจากประเทศไทยมา ๙ เดือน ทองคำปรับตัวจนเข้ากับบรรดาลูกเรือแพดซียาได้เป็นอย่างดี และพูดภาษานอร์เวย์ได้จนสามารถเล่านิทานไทยให้เพื่อนกลาสีฟัง แต่ถูกลูกเรือเรียกชื่อเพี้ยนจากทองคำ เป็น “ทอม”

เรือได้ลอยลำแวะรับเสบียงที่เกาะเซนต์เฮเลน่า ที่ฝังพระศพจักรพรรดินโปเลียน ทองคำจึงถือโอกาสส่งข่าวถึงทางบ้านเป็นครั้งแรก

ในคืนคริสต์มาสของปี พ.ศ.๒๔๔๓ ในขณะที่มีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน เรือ แพดซียาก็แล่นเข้าอ่าวเมืองลิเวอร์พูลที่เกาะอังกฤษ พวกลูกเรือได้รับอนุญาตให้ขึ้นบกในคืนที่สอง ต่างมุ่งไปที่ร้านเหล้าและโรงผู้หญิงงามเมือง เพราะรอนแรมในทะเลมานาน แต่ทองคำกลับตื่นตาตื่นใจกับการเดินดูตึกรามบ้านเมืองมากกว่า เพราะนี่คือจุดมุ่งหมายของเขาที่ต้องการมา

เมื่อเรือแพดซียาขนถ่ายซุงไม้สักขึ้นที่เมืองนี้หมดแล้ว ก็เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ เมื่อได้รับค่าแรงเสร็จสิ้นแล้ว ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ทองคำได้เงินค่าจ้าง ๖๔ เหรียญ แต่ไม่รู้จะไปซุกหัวที่ไหนดี กัปตันนิลสันได้แสดงน้ำใจชวนไปอยู่นอร์เวย์ด้วยกัน แต่ทองคำปฏิเสธความหวังดีของแก เพราะต้องการเผชิญโชคต่อไป กัปตันนิลสันจึงพาไปที่สถานกงสุลนอร์เวย์ ทำหนังสือสำคัญฉบับหนึ่งไว้ให้ โดยมีกงสุลกับกัปตันนิลสันเป็นผู้ลงนามรับรองว่า ทองคำเป็นผู้มีความดีความชอบในการเดินเรือ เพื่อให้เขาใช้ในการหางานทำต่อไป

ทองคำไปเช่าห้องพักร่วมกับเพื่อนกลาสีคนหนึ่ง ชื่ออากันสัน แล้วหางานทำต่อ แต่หาไม่ได้จนเงินร่อยหรอลงทุกที ต่อมาเพื่อนก็หายหน้าไปฉิบ เจ้าของห้องเช่าเลยมารีดเอาเงินที่ค้างกับทองคำคนเดียว แล้วยังเชิญออก ตอนนี้เงินก็หมดพอดี ที่ซุกหัวนอนก็ไม่มี อากาศก็หนาว หิวก็หิว ภาษาอังกฤษก็พูดไม่ได้ซักคำ ขณะทองคำโซเซอยู่ข้างถนน ก็มีคนญี่ปุ่น ๔ คน เห็นทองคำเป็นคนตะวันออกจึงส่งภาษาถาม ทองคำฟังไม่รู้เรื่องเลยส่งภาษาใบ้ด้วยการเปิบข้าวเข้าปากแล้วลูบท้อง คนญี่ปุ่นก็รู้ความหมาย เลยพาไปเลี้ยงเสียเต็มคราบ พอท้องอิ่มทองคำก็เขียนคำว่า “ไซแอม” ให้คนญี่ปุ่นดู ทั้ง ๔ จึงรู้ว่าเขาเป็นคนไทย

จากนั้นเป็นต้นมา ทองคำก็เลยอยู่กับญี่ปุ่น ๔ คนนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ เก็บกวาดบ้านให้ ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้เป็นนักเล่นกายกรรม มีสัญญาแสดงอยู่ที่โรงละครแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน และทุกเช้าจะทำการฝึกซ้อมที่ชั้นบนของบ้าน ทองคำจึงขอหัดบ้าง ซึ่งชาวญี่ปุ่นก็สอนให้ด้วยความเต็มใจ เริ่มต้นด้วยยิวยิตสู หกคะเมน ห้อยโหน ไต่ลวด ฝึกอยู่หนึ่งปีทองคำก็พอแสดงได้ แม้จะฟกช้ำดำเขียวไปหลายครั้ง แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังไม่ให้ทองคำออกแสดง อาจจะเห็นว่ายังไม่ถึงขั้นออกโรงก็ได้

พอเข้าปีที่สองที่พักอยู่กับชาวญี่ปุ่น ผู้มีพระคุณของทองคำก็หมดสัญญา ต้องกลับบ้านกลับเมือง ทำให้ทองคำเคว้งคว้างอีกครั้ง แต่เขาก็ไม่ค่อยวิตกนัก เพราะพอรู้ลู่ทางอยู่บ้าง ทั้งภาษาก็พอใช้ได้ จึงหันไปหาอาชีพเก่า เอาใบรับรองของกัปตันนิลสันไปสมัครงาน ครั้งนี้ได้รายได้ดี ตกเดือนหนึ่งถึง ๔ ปอนด์

เรือที่ทองคำไปอยู่ใหม่ชื่อ “มานีดอล” เป็นเรือเหล็กขนาดใหญ่แต่ยังใช้ใบ เดินทางระหว่างอังกฤษกับอเมริกา มีลูกเรือราว ๗๐ คน เป็นคนอังกฤษล้วน มีทองคำคนเดียวเป็นคนตะวันออก เลยถูกข่มอยู่บ่อยๆ ทองคำต้องใช้วิชายิวยิตสู มวยไทย และกายกรรม ปราบคนที่ข่มจนอยู่หมัดทุกราย กลายเป็นคนเก่งประจำเรือ

รอนแรมในทะเลมา ๗ เดือน เรือมานีดอลก็เข้าเทียบท่าเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ทองคำตื่นเต้นกับความรุ่งเรืองของเมืองนี้มาก เขาอยากจะขึ้นจากเรืออยู่เมืองนี้ แต่ติดด้วยสัญญาว่าถ้าเขาไม่กลับอังกฤษจะถูกริบเงินค่าจ้าง ๒๘ ปอนด์ แต่ถ้ากลับเดินทางอีก ๗ เดือน ก็จะได้อีก ๒๘ ปอนด์เป็น ๕๖ ปอนด์ ซึ่งไม่น้อยเลย แต่ความอยากรู้อยากเห็นมันรุนแรงกว่า เขาคิดว่าเงินไม่ใช่แก้วสารพัดนึกเสมอไป คนต่างหากที่เป็นแก้วสารพัดนึก ถ้าไม่ขยันเงินจะมาได้อย่างไร กลัวทำไมกับการหาเงิน เขาจึงตัดสินใจเด็ดขาดที่จะไม่ย้อนกลับไปทางเก่าอีก

เมื่อไปขอลาออก กัปตันไม่ยอมท่าเดียว ทั้งยังไม่ยอมให้เขาแตะต้องเสื้อผ้าของใช้ส่วนตัวด้วย เผอิญที่ท่าเรือนั้นหัวหน้ากรรมกรท่าเรือเป็นชาวนอร์เวย์ เมื่อทองคำไปปรับทุกข์และเอาหนังสือของกัปตันนิลสันให้ดู หัวหน้ากรรมกรก็บอกว่า

“ไม่ต้องตกใจ เพื่อนยาก กันจะให้คนของกันไปด้วยเดี๋ยวนี้”

ครั้นแล้วก็เรียกคนงานในบังคับบัญชามา ๒-๓ ร้อยคนให้ไปกับทองคำ แล้วสั่งผู้ที่ควบคุมไปว่า ให้พูดดีๆก่อน ถ้าพูดไม่รู้เรื่องจำเป็นต้องใช้กำลังก็ใช้ เรื่องกฎหมายไว้ว่ากันทีหลัง

ผู้ควบคุมกรรมกรขึ้นไปบนเรือ บอกกัปตันว่าทองคำเป็นคนไทย ไม่ใช่กลาสีอังกฤษ จะขอรับตัวขึ้นบก ขั้นต้นกัปตันทำเสียงแข็ง แต่พอเห็นเหล่ากรรมกรเรียงรายอยู่ที่เขื่อน เตรียมบู๊เต็มที่ กัปตันจึงยอมคืนสมบัติที่มีเพียงเสื้อกางเกงของทองคำให้

นอกจากช่วยคนแปลกหน้าไม่รู้จักกันมาก่อน เพียงแค่พูดภาษาเดียวกันได้เท่านั้น หัวหน้ากรรมกรยังเรี่ยไรเงินจากเหล่ากรรมกรให้ทองคำ ๘๐ เหรียญ แล้วพาตัวไปส่งไว้ที่หน้ามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบอร์คเลย์ ซึ่งอยู่ใกล้ท่าเรือ ด้วยเข้าใจว่ามีนักเรียนไทยอยู่ที่นั่น แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีนักเรียนไทยในอเมริกาเลย

ทองคำนั่งดูคนเดินเข้าออกมหาวิทยาลัยเกือบครึ่งวัน จึงมีอาจารย์ฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาไต่ถาม พูดภาษาไทยคล่องเสียด้วย ปรากฏว่าเป็นลูกชายหมอบลัดเลย์ ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนตายในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ อาจารย์ได้พาทองคำไปอยู่ที่บ้าน ให้ช่วยงานจิปาถะ พอเสร็จงานแต่ละวันยังสอนภาษาอังกฤษให้ด้วย แต่ภรรยาของอาจารย์เป็นคนจู้จี้จุกจิก นิสัยตรงข้ามกับสามี หาเรื่องใช้ทองคำได้ทั้งวัน

อยู่บ้านลูกชายหมอบลัดเลย์ได้ราว ๔ เดือน ทองคำก็ได้พบเรื่องตื่นเต้น เมื่ออาจารย์บอกว่า สมเด็จพระบรมฯ มหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร เสด็จกลับจากจบการศึกษาที่อังกฤษ ผ่านมาทางอเมริกา และเสด็จมาพักที่โฮเตลพาเลซในนครซานฟรานซิสโก อาจารย์จะพาทองคำไปเฝ้าด้วยกันในเช้าวันนั้น

ตอนเข้าเฝ้า ไม่ได้มีแค่อาจารย์และทองคำเท่านั้น แต่ยังมีเศรษฐีพ่อค้าอเมริกันและพวกเจ้าบ้านเจ้าเมืองมาเฝ้าด้วย อาจารย์ได้กราบทูลเรื่องของทองคำ ทรงหันมารับสั่งถาม ทองคำก็กราบทูลความเป็นมา แต่ขณะนั้นได้เวลาเสด็จไปที่อื่น จึงรับสั่งให้ทองคำมาเฝ้าในวันรุ่งขึ้น ทำเอาทองคำนอนไม่หลับทั้งคืน

รุ่งขึ้นทองคำได้เข้าเฝ้าแต่ผู้เดียว และกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ออกจากประเทศไทย ทรงรับสั่งว่า “เก่งมาก อยากจะอยู่ที่นี่ต่อไปหรืออยากจะกลับบ้าน ถ้าอยากกลับจะกลับด้วยกันก็ได้” แต่ทองคำทูลว่าเพิ่งมาถึงประเทศนี้ ยังไม่ได้รับความรู้อะไร ขออยู่ต่อไป

“ถ้าเช่นนั้นก็ตามใจ” ทรงรับสั่ง

ทองคำได้นำรูป ๒ รูปที่เตรียมมาขึ้นทูลเกล้าถวายต่อพระหัตถ์ และกราบทูลว่ารูปหนึ่งขอถวายไว้เป็นที่ระลึก อีกรูปขอฝากไปถึงบิดาที่ชื่อนายรุ่ง อยู่ตำบลบ้านต้นโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พระองค์ก็ทรงพระกรุณารับไว้ และออกพระโอษฐ์ว่าเมื่อกลับไปถึงจะจัดการส่งให้ ครั้นแล้วได้เสด็จไปที่โต๊ะ ทรงหยิบพระฉายาลักษณ์แผ่นหนึ่งประทานให้ทองคำ พร้อมกับมีลายพระหัตถ์ไว้ว่า “มหาวชิราวุธ ให้นายทองคำไว้เป็นที่รฤก” ทรงรับสั่งว่าเก็บไว้ให้ดี กลับไปจะได้เอาไปอวดเขา และถ้ากลับไปเมื่อไหร่ก็ให้ไปเฝ้า ทรงฝากฝังทองคำไว้กับทูตไทยซึ่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น ก่อนจะเสด็จขึ้นยังได้พระราชทานเงินให้ทองคำ ๒๐๐ เหรียญ และพระราชทานพรให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความอุสาหะ ตั้งตนอยู่ในทางที่ชอบ รักษาชื่อเสียงให้ดี ไหนๆก็บากบั่นมาถึงแล้ว จงบากบั่นพากเพียรให้สำเร็จ รับสั่งขณะที่ยกพระหัตถ์ลูบศีรษะทองคำ ทำให้ทองคำไม่อาจลืมวันนี้ได้ชั่วชีวิต

ทองคำทำงานรับใช้อยู่ที่บ้านลูกชายหมอบลัดเลย์ถึงปีครึ่งโดยไม่ได้รับเงินเลย นอกจากอาหารและเสื้อผ้า เงินพระราชทาน ๒๐๐ เหรียญก็ค่อยๆหมดไป ทองคำเห็นว่าขืนอยู่ต่อไปก็คงต้องรับใช้เขาไปจนตาย จึงตัดสินใจขอลาไปเผชิญชีวิตตามลำพัง

จากนั้นทองคำก็จับอาชีพรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ถูกระจกล้างหน้าต่าง ทำอยู่สองปีครึ่งก็เกิดเรื่องใหญ่ในนครซานฟรานซิสโก แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ตึกรามบ้านเรือนพังพินาศ แผ่นดินแบะแยกออกเหมือนถูกผ่า ผู้คนหวีดร้องกันระเบ็งเซ็งแซ่ กู่ตะโกนหาญาติพี่น้องที่พลัดพราก ท่ามกลางเสียงถล่มทลายของสิ่งก่อสร้าง ทองคำไม่มีญาติพี่น้องให้ต้องห่วงก็จริง แต่ก็ตกใจที่เห็นภาพสยดสยองที่สุดในชีวิต หนีออกมาได้แต่ตัวเท่านั้น สมบัติที่เขาเสียดายที่สุดคือ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประทานให้ ซึ่งต้องตกเป็นเหยื่อของแม่พระธรณีและพระเพลิงไป

หลังแผ่นดินไหว ทองคำได้งานเป็นคนรื้อถอนขุดสิ่งปรักหักพัง ได้ค่าจ้างวันละ ๒-๓ เหรียญจากเจ้าหน้าที่รัฐ และขณะที่ทำงานอยู่นี้ก็ได้รู้จักกับเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชวนให้ไปทำงานที่โรงครัวของสโมสรนักเรียนแห่งหนึ่งในเมืองโอคแลนด์ ซึ่งทีมงานญี่ปุ่นทำอยู่ โดยรับหน้าที่เป็นคนล้างจาน ปอกเผือกมัน ได้ค่าจ้างเดือนละ ๒๐ เหรียญ กินอยู่เสร็จ

ทำอยู่ ๒ ปีทีมงานญี่ปุ่นก็ลาออกหมด ฝรั่งเข้ามาแทน ทองคำในฐานะผู้เชี่ยวชาญได้ขยับเงินเดือนเป็น ๓๐ เหรียญ

ทำงานโรงครัวของโรงเรียนอยู่ ๒ ปีทองคำก็พบจุดหักเหของชีวิต เมื่อวันหนึ่งได้ทราบว่าโรงละครแห่งหนึ่งในเมืองโอคแลนด์ประกาศหาคนเล่นกายกรรม เพราะคนที่เล่นอยู่เกิดป่วย ทองคำนึกถึงวิทยายุทธที่ได้รับถ่ายทอดมาจากชาวญี่ปุ่นเมื่อ ๘ ปีก่อน จึงอยากจะลองดูบ้าง ครั้นจะไปสมัครเองก็เกรงว่าจะไม่ได้รับความเชื่อถือ จึงขอร้องหัวหน้าครัวซึ่งเป็นฝรั่งให้ช่วยพาไปสมัคร

“แกน่ะหรือจะไปเล่นหกคะเมน” หัวหน้าครัวหัวเราะ “ล้างชามน่ะดีแล้ว”

ทองคำเลยต้องแสดงให้ดูจนหัวหน้าคนครัวเชื่อว่าเขาแสดงได้จริงๆ และพาไปทดสอบกับผู้จัดการคณะ ปรากฏว่าทองคำได้รับการว่าจ้างให้แสดง ๑ สัปดาห์ในอัตราค่าจ้าง ๓๐ เหรียญ

วันแรกที่ออกแสดง เป็นวันแรกในชีวิตที่ได้ขึ้นเวทีการแสดง ทองคำเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและประหม่า การตีลังกาของเขาจึงไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ ฟาดลงกับพื้นเวทีเต็มแรง แต่เรื่องร้ายกลับกลายเป็นดีไปฉิบ คนดูนึกว่าทองคำทำตลกให้ดู พากันปรบมือชอบใจสนั่นโรง วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็เขียนยกย่องทองคำเป็นการใหญ่ แต่บอกว่าเขาเป็นคนญี่ปุ่น ชื่อ “ทอม คูมา”

เพราะข่าวในหนังสือพิมพ์นี้เอง ได้สร้างความประหลาดใจให้นักเรียนไปตามกัน หลายคนไม่เชื่อว่าคนล้างจานที่โรงครัวของโรงเรียนจะเป็นนักแสดงกายกรรมได้ จึงแห่กันไปพิสูจน์ ทองคำเล่าตอนนี้ไว้ว่า

“พอได้เวลาแสดง ม่านเวทีเผยออก ข้าพเจ้าก็ออกไปปรากฏตัวที่เวที ทันใดก็มีเสียงหลายคนตะโกนว่า ทอม คูมา! ทอม คูมา! ฮูเร! ฮูเร! แซตไปทั้งโรง บ้างก็กวัดแกว่งผ้าเช็ดหน้า ตบไม้ตบมือ ประสานเสียงกันระเบ็งเซ็งแซ่ฟังไม่ได้ศัพท์ เล่นเอาพวกคนดูตามปกติที่ไม่รู้เลศนัย พากันทึ่ง พลอยตบไม้ตบมือไปด้วย”

หลังการแสดง พวกนักเรียนได้พาทองคำไปเลี้ยงที่สโมสรของโรงเรียน ผู้จัดการโรงละครก็พลอยตื่นเต้นกับการแสดงของทองคำด้วย เขาขอให้ทองคำแสดงต่อไปอีก ๓ สัปดาห์ ซึ่งบรรดานักเรียนและผู้จัดการสโมสรก็เห็นด้วย หนังสือพิมพ์นำเรื่องนี้ไปเขียนเป็นเรื่องราวยืดยาว และพาดหัวตัวโตว่า “คนครัวของสโมสรนักเรียน กลายเป็นนักหกคะเมนอย่างดีของโรงละคร” นอกจากรูปของทองคำเกลื่อนอยู่ในหนังสือพิมพ์แล้ว ยังถูกพิมพ์เป็นโปสเตอร์ติดอยู่ทั่วเมืองด้วย

ตอนนี้ทองคำดังเสียแล้ว ยังไม่ทันหมดสัญญากับคณะเก่า คณะใหม่เป็นละครเร่ ชื่อ บริษัทคาลสไตล์ ก็มาขอเซ็นสัญญาจองตัว โดยจ่ายค่าจ้างให้มากกว่าอีก ๑ เท่า และพาทองคำตระเวนไปแสดงตามเมืองต่างๆ ทองคำจึงมีโอกาสได้เที่ยวไปทั่ว

ชีวิตรุ่งเรืองอยู่ได้พักหนึ่ง ดวงชะตาของเขาก็ผกผันให้เปลี่ยนรสชาติอีกครั้ง เมื่อคณะเก่าเลิกไปทองคำได้สังกัดคณะใหม่ ครั้งนี้แสดงเพียงเรียกคนดูหน้าโรงเท่านั้น ได้ค่าจ้างสัปดาห์ละ ๑๐ เหรียญ แต่พอจะรับเงินผู้จัดการก็ล่องหนไปกับเงิน ชาวคณะเลยต้องแตกไปคนละทิศละทาง ทองคำกับเพื่อนนิโกรชื่อ เฮนรี คว้างไม่รู้จะหันไปทางไหน เงินที่มีก็ใช้ไปหมดเหมือนกัน เลยตัดสินใจว่าจะเดินไปหางานทำอีกเมืองที่ห่างไป ๓๐ ไมล์ แต่เดินมาครึ่งวันก็หมดแรง เพราะยังไม่มีอะไรตกท้องตั้งแต่เช้า ต้องแวะพักที่โรงร้างข้างทาง ตกค่ำก็ตัดสินใจว่าต้องขโมยแตงโมที่ไร่ข้างๆประทังความหิว ทองคำรับอาสาย่องไปเอา แต่พอก้มลงเด็ดก็ถูกเตะก้นเบาๆ แล้วมีเสียงร้องถามว่า

“เอ็งเป็นใคร เข้ามาทำอะไรที่นี่”

เจ้าของไร่นั่นเองที่แอบย่องตามทองคำมา แต่ด้วยความซื่อทองคำก็สารภาพไปตามความจริงทุกอย่าง แทนที่เจ้าของไร่แตงจะพาไปส่งตำรวจ กลับพาทั้ง ๒ คนไปที่บ้าน แล้วเลี้ยงอาหารเสียเต็มที่ ทำให้มีแรงที่จะดิ้นต่อไป

อดๆอยากๆอยู่อีกพัก ทองคำก็ได้งานใหม่ เป็นการแสดงที่ได้ความรู้มาจากคนญี่ปุ่นเช่นเดิม แต่ค่าตัวตกลงไปถึงสัปดาห์ละ ๕ เหรียญก็ต้องยอม ดีกว่าอด แต่ด้วยฝีมือก็ทำให้เขาไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงสัปดาห์ละ ๖๐ เหรียญ และได้ตระเวนแสดงไปทั่วอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ อิตาลี เยอรมัน ฮอลันดา

มาถึงตอนนี้ ความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นเมืองฝรั่งของทองคำตามที่ตัดสินใจโดดลงเรือมา ได้บรรลุเกินเป้าหมายเสียแล้ว

หลังจากตระเวนแสดงไปตามประเทศต่างๆแล้ว ทองคำก็กลับมาแสดงประจำที่แกรนด์เธียเตอร์ เมืองพิตสเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย เขาเกิดปิ้งกับสาวลูกครึ่งไอริช-เยอรมันวัย ๒๕ ปี เธอชื่อ มาเซล เกิดที่อเมริกา เป็นนักไวโอลินในคณะเดียวกับทองคำ ตั้งแต่ออกเผชิญโชคในต่างแดนมา ๑๕ ปี จนวัยเข้า ๓๗ ทองคำเห็นผู้หญิงสวยๆมาก็มาก แต่ไม่เคยสะดุดใจใคร แต่พอมาเจอมาเซลเขาก็เกิดความรู้สึกประหลาด “อยากมีเมีย” ขึ้นมาทันที ทำเอาเก็บไปนอนฝันทุกคืน มองหาโอกาสเหมาะๆที่จะสารภาพรักกับเธอ จนสบช่องในวันหนึ่ง ซึ่งเธอก็ไม่ปฏิเสธความรักของเขา แถมยังบอกว่าเธอก็สนใจเขาตั้งแต่แรกพบเหมือนกัน ทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานกัน แต่ก็ติดปัญหากฎหมายที่รัฐเพนซิลวาเนียไม่ยอมให้ผู้หญิงอเมริกันแต่งงานกับคนต่างชาติ จนเมื่อย้ายไปแสดงที่รัฐโอไฮโอ ซึ่งกฎหมายรัฐนี้ไม่ห้าม ทั้งคู่จึงได้แต่งงาน เสียค่าใบอนุญาตไป ๒ เหรียญ ๕๐ เซนต์ และค่าป่วยการนักบวชที่ทำพีอีก ๒ เหรียญ ก็ได้เมียสมปรารถนา

หลังแต่งงานเข้าปีที่ ๒ มาเซลก็ตั้งครรภ์ เธออยากจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ส่วนทองคำก็ไปส่งเธอและสมานไมตรีกับพ่อตาแม่ยายที่รังเกียจเขาจนเข้ากันได้ดีแล้ว ก็กลับมาทำมาหากินส่งเงินไปเลี้ยงเมียต่อไป

ขณะที่ไปแสดงที่โรงละครโพลายเธียเตอร์ เมืองสปริงฟิลต์ ระหว่างหยุดพักการแสดงรับประทานอาหาร ทองคำเห็นเขาเล่นม้ากันเลยถือโอกาสแทงบ้างแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว ปรากฏว่าโชคดีได้เงินถึง ๒๑,๐๐๐ เหรียญ เป็นเศรษฐีย่อยๆขึ้นมาทันที ทองคำส่งข่าวไปให้เมียทราบ และในวันรุ่งขึ้นมาเซลก็ส่งข่าวดีมาถึงเขาเหมือนกัน ว่าเธอคลอดบุตรเป็นชาย ทำให้หัวใจทองคำพองโต ได้ทั้งเงินได้ทั้งลูก

พเนจรมาจากเมืองไทยอย่างคนสิ้นไร้ทุกอย่าง วันนี้ทองคำมีทั้งเงิน มีเมีย มีลูกเป็นคนอเมริกันแล้ว เขาจึงคิดลงหลักปักฐาน เช่าตึกหลังหนึ่งริมถนนอารามิเตอร์ รัฐแคลิฟอร์เนียเปิดเป็นโรงแรม โดยใช้ชื่อมาเซลเป็นเจ้าของ

กิจการโรงแรมของทองคำก็ไปด้วยดี แต่โชคชะตาของเขาคงถูกกำหนดให้ลุ่มๆดอนๆเป็นวัฏจักร อยู่ๆไฟก็ไหม้โรงแรมวอดไปทั้งหลัง แต่อย่างไรเขาก็ยังไม่หมดตัว เพราะส่วนกำไรได้ฝากธนาคารไว้ในชื่อมาเซล ทองคำจึงให้เธอถอนออกมา แล้วส่งเธอกับลูกไปอยู่กับพ่อแม่ก่อน ส่วนเขาก็ออกหางานแสดงตามเดิม

จากนั้นอีก ๗ เดือน ทองคำก็ได้รับข่าวร้ายที่สุดในชีวิต มาเซลและลูกเสียชีวิตทั้งคู่ด้วยโรคร้าย ทองคำแทบบ้า จมอยู่ในความเศร้าจนกลายเป็นคนขี้เมาหยำเป

เคราะห์ร้ายของเขายังไม่สิ้นสุดเพียงนี้ วันหนึ่งขณะที่กำลังแสดงให้บริษัทกิ๊ธอยู่ที่โรงละครฮาเรส เมืองพิตสเบิร์ก ขณะที่ทองคำม้วนตัวบนชิงช้าลงมายืนบนโต๊ะกลางเวที เป็นความสับเพล่าของคนงานประจำเวทีที่ขันน็อตขาโต๊ะไม่แน่น พอทองคำปล่อยตัวลงยืน ขาโต๊ะก็โย้ออก ตัวเขาพุ่งลงไปในกลุ่มนักดนตรีหน้าเวที สลบแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น และเมื่อฟื้นขึ้นมาก็ได้ทราบว่ากระดูกขาซ้ายตอนต่อหัวเข่าชำรุดมาก ต้องพิการไปตลอดชีวิต

การเป็นนักกายกรรมที่ทองคำได้วิชามาจากคนญี่ปุ่น ก็ต้องปิดฉากลงตรงนี้

พอหมดอาชีพที่ถนัด เงินที่บริษัทกิ๊ธ ช่วยเหลือมาบ้างก็ร่อยหรอหมดลง วงจรชีวิตเก่าก็กลับมาอีก แต่ทองคำรู้สึกคุ้นเสียแล้วกับชีวิตที่อดอยาก ยิ่งตอนนี้ตัวคนเดียวจึงไม่วิตกอะไร พอหาเงินเป็นค่ารถได้ก็เดินทางไปนิวยอร์ค ตั้งใจจะหางานทำตามห้างร้าน และโชคก็เป็นของเขาอีก ทองคำได้พบกับ แย็ก มาเกท เพื่อนเก่าตั้งแต่ครั้งเป็นนักแสดง แย็กรู้ว่าทองคำกำลังเดือดร้อน เลยชวนไปอยู่โฮเตลเวนดิกที่เขาเป็นเจ้าของ งานโรงแรมเป็นงานที่ทองคำถนัดอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ในหนึ่งปีที่ทองคำมาช่วยแย็ก กิจการของโฮเตลเวนดิกก็รุ่งเรืองขึ้นมาก แย็กถึงกับกล่าวกับทองคำว่า

“ทอมเพื่อนยาก แกทำให้กันนอนตาหลับได้สนิทมาก”

บริหารโฮเตลเวนดิกอยู่ ๓ ปี ในวันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๑ อเมริกาก็ประกาศสงครามกับเยอรมัน ชาวอเมริกันพากันตื่นเต้นที่ประเทศของเขาได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย จึงพากันไปสมัครเป็นทหารอย่างเนืองแน่น ทองคำก็เกิดความอยากจะไปสงครามขึ้นมาบ้าง เพราะยังไม่เคยเห็น และเขาได้รับคำรับรองเป็นคนอเมริกันคนหนึ่งตามกฎหมายแล้ว จึงไปเข้าคิวสมัครด้วย แต่เนื่องจากขาของเขาพิการ ทองคำจึงถูกส่งไปอยู่หน่วยผลิตกระสุนปืนใหญ่ ที่พิตสเบิร์ก มีหน้าที่ตรวจเกลียวกระสุน ส่วนแย็ก มาเกทก็ไปสมัครด้วย ถูกส่งไปประจำการในเรือพิฆาต โฮเตลเวนดิกจึงเหลือแต่ภรรยาของแย็กและลูกจ้างทำกันไป

วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๓ สันติภาพก็กลับมาสู่ชาวโลกอีก ทองคำกับแย็กจึงกลับมาฟื้นฟูโฮเตลเวนดิก และวันสำคัญอีกวันก็มาถึง ทองคำจำได้แม่นว่าเป็นวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๗ ได้เห็นหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์คลงข่าวเอิกเกริกว่า “คณะละครรำแห่งกรมมหรสพหลวง ประเทศสยาม จะมาแสดงที่อเมริกาเป็นครั้งแรก ณ โรงฮิบโปรโดม ของบริษัทกิ๊ธ” ทองคำดีใจที่จะได้พบคนชาติเดียวกัน จึงรีบไปโฮเตลที่คณะละครไทยมาพัก แต่เขากลับพูดกับเพื่อนร่วมชาติไม่รู้เรื่องเลย เพราะไม่ได้ใช้ภาษาไทยมาถึง ๒๕ ปีแล้ว ต้องให้ นายฮิกซ์ ผู้อำนวยการละครเป็นล่าม ทองคำรู้สึกอบอุ่นมากที่ได้พบคนไทย จึงเวียนไปหาทุกวัน จนเจ้าของโรงแรมที่คณะละครไทยพักอยู่ไม่พอใจ ระแวงว่าทองคำจะมาชวนไปพักที่โรงแรมเวนดิก และก็เป็นจริงตามที่ระแวง ทองคำได้พาคณะละครย้ายไปพักที่โรงแรมเวนดิก เพราะโรงแรมที่พักอยู่คิดราคาสูงเกินไป และเมื่อคณะละครย้ายไปแสดงที่เมืองบัลติมอร์นายฮิกซ์ก็ขอให้ทองคำช่วยนำทางให้ เพราะชำนาญกว่า เรื่องนี้จึงทำให้แย็ก มาเกทไม่พอใจที่ทองคำทิ้งงานเขาไปช่วยพวกละคร แต่ทองคำว่า แม้แย็กจะมีพระคุณกับเขามาก แต่เขาต้องเห็นแก่เพื่อนร่วมชาติมากกว่า ทองคำเลยจำใจต้องลาจากโฮเตลเวนดิกติดตามไปกับคณะละครไทย และตามไปจนคณะละครสุดสิ้นการแสดง กลับมาถึงเมืองไทยในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๘ โดยลงเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาทางญี่ปุ่นและฮ่องกง คนละทางกับที่ทองคำไป ทำให้ทองคำเดินทางรอบโลกโดยสมบูรณ์ และได้เห็นเมืองฝรั่งอย่างฉ่ำใจ

ทองคำกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อพ่อแม่ของเขาตายหมดแล้ว และตระกูลของเขาได้ใช้นามสกุล “นิลรุ่ง” เมื่อ “ทิดเขียว”นำเรื่องการผจญภัยของนายทองคำลงในหนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์แล้ว ทองคำก็กลายเป็นคนดังของบางกอก โรงละครนครเกษมได้ให้เขาขึ้นเวทีเล่าเรื่องผจญภัยสลับกับการแสดงของคณะละครที่กลับมาจากอเมริกา มีผู้ชมซื้อตัวแน่นขนัดจนที่นั่งไม่พอต้องคืนตั๋ว

รุ่งขึ้นจากปีทีเขากลับมา วังพญาไทของรัชกาลที่ ๖ ได้เปิดเป็นโฮเตลพญาไท เพื่อต้อนรับชาวต่างประเทศ ทองคำยังได้ใช้ภาษาอังกฤษให้เกิดประโยชน์ เข้ารับหน้าที่เป็นไกด์พาฝรั่งเที่ยว และมีเมียใหม่เป็นคนมอญชื่อ เขียน

ใน พ.ศ.๒๔๗๓ กิจการโฮเตลพญาไทได้ล้มเลิกไป และไม่มีใครได้ข่าวทองคำอีก บ้างก็ว่าเขาตายที่โฮเตลพญาไท แต่ก็ไม่แน่ที่วิญาณรักการเผชิญโชคจะเรียกร้องให้เขากลับไปสู่โลกกว้างอีก อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าทองคำเป็นบุคคลสาบสูญนับตั้งแต่โฮเตลพญาไทปิดกิจการ และปิดฉากเรื่องราวชีวิตโลดโผนของเขาให้โลกรู้แต่เพียงนี้
 หมู่เรือสินค้าจากตะวันตกในแม่น้ำเจ้าพระยา
ท่าเรือในอเมริกายุคเรือสินค้ายังใช้ใบ
ความบันเทิงของชาวอเมริกันในยุคแฝดอิน-จันเป็นตัวชูโรง
ทองคำ (แถวนั่งซ้ายสุด) กับส่วนหนึ่งของคณะละครเมื่อกลับมาถึงไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น