xs
xsm
sm
md
lg

“เมืองพระชนกจักรี” อนุสรณ์ราชวงศ์จักรีมาจากหมู่บ้านสะแกกรัง สืบเชื้อสายจากโกษาปาน!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ป้ายขนาดใหญ่ติดหน้าเขาสะแกกรัง
คำขวัญของจังหวัดอุทัยธานีขึ้นต้นด้วยประโยคแรกว่า “เมืองพระชนกจักรี...” และบนยอดเขาสะแกกรังที่มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองโดยรอบนั้น ยังมีสิ่งยืนยันคำขวัญนี้คือพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระชนกาธิบดี เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๘

พระราชานุสาวรีย์เป็นรูปหล่อขนาด ๒ เท่าพระองค์จริงประทับบนแท่น พระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลาขวา มีพานวางพระมาลาอยู่ด้านขวา

ป้ายหินแผ่นหนึ่งข้างแท่นประทับจารึกพระราชประวัติไว้ว่า

“สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระนามเดิม ทองดี พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เดิมทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) ได้ดำรงตำแหน่งพระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระเจ้าเอกทัศน์) พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดระส่ำระสายแตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ต่อมาทรงประชวรสิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก”

และป้ายหินอีกข้างหนึ่งจารึกข้อความว่า

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งมาประดิษฐาน ณ หอพระในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทอง ในพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการบูชาทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนิน”

ในพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชทานไปถึงเซอร์จอห์น บาวริ่ง ผู้เคยเป็นราชทูตอังกฤษเข้ามาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับไทยใน พ.ศ.๒๓๙๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“...ผู้ซึ่งเป็นพระมหาชนกแห่งปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี และเป็นพระอัยกาของพระราชบิดากษัตริย์องค์ปัจจุบัน (คือข้าพเจ้าเอง) และกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง (คือพระอนุชาองค์รองของข้าพเจ้า) แห่งประเทศสยาม เป็นราชโอรสอันสูงศักดิ์ของราชวงศ์ที่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสะแกกรัง อันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสะแกกรังที่เป็นสาขาของแม่น้ำสายใหญ่ เชื่อมอาณาเขตติดต่อภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศสยาม ประมาณเหนือเส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๑๕ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาเหนืออีกเล็กน้อย เส้นแวง ๙๐ องศา ๙๐ ลิปดาตะวันออก ซึ่งเล่ากันว่า บุคคลผู้มีความสำคัญได้ถือกำเนิดที่นี่ และกลายเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษของราชวงศ์สยามที่มาจากหมู่บ้านสะแกกรังสู่กรุงศรีอยุธยา...”

พระราชหัตถเลขานี้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พระราชบิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรีนั้น ได้ประสูติที่หมู่บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี และสืบเชื้อสายมาจากขุนนางกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งทรงหมายถึง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง

ถ้าย้อนหลังไปกว่านั้นถึงสมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๑ หรือ พระมหาธรรมราชา แห่งราชวงศ์สุโขทัย และเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๑๗ ของกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชามีพระราชโอรสธิดา ๓ พระองค์ คือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

พระราชธิดาองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงสมรสกับ พระยาราม ซึ่งเป็นขุนนางเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร มีธิดาปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ หม่อมบัว ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระองค์เจ้า กรมพระเทพามาตย์ และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังออกบวชที่วัดดุสิต จึงเรียกกันว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต”

หม่อมบัวสมรสกับหม่อมเจ้าเจิดอำไพ หรือหม่อมเจ้าดำ มีบุตรธิดา ๓ คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพเอกของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์ และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมของสมเด็จพระนารายณ์

เจ้าพระยาโกษาปาน มีบุตรชื่อ ขุนทอง รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ ได้เป็นพระอัษฎาเรืองเดช จนตำแหน่งสุดท้ายได้เป็น เจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีคลัง

เจ้าพระยาวรวงศาธิราชมีบุตรชายชื่อ ทองคำ รับราชการกับเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชวังบวร มีตำแหน่งเป็น จมื่นมหาสนิท และได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่หมู่บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี เพื่อรวบรวมสิ่งของสำหรับกองทัพ เช่น ช้าง ข้าว และไพร่พล ให้กรมพระราชวังบวรซึ่งเตรียมการยึดอำนาจ

ในระหว่างที่อยู่หมู่บ้านสะแกกรังนี้ ภรรยาของจมื่นมหาสนิทก็คลอดบุตรเป็นชาย ให้ชื่อว่า ทองดี ครั้นปี พ.ศ.๒๒๕๑ กรมพระราชวังบวรได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จมื่นมหาสนิทได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาราชนุกูล ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย จึงย้ายครอบครัวกลับมาอยู่กรุงศรีอยุธยา และเมื่อนายทองดีมีอายุเข้ารับราชการได้ จึงให้มาอยู่กรมมหาดไทย ได้รับโปรดเกล้าเป็น หลวงพิพิธอักษร จนได้เลื่อนขึ้นเป็น พระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย

ในขณะเป็นหลวงพิพิธอักษรนั้น นายทองดีได้สมรสกับดาวเรือง หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา สมุหนายก มีบุตรสาวคนแรกชื่อ สา บุตรคนที่สองเป็นชายชื่อ ราม คนที่สามเป็นหญิงชื่อ แก้ว

ครั้น พ.ศ.๒๒๗๙ คุณนายดาวเรืองตั้งครรภ์ที่ ๔ เมื่อใกล้คลอด เจ้าฟ้านเรนทร์ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ราชโอรสพระเจ้าท้ายสระซึ่งทรงผนวช เสด็จมาเยี่ยม ได้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้คลอดบุตรง่าย

ต่อมาวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๙ จึงคลอดบุตรเป็นชาย พระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ฯได้เสด็จมาเยี่ยมอีก ทรงฉีกชายสบงผูกคอเด็กให้เป็นมงคล หลวงพิพิธอักษรได้ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า ทองด้วง

อีก ๗ ปีต่อมา คือในวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๒๘๖ ก็ได้คลอดบุตรคนที่ ๕ ตั้งชื่อให้ว่า บุญมา

ซึ่ง “ทองดี” หรือ “หลวงพิพิธอักษร” หรือ “พระอักษรสุนทร” ก็คือ พระปฐมบรมราชชนกแห่งราชวงศ์จักรี ผู้ประสูติที่หมู่บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี

“ทองด้วง” ก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมราชวงศ์จักรีผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

“บุญมา” ก็คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑

“สา” พระพี่นางองค์โต ได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพสุดาวดี

“ราม” พระเชษฐาซึ่งสิ้นพระชนม์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาขณะเป็นขุนรามณรงค์ ได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระเจ้ารามณรงค์

“แก้ว” พระพี่นางองค์น้อย ได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระศรีสุดารักษ์

ปัจจุบัน ทุกวันที่ ๖ เมษายนของทุกปี อันเป็นวันจักรี จะมีพิธีสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือดอกฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี จะบานสะพรั่งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง
มณฑปที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
ภายในมณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง
 พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
กำลังโหลดความคิดเห็น