xs
xsm
sm
md
lg

ราชาน็อกเร็ว! “สกัด พรทวี” ยอดมวย 9 ชีวิต! หนึ่งโมเดลเกม “สตรีทไฟเตอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สกัด พรทวี” หรือ “สกัด เพชรยินดี” ชื่อนี้เคยลือลั่นยุทธจักรหมัดมวย เจ้าของแชมป์ 10 เส้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ แถมด้วยฉายา “ราชาน็อกเร็ว” และเจ้าของรำมวยไทยที่สวยที่สุด 11 ปีซ้อนและในรอบ 200 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ ความยอดเยี่ยมของเขาโดดเด่นถึงขนาดที่เกมยอดฮิตอย่าง “สตรีทไฟเตอร์” ยังหยิบเอาไปสร้างเป็นโมเดลคาแรกเตอร์ของเกม

จากเด็กน้อยที่ราบสูงแห่งปราสาทหินพิมาย สู่สังเวียนกำปั้นมวยไทย “สกัด พรทวี” หรือในชื่อจริง “วิรุฬห์ ผลพิมาย” ลูกหลานย่าโม สร้างตนจนเติบโตบนยุทธจักรมวยไทย ดังไปทั่วโลก ชกมาแล้ว แชมป์มาแล้ว ทั้งมวยไทยและมวยสากล เรียกว่าเป็นแชมป์และไร้พ่ายจนไร้คู่ชกถึงขั้นต้องสละตำแหน่ง

นี่คือตำนานอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์หมัดมวยของบ้านเราที่ไม่ได้มีเพียงด้านซึ่งหวานหอม เพราะอีกฟากฝั่งของความโด่งดัง ยังมีรอยแผลบางจุดที่เขาพร้อมจะเปิดใจพูดและเล่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ทั้งตัวเองและคนอีกหลายคน...

จากมวยแชมป์ถิ่นที่ราบสูง
รุ่งแล้วร่วง ร่วงแล้วรุ่ง สไตล์ “มวย 9 ชีวิต”!

“เพราะว่าต้นตระกูลเป็นนักมวยกันหมดเลย พี่ชายเราก็เป็นนักมวย คุณปู่ก็คือ “สุข ปราสาทหินพิมาย” (เจ้าของฉายา “ยักษ์ผีโขมด”) ตำนานมวยไทย ที่มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้ที่โคราช และนามสกุลเริ่มต้นเลยคือ “ผลพิมาย” ต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถเป็นนามสกุลได้หมด กิ่งพิมาย ราก ผล ของเรา “ผลพิมาย” ก็เริ่มต่อยมวยตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ในนาม “สกัด ปราสาทหินพิมาย””

ยอดมวยดังในอดีต กล่าวเริ่มต้นถึงชีวิตที่คลุกคลีตีโมงอยู่กับสังเวียนหมัดมวยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ยาวนานร่วม 50 ปี

“แต่ตอนนั้น เราก็มวยบ้านนอกธรรมดา ชกมวยไทยแถวบ้าน สมัยก่อนใส่กระจับข้างนอก ซ้อมแบบบ้านนอก ซ้อมแตะ ต่อย เรื่อยเปื่อย แต่ส่วนมากจะต่อยเป็นซ้อมมากกว่า คืออย่างมีงานวัดสามวัน เราก็ไปอาศัยต่อยก่อนเวลาทั้ง 3 วัน เราก็เติบโตมาอย่างนั้น ก็นับจำนวนที่ต่อยได้ 20 ไฟต์ไม่เคยแพ้ใคร

“ชื่อเสียงเราก็มีขึ้นมาระดับจังหวัด ระดับภาค ในตอนนั้น “ส.ส.บุญเยี่ยม โสภณ” ท่านเป็นหัวหน้าคณะของค่ายพรทวี จากจังหวัดนนทบุรี ท่านรู้จักกับอาของเรา ท่านทราบข่าว ท่านก็อยากจะมาลองมวย เพราะเราต่อยอยู่บ้านนอกหลายครั้ง ไม่เคยแพ้ใครเลย เขาก็อยากจะเอามวยแข็งของเขามาเจอกับเรา”

อาจจะด้วยความสด ความเพียรฝึกจากประสบการณ์จริงบนเวทีในวัยนั้น บวกกับพรสวรรค์ที่ตกทอดสั่งสมมาจากบรรพบุรุษ นักมวยจากเมืองไกลจึงต้องพ่ายให้กับหนุ่มบ้านนาที่ราบสูง ชนิดผู้ท้าประลองยังต้องเอ่ยปากทาบทามให้โยกย้ายเข้าอยู่สังกัดตน เพราะเห็นแวว

“ค่ายเขาก็มีนักมวยเก่งๆ หลายคนตอนนั้นมี “วิชาญน้อย พรทวี” เป็นนักมวยที่ดังมาก “เริงศักดิ์ พรทวี” และพอเราชกชนะ เขาก็ติดต่อขอให้มาซ้อม ให้มาอยู่ในสังกัดพรทวี เราก็มาอยู่ค่ายเขา ตอนนั้นอายุประมาณ 16 ย่าง 17 ปี เห็นจะได้ ยังจำได้เลยว่าชกครั้งสุดท้ายเสร็จที่โคราชอีกหน เขาก็ไปรับ เอาใส่รถมาเลย (หัวเราะ) เพราะเขาบอกที่บ้านไว้ ก็ไม่ต้องกลับบ้านมาอยู่ที่ค่าย

“จากมวยบ้านนอกมามวยกรุง รูปแบบการซ้อมก็เปลี่ยนไป เหมือนกับเรามาเรียนมหาวิทยาลัย มันต้องเรียนรู้หลายอย่าง เช่น การซ้อมเขาซ้อมกันอย่างนี้ ซ้อมเสร็จก็ดูมวยที่สูงกว่าเรา ตอนนั้นเราก็ดูมวยเงินหมื่นเขาซ้อม จนได้ขึ้นสังเวียนครั้งแรกด้วยการชนะน็อก เริงสิงห์น้อย ฤทธิ์วิบูลย์ ในยกที่ 2 ก็ไต่เต้ามาเรื่อยๆ ก็เริ่มจากมวยร้อย ต่อยครั้งแรกได้เงิน 800 บาท สมัยทองบาทละ 400 ก็ได้มีโอกาสขึ้นต่อยก่อนเวลา รอบบ่ายเวทีมวยลุมพินี ไม่ใช่คู่เด่นดังอะไร แต่เราก็ซ้อมๆ เรื่อยมา”

ทว่าเพียงระยะเวลาแค่ 2 ปี
จากนักมวยเงินร้อยก็แปรเปลี่ยนเป็นเงินแสน
และระดับแชมป์ราชดำเนิน

“แรกๆ ที่ชก เราก็มีชนะบ้างแพ้บ้าง แต่เราจะชนะมวยไฟต์ใหญ่ๆ ตอนนั้นก็ชนะรวด 5 ไฟต์ติดต่อกัน สมัยนั้นก็เลยได้มีโอกาสชิงแชมป์ เราก็ชกชนะได้แชมป์เข็มขัดเส้นแรกที่ราชดำเนิน รุ่นแบนตั้มเวต น้ำหนัก 118 ปอนด์ ฟอร์มการชกก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างที่อยู่รุ่นนี้ก็ต่อยชนะ อภิเดชน้อย ศิษย์หิรัญ, แก้วสวรรค์ เกียรติ ธ.ป., ดีที่สุด เดวี่, สิงห์หนุ่ม เพชรธานินทร์, ขาวผ่อง ศิษย์ชูชัย, พฤหัส โล่ห์เงิน, ศักดิ์สกล ศักดิ์ชาญณรงค์ ก่อนที่จะไม่มีใครชก ก็สละตำแหน่ง

“คือใครจะมาชกชิงแชมป์กับเรา เฮ้อๆ ไม่เอา กลัวเสีย อย่างแก้วสวรรค์ เกียรติ ธ.ป.“นักมวยเทวดา” ต่อย 4 ยก เราสู้ไมได้เลยนะ แต่พอปลายยก 4 เขาเตะผิด เราสวนต่อยปั๊บ น็อก กลับบ้านไม่ถูก หรือขาวผ่อง ระดับไม่เคยแพ้น็อกเลย ขึ้นไป เราก็โป๊ะ หลับ”

ด้วยเอกลักษณ์จุดเด่นของหมัดที่หนักหน่วง การเข้าทำที่รวดเร็ว เหตุนี้จึงทำให้หัวหน้าคณะพรทวี เห็นแววทางรุ่งดังไกลระดับบัลลังก์โลก จึงเสริมส่งให้ลงนวมมวยสากล ซึ่งยอดมวยหลานยาโม่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพียงครั้งแรกก็ซัด ฮวน อันโตนิโอ โลเปซ รองอันดับ 2 ของโลกชาวเม็กซิโก กับฮิซามิ มิสุโน นักชกจากประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเถลิงขึ้นท้าชิงแชมเปี้ยนโลก ในรุ่นซูเปอร์แบนตั้มเวต

“เขาก็ให้เราเบนเข็ม เพราะเห็นหมัดเราดี ก็เลยจับชกมวยสากล ชกมวยสากลก็สร้างประวัติศาสตร์โลกเลย เพราะชกมวยสากลแค่สองครั้ง ไม่เคยชกสมัครเล่นมาก่อน ก็ได้ชิงแชมป์โลกแล้ว ครั้งแรกที่ขึ้นชก เราชกกับรองแชมเปี้ยนโลกอันดับ 2 ของ WBC ชนะคะแนน ตอนนั้น ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกรุ่นฟลายเวต คนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นพี่เลี้ยงเรา เราก็เข้าไปอยู่อันดับที่ 3 โดยปริยาย เขาก็จะให้ชิงเลยในทีแรก ก็ไปเซ็นสัญญากับ “วิลเฟรโด โกเมซ” (นักมวยสากลชาวเปอร์โตริโก) แชมเปี้ยนโลก ราชาน็อกเอาต์อันดับ 1 ของโลก เจ้าของฉายาบาซูก้า ชกมวย 32 ครั้ง น็อกไป 31 ครั้ง เสมอ 1 ครั้ง และไม่เคยแพ้ใคร ขนาดไมค์ ไทสัน ยังสู้ไม่ได้ แต่เขาบังเอิญไปเซ็นสัญญากับคนที่แพ้เราก่อน เราก็เลยได้อุ่นเครื่องครึ่งหนึ่งกับนักมวยญี่ปุ่นที่บุรีรัมย์ ไฟต์นั้นเราก็ต่อยหลับคาเชือก”

“แต่พอถึงวันชกเราก็แพ้”
ยอดนักมวยชื่อดัง กล่าวด้วยสีหน้าที่เปลี่ยนไป
...ครั้งนั้น นอกจากจะสร้างความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ที่ผู้คนให้การติดตามถึงขนาดรถจอดกันเรียงรายยาวกว่า 3 กิโลเมตรระหว่างทางไปสนามเวทีมวยชั่วคราว สนามกีฬากลางจังหวัดนครราชสีมา แถมการชกมวยครั้งนั้นยังเกิดโศกนาฏกรรมมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากคลื่นมวลชนที่หลั่งไหลเกินพิกัดที่อัฒจรรย์จะรองรับพังทลายก่อนเริ่มการดวลหมัด

“จริงๆ วันนั้นไม่เชิงสู้ไม่ได้เลย แต่ก็โดนจับแพ้ตั้งแต่ยกที่ 2 แล้วเราก็ไม่ได้กลัวด้วย แต่เรา พ่อแม่เรา อัฒจรรย์พัง เหตุการณ์ไม่ดี ก็ผิดหวังตอนนั้น ก็เลยกลับมาต่อยมวยไทยอีก ชกกับยอดมวยในยุคนั้น หนองคาย ส.ประภัสสร, เผด็จศึก พิษณุราชันย์, ดีเซลน้อย ช.ธนสุกาญจน์, รักแท้เมืองสุรินทร์ ฟอร์มการชกก็ดี แล้วก็ย้ายสังกัดมาอยู่ค่ายเพชรยินดี เพราะติดต่อขอซื้อตัวเรากับวิชาญน้อย พรทวี ล้าน 5 แสนกว่าบาท เราสละตำแหน่งเดิมไปแล้วเพราะไม่มีคู่ชก เราก็เลยต้องข้ามรุ่นไป 2 รุ่นเลย มาต่อยสักพักก็ได้มาชิงรุ่นจูเนียร์ เวลเตอร์เวต 140 ปอนด์ ก็ได้เป็นแชมป์อีก แล้วก็ไม่มีใครชกอีก คือเราชกมวยกับยอดมวยสมัยก่อนแทบทุกคน ที่ไม่ใช่ค่ายของเรา เราชกแทบทุกคน พอไม่มีคู่ชก ก็ลดน้ำหนักไปต่อยรุ่นเฟเธอร์เวต 126 ปอนด์

“ก็ต่อยไปๆ ช่วงอายุราว 24-25 ฟอร์มเราก็ตก เหมือนดวงเราตก ตกหมดทุกอย่าง แพ้ติดต่อกันถึง 8 ไฟต์ ช่วงนั้นต่อยมวยพระราชทานฯ แพ้ๆๆ ทั้งๆ ที่ซ้อมปกติ ขยันซ้อมเหมือนเดิมแทบทุกอย่าง จนคิดจะเลิกแล้ว เพราะนักมวย ถ้าแพ้ติดต่อถึง 9 ไฟต์ เรียกได้ว่าตายเลย ตายบนเวทียังดีซะกว่า

“แต่บังเอิญก่อนที่เราจะชกครั้งที่ 9 เราไปหาหลวงพ่อคูณ เพราะเวลาเราไปต่อยเรามักจะแวะไปหาหลวงพ่อคูณ เราเป็นลูกศิษย์ท่าน ไปหาท่านเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไปหาท่าน ท่านก็บอก “ไอ้นายเอ๋ย...เวลาขึ้นอย่าหลงเด้อ เวลาลงอย่าท้อ” ไม่ต้องท้อ ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ขึ้นมาเอง ถ้าเราขยัน เรามุมานะพอ แล้วก็ได้น้ำอบน้ำพรม กลับมาก็โป๊ะ ชนะน็อก แล้วก็ชนะน็อกติดต่อกันอีก 8 ไฟต์ รวมเป็น 9 ไฟต์ติด ก็ได้กระโดดมารุ่นไลต์เวต 135 ปอนด์อีก โดดมาชิงแชมป์เวทีมวยลุมพินีก็ได้อีก 2 สมัย”

ถึงจุดนี้ สื่อต่างๆ ต่างพาดหัวการกลับมาของเขา...
บ้างก็ว่า "สกัดแมว 9 ชีวิต"
บ้างก็ว่า "สกัด คนเดิมกลับมาแล้ว"
นั่นเพราะเขาไล่ชนะทั้งคะแนนและน็อกเป็นว่าเล่น ก่อนจะถลุงพ่วงได้ตำแหน่ง “ราชาน็อกเร็ว” ด้วยระยะเวลาเพียงแค่ 4 วินาทีหลังระฆังลั่นเป๊งที่ขัดกับแชมป์รำมวยไทยสวยที่สุด 11 ปีซ้อนและแชมป์รำมวยไทยสวยที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันทุกตำแหน่งแชมป์อย่างเหนียวแน่นโดยไม่เสียให้ใครสักรุ่น แต่ต้องออกจากตำแหน่งเนื่องจากหาคู่ชกที่เหมาะสมไม่ได้

“ตอนนั้นพอเริ่มไม่มีคู่ชก ทางหัวหน้าค่าย เขาก็เลยเบนเข็มให้ไปเป็นคู่ซ้อม ให้ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” เพราะสามารถจะชิงแชมเปี้ยนโลก ก็ไปกับ “สด จิตรลดา” สามารถก็ได้แชมป์ แต่ระหว่างที่เราซ้อมให้สามารถ เขาก็เห็นแววว่าเรายังมีอยู่ เขาก็ให้เราชกชิงแชมป์โลก ก็เลยได้ชกชิงแชมป์โลกที่ประเทศคูเวต ไปชกพร้อมกับ “สด จิตรดา” ก็ชนะน็อกยก 2 แชมป์ ABC คนแรกของประเทศไทย WBC เอเชียปัจจุบัน ได้เป็นแชมป์โลกก็สามารถชิงสถาบันใหญ่ได้โดยไม่ต้องรอเวลา

“จากนั้นเขาก็เลยให้ผมมาชิงแชมป์สากลที่เวทีราชดำเนิน ก็ชนะน็อกอีก ได้เป็นแชมป์อีก พอเป็นแชมป์ หัวหน้าก็เริ่มให้ไปชกมวยสากลชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก OPBF ชิงกับนักมวยออสเตรเลีย ก็ชนะน็อกยกที่ 6 ต่อยหลับคาเชือก หลังจากนั้นก็ชกมาเรื่อยๆ จะบั้นปลายแล้ว เพราะตอนนั้นประมาณอายุ 28 ปี แชมป์เส้นที่ 6-7 แล้ว”

และวงจรชีวิตก็เข้ารูปแบบเดิม คือไร้ซึ่งคู่ชก “ไอ้หนูหมัดสั่ง” “ไอ้รุน” ฉายาที่เรียกขานจึงต้องแขวนนวมไปโดยปริยายในการชกครั้งป้องกันตำแหน่งไลต์เวตกับ “เกียรติศักดิ์ หนึ่งเมืองมหา” หรือ “ไอ้เทอร์โบ” แบบรุ่นใหญ่สอนเชิงเด็ก ทุกรุ่นจึงไม่เคยเสียให้ใคร เพราะไม่มีผู้ท้าชิงที่เหมาะสม ณ เวลานั้นอีกเลย

กำเนิด “สกัด” Thailand แห่งสตรีทไฟเตอร์
และบาดแผลที่ยากจะลืมเลือน

ด้วยเหตุที่หาคู่ชกไม่ได้ ทำให้เส้นทางหมัดมวยในประเทศไทยต้องจบลง แต่กระนั้น ด้วยฝีไม้ลายมือ แม้จะคิดแขวนนวม แต่ชะตาก็พัดพาให้เข้าสู่สังเวียนอีกครั้ง

“คือไม่มีใครชิง เราก็เลยตัดสินใจไปอยู่ประเทศออสเตรเลียดีกว่า เพราะเขาให้ไปสอนมวย ก็สอนๆ ไป จบปีแรกเท่านั้น พอปีที่ 2 เขาเห็นเราซ้อมเรายังมีดีอยู่ เขาก็มาบอกให้ชกชิงแชมเปี้ยนโลกคิกบ็อกซิ่ง WKA ให้ประเทศเขาที่ประเทศญี่ปุ่น เราก็บอกว่าต่อยได้ แต่ขอธงชาติไทยขึ้นด้วยนะ ก็ชนะคะแนนมวยอเมริกัน-เม็กซิกัน ต่อย 12 ยก เตะได้ ต่อยได้ แต่ห้ามศอกเข่า”

“เราก็เป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์คิกบ็อกซิ่ง หลังจากนั้นก็มีไฟต์ไปชกที่ญี่ปุ่นอีกหลายครั้ง”
ยอดมวยไทยระดับโลกเผยเรื่องราวก่อนที่จะกลายเป็นต้นแบบตัวละครขวัญใจในเกมต่อสู้ยอดฮิต “สตรีทไฟเตอร์”

“คือตอนแรกเราก็ไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้บอกว่าเอาเราไปเป็นต้นแบบ แต่ตัวละครในเกมตอนแรกเริ่มเลยมีแค่ 4 ตัว ก็มีทั้งตัวละครจากประเทศจีน อเมริกาชื่อไบสัน ก็คือไมค์ ไทสัน ญี่ปุ่นก็ริว แล้วก็ไทย ของไทยเราเขาใช้ชื่อ สกัด ไทยแลนด์ นักมวยตอนนั้นประเทศไทยก็มีชื่อเราคนเดียวที่ชื่อสกัด แม้จะปิดตาข้างหนึ่ง แต่ตอนนั้นก็มีช่วงหนึ่งที่เราไปต่อยที่อเมริกา ตาเราเสียต้องผ่าตัดฟิล์มที่ตา มันก็คล้ายๆ เราอีกด้วย

“ตอนแรกกะจะฟ้องเขา เราบอกว่าถ้าใครฟ้องเขาได้ เราขอ 50 เปอร์เซ็นต์พอ ให้กับการกุศล 20 ล้าน เพราะฟ้องได้ถึง 100 ล้านเหรียญ แต่ช่วงนั้นไม่มีใครฟ้องให้ จนกระทั่งคนสร้างติดคุกเพราะไม่จ่ายภาษีเป็นแสนๆ ล้าน เพราะสตรีทไฟเตอร์นี้ดังมากๆ ได้รายได้เป็นแสนๆ ล้าน สมัยก่อนมีแต่คนเล่น เด็กก็เล่นกัน ออสเตรเลียก็เล่น เขาก็รู้ว่าเป็นเรา เราคือตัวนั้นในเกม

“แต่ก็รู้สึกว่าภูมิใจที่เขาเอาเราไปเป็นต้นแบบตัวละคร”

ชื่อเสียงก็ยิ่งขจรกระจายไปทั่วในฐานะยอด “มวยไทย” ผู้หยิบยื่นความปราชัยให้แก่คู่ชกคนแล้วคนเล่า

“รอนนี่ กรีน ที่ว่าไม่เคยแพ้คนไทยเลย เราก็ชนะ ปีเตอร์ คันนิงแฮม นักชกอเมริกา เราก็ชนะ ระหว่างนั้นก็บังเอิญโปรโมเตอร์ที่ญี่ปุ่นคนที่จัด K-1, K-2 เขาเห็นเราไปฝึกสอนที่ออสเตรเลีย เขาก็ติดต่อขอให้เราไปสอนซูเปอร์สตาร์ของเขาที่โอซากา เพื่อแข่งรายการทัวร์นาเมนต์ที่ชื่อว่าคาราเต้ทัวร์นาเมนต์ ชก 50 กว่าคน ใครแพ้คัดออก ไม่หยุดภายในวันเดียว ถ้าชนะ 7 ไฟต์ติดต่อกันก็ได้แชมป์ เขาก็จ้างไปอาทิตย์ละ 1 แสนบาท เราไปฝึกให้เขา เทรนเรื่องการออกหมัด กับการซ้อมในรูปแบบของเรา

“ปรากฏว่าเขาก็ชนะ ได้แชมป์ เราก็ยิ่งดังใหญ่เลย ตอนนั้นจึงไม่ได้กลับไปประเทศออสเตรเลียอีก เพราะเขาอยากให้ไปสอน และตอนที่มาติดต่อช้างเผือก เกียรติทรงฤทธิ์ ไปชก K-1 เขาจะให้ไปสอนอีก 2 เดือน แต่ครั้งที่สองไม่ได้ไป”

และคำว่า “ไม่ได้ไป” ในที่นี้ของยอดนักมวยดังนั้น ไม่ใช่แค่ไม่ได้กลับไปฝึกสอนต่อเพียงแค่นั้น แต่หมายถึงการไม่ได้ไปทางที่เฉียดสังเวียนมวยอีกเลย

“คือพูดได้ว่าเหลวแหลกเลยหลังจากนั้น กลับจากญี่ปุ่นก็ได้เกือบๆ ล้าน เพราะลูกศิษย์เราชนะ เขาก็ให้ทิปเราอีก 2 แสนบาท มันก็โอ้โหเงินไม่ใช่น้อยๆ เราก็หนุ่มคะนอง ตอนนั้นก็เที่ยวทุกวัน สำมะเลเทเมา เที่ยวคาเฟ่ในสมัยนั้น เราก็เริ่มที่จะหลงตัวเอง ก็ไปทางด้านนั้นเลย แล้วเพื่อนฝูงเยอะ ใครลำบากก็ช่วย ให้หมด เพื่อนไม่มีเงินกลับบ้าน ถอดทองให้ไปจำนำ แล้วมันก็หายไปเลย คือความที่รักพรรคพวก ก็โอเคยังไงก็เอาบัตรใบจำนำมาให้ แต่มันหายไปเลย

“ความรักก็ด้วย ตอนนั้นมีชื่อเสียง ใครก็อยากเป็นแฟน พอหมดก็จากไป เป็นธรรมดา เราไม่มีอะไรจะเลี้ยงเขาได้ มันก็เป็นสัจธรรม คืออะไรก็ไม่แน่นอน เวลาเราตก อะไรก็หมด”

ยอดนักมวยดัง เผยช่วงชีวิตที่พลิกผันจากการหลงกลในกิเลสสิ่งเร้า
“ตอนแรกๆ เราก็คิดว่าเดี๋ยวก็หาใหม่ได้ คิดว่าเรายังมีแรง เรายังมีเพาเวอร์อยู่ ยังหาได้ ก่อนหน้าที่ไปสอนที่ญี่ปุ่นไม่นาน เคยไปสอนที่ประเทศอิตาลีสองแสนกว่าบาท เราก็เลยคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ มันมีเหตุการณ์ให้พลิกผัน จริงๆ เราได้มีโอกาสแล้วเราไม่ไขว่คว้าไว้ ทำให้ชีวิตเราหลงทางเลย พอหลงทางก็ย่ำแย่อย่างที่ข่าวออก

“อันนี้เป็นคติเตือนใจถึงทุกวันนี้ นักมวยสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยสองหมัด และยังสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ คือเราชกมวยเลี้ยงครอบครัว พี่ น้อง หลาน พ่อ แม่ เราเลี้ยงหมด คิดเป็นตัวเลข ประมาณ 30 กว่าล้านบาททั้งหมดที่เราชกมา สมัยตั้งแต่ทองบาท 400 ชกมาเริ่มดัง ไม่ใช่น้อยๆ แต่ตอนหลังเราไปหลงกับสิ่งเร้าพวกนั้น”

ชื่อของ “สกัด” จึงค่อยเลือนรางจางไปราวกับหมึกบนผืนผ้าใบ—ระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ไม่มีใครล่วงรู้--และต่างหลงลืมฮีโร่คนดังคนนี้ไว้เพียงคนรุ่นใหญ่ที่เติบโตทันกัน

“บางคนเขาจำไม่ได้ จนวันนั้น ถ้าเสก โลโซ ไม่พูดกับสื่อมวลชนที่มาทำข่าวเรื่องค่ายมวยเขาว่ามีเทรนเนอร์ประจำ ก็คงจะไม่รู้ว่านี่คือแชมป์ 12 ตำแหน่ง 10 เข็มขัด สกัด พรทวี คือเรามาเงียบๆ ตอนนั้นเราเก็บตัว ไม่ค่อยได้ไปไหน ไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไรมาก

“แต่จริงๆ ก็ใช้ระยะเวลาไม่นานในการคิดกลับใจ เพราะส่วนตัวเรามีคติที่ว่า ถ้าเป็นคนเก่ง จะเก่งกว่านี้ได้อีกไหม ในการชกมวยอยู่แล้ว ทีนี้พอชีวิตเราล้มตรงนั้น เราก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ เราก็ใช้คตินี้ แล้วเราจะลุกขึ้นมาอีกไม่ได้เหรอ ก่อนหน้านั้น เราก็ไม่มีอะไรมาก่อน จนมีแล้วหมดไป แล้วตอนนี้เราจะสร้างมันขึ้นมาอีกไม่ได้หรือไง ก็ลุกขึ้นมา ดูแลร่างกายเรา ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ เราต้องสร้างพลังขึ้นมา เราไม่อ้วน ไม่ฉุ ร่างกายแข็งแรง เรายังเอาแรงตรงนี้ไปหาทางกลับให้ชีวิตเราได้ บวกกับลักษณะนิสัยของเราที่ไม่ยอมแพ้ ถ้าเรายอมแพ้ ป่านนี้เราก็คงกลับไปอยู่บ้านนอก แก่ๆ หมดค่า แต่ตอนนี้เรายังมีค่า

“ซึ่งก็ต้องขอบคุณปัญญา สุวรรณไพรพัฒนะ เจ้านายที่เห็นคุณค่า เห็นฝีไม้ลายมือในตัวเราอยู่ ถ้าไม่มีเขาวันนั้น ก็ไม่มีเราในวันนี้ นายเหมือนผู้ชุบชีวิตใหม่ให้สกัด ไทยแลนด์ เกิดขึ้นอีกครั้ง ก็ได้บทเรียนมาเยอะจากครั้งนั้น แล้วเราจะปล่อยไปได้หรือ ก็ฮึดสู้กลับมา

“ก็อยากฝากเยาวชนรุ่นหลัง ถ้าเราพยายาม ความพยายามคือความสำเร็จ พยายามเข้าให้มาก มันก็ต้องกลับมาได้ เพราะฉะนั้น หนึ่ง เรื่องการสร้างร่างกาย เราอย่าท้อ ไม่ถอย เรายังมีโอกาส ถ้าเราท้อถอย เราก็หมดโอกาส เมื่อใดที่เราไม่ท้อ มันก็ย่อมประสบความสำเร็จ แล้วโอกาส ต้องมีสักคนที่ให้โอกาสเรา อย่างที่นายให้โอกาสผม ยังเห็นฝีมือเรา เพราะความมุ่งมั่นเราที่ไม่สิ้นสุด”

ผ่านไปเถิด...ผ่านไปเถิดวัยวัน
ฝันใหม่ๆ เริ่มได้ ไม่มีหมด!

ถึงวันนี้แม้ชื่อเสียงจะไม่ฟูเฟื่องเลื่องลือดั่งเก่าก่อน ทว่า “สกัด” ในวันวัย 58 ปี ก็กลับมีใบหน้าที่เปี่ยมสุขกับสิ่งที่ได้ทำอยู่ ณ ตอนนี้ ในตำแหน่ง เทรนเนอร์ครูมวย อย่างเห็นได้ชัด

“เพราะทุกวันนี้เราก็ไม่ลำบาก เนื่องจากหนึ่งเรามีนายที่เห็นคุณค่าในตัวเรา และนายเขาให้การดูแลเรา ให้ที่อยู่ฟรี มีเงินเดือนให้ เราก็ไปสอนที่ยิมเขา "Fitness7" โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กับ "ทาวน์อินทาวน์ยิม" และก็สอนอีกสองที่ ไทยบ็อกซิ่งมาเตอร์ (TMB) และค่ายมวยเสกโลโซ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ตอนนี้เรื่องการเงิน ก็ได้ค่าสอนที่ละ 2 พันบาท ถือว่าไม่น้อยสำหรับเรา ณ ตอนนี้ เพราะสอนแค่วันละ 2 ชั่วโมง ก็ยังเยอะอยู่ สำหรับนักมวยแก่ๆ อย่างเรา เพราะว่าตอนที่เราไม่มีเงิน ไปพึ่งใครมันลำบาก เราก็ต้องใช้ชื่อเสียงของเรา พยายามดึงชื่อเสียงเก่าๆ ของเรากลับมา”
“เวลาดังอย่าหลง เวลาลงอย่าท้อ”
คำสอนหลวงพ่อคูณที่ยอดมวยดังกล่าวย้ำเผยถึงความรู้สึกในชีวิตช่วงนี้ที่สังเวียนชีวิตทุกอย่างตกผลึกตะกอน จนมองเห็นสัจธรรมและแผ้วถางทางชีวิตถ่องแท้ที่ควรเลือกเดิน

“ถึงเวลาสอน ตอนนี้เราก็พยายามสร้างมวยดีๆ เวลาสอนมวยมองถึงไปสอนเขาแล้วเขาได้ประโยชน์กับชีวิตด้วย แล้วที่ทาวน์อินทาว์นยิมเรารับสอนเยาวชนในชุมชน สอนเด็กด้อยโอกาสฟรี เด็กนักเรียนคนไหนที่สนใจแต่ไม่มีเงินค่าเรียน เราสอนให้หมด เพราะชีวิตเราเคยผ่านมาก่อนและยังได้ให้สัตยาบันต่อหน้าองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่าเราอยากจะสร้างคนเก่งและคนดีให้บ้านเมือง เรากลับมาได้เราก็เลยมาทำ

“ตอนนี้ชีวิตเราก็สามารถกลับมายืนได้อีกครั้ง ด้วยความที่เราเจอะเจอมาหลายเรื่อง ก็อย่างที่บอกไป เราจะประคับประคองอย่างไร ก็จะทำให้ดีที่สุด ถามว่าความฝันตอนนี้เราจะเป็นอย่างไรต่อ เราก็ยังมีฝัน ยังไม่เคยหยุด อายุ 58 ก็เหมือน 18 ปี ร่างกายเรายังแข็งแรง ยังชกมวยได้ เรายังคิดว่าสักอายุ 70 ปี จะทำให้ได้ลงกินเนสส์บุ๊กเลย จะชกตอนอายุ 70 ปี ยิ่งกว่าร็อคกี้อีก ตอนนี้ 60 ปี ยังชกได้ ยังอยากจะชก ชกที่ว่าย้อนยุคกับใครก็ได้ แม้แต่อายุต่ำกว่ายังไม่กลัวเลย ซ้อมได้สู้ได้”

และนี่ก็คืออีกหนึ่งตำนานในฐานะนักมวยผู้เชี่ยวกรากบนสังเวียนผ้าใบ
ขณะที่อีกด้านก็คือตำนานลูกผู้ชายที่โชกโชนด้วยชีวิตและประสบการณ์อันมีโมงยามพลาดพลั้ง แต่ลุกขึ้นสู้ไม่ถอยหนี และยืนหยัดได้อีกครา...



เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์

กำลังโหลดความคิดเห็น