จากกรณีปลายสัปดาห์ผ่านมาในโลกออนไลน์ของไทยมีการเผยแพร่คลิปนักท่องเที่ยวจีนแยกกันตักกุ้งระหว่างการรับประทานอาหารบุฟเฟต์ที่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศไทย จนกลายเป็นประเด็นที่สื่อจีนและสื่อตะวันตกนำไปขยายความต่อ โดยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
วันนี้ (20 มี.ค.) สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ภาคภาษาไทยวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในเฟซบุ๊ก @China Xinhua News โดยแบ่งเป็น 3 มุมมองคือ หนึ่ง มุมมองทั่วไปที่ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวของนักท่องเที่ยวจีนจะทำให้ ภาพลักษณ์ของนักท่องเที่ยวจีนในสายตาชาวต่างชาติจะยังคงย่ำแย่ต่อไป ไม่เฉพาะแต่ในกรณีนี้ แต่ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ส่งเสียงดังในร้านอาหารที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส การขีดเขียนในโบราณสถานของอียิปต์ เป็นต้น
สอง มุมมองด้านอายุ กล่าวคือ จากคลิปวิดีโอนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มดังกล่าวคือนักท่องเที่ยวจีนที่อยู่ในวัยกลางคน และสูงอายุที่ผ่านประสบการณ์ความอดอยากตั้งแต่สมัยยังเด็ก จึงขาดการมองเห็นคุณค่าของความมีระเบียบวินัยและความเป็นอารยะ นอกจากนี้ยังชอบทำตามกระแสคือเฮโลไปแก่งแย่งสิ่งของเหมือนๆ กัน โดยสำนักข่าวซินหัวมองว่าพฤติกรรมไร้อารยะเช่นนี้จะมีน้อยลงในกลุ่มคนจีนที่มีอายุน้อย และ สาม นักท่องเที่ยวที่มาเป็นคณะ (กรุ๊ปทัวร์) มักจะสร้างปัญหามากกว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเอง
"ปรากฏการณ์นี้สามารถวิเคราะห์ได้อีกหลายด้าน สามมุมมองข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น แต่ทั้งนี้แน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการขาดการปลูกฝังด้านวัฒนธรรมและมารยาท ทั้งยังเกิดในต่างประเทศ ส่งผลต่อภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศจีน ทำให้ชาวจีนเกิดความไม่พอใจมากขึ้นไปอีก ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะไม่สามารถแก้ให้หายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเองที่เพิ่มมากขึ้น" ซินหัวระบุ
สำหรับการวิเคราะห์ที่สำนักข่าวซินหัวเผยแพร่มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้
เหตุการณ์นทท.จีนรุมแย่งตักกุ้งแสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง?
เหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ทุกปีจะมีภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมในต่างประเทศ โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีภาพนักท่องเที่ยวจีนรุมแย่งตักกุ้งในภัตตาคารบุฟเฟ่ต์ในประเทศไทยอย่างบ้าคลั่ง ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์นทท.จีนกระเกิดขึ้นมากมายในโลกออนไลน์ แน่นอนว่าใครที่ได้ดูก็จะต้องรู้สึกตกใจในความไร้ระเบียบ ไร้มารยาทจนต้องตั้งคำถามว่า “คนพวกนี้เกิดมาไม่เคยกินกุ้งหรืออย่างไร?”
แต่ทว่าจากพฤติกรรมดังกล่าวเราสามารถวิเคราะห์จากมุมมองใดได้บ้าง?
1.มุมมองปกติทั่วไป
จากมุมมองนี้จะสามารถสรุปได้สองข้อคือหนึ่งแย่งกันกินอย่างไร้ระเบียบ สองกินทิ้งกินขว้าง พฤติกรรมเช่นนี้ไม่มีวันทำให้ภาพลักษณ์นักท่องเที่ยวจีนในสายตาคนอื่นดีขึ้นมาได้ บวกกับการขีดเขียนในโบราณสถานของอียิปต์ การส่งเสียงดังรบกวนในร้านอาหารที่ปารีส อีกทั้งการกินอาหารบนรถไฟใต้ดินในฮ่องกงที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมไร้อารยธรรมเช่นนี้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งมาพร้อมกับตัวเลขชาวจีนที่ออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
2.มุมมองด้านอายุ
เมื่อมองจากมุมมองด้านอายุของนักท่องเที่ยว จากวีดีโอดังกล่าวจะเห็นว่ากลุ่มนักท่องเที่ยววัยกลางคนและสูงวัยเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่มักมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กลุ่มคนเหล่านี้เคยเผชิญกับช่วงเวลาของการอดอยากจนมาถึงช่วงเวลาแห่งบริโภคนิยม แต่ในสมัยยังอายุน้อยยังคงมีภาพความทรงจำของความหิวโหยติดอยู่ ทำให้พวกเขาเหล่านี้ขาดการเห็นคุณค่าของความมีระเบียบวินัยและความเป็นอารยะ
อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ชอบทำตามกระแส ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อของ หรือกินบุฟเฟ่ต์ การ“แห่กันไปทั้งโขยง”คือพฤติกรรมที่เป็นจุดเด่นของกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างไรก็ดีสืบเนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปเที่ยวยังต่างประเทศมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนอายุน้อยมากยิ่งขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆนี้มักเที่ยวแบบปกติ เพราะไม่มีความรู้สึกว่าเคยอดอยากจนต้องแก่งแย่งแต่อย่างใด
3.มุมมองด้านลักษณะของกลุ่มทัวร์
นักท่องเที่ยวที่มากับกรุ๊ปทัวร์มักจะสร้างปัญหามากกว่านักท่องเที่ยวที่มาเอง ตั้งแต่ช่วงปี 1990เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจีนเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในประเทศไทย และที่เห็นได้เยอะที่สุดคือนักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์ เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ทางไทยและบริษัทด้านการท่องเที่ยวของจีนจึงจัดทัวร์ราคาถูก ที่สถานที่ทานค่อนข้างธรรมดา มีพนักงานดูแลไม่มาก และมีบริการกินไม่อั้น ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหญ่เกิดอาการเฮละโลแย่งกันตักอาหาร เพราะถ้าหากมากันเอง คนย่อมน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมแก่งแย่งเช่นนี้ลงได้
อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์นี้สามารถวิเคราะห์ได้อีกหลายด้าน สามมุมมองข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น แต่ทั้งนี้แน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการขาดการปลูกฝังด้านวัฒนธรรมและมารยาท ทั้งยังเกิดในต่างประเทศ ส่งผลต่อภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศจีน ทำให้ชาวจีนเกิดความไม่พอใจมากขึ้นไปอีก ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะไม่สามารถแก้ให้หายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเองที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ถึงแม้จะโกรธแค้นหรือรู้สึกขายหน้าแทนกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร ก็ควรที่จะวิจารณ์หรือมองปัญหานี้ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เพราะตอนนี้สิ่งที่อาจจะสำคัญกว่าการต่อว่า คือการเข้าใจถึงปัญหานี้ในหลายๆด้านเสียก่อน
(ที่มา http://epaper.oeeee.com/)
เหตุการณ์นทท.จีนรุมแย่งตักกุ้งแสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง?เหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ทุกปีจะมีภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนทำพ...
Posted by China Xinhua News on Sunday, March 20, 2016