xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลล้มละลาย” สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด “ดลฤดี” หนีทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
“ศาลล้มละลายกลาง” มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด “ดลฤดี” เบี้ยวใช้ทุน ม.มหิดล ด้าน “โฆษกศาลยุติธรรม” เผย ขณะนี้ยังไม่ถือว่าจำเลยล้มละลาย เพราะต้องให้ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายก่อน

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลนัดพิจารณาคดี ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โจทก์ที่ 1 และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้อง น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) ที่ได้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่ประเทศสหรัฐฯ แต่ น.ส.ดลฤดี ไม่ใช้ทุนคืน โจทก์จึงฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ให้จำเลยชดใช้มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 2,088,181 บาท และ ชดใช้ให้ สกอ. 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์ คดีสิ้นสุดเพราะไม่มีคู่ความอุทธรณ์ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษา จึงขอให้ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและขอให้พิพากษาจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

โดยวันนี้ทนายความของโจทก์ทั้งสองมาศาล ส่วน น.ส.ดลฤดี จำเลย ทราบนัดแล้วไม่มา ศาลจึงมีคำสั่ง ว่า จำเลยขาดนัดพิจารณา ขณะที่ทนายความโจทก์ นำนายอวยชัย อิสรวิริยะสกุล และ น.ส.ภาแก้ว เบญจเทพรัศมี เข้าเบิกความ และแถลงหมดพยาน

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองแล้ว ได้ความจริงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท อันเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

ด้าน นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ต่อไปเจ้าของทรัพย์ก็ไม่อาจทำอะไรกับทรัพย์นั้นได้ หากจะดำเนินการใดจะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย ขณะที่เวลานี้ยังไม่ถือว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 60, 61 เพราะยังต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายที่ศาลจะให้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น