นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงขั้นตอนภายหลังศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งวันที่ 14 มี.ค. ให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของ น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐฯ ตามคำขอของมหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ยื่นฟ้องเพื่อให้ น.ส.ดลฤดี ชำระหนี้ทุนการศึกษาว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว น.ส.ดลฤดี เจ้าของทรัพย์ ไม่อาจโอน จำหน่ายและจัดการทรัพย์ของตน แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะเป็นผู้จัดการดูแลรวบรวมทรัพย์นั้นแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 โดยหลังจาก น.ส.ดลฤดี ในฐานะลูกหนี้ ได้รับคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของศาลแล้วภายใน เวลา 7 วัน ต้องไปพบพนักงานพิทักษ์และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับทรัพย์สินและเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สิน แต่ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้ทำแทน ตามมาตรา 30 จากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ว่าจะประนีประนอมกันได้หรือไม่ หรือต้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 31 ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องลงโฆษณาใน หนังสือพิมพ์ กำหนดวัน-เวลา สถานที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ ขณะที่คดีนี้มหาวิทยาลัยมหิดล และ สกอ. ฐานะเจ้าหนี้ทั้งสอง จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลา 2 เดือนนับจากวันที่มีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีการไต่สวน ก่อนจะมีคำสั่งว่าอนุญาตให้รับชำระหนี้แต่ละรายหรือไม่ เท่าใดเต็มจำนวน หรือบางส่วน ตาม ม.107 ซึ่งกระบวนการที่สำคัญ คือการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ซึ่งศาลจะต้องออกหมายเรียกจำเลย ให้มาศาลเพื่อสอบถามถึงมูลเหตุที่ทำให้ตกเป็นหนี้ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่า เพราะเหตุใดถึงไม่มีทรัพย์สินในการชำระหนี้ แต่ถ้าจำเลยไม่มาศาลก็ถือเป็นการขัดขืนหมายเรียกซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้ออกหมายจับ
นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อปรากฏเหตุตาม 61 ว่า หลังจากการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและหลังจากการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รายงานให้ศาลทราบว่า ไม่มีเจ้าหนี้มาประชุม ไม่มีการประนอมหนี้ ไม่มีการลงมติใดแล้ว ให้ศาลพิพากษาลูกหนี้ล้มละลายแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจจัดการแบ่งทรัพย์สินให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย
นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อปรากฏเหตุตาม 61 ว่า หลังจากการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและหลังจากการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รายงานให้ศาลทราบว่า ไม่มีเจ้าหนี้มาประชุม ไม่มีการประนอมหนี้ ไม่มีการลงมติใดแล้ว ให้ศาลพิพากษาลูกหนี้ล้มละลายแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจจัดการแบ่งทรัพย์สินให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย