xs
xsm
sm
md
lg

อดีตฉลาม ผู้กลายเป็นตลก “ดะ-ดนู ชุตินาวี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นอกจากเส้นผมบนหัวที่หยิกฟูราวกับหลุดมาจากโลกยุค 1980 เขายังมาพร้อมกับความยียวนกวนว้อยซึ่งปลดปล่อยพลังความตลกออกมาให้ผู้ชมได้ฮาทุกครั้งไป นี่แหละเขาล่ะ...“ดะ-ดนู ชุตินาวี”

จากอดีตนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนที่หมกมุ่นฝึกซ้อมและแข่งขันเป็นเวลากว่าสิบปี ก่อนที่เสียงเพลงแห่งโมเดิร์นด็อกจะเข้ามาเคาะหัวป๊อกและบอกทางที่ใช่ พาให้เขาเดินเข้าใส่วิถีการแสดง และลงเอยด้วยการเป็นดาราตลกคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามอง...

• อยากให้ย้อนเล่าไปถึงชีวิตวัยเด็กหน่อยครับว่าเป็นยังไง

ผมโตมาที่สลัม ตรงประตูน้ำพระโขนงเลยครับ ซึ่งผมโตมาในท่ามกลางเด็กอายุ 7-8 ขวบ ก็เริ่มดูดยาบ้ากันแล้ว แล้วพอเราจบ ม.3 ทางบ้านก็ให้ย้ายออกไป เมื่อก่อนผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ซึ่งก่อนจะเป็นนักกีฬา ทางบ้านสนับสนุนผมให้เป็นดารา ให้ไปร้องเพลงออกรายการอย่างซูเปอร์จิ๋ว หรือแสดงความสามารถต่างๆ แต่ในตอนนั้นผมไม่ชอบเลยว่าทำไมต้องมาบังคับด้วย เราชอบการเป็นนักกีฬา ผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำประมาณ 10 ปี เป็นมาตั้งแต่อนุบาล 3 หรือ ป.1 นี่แหละ เพราะว่าบ้านอยู่ติดคลอง แม่ก็จะกลัวว่าเราจมน้ำตาย ก็เลยให้ไปเรียนว่ายน้ำ ทีนี้ว่ายไปว่ายมา ดันมีแวว ก็เลยไปเป็นนักกีฬา เป็นตัวแทนเขต แต่ว่าไม่ได้ไปถึงประเทศนะ

• แล้วครอบครัวทางบ้านทำอะไรครับ

บ้านผมญาติเยอะครับ ก็ค้าขายที่ตลาดบ้าง ทำงานบริษัทบ้าง ได้เงินมา เขาก็จะเอามาเลี้ยงดูครอบครัวและส่งผมเรียน คล้ายๆ ครอบครัวใหญ่เลย ประมาณ 10 กว่าคน เราเป็นลูกคนเดียว แต่ผมเพิ่งจะมามีน้อง ซึ่งห่างกับผมประมาณ 20 ปี ผมไม่เคยเห็นหน้าแม่ผมนะครับ เพราะว่าทั้งคู่หย่าไป ตั้งแต่ผมยังเล็กๆ เลย แต่เราก็ได้รับความอบอุ่นมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าคนที่ผมเรียกว่าแม่ตอนนี้ คือพี่สาวของพ่อก็คือคุณป้าผมเอง แต่เราก็เรียกแม่มาโดยตลอด จนคิดเลยว่าคนนี้เป็นยิ่งกว่าแม่ผมอีก ซึ่งอย่าเรียกว่าสอนเลยครับ เขาได้ใช้ชีวิตร่วมกับเรามาตั้งแต่ผมยังเด็กๆ เลย เวลาผมซ้อมว่ายน้ำก็พาไป ซึ่งผมจะสนิทกับป้าที่ผมเรียกว่าแม่คนนี้ที่สุด

• คุณใช้ชีวิตนักกีฬาตั้งแต่สมัยเรียนเลยก็ว่าได้

ใช่ครับ ผมจะถนัดท่ากบและผีเสื้อ ซึ่งตารางการฝึกซ้อม ก็มีตื่นเช้าตอนตี 5 ตื่นมาก็ไปว่ายน้ำแล้ว 4 กิโลเมตร กลางวันซ้อมอีก 2-3 กิโล พอตกกลางคืนอีก 7 กิโล ทำอย่างนี้ทุกวันเลย ยุคนั้นผมทันพี่ฉลามนุ้ก (รัฐพงศ์ ศิริสานนท์) 2 พี่น้อง เศรษฐโสธร (ต่อลาภ-ต่อวัย) เพราะอยากจะประสบความสำเร็จแบบพี่เขา คือได้ไปแข่งทีมชาติ พอชนะกลับมาก็มีคนสรรเสริญแล้วมีคนเฮ แต่การแข่งขันของเรา ก็จะเป็นแค่ระดับกรุงเทพ หรือไปมีคัดตัวของชลบุรี แต่ยังไม่ถึงขั้นเยาวชนทีมชาติ แต่ตอนที่เราเล่นก็ถือว่าได้รางวัลมาเยอะเหมือนกัน ทุกระดับเลย กรุงเทพ กีฬากรมพลศึกษา เรียกว่าเดินสายแข่งขันเลย

แต่เวลาต่อมา แรงผลักดันเหล่านั้นก็หายไป เพราะว่าพอเริ่ม ม.ปลาย เรามีเพื่อน เราเล่นดนตรี เราก็รู้สึกว่าเราชอบทางนี้มากกว่า จนมีช่วงหนึ่ง ตอนนั้นผมเป็นนักกีฬาของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แต่บังเอิญเราย้ายสโมสรมาอยู่ที่ปทุมวัน แล้วคิดดู จากโรงเรียน เลิก 3 โมง ผมต้องนั่งรถเมล์มาที่รถไฟฟ้าอ่อนนุช แล้วต่อไปที่สยาม แล้วก็เดินจากที่นั่นมาซ้อมที่ปทุมวันอีก ผมเลยรู้สึกว่ามันเริ่มไม่ใช่แล้ว จนสุดท้ายเราก็บอกกับเขาว่า “แม่ หนูอยากอยู่กับเพื่อน เรียนเสร็จแล้วทำไมต้องรีบกลับด้วย ไม่เอาได้มั้ย รู้สึกเบื่อมาก เหมือนปลาทองเลย” ในที่สุด เราก็เลิกว่ายน้ำตอน ม. 5

• หลังจากเลิกว่ายน้ำแล้วไปทำอะไรยังไงต่อ

ทุกอย่างที่เป็นกิจกรรม ต้องเป็นดนูครับ อาจารย์จะรู้จักผม เพราะเราเป็นแบบแนวทะลึ่งทะเล้น เขาก็จะแบบ “อ่ะ ดนู วันนี้มีประชุมเรื่องวันแม่ เธอขึ้นไปร้องเพลงด้วยนะ” “อ. ผมร้องเพราะหรือเนี่ย” “ไม่รู้แหละ เธอต้องขึ้นไปร้อง” (หัวเราะ) ก็เริ่มขึ้นไปร้องบนหอประชุม แล้วเวลาเราทำ ก็เป็นธรรมชาติของเรา เพื่อนก็เริ่มที่จะตลกกับเรา เราก็เริ่มรู้สึกว่า เรามีพรสวรรค์ในด้านนี้หรือเปล่า จากนั้นก็มีงานพิธีกรบ้าง เล็กๆ น้อยๆ และก็ ละครเวที ซึ่งถ้าไม่มีผมนี่ ไม่ได้เลย

ถ้าพูดแบบไม่ได้หลงตัวเองนะครับ สมมุติว่าโรงเรียนผมมี 5,000 คน ประมาณ 4,500 คนจะต้องรู้จักผม ที่เหลืออาจจะแบบเรียนเสร็จแล้วกลับบ้าน ผมว่าผมดังอยู่นะ ซึ่งถ้าใครอยู่โรงเรียนจะรู้เลยว่า พี่ดนู ตลก ใจดี จริงๆ นะครับ น้องๆ ในโรงเรียนจะแบบ มาขอถ่ายรูปเรา ผมก็เลยชินมาตั้งแต่ตอนนั้นว่า เวลามีคนมาขอถ่ายรูป เราจะต้องวางตัวแบบนี้นะ ซึ่งพอมาทำงานในตอนนี้ ผมก็เลยนึกถึงความรู้สึกในตอนนั้น ซึ่งเราก็ยินดีกับการได้ถ่ายรูปตรงนั้นด้วยครับ เป็นกันเองครับ ก็มีความมั่นใจในระดับหนึ่งแหละ แต่ไม่ได้ถึงขั้นว่าตัวเองจะหน้าตาหล่ออะไรนะครับ ก็จะเป็นประมาณว่า เรามีความสุข คนเลยกล้าที่จะมาหาเรา อะไรอย่างงั้น

ตอนนั้นผมชอบ พี่ป๊อด โมเดิร์น ด็อก (ธนชัย อุชชิน) มาก คือตัดผมอะไร ก็เหมือนพี่เขาเลย คนในโรงเรียนก็ยังเรียกผมว่าพี่ป๊อดเลย ผมชอบพี่เขาเพราะมันคือตัวตนครับ เขากล้า เขาบ้า และมอบความสุขให้เรา ก็เลยเป็นไอดอลผมเลยว่า เราควรเป็นตัวเอง เราควรทำอะไรที่เราชอบ เวลาผมขึ้นเวทีคอนเสิร์ตทีไร ก็จะร้องแต่เพลงพี่ป๊อด

ผมจำได้ว่าเริ่มร้องเพลงของวงนี้มาตั้งแต่ ม.4 เพราะว่ามีวงที่โรงเรียนให้ร้องเพลงบุษบาเวอร์ชั่นอะคูสติก จำได้เลยเพลงแรก เราก็สงสัยแล้วว่า พี่ป๊อดเป็นยังไงวะ เราก็ไปเปิดเทปดู เทปฟัง จากพ่อที่ซื้อเทปชุดนี้ไว้ เราฟังแล้วชอบ เริ่มติดๆๆ จนเราอยากเห็นและอยากรู้จักพี่เขา ซึ่งตอนที่เราชอบ น่าจะอยู่ในช่วงชุด “แดดส่อง” (2547) พอดี แต่เริ่มมาชอบผลงานก็อัลบัมเสริมสุขภาพ จำได้ตอนงานแฟต เฟสติวัล ที่สนามม้านางเลิ้ง เราเห็นพี่เขามาแต่ไกลๆ แล้วก็คิดในใจว่า “สักวันหนึ่ง เราจะต้องเป็นแบบพี่เขาให้ได้” หลังจากนั้น เราก็ไปตามแกทุกคอนเสิร์ตเลย เราก็ไปอยู่หน้าเวทีตลอด จนพี่เขาจำผมได้ทั้งวงเลย

• จากจุดนี้เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเลือกเรียนวิชาการแสดง

ตอนนั้นเริ่มมีไอดอลคนใหม่ครับ คือกลุ่มสาระแนโชว์ เพราะตอนนั้น พวกพี่ๆ กำลังดังมาก ผมก็เลยคิดว่าเราหน้าตาดีกว่าพี่เขา เราคิดว่าน่าจะดังกว่าพี่เขาได้ (หัวเราะ) คือได้เห็นจากความสนุกของกลุ่มพี่ๆ เขา เราก็เลยคิดว่า ถ้าเรามีรายการแบบพี่เขาได้ มันคงสนุกแน่นอน เราก็เลยเลือกที่จะเรียนวิชาศิลปะการแสดง เพราะว่า อยากอยู่ในทีวีและเป็นแบบพี่หอย (เกียรติศักดิ์ อุดมนาค) แต่สิ่งที่เราได้เรียน กลับตรงกันข้ามครับ เพราะว่ามันเป็นละครเวที เราก็รู้สึกว่า อะไรวะเนี่ย (หัวเราะเบาๆ)

แต่พอเราได้เรียนจริงๆ ก็เรียนๆ ให้มันจบไป คือไม่อยากเปลี่ยนคณะด้วย แต่พอเรียนๆ ไป ผมไปรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นครีเอทีฟที่สาระแนโชว์ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ผมอยู่ปี 1 แล้วเขาอยู่ปี 4 เขาก็เข้ามาบอกผมว่า “มึงมีแววนะเนี่ย” เขาก็บอกกับผมว่า มึงเรียนทางนี้ไปเลย เดี๋ยวมีงานอะไร เขาจะช่วยดูให้ แล้วปรากฏว่ามันก็จริง พอเวลาผ่านไปในช่วง ปี 1 เทอม 2 หรือซัมเมอร์นี่แหละ ตอนนั้นมีช่อง “ทรูฮาเฮ” พี่เขาก็ชวนผมไปเล่น ชื่อรายการว่า “โชเร่” เขาให้ผมไปเล่าเรื่องตลก ทำอะไรบ้าๆ บอๆ ซึ่งเข้าทางอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นงานด้านการแสดง ก็จะมีซิตคอมเรื่อง บ้านนี้มีรัก ตอนปี 2 เล่นเป็น ราชากาแฟ

• จากที่ตอนแรกที่เรียนไปแล้วปรากฏว่าผิดคาดไปเยอะ แล้วพอเวลาผ่านไป เรากลับชื่นชอบแทน

ใช่ครับ กลายเป็นว่าเราเป็นคนเวทีเลย แสดงเป็นทุกคน แต่ตอนปี 1 ก็ยอมรับว่าเกเรอยู่ รุ่นพี่ในคณะจะให้เล่นละครเวที แต่ไม่เล่น เพราะว่าเราติดสาว (หัวเราะ) การเล่นละครเวทีมันต้องทุ่มทั้งกายและใจนะ แต่ตอนนั้น จะมีความรู้สึกว่า ทำไมวะ ทำไมกูต้องอยู่หอ แล้วไม่ได้กลับบ้าน ก็เลยพลาดโอกาสไปเยอะ แล้วพอเราขึ้นปี 2 แฟนคนนี้ก็ไม่เข้าใจเราแล้วว่าทำไมเราต้องไปทุ่มอะไรแบบนั้น และไม่มีเวลาให้เขา ก็เลยเลิกกันเถอะ จนทำให้ผมรู้สึกว่า เรามีเวลาที่จะทำแล้ว บวกกับคาแรกเตอร์ของผมเริ่มชัดขึ้น รุ่นพี่ก็ให้โอกาสเราให้ไปเล่นในวาระต่างๆ บทน้อยบ้างเยอะบ้าง มันทำให้ผมสนุกกับการเล่นละครเวที เราก็เล่นมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ปี 4 และเรียนจบแล้ว ก็ยังมาเล่นอยู่เลย

• คุณชอบอะไรในศาสตร์นี้ครับ

มันได้ปลดปล่อยนะ อย่างเวลาก่อนขึ้นเวที ไม่ว่าคุณจะเศร้าในเรื่องอะไร แต่พอขึ้นเวทีแล้ว คุณต้องทำงานให้ได้ อีกอย่างที่ชอบคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวที พี่เห็นหน้าผมอย่างงี้ จะให้ไปจำบทประมาณ 80-100 หน้านี่ผมก็จำไม่ได้หรอกครับ แต่สิ่งที่ผมชอบคือการแก้ปัญหา เวลาที่ผมลืมบท จะทำยังไงให้คนดูไม่รู้ว่าเราลืมบท นี่แหละครับเสน่ห์ของมัน ผมก็เลยชอบในศาสตร์นี้แบบสุดๆ ไปเลย แล้วพอคนดูฮากับบทบาทเรานะ ยิ่งชอบเลย แต่จริงๆ มันผิดศาสตร์ ผมก็จะโดนครูด่าตลอด เช่น “ทำไมเธอชอบเติมบท นอกบท ชอบเซอร์ไพรส์ หรือ ชอบแกล้งคนดู” ประมาณนี้ครับ

• พอคุณได้มาเล่นในฐานะมืออาชีพของจริง แตกต่างจาก 4 ปี ในมหาวิทยาลัยมั้ย

ผมเรียกได้ว่า ไม่แตกต่างเลย เพราะว่าสมัยเรียน อาจารย์จะฝึกให้เราเป็นมืออาชีพ สมมุติว่าถ้ามาสายหรือมาหลังครู 1-2 นาที ผมโดนเลยนะ เคยโดนไล่ให้ไปดร็อปเรียน เพราะว่าเข้าสาย นี่ครั้งแรกที่เราเข้าไปเรียนเลยนะ มันก็เลยเป็นการฝึกเราไปเลย และคนในนั้นจะมาด่าหรือทำอะไรเรา เราก็ไม่สะทกสะท้านนะ เพราะตอนเรียนอยู่ ผมโดนอาจารย์ด่าเป็นประจำ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ ผมยังไปบอกอาจารย์เลยว่า ขอบคุณมากนะครับที่ฉีดภูมิคุ้มกันให้ผม ตอนนี้ใครด่าผม ผมแทบไม่สนใจเลย แค่ทำให้มันดีขึ้นเท่านั้นเอง แทบไม่แตกต่างกันเลย แต่สิ่งที่แตกต่างคือคนดูเยอะขึ้นมาก และความภาคภูมิใจ ตอนเราเรียนอยู่ในมหา’ลัย ก็จะมีแค่คนดูกลุ่มเล็กๆ ดูกันเอง แต่แบบมืออาชีพ คนดู 2 ชั้น ซึ่งผมจะบอกรุ่นน้องผมหมดเลยว่า สักวันหนึ่ง มึงต้องมาเหยียบเวทีนี้ให้ได้ เพราะมันเป็นความภาคภูมิใจจริงๆ

• แล้วได้ไปร่วมงานกับทางเวิร์คพอยท์ได้ยังไง

ช่วงนั้นผมได้ไปเล่นซิทคอมของเอ็กแซกท์ เพราะว่าเขาเห็นว่าเราเล่นได้ ก็ส่งๆ ต่อกันไป อย่างเช่น “เป็นต่อ” และพอหลังๆ ไปประกวดรายการ “ไมค์คู่เอก” ของสาระแน กับคู่หูคนหนึ่ง ผมก็ติดเข้าไป ช่วงนี้ก็ได้ทำงานกับสาระแนแล้ว และก็ยังเล่นละครเวทีกับรัชดาลัย เธียเตอร์ อยู่ ตอนนั้นก็มีเล่นละครเวทีเรื่อง “ลำซิ่ง ซิงเกอร์” ของค่ายจีทีเอช ด้วย บังเอิญ มีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนของแม่ผมไปขายข้าวที่เมืองทองในงาน Workpoint Festival ครั้งที่ 2 แล้วบังเอิญในงานวันนั้น มีห้องออดิชั่นใสๆ อยู่ 2 ห้อง ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเล่นชอบอะไรอยู่แล้ว ก็ลองไปแคสต์แบบเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไร บังเอิญติด 20 คนครับ (ตบโต๊ะ) คือไม่ใช่ง่ายๆ นะ ภูมิใจมาก

หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว ในการแข่งขันก็จะส่งผมไปแคสต์กับ “ตลก 6 ฉาก” อีกทีหนึ่ง คือก่อนหน้าวันแคสต์ 1 วัน ผมไปถ่ายโฆษณาฮอลล์ ผมไปเล่นเป็นตัวประกอบ แต่ผมไปเจอพี่อาร์ต ตลก 6 ฉาก (ศิลป์ รุจิรวณิช) ที่เขาเล่นเป็นตัวหลัก คือเจอกันอีกครั้ง หลังจากตัวแรก เราได้เป็นตัวหลักทั้งคู่ แต่แค่รู้จักกันนิดหน่อย แต่พอมาโฆษณาฮอลล์ ผมก็จะแบบ “พี่ไปแคสต์ด้วยกันไหม” คือมีอะไรก็จะชวนทุกคนไปแคสต์งานหมดเลย จนวันแคสต์ ผมก็ไปแคสต์กับคู่ผม พี่อาร์ทก็ไปของเขา แต่เพราะด้วยความที่ผมชวนมา ไปๆ มาๆ คนที่ติดคือ ผมกับพี่อาร์ท หลังจากนั้น ผมก็ได้เล่นมาเรื่อยๆ แต่ตอนแรกๆ เราไปเล่นด้วยความเกร็งนะ เพราะว่า ทั้งพี่ตุ๊กกี้ (สุดารัตน์ บุตรพรม) พี่โหน่ง (ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข) หรือ พี่พัน (ภานุพันธ์ ครุฑโต) เราไม่รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง คิดไปก่อนเลยว่าพี่เขาดุ แต่พอได้ร่วมงาน ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น เขาก็เป็นคนให้โอกาสคนนะ ผมก็เริ่มมีตัวตนมากขึ้น ก็เลยทำให้ ผู้ชมเริ่มที่จะรู้จักผมมากขึ้น เดินไปไหน ตอนนี้คนก็มาทักว่า พี่ดะๆ อะไรอย่างงี้ครับ

• หลังจากที่เราได้เข้ามาสู่วงการบันเทิงแล้ว ตอนนี้ทางบ้านคิดเห็นยังไงบ้างครับ

ชอบมากเลยครับ เพราะว่าเขาเห็นงานที่ผมทำแล้วมีความสุข สองคือ อย่างน้อยผมอยู่ในทีวี ก็รู้ว่าผมเป็นลูกบ้านนี้ ลุงผมเคยมาพูดกับผมว่า อย่างน้อยมีเอ็งกับลุงที่เชิดหน้าชูตาครอบครัวได้ คือลุงผมเป็นนักมวย ชื่อ รักเล็ก ชุตินาวี แกเคยเป็นแชมป์ระดับเวทีลุมพินี แชมป์ที่ญี่ปุ่น ตอนนี้แกเป็นหนึ่งในผู้ใหญ่ของสมาคมนายขนมต้ม ที่มีน้ามาด (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) คุมอยู่ พอหมดจากเขาก็เป็นผมนี่แหละครับ ไปไหนก็จะมีแต่... “นี่ไง หลานมึงๆ” เราก็รู้สึกภูมิใจนะที่เชิดหน้าชูตาให้กับครอบครัวได้เหมือนกัน

• ได้ข้อคิดอะไรจากการที่เรามาถึงจุดนี้ครับ

ผมคิดว่าคนเราถ้าสมมุติทำอะไรได้ควรทำครับ กว่าผมจะเดินมาถึงจุดนี้ได้จนถึงวันนี้ เหนื่อยนะ เพราะผมไปแคสต์งานที่ไหนก็ตาม เมื่อก่อนค่าตัว 500 บาท ก็ยังไป จนได้มาถึงจุดนี้ แล้วก็จะมีหลายๆ คน เข้ามาบอกเราว่า ฝากเข้าไปทำงานหน่อยได้มั้ย ผมจะตอบกลับไปเสมอว่า เรายังดูแลใครไม่ได้ แต่ถามว่า จะมาจุดแบบเราได้ยังไง ทำครับ ไปแคสต์งานครับ แล้วซักวันเชื่อได้เลยว่า จะต้องถึงฝั่งฝันแน่นอน เพราะเมื่อก่อนเวลามีงานอะไร เราไปหมดเลย พอมีความช่วยเหลือ เราก็บอกว่า ไปเลย แต่ไม่รู้มั้ยว่าติดมั้ย หรือ คุณไปหรือเปล่า ก็ถือว่าเรามีจุดยืนในเส้นทางที่เราเลือก เดินหน้าต่อไป




เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : จิรโชค พันทวี

กำลังโหลดความคิดเห็น