xs
xsm
sm
md
lg

กำไลมาศ “ตาปูทอง ๒ ตัว”คล้องใจ!!! “เมื่อใดสวาทวอดจึงถอดเอย”... ๗๗ ปีแห่งความรัก ของสนมเอก ร.๕ คนสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

กำไลทองพระราชทาน
ในจำนวนพระสนมในรัชกาลที่ ๕ ส่วนใหญ่ขุนนางและคหบดีจะนำธิดามาถวายตัว แต่มีเพียง ๒ รายเท่านั้นที่ทรงสู่ขอด้วยพระองค์เอง รายแรกก็คือ เจ้าจอมมารดาแพ จากรักแรกในขณะพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ส่วนอีกรายคือ หม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ จากความรักในขณะพระชนมายุ ๕๓ พรรษา ซึ่งโปรดเกล้าฯเป็นสนมเอกคนสุดท้าย

หม่อมราชวงศ์สดับมีนามเดิมว่า “สั้น” ถือกำเนิดในสกุลที่สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นธิดาหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย จากสกุลนครานนท์ เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ บิดาได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการคลังมหาสมบัติ เนื่องจากทรงรับ หม่อมห่วง ธิดานายอากรมาเป็นหม่อมอีกคน เกรงจะมีคนครหาว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้พ่อตา จึงลาออกจากราชการพาครอบครัวไปหาชีวิตสงบที่เมืองราชบุรี

เจ้าจอมมารดาจีน ผู้เป็นย่า ไม่อยากให้หลานซึ่งยังอยู่ในวัยเยาว์ไปอยู่หัวเมือง จึงไปทูลพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ผู้เป็นอาของหม่อมราชวงศ์สดับ ให้รับหลานมาอยู่ด้วย และได้รับประทานนามใหม่จากเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร พระราชธิดาองค์หนึ่งของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ว่า “สดับ” โปรดให้เรียนหนังสือทั้งไทย อังกฤษ ฝึกหัดงานฝีมือกับข้าวคาวหวาน และตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯไปทุกงาน จนเจริญวัยเป็นกุลสตรีที่มีรูปสมบัติแล้ว ยังมีเสียงไพเราะเป็นพิเศษ แม้แต่เสียงพูดก็ยังก้องกังวานน่าฟัง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสให้พระวิมาดาเธอฯตั้งวงมโหรีขึ้น ครูมโหรีได้เลือกหม่อมราชวงศ์สดับเป็นต้นเสียง

การเป็นต้นเสียงของวงมโหรี ทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระโอษฐ์ขอหม่อมราชวงศ์สดับต่อพระวิมาดาเธอฯ แต่พระวิมาดาเธอฯไม่ตรงตัดสินใจเอง ได้ทูลต่อไปยังหม่อมเจ้าเพิ่มผู้เป็นบิดา เมื่อไม่ทรงขัดข้องจึงทำพิธีถวายดอกไม้ธูปเทียนเป็นการถวายตัวในวันขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๙

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี จนเป็นที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่ง ได้รับพระราชทานวัตถุพยานอันแสดงถึงพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นกำไลเนื้อทองบริสุทธิ์จากบางสะพาน เป็นรูปตะปูสองดอกเกี่ยวพันกัน บิดไปมาได้ มีคำกลอนพระราชนิพนธ์จารึกในเนื้อทองว่า

กำไลมาศชาตินพคุณแท้
ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที
จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก
ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย
แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย
เมื่อใดวายสวาทวอดจึงถอดเอย

ในวันที่ได้รับพระราชทานนั้น เป็นวันเฉลิมพระที่นั่งองค์ใหม่ คือพระที่นั่งอัมพรสถาน และมีละครเรื่อง “เงาะป่า” ซึ่งเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเป็นต้นเสียงเช่นเคย เมื่อละครเลิกจึงเสด็จขึ้น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้ตามไปรับใช้บนพระที่นั่งตามหน้าที่ ทรงสวมกำไลนี้และบีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ พาช่างทองเยอรมันจากห้างแกรเลิต นำเครื่องมือมาบีบให้ถาวร

ในวันที่พระราชทาน เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีอายุ ๑๗ ปี และได้สวมกำไลทองนี้ติดข้อมือไม่เคยถอดออกเลย จนถึงอนิจกรรมเมื่ออายุได้ ๙๓ ปี สมดังคำกลอนสลักในเนื้อกำไล

“เมื่อใดสวาทวอดจึงถอดเอย”

ในคราวเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.๒๔๕๐ มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้ตามเสด็จไปด้วย ถึงกับทรงสอนภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองก่อนเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำทุกวัน แต่เมื่อไม่อาจเป็นไปได้ตามพระราชดำริ ก็มีลายพระราชหัตถเลขามาถึงเป็นประจำ ฉบับแรกตั้งแต่ปากน้ำเจ้าพระยานี่เอง และทุกเมืองที่เสด็จฯก็จะทรงซื้อของฝากพระราชทาน ตำบลใดไม่มีของฝาก ก็จะพระราชทานโปสการ์ดแทน

จากความอ้างว้างว้าเหว่ที่ต้องห่างไกลเบื้องพระยุคลบาทนี้ เมื่อได้รับลายพระหัตถ์เลขาจากยุโรป จึงทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับดีใจมาก และเนื่องจากอายุยังน้อยจึงไม่ได้สำรวมอาการ ทำให้พระวิมาดาเธอฯซึ่งรอบคอบเข้มงวดไม่พอพระทัย ทรงกวดขันให้เจ้าจอมรู้จักเก็บความรู้สึกไว้บ้าง ไม่ใช่ดีใจแบบเด็กๆ และขอทอดพระเนตรทั้งพระราชหัตถเลขาและหนังสือที่เจ้าจอมเขียนกราบบังคมทูลสนอง เพื่อไม่ให้เจ้าจอมกราบบังคมทูลในสิ่งที่ไม่สมควรไป ซึ่งทำให้เจ้าจอมอึดอัดและเห็นว่าทรงเข้มงวดเกินไป แต่ก็ไม่กล้าขัดขืน เพราะเคยกลัวเกรงกันมาระหว่างอากับหลาน เจ้าจอมได้บันทึกความรู้สึกในตอนนั้นไว้ว่า

“ข้าพเจ้าสารภาพว่าทำให้เบื่อเขียน เพราะเขียนไม่ถูก จะเขียนอะไรก็กลัวถูกตรวจ กลัวก็กลัว อายก็อาย เมื่อรับเมล์ทีไรก็พิลึกกึกกือ ต้องซ่อนความรู้สึกต่างๆ ใจเต้นตูมๆ ใจหนึ่งชื่นชมของและลายพระหัตถ์ ใจหนึ่งเศร้าสลดที่ต้องถูกเซ็นเซ่อร์ และเกิดความคิดต่างๆ ข้าพเจ้าแอบร้องไห้ ในที่สุดก็ขาดเมล์เป็นอันมาก ทางล้นเกล้าฯก็ทรงสงสัยไปต่างๆ เพราะไม่ทรงทราบเหตุผลเพราะอะไร พระราชหัตถเลขาที่ทรงเป็นพระราชกระทู้ก็ถี่เข้าๆ ในที่สุดก็ทรงเขียนฟ้องมาที่ท่าน (พระวิมาดาเธอฯ) ท่านก็เล่นงานข้าพเจ้า”

เสด็จฯกลับจากยุโรปครั้งนี้ ได้ทรงซื้อเครื่องเพชรจำนวนมหาศาลมาพระราชทานเจ้าจอม มีพระราชประสงค์จะให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคตแทนตึกแถวให้เช่า โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วจ้างฝรั่งมาถ่ายรูป ทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทานเอง ทั้งยังพระราชทานตู้ของที่ระลึก และทรงจัดของเข้าแต่งในตู้ด้วยพระองค์เอง

พร้อมกันนี้ ยังมีของฝากเป็นนกคีรีบูนในกรงทองเหลือง พร้อมทรงพระราชนิพนธ์กลอนแนบมาด้วยว่า

“นกน้อย
ช่างพูดจ้อยเจนหัดชัดภาษา
บรรเลงลานหวานหูชูวิญญา
เหมือนจะพาให้สบายวายคำนึง
ยืนลำนำซ้ำทำนองแต่สองอย่าง
ไม่เปลี่ยนบ้างจนจะเบื่อเหลือคิดถึง
เคยยินขับจับจิตต์ติดทรวงตรึง
ดูประหนึ่งกลบสำเนียงเสียงนกเอย”

พระมหากรุณาธิคุณต่างๆเหล่านี้ ทำให้เจ้าจอมหลายคนอิจฉาริษยา ทั้งยังเชื่อกันว่า คำกลอนในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ที่ว่า

แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะเหมือนดังใจพี่จะขาด
เจ้าร้องลำนำยิ่งซ้ำพิศวาส
พี่ไม่วายหมายมาดรักเจ้าเสียงเพราะเอย

ว่าทรงหมายถึงเจ้าจอมหม่อมสดับที่เป็นต้นเสียงในละคร “เงาะป่า” เป็นประจำ พากันส่อเสียดยุแหย่กล่าวหาในข้อร้ายหลายประการ จนทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับรู้สึกตัวว่ามีแต่ผู้หวังร้าย ไม่มีผู้หวังดี ท่านบันทึกความรู้สึกตอนนี้ไว้ว่า

“เหลียวไปพบแต่ศัตรู คุณจอมนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูอีกทีหรือว่าข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน...”

เรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่งก็คือ เจ้าจอมคนหนึ่งกล่าวหาว่า ท่านไม่ซื่อตรงจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาท มีสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่น ข้อหานี้ฉกรรจ์มาก ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทุกข์หนัก เกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ และที่วิตกมากก็คือ กังวลว่าได้ทำให้ขุ่นเคืองเบื้องพระยุคลบาทไว้หลายเรื่อง ตั้งแต่ไม่เขียนหนังสือกราบบังคมทูลสนองพระราชหัตถเลขา เมื่อมากระทบเรื่องสำคัญนี้อีก เกรงว่าจะทำให้สิ้นพระกรุณา ตอนนั้นเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็อายุยังน้อย ขาดความสุขุม ก็เลยคิดสั้น คว้าน้ำยาล้างรูปดื่มหวังทำลายตัวเอง แต่ความได้ทราบถึงเบื้องพระยุคลบาททันกาล ได้เสด็จไปพระราชทานกำลังใจ และโปรดเกล้าฯให้แพทย์ประจำพระองค์ชาวต่างประเทศช่วยชีวิตไว้ได้

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเพิ่งมีอายุได้ ๒๐ ปี นอกจากจะมีรูปสมบัติแล้ว ยังอุดมด้วยทรัพย์สมบัติคือเพชรนิลจินดาและเครื่องประดับที่ได้รับพระราชทานไว้มากมาย จึงเป็นที่วิตกในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ว่า เจ้าจอมคงไม่สามารถรักษาเกียรติยศอยู่ตลอดไป แม้เจ้าจอมจะแน่วแน่ในความจงรักภักดี เหมือนดังที่บันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าไม่มีใจเหลือเศษที่จะรักผู้ชายใดอีกต่อจนตลอดชีวิต”

แต่เครื่องเพชรพระราชทานเป็นสิ่งที่ทำให้มีผู้คาดว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้หมายปองใช้เล่ห์กลทำให้ลุ่มหลง พระวิมาดาเธอฯจึงแนะให้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายคืนเสีย เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็ยอม และถวายภาระให้พระวิมาดาเธอฯทรงจัดการ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรับ ตรัสว่าพระองค์ไม่มีสิทธิอันใดที่จะทรงรับของที่พระราชบิดาได้พระราชทานแล้ว หากเห็นว่าควรคืน ก็ให้ถวายไปที่สมเด็จพระพันปีหลวง พระวิมาดาเธอฯจึงนำไปถวายคืนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ต่อมาทราบว่าสมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้พระราชวงศ์องค์หนึ่งติดต่อขายไปยังต่างประเทศ นำเงินมาสมทบสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับปีติยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

แม้จะสละทรัพย์อันอาจจะเป็นชนวนนำความเสื่อมเสียพระเกียรติยศไปแล้ว เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับยังไม่ยอมปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย สำรวจตัวเองแล้วเห็นว่า วัยและอุปสรรคส่วนตัวที่ชอบความสนุกสนาน กอรปกับธรรมชาติของมนุษย์ก็ย่อมมีกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ จึงหันเข้าหาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกรอบเหนี่ยวรั้งให้ใจสงบ ปิดประตูต่อกิเลสตัณหาอันจะเกิดจากสิ่งล่อตาล่อใจ เริ่มด้วยฟังธรรมเป็นประจำทุกวัน ณ ที่ประดิษฐานพระบรมศพ เมื่อการพระบรมศพเสร็จสิ้นลง ช่วงใดที่พำนักในพระบรมมหาราชวัง ก็ฟังธรรมในพระบรมมหาราชวังที่มีทุกวันพระ ครั้นเมื่อตามพระวิมาดาเธอฯไปอยู่ในวังสวนสุนันทา ก็ไปฟังธรรมที่วัดราชาธิวาสบ้าง วัดบวรนิเวศบ้าง หรือวัดเทพศิรินทราวาส เป็นประจำ

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พระบรมวงศานุวงศ์ต่างออกจากวัง วิตกกันไปต่างๆนานา บ้างก็เสด็จไปอยู่ต่างประเทศ พระมาดาเธอฯก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับจึงออกจากวังสวนสุนันทาไปอยู่วัด โดยสร้างบ้านชื่อ “ทับสุข” ขึ้นที่บริเวณวัดเขาบางทราย ชลบุรี แล้วอพยพครอบครัวซึ่งมีหม่อมแม่และพี่น้องรวมทั้งผู้ติดตามไปอยู่ด้วยกันทั้งหมด ต่อมามีเจ้านายหลายพระองค์ไปสร้างตำหนักอยู่ร่วมด้วย รวมทั้งพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระธิดาองค์หนึ่งในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ไปสร้างตำหนักชั่วคราวเพื่อเสด็จไปปฏิบัติธรรมด้วย

ชีวิตในช่วงนี้ พระสนมเอกคนโปรดของ ร.๕ คิดหารายได้เพิ่มรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้วยการทำไร่ละหุ่ง ถั่วเขียว และนาเกลือ แต่ก็ไม่ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมการขาย จึงต้องวางมือหันมาตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นในบริเวณทับสุข ให้ชื่อว่า “โรงเรียนอนุบาลสุตา” ซึ่งทำให้ท่านมีความสุขมากในการสร้างอนุสรณ์ของชีวิตแห่งนี้

ครั้นเมื่ออายุ ๖๐ ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัย เจ้าจอมก็ยิ่งเร่งบำเพ็ญกุศล โดยปลงผม นุ่งขาวห่มขาว เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ใจบริสุทธิ์ตามวิถีแห่งศาสนายิ่งขึ้นไปกว่าที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว ทั้งนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาหม่อมแม่และคนรอบด้านเสียชีวิตไปหลายคน จนรู้สึกว้าเหว่เดียวดาย และยังได้ข่าวว่าบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้น โดยเฉพาะข่าวพระนางเธอลักษมีลาวัณ มเหสีรัชกาลที่ ๖ ยังถูกคนร้ายทุบพระเศียรด้วยชะแลง จึงกลัวว่าผู้ร้ายอาจนึกว่าท่านเป็นเจ้าจอมรวยจนปล้นฆ่า โดยเฉพาะกำไลทองหนัก ๔ บาทที่ข้อมือท่านนั้น เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดในชีวิต ทั้งยังไม่สามารถถอดเก็บไว้ในที่ปลอดภัยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ขอกลับมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งยามดียามไข้ มีความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต

ในช่วงนี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็ยังพยายามทำตนให้เป็นประโยชน์ เมื่อทราบว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเพลงไทย ท่านก็ดีใจ และท่านก็มีเพลงจากเรื่อง “เงาะป่า” ที่คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้ฟัง หากหมดไปก็จะเป็นที่น่าเสียดาย ท่านจึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ขับร้องบางเพลงถวายและบันทึกเสียงไว้ และในยามที่สังคมต้องการพลังสามัคคี เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับในวัย ๘๓ ยังเข้ารับการอบรมเป็นลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ ๘ ซึ่งได้ชื่อว่า “รุ่นเจ้าจอม”

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้เปิดเผยกับ น.พ.พูนพิศ อมาตยกุล ซึ่งติดตามขอบันทึกความทรงจำของท่านไว้หลายครั้ง ว่าการร้องเพลงมิใช่ช่องทางที่ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าจอมอย่างที่ใครๆชอบนึกกันเอาเองว่า ล้นเกล้าฯทรงโปรดปรานน้ำเสียงจนทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “เงาะป่า” ที่ว่า “แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ...” ความจริงคือ

“บทละครเรื่องเงาะป่านั้น ท่านทรงจบไปตั้งนานแล้ว ยายถึงได้ไปเป็นแม่เสียงเพราะทีหลัง...”

การที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดปรานท่านนั้น ไม่ใช่เพราะท่านร้องเพลงดีเด่น แต่โปรดเพราะทรงเห็นว่าท่านเป็นคนกล้า ตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น ไม่เสแสร้งแกล้งทำ มีความจริงใจเป็นคุณสมบัติประจำตัว การร้องเพลงดีเด่นเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น

ทั้งยังพูดถึงความโรแมนติกของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในวันถวายตัวด้วยว่า

“...ท่านก็ทรงเป็นคน คนนี่แหละ ไม่น่าเกลียดน่ากลัว ไม่เป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์ แต่ท่านเป็นพระเอกได้ดีๆ จะรักจะชังก็แนบเนียน ละมุนละไม เป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ไม่รุ่มร่ามรุงรัง น่ารักมาก...”

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีชีวิตยืนยาว จนพระโอรสพระราชธิดา รวมทั้งพระสนมในรัชกาลที่ ๕ สิ้นพระชนม์และถึงอนิจกรรมไปหมดแล้ว ท่านเป็นคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ จนอนิจกรรมในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๖ ที่ตึก ๘๔ ปีที่โรงพยาบาลศิริราช

เป็นการปิดฉากชีวิต ๕ รัชกาลของกุลสตรีไทยผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นแบบฉบับของความจงรักภักดีต่อความรักที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง

กำไลทองของพระราชทานที่ข้อมือของท่านจึงถูกถอดเป็นครั้งแรก ออกมาวางไว้บนพานหน้าโกศ ต่อมาญาติได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ สถานที่ซึ่งท่านเคยมีความสุขกับความรัก ณ พระที่นั่งแห่งนี้
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในชุดเครื่องเพชร    พระราชทาน


 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ในวัยชรา
กำลังโหลดความคิดเห็น