xs
xsm
sm
md
lg

“ชายชุดดำ” ผู้เสพติดความเจ็บปวด : The Yers

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กว่า 4 ปี นับตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก “Y” (2554) ที่ได้ผลตอบรับอย่างดี ทั้งในหมู่นักฟังเพลงนอกกระแสและนักวิจารณ์ โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลต่างๆ มาได้ ทั้งรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเวทีสีสันอวอร์ด ครั้งที่ 24 และศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมจากเวที แฟต อวอร์ต 2011 หลายคนยกให้พวกเขาเป็นหนึ่งใน “ความหวังใหม่” ของวงการเพลงไทยเลยก็ว่าได้

มาในวันนี้ เดอะ เยอร์ส (The Yers) กับสมาชิกทั้ง 5 คน อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (ร้องนำ/กีต้าร์), ต่อ-พนิต มนทการติวงศ์ (กีต้าร์), เต๋า-ธนา กุสุมภ์ (คีย์บอร์ด/เพอร์คัสชั่น), โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ (กีตาร์เบส) และ บูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง) เดินทางครั้งใหม่ภายใต้ชายคาจีนี่ เร็คคอร์ด พร้อมผลงานลำดับที่ 2 “You” ที่มีซิงเกิล “เสพติดความเจ็บปวด” เป็นใบเบิกทางที่ทำให้คนฟังวงกว้างได้รู้จักกลุ่มชายชุดดำทั้ง 5 มากขึ้น
ต่อ-พนิต มนทการติวงศ์ (กีต้าร์), อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (ร้องนำ/กีต้าร์), โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ (กีตาร์เบส), เต๋า-ธนา กุสุมภ์ (คีย์บอร์ด/เพอร์คัสชั่น) และ บูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง)
• เดี๋ยวนี้เขานิยมออกซิงเกิลกันก่อน แต่พวกคุณกลับทุ่มออกมาเป็นอัลบัมทีเดียวเลย ตรงนี้มีวิธีคิดอย่างไร

อู๋ : คือง่ายๆ เลย การออกอัลบั้มสักชุด มันก็คือความเท่ของวงดนตรีมาทุกยุค เรายอมรับว่า กว่าจะทำเสร็จเพลงหนึ่ง มันยากมาก ถ้าเช่นนั้น เราลองทำอัลบัมเลยดีกว่า มันยากกว่ากันเยอะ และมันมีเสน่ห์กว่ากันเยอะ เรารู้สึกว่ามันจับต้องได้มากกว่า อีกอย่างเราอยากให้มันเป็นไดอารี่ที่บันทึกเรื่องราวของพวกเรา คนฟังสามารถจับต้องได้ว่า เฮ้ย วงนี้มันเดินทางอย่างนี้ อย่าง David Bowie ตอนปลาย 1970 เขาเคยแต่งตัวอย่างงี้ แล้วทำเพลงแบบนี้ พอเริ่มมา 1980 ก็แต่งตัวแบบนี้ แล้วเพลงก็เป็นแบบนี้ ผมว่ามันมีเรื่องราวให้พูดเยอะกว่าการที่จะมาออกซิงเกิล

โบ๊ท : ผมเชื่อว่าหลายๆ วงก็อยากทำอัลบัมเหมือนกัน เพียงแต่ระบบธุรกิจดนตรียุคนี้ถูกบังคับหลายๆ อย่าง แต่บางวงก็โฟกัสเลยนะว่า ต้องดัง ต้องทำเพลงฮิต เขาก็อาจจะอินกับระบบนี้มากกว่า เพราะว่าซิงเกิลเหมือนกับแก้เกมได้ ให้ดังขึ้นไปอีก

อู๋ : สมมุติว่าเพลงนี้ไม่ดัง ก็ทำเพิ่มจนกว่าจะดัง แล้วค่อยเอาไปรวมฮิตทีหลัง สุดท้ายก็กลายเป็นจับฉ่าย ไม่เป็นเอกภาพ มันเป็นคนละอารมณ์ แต่เราเสี่ยงที่จะทำเป็นอัลบัมไปเลย ถึงแม้ไม่ดัง แต่อย่างน้อยก็เป็นไดอารี่ของเราไปเลย

• พูดง่ายๆ เลย ก็เหมือนกับได้ทำงานแบบ วงดนตรีสมัยก่อน ประมาณนั้น

อู๋ : ผมว่ามันคลาสสิกนะ อารมณ์แบบ old school มันมีความสนุก มีเสน่ห์ และไม่มีอะไรมาทดแทนอารมณ์ร่วมตรงนั้นได้ เพราะได้มองกลับไปแล้วพูดว่า ‘เฮ้ย จำได้ป่าววะ ไอ้ตอนที่เราอัดกลองกันน่ะ ตอนที่ทำอัลบั้มนี้’ หรือ ‘จำได้รึเปล่าที่แบบแบกตู้หนักชิบหาย ขึ้นชั้น 2 ที่ไปอัดอัลบั้มนี้กัน’ ผมว่าคนที่ทำซิงเกิล มันไม่มีเรื่องที่ให้เล่ากันแบบนี้แน่นอน เพราะว่าอัดเสร็จ ออกไปเล่น โปรโมต และเดินสายทั่วๆ แล้วก็ต้องกังวลแล้วว่า เพลงใหม่จะยังไงต่อดีวะ กลับมาเข้าห้องอัด แล้วก็กลับไปเดินสายเล่นอีก แล้วจะเป็นแบบวนเวียนแบบนี้ มันจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราเข้าห้องอัดกัน

บูม : คือช่วงนั้นเราโฟกัสเรื่องอัดมาก เพราะมันเป็นช่วงที่ไม่มีทัวร์ด้วย เวลาซ้อม ก็โฟกัสเรื่องเพลงอย่างเดียว ผมซ้อมกลองที่โรงเรียนที่ทำงาน จนครูห้องข้างๆ สามารถแกะกลองเพลงที่เรากำลังทำได้แล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าก็ซ้อมแต่เพลงเดิมทั้งวัน

• กล่าวโดยสรุปคือ การทำงานในลักษณะอย่างงี้ มันก็ส่งผลดีต่อผลงานด้วย

อู๋ : มากๆ เลยครับ เพราะว่าผมเอง ก่อนที่จะมาทำ The Yers สมัยตอนตีกลองเป็นเบื้องหลังให้ศิลปินต่างๆ ก็ยังทำงานเป็นอัลบั้มอยู่ แล้วมันย้อนแย้งตรงที่ว่า วงดนตรีวงหนึ่ง ที่จะออกไปเล่น ไปทัวร์ ไปโปรโมต ก็ให้เป็นช่วงเวลานั้นอย่างเดียวไปเลย ไม่ต้องเอาไปปนกันแบบ เล่นทัวร์ เข้าห้องอัด วนอยู่แบบนี้ เล่นเสร็จ แต่งเพลง เข้าห้องอัด คือมันไม่มีวงไหนในโลกที่เขาทำกัน ผมรู้สึกอย่างงั้นนะ

แม้กระทั่ง หลายๆ วงที่เขาปล่อยซิงเกิลออกมา เขาก็ทำอัลบั้มเสร็จก่อนอยู่ดี ตอนนี้ ยกตัวอย่าง วง Nineteen Seventy Five (วงร็อกจากอังกฤษ) ก็ทยอยปล่อยซิงเกิลออกมา ผมเชื่อว่าพวกเขาอัดอัลบั้มเสร็จแล้วแหละ ผมคิดว่ามันควรจะเป็นวิธีที่วงดนตรีในบ้านเราควรใส่ใจกับมันหน่อย ไม่ใช่คิดว่าเอาแค่ดัง แล้วต้องมานั่งคิดถึงเพลงต่อไปว่าจะยังไงต่อ พอไม่ดัง ก็จะกลับมาแต่งใหม่ มันไม่ใช่ อย่างเรา เราทำอัลบั้มเต็ม ก็วางแผนมาเลย 1 ถึง 9 เราอยากให้มันมีอารมณ์ไหนบ้าง มันมีการวางแผนที่คร่าวๆ แหละว่า เราจะยิงซิงเกิลนี้เป็นซิงเกิลแรก สอง สาม สี่ แล้วเรามาดูว่า เพลงไหนน่าจะจูนกับคนฟังได้

• ช่วยเล่าคอนเซปต์ของชุดนี้หน่อยครับว่ามีที่มาที่ไปยังไง

อู๋ : คำว่า You มาจากเพลงที่เกิดมาจากชีวิตจริง อัลบั้ม Y มันมาจากชีวิตจริงน้อยมาก แต่อัลบั้มนี้ มันคือแทบจะทั้งหมด ก็เลยอยากได้คำสักคำที่บ่งบอกว่ามาจากชีวิตคนจริงๆ และคำว่า you ก็สามารถตอบแทนได้ดี และอีกความหมายหนึ่งก็คือ เราอยากจะมอบอัลบัมนี้ให้แฟนเพลงทุกคนที่สนับสนุนวงมาตั้งแต่อัลบัมแรก ซึ่งเขาก็มาถามไถ่เช่นกันว่าเมื่อไหร่จะออกชุดใหม่สักที ก็เลยอยากจะมอบอัลบัมนี้ให้แฟนเพลงทุกคน และ You ในความหมายหนึ่งก็คือแฟนเพลง

• ถ้าหากให้เปรียบอัลบัมนี้เป็นคน คิดว่าเขาคนนั้น จะมีลักษณะยังไง

อู๋ : ผมนึกถึง Robert Smith นักร้องนำวง The Cure เขาเป็นคนที่มีอารมณ์แจ่มใส และมีอารมณ์ที่เครียดแบบกดสุดในคนเดียวกัน คือในภาพลักษณ์ที่เขาเป็นคนเก็บกด เป็นคนที่ซีเรียส แต่ก็ยังมีมุมที่แบบ...รักแมว มีมุมง้องแง้งอยู่ ผมเชื่อว่า The Yers เป็นแบบนั้น ถึงแม้ว่าชุด Y อาจจะมีความซีเรียสสำหรับใครหลายคน แต่อัลบัม You ก็มีมุมที่สว่างอยู่ และมีความสดใสมาด้วย

• การที่ออกเป็นซีดีซึ่งไม่ค่อยมีคนอยากทำแล้ว เพราะขายดาวน์โหลดได้ มีความหมายอย่างไรในความคิดของคุณ

อู๋ : ผมเอาตัวเองเป็นที่ตั้งครับ เวลาที่ผมชอบวงดนตรีวงไหน ผมจะแสดงออกด้วยการซื้อของเขามาเก็บ และผมเชื่อว่าแฟนเพลงวงเราเป็นอย่างนั้น เวลาเขาชอบเพลงเขาไม่ใช่แค่โพสต์เพลง แล้วเข้าไปฟังในยูทิวป์ แต่แฟนเพลงเราเป็นคนที่เท่ แล้วคนที่เท่มักจะแสดงออกว่ากูชอบวงนี้นะ ด้วยการซื้อเสื้อมาใส่ ซื้อซีดีแล้วโพสต์ว่า กูซื้อซีดีวงนี้เว้ย ไม่ใช่แค่สร้างกระแสแล้วก็เปิดเพลงในยูทิวป์แล้วเล่นเกมออนไลน์ไป ผมเชื่อว่าแฟนเพลงวงเราเป็นเหมือนผมแหละ เหมือนว่า คนแบบเดียวกัน มักจะดึงดูดเข้ามาหากัน

• ในขณะเดียวกัน การที่ทางวงได้มาอยู่ที่ๆ สามารถอยู่ในวงกว้างมากขึ้น มันเหมือนกับวงมีความทะเยอทะยานอยู่ด้วยมั้ย

อู๋ : ด้วยครับ โจทย์ในการมาที่นี่ เราอยากจะรู้ว่า ถ้าเรายังทำเพลงแบบเดิมอยู่ แล้วมันมีการกระจายมากขึ้น มันจะเป็นยังไง มันเหมือนงานทดลอง เราไม่ได้คิดว่า มาที่นี่แล้วเราจะดังนะ แต่ว่า ถ้าเราทำเพลงแบบนี้อยู่ แล้วไปอยู่อีกที่หนึ่ง คนจะให้การตอบรับยังไงบ้าง ซึ่งการเล่นที่งานบิ๊ก เมาท์เท่นครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า คนมาดูวงเราเยอะมาก

• พูดถึงซิงเกิล “เสพติดความเจ็บปวด” สักหน่อยครับ เพราะเพลงนี้ดังมากแบบเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งได้เลยเหมือนกัน

อู๋ : ผมมองว่ามันเป็นโชคนะ คือไม่รู้เลยว่าเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะเราทำด้วยโจทย์แบบว่ามีอะไรทำ ให้ใส่สุดเลย ผมรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ผิดโจทย์รูปแบบของเพลงที่ควรจะฮิตด้วยซ้ำ ทำนองก็เต้นยาก ไม่รู้จะเต้นกับกลองยังไง คนมันกระโดดไม่ถูก คำร้องก็ร้องยาก ไม่มีช่องให้หายใจเลย ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เพลงนี้ทำให้วงเป็นที่รู้จักได้ยังไง ผมมองว่าเป็นเรื่องของโชคมากกว่า

ต่อ : ผมว่าอะไรที่เป็นกระแสตอนนี้ พอไปเกาะ มันก็มีคนมองเยอะ แล้วมันเป็นโชคดีของเรา แล้วก็เป็นความตั้งใจของเราด้วยที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ เพื่อให้คนได้เห็นเรามากขึ้น

อู๋ : ในแง่หนึ่ง ผมว่าถ้าเราทำเพลงด้วยความรู้สึกกับชีวิตเราจริงๆ แล้วมันไปตรงกับชีวิตใครเขา ก็คงทำให้แฟนเพลงกับวงมันจูนกันได้ เพราะเพลงนี้มันคืออารมณ์ที่สุดในชีวิตนี้แล้ว ถ้าถามว่าชอบเพลงอะไรที่สุดก็คือเพลงนี้แหละ เหมือนมันมีญาณอะไรสักอย่างที่ทำให้เรากับคนฟังเจอกันได้ มันคงมีความรู้สึกนี้ในชีวิตคนจริงๆ ขณะเดียวกัน ผมค่อนข้างมั่นใจว่า คนที่ชอบวงเราหรือคนที่เชื่อในวง เขาฟังเพลงเพราะเป็นคนชอบฟังเพลงจริงๆ และชอบเพลงที่เป็นศิลปะจริงๆ และเราก็ทำด้วยโจทย์นั้นจริงๆ เราเลยไม่ได้มีแฟนเพลงแบบ 300 ล้านวิว เหมือนใครเขา เพราะเราไม่ได้ทำด้วยอะไรแบบนั้น

โบ๊ท: เรื่องหนึ่งซึ่งผมหมั่นไส้มากๆ เลย ก็คือ ยุคนี้มันเหมือนเป็นเรื่องของโลกออนไลน์ที่อะไรๆ ก็ไปขึ้นกับยอดวิวหรือยอดไลค์หมดแล้ว ตอนนี้ กลับกลายเป็นว่า วงที่จะดีหรือไม่ดี ก็ไปขึ้นตรงต่อโลกออนไลน์หมดแล้ว เรารู้สึกว่า อะไรวะเนี่ย

อู๋ : ผมว่ามันงี่เง่านะ เราไปยึดติดกับธุรกิจเกินไป จนความงามในศิลปะมันหายไปจนเละเทะหมดแล้ว อย่างตอนไปงาน Cat Expo ครั้งล่าสุด ผมซื้อซีดีของวงที่ออกอัลบัมเต็มทุกวงเลย เพราะเรารู้ว่ามันทำยากและควรสนับสนุนวงที่ทำอัลบัมเต็มมากๆ ไม่ว่าจะเป็น Slur, สมเกียรติ, Moving & Cut หรือ Part Time Musician

• มันสะท้อนด้วยมั้ยว่า คนฟังเพลงในบ้านเรา ยังไม่ยอมเปิดใจพอที่จะฟังเพลงลักษณะอื่นๆ

อู๋ : จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ไม่เปิดใจหรอกครับ มันอยู่ที่รสนิยมความชอบ ผมว่ามันลามมาตั้งแต่เรื่องการเมืองเลยนะ ถ้าพูดเรื่องนี้ หรือเรื่องอากาศก็ด้วย ทำให้คนเป็นแบบนี้ ทำให้ไลฟ์สไตล์ คนเป็นแบบนี้ สื่อทำให้คนมาเป็นแบบนี้ วัฒนธรรมและประเพณีถูกโยงกันมา ทำให้เพลงไทยมันไม่ไปไหนซักที

ต่อ : เหมือนบ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปะเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป ดนตรี หรือ ประติมากรรม

อู๋ : ซึ่งผมมองว่าการที่คนไทยไม่ซึมซับศิลปะได้เท่าที่ควร มันมาจากเรื่องพวกนี้หมดเลย บางทีเราจะเสพงานศิลปะ เราก็ยังต้องใช้เงินน่ะ จะซื้อเพลงที่ถูกกฎหมายก็ต้องใช้เงินเลย ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจครับ (หัวเราะ)

เต๋า : ยุคนี้ สังคมออนไลน์ ลงเรื่องแป๊บเดียว อะไรที่มันจะมา ก็เปรี้ยงปรางไม่ลืมหูลืมตา เช่น เรื่องวิจิตรพิสดาร หรือ แก้ผ้าเต้น แล้วคนบอกว่าตลก ชอบ ก็เป็นอะไรที่กรี๊ดหมด กลบงานศิลปะไปแล้ว

อู๋ : ตอนนี้ผมมีตลกร้ายอยู่ข้อหนึ่งที่จริงมาก คืออะไรที่พวกเราชอบ แม่งไม่เคยดังเลย แต่อะไรที่พวกเราเกลียด เราด่ากัน ถุยน้ำลายใส่ แม่งดังชิบหายเลย (บูม : คือถ้าอยากทำเพลงให้ดัง ก็ต้องทำเพลงที่ตัวเองเกลียด) เราเคยมีการพูดกันเล่นๆ แล้วนะว่า เราทำอะไรที่ตัวเองเกลียดหมดแล้วมาทำเป็นเพลงนึง ดูสิว่าเป็นยังไง นึกออกมั้ย เวลาที่มีเพลงอะไรใหม่ออกมา New Release เปิดวิทยุมา เปิด youtube แล้วพอฟังแล้วแบบ หูย ทำไมมันเป็นแบบนี้วะ 2 ร้อยล้านวิว 20 ล้านวิว กลับกัน แล้วอะไรที่เราชอบกัน แม่งไม่ดัง

• เอาล่ะ ยังไงก็มาถึงจุดนี้แล้ว นึกคิดแบบมองเห็นเป็นความเซอร์ไพรส์หรือเปล่า

อู๋ : ผมว่ามันดีกว่าที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรกเยอะครับ ทุกวันนี้ชีวิตคือกำไรเยอะแล้ว เพราะโจทย์จริงๆของวงนี้คือการได้ทำอัลบั้มแหละ การได้โยนหินไปแล้วดูว่ามีใครมองแล้วสวยบ้าง ปรากฏว่า เยอะกว่าที่คิดเยอะมาก 10 คน ดันมี 100 คน ทุกวันนี้คือกำไรแล้ว แต่ไม่หยุดทำผลงานต่อไปแน่นอน

• ตั้งแต่ ซิงเกิล ‘การสื่อสาร’ จนถึง ตอนนี้ ในมุมแฟนเพลงส่วนหนึ่ง คิดว่าผลงานของวง ได้ไปอยู่ในกลางใจของพวกเขาไปแล้วเรียบร้อยประมาณนั้นมั้ย

อู๋ : ผมเชื่อว่ามีอย่างงั้น เพราะว่า เวลาเราเล่นเสร็จ เราจะชอบไปนั่งขายเสื้อเองทุกที่ แล้วมันก็จะแฟนเพลงที่เข้ามาบอกเราด้วยน้ำเสียงและแววตาที่เรารู้เลยว่าเข่าชอบเราขนาดไหน

บูม : ล่าสุดเลย มีน้องที่มหิดล มีน้องคนนึงที่แบบว่า ผมเป็นคนจัดงานใน ม. เชิญพี่มาตั้งแต่ การสื่อสาร เพิ่งออกมาใหม่ๆ ซึ่งประมาณ 6 ปีที่แล้ว นั่นก็ทำให้เราดีใจมากเช่นกัน

อู๋ : นั่นก็ทำให้ผมรู้ได้เลยว่า เราเข้าไปอยู่ในใจเขาแล้วแหละ และเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่แบบรับรู้ได้ว่า เราพูดอะไรกับเขาในเพลง มันเหมือนเป็นรหัสลับนะ เหมือนมี code อยู่ในนั้น สนุกนะ อารมณ์แบบมีหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วอ่านไปเรื่อยๆ จนไปเจอมุมหลืบในหนังสือ แล้วเขาเจออ่ะ อารมณ์ว่า ‘เฮ้ย เขาเขียนให้กูนี่หว่า’ แล้วแบบเขาก็มากลายเป็นครอบครัวเดียวกับเรา

โบ๊ท : อีกอย่างหนึ่งครับ มีศิลปินบางท่านที่เขาโด่งดังสมัยที่เราเป็นเด็ก พอเราได้มาเจอเขา เขาก็ให้การยอมรับวงเรา แสดงให้เห็นว่า คือต่อให้เขาดังขนาดนั้น แต่ยอมรับในผลงานของเรา แบบ ดีนะ ชอบโชว์นะ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เจอ

อู๋ : เหมือนเจอศิลปินที่เป็นรุ่นใหญ่เดินมาบอกว่า เขาชอบวงเรามากเลย เขาชอบวิธีที่สื่อสาร มันเหมือนแบบ ผมมองว่าเป็นการเชื่อมต่อที่ถูกต้องแล้ว







เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น