xs
xsm
sm
md
lg

CAT EXPO : ตลาดเพลงไทย (ที่คิดว่าน่าจะ) ยังไปได้อีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หลังจากที่คลื่นวิทยุที่เปิดเพลงนอกกระแส หรือเพลงอินดี้เฉกเช่น “แฟต เรดิโอ” (Fat Radio) ยุติการออกอากาศทางวิทยุที่จัดมาอย่างต่อเนื่องถึง 13 ปี มาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2556 โดยหันมาออกอากาศผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนแทน คนฟังที่เป็นขาจรอย่างผมก็ห่างหายจากการฟังเพลงแนวนี้ไปนาน

ทราบมาคร่าวๆ ว่า ตอนนั้นแฟตเรดิโอจัดวิทยุ เรียกรวมๆ ว่าวิทยุออนไลน์ มาได้สักระยะหนึ่ง และการจัดคอนเสิร์ต “มันเนื้อเหนือ” ที่กาดเชิงดอย จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา กระทั่งเดือนเมษายน 2557 ผู้บริหารคลื่นแฟตอย่าง “เฮนรื่ จ๋อง” พงศ์นรินทร์ อุลิศ ได้นำดีเจและทีมงานเกือบทั้งหมดย้ายไปทำรายการวิทยุออนไลน์ที่มีชื่อว่า “แคท เรดิโอ” (Cat Radio)

โดยเปิดบริษัทใหม่ชื่อ ทัฟ โรดิเอ (TAF RODI A) ที่ทาวน์อินทาวน์ซอย 5 มี บูม-บรกรณ์ หลงสวาสดิ์ โปรแกรมไดเรกเตอร์ของแฟต เรดิโอเดิม ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ของคลื่น นอกจากดีเจคลื่นแฟตเดิมแล้ว ยังมีดีเจหน้าใหม่ เช่นสองหนุ่มอย่าง ไมเคิล ศิรชัช และ กันต์ ชุณหวัตร นักแสดงจากซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น หรือนักร้องนักแสดงชื่อดังอย่าง วี-วิโอเลต วอเทียร์ ก็มาด้วย

อย่างไรก็ตาม แคท เรดิโอ ยังออกอากาศทางคลื่นวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 94.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน แต่ตอนนั้น เฮนรี่ จ๋อง ยังได้เปิดบริษัทใหม่ชื่อ วิทยุเพลินจิต ผลิตรายการที่ชื่อว่า ลูกทุ่งอีซี่ เจาะกลุ่มคนพื้นเพต่างจังหวัดทำงานกรุงเทพฯ ผสมผสานระหว่างลูกทุ่ง กับอีซี่ ลิสเทนนิ่ง ให้กลายเป็นคลื่นลูกทุ่งที่เน้นเพลงช้าอีกด้วย

ตอนนั้นกิจกรรมที่คลื่นแฟตมีอยู่เดิม แทบจะเรียกได้ว่าย้ายมาจัดกับคลื่นนี้เลยทีเดียว เช่น งานเทศกาลเสื้อยืด แคท ทีเชิ้ต หรืออย่างงานเทศกาลดนตรีซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีอย่าง แคท เอ็กซ์โป ก็จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่สวนสนุกวันเดอร์เวิล์ด รามอินทรา กม. 10 ในคอนเซ็ปต์ที่ว่า “ตลาดเพลงไทย ใหญ่ที่สุดใน AEC”

ทราบมาว่างานดังกล่าวประสบความสำเร็จไปด้วยจำนวนผู้เข้าชมงานกว่า 15,000 คน โดยเฉพาะศิษย์เก่าแฟต เรดิโอ หลายคนมาเที่ยวงานแคท เฟสติวัล กระทั่งหนึ่งปีผ่านไป เทศกาลดนตรีประจำปีของ แคท เรดิโอ ได้กลับมาอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “Cat Expopo Tamus เราไม่ใช่ฮิปเตอร์ แต่เราฮิปโป” ที่คราวนี้มาพร้อมกับมาสคอตหมีทะเล้นอย่าง “คุมะมง” จากญี่ปุ่น

หลังจากปีที่แล้วพลาดแบบที่ตัวเองไม่รู้มาก่อน เหมือนคราวแฟต เฟสติวัล ที่กว่าจะได้สัมผัสด้วยตัวเองก็ครั้งที่ 4 แล้ว ด้วยความอยากรู้ว่าบรรยากาศของ แคท เอ็กซ์โป จะเปลี่ยนไปจาก แฟต เฟสติวัล ที่เคยสัมผัสในอดีตมากน้อยขนาดไหน เลยคิดว่าคงต้องลองไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเองสักครั้ง แม้โดยส่วนตัวจะหลงลืมกับการฟังเพลงนอกกระแสไปนานมากแล้วก็ตาม

ต่อไปนี้เป็นการเล่าถึงประสบการณ์การเที่ยวงาน แคท เอ็กซ์โป เป็นครั้งแรกให้ฟัง แต่ตัวเองห่างหายจากดนตรีนอกกระแสไปนานมาก อีกทั้งอาชีพนักข่าว ทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน บ้านอยู่ไกลถึงย่านถนนพระราม 2 แถมวันรุ่งขึ้นต้องเข้าเวรแต่เช้า ลางานไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมาเที่ยวงานได้เพียงวันเดียว และไม่ได้อยู่ยันจบงาน ต้องกลับบ้านให้ทันรถไฟฟ้าบีทีเอสเที่ยวสุดท้าย

ขอได้โปรดเข้าใจกันด้วย



เริ่มต้นจากบัตรเข้าชมงาน ปีนี้มีความพิเศษตรงที่ คนที่ซื้อบัตร 3,000 คนแรกจะได้พัดที่ระลึกลายหมี “คุมะมง” ที่จัดทำขึ้นพิเศษ ทราบภายหลังว่าได้รับการสนับสนุนจาก “ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล” เจ้าของลิขสิทธิ์คุมะมงในประเทศไทย ซึ่งในงานได้นำหมีคุมะมงมาจัดแสดงในงานแคท เฟสติวัล ทั้งสองวัน ก่อนที่จะเปิดตัวร้านคุมะมงช้อปที่สยามพารากอน

ปีที่แล้วขายบัตรเข้างานที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ในราคาบัตรเออรี่แคท (Early Cat) 500 บาท ราคาปกติ 1,000 บาท แต่ปีนี้หันมาจำหน่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา โดยบัตรเออรี่ แคท ขายอยู่ที่ 600 บาทเป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่วันต่อมาจะขายในราคา 900 บาทสำหรับผู้ที่แสดงแอปพลิเคชั่น Cat Radio และราคาปกติ 1,200 บาท

ซึ่งในวันงาน บัตรเหล่านี้จะสามารถนำไปแลกริสแบนด์ได้ 1 อันเพื่อใช้แสดงตนเข้างานทั้ง 2 วัน ทำมาจากพลาสติกพีวีซีแบบบาง กันน้ำได้ ใส่อาบน้ำหรือว่ายน้ำได้ ฉีกไม่ขาดนอกจากเอากรรไกรตัด และเมื่อเจ้าหน้าที่การ์ดติดกระดุมเรียบร้อยแล้ว ยังแกะไม่ได้อีกด้วย หากริสแบรนด์ขาดหรือถูกตัดจะไม่สามารถใช้เข้างานได้อีกเลย ต้องซื้อบัตรใหม่อย่างเดียว

ข้อดีของการจองผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น คือ หาซื้อบัตรได้ง่าย ชำระเงินสะดวก แต่ข้อเสียมีอยู่อย่างเดียว คือ สลิปจาง

ขนาดใส่ซองจดหมายเก็บไว้อย่างดี 1 เดือนผ่านไป เปิดซองออกมาตัวเลขยังเลือนหายเลย แต่ก็ยังดีที่ในวันงาน เคาน์เตอร์เซอร์วิสยังคืนกำไร แจกบัตรบาร์โค้ตสมนาคุณ ฟรีค่าธรรมเนียมจ่ายบิล 3 ครั้ง ถือว่ายังพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่คราวหน้าทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสต้องปรับปรุงให้ดีกว่านี้

ในวันงาน แม้สถานที่จัดงานคือสวนสนุก (ร้าง) วันเดอร์เวิล์ด ถนนรามอินทรา กม. 10 เยื้องห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์จะดูเหมือนว่าไกล แต่การเดินทางจากใจกลางเมืองนั้นถือว่าไปไม่ยาก มีรถตู้สายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-มีนบุรี ค่าโดยสารคนละ 30 บาท วิ่งผ่าน ใช้เส้นทางพระราม 9 ทางพิเศษฉลองรัช ต่างระดับวัชรพล ลงที่หน้าห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ก็ถึง

อันที่จริงทางผู้จัดงานได้จัดรถบัสรับ-ส่งทุกๆ 15 นาที แต่ต้องข้ามสะพานลอยไปขึ้นอีกฝั่ง จึงนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าห้างฯ ปรากฏว่าโชเฟอร์ไม่รู้ว่าทางเข้างานอยู่ตรงไหน เลยไปส่งประตูหลัง ทางเข้าเฉพาะศิลปิน จากนั้นเดินเท้าไปยังถนนเลียบมอเตอร์เวย์กาญจนาภิเษก และถนนประเสริฐมนูญกิจอีก 700 เมตร คิดซะว่าได้ออกกำลังกายยามเย็นไปในตัว



มาถึงจุดแสดงบัตรเข้าชมงาน พบว่ามีกลุ่มผู้เข้าชมยืนเข้าคิวเป็นแถว ข้อดีที่ซื้อบัตรหนึ่งใน 3,000 คนแรก คือ นอกจากจะได้พัดหมีคุมะมงแล้ว ยังมีแถวพิเศษแยกออกจากผู้ที่ซื้อบัตรตามปกติอีกต่างหาก ในวันที่ไปปรากฎว่าแถวตรงนั้นโล่งมาก ให้ความรู้สึกเหมือนคนพิเศษ ราวกับลัดคิวทำธุรกรรมในธนาคาร และเข้าคิวเช็กอินขึ้นเครื่องบินชั้นธุรกิจยังไงยังงั้น

หลังจากนั้นจะเป็นจุดตรวจค้นอาวุธ หลังจากตรวจเครื่องแต่งกายและสัมภาระแล้ว การ์ดจะพับริสแบนด์เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส แล้วติดกระดุมนิรภัยอย่างเรียบร้อยก่อนเข้าไปในงาน สังเกตว่าภายในงานมีการแบ่งเวทีออกเป็น 5 เวที ได้แก่ เวทีใหญ่ คือ เวทีฮิปโซ, เวทีฮิปไฮ, เวทีฮิปซี, เวทีฮิปมัน และเวทีเล็กอย่างเวทีหมา (DOG STAGE) สำหรับศิลปินหน้าใหม่

บอกตามตรงว่าหลังห่างหายไปจากเพลงนอกกระแสนานกว่า 2 ปี มีความรู้สึกว่าวงดนตรีหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นพอสมควร เพราะฉะนั้น จะบอกว่าตัวเองรู้สึกไม่คุ้นเคย ก็คงจะไม่ผิดนัก



ส่วนศิลปินเก่าๆ ยังพอมีให้หายคิดถึงบ้าง บางวงก็รู้จักและฟังผลงานกันมานาน เพราะฉะนั้นจึงสิงสถิตอยู่แค่เวทีฮิปโซ กับเวทีฮิปไฮที่อยู่ใกล้กันแค่นั้น นอกจากนี้ วงที่ชื่นชอบและอยากฟังอีกส่วนหนึ่งกลับไปจัดในวันอาทิตย์ ซึ่งต้องเข้าเวร ไม่สามารถปลีกเวลาไปดูได้ จึงอดฟังอยู่หลายวง อาทิ สเลอ, ฟลัวร์, ทเวนตี้ไฟว์ อาวเวอร์ส, ไทเทเนียม, สิงโต นำโชค, โยคี เพลย์บอย, โมโนโทน กรุ๊ป, ซีเปีย, พราว, โมเดิร์นด็อก, สยาม ซีเคร็ท เซอร์วิส, คิดแนปเปอร์, สุหฤท สยามวาลา, ริทึมเมติกส์ ฯลฯ

โดยเฉพาะ “ละอองฟอง” นี่ ... บอกได้คำเดียวว่า “ร้องไห้หนักมาก” (ฮา)

ศิลปินบางวงก็พลาดโอกาสชมเพราะคิวแสดงชนกัน เช่น ลุลาเล่นเวลาเดียวกับอพาร์ทเมนต์คุณป้า เลยอดฟัง หรือจะเป็น เบทเมอร์ เวทเทอร์ ก็ชนกับสตรีท ฟังก์ โรลเลอร์ เลยอดฟังอีกวง นอกนั้นก็สิงสถิตอยู่เวทีใหญ่ ฟังเจ็ท เซทเทอร์ นภ พรชำนิ บอยก้อ ตามมาด้วยฟรายเดย์ ที่มีแขกรับเชิญพิเศษ คือ หมีคุมะมง ที่มีโชว์พิเศษร่วมกันอีกด้วย



อพาร์ทเมนท์คุณป้า



Jetseter



นภ พรชำนิ



Friday



Friday VS Kumamon

ถามว่าเสียดายไหมกับบัตรราคาแพงแต่ไปเที่ยวได้แค่นั้น บอกตามตรงว่านอกจากจะได้บัตรมาในราคาถูกครึ่งต่อครึ่งแล้ว แค่ได้เห็นวงดนตรี และเพลงที่ไม่ได้ฟังมานาน เอาแค่ 3-4 วงก็พอใจแล้ว แต่ถ้าให้ซื้อในราคาเต็ม 1,200 บาทก็คงจ่ายไม่ไหว เพราะฉะนั้น การซื้ออะไรล่วงหน้าก็เหมือนกับการลงทุนความสุขอย่างหนึ่ง แม้จะมีความเสี่ยงที่ว่าจะได้ไปหรืออดไปก็ตาม

แต่ที่ดูเหมือนว่าจะซบเซาลงไปก็คือ "โซนตลาด" ซึ่งจะมีบูธออกร้านสำหรับค่ายเพลง ศิลปิน หรือวงดนตรี บอกตามตรงว่าบางบูธผู้คนหนาแน่น แต่บางบูธก็เงียบ สินค้าที่นำมาขายก็มีทั้งซีดีของศิลปินต่างๆ กับเสื้อยืด ส่วนตัวอาจเป็นเพราะอยู่จุดที่ไม่ได้อินกับศิลปินแบบจริงจังเพราะแก่แล้ว หากเพลงไหนเพราะก็ดาวน์โหลดจากไอจูนสโตร์เอง เลยไม่ได้ช้อปเลยสักบูธ



ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ เฮนรี่ จ๋อง ซึ่งเป็นผู้จัดงานในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง บอกว่า ที่ผ่านมาแฟต เฟสติวัล เอาการแสดงดนตรีนำ แต่สำหรับ แคท เรดิโอ สนใจความอยู่รอดของนักดนตรี ก็เลยตั้งชื่อ แคท เอ็กซ์โป ให้มันเป็นตลาดเพลงมากกว่าเป็นคอนเสิร์ต รูปแบบงานอาจจะเหมือนแฟต แต่ในคอนเทนต์มันต่างกันด้วยตัวมันเอง

สิ่งที่ชอบมากที่สุดในงานนี้ คือ ได้ชมวงดนตรีที่เราห่างหายมานานจนเกือบลืมไปแล้ว อย่างวงอพาร์ทเมนท์คุณป้า หรือวง สตรีท ฟังก์ โรลเลอร์ ที่ถึงแม้นักร้องนำอย่าง “โอ๊ต-อรรถพงศ์ บุญเสริมทรัพย์” ที่แม้จะแก่ลงเพราะวงนี้ก่อตั้งมาเกือบจะ 20 ปีแล้ว แต่เสียงร้องของเขาอย่างเพลง บนฟากฟ้า วาสนาน้อยๆ ก็เหมือนกับบรื้อฟื้นความทรงจำที่เรายังร้องตามได้



Street Funk Rollers

Hilight : วาสนาน้อยๆ - Street Funk Rollers #StreetFunkRollers #Catexpo #catexpopo

A video posted by Kittinun Nakthong (@kittinunn) on




สิ่งที่ควรปรับปรุง และอยากฝากให้สำหรับปีต่อไป คือ แผนผังเข้างาน ในวันแรกปรากฏว่าหมดตั้งแต่ห้าโมงเย็น อีกทั้งจะเปิดดูในสมาร์ทโฟนก็ไม่สะดวก จะดูที่บอร์ดหน้าทางเข้าแต่ละเวทีก็เสียเวลาเดิน สุดท้ายได้มาหนึ่งใบ ที่ตกอยู่พื้นพร้อมรอยเหยียบ เข้าใจดีว่าในช่วงที่ผ่านมาพิมพ์แล้วมันเหลือ หรือคนที่ไม่สนใจเก็บไว้ก็ทิ้งเป็นขยะ แต่ก็ขอฝากตรงนี้ไว้พิจารณา

ที่สำคัญคือ น้ำเปล่า เข้าใจดีว่าสิงห์เป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน จึงให้ซื้อได้เฉพาะภายในงานเท่านั้น ปรากฏว่าน้ำดื่มจำหน่ายหมดแล้วตั้งแต่ช่วงเย็น อีกทั้งซื้อจากภายนอกเข้ามาไม่ได้ด้วย กลายเป็นของหายากภายในงาน พอๆ กับหมวกวงพาร์ทไทม์ มิวสิคเชียน (โด่งดังจากเพลง Vacation Time ที่นำไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง ฟรีแลนซ์) ที่ขายหมดตั้งแต่เย็นๆ



กรณีน้ำดื่มขาดแคลนถึงจะมีเสียงบ่นจากผู้เข้าร่วมงาน แต่ทราบมาว่าทางผู้จัดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงขนส่งน้ำดื่มเข้ามาจำหน่าย เราจึงได้เห็นผู้คนนับร้อยคนเข้าคิวกันซื้อน้ำดื่ม พอๆ กับต่อคิวซื้อโดนัทคริสปี้ครีมในวันเปิดตัวร้านใหม่ๆ และในวันต่อมายังได้จัดจุดจำหน่ายน้ำดื่มและเพิ่มน้ำดื่มที่นำมาจำหน่ายอีกเท่าตัว ก็ขอปรบมือให้สำหรับความพยายาม

แม้แคท เรดิโอ จะบอกว่า รูปแบบอะไรหลายอย่างของแคท เอ็กซ์โป ยังคงเป็นเหมือนแฟต เฟสติวัล แต่แตกต่างกันไปในแง่คอนเทนต์ แต่โดยส่วนตัวกลับมองว่า กลิ่นอายที่เคยสัมผัสจากแฟต เฟสติวัล สัมผัสมาเท่าไหร่ แคท เอ็กซ์โป ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น สิ่งสำคัญก็คือ จะหาทางอย่างไรให้โซนตลาดมีอะไรที่มากกว่าการขายซีดีและเสื้อยืด พร้อมแจกลายเซ็น เพื่อดึงดูดบรรยากาศตลาดให้กลับมาคึกคักเหมือนในอดีตอีกครั้ง



เรื่องนี้คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ แคท เรดิโอ ในฐานะผู้จัดแต่เพียงอย่างเดียว แม้จะมีหลายองค์ประกอบ แต่ที่สำคัญก็คือ คนทำเพลงและผู้ฟังจะต้องสื่อสารกันให้ได้ เห็นบางวงที่ประสบความสำเร็จอย่างพาร์ทไทม์ มิวสิคเชียน นอกจากเพลง Vacation Time มีชื่อเสียงแล้ว พบว่าการแลกซื้อของพรีเมียมอย่างหมวกรุ่นสุดท้ายของวง เป็นจุดขายที่ทำให้ซีดีขายได้เป็นจำนวนมาก

หากแคท เอ็กซ์โป ยังคงเป็นจุดนัดพบปีละครั้งระหว่างคนทำเพลงกับผู้ฟัง เพื่อความอยู่รอดของศิลปินที่จะมีผลงานออกสู่วงการเพลงไทย ในยุคที่การเสพสื่อโดยเฉพาะการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป หวังไว้ในใจว่าเราอาจจะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของตลาดเพลงในบ้านเรา ที่ไม่ใช่เพียงแค่ซีดีเพลง กับเสื้อยืด แต่ยังต่อยอดไปถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อีกด้วย

ขึ้นอยู่กับว่าวงการเพลงไทย โดยเฉพาะกับศิลปินในวงการดนตรีนอกกระแสจะมองเห็นหรือเปล่าก็อีกเรื่อง.

ป.ล. ขอขอบคุณ คุณอ๊อฟ-สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช ผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการสัมภาษณ์พิเศษ ที่นำเพลงแจกฟรีในโซนตลาด 50 เพลงมาให้ เพราะในวันงานหาบูธไม่เจอ แม้จะมองหาอยู่หลายรอบก็ตาม เสียดายที่ในวันงานไม่ได้เจอกันเพราะเจ้าตัวไม่ได้ออนไลน์ ไม่อย่างนั้นการไปเที่ยวงานแคท เอ็กซ์โป กับคอดนตรีอินดี้ตัวจริงคงจะสนุกกว่านี้ ...





ไม่ว่าเธอจะรักฉันหรือไม่ - Friday
กำลังโหลดความคิดเห็น