xs
xsm
sm
md
lg

เพราะความรักจึงบันดาลให้ นางสาวไทยเป็นราชินีแห่งสหพันธรัฐมลายู!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

นางสาวไทยในยุคเริ่มแรก
การประกวดนางสาวไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการจัดงาน “ฉลองรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่สุดแห่งปี เพื่อเผยแพร่ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาใหม่ และเพื่อให้งานฉลองรัฐธรรมนูญมีชีวิตชีวา จึงมีการประกวดนางงามขึ้น เรียกว่า “นางสาวสยาม” เพราะขณะนั้นประเทศนี้ยังมีชื่อว่า “สยาม”

งานประกวดนางสาวสยามถือว่าเป็นงานระดับชาติ เพราะ “คณะราษฎร” ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาดูแลการประกวดอย่างใกล้ชิด ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานประชาสัมพันธ์ทางการเมือง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดหาสาวงามส่งมาประกวด ส่วนผู้เข้าประกวดก็มีเกียรติ ถือว่าเป็นการทำเพื่อชาติอย่างหนึ่ง

ผู้ได้ตำแหน่งนางสาวสยามแต่ละคน ได้พลิกผันชีวิตไปช่วงข้ามคืน จากเด็กสาวอายุยังไม่ถึง ๒๐ ได้กลายเป็นคนดังของประเทศ มีโอกาสได้แต่งงานกับคนมีฐานะดี มีตำแหน่งสูงทางราชการ หรือนักธุรกิจชั้นนำ ซึ่งล้วนแต่เป็นชายหนุ่มที่มีอนาคต ต่างมีชีวิตรุ่งโรจน์ขึ้นจากการประกวด

หนึ่งในจำนวนนี้ โชคดีถึงขั้นเป็น “ราชินีแห่งสหพันธรัฐมลายู”

สาวงามที่ชีวิตพลิกผันจากการประกวดนางงามรายนี้ ก็คือ เรียม เพศยนาวิน นางสาวสยามคนที่ ๖ แต่เธอได้เป็น “นางสาวไทย” คนแรก เพราะในปี ๒๔๘๒ ที่เธอเข้าประกวดนั้น มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน การประกวดนางสาวไทยในปีนั้นและปีต่อๆมา จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนางสาวไทยไปด้วย อีกทั้งได้เปลี่ยนชุดแต่งกายจากชุดไทยห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า มาเป็นชุดเสื้อกระโปรงติดกัน ตัดเย็บด้วยไหมไทย เสื้อเปิดหลัง กระโปรงยาวถึงเข่า เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น

เรียม เพศยนาวิน ยังเป็นนางสาวไทยคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นอิสลาม เธอเกิดที่อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร จากครอบครัวที่มีพ่อเป็นมุสลิม แม่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหัสดัมอิสลามวิทยาลัย มีชื่อแต่แรกว่า “มาเรียม” แต่ในสมัยนิยมไทย รัฐบาลรณรงค์ให้คนไทยใช้ชื่อเป็นภาษาไทย จึงต้องเปลี่ยนเป็น “เรียม” แต่ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ รัฐบาลออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมให้หญิงและชายใช้ชื่อบอกเพศให้ชัดเจน เรียมซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในสภาวัฒนธรรมด้วย จึงต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “เรียมรมย์” จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ้นยุครณรงค์เรื่องชาตินิยมแล้ว เธอจึงกลับมาใช้ชื่อ “เรียม” ตามเดิม

เรียมได้รับตำแหน่งนางสาวไทยในวัยเพียง ๑๖ ปี แต่ครองตัวเป็นโสดมาจนพบรักกับสุลต่านแห่งรัฐปะลิส ของสหพันธรัฐมลายูในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เมื่อวัยเข้า ๒๙ ซึ่งความรักของนางสาวไทยกับสุลต่านหนุ่มผู้สำเร็จการศึกษามาจากอังกฤษ ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ สุลต่าน เอช. เอช. ชุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล แห่งรัฐปะลิส เสด็จมาประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ และมีพระประสงค์จะพักกับครอบครัวมุสลิม เพื่อหลีกเลี่ยงการต้อนรับอย่างเอิกเกริก นายเจ๊ะ อับดุลลา หวังปูเต๊ะ ส.ส.นราธิวาส จึงจัดที่ประทับที่บ้านนายนิพนธ์ สิงห์สุมาลี ย่านถนนตก

เรื่องนี้นัยว่ามีแผน เพราะสุลต่านหนุ่มได้รับคำร่ำลือเรื่องนางสาวไทยผู้เป็นมุสลิมที่มีไปถึงมลายู ขณะนั้นเรียม เพศยนาวินก็พักอยู่ที่บ้านนายนิพนธ์ผู้เป็นญาติด้วย แต่กระนั้นแม้จะพักอยู่บ้านเดียวกัน สุลต่านหนุ่มก็ไม่มีโอกาสได้พบนางสาวไทย เพราะเรียมจะหลบไปทุกครั้งเมื่อรู้ว่าขบวนรถเสด็จจะเข้าประตูบ้านมา

จนกระทั่งวันหนึ่ง เรียมอยู่ในชุดกางเกงขาสั้น กำลังเล่นแบดมินตันกับลูกสาวเจ้าของบ้าน หลบไม่ทัน สุลต่านหนุ่มสนพระทัยแบดมินตันขึ้นมาทันที และถามเจ้าของบ้านว่า หญิงสาวที่ตีแบดฯอยู่นั้น เป็นคนเดียวกับที่มีรูปตั้งไว้ในบ้านใช่หรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าใช่ รายาแห่งรัฐปะลิสก็ประจักษ์ว่า เธอมีความงามสมคำล่ำลือที่ต้องวางแผนมา

การเจรจากับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจึงเกิดขึ้นทันที และเมื่อนายสุมิตร เพศยนาวิน บิดาของเรียมทูลว่า ตนไม่ได้เลี้ยงลูกไว้เพื่อขาย ขอให้เลี้ยงดูด้วยดีก็แล้วกัน สุลต่านจึงนำแหวนเพชร ๑๐ กะรัต พร้อมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท มาทำพีหมั้นที่บ้านนายนิพนธ์ สิงห์สุมาลี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๕ โดยมีจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ เป็นประธานในพิธี ต่อมาอีก ๒ เดือนจึงมีพิธีแต่งงานอย่างเรียบง่ายขึ้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ที่บ้านนายนิพนธ์เช่นเดิม โดยมีจุฬาราชมนตรีทำพิธีทางศาสนา ฝ่ายเจ้าบ่าวมีผู้ติดตามมาเพียง ๖ คน และมีแขกมาร่วมงานประมาณ ๕๐ คน รวมทั้งนายเจ๊ะ อับดุลลา หวังปูเต๊ะ สื่อรัก

ในขณะนั้นสุลต่านแห่งปะลิสมีมเหสีอยู่ก่อนแล้ว และมีโอรสธิดาถึง ๘ พระองค์ เรียมจึงเป็นภรรยาคนที่สอง ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามสามารถมีได้ถึง ๔ แต่สุลต่านก็ทรงหยุดอยู่ที่ ๒ เรียมได้รับการดูแลให้มีความสุขอย่างดี และให้กำเนิดโอรสองค์แรกในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๖

ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ สุลต่านแห่งเซลังงอร์ ซึ่งครองตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหพันธรัฐมลายู สวรรคต ตามรัฐธรรมนูญของมลายูไม่ได้ใช้วิธีสืบสันตติวงศ์ แต่ใช้วิธีเลือกสุลต่านที่ครองรัฐต่างๆผู้มีอาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นประมุขแทน ในครั้งนี้สุลต่านแห่งรัฐปะลิสมีอาวุโสสูงสุด และทรงปฏิบัติราชกิจแทนพระราชาธิบดีองค์ก่อนในระหว่างประชวรจนสวรรคต

สุลต่านแห่งรัฐปะลิสจึงขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหพันธรัฐมลายูเป็นองค์ที่ ๓ นับตั้งแต่มลายูได้รับเอกราชจากอังกฤษ เรียม เพศยนาวิน ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “รานี” หรือมเหสีองค์ที่ ๒ จึงอยู่ในฐานะราชินีของมลายูด้วย

ขณะนั้นความสัมพันธ์ของไทยกับมลายูแนบแน่นยิ่งกว่าสมัยใด นอกจากจะมีนางสาวไทยอยู่ในตำแหน่งราชินีแล้ว ตนกูอับดุล เราะห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมลายู ซึ่งเป็นผู้กู้เอกราชจากอังกฤษ ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งประเทศมาเลเซีย” ก็ยังอยู่ในตำแหน่ง และมีความแนบแน่นกับไทยเหมือนญาติ เพราะมีแม่เป็นคนไทยในสกุล “นนทนาคร” และเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์อยู่ ๒ ปี

เมื่อครองราชย์ครบวาระ ๔ ปี สมเด็จพระราชาธิบดีเซยิด ปุตรา ก็ทรงคืนสู่ตำแหน่งสุลต่านแห่งรัฐปะลิสตามเดิม

รานีเรียมมีโอรสธิดากับสุลต่าน ๔ องค์ คือ เจ้าชายราชิต เจ้าชายอัศนีย์ เจ้าชายบัตรีชา ซึ่งองค์ที่ ๓ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้พระราชทานชื่อไทยให้ว่า “รังสิกร” องค์สุดท้ายคือเจ้าหญิงชารีฟะ เมลานี

รานีเรียมทรงพำนักอยู่ที่พระราชวังอิสตาน่า ซาฮาย่า รัฐปะลิส บางครั้งก็เดินทางไปเยี่ยมโอรสธิดาซึ่งศึกษาอยู่ที่อังกฤษ รานียังคงมาเยี่ยมญาติในเมืองไทยเป็นประจำ ทรงสอนให้โอรสธิดาทุกองค์พูดภาษาไทย และมีความใกล้ชิดกับญาติทางเมืองไทย

เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทยคนที่ ๖ หรือ รานีซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล ตวนมาเรียม แห่งสหพันธรัฐมลายู ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการพระหทัยวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๙ รวมอายุได้ ๖๔ ปี โดยพระศพถูกฝังอยู่ ณ สุสานหลวงประจำราชวงศ์ของรัฐปะลิส เป็นการปิดตำนานนางสาวไทยที่ก้าวขึ้นเป็นรานีแห่งรัฐปะลิส และในช่วง ๔ ปียังได้อยู่ในฐานะราชินีของสหพันธรัฐมลยู ก่อนจะได้ชื่อใหม่ว่า ประเทศมาเลเซีย
เรียม เพศยนาวิน

ภาพเรียมที่ตั้งไว้ในบ้าน
รายาแห่งปะลิสกับเรียมในวันสมรส
 ครอบครัวอบอุ่นของรานีเรียม
ที่ฝังศพของรานีเรียม
กำลังโหลดความคิดเห็น