นราธิวาส - นราธิวาส กำหนดเส้นทางสิริมงคลปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อพ่อ” ผ่านสถานที่สำคัญ 9 แห่ง เน้นสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวนราฯ และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
วันนี้ (28 พ.ย.) ในการจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad จังหวัดนราธิวาส ได้กำหนดเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญ 9 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ และเป็นสถานที่แห่งความภาคภูมิใจของชาวนราธิวาส ประกอบด้วย
สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (สวน ร.6) สถานที่แห่งนี้เป็นสวนสาธารณะอีก 1 แห่ง ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ที่มีความสวยงาม ร่มรื่น เหมาะแก่การออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งสถานที่แห่งนี้มีการจัดตกแต่งสถานที่ให้มีความสวยงามอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นสถานที่จัดงานของดีเมืองนราห้วงเดือนกันยายนเป็นประจำทุกปี และที่สำคัญเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ริเริ่มโครงการ และจัดหาเงินทุนก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 และมีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์ทรงประกอบพิธีพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2543
สถานที่แห่งที่ 2 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส (หลังเก่า) ซึ่งศาลากลางจังหวัดนราธิวาสแห่งนี้ได้มีการวงศิลาฤกษ์เมื่อเวลา 12.05 น. วันศุกร์ที่ 3 เดือนพฤษภาคม 2506 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ จ.ศ.1325 โดย ฯพณฯ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จได้มีพิธีเปิดอาคารศาลากลางจังหวัดนราธิวาส เมื่อเวลา 08.25 น. วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2507 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง จ.ศ.1326 โดย ฯพณฯ นายทวี แรงขำ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด และปัจจุบันนี้อาคารศาลากลางจังหวัดนราธิวาสหลังเก่า ได้มีการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส โดยมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้รับผิดชอบ
สถานที่แห่งที่ 3 มัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส (หลังเก่า) หรือมัสยิดยุมอีย๊ะ มัสยิดแห่งนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2481 และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2484 ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกหอนาฬิกา มีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา มัสยิดยุมอีย๊ะ มีรูปแบบสถาปัตกรรมที่โดดเด่น คือ มีโดมมัสยิดที่มีลักษณะแปลกไม่เหมือนกับโดมมัสยิดอื่นใกล้เคียง มัสยิดแห่งนี้เรียกอีกชื่อว่า มัสยิดรายอ อันหมายถึงมัสยิดของเจ้าเมือง หรือมัสยิดของพระยาภูผาภักดีนั่นเอง เนื่องจากมัสยิดแห่งนี้มีความผูกพันกับพระยาภูผาภักดีมาก ดังนั้น หลังพระยาภูผาภักดี ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ลูกหลาน และประชาชนก็ได้สร้างกูโบร์ หรือสุสานภายในมัสยิดยุมอีย๊ะแห่งนี้ เพื่อเป็นที่ฝังศพของท่าน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า สุสานเจ้าเมือง พระยาภูผาภักดี และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการสร้างมัสยิดประจำขังหวัดนราธิวาสแห่งใหม่ แต่มัสยิดยุมอีย๊ะ ยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในการประกอบศาสนกิจเป็นอย่างมาก
สถานที่แห่งที่ 4 หอนาฬิกาประจำจังหวัดนราธิวาส หอนาฬิกา นับเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งโดดเด่นอยู่ในกลางเมืองใกล้กับมัสยิดยุมอีย๊ะ ตั้งอยู่บนถนนพิชิตบำรุง เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส หอนาฬิกาแห่งนี้มีการซ่อมปรับปรุงใหม่แล้ว 3 ครั้ง โดยมีการปรับปรุงครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.2548 ด้วยงบประมาณ 1,463,000 บาท ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 13 เมตร ลักษณะขอรูปทรงนาฬิกาสร้างจากโครงสร้างเดิม โดยมีการปรับปรุงตกแต่งผนังใหม่ทั้งหมด และเพิ่มความสูงของหอนาฬิกา ส่วนยอดของหลังคาเป็นรูปทรงปั้นหยา ซึ่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นภาคใต้ มีการประดับส่องแสงด้วยลวดลายอัลลอย โดยใช้ลวดแห่งศิลปะอาหรับ ตัวหอนาฬิกาโดยรอบจะบุผนังด้วยหินเทียม เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ขรึมหนักแน่น มั่นคง และเย็น ในช่วงเวลากลางคืนจะสวยงามด้วยแสงด้วยแสงสว่างจากไฟประดับระยิบระยับ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ หอนาฬิกาจะเป็นส่วนหนึ่งที่เทศบาลใช้ประดับตกแต่งให้งดงามยิ่งขึ้น
สถานที่แห่งที่ 5 มัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส (แห่งใหม่) ตั้งอยู่ที่บ้างบางนรา ก่อนถึงหาดนราทัศน์ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม มัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2524 เป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส แห่งที่ 2 โดยมีเนื้อที่ 10 ไร่ งาน 35 ตารางวา ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 22,621,113.75 บาท สร้างอาคาร 3 ชั้น แบบอาหรับ ชั้นล่างจะเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ มีห้องสำหรับทำละหมาดในชั้น 2 ชั้น 3 ส่วนบนของอาคารมีลักษณะเป็นโดมขนาดใหญ่ และด้านข้างจะมีหอสูงสำหรับส่งสัญญาณอาซานเรียกชาวมุสลิมมาละหมาด
สถานที่แห่งที่ 6 พลับพลาเฉลิมพระเกียรติสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี (เขื่อนท่าพระยาสาย) ในปี พ.ศ.2522 มีการจัดการแข่งขันเรือกอและ และเรือยาวขึ้น โดยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันเรือบริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางนราทุกปี ซึ่งจังหวัดนราธิวาส ได้สร้างที่ประทับเป็นการชั่วคราวในการเสด็จ ต่อมา ปี พ.ศ.2523 ชาวนราธิวาสเห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ควรก่อสร้างพลับพลาที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันเรือเป็นการถาวร ดังนั้น จังหวัดนราธิวาส จึงได้รวบรวมเงินทุนจากข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาส และดำเนินการก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ.2526 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ.2527 และประมาณปี พ.ศ.2534 น้ำกัดเซาะตลิ่งพังเสียหาย จึงมีการก่อสร้างเขื่อนกันดินพัง และสร้างพลับพลาที่ประทับหลังใหม่ขึ้นโดยกำหนดให้เป็นพลับพลาเฉลิมพระเกียรติฉลองครองสิริราชครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 จึงดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2538
สถานที่แห่งที่ 7 พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลกะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส อยู่ริมทะเลฝั่งตะวันออกบนเชิงเขาตันหยง มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2516 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2516 เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ และภายในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ แบ่งออกเป็น 3 เขตพระราชฐาน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นใน และพระราชฐานที่ประทับ สำหรับเขตพระราชฐานที่ประทับมีการตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้พื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของพระตำหนัก ได้แก่ ปาล์มบังสูรย์รักนา และดาหลา ทำให้มีบรรยากาศร่มรื่น นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ศิลปาชีพซึ่งเป็นแหล่งฝึกงานราษฎรในพื้นที่อื่นด้วย
สถานที่แห่งที่ 8 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา เทศบาลตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2525 ในการรวมแหล่งการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ดินทำกินแก่ราษฎรในพื้นที่แบเบ็ดเสร็จ คือ วิเคราะห์ ทดลอง ทดสอบการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ให้ข้อมูลวิชาการและฝึกอบรมการเกษตร เนื้อที่ศูนย์ทั้งหมด 1,740 ไร่ ถูกแบ่งเป็นอาคารสำนักงาน แปลงสาธิต และแปลงวิจัยทดลองในพื้นที่ป่าพรุโครงการในพระราชดำริ เช่น โครงการแกล้งดิน โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมงานหัตถกรรมจากกระจูด และใบปาหนันในวันเวลาราชการ การมาศึกษาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองนอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้ความเพลิดเพลินเหมือนมาพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะ
และสถานที่แห่งที่ 9 วัดพิกุลทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส เดิมเป็นที่พักสงฆ์ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2513 ต่อมา ท่านพระครูจันทศิริโสภณ ได้มาจำพรรษา และเห็นว่าเป็นที่ลุ่ม ฤดูฝนน้ำท่วม ไม่สะดวก จึงรวบรวมปัจจัยซึ่งที่ดินใหม่ จำนวน 15 ไร่ 2 ตารางวา และย้ายมาที่ดินใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2521 โดยเปลี่ยนจากที่พักสงฆ์เป็นสำนักสงฆ์ ต่อมา ได้ขอยกฐานะเป็นวัดราษฎร และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 โดยบริเวณด้านข้างของวัดพิกุลทอง เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธร อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 เนื่องจากเด็กจำนวนมากในพื้นที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และเหมาะสมต่อวัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กเพื่อรองรับเด็กอายุ 2-5 ปี เข้าอบรมดูแลให้มีพัฒนาการอย่างถูกต้องเหมาะสม
จ.นราธิวาส จึงขอเชิญชวนประชาชนใส่เสื้อสีเหลือง และผู้หญิงที่เป็นชาวไทยมุสลิมสวมผ้าคลุมผมสีเหลือง มาร่วมแปรขบวนอักษรรูปหัวใจ ฟอร์ แด๊ด และซ้อมปั่นเพื่อพ่อในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส และร่วมปั่นเพื่อพ่อในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เวลา 13.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส