xs
xsm
sm
md
lg

รายการโชว์ต้อนรับแขกเมือง ๓ ยุค อาคันตุกะจากยุโรปตื่นตะลึงทุกยุค!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

การแสดงช้างสู้กับเสือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่อังกฤษและฮอลันดาแผ่อิทธิพลเข้ามาคุคามย่านนี้ จึงทรงดำเนินกุศโลบายคานอำนาจด้วยการเปิดสัมพันธไมตรีอย่างแน่นแฟ้นกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส กรุงศรีอยุธยาจึงมีโอกาสได้ต้อนรับคนสำคัญจากยุโรปหลายคณะ รายการสำคัญที่ทรงจัดต้อนรับแขกเมืองในยุคนั้น มักหนีไม่พ้นการแสดงของช้างที่ชาวยุโรปตื่นเต้นกันมากเมื่อได้เห็น

รายการเหล่านี้ นอกจากเป็นการแสดงจับช้าง-คล้องช้างแล้ว ยังมีการเอาช้างชนกันให้ดูด้วย ซึ่งบาทหลวงตาชารด์ ชาวฝรั่งเศส ได้เล่าไว้ในหนังสือ “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม”ตอนหนึ่งว่า

“...เราตามเสด็จพระราชดำเนินไปจนถึงทุ่งใหญ่แห่งหนึ่ง ห่างจากตัวเมืองสักร้อยก้าว พระเจ้าแผ่นดินประทับบนหลังช้างพระที่นั่ง โดยมีท่านราชทูตอยู่ทางเบื้องขวาของพระองค์ ห่างกันราวสิบห้าหรือยี่สิบก้าว ม.ก็องสตังช์อยู่ทางเบื้องซ้าย และมีขุนนางเป็นอันมากหมอบอยู่ด้วยความเคารพรายรอบช้างพระที่นั่ง ชั้นแรกได้ยินเสียงแตรชนิดหนึ่งเสียงกระด้างๆ และไม่มีเสียงสะท้อนกลับ ครั้นแล้วช้างทั้งสองเชือกที่จัดไว้ให้ต่อสู้กันก็ส่งเสียงอย่างน่ากลัว มันถูกผูกขาหลังไว้ด้วยเชือกเส้นใหญ่ มีคนหลายคนยึดหางเชือกไว้ เพื่อดึงมันถอยหลังเมื่อมีการปะทะกันรุนแรงเกินไป เขาปล่อยให้มันเข้าใกล้กันในระยะที่ประสานงากันได้โดยไม่ทำให้บาดเจ็บ ว่ากันว่าบางทีมันปะทะกันรุนแรงจนงาหักก็มี จนงาแตกกระเด็นว่อนไปทุกทิศทาง แต่ช้างทั้งสองเชือกนี้มิได้ต่อสู้กันรุนแรงนัก มีการประสานงากันสี่หรือห้าครั้งเท่านั้น แล้วเขาก็แยกมันออกจากกันไปเสีย และการต่อสู้นั้นสั้นเหลือเกิน จนเราเชื่อกันว่า ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีการประลองยุทธครั้งนี้ ก็เพื่อหาโอกาสอันรื่นรมย์ในการที่จะพระราชทานของขวัญให้แก่ ม.เดอโวดรีกูรด์ เป็นการขอบใจที่เขาได้นำราชทูตสยามสองนายกลับมา และจักเป็นผู้นำราชทูตของพระองค์อีกหลายนายไปสู่ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น”

“ม.ก็องสตังช์” ก็คือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีกของสมเด็จพระนารายณ์นั่นเอง

การแสดงที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างก็คือ การแสดงช้างสู้กับเสือ คนฝรั่งเศสเคยเห็นแต่เสือดาวที่ไปเอามาจากอาฟริกา ซึ่งตัวเล็กกว่าเสือลายพาดกลอนมาก พอมาเห็นเสือโคร่งจึงตื่นเต้น บาทหลวงตาชารด์เล่าว่า

“จากตัวเมืองไปประมาณหนึ่งในสี่ของลิเออ (ลิเออเป็นมาตราวัดโบราณ ๑ ลิเออเท่ากับ ๔ กม.) เขาสร้างรั้วไม้ไผ่สูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละร้อยก้าว ตรงกลางลานนั้นมีช้างสามเชือกเข้าไปรอการต่อสู้กับเสืออยู่ มีแผงใหญ่ทำเป็นรูปหน้ากากสวมหัวและบังงาส่วนหนึ่งเข้าไว้ พอเราไปถึง เขาก็ปล่อยเสือตัวหนึ่งออกมาจากในกรง หน้าตาและสีสันของมันออกจะใหม่ตาอยู่สำหรับชาวฝรั่งเศสซึ่งไปชมอยู่ ณ ที่นั้น นอกจากว่าตัวของมันจะใหญ่กว่าพีกว่า และรูปร่างไม่เพรียวเหมือนที่เคยเห็นมาในประเทศฝรั่งเศสแล้ว หนังของมันยังมีแต้มจุดไม่เหมือนกันอีกด้วย และแทนที่แต้มจุดอย่างไม่เป็นระเบียบเหล่านั้น มันมีแถบยาวและใหญ่พันรอบตัว แถบเหล่านี้เริ่มต้นบนสันหลังไปบรรจบกันที่ใต้ท้อง และเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนกระทั่งหาง มองดูเป็นปล้องๆ ในชั้นแรกทีเดียว เขายังไม่ปล่อยให้เสือออกไปสู้ หากใช้เชือกสองเส้นผูกรั้งตัวตัวเข้าไว้จนไม่อาจที่จะเผ่นออกไปได้ ช้างเชือกแรกตรงเข้าไปหามัน ใช้งวงฟาดลงบนหลังสองหรือสามที การฟาดนี้รุนแรงถึงขนาดเสือล้มหงายไปทีเดียว และนิ่งอยู่กับที่เป็นครู่ ไม่กระดิกกระเดี้ยคล้ายกับว่าตายไปแล้วฉะนั้น แต่พอเขาแก้เชือกให้มัน ทั้งๆที่การปะทะครั้งแรกนั้นได้ลดความดุร้ายของมันลงไปมากก็ตาม มันก็ส่งเสียงร้องอย่างน่ากลัว และโผนเข้าตะปบงวงช้างที่รี่จะเข้าไปฟาดมันอีก แต่ช้างก็ม้วนงวงอย่างรวดเร็ว และปล่อยงาโร่ออกมาทิ่มแทงเสือพอดี จนเสือต้องโดดเสียตัวลอยขึ้นไปในอากาศ และงงงันไปทีเดียวไม่กล้าเข้าไปใกล้ช้างอีก มันเดินวนเวียนอยู่ในลานเพนียดนั้นหลายรอบอยู่ และโจนเข้าใส่ผู้คนที่อยู่ตามช่องทางเดินเป็นครั้งคราว คราวนี้เขาปล่อยช้างออกไปพร้อมๆกันทั้งสามเชือกผลัดกันเข้าแทงเสือเป็นการใหญ่ มันก็แกล้งทำเป็นตายเสียอีกครั้งหนึ่งและมิคิดที่จะเข้าปะทะกับช้างอีก ช้างคงจะฆ่าเสือตายไปจริงๆ เป็นแน่ ถ้าท่านราชทูตจะไม่ขอชีวิตมันไว้จาก ม.ก็องสตังช์ ซึ่งสั่งให้ยุติการต่อสู้ทันที”

ตามที่บาทหลวงตาชารด์เล่า มีการปล่อยช้างถึง ๓ เชือกลงไปสู้กับเสือตัวเดียว ใหญ่กว่าแล้วยังรุมอีก เจ้าป่าจึงต้องเล่นบทมารยาแกล้งทำเป็นตาย ในหนังสือ“ช้างต้น” ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ช้างต้น บอกว่าช้างที่มาสู้กับเสือนี้จะคัดเลือกแต่ช้างงาตรง ไม่ใช้ช้างงางอน เพื่อแทงเสือได้ถนัด และมีภาพเขียนคนอีก ๒ คนอยู่บนหลังช้าง ช่วยกันเอาหอกแทงเสือด้วย แบบนี้ถ้าเสือเข้าถึงตัวช้างก็คงโดนหลายรูแน่

มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ช้างก็ยังเป็นตัวเอกในรายการโชว์ แต่แค่เป็นการคล้องช้าง จับช้าง ซึ่งจัดขึ้นหลายครั้งทั้งที่เพนียดลพบุรีและอยุธยา
ตามบันทึกกล่าวว่า ครั้งแรกจัดต้อนรับ ดยุ๊คโยฮัน อัลเบิร์ต แห่งเยอรมัน โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาปราบปรปักษ์ เจ้ากรมพระคชสาร กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และพระยาราชวังเมือง เป็นผู้ออกไปต้อนช้างป่าเข้ามาเอง

ครั้งที่ ๒ จัดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เพื่อต้อนรับ แกรนด์ดยุ๊คนิโคลัส ชาร์วิช ขณะดำรงพระยศเป็นรัชทายาทรัสเซีย ซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ ๒

ครั้งที่ ๓ จัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ เพื่อต้อนรับการเสด็จกลับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟร์ด โดยมีทูตต่างประเทศไปชมด้วยเป็นจำนวนมาก และนิตยสาร National Geographic ขอเข้ามาถ่ายทำเป็นภาพชุดเผยแพร่ไปทั่วโลก

การคล้องช้างโชว์ในสมัย ร.๕ นี้นับเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ อย่างครั้งต้อนรับดยุ๊คนิโคลัสซึ่งเคยทอดพระเนตรที่ลังกามาแล้ว แต่มีช้างแค่ ๙ เชือก ส่วนของไทยมีช้างที่ถูกต้อนเข้าเพนียดถึง ๓๐๐ เชือก โดยพวกควาญจะนำช้างต่อล่วงหน้าออกไปหลายสัปดาห์เป็นหมู่ๆ หมู่หนึ่งไม่ต่ำกว่า ๔๐ เชือก แยกกันไปตามแหล่งที่ช้างป่าออกหากิน แล้วค่อยๆ ต้อนเข้ามาสู่เพนียด

การแสดงคล้องช้างโชว์นี้นับว่ายากกว่าการคล้องตามปกติ เพราะมีคนมาดูเป็นจำนวนมากพากันส่งเสียงโห่ร้องจนช้างป่าตกใจกลัว แต่ควาญช้างและช้างต่อที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

ส่วนการโชว์ต้อนรับแขกเมืองในยุคปัจจุบัน คงจะหารายการแสดงใดๆที่สร้างความตื่นตาประทับใจ เท่ากับกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคไม่ได้อีกแล้ว ความวิจิตรตระการตาและความยิ่งใหญ่โอฬารของกระบวนเรือ กับแสง สี เสียงในรายการแสดงต้อนรับผู้นำกลุ่มประเทศโอเปค เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ กับคราวจัดต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่มาร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ นั้น ทั้ง ๒ รายการนี้ได้สร้างความตื่นตาประทับใจให้กับองค์พระประมุขและผู้นำประเทศต่างๆ ตลอดจนผู้ชมทางทีวีทั่วโลก เสียงเห่เรือที่ก้องกังวานไปในลำน้ำ กับขบวนเรืออันสง่างามตระการตา แสดงถึงความเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมอันล้ำเลิศมาแต่โบราณกาล ประกอบกับปราสาทราชวังที่อาบแสงสีอยู่ด้านหลังนั้น ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้มาเยือนเมืองในเทพนิยาย

รายการโชว์แขกเมืองทั้ง ๓ ยุคนี้ รายการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถ้าเอามาโชว์ใหม่ก็คงถูกค้านกันเซ็งแซ่ทั่วโลก ว่าเป็นการทารุณสัตว์ ส่วนการคล้องช้างก็เหลือเพียงตำนาน ไม่มีช้างเป็นโขลงๆให้ต้อนเข้าเพนียดอีกแล้ว แต่กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ยังยืนยงประกาศความเป็นชาติที่สูงส่งด้วยศิลปวัฒนธรรมมาจนถึงวันนี้

ยุคสมัยก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้ศิลปวัฒนธรรมไทยด้อยค่าลงไปได้
การผูกหน้าร่าห์ที่โคนงวงก่อนช้างลงสู้กับเสือ
การคล้องช้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ หน้าพระที่นั่งและอาคันตุกะ
ช้างป่าถูกต้อนเข้ามาสู่เพนียด
การแสดงแสง สี เสียง ของกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค
กำลังโหลดความคิดเห็น