ไอเดียไฉไล เอาใจฟรีแลนซ์ “มอร์-วสุพล” คำนึงถึงความยุ่งยากใจของคนฟรีแลนซ์ที่ไม่มีออฟฟิศเป็นหลักแหล่ง เวลาไปนั่งคุยงานที่ไหนนานๆ ไม่ว่าจะร้านกาแฟหรือร้านอะไรต่างๆ ก็มักจะถูกมองด้วยสายตาเคืองๆ จึงเกิดความคิดสร้างชายคาใหม่ในนาม Phynn Coworking Space อันเป็นที่พักพิง นั่งชิลคุยงานสำหรับคนรับฝิ่นหรือฟรีแลนซ์
“มันเริ่มมาจากตัวเราเองนี่แหละครับ เพราะว่าเราก็เป็นฟรีแลนซ์คนหนึ่งเหมือนกัน” มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ ที่เป็นทั้งนักร้องนำวง Ten To Twelve, ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ และเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งดำรงชีวิตด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ เริ่มต้นสนทนา
“ผมอยากมีที่เอาไว้ทำงาน ไม่ชอบไปนั่งร้านกาแฟซึ่งต้องคอยกังวลว่าจะโดนเขาไล่มั้ย กาแฟต้องกินกี่แก้ว ถึงจะโอเค เขาจะชาร์จราคาที่เราเอาโน้ตบุ๊กไปทำงานมั้ย อินเทอร์เน็ตจะเร็วหรือเปล่า ส่งไฟล์ให้ลูกค้าทันมั้ย ซึ่งพอมาที่นี่ ก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย มันเกิดมาเพื่อให้เราทำงาน เรามาตั้งโน้ตบุ๊ก และก็มีทุกอย่างให้เรา เน็ต แอร์ มีกาแฟกิน แค่รู้สึกว่าเราไม่อยากฝากชีวิตไว้กับร้านกาแฟ แล้วผมก็คิดว่า ต้องมีอีกหลายคนแน่ๆ ที่คิดแบบเรา
“ผมคิดว่าต่อไปคนจะค่อยๆ มาใช้ส่วนนี้มากขึ้น เพราะเทรนด์ของคนเปลี่ยนอยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่ใช่นักธุรกิจนะครับ ทำเพราะอยากลองทำดู ไม่ได้คิดว่าเป็นคู่แข่งของใคร”
• ความสนใจแรกคืออะไร ทำให้คุณเปิดสถานที่แห่งนี้ขึ้น
คือผมอยากมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง แต่จะทำออฟฟิศใหญ่โตไปทำไม เรามีคนเดียว หรืออาจจะมีคนมาประชุมด้วย แต่บางวันก็เยอะ บางวันก็น้อย สู้เอาพื้นที่ให้คนอื่นแชร์ด้วยสิ น่าจะดีกว่าและสนุกด้วยครับ อีกอย่าง เราจะได้รู้จักคนใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งอาจจะได้ทำงานกับเขา หรือได้ต่อยอดกันไป ฟรีแลนซ์กับฟรีแลนซ์ก็จะได้มารู้จักกันมากขึ้น แทนที่เราจะทำงานอยู่ที่บ้านอย่างเดียว อย่างผมทำงานที่บ้านไม่ค่อยได้ สมองมันจะใกล้เตียง แล้วจะวิ่งเข้าเตียงอย่างเดียว ผมต้องหาที่ผมทำงาน
• อะไรคือจุดแข็งของที่แห่งนี้
เน็ตแรงมากครับ (หัวเราะ) ตรงกันข้ามกับร้านกาแฟ ผมเคยส่งงานด้วยเน็ตร้านกาแฟ สมมติว่าส่งภาพเคลื่อนไหว พอตอนช่วงอัปโหลด หัวใจจะวายเอา แต่ที่นี่ไม่เป็นอย่างนั้น เร็วและสามารถส่งทันแน่นอน เพราะผมรู้ว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง แล้วการมา co-working มันไม่ต้องไปห่วงเรื่องอื่น เราก็สามารถทำงานได้เลย ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ให้กับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้ คืออยู่ที่นี่ผมคิดงานออกน่ะครับ และมีความสุขระหว่างการทำงาน สังเกตดูนะครับ ถ้าเป็นห้องทำงานแบบห้องตันๆ เราจะคิดอะไรไม่ค่อยออก แต่ถ้าเราได้มองไปข้างนอกบ้าง ก็อาจจะคิดได้โล่งขึ้น ซึ่งที่นี่สามารถมองออกไปได้ มีต้นไม้ มีคนเดินผ่าน เห็นแสงอาทิตย์
• พูดจริงๆ กิจการแบบนี้ก็มีที่อื่นทำมาพอสมควรแล้ว คิดว่าเพราะอะไร ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
มันต้องใช้เวลาครับ อย่างเด็กที่จบใหม่ๆ ก็จะเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น แล้วพอทำงานคนเดียว เขาอาจจะเหงาก็ได้นะ แล้วเขาก็จะเริ่มมาที่อย่างนี้กันมากขึ้น ผมคิดว่าสถานที่แบบนี้น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ ถ้าต้องการทำงานจริงจังทั้งวัน คนอาจจะเข้ามาใช้สถานที่ลักษณะนี้มากขึ้น แต่ถ้าคุยงานกันแบบเร็วๆ ร้านกาแฟแบบเดิมก็อาจจะยังตอบโจทย์อยู่
• เปิดมา 4-5 เดือน ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ก็โอเคครับ ในเชิงรายได้ก็พออยู่ได้ครับ แต่กิจการประเภทนี้ ผมว่าต้องให้เวลาสักนิดหนึ่ง
• คิดว่าเสี่ยงไหมกับการมาเปิดอะไรแบบนี้
ผมคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ชีวิตมันก็เสี่ยงอยู่แล้วครับ เราเล่นดนตรีหรือเป็นผู้กำกับ ชีวิตก็เสี่ยงหมดล่ะครับ ผมแค่รู้สึกว่า อยากทำธุรกิจอันแรกจากสิ่งที่ผมเข้าใจก่อน คือผมคิดจากตัวของผมเองว่า ถ้าเราเป็นลูกค้าแล้วเราอยากได้อะไร จะทำอะไร ผมรู้สึกว่า มันเหมือนเป็นวิธีการเรียนปริญญาโทในแบบของผม คล้ายกับเราเปิดโลกทัศน์อีกมุมหนึ่ง ผมก็แค่อยากรู้ว่า ถ้าเราเริ่มทำธุรกิจ เราจะเป็นยังไงบ้าง เราก็เลยเริ่มจากอะไรเล็กๆ จากสิ่งที่เราพอจะเข้าใจมันก่อน แค่นั้นล่ะครับ เพราะว่าผมก็ใช้เงินที่เก็บมาหลายปีนำมาลงทุน
• แสดงว่าก็ชอบท้าทายกับความเสี่ยงอยู่
ผมชอบความสนุกมากกว่า อะไรที่เราทำแล้วเราสนุก เราก็ทำมัน เพราะว่าเรายังไม่มีครอบครัวมีลูกด้วยมั้งครับ ผมก็เลยไม่ต้องมีความมั่นคง ยังไม่ได้แต่งงาน เลยไม่ต้องมั่นคงมาก มันเป็นช่วงเวลาวิ่งเล่นในสนามที่ผู้ใหญ่เล่นของผม ซึ่งถ้าได้ตังค์ด้วย มันก็ดี
อันที่จริง ผมแค่อยากรู้ว่าทำธุรกิจครั้งแรกเป็นยังไง แค่อยากลองเฉยๆ ว่ามันจะเป็นยังไง ผมอาจจะไม่ค่อยศรัทธาในการศึกษามากนัก ผมศรัทธาในสิ่งที่เราเรียนรู้จากชีวิตจริงมากกว่า ซึ่งอันนี้อาจเป็นความคิดที่รุนแรงนิดหนึ่ง คือผมรู้สึกว่าผมเรียนมา 4 ปี แทบจะไม่ได้อะไรเลย แล้วความรู้ที่เราได้มา ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากการทำงานจริงทั้งนั้น ก็เลยรู้สึกว่าไม่ต้องไปเรียนปริญญาโทสิ ลองทำธุรกิจดีกว่า
• ไม่กลัวล้มเหลว?
ผมล้มบ่อยครับที่ผ่านๆ มา (หัวเราะ) คือการได้ลองทำอะไรใหม่ๆ มันก็ต้องมีล้มบ้างเป็นปกติ ไม่มีใครชนะตลอด แต่เราแค่ไม่ฟูมฟายไปกับมัน อาจจะมีเจ็บบ้าง แต่เราก็เดินหน้าต่อไป เพราะไม่รู้ว่าจะเสียใจไปทำไม ถ้าเสียใจ ผมก็เอาไปแต่งเพลง พอแต่งผมก็หายแล้ว
• คิดยังไงกับเรื่องของการที่คนรุ่นใหม่มักจะเดินเข้าสู่หนทางฟรีแลนซ์แทนที่จะทำงานบริษัท
อันนี้ไม่รู้ครับ แต่สำหรับผม ผมเป็นฟรีแลนซ์ เพราะรู้สึกว่ามันเหมาะกับชีวิตของเรา เราทำหลายอย่างและเราก็อยากจัดการชีวิตตัวเอง บางที บางเดือนผมก็ไม่รับงานเลย เพราะไปทำงานเพลงของตัวเอง คือมันก็มีความยืดหยุ่นตรงนี้ เราจะทำอะไรก็ได้ แค่นั้นล่ะครับ ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นข้อดีหรือข้อเสียอะไร โลกมันวิวัฒนาการไปแบบนี้ ซึ่งถ้าผมทำอย่างเดียว ผมอาจจะชอบทำบริษัทก็ได้
• แสดงว่า คนรุ่นนี้สามารถแบ่งเวลาและทำอะไรได้หลากหลาย
ผมว่าคนรุ่นผมอาจจะมีความสนใจหลายอย่าง ในทางประวัติศาสตร์ โลกถูกเปิดด้วยอินเทอร์เน็ต ทำให้เราสามารถเข้าถึง source จำนวนมากได้ และทำให้เราค้นพบความสนใจหลายอย่าง ซึ่งคนยุคเจนเอ็กซ์ เขาจะมีอาชีพหลัก แต่เจนวาย หรือ เจนซี มีความสนใจ 2 อย่างพร้อมกันและรักมันพอๆ กัน แล้วก็จริงจังทั้งคู่ มันไม่ได้มีว่า คนเจนไหนถูก แค่เป็นการเปลี่ยนไปของสังคมโลก ส่วนตัวไม่ได้คิดอะไร
• คือถ้าเราสามารถทำได้ควบคู่กันไปก็คงจะดี
มันก็แล้วแต่คนด้วยครับ เราอาจจะพูดไม่ได้ว่า ความคิดของเรามันถูกหรือผิด แต่เรารู้สึกว่า ความคิดแบบนี้เหมาะสม วิธีการคิดแบบนี้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรา คือเราเอาความคิดของเราไปตัดสินคนอื่นไม่ได้ครับ ว่าเราคิดถูก คุณคิดผิด มันไม่ได้ เราแค่เป็นคนที่เลือกสิ่งที่แบบว่า มันเหมาะสมกับชีวิตเราที่สุด รู้สึกว่าเราแฮปปี้กับมันที่สุด ถ้าเขาแฮปปี้กับการปลูกผักก็ไม่ผิดครับ เป้าหมายชีวิตไม่เหมือนกัน สุดท้ายเราก็มีความสุขในฐานะปักเจกชน เราไม่ได้ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน
• มองว่าอะไรคือข้อดี ข้อเสีย ของการเป็นฟรีแลนซ์
ต้องทำงานตลอดเวลา มีความเสี่ยงสูง เพราะไม่มีเงินเดือนแบ็กอัพอะไรในชีวิตเลย ทำงานไม่เป็นเวลามากๆ แต่ข้อดีคือไม่ดำรงชีวิตแบบ prime time ครับ นั่นคือโอเคสำหรับผม เพราะผมไม่ชอบรถติดในทุกวัน ผมไม่โอเคกับการขึ้นรถไฟฟ้าตอน 5 โมงเย็น คือต้องเอื้อมไปเกาะแบบท่าประหลาดมาก หรือว่าต้องปวดหัวกับคนข้างๆ ผมว่านานๆ เจอทีก็สนุกดี แต่ถ้าเจอบ่อยก็ไม่สนุก
Phynn Coworking Space ที่อยู่: 518/15 ซอย 39 (ซอยเทพลีลา แยก 1) ถ.ประชาอุทิศ วังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310 เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 - 22.00 น. โทรศัพท์: 09-2250-2802 |
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร