เจ้าจอมทับทิม เดิมเป็นคนงานก่อสร้างวัดราชประดิษฐ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรเห็นขณะสาวน้อยวัยกำดัดงามเหมือนจันทร์ผู้นี้ กำลังทุบกระเบื้องในงานก่อสร้างรากฐานพระอุโบสถด้วยกิริยาสดใสร่าเริง ครั้นเธอสังเกตเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวจับพระเนตรเพ่งพินิจรูปโฉมเธอ สาวน้อยก็ขวยอายฟุบกายลงถวายบังคมและหมอบแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น
พระเจ้าอยู่หัวทรงหันไปมีพระราชดำรัสถามมหาดเล็กโดยเสด็จว่า นางคนนั้นชื่อเสียงใด ลูกเต้าเหล่าใคร ครั้นมหาดเล็กกราบทูลสนองก็ทรงพยักพระพักตร์ด้วยความพอพระทัย ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินต่อไป
หลังจากนั้นไม่นาน ทับทิมก็ถูกบิดามารดานำตัวมาถวายเป็นเจ้าจอม โดยปิดบังความจริงว่าเธอมีสามีแล้ว ซึ่งก็คือนายแดง คนงานก่อสร้างด้วยกันนั่นเอง หลังจากทับทิมถวายตัวแล้ว นายแดงก็ตัดสินใจบวชตลอดชีวิตกับเจ้าคุณสา ที่วัดราชประดิษฐ์ หมกมุ่นในพระธรรมจนได้เป็น “พระปลัด”
เมื่อทับทิมถวายตัวเป็นเจ้าจอมแล้ว ก็ไม่ยินดีกับชีวิตในรั้วในวัง พอจะส่งตัวขึ้นไปถวายงานทีไร เธอจะหนีไปหลบซ่อนเป็นประจำ ต้องควานหาตัวแล้วฉุดเอาไปถวาย หรือบางทีก็อ้างว่าป่วยไข้ แต่พอให้หมอหลวงตรวจก็ไม่พบว่าเป็นอะไร ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจว่าบรรดาเจ้าจอมเก่าๆอิจฉากีดกัน เพราะทับทิมเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าทับทิมเป็นเด็กสาวที่งามที่สุด น่ารักที่สุด ในบรรดาหญิงที่ทรงเคยเห็น
ต่อมาเจ้าจอมทับทิมก็หายไปจากวัง พระเจ้าอยู่หัวตั้งรางวัลพระราชทาน ๒๐ ชั่งสำหรับผู้นำตัวทับทิมกลับมาได้ หรือรู้ว่าซ่อนอยู่ที่ไหน
หลังจากที่ใครต่อใครช่วยกันค้นหากันอย่างอลหม่าน พระภิกษุ ๒ รูปก็พบเจ้าจอมทับทิมซ่อนอยู่ในกุฏิพระปลัดที่วัดราชประดิษฐ์ จึงนำความขึ้นกราบทูล ทรงรับสั่งให้ไปจับมาจำขังไว้ในพระบรมมหาราชวังทันที
จากการพิจารณาคดี เจ้าจอมทับทิมรับสารภาพว่าเธอโกนศีรษะหาจีวรมาครองเป็นเณร พอตอนเช้ามืดยังขมุกขมัวพระเข้ามาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง เธอก็แอบต่อท้ายขบวนเดินรับบาตรไปตามตำหนักต่างๆ จนขบวนพระออกจากวัง เธอไปเคว้งอยู่หน้าวัดราชประดิษฐ์เพราะไปไหนไม่ถูก ทรุดลงนั่งหน้าพระอุโบสถ พอใกล้เวลาพระลงโบสถ์ เจ้าคุณสามาถึงเป็นรูปแรก เห็นเณรนั่งถือบาตรอยู่หน้าโบสถ์ก็สงสัย ทับทิมเลยก้มลงกราบเท้าขอเป็นศิษย์อาศัยอยู่ในวัดด้วย เจ้าคุณสาถามว่ามาจากไหน บวชที่วัดไหน ทับทิมตอบไม่ได้เลยเอาแต่นั่งร้องไห้ เจ้าคุณสาเลยไม่อยากซัก หันไปบอกกับพระปลัดที่มาถึงพอดี ให้รับเณรผู้นี้ไปพักที่กุฏิสอนพระธรรมวินัยให้ด้วย พระปลัดก็จำไม่ได้ว่าเณรผู้นี้คืออดีตภรรยาของท่านนั่นเอง
วันหนึ่งทับทิมนอนตื่นสายเพราะท่องหนังสืออยู่จนดึก พระปลัดและพระทุกรูปออกไปบิณฑบาตหมดแล้ว จึงลุกขึ้นจัดสบงจีวรเพราะคิดว่าอยู่ในกุฏิคนเดียว จนได้ยินเสียงหัวเราะคิกๆที่ประตูซึ่งแง้มอยู่ พระภิกษุ ๒ รูปเห็นเพศอันแท้จริงของเธอหมด ความจึงแตก ทับทิมกราบวิงวอนว่าพระปลัดเป็นผู้บริสุทธิ์ สั่งสอนพระธรรมวินัยแก่เธออย่างศิษย์กับอาจารย์ ทั้งสารภาพว่าเธอเป็นใคร วิงวอนให้ปล่อยเธอไปจากวัด จะไปซุ่มซ่อนที่อื่นต่อไป แต่พระทั้ง ๒ รูปไม่เมตตา
เมื่อปลัดกลับมาจากบิณฑบาต ทับทิมเข้าไปกราบเท้าท่านว่าเธอคือทับทิม พระปลัดถอยหลังกรูดไปยืนพิงฝาด้วยอาการตกตะลึง ทับทิมได้แต่ร้องไห้ สักครู่พระปลัดจึงเดินเข้ามาหาด้วยน้ำตาอาบแก้มเช่นกัน ปลอบให้เธอหยุดร้องไห้ระงับความเศร้าโศก และว่าทับทิมได้ทำบาปกรรมอย่างร้ายแรง แต่อย่าวิตกเลย เพราะเราทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน ทับทิมได้แสดงชัดแล้วว่า ยังรักท่านอยู่ดังเช่นเดิมก่อนไปเป็นเจ้าจอม ฉะนั้นท่านจึงยินดีที่จะรับโทษทุกข์ทรมานแทนเธอแม้ด้วยชีวิต เพื่อเป็นพยานรักของเราทั้งสอง
ตุลาการเห็นว่าเรื่องที่ทับทิมเล่าเป็นนิยายที่ยากจะเชื่อได้ และเค้นให้เธอรับสารภาพว่าใครบ้างที่สมรู้ร่วมคิด ใครเป็นคนเอาสบงจีวรมาให้ ใครช่วยโกนหัวโกนคิ้ว แต่ทับทิมก็ไม่ยอมบอก เธอกับพระปลัดที่ถูกจับมาด้วยจึงถูกโบยและทรมานอย่างหนัก ทับทิมก็ไม่ยอมซัดทอดใคร และยืนยันว่าพระปลัดจำเธอไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าเธอเป็นหญิง
ในที่สุดตุลาการก็ตัดสินให้ประหารชีวิตทับทิมและพระปลัดด้วยวิธีเผาไฟทั้งเป็น โดยสร้างตะแลงแกงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และเผาคนทั้งสองพร้อมกันต่อหน้าพระพักตร์ พระปลัดไม่ยอมพูดอะไร ได้แต่พร่ำภาวนาสวดมนต์ตลอดเวลา แต่ทับทิมตะโกนท่ามกลางเปลวไฟว่า
“ฉันไม่ผิด คุณพระปลัดก็ไม่ผิด พระพุทธเจ้าทรงทราบดี”
นี่คือเรื่องราวที่เป็นรสชาติของบันทึกอันเป็นที่มาของเรื่อง “เดอะคิงแอนด์ไอ” อันยอดฮิต ซึ่งถูกสร้างเป็นทั้งละครและภาพยนตร์หลายครั้งพอๆกับ “บ้านทรายทอง” จากบันทึกของ นางแอนนา ลีโอโนเวนส์ แม่ม่ายชาวอังกฤษซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ว่าจ้างมาเป็นครูสอนภาษาบรรดาพระเจ้าลูกเธอใน พ.ศ.๒๔๐๕ ครั้นกลับออกไปใน พ.ศ.๒๔๑๐ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย ๒ เล่ม คือ “ครูอังกฤษในราชสำนักสยาม” (The English Governess at the Siamess Court” พิมพ์ใน พ.ศ.๒๔๑๓ กับ “รักในราชสำนัก” (The Romance of the Harem) พิมพ์ใน พ.ศ.๒๔๑๕ เรื่องแรกกล่าวถึงรายละเอียดของงานถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแด่บรรดาเจ้านายน้อยๆและหม่อมห้าม เล่มหลังกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตรักของผู้อยู่ในราชสำนักฝ่ายใน ทั้งสองเรื่องล้วนกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในทางไม่ดีงามทั้งสิ้น และยกย่องตนเองว่าเป็นผู้มาช่วยยกฐานะสยามจากบ้านป่าเมืองเถื่อนสู่ความเป็นอารยประเทศ
ต่อมา มาร์กาเร็ต แลนดอน ภรรยาของบาทหลวง เคนเนท เพอร์รี่ แลนดอน มิชชันนารีอเมริกัน นิกายเพรสไบทีเรียน ซึ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และเคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนสตรีที่จังหวัดตรังเป็นเวลา ๕ ปี ได้นำหนังสือ ๒ เล่มของแหม่มแอนนานี้มาเขียนใหม่รวมกันให้เป็นรูปแบบชีวประวัติของแหม่มแอนนา โดยใช้เรื่องแรกเป็นส่วนใหญ่ ให้ชื่อว่า “Anna and The King of Siam” พิมพ์ขึ้นในอเมริกาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งหนังสือของมาร์กาเรต แลนดอนนี้ ถูกดัดแปลงมาเป็นบทละครในชื่อใหม่ว่า “The King and I” และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง
ในบันทึกของแหม่มแอนนา เรื่องที่เป็นประเด็นถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ก็คือเรื่องเผาทั้งเป็นเจ้าจอมทับทิมกับพระปลัด
หลายคนเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ถูกปิดบังในพงศาวดารไทย โดยยังมีศาลเจ้าจอมทับทิมอยู่ในกรมแผนที่ทหารบกในปัจจุบัน และแหม่มแอนนายังอ้างว่าภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเข้าพระทัยใหม่ว่าคนทั้งสองไม่มีความผิด ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง รับสั่งให้สร้างเจดีย์ ๒ องค์ขึ้นที่วัดสระเกศ เป็นที่บูชาวิญญาณทับทิมและพระปลัด
ส่วนคนจำนวนมากเชื่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แหม่มแอนนาแต่งขึ้นมาเอง แล้วเอาชื่อคนที่มีตัวตนมาใส่เพื่อให้ดูเป็นเรื่องจริง
เมื่อตอนที่ อบ ไชยวสุ แปลหนังสือเล่มที่ ๒ ของแหม่มแอนนาพิมพ์ออกเผยแพร่ใน พ.ศ.๒๔๙๓ และขอให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชช่วยเขียนคำนำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
...ข้าพเจ้าถามครูอบว่า
“ครูก็รู้แล้วมิใช่หรือว่า แหม่มแกโกหก?”
“ประทานโทษ ไม่ได้โกหก แต่ตอแหล”
“แล้วครูไปแปลของแกทำไม?” ข้าพเจ้าถามต่อไป
ครูอบได้ให้เหตุผลว่า เพราะเห็นเป็นเรื่องราวสนุกสนาน อ่านเล่นพอเพลินๆ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงเขียนคำนำตอนหนึ่งไว้ว่า
“สาระแห่งหนังสือเรื่องนี้ก็คงเป็นที่รู้แล้ว เพราะหนังสือที่ครูอบแปลเป็นต้นฉบับเดิมของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมิสซิสมาร์กะเร็ต แลนดอน นำไปรวบรวมกับอีกเล่มหนึ่ง แล้วเขียนขึ้นใหม่ในชื่อว่า “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” ซึ่งได้รับการโฆษณาครึกโครมในอเมริกา และได้ทำภาพยนตร์ขึ้น เคยเข้ามาฉายในเมืองไทยแล้วนั้น แต่ถ้าจะหาความจริงจากหนังสือเล่มนี้แล้วก็มีน้อยเต็มที เพราะแหม่ม่ลีโอโนเวนส์แต่งขึ้นเป็นเรื่องครึ่งจริงครึ่งนิยาย เป็นต้นว่า พระนางสุนาถวิสมิตรา นั้นไม่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ เจ้าจอมทับทิมและพระปลัดที่ถูกเผาทั้งเป็นก็ไม่มี แม้แต่พระเจดีย์ที่อ้างว่าสร้างเป็นอนุสรณ์คนทั้งสองนั้นก็ไม่เคยมี แต่คนจริงๆก็ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ไม่น้อย เป็นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคุณจอมมารดาเที่ยง คุณจอมมารดากลิ่น เมื่อหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือครึ่งจริงครึ่งหลอก หรือเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นโดยใช้ชื่อคนจริงๆ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงยากที่จะแยกออกได้ว่า ตรงไหนจริง ตรงไหนหลอก ถ้าจะอ่านก็ต้องถือว่า จริงทั้งเรื่อง หรือหลอกทั้งเรื่อง สุดแล้วแต่ใจ”
ส่วนนักประวัติศาสตร์ดูจะลงมติกันว่า เรื่องเจ้าจอมทับทิมกับพระปลัด เป็นเรื่องแต่งของแหม่มแอนนาเอง เพราะนอกจากมีอยู่ในหนังสือของนางแล้ว ไม่ปรากฏในหลักฐานอื่นอีกเลย ซึ่งชื่อ “ทับทิม” นั้นดูจะเป็นชื่อฮิตในยุคนั้น มีชื่อเจ้าจอมทับทิมอยู่เกือบทุกรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีเจ้าจอมทับทิมถึง ๔ คน คือ
เจ้าจอมทับทิม ธิดาพระยาราชสุภาวดี (ปาน)
เจ้าจอมทับทิม ธิดาพระจำนงภูษิต (อยู่ วัชโรทัย)
เจ้าจอมทับทิม ธิดาเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
เจ้าจอมทับทิม ธิดาพระยาเสนานุชิต (นุต ณ นคร)
ศาลเจ้าจอมทับทิมในกรมแผนที่ทหารบกขณะนี้ ไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าจอมทับทิมคนไหน อาจจะเป็นศาลของเจ้าจอมทับทิมคนใดก็ได้ อย่างที่ริมแม่น้ำนครไชยศรีขณะนี้ก็มีศาลเจ้าจอมทับทิม แต่ระบุชัดว่าเป็นเจ้าจอมทับทิมในรัชกาลที่ ๕ ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ซึ่งเป็นพระมารดาของจอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
ส่วนวิธีลงโทษพระปลัดและทับทิมด้วยการเผาทั้งเป็นนั้น ประเทศไทยไม่เคยลงโทษด้วยวิธีนี้ไม่ว่ายุคไหน ไม่ว่าจะทำความผิดร้ายแรงขนาดไหน โดยเฉพาะการเผาภายในพระบรมมหาราชวังด้วยแล้วไม่มีทางจะเป็นไปได้ ขนาดคลอดลูกยังต้องออกมาคลอดกันนอกวัง หากมีการตายเกิดขึ้นจะต้องมีการทำบุญกัน ๗ วันเลยทีเดียว
ทั้งยังเป็นที่รู้กันดีว่า เด็กสาวที่ถูกถวายตัวเข้ามาในรัชกาลที่ ๔ นั้นมากมาย ครั้นจะทรงไม่รับไว้ก็จะทำให้ผู้นำมาถวายเสียใจ เมื่อรับไว้จนแน่นก็ทรงสงสารเด็กสาวเหล่านั้นที่ต้องมาอัดอุดอู้อยู่ในพระราชวัง มีชีวิตเหมือนถูกขัง ไร้อิสรภาพที่จะไปไหนมาไหน จะรักใคร่กับใคร จะมีลูกมีผัวก็ไม่ได้ โอกาสจะได้เข้าเฝ้าก็มีน้อย พระองค์จึงทรงทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัชกาลก่อนๆ คือมีประกาศเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ ให้เด็กสาวเหล่านี้เลือกทางเดินชีวิตได้อย่างอิสระ จะกลับไปอยู่กับพ่อกับแม่ หรือจะออกไปมีผัวก็ได้ และทรงย้ำว่า “ที่ประกาศนี้ไม่ใช่เรื่องประชด เป็นการสุจริตสัตย์จริง ถ้ากาลไปข้างหน้ามิได้เป็นจริงดังนี้ ก็ควรที่ท่านทั้งปวง แลเทพยดามนุษย์ จะครหาติเตียนอยู่แล้ว”
ต่อมาในปี ๒๔๐๑ ทรงมีประกาศฉบับที่ ๑๕๗ แจ้งให้ทราบว่า เรื่องที่ทรงประกาศไว้เป็นจริงแล้ว โดยทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ฝ่ายในกราบถวายบังคมลาออกไป ๑๒ คน เป็นเจ้าจอมเก่าที่ถวายตัวมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จำนวน ๔ คน ส่วนอีก ๘ คนถวายตัวในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๐๔ ทรงมีประกาศฉบับที่ ๒๓๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ตั้งแต่ปีกุล ตรีศก จนถึงปีกุน เบญจศกนี้ ผู้หญิงที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อน ลาออกไปมีผัวอยู่ข้างนอกก็หลายคน ผัวของผู้หญิงเหล่านั้นกับข้าพเจ้าก็ดีกันหมด ไม่ได้ขัดเคืองกระดากกระเดื่องกับใคร คนที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อน บางคนมีผัวใหม่แล้วกลับมาหาข้าพเจ้า ก็พูดจาด้วยดีอยู่...”
ฉะนั้นที่เจ้าจอมทับทิมหนีออกจากวัง ซึ่งแหม่มแอนนาบอกว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๐ จึงเกิดขึ้นหลังจากที่ ร.๔ ทรงประกาศมาหลายครั้งแล้ว ทับทิมจะขอลาออกไปอยู่กับคนรักก็ย่อมทำได้ ไม่ต้องเสี่ยงตายโกนหัวปลอมเป็นเณรออกไปแบบนี้
เรื่องราวเผาทั้งเป็นเจ้าจอมทับทิมกับชู้รักที่แหม่มแอนนาเล่าไว้ นอกจากจะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยแล้ว ชาวต่างประเทศก็ยังสนใจที่จะค้นคว้าหาความจริงว่า “The King and I” เป็นเรื่องจริงที่นางแอนนา เลียวโอโนเวนส์บันทึกไว้ หรือเป็นนวนิยายที่นางระบายสีให้ดูเหมือนเรื่องจริงกันแน่
นักเขียนอังกฤษคนหนึ่ง ชื่อ W.S.Bristowe ได้ใช้ความพยายามสืบเสาะเรื่องนี้ และนำมาตีแผ่ในหนังสือชื่อ “Louis and the King of Siam” ซึ่ง “หลุยส์” ผู้นี้ก็คือลูกชายของแหม่มแอนนา พระสหายในวัยเยาว์ของรัชกาลที่ ๕ และกลับเข้ามาทำธุรกิจป่าไม้ในเมืองไทยเมื่อเป็นหนุ่ม โดยได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระปิยมหาราช ทำให้เชื่อได้ว่า เรื่องราวอันเป็นต้นเรื่อง “The King and I” ที่แหม่มแอนนาเขียนขึ้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงเลย ขนาดประวัติชีวิตของตัวเองที่แหม่มแอนนาเขียนไว้ในหนังสือ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด นางยังแต่งแต้มระบายสีเป็นนิยาย เพิ่มราคาให้ตัวเอง จนเกือบไม่มีความจริงอยู่เลย
แหม่มแอนนาเผยชีวิตของนางไว้ว่า นางถือกำเนิดในตระกูลเก่าแก่แห่งแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๓๗๗ พออายุได้ ๙ ปี พ่อของนางคือ ร้อยเอกโทมัส เอ็ม ครอว์เฟิร์ด ถูกเรียกกลับเข้าประจำการ แล้วส่งไปอินเดีย โดยมีมารดาของนางติดตามไปด้วย แอนนากับพี่สาวอีกคนถูกทิ้งให้อยู่กับญาติทางมารดา หลังจากนั้นไม่นานบิดาของนางก็ถูกกบฏซิกช์ฆ่าตาย
แต่นาย W.S.Bristowe พบหลักฐานว่า นางแอนนา ลีโอโนเวนส์เกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๓๗๔ ที่อินเดีย พ่อของเธอเป็นแค่พลทหาร เดิมเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ที่เมืองมิดเดิลเซกส์ ถูกเกณฑ์เป็นทหารและส่งไปประจำการที่อินเดีย เขาได้แต่งงานกับนางสาวแมรี่แอน กลาสค็อก ที่บอมเบย์ มีลูกคนแรกเป็นหญิงชื่อ อลิซ่า แต่ขณะที่นางแมรี่แอนกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ ๒ พลทหารโทมัสก็ตายก่อนจะคลอด ๓ เดือน นางแมรี่แอนตั้งชื่อลูกสาวคนนี้ว่า แอนน์ แฮเรียต ซึ่งก็คือนางแอนนานั่นเอง
แหม่มแอนนายังเขียนประวัติของตัวอีกว่า เมื่อนางจบการศึกษาระดับมัธยมแล้ว จึงเดินทางไปหาแม่ที่อินเดีย และต้องเผชิญหน้ากับพ่อเลี้ยงซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของแคว้นปูนา ซึ่งนางเกิดความชิงชังพ่อเลี้ยงมาก ต่อมาเขาได้บังคับให้นางแต่งงานกับผู้ชายที่แก่กว่าถึง ๒ รอบ นางยืนกรานปฏิเสธเพราะมีความรักอยู่กับนายทหารหนุ่มที่ชื่อ โทมัส ลีโอโนเวนส์ นางจึงถูกทำโทษโดยส่งไปตะวันออกกลางกับหมอสอนศาสนา เมื่อกลับมาอินเดียนางจึงรีบแต่งงานกับคนรักด้วยกลัวจะพรากจากกันอีก ใช้ชีวิตรักที่แสนหวานในคฤหาสน์หลังใหญ่บนเนินเขา แวดล้อมด้วยข้าทาสชายหญิงชาวพื้นเมือง
แต่แล้วโชคร้ายเมื่อนางต้องสูญเสียแม่และลูกคนแรกพร้อมๆกัน ทำให้หัวใจสลายถึงขั้นล้มป่วยหนัก สามีได้ส่งไปพักฟื้นจิตใจที่อังกฤษ แต่เรือเกิดอับปางกลางทาง นางรอดชีวิตได้โดยเรือที่กำลังเดินทางไปออสเตรเลียช่วยเหลือไว้ จึงต้องกลับไปอินเดียอีกครั้ง
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อนางต้องเสียลูกคนที่ ๒ จึงตัดสินใจร่วมกับสามี กลับไปใช้ชีวิตในลอนดอนอย่างมีความสุข จนกระทั่งสามีได้เลื่อนยศเป็นนายพัน แต่ถูกให้กลับไปประจำการที่อินเดียอีก จากนั้นถูกส่งไปสิงคโปร์ ชีวิตของนางกลับเลวร้ายลงอย่างฉับพลัน เมื่อสามีเสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบันขณะกลับจากกีฬาล่าเสือกับเพื่อน ซ้ำธนาคารในอินเดียที่นางฝากเงินไว้จำนวนมากได้ล้มละลายลง ทำให้นางต้องสูญเสียเงินทั้งหมดไปด้วย
ชีวิตที่สวยหรูจบลงด้วยความรันทดเหมือนนิยาย ชีวประวัติของแหม่มแอนนาคงจะทำให้คนอ่านน้ำตาร่วงไม่น้อย แต่ W.S.Bristowe พบว่าความจริงมันผิดกันราวฟ้ากับดินจากที่นางเขียนไว้
นางแมรี่แอนน์ แม่ของแหม่มแอนนา เป็นลูกของทหารชั้นปลายแถวในเบงกอล ส่วนยายเป็นลูกครึ่งอังกฤษ โทมัสผู้เป็นพ่อของแอนนาก็มีฐานะแร้นแค้น ขณะที่เขาถึงแก่กรรมมีเงินติดตัวอยู่แค่ ๔๒ รูปี ซึ่งก็ถูกทางการยึดเอาไว้ใช้หนี้อีก นางแมรี่แอนน์ผู้ภรรยามีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญของเขา แต่นางก็รีบแต่งงานใหม่กับ นายแพทริค โดนาฮิว ผู้เป็นทหารช่าง ขณะที่แอนนามีอายุแค่ ๒ เดือนเศษ เมื่อโตขึ้นรู้ความนางจึงเกลียดพ่อเลี้ยงคนนี้อย่างฝังใจ
อลิซ่าพี่สาวของแอนนา ถูกพ่อเลี้ยงบังคับให้แต่งงานกับนายทหารม้าซึ่งอายุแก่กว่าถึง ๒๐ ปี สภาพในค่ายทหารก็เลวร้ายด้วยสุราและการพนัน โดยเฉพาะพ่อเลี้ยงของนางมักชอบก่อเรื่องอยู่เสมอ นางจึงหนีไปกับหมอสอนศาสนาซึ่งเดินทางไปตะวันออกกลาง ครั้นกลับมาอินเดียเมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ จึงแต่งงานกับ โทมัส ลีออนโอเวนส์ ซึ่งไม่ใช่นายทหารอย่างที่นางเขียนไว้ แต่เป็นเสมียนของกรมทหารในบอมเบย์ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ เอวิส คนที่ ๒ เป็นชายชื่อ หลุยส์
แต่แล้วโทมัสก็จบชีวิตด้วยโรคลมบ้าหมูเมื่ออายุได้ ๓๑ ปี ขณะได้เลื่อนเป็นผู้จัดการโรงแรมที่ปีนัง ต่อมาเกิดข้อสับสนทำให้นามสกุลของเขากลายเป็น ลีโอโนเวนส์
นี่คือข้อแตกต่างประวัติชีวิตของ แอนนา ลีโอโนเวนส์ ที่ W.S.Bristowe สืบเสาะค้นคว้า กับที่แหม่มแอนนาเขียนไว้ในหนังสือของนาง
ขนาดประวัติตัวเอง แหม่มแอนนายังระบายสีให้ดูโก้โดยไม่มีความกระดากอายถึงเพียงนี้ ทำไมเรื่องเจ้าจอมทับทิมและเรื่องอื่นๆในหนังสือที่นางบันทึกไว้ จึงแต่งเติมระบายสีให้ดูตื่นเต้นสนุกสนานเป็นนิยาย
เมื่อนางแอนนาถูกว่าจ้างจากสิงคโปร์ให้มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและธรรมเนียมฝรั่งในราชสำนักสยาม นางได้พาลูกชายที่ชื่อหลุยส์มาด้วย ในขณะที่ลูกชายวัย ๖ ขวบเป็นขวัญใจของเจ้าชายน้อยๆในพระราชวัง ผู้เป็นแม่กลับทำตัวเป็นที่น่าเอือมระอา
ในพระราชหัตถเขาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ส่งไปถึง ขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยราชการฝ่ายกงสุลสยามที่สิงคโปร์ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๐๙ ภายหลังที่นางแอนนามาอยู่เมืองไทยได้ ๔ ปี มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...แมมเนวละเวน ครูสอนหนังสือเจ้านายในนี้ เดี๋ยวนี้ซุกซนนัก เอานี่ซนนั่น เอานั่นซนนี่ แล้วก็กล้านัก ในวันเสาร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่นี้ เวลาพลบค่ำ เสด็จออกท่านเสนาบดีเข้าเฝ้าอยู่ ก็ให้ลูกเข้ามาเฝ้ากราบทูลว่าแมมจะเข้าเฝ้าเป็นการร้อน...เพราะกงสุลอังกฤษให้เข้ามากราบทูลขู่ขัดขวาง จะยุให้ทรงห้ามราชทูตสยามเสีย ไม่ให้ไปกราบทูลให้จ้างเซอร์ยอนโบวริงไปเป็นราชทูต จะได้คิดเอาเงินสักพันสองพันชั่งขึ้นไป...”
นางถือโอกาสที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวได้สะดวก วิ่งเต้นหาผลประโยชน์ต่างๆ ฉะนั้นพอหมดสัญญาจึงถูกส่งกลับโดยไม่มีการต่อสัญญา
หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน บันทึกไว้ว่า นางแอนนาออกจากเมืองไทยไปในวันที่ ๕ กรกฎาคมพ.ศ.๒๔๑๐ และในพงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑ แต่ในหนังสือที่แหม่มแอนนาเขียน บอกว่านางอยู่ในเมืองไทยจนรัชกาลที่ ๔ สวรรคต และก่อนนั้นยังทรงฝากฝังให้นางช่วยดูแลพระราชโอรสของพระองค์ คือรัชกาลที่ ๕ ด้วย
จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างที่แหม่มแอนนาเขียนไว้ แทบจะหาความจริงไม่เจอเลย ก็คงอย่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ครูอบ ไชยวสุ ว่าไว้นั่นแหละ