xs
xsm
sm
md
lg

ไทยวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกข้างมะกัน-จีน

เผยแพร่:

วานนี้ (1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ ได้เสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.58 เป็นที่เรียบร้อย โดยคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางออกจากประเทศสหรัฐฯ เมื่อเวลา 12.30 น.ของวันที่ 30 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 22.00 น.

** ชมทีมทูตดันไทยเป็นประธานจี 77
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยด้วยว่า ในการเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ได้พบกับผู้แทนต่างประเทศที่มาร่วมประชุม และได้หารือแบบทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ ในโอกาสที่ไทยจะลงสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ส่วนการที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นประธานกรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (จี 77) นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี ต้องชื่นชมทีมประเทศไทยและทูตที่ได้หารือมาตลอด จนทางกลุ่มมีมติให้ประเทศไทยเป็นประธาน โอกาสนี้ ผู้นำหลายคนแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ และยินดีที่ประเทศไทยคลี่คลายสถานการณ์ได้ ซึ่งตนเชิญชวนให้มาเที่ยวประเทศไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ตนได้พบกับ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งยังให้เกียรติตนเช่นเดิม เพราะเรามาในฐานะประเทศไทยเป็นสมาชิกของสมาคมโลก อีกทั้งตนได้สร้างความเข้าใจกับรัฐบาลสหรัฐฯและสมาคมนักธุรกิจสหรัฐฯว่า ขณะนี้เรากำลังปรับแก้เรื่องต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกประเทศเข้ามาลงทุน เชื่อว่านานาชาติเชื่อมั่นในประเทศไทย และรอดูว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร ตนก็ยืนยันตามโรดแมป และชี้แจงผู้ใหญ่ของสหรัฐฯว่าตามกติกาของประชาธิปไตยต้องมีรัฐธรรมนูญก่อน แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องร่างใหม่ ลงประชามติ ถ้าผ่านจึงจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกประเทศก็เป็นลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เราต้องดูบริบทของสังคมไทยเหมือนกัน
“ผมเข้ามาทำทุกอย่าง บางเรื่องมีผลกระทบกับคน ประเด็นคือควรหรือไม่ควรที่จะมาต่อต้านการที่ผมกำลังแก้ไขในสิ่งไม่ดี ทุกคนรู้ปัญหา แต่ไม่ยอมแก้ และจะเรียกร้องความสงบสันติจากใคร จะเรียกร้องกับประเทศอื่นหรือ ประเทศไทยมีศักดิ์ศรีและความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาของเราให้เขายอมรับ เราต้องเปลี่ยนความคิด มีวิสัยทัศน์ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

** ระบุไทยอยู่ตรงกลาง “สหรัฐ-จีน”
สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) ภาคภาษาไทย ได้เปิดเผยบทสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศสหรัฐฯช่วงหนึ่งถึงจุดยืนของประเทศไทยต่อประเทศมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีนว่า วันนี้สหรัฐฯมีความเข้มแข็งเรื่องการค้าขายทางทะเล ขณะที่ประเทศจีนก็มีความพยายามเพิ่มเส้นทางการค้าทะเลมากขึ้นเพื่อหาตลาดใหม่ สร้างเส้นทางการค้าการขนส่ง ไทยในฐานะที่อยู่ตรงกลางจะต้องได้ประโยชน์จากประเทศเหล่านี้ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ไทยต้องไม่เทไปข้างใดข้างหนึ่ง ที่ผ่านมาก็ได้วางตัวลักษณะนี้มาโดยตลอด
“ไทยยืนอยู่ตรงกลางไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร แม้มีปัญหาบางเรื่อง เช่น การอพยพที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน และทำให้ไทยได้รับความเดือนร้อน แต่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดทำตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรความสมดุลจึงจะเกิดขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

** แจงแก้ปมค้ามนุษย์ต้องใช้เวลา
สำหรับประเด็นด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ในรายงานประจำปีเรื่องการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้นำรัฐบาลก็ต้องยอมรับในความผิดพลาดของเรา ที่ทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเป็นเวลานาน เรื่องเหล่านี้ทางสหรัฐฯได้แจ้งเตือนมาหลายปีแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านๆมาไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องด้วยอาจคิดว่าคงไม่เกิดปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาจะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานประมง เรือประมง แรงงานข้ามชาติ ซึ่งรัฐบาลแก้ไขทั้งหมด และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จึงต้องใช้เวลา
“เมื่อเขาเป็นคนตั้งกติกาแล้วเราทำผิด ก็ต้องทำใหม่ ให้เขายอมรับเราให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ แน่นอนมันมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก มีการร้องเรียนทั้งเรือประมง กระทบครอบครัว ผมเจ็บปวดแต่ก็ต้องทำ และหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับเขา หาอาชีพเสริมให้เขา รับซื้อเรือเปลี่ยนอาชีพของเขาได้หรือไม่ หรือหาอะไรที่เขาจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะเขาดำรงชีวิตแบบผิดๆมาเป็นเวลาหลายปี นี่คืออันตราย ถ้าไม่แก้วันนี้วันหน้าก็อันตราย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

** “ดอน” ลุยหาเสียงชิงที่นั่ง “ยูเอ็นเอสซี”
วันเดียวกัน เว็บไซต์และทวิตเตอร์กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ภารกิจของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ได้เข้าร่วมประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสมัชชายูเอ็น ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นเป็นประจำทุกปี โดยหลังเสร็จสิ้นการหารือที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมเนื่องในโอกาสครบ 70 ปีของการก่อตั้งยูเอ็น โดยเนื้อหาระบุถึงความเห็นชอบร่วมกันในการทำงานอย่างใกล้ชิดตามกรอบของยูเอ็น พร้อมกับประกาศให้การสนับสนุนไทยที่ลงชิงตำแหน่งสมาชิกยูเอ็นเอสซี วาระปี 2560-2561 และขอให้มีการประสานความพยายามในการดำเนินการดังกล่าวร่วมกับผู้แทนถาวรของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในนครนิวยอร์กต่อไป ทั้งนี้นายดอนยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ ร่วมกับ นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ รวมทั้งหารือทวิภาคีกับ นายฮิวโก ชไวร์ รมช.ต่างประเทศอังกฤษ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยด้วย
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า อังกฤษได้แสดงความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเดินหน้าประเทศไทยและมีส่วนสนับสนุนการปฏิรูปภายในประเทศ เพราะมีหลายด้านที่อังกฤษมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การปราบปรามและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการเปิดประมูลที่มีความโปร่งใส นอกจากนี้ยังสนใจที่จะเสนอโครงการส่งครูสอนภาษาอังกฤษมายังไทยเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ และยังแสดงความเสียใจต่อไทยกรณีเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ โดยแสดงความพร้อมที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือใดๆ หากไทยต้องการ

** สหรัฐฯพอใจไทยแก้ใช้แรงงานเด็กดีขึ้น
นอกจากนี้ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เผยแพร่รายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯเกี่ยวกับสถานการณ์และการจัดการการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ประจำปี ค.ศ. 2014 ซึ่งประเมินความพยายามและผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ 140 ประเทศทั่วโลก โดยได้ปรับประเทศไทยขึ้นจากระดับที่มีความก้าวหน้าปานกลาง (Moderate Advancement) ในปีก่อน เป็นระดับที่มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญ (Significant Advancement ซึ่งเป็นระดับสูงสุด) เนื่องจากไทยสร้างความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมสำคัญๆหลายประการ อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ และการออกกฎกระทรวงแรงงานกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคเกษตรและภาคประมง เป็นต้น
กระทรวงการต่างประเทศ ระบุด้วยว่า รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรับทราบความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กของรัฐบาลไทย และตระหนักถึงพัฒนาการความคืบหน้าที่ไทยสร้างขึ้นเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนเห็นว่าไทยได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กด้วย

** “ไก่อู” ย้ำความสำเร็จไทยบนเวทีโลก
ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยโดยการนำของนายกฯประสบสำเร็จอย่างสูงยิ่งในการเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกด้วยมติเอกฉันท์ให้เป็นประธานกลุ่มจี 77 ซึ่งเป็นการรวมกันของประเทศสมาชิกที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 134 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรตินี้ นอกจากนี้ยังได้นำเสนอนิทรรศการภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อประชาคมโลกด้วย และนายกฯได้รับเชิญให้แสดงวิสัยทัศน์ และกล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมใหญ่ และการประชุมย่อย ซึ่งจัดคู่ขนานกันหลายเวที ซึ่งทุกหัวข้อได้รับเสียงชื่นชมและยอมรับจากมิตรประเทศ โอกาสนี้นายกฯยังได้เข้าพบและหารือทวิภาคีกับ นาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ รวมทั้งหารือกับผู้นำของหลายประเทศ และพบปะกับคณะนักธุรกิจในสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการลงทุนและการขยายธุรกิจในประเทศไทย
“ตลอดระยะเวลาของการประชุม ท่านนายกฯได้รับกำลังใจจากพี่น้องชาวไทยในสหรัฐฯที่มาต้อนรับเป็นจำนวนมากทุกวัน ซึ่งนายกฯฝากขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อความปรารถนาดีและพลังใจที่ทุกคนมีให้ ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้ทุกท่านติดตามรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งจะออกอากาศในคืนวันศุกร์นี้ โดยท่านนายกฯจะได้กล่าวถึงผลการเดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยละเอียดและพร้อมเพรียงกัน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

** “มาร์ค” อวย “บิ๊กตู่” เคลียร์โรดแมปชัด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนต้องบอกว่าไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ ที่ต่างประเทศไปเขียนทำนองว่า คสช.ไม่มีความชัดเจนหรือไม่มีความตั้งใจในการที่จะคืนกลับสู่สภาวะปกติ โดยยกกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนต้องบอกแล้วว่าหลายคนต้องการให้คว่ำร่าง เพราะเห็นว่าเป็นกติกาที่น่าจะมีปัญหา จึงไม่คิดว่าจะมีใครจงใจอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีก รวมถึงนายกฯได้ยืนยันความตั้งใจที่จะเดินตามโรดแมป และพูดตามเนื้อหาสาระของกติกาที่ได้วางเอาไว้ โดยยืนยันที่จะมีส่วนร่วมในการเมือง หรือประเด็นของเวทีของประชาคมโลกของระหว่างประเทศ ส่วนที่มีคนไทยไปให้กำลังใจหรือไปคัดค้านนั้น ตนเห็นว่าจะผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร
“การที่นายกฯประกาศถึงโรดแมป 6–4-6-4 หรือ 20 เดือนนั้น ผมคิดว่าเป็นการช่วยทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น เพราะการที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามองไม่เห็นประเทศไทยจะกลับเข้าสู่การเลือกตั้งนั้น ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น และคำประกาศนี้ไม่ใช่ชาวโลกที่รับรู้ แต่ชาวไทยรับรู้ จึงต้องถือว่าเป็นความตั้งใจของ คสช. ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไรจริงๆ ก็ควรจะเดินตามนี้” นายอภิสิทธิ์ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น