xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าเมืองหงายท้อง นั่งชนเข่าคุย ร.๕ แถมคว้าพระหัตถ์จูงซะด้วย!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

วันสบายๆของพระพุทธเจ้าหลวงที่เรือนต้น
ในการเสด็จประพาสทางชลมารคไปตามชนบทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยปลอมพระองค์เป็นราษฎรสามัญ ซึ่งเรียกกันว่า “ประพาสต้น” ได้เกิดเรื่องสนุกสนานให้เล่าต่อกันมามากมาย “เพื่อนต้น” ที่ทรงพบระหว่างเสด็จบางรายก็ได้ดิบได้ดีเพราะมีความจริงใจ และแสดงน้ำใจออกมาให้ประจักษ์ต่อพระเนตร แต่เจ้าเมืองรายหนึ่งถึงกับหงายท้อง เกือบจะช็อกหัวใจวายตาย เมื่อเข้าจูงมือนั่งชนเข่าคุยกับเจ้าเหนือหัวอย่างสนิทสนม โดยไม่ระแคะระคายแม้แต่น้อย

การออกเสด็จพระพาสต้นนั้น ก็เนื่องจากทรงตรากตรำกับงานบริหารราชการแผ่นดิน โดยที่พระวรกายก็ไม่แข็งแรงอยู่แล้วจากพิษไข้ป่าที่ทรงได้รับมาจากการติดตามพระราชบิดาไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็สวรรคตด้วยเชื้อมาเลเรียจากการเสด็จไปในครั้งนี้

แพทย์หลวงได้ถวายคำแนะนำให้ว่างเว้นจากราชการสักระยะหนึ่ง เพื่อผ่อนคลายความกังวล เสด็จไปสำราญพระอิริยาบถในที่โล่งแจ้งอากาศถ่ายเทได้สะดวก จะเป็นการดีต่อพระพลานามัย จึงได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน แล้วเสด็จประพาสทางชลมารคโดยไม่มีหมายกำหนดการที่แน่นอน ทั้งยังมีพระราชประสงค์ที่ไม่ต้องการให้ราษฎรรู้ว่าพระองค์เป็นใคร เพื่อจะได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรตามสภาพความเป็นจริง ไม่มีการตกแต่งรับเสด็จ ราษฎรที่เห็นเรือพาหนะและการแต่งกาย ก็คิดว่าเป็น “ผู้ดีบางกอก” ที่ออกมาเที่ยวชนบทเท่านั้น

ผู้ที่ทรงไว้วงพระราชหฤทัยให้ตามเสด็จก็มี ๒ พระอนุชา คือ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้คุ้นเคยกับเจ้าเมืองและข้าราชการฝ่ายปกครองในหัวเมืองต่างๆ กับ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร

การเสด็จไปโดยไม่มีใครรู้จักพระองค์นี้ ทำให้ทรงผ่อนคลายพระอิริยาบถและทรงพระเกษมสำราญมาก บางรายก็โชคดีได้รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงบ้าน แต่บางรายมีบุญแต่กรรมบัง เสด็จกลับไปแล้วเจ้าของบ้านก็ยังไม่รู้ว่าใครมา อย่างรายหนึ่ง เมื่อขบวนเสด็จผ่านมาทางแม่น้ำราชบุรีใกล้เวลาอาหาร เห็นบ้านหลังหนึ่งมีแพอยู่หน้าบ้านท่าทางสะอาดสะอ้าน จึงจอดเรือพระที่นั่งเข้าเทียบ รับสั่งให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯขึ้นไปเจรจากับเจ้าของบ้านขออาศัยทำครัวสักมื้อ พบหญิงเจ้าของบ้านบอกว่าเป็นภรรยานายอำเภอ ส่วนตัวนายอำเภอข้ามไปหาฟืนใส่เรือกลไฟอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามเดี๋ยวจะกลับมา ขบวนเสด็จจึงอาศัยแพหน้าบ้านนั้นเป็นที่ทำอาหาร

สักครู่นายอำเภอก็มาถึง พอจอดเรือที่แพได้ก้าวอาดๆผ่านหน้าพระพักตร์ขึ้นเฝ้ากรมพระยาดำรงฯบนบ้าน แต่ยังไม่ทันได้คุยอะไรกัน พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ก็คลานเข้ามายื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้กรมพระยาดำรงฯ ข้อความในกระดาษเป็นลายพระหัตถ์มีความว่า

“ให้นายอำเภอรู้จักแต่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเถิด อย่าให้ล่วงรู้เป็นเด็ดขาดว่าเราได้เสด็จมาอยู่ ณ ที่นี่แล้ว”

กรมพระยาดำรงฯ อ่านแล้วก็ตีหน้าเฝื่อน รีบกลบเกลื่อนด้วยการคุยข้อราชการกับนายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มากันเต็มบ้าน

พออาหารเสร็จ ก็รับสั่งให้จัดสำรับขึ้นไปถวายท่านเสนาบดีบนบ้าน ส่วนพระพุทธเจ้าหลวงเสวยที่เรือนแพทำอาหารนั้น

เมื่อได้เวลากลับ นายอำเภอพร้อมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ลงมาส่งเสด็จกรมพระยาดำรงฯที่เรือนแพ แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงหลบลงไปอยู่ในเก๋งเรือแล้ว และปล่อยพระอาสน์ที่ประทับไว้ให้กรมพระยาดำรงฯ แต่กรมพระยาดำรงฯก็ไม่ยอมนั่ง ยืนอยู่หน้าเก๋งจนเรือออกพ้นบ้านนายอำเภอไปแล้ว จึงบ่นด้วยเสียงดังว่า

“เล่นอย่างนี้เต็มที ไม่สนุกเลย”

พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกมาจากที่ซ่อน ทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัย ทำให้ทุกคนในเรือหัวเราะกันด้วยความสนุกสนาน

ส่วนรายการที่เจ้าเมืองหงายท้องเกือบช็อกนั้น เกิดขึ้นเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองเหนือ ทรงมีหมายกำหนดการที่จะแวะนมัสการพระพุทธชินราชด้วย แต่แรกทรงพระราชดำริที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชมาประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์วัดเบญจมบพิตรที่ทรงสร้าง ข่าวนี้ทำให้ชาวเมืองพิษณุโลกโศกเศร้าเสียใจถึงกับหยุดค้าขายกัน บ้านเมืองเงียบเหงา ผู้คนมีแต่ใบหน้าเศร้าไปทั้งเมือง เมื่อสมุหเทศาภิบาลถวายรายงานมาให้ทรงทราบ จึงมีพระมหากรุณาธิคุณเพียงแต่จำลองพระพุทธชินราชลงมา ส่วนองค์จริงให้ประดิษฐานอยู่คู่เมืองพิษณุโลกตามเดิม ชาวพิษณุโลกจึงกลับแช่มชื่นกันได้

ในการเสด็จประพาสพิษณุโลกครั้งนี้ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “เจ้าคุณโพ” เจ้าเมืองพิษณุโลก มีสายดีแอบส่งข่าวให้รู้มาก่อน จึงสั่งบ่าวไพร่รีบเร่งทำสะพานเทียบเรือขึ้นที่หน้าจวน เพื่อให้เรือพระที่นั่งเทียบได้สะดวก ขณะที่เจ้าคุณถอดเสื้อลงมือบัญชาการด้วยตนเองเพื่อให้เสร็จทันรับเสด็จนั้น ก็มีเรือแจว ๔ แจวล่วงหน้ามาอย่างเงียบๆ พอมาถึงชาย ๓ คนก็ก้าวขึ้นมาจากเรือ เจ้าคุณโพคนมีไหวพริบอ่านได้ทันทีว่า ต้องเป็นเรือมาจัดเตรียมการรับเสด็จ และคนที่เดินมาหลังสุดไว้หนวดถือกล้องถ่ายรูปมาด้วยนั้น เจ้าคุณโพก็อ่านว่าต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มที่มาเตรียมรับเสด็จแน่ จึงเข้าถามว่าพระเจ้าอยู่หัวมาถึงไหนแล้ว วันนี้จะเสด็จมาถึงจวนหรือเปล่า ชายไว้หนวดก็ตอบว่าใกล้เข้ามาแล้ว คืนนี้จะประทับแรมที่นี่แหละ เจ้าคุณโพก็บอกว่าอย่างนั้นก็เบาใจ ท่าเทียบเรือเสร็จทันรับเสด็จแน่ แถมยังต่อว่ากับชายไว้หนวดอีกว่า

“ในหลวงนี่ก็แปลก จะเสด็จมาก็ไม่บอก ดีแต่ได้ข่าวมาจากคนทางนครสวรรค์ ไม่งั้นก็ไม่ได้เตรียมรับเสด็จแน่”

ทั้งยังปรึกษากับคนทั้ง ๓ ที่มาว่า ได้ข่าวว่าพลับพลาที่มีฝาเลื่อนนั้นไม่ทรงโปรด เลยไม่กล้าทำ เสด็จมาที่นี่แล้วจะเสด็จไปไหนอีกพอจะบอกได้หรือไม่ ตอนนี้ยอมรับว่างงไปหมด ทำอะไรไม่ใคร่จะถูก เพราะไม่มีหมายกำหนดการให้ทราบ ชายมีหนวดก็บอกว่าพวกเราก็ไม่ทราบเหมือนกัน เมื่อมาถึงก็จะรับสั่งเอง ส่วนพลับพลาฝาเลื่อนนั้นไม่ทำก็ดีแล้ว ถ้าทำขึ้นมาทรงกริ้วละก็ไม่มีใครทัดทานได้เชียว

เจ้าคุณโพได้ฟังก็ค่อยสบายใจ เชิญชายทั้ง ๓ ให้ไปนั่งในที่ร่มดื่มน้ำชากัน ว่าแล้วก็คว้ามือชายมีหนวดที่พูดคุยกันถูกอัธยาศัยไปนั่งที่แคร่ ยกน้ำชา จานอับ น้ำตาลกรวด หมากพลู บุหรี่ มาต้อนรับ นั่งชนเข่าคุยกันอย่างถูกคอ ไม่ทันได้สังเกตสีหน้าของชายอีก ๒ คนที่แอบอมยิ้มกันอยู่

พอบ่ายแก่ๆ ขบวนเรือเสด็จก็โผล่คุ้งน้ำมา เจ้าคุณโพเห็นเข้าก็ตาเหลือก รีบเผ่นลงจากแคร่จะขึ้นจวนเพื่อไปแต่งตัวมารับเสด็จ ชายไว้หนวดที่กำลังคุยกันถูกคอก็คว้าข้อมือไว้ บอกว่าต้องไปแต่งทำไม เรือเสด็จก็ไม่เห็นแต่งธงทิวมาเลย ขืนแต่งตัวเต็มยศมารับเสด็จจะทรงหาว่าไม่รู้กาลเทศะอาจกริ้วได้ เจ้าคุณโพเลยยืนเซ่อทำอะไรไม่ถูก

เมื่อขบวนเสด็จเข้าเทียบท่า คนที่ขึ้นมาจากเรือก็เดินตรงมาที่เจ้าคุณโพ ส่วนเจ้าคุณโพชะเง้อดูที่เรือก็ยังไม่เห็นพระเจ้าอยู่หัว จนคนที่ขึ้นมาจากเรือพอถึงข้างหน้าเจ้าคุณโพ ก็ก้มลงกราบชายมีหนวดที่ยืนฉุดข้อมือเจ้าคุณไว้ เจ้าคุณโพคนมีไหวพริบจึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว และได้เล่าความรู้สึกตอนนั้นในภายหลังว่า

“...ขนหัวลุกซ่า และขนตัวก็ลุก ตัวเบา สมองมึนงงเหมือนถูกทุบอย่างแรง โลกมันหมุนคว้างไปหมด หัวใจเต้นเหมือนจะหลุดออกมานอกหน้าอก ขวัญบินออกจากร่าง คิดอยู่แต่เพียงว่าพระอาญาไม่พ้นเกล้า คราวนี้ถ้าไม่ถูกจองจำก็คงถูกโบยในฐานะไม่รู้ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำแน่ ก็เรามาคุยหยอกล้อเล่นกับพระเจ้าแผ่นดินเหมือนเพื่อนเล่น แถมยังจูงไม้จูงมือเสียอีกด้วย...”

เจ้าคุณโพเข่าอ่อนทรุดลงกราบและแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น ไม่กล้าเงยหน้าขึ้นดู จนรู้สึกว่ามีพระหัตถ์มาลูบศีรษะพร้อมกับพระสุรเสียงที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาว่า

“ลุกขึ้นเถิด ข้าไม่ถือเจ้าหรอก”

หลังจากนั้น เจ้าคุณโพที่คิดว่าไม่ถูกจองจำก็คงถูกเฆี่ยนหลังลาย กลับได้รับโปรดเกล้าฯเป็นเทศาภิบาลมณฑลอุดร มีอำนาจควบคุมดูแลภาคเหนือหลายจังหวัด

ในจำนวน “เพื่อนต้น” ที่ได้ทรงพบปะพูดคุยในระหว่างเสด็จประพาสต้นนั้น เรื่องของ “ตาช้าง” นับว่าได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุด และเป็นรายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมากที่สุดด้วย โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นปฏิพัธภูวนารถ ซึ่งหมายถึง ผู้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแห่งพระมหากษัตริย์

ตาช้างเป็นชาวบ้านตำบลบางหลวงอ้ายเอียง แขวงกรุงเก่า เมียชื่อนางพลับ จัดว่าเป็นคนมีฐานะ และมีลูกด้วยกันถึง ๑๑ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๖ คน

ในการเสด็จประพาสต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ขบวนเรือเสด็จได้เข้าคลองมะขามเฒ่าที่ชัยนาท แล้วทรงแวะประทับแรมที่บ้าน ขุนพิทักษ์บริหารกับนางจ่าง เจ้าของเรือเมล์เขียวที่ผักไห่ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม วันรุ่งขึ้นรับสั่งให้เรือกลไฟพลับพลาแล่นไปทางคลองเจ้าเจ็ด มาออกบางไทร ส่วนขบวนเรือเสด็จจะไปออกทางคลองโผงเผง แล้วไปพบกันที่บางปะอิน แต่เรือพลับพลาไปผิดเส้นทาง มาเข้าคลองโผงเผงเส้นเดียวกับขบวนเรือเสด็จ ซึ่งนอกจากจะทำคลื่นให้เรือประทับโคลงเคลงแล้ว ยังทำให้ราษฎรสองฝั่งเข้าใจว่าทรงประทับอยู่ในเรือพลับพลา เลยออกมารอเฝ้ารับเสด็จกันริมฝั่งคลอง พระสงฆ์ก็สวดชยันโตเมื่อเรือผ่านหน้าวัด ทำให้เอิกเกริกไปตลอดเส้นทาง จนหาที่สงบจอดเสวยพระกระยาหารไม่ได้เลย

เมื่อเสด็จมาถึงบ้านหลังหนึ่งดูสงบดี สะพานท่าน้ำทอดออกมายาวจึงรับสั่งให้จอดเรือที่บ้านหลังนั้น ตาช้างเจ้าของบ้านเป็นคนมีอัธยาศัยดี เมื่อเห็นว่าผู้ดีบางกอกมาจอดเรือที่หน้าบ้านจึงกุลีกุจอมาเชื้อเชิญให้ขึ้นบ้าน กรมพระยาดำรงฯ ก็เข้ารับหน้าบอกว่าเป็นเรือตามเสด็จ จะขอจอดพักกินข้าวหน่อย ตาช้างได้ฟังก็ว่า นึกแล้วเชียว เห็นเรือเสด็จเพิ่งผ่านไป นี่คงตามไม่ทัน งั้นก็ขึ้นมาก่อนจะบอกให้เมียทำกับข้าวเลี้ยง

ตาช้างจัดแจงปูเสื่อต้อนรับแขกที่โรงเลื่อยข้างบ้าน แล้วขนน้ำชา ขนมมาเลี้ยง นั่งชนเข่ากับกรมพระยาดำรงฯและพระเจ้าอยู่หัว คุยโขมงโฉงเฉงว่าตัวเองเป็นคนคุ้นเคยกับบางกอกเป็นอย่างดี

“พวกผู้ดีบางกอกหลายคนรู้จักฉันดี ลูกชายฉันก็บวชอยู่ที่วัดเบญจะ พวกขุนน้ำขุนนางพอเห็นหน้าฉันก็ต้องร้องอ๋อทันที” ตาช้างคุย

“พระเจ้าอยู่หัวล่ะ เคยเข้าเฝ้าบ้างไหม ท่านเสด็จวัดเบญจะบ่อยๆ” กรมพระยาดำรงฯ ถาม

“ปัทโธ่ ทำไมจะไม่เคยเฝ้า บนเรือนนี่ก็มีรูปท่าน เห็นที่ไหนก็ต้องเข้าไปกราบพระบาททุกครั้ง”

คำคุยของตาช้างเรียกเสียงฮาได้รอบวง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระสรวลอย่างสำราญพระราชหฤทัย

ตาช้างเห็นว่าที่โรงเลื่อยนั้นอากาศอับจนอบอ้าว จึงเชิญทุกคนขึ้นเรือน ไปกินข้าวที่ยายพลับทำเสร็จแล้ว มีแกงไก่และบะช่อตำลึง

รายการที่บ้านตาช้าง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญและทุกคนสนุกสนานกันมาก เพราะตาช้างเป็นคนคุยเก่งและค่อนข้างจะขี้คุย มีแต่ พระยาโบราณราชธรนินทร์ ผู้ว่าราชการมณฑลกรุงเก่า เพียงคนเดียวที่ต้องซ่อนตัวอยู่แต่ในเก๋งเรือ โผล่หน้าออกมาไม่ได้ เพราะผู้คนแถวอยุธยาจำได้หมด

ที่สำรับกับข้าว ตาช้างกับยายพลับก็เข้าร่วมวงกับเจ้าชีวิตด้วย ตาช้างคุยไม่หยุดแถมยังหยอกล้อพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าตาช้างทำไปตามธรรมชาติไม่ได้เสแสร้ง แม้จะคุยเขื่องไปทุกเรื่อง ยิ่งฟังก็ยิ่งขำ ทำให้ทรงพระสรวลได้บ่อย

เมื่อเสร็จจากรับประทานอาหารแล้ว ตาช้างก็ทูลไหว้วานให้ช่วยซื้อปืนเมาเซอร์ให้ซักกระบอก อยากได้ไว้เฝ้าบ้าน ถึงมีเงินก็ไม่รู้ว่าจะซื้อที่ไหน และต้องขออนุญาตตีทะเบียนยุ่งยาก พระเจ้าอยู่หัวก็รับปากว่าจะจัดการให้

ตอนเสด็จกลับ ตาช้างไปส่งที่ท่าน้ำ ทรงส่งซองๆหนึ่งให้ ตาช้างก็ไม่สนใจ รับได้ก็ใส่กระเป๋าเพราะกำลังคุยเพลิน พอขบวนเสด็จพ้นไปแล้วกำนันก็วิ่งหน้าตื่นเข้ามาร้องบอกว่า

“แกรู้ไม๊ ใครที่มานั่งกินข้าวกับแกน่ะ ข้าแอบดูอยู่นานแล้วแต่ไม่กล้าเข้ามาบอก นั่นแหละพระพุทธเจ้าหลวง แกน่ะ เคราะห์ร้ายเสียแล้วที่ไปตีเสมอกับท่านเหมือนเป็นเพื่อนเล่น”

ตาช้างไม่ยอมเชื่อ หาว่ากำนันหลอก กำนันจึงเอาพระบรมฉายาลักษณ์ที่ไปหยิบมาเปรียบเทียบยื่นให้ดู ตาช้างก็ยอมรับว่าเหมือน แต่คงไม่ใช่

“พระเจ้าแผ่นดินที่ไหนจะมาเดินเล่นตามบ้านชาวบ้านแบบนี้” ตาช้างเถียง

แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าท่านมอบซองไว้ให้ซองหนึ่งจึงควักออกมาดู ก็เห็นเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ที่ชาวบ้านนอกยังไม่เคยได้เห็น ตาช้างนับได้ ๕ ชั่ง หรือ ๔๐๐ บาทคนธรรมดาคงไม่มีใครเอาเงินมาให้มากถึงขนาดนี้ ตาช้างเลยหงายผลึ่งเป็นลมไป

ต่อมาโปรดเกล้าฯให้ตาช้างเข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวัง พระราชทานปืนเมาเซอร์ให้กระบอกหนึ่ง แล้วโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น หมื่นปฏิพัธภูวนารถ พระราชทานไม้เท้าสลักพระปรมาภิไธย จปร.ให้ตาช้าง และหีบหมากสลัก จปร.เช่นกันให้ยายพลับ ถือเป็นใบเบิกทางเข้าเฝ้าในงานพระราชพิธีได้ใกล้ชิด

เนื่องจากการเสด็จประพาสต้น มีเพื่อนต้นอยู่ทั่วไป ทรงให้สร้าง “เรือนต้น” ขึ้นริมอ่างหยกในพระราชวังดุสิต ตรงข้ามกับพระที่นั่งพิมานเมฆ สำหรับรับรองเพื่อนต้นที่มาเฝ้า ทุกครั้งที่ประทับในเรือนต้นจะทรงพระสำราญทุกพระองค์ ทั้งพระมเหสีและพระราชโอรสพระราชธิดา ทรงฉลองพระองค์แบบชาวบ้าน ทรงปรุงพระกระยาหารด้วยพระองค์เอง ฟังมโหรีขับกล่อม และเป็นที่รู้กันว่าห้ามนำข้อราชการมาถวายที่เรือนต้นเป็นอันขาด

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ถึงผลของการเสด็จประพาสต้นไว้ว่า

“การที่พระองค์ทรงสมาคมกับราษฎร ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงจะรู้จักหรือสนทนาปราศรัยให้คุ้นเคยกันเท่านั้น ย่อมทรงเป็นพระราชธุระไต่ถามถึงความทุกข์สุข และความเดือดร้อนที่ได้รับจากผู้ปกครองอย่างไรบ้างทุกโอกาส ผู้ที่เคยตามเสด็จย่อมเคยได้ยินและทราบความอันนี้ ฉันเคยเห็นบางที่ราษฎรกราบทูลร้องทุกข์เป็นข้อความซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นความทุกข์ร้อนจริงๆ ทรงรับธุระมาต่อว่า ทำเอาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เสนาบดีลงมาได้รับความรำคาญใจหลายคราว บางทีก็ถึงกับต้องผลัดเปลี่ยนพนักงานปกครองก็มีบ้าง เป็นเหตุให้การเสด็จประพาสเป็นคุณประโยชน์แก่ความสุขสำคัญของราษฎรได้อีกเป็นอันมาก”
เรือที่ใช้เสด็จประพาสต้น
 พระพุทธเจ้าทรงเสวยพระกระยาหารระหว่างทางประพาสต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น