xs
xsm
sm
md
lg

“จันทร์เจ้า” ศาสตราจารย์โจร สมัย ร.๕ เผยศาสตร์โจรกรรมให้กรมพระยาดำรงฯบันทึก!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

. “จันทร์เจ้า” จันทร์ จิตรจันทร์กลับ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีโจรก๊กหนึ่งออกปล้นในแขวงเมืองปทุมธานี อยุธยา และสุพรรณบุรี จนเป็นที่หวาดเกรงกันไปทั่ว ชาวบ้านเรียกหัวหน้าโจรก๊กนี้ว่า “จันทร์เจ้า”

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังจากปล้นฝูงควายในเมืองปทุมธานีแล้ว จันทร์เจ้าก็พาพรรคพวกบุกไปปล้นบ้านชีปะขาวที่เขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนนั้นเจ้าพระยาศรีวิไชย์ชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นนักเลงเก่าและมีชื่อเสียงในเรื่องปราบโจร ยังเป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี จับโจรก๊กนี้ได้พร้อมทั้งจันทร์เจ้าหัวหน้าก๊ก นำตัวไปสอบสวนที่เมืองนครปฐม นอกเขตอิทธิพลของโจร เผอิญตอนคุมตัวขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยไปนครปฐมนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปพักผ่อนที่ตำหนักเมืองนครปฐมในขบวนรถนั้นด้วยพอดี

ระหว่างที่ประทับอยู่นครปฐม พระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงครามมาร่วมโต๊ะเสวยด้วยทุกคืน แต่ได้ขอตัวรีบกลับไป โดยทูลว่าจะต้องไปสอบสวนจันทร์เจ้าโจรรายสำคัญ ถ้าให้คนอื่นสอบเกรงจะไม่ได้เรื่อง พระยาสุนทรบุรีฯรีบกลับไปเช่นนี้อยู่ ๓ คืน พอคืนที่ ๔ ท่านสมุหเทศาภิบาลก็ยิ้มแย้มแจ่มใสมา ทูลว่า จันทร์เจ้ายอมรับสารภาพแล้ว

เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงทราบว่าจันทร์เจ้าเป็นโจรระดับ “มหาโจร” ท่านก็สนพระทัย ใคร่จะได้พบเพื่อไต่ถามเรื่องราวของโจร เพราะท่านไม่เคยรู้เรื่องราวของโจรมาก่อนเลย ฉะนั้นในวันรุ่งขึ้นพระยาสุนทรบุรีฯจึงนำตัวจันทร์เจ้ามาเข้าเฝ้า

กรมพระยาดำรงฯรู้สึกแปลกพระทัยที่เห็นโจรจันทร์เป็นคนสุภาพเรียบร้อย ไม่มีลักษณะใจคอโหดเหี้ยมสมกับที่เป็นมหาโจร ทั้งยังมีกิริยามารยาทเข้าเจ้าเข้านายได้คล่องแคล่ว จึงรับสั่งถามด้วยความแปลกพระทัยว่า เคยเฝ้าเจ้านายมาก่อนหรือ โจรจันทร์ก็ทูลว่า เคยเข้าเฝ้ามาหลายองค์แล้ว

“ก็แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่รังเกียจหรือ” รับสั่งถาม

“เจ้านายท่านไม่ทรงทราบว่าเป็นโจร อย่าว่าแต่เจ้านายเลย ถึงคนอื่นๆก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร รู้แต่พวกโจรด้วยกันเท่านั้น” จันทร์เจ้าทูล

โจรจันทร์ทูลต่อไปว่า พวกโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับ จึงเปิดเผยตัวแต่เพียงว่าเป็นแค่ “นักเลง” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นคนกว้างขวาง นักเลงคนไหนกว้างขวางมีพวกมากก็เรียกกันว่า “นักเลงโต” นักเลงที่ไม่ได้เป็นโจรก็มี แต่นักเลงจะเป็นคนกว้างขวาง รับใช้ได้คล่องแคล่ว ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงนิยมใช้นักเลง จันทร์เจ้ามีโอกาสได้ใกล้ชิดผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ด้วยเหตุนี้

เมื่อกรมพระยาดำรงฯ ซักถามเรื่องใด โจรจันทร์ก็ตอบตรงๆ ด้วยความซื่อทุกเรื่องแม้แต่เรื่องวิธีการปล้นก็เผยหมดไม่ปิดบัง เพราะเห็นว่าไหนๆก็สารภาพไปแล้วไม่มีอะไรจะต้องปกปิด กรมพระยาดำรงฯก็ทรงสนุกที่ได้ฟังเรื่องแปลกๆ และเห็นว่าจันทร์เจ้ารอบรู้วิชาโจรสมกับที่เป็นนายโจร ถามเรื่องอะไรก็ตอบได้ทุกเรื่อง อย่างเช่น

ทรงถามว่า การที่โจรปล้นเรือนนั้น เขาว่ามักจะมีคนอยู่ใกล้เจ้าทรัพย์เป็นสายจริงหรือ?

จันทร์เจ้าก็ทูลว่า การปล้นนั้นจะต้องมีสาย ถ้าไม่มีสายก็ปล้นไม่ได้ เพราะสายต้องส่งข่าวมาก่อนว่าบ้านไหนมีทรัพย์สมควรปล้น การปล้นนั้นพวกโจรต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง จึงต้องสืบสวนไล่เลียงจากสายให้รู้แน่นอนก่อนว่า เพื่อนบ้านใกล้เคียงมีใครจะช่วยเจ้าทรัพย์ได้บ้าง ตลอดจนลู่ทางที่จะเข้าบ้านเจ้าทรัพย์เป็นอย่างไร ต้องสืบหาโอกาสตอนเจ้าทรัพย์เผลอหรือไม่อยู่บ้าน จนแน่ใจว่ามีกำลังมากกว่าเจ้าทรัพย์เป็นเท่าตัวจึงเข้าปล้น ส่วนใหญ่แล้วสายจะเป็นคนต้นคิดมาชักชวนให้โจรปล้น พวกโจรต้องหาคนเป็นสายไว้

ทรงถามว่า คนชนิดใดที่เป็นสายให้โจร?

ทูลตอบว่า สายมักได้แก่คน ๓ ชนิด คือคนรับใช้อยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ที่อยากได้เงิน หรือเพื่อนบ้านที่เป็นอริคิดล้างผลาญเจ้าทรัพย์ กับญาติเจ้าทรัพย์เองที่โกรธเพราะขอเงินไม่ให้

ทรงถามว่า โจรที่ขึ้นปล้นเรือนนั้น ไฉนจึงรู้ว่าเขาเก็บเงินทองไว้ที่ไหน?

จันทร์เจ้าทูลว่า ประเพณีของโจรปล้น จะต้องจับคนในเรือนนั้นไว้ให้ได้ เพื่อข่มขู่ทำทรมานบังคับให้บอกที่ซ่อนเงิน ถ้าจับใครไม่ได้โจรต้องค้นหาเงินเองก็จะได้ทรัพย์ไปไม่มาก เพราะไม่มีเวลาหา ต้องรีบปล้นให้เสร็จก่อนที่ชาวบ้านจะมาช่วย ทรงถามว่า การจับเจ้าทรัพย์บังคับถามนั้น ไม่กลัวจำหน้าได้หรือ?

จันทร์เจ้าทูลตอบว่า แต่ก่อนโจรที่ขึ้นเรือนใช้วิธีมอมหน้าไม่ให้เจ้าทรัพย์จำได้ แต่พอมีระบบใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านปกครอง เวลาเกิดโจรปล้นผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านมาตรวจ ทำให้ล้างหน้าไปรับตรวจไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่ ให้โจรต่างถิ่นไกลเป็นคนขึ้นเรือน ไม่ต้องมอมหน้าอย่างแต่ก่อน ส่วนโจรที่อยู่ใกล้บ้านเจ้าทรัพย์คอยซุ่มระวังอยู่ในที่มืด

ทรงถามว่า โจรชนิดไหนที่เรียกว่า “อ้ายเสือ”?

ทูลตอบว่า คำว่า “อ้ายเสือ” มิใช่ชื่อที่ใช้เรียกโจร แต่เป็นสัญญาณของหัวหน้าโจรเมื่อเวลาเข้าปล้น เช่นเมื่อลอบเข้าไปล้อมบ้านเจ้าทรัพย์แล้ว พอได้จังหวะจะลงมือเข้าปล้น หัวหน้าโจรจะร้องเป็นสัญญาณว่า “อ้ายเสือเอาวา” พวกโจรก็จะยิงปืนและเข้าพังประตูรั้วบ้าน เมื่อเข้าไปในเขตบ้านได้แล้ว หัวหน้าโจรก็จะร้องอีกว่า “อ้ายเสือขึ้น” พวกโจรที่ถูกวางตัวให้มีหน้าที่ขึ้นเรือนก็จะกรูขึ้นทุกช่องทางที่จะขึ้นได้ และเมื่อกวาดทรัพย์ได้พอแล้ว หัวหน้าจะร้องว่า “อ้ายเสือถอย” แต่ถ้าไปเจอเจ้าทรัพย์สู้หรือชาวบ้านมาช่วย เห็นทีจะไม่ได้การ หัวหน้าจะร้องบอกว่า “อ้ายเสือล่า” ตอนนี้ก็ตัวใครตัวมัน ต่างต้องหนีเอาตัวรอด

เมื่อกรมพระยาดำรงฯ ทรงฟังโจรจันทร์ตอบคำถามต่างๆแล้ว ก็ทรงเห็นว่าจันทร์เจ้ามีความรู้แตกฉานและเชี่ยวชาญในการปล้นมาก ถ้าหากจะถือว่าการโจรกรรมเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งแล้ว จันทร์เจ้าก็เข้าขั้น “ศาสตราจารย์โจร” ทรงติดพระทัยที่อยากจะรู้โจรกรรมศาสตร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก จึงให้เบิกตัวจันทร์เจ้ามาไต่ถามต่อไปอีกที่สนามหน้าตำหนักทุกเย็น คุยกันอยู่หลายวันจนคุ้นเคยพอควรแล้ว กรมพระยาดำรงฯก็ทรงถามตรงๆ ว่า ทำไมจึงยอมรับสารภาพ

โจรจันทร์ทูลตอบว่า เมื่อแรกก็ตั้งใจไว้ว่าถึงยังไงก็จะไม่ยอมรับสารภาพ และถ้าสอบสวนที่เมืองปทุมธานีก็คงจะมัดไม่อยู่แน่ แต่มาเสียเชิงเจ้าคุณเทศาฯจนต้องยอมจำนน

เรื่องแรก เจ้าคุณเอาตัวมาสอบต่างเมืองก็ทำให้รู้สึกว้าเหว่จนใจอ่อนลงมากแล้ว พอลงรถไฟมองหาคนรู้จักไม่เจอซักคน แม้แต่คนเคยเห็นหน้าก็ไม่มี ทำให้รู้สึกเปลี่ยวใจ และเมื่อเข้าไปในเรือนจำเจอนักโทษอื่น ถามถึงพวกพ้องที่ถูกจับมาก่อน ก็ได้ข่าวว่ารับสารภาพกันไปหมดแล้ว เลยทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา แต่อะไรก็ไม่ทำให้ท้อใจเท่ากับวิธีสอบสวนของท่านเจ้าคุณเทศาฯ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯถามว่า เจ้าคุณเทศาฯมีวิธีสอบสวนชำระความอย่างไร โจรจันทร์ก็เล่าเป็นฉากๆไปว่า

คืนแรก ท่านให้เบิกตัวไปที่ศาลอำเภอตอนสามทุ่ม พบท่านนั่งอยู่กับข้าราชการสองสามคน ท่านเรียกเข้าไปนั่งข้างๆ เก้าอี้ของท่าน แล้วถามเรื่องที่ไปปล้น เมื่อปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น เจ้าคุณเทศาฯก็หัวเราะแล้วว่า

“คิดดูเสียให้ดีเถิด พวกพ้องเขาก็รับหมดแล้ว”

จากนั้นท่านก็หันไปปรึกษาข้อราชการกับคนอื่นๆ พลางสูบบุหรี่จิบน้ำร้อน นานๆก็หันมาถามอีกว่า “จะว่าอย่างไร” เมื่อแกปฏิเสธท่านก็หัวเราะ แล้วบอก “คิดดูเสียให้ดี” แล้วก็หันไปคุยกับข้าราชการซดน้ำร้อนอีก ปล่อยให้แกนั่งคอยอยู่อย่างนั้น นานๆก็หันมาถามเสียที เมื่อแกปฏิเสธท่านก็หัวเราะและเตือนให้คิดให้ดีแบบเดิม จน ๕ ทุ่มจึงให้เอาตัวกลับไปเรือนจำ

คืนที่ ๒ เจ้าคุณเทศาฯก็เบิกตัวไปที่ศาลอำเภอในเวลา ๓ ทุ่มอีก และซักถามแบบเดิม พอถูกถามโจรจันทร์ก็รู้สึกรำคาญใจ ยิ่งถูกถามซ้ำๆซากๆ ก็ยิ่งรำคาญหนัก แต่ก็ยังใจแข็งตอบปฏิเสธอยู่ได้อีกคืน

พอคืนที่ ๓ ถูกเบิกตัวออกมาจากเรือนจำ โจรจันทร์ก็รู้สึกระอาใจ เมื่อเจ้าคุณเทศาฯถามอย่างเดิมอีก ก็เกิดความเบื่อหน่ายเหลือทน เห็นว่าถ้ายังปฏิเสธก็จะถูกถามแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไหนๆก็คงไม่พ้นโทษเพราะพรรคพวกเพื่อนพ้องที่ร่วมปล้นก็รับสารภาพกันไปหมดแล้ว รับไปเสียให้สิ้นเรื่องดีกว่า จะได้กลับไปนอนให้สบาย ไม่ถูกเอามานั่งทรมานน่าเบื่อหน่ายแบบนี้อีก แกจึงยอมรับสารภาพในคืนที่ ๓ นั้น

“สู้ปัญญาเจ้าคุณเทศาฯท่านไม่ได้” ศาสตราจารย์โจรรับกับกรมพระยาดำรงฯ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงเห็นว่า การโจรกรรมเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่สุจริตชนควรจะรู้ไว้บ้างเพื่อป้องกันตัว จึงขอให้โจรจันทร์เปิดเผยศาสตร์นี้ทั้งหมดเพื่อจะเอาไปเขียนหนังสือ และถ้าโจรจันทร์เปิดเผยความจริงให้ถึงที่สุด ก็จะกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นบำเหน็จ โจรจันทร์ก็รับจะสนองพระประสงค์ ทั้งยังให้สัญญาว่า ถ้าพ้นโทษจะทิ้งความชั่วไม่เป็นโจรอีกตลอดชีวิต

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯได้นิพนธ์เรื่อง “สนทนากับผู้ร้ายปล้น” พิมพ์เป็นเล่มใน พ.ศ.๒๔๔๖ ปรากฏว่าเป็นหนังสือขายดีในยุคนั้น ต้องพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

ส่วนโจรจันทร์ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และขอรับใช้กรมพระยาดำรงฯอยู่ที่นครปฐมต่อไป ไม่กลับปทุมธานีอีก รับลูกเมียมาเปิดร้านขายของ ส่วนลูกชายวัยรุ่นก็ฝากเจ้าคุณเทศาฯให้เข้าฝึกรับราชการ

เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชกาลที่ ๖ โจรจันทร์ก็ขอใช้นามสกุลว่า “จิตรจันทร์กลับ” และเป็นคนเฝ้าตำหนักของกรมพระยาดำรงฯ ที่นครปฐมอยู่ถึง ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวจึงออกจากหน้าที่ ตอนที่จันทร์เจ้ามีอายุ ๘๐ ปี กรมพระยาดำรงฯ ก็ยังได้ข่าวว่ายังอยู่ที่นครปฐม หลังจากนั้นก็ไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯเมื่อครั้งยังหนุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น