xs
xsm
sm
md
lg

"เจ้าหญิงแสนสวย" จากชวามาไทย สุดท้ายกลายเป็น "สวะ ที่ต้องประหาร!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ผักตบชวาแน่นขนัดในแหล่งน้ำ
ในแม่น้ำลำคลองหนองบึงของเมืองไทยในตอนนี้ เกือบทุกแห่งต้องผจญปัญหาเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ มีผักตบชวาขึ้นหนาแน่น จนกีดขวางการสัญจรไปมาและการไหลของกระแสน้ำ

ความจริงผักตบชวาไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทย เราเอามาจากชวาหรืออินโดนีเซียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และเข้ามาในฐานะเจ้าหญิงผู้ทรงเสน่ห์ ไม่ใช่พืชที่น่ารังเกียจอย่างในวันนี้

ในปี ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนชวาโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในการถวายการต้อนรับพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามนั้น บรรดาเจ้านายฝ่ายในขององค์สุลต่าน ตลอดจนสาวสนมกำนันในที่แต่งกายกันอย่างสวยงามเป็นพิเศษนั้น ต่างทัดดอกไม้ช่อยาวอย่างหนึ่งไว้ที่มวยผม มีสีม่วงอมฟ้างามแปลกตาน่าประทับใจ สอบถามได้ความว่าเป็นดอกผักตบชนิดหนึ่ง

สมเด็จพระบรมราชินีฯทรงพระราชดำริที่จะนำพันธุ์ไปปลูกในเมืองไทยบ้าง จึงรับสั่งให้นายเรือโทโดด หม่องมณี นายทหารประจำเรือพระที่นั่ง ไปเก็บต้นผักตบนั้นมาสัก ๓ เข่ง พร้อมกับน้ำจากแหล่งปลูกเดิมมาด้วย ๑๐ ปี๊บ เผื่อไปผิดน้ำเมืองไทยจะไม่ยอมออกดอก พร้อมทั้งรับสั่งให้นายเรือโทโดดวางมือจากงานประจำ มารับหน้าที่ดูแลประคับประคองผักตบจากชวาให้มีชีวิตรอดไปถึงเมืองไทย

เมื่อเรือพระที่นั่งกลับมาถึงท่าราชวรดิฐ ก็โปรดให้จัดรถม้าหลวงนำผักตบชวาและน้ำจากแหล่งเดิมตรงไปพระราชวังพญาไททันที จากนั้นนายเรือโทโดดก็นำน้ำจากชวาใส่ลงในกระถางลายครามใบใหญ่ ๓ กระถาง ปลูกต้นผักตบจากชวาทั้ง ๓ เข่งลงไป

หลังจากเฝ้าดูแลอยู่ ๑ เดือน ผักตบชวาก็แตกหน่อเต็มกระถางและออกดอกสวยงามเช่นเดียวกับในชวา นายเรือโทโดดจึงลองแยกหน่อลงปลูกในกระถางใบใหม่ที่ใส่น้ำในเมืองไทย ปรากฏว่าผักตบชวาก็งอกงามรวดเร็วและออกดอกเหมือนใน ๓ กระถางแรก จึงเปลี่ยนน้ำที่เอามาจากชวาออก เอาน้ำจากเมืองไทยใส่แทน เมื่อผักตบชวาใน ๓ กระถางแรกได้น้ำใหม่ก็งอกงามยิ่งขึ้น ออกดอกสะพรั่ง

สมเด็จพระบรมราชินีฯทรงพอพระทัยในความสำเร็จนี้มาก รับสั่งให้ขยายหน่อผักตบชวาลงปลูกในสระน้ำของวังพญาไท

บรรดาเจ้านายทั้งหลายที่ได้กิติศัพท์ของผักตบชวา ต่างพากันมาขอพระราชทานไปปลูกที่วังของตนบ้าง ซึ่งสมเด็จพระราชินีฯก็พระราชทานให้เพียงองค์ละหน่อสองหน่อเท่านั้น

ความดีความชอบของนายเรือโทโดดที่สนองพระราชประสงค์เป็นผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยมนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญทองคำสลักพระนามย่อ “ส.ผ.” พร้อมทั้งสร้อยคอทองคำหนัก ๒ บาท ๑ เส้น ผ้าห่มกันหนาวมีรูปเสือสัญลักษณ์ปีเกิดของเรือโทโดด ๑ ผืน และยังมีเงินอีก ๓ ชั่ง

อีก ๖ เดือนต่อมา ผักตบชวาในสระวังพญาไทก็งอกงามจนแน่นสระ คนที่เคยมาเข้าคิวขอพระราชทานก็เบาบางจนหายไป ไม่มีใครตื่นเต้นเหมือนอย่างแต่ก่อน จึงโปรดฯให้นำไปปล่อยลงตามคลองเพื่อให้ราษฎรได้ชื่นชมความงามของดอกผักตบชวาบ้าง เริ่มจากคลองสามเสนหลังวังพญาไทเป็นคลองแรก ต่อมาก็เป็นคลองเปรมประชาและคลองผดุงกรุงเกษม ส่วนนายเรือโทโดดก็หมดหน้าที่ และได้รับพระราชทานยศนายเรือเอกในปีต่อมา

ผักตบชวาที่มาถึงเมืองไทยในฐานะเจ้าหญิงผู้ทรงเสน่ห์ในปี ๒๔๓๙ ไม่นานก็เปลี่ยนฐานะไปตรงกันข้าม

ในปี ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทราทางชลมารค ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีความตอนหนึ่งว่า

“...ที่สี่แยกเรือเดินเข้าออกไม่ได้ เตรียมจะไปเตือนเจ้าพระยายมราช เรื่องผักตบชวานี้ร้ายกาจมาก ตามลำน้ำบางปะกงหน้าจ๋อยๆเพราะถูกน้ำกร่อย แต่ก็ไม่ได้ไหลลงไปในทะเลได้หมด เพราะน้ำไหลขึ้นก็กลับลอยขึ้น ข้อที่ว่ากระบือกินได้นั้นเปนความจริง แต่กลับมีอันตรายมาก เหตุด้วยกระบือกินแต่ใบ ต้นรากแห้งติดอยู่กับดิน ครั้นถึงเวลาไถหว่านข้าวในนา พอทำนาผักตบชวาเจริญเร็วกว่าต้นข้าวในนา เบียดเสียดแทรกต้นข้าวลีบไปหมด โทษถึงต้องประหารให้หายขาด แต่ต้องเป็นการพร้อมกันทั้งหัวเมืองและในกรุง เวลานี้การที่จะทำลายผักตบชวาในกรุงยังไม่ได้คิดอ่านให้เปนการทำทั่วไป....”

ในปี ๒๔๕๓ ได้มีการจัดงาน “แสดงกสิกรรมและพานิชยกรรม” ขึ้นที่ตำบลปทุมวัน ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับการเกษตรครั้งแรก ผักตบชวาก็ถูกนำมาโชว์ตัวให้ราษฎรรู้จักด้วย...แต่ในฐานะเป็นพืชอันตรายไร้ประโยชน์ที่ต้องช่วยกันกำจัด
ในปี ๒๔๕๖ สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการออกพระราชบัญญัติให้กำจัดผักตบชวาในที่ดินของตัวเองให้หมด หากกำจัดไม่ไหวให้แจ้งเจ้าพนักงานไปช่วย ใครฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังห้ามนำผักตบชวาขึ้นรถไฟด้วย เพื่อป้องกันการเอาไปแพร่ในหัวเมือง ใครเอาผักตบชวาขึ้นรถไฟมีโทษถึงติดคุก

แม้จะวางมาตรการกำจัดเข้มงวดถึงขั้นนี้ เวลาผ่านมา ๑๐๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถกำจัดผักตบชวาได้ กลับแพร่พันธุ์ยิ่งขึ้นไปอีก

ไม่แต่ไทยเราเท่านั้นที่ต้องเผชิญปัญหาผักตบชวา กว่า ๕๐ ประเทศในเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก ต่างเกลียดชังผักตบชวากันทั้งนั้น ที่รัฐเบงกอลในอินเดีย เรียกผักตบดอกสวยนี้ว่า “ปีศาจสีฟ้า” (Blue devil) แต่รัฐอื่นๆ กลับเรียกว่า “ภัยร้ายจากเบงกอล” (Bengal terror) ในอาฟริกาเรียกว่า “ปีศาจฟลอริดา” (Florida devil) ส่วนในศรีลังกาเรียก “ไอ้ยุ่นจอมยุ่ง” (Japan trouble)

ไทยเราเองก็เรียกผักตบชวาว่า “สวะ” หมายถึงสิ่งไร้ประโยชน์ที่สร้างแต่ความยุ่งยาก

ผักตบชวาเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ เข้ามาชวาในปี ๒๔๒๔ โดยชาวฮอลันดาที่ปกครองชวานำมาเผยแพร่ ตอนนั้นผักตบชวาเป็นที่นิยมกันมากในยุโรป เพราะมีดอกสีฟ้าเป็นช่อตั้งเหมือนดอกไฮยาซิน จึงเรียกกันว่า “ไฮยาซินน้ำ” (Water hyacinth) ฮอลันดาจึงเอามาปลูกไว้ที่สวนพฤกษชาติเมืองโกบอร์ ต่อมาก็แพร่ไปตามแหล่งน้ำทั่วชวา

ในปี ๒๔๒๗ มีนักธุรกิจญี่ปุ่นไปจัดงานนิทรรศการฝ้ายที่เมืองนิวออร์ลีน รัฐหลุยส์เซียนา สหรัฐอเมริกา และนำ“ไฮยาซินน้ำ” แจกผู้ร่วมงานคนละต้น โดยเก็บมาจากแม่น้ำโอริโนโก ในเวเนซุเอลา อเมริกาใต้ หลังจากนั้น ๑๑ ปี แม่น้ำเซนต์จอห์น ในรัฐฟลอริดา ซึ่งอยู่ห่างเมืองนิวออร์ลีนไป ๖๐๐ ไมล์ ก็มีไฮยาซินน้ำลอยเป็นแพยาวถึง ๑๐๐ ไมล์ จนไม่สามารถลากซุงไปเข้าโรงเลื่อยได้ แต่ก็ยังสั้นกว่าในแม่น้ำคองโก อาฟริกา ซึ่งมีกอไฮยาซินน้ำขึ้นเป็นพืดยาวกว่า ๑,๐๐๐ไมล์

หลังจากผจญปัญหากับผักตบชวามา ๑๐๐ ปี ไทยเราก็ค้นพบวิธีพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ลากผักตบชวาจากคูคลองหนองบึงหน้าบ้านขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยหมัก บ้างก็นำก้านของมันมาตากแห้งแล้วสานเป็นของใช้ต่างๆ ทำเป็นสินค้าโอท็อป ออกแบบใส่ไอเดียเข้าไปเสียเก๋ไก๋ จนจำไม่ได้ว่าเป็น “ไอ้ตัวแสบ”นี่เอง
ดงผักตบชวางามในฤดูออกดอก
ช่อผักตบชวางามเหมือนดอกไฮยาซิน
ความงามของผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา
ความงามของผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา
กำลังโหลดความคิดเห็น