เรื่องเล่นเพื่อน หรือ “หญิงรักหญิง” มีเล่ากันไว้มาก แต่เรื่อง “ชายรักชาย” ปรากฏอยู่น้อย เรื่องที่โด่งดังในกรณีนี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าของเรื่องคือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ เป็นเจ้านายองค์สุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์
ในขณะนั้นถือกันว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นเจ้านายอาวุโสในรัชกาล และโปรดการละคร มีคณะละครส่วนพระองค์ แต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯนั้น ไม่โปรดการละครหรือการดนตรีดีดสีตีเป่าทั้งหลาย สนพระทัยแต่การค้า
กรมหลวงรักษ์รณเรศถูกฏีกาทูลเกล้าฯกล่าวหาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องไม่ใส่ใจในราชการ เบียดบังเงินเบี้ยหวัดและเงินวัดพระพุทธบาท ถูกมองว่าเป็นเพราะการคบกับพวกละครเป็นสาเหตุ ดังในบันทึกว่า
“...อย่างนี้คงมีหลายเรื่องมาแล้ว เพราะไอ้พวกละครชักพาให้เสียคน...”
นอกจากนี้กรมหลวงรักษ์รณเรศยังถูกกล่าวหาว่าทำความเสื่อมเสียมาถึงราชวงศ์ ประพฤติพระองค์ในทาง "เล่นเพื่อน" อันเป็นการแสดงความรักใคร่ในทางผิดธรรมชาติอย่างเปิดเผย จนอื้อฉาวเลื่องลือไปทั่ว ในการชำระความตามฎีกา ได้ความว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศฝักใฝ่อยู่แต่พวกละครผู้ชายด้วยกัน ไม่ยอมเข้าห้องบรรทมกับพระชายาหรือหม่อมห้ามเลย มีบันทึกไว้ว่า
“...จึงรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกย้ายกันไต่ถาม ได้ความสมกันว่า เป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แค่เอามือเจ้าละครและมือท่านทำกำคุยหฐานด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกันเป็นแต่เท่านั้น...”
“คุยหฐาน เป็นราชาศัพท์หมายถึง “อวัยวะที่ลับ”
“...แล้วโปรดให้ตระลาการถามกรมหลวงว่า เป็นเจ้าใหญ่นายโต เล่นการเล่นนี้สมควรอยู่หรือ กรมหลวงรักษ์รณเรศให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกกับเมียไม่เกี่ยวกับราชการ...”
ที่สำคัญจนเป็นเหตุให้ถูกประหารชีวิตก็คือ รับสั่งให้ตระลาการถามว่า
“...เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางให้เป็นพรรคพวกมาก จะคิดกบฏหรือ กรมหลวงให้การว่าไม่ได้คิดกบฏ คิดอยู่แต่ว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินไป ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร ถามอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าได้อย่างนั้นแล้วจะเอาผู้ใดเป็นวังหน้า ให้การว่า คิดไว้จะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์...”
เมื่อให้การชัดแจ้งถึงขั้นนี้ ประวัติศาสตร์จึงบันทึกไว้ว่า
“...พระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีกราบทูลว่า จะไม่เอาโทษเสียเลย เลี้ยงไว้ก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจ เหมือนตีอสรพิษให้หลังหัก ระวังยาก...”
ในตอนท้ายของการชำระคดี ยังมีบันทึกอ้างถึงพระเจ้ากรุงปักกิ่งด้วยว่า
“...จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชาย ฝ่ายหญิงเมียของตัวที่รับพระราชทานเบี้ยหวัด ก็มาเล่าให้เขาฟังออกเซ็งแซ่ไปทั่วว่า มิอินังขัวขอบกับกับลูกเมีย มาหลงรักไอ้คนโขนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่ง (เตากวาง) รักงิ้ว จะส้องเสพผู้ชายบ้างผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวเสียว่าทำดังนี้ไม่ดีไม่งาม ก็จะอื้ออึงไป เหมือนจะแกล้งประจานญาติให้ได้รับความอัปยศ แล้วพระราชดำริว่า...
“...แต่ก่อน กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ก็ประพฤติการไม่อยู่กับลูกกับเมียเหมือนกันเช่นนี้ สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ทรงทราบทุกพระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์แต่ประการใดไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมิได้เป็นพระทัยเอาธุระด้วย สำคัญพระทัยว่าเขาประพฤติเหมือนพี่ชายเป็นพืชพันธุ์อียายเดนเกือก เป็นคนอุบาทว์บ้านเมือง มิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยความโลภเจตนาขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งขายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไปทั่วนานาประเทศทั้งปวงหาควรไม่เลย...
ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่มนุษย์เขายอมให้เป็นเลย แม้สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน...”
ในที่สุดกรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับพวกละคร แม้จะไม่มีโทษถึงตาย แต่ที่เปิดเผยเองว่าเตรียมจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถึงขนาดวางตัววังหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว จึงถูกถอดยศฐาบรรดาศักดิ์ลงเหลือแค่ “หม่อมไกรสร” ตามพระนามเดิม และถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยวิธีประหารเจ้านาย คือใส่ถุงกำมะหยี่แล้วทุบด้วยท่อนจันทร์ ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๓๙๑
ปัจจุบัน ที่วัดปทุมคงคา ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ ก็ยังมีศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ สร้างครอบก้อนหินที่รองทุบหม่อมไกรสรไว้
การเล่นเพื่อนของกรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือกรมหลวงเทพพลภักดิ์ หรือพระเจ้าเตากวางของจีน จึงไม่ได้มีสาเหตุที่ถูกกักขังและกดดันด้วยสัญชาติญาณสืบพันธุ์ของมนุษย์ เหมือนนางห้ามนางในทั้งหลาย แต่ผู้ชายที่เล่นเพื่อนเหล่านี้ มีผู้หญิงมากมายที่จะร่วมรักตามปกติ ทั้งยังเคยผ่านกันมาแล้วทั้งนั้น แต่กลับเปลี่ยนรสนิยมหันมาติดใจในรักร่วมเพศ ก็เพราะต้องการความแปลกใหม่ของกามรสนั่นเอง