ไทยเรามีสถานีโทรทัศน์ช่องแรกเป็นขาว-ดำเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นชาติแรกๆในเอเซีย ซึ่งตอนนั้นออสเตรเลียก็ยังไม่มีทีวี โดยรัฐบาล จอมพลป.พิบูลสงคราม ตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้น เริ่มออกอากาศในวันชาติ ๒๔ มิถุนายน มีชื่อว่า “สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง ๔” ตั้งสถานีอยู่ในเขตวังบางขุนพรหม จึงเรียกกันว่า “วิกบางขุนพรหม"
ต่อมากรมสื่อสารทหารบกก็ตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาอีกแห่งที่สนามเป้า มีชื่อว่า “สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗” เริ่มออกอากาศในวันกองทัพบกปี ๒๕๐๑ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นวันที่ ๒๕ มกราคม เรียกกันว่า “วิกสนามเป้า” เป็นขาว-ดำเช่นกัน
สถานีโทรทัศน์ขาว-ดำของไทยทั้ง ๒ แห่งนี้ออกอากาศในระบบ NTSC เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา
ในปี ๒๕๑๐ เราจึงมีโทรทัศน์สีเป็นช่องแรก ตั้งขึ้นในนามสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ อีกช่องหนึ่ง เริ่มออกอากาศในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน เรียกว่า “สถานีโทรทัศน์สี กองทัพบก ช่อง ๗” แต่กลับออกอากาศในระบบ PAL เช่นเดียวกับที่นิยมในยุโรป ทำให้เครื่องรับโทรทัศน์ขาว-ดำที่มีอยู่ในขณะนั้นรับได้แค่ภาพ ไม่มีเสียง ต้องเปิดวิทยุควบคู่เพื่อรับฟังเสียง หรือให้ช่างติดอุปกรณ์รับเสียงเพิ่ม
เหตุผลที่โทรทัศน์สีต้องเปลี่ยนระบบ ซึ่งทำให้โทรทัศน์ไทยทั้งหมดต้องเปลี่ยนระบบออกอากาศมาจนทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเห็นว่าระบบ PAL ดีกว่า เหมาะสมกว่าระบบ NTSC แต่เพราะความจำเป็นที่ต้องเร่งออกอากาศให้ได้ในระยะเวลาจำกัด
ผู้ริเริ่มตั้งโทรทัศน์สีขึ้นมาก็คือ เฑียรร์ กรรณสูต บุคคลในวงการหนังไทย ผู้ก่อตั้งบริษัทเอวันฟิล์มและเป็นหุ้นส่วนของบริษัทกรรณสูต ผู้แทนจำหน่ายรถเฟียตของอิตาลี ซึ่งได้นำความคิดนี้ไปเสนอ เรวดี เทียนประภาส ผู้เป็นญาติและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัวจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการทหารบก จอมพลประภาสเห็นดีด้วย แต่จะต้องหาเหตุผลมาอ้างในการขออนุญาต ในที่สุดก็อ้างว่าเพื่อใช้ในการถ่ายทอดการประกวดนางสาวไทยประจำปี ๒๕๑๐ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธ ที่จอมพลประภาสเป็นนายกสมาคม
ขณะที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีได้นั้น เหลือเวลาก่อนที่จะถึงกำหนดประกวดนางสาวไทยเพียง ๒ เดือนเศษ เฑียรร์ กรรณสูตจึงหมุนโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทมาโคนี ที่เยอรมัน ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ แต่ได้รับคำตอบว่าเสียใจ อุปกรณ์เกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์นั้นไม่มีการผลิตไว้ล่วงหน้า จะผลิตก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งซื้อเป็นรายๆไป และในเวลาจำกัดเช่นนั้นก็ไม่อาจผลิตได้ทัน
เฑียรร์หมุนไปยังบริษัทฟิลิปส์ที่ฮอลแลนด์อีกแห่ง ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน จึงขอพูดกับประธานบริษัทฟิลิปส์โดยตรง ซึ่งประธานก็บอกเห็นใจ แต่ช่วยไม่ได้จริงๆ และบอกว่ายังไม่เคยมีสถานีโทรทัศน์แห่งใดในโลกที่ตั้งขึ้นได้ในเวลาสั้นๆเพียงแค่นี้ แต่ก็แย้มให้ฟังว่า ขณะนั้นได้ประกอบอุปกรณ์สำหรับสถานีโทรทัศน์สีไว้ชุดหนึ่งแล้ว ตามคำสั่งของประเทศหนึ่งในเอเชียเหมือนกัน แต่เป็นระบบ PAL ไม่ใช่ระบบ NTSC ที่ไทยใช้อยู่ เฑียรร์ว่าถ้าจะขออุปกรณ์ชุดนี้ก่อนได้หรือไม่ ประธานบริษัทฟิลิปส์รับว่าให้ได้ เพราะยังมีเวลาประกอบให้ผู้สั่งซื้อได้ทัน แต่ก็ไม่อาจประกอบรถถ่ายทอดให้ได้ทัน ซึ่งไทยต้องเริ่มออกอากาศด้วยการถ่ายทอดนอกสถานที่จากเวทีประกวดนางสาวไทย เฑียรร์ว่าถ้าเช่นนั้นก็ขอให้รีบส่งอุปกรณ์ทั้งหมดขึ้นเครื่องบินมาเลย จะประกอบรถถ่ายทอดเอง ซึ่งประธานบริษัทฟิลิปส์ก็รับว่าจะส่งมาให้โดยเร็วที่สุดพร้อมคำอวยพร
เฑียรร์สั่งบริษัทกรรณสูตให้ส่งรถเมล์เฟียตคันที่จอดอยู่ในห้องโชว์ที่ศาลาแดง ไปจอดรอที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า พอเครื่องส่งของบริษัทฟิลิปส์มาถึงก็ยกเข้าติดตั้งบนรถเมล์ทันที ปิดภายในกันแสงและเสียง แต่เครื่องส่งจะต้องอยู่ในห้องแอร์ขณะทำงาน และรถก็ไม่อาจติดเครื่องได้ขณะออกอากาศ เพราะจะทำให้สั่นสะเทือน เฑียรร์จบวิศวกรด้านเครื่องปรับอากาศจากสหรัฐอเมริกา จึงเอาเทเลอร์รถจิ๊ปกลางมาพ่วงท้ายรถเมล์ ติดตั้งเครื่องทำไฟที่เคยใช้ถ่ายหนัง ปั่นไฟสำหรับเครื่องแอร์และเครื่องส่งในรถโดยไม่ทำให้รถสะเทือน รถถ่ายทอดทีวีสีคันแรกของไทย จึงเสร็จทันกำหนดออกอากาศได้ด้วยวิธีนี้
ประธานบริษัทฟิลิปส์แทบไม่เชื่อหูเมื่อได้ข่าวว่า สถานีโทรทัศน์สีของไทยออกอากาศได้ทันกำหนด เขาบินมาดูด้วยตนเอง และเดินจากตึกสำนักงานบริษัทฟิลิปส์ที่ถนนสีลม ไปบ้านเฑียรร์ กรรณสูตที่หลังบริษัทกรรณสูต ศาลาแดง เพื่อแสดงความยินดีและชื่นชม
เวทีประกวดนางสาวไทยในปีนั้นจัดที่สนามไชย รถถ่ายทอดทีวีสีเข้าจอดข้างกำแพงวังสราญรมย์ ตั้งเสายิงสัญญาณไปออกอากาศที่เสาของสถานีกองทัพบก สนามเป้า อนุมาศ บุนนาค ผู้กำกับการแสดงหนังไทย นั่งกำกับรายการทีวีเป็นครั้งแรกอยู่ในรถถ่ายทอด ผู้เขียนอยู่ในทีมบุกเบิกนี้ด้วย รับหน้าที่ผู้กำกับเวทีอยู่หน้าเวทีประกวด ขณะนั้นอุปกรณ์การสื่อสารระหว่างผู้กำกับเวทีกับผู้กำกับรายการยังไม่มีการติดตั้ง ต้องอาศัยสายกล้องตัวใดตัวหนึ่งติดต่อกับผู้กำกับในรถ
ทีมงานของช่อง ๗ สีรุ่นบุกเบิกนั้น ฝ่ายภาพและเสียงเกือบทั้งหมดปลดบ่ามาจากกองเครื่องช่วยการศึกษา กองทัพเรือ ซึ่งทำงานด้านนี้และเคยร่วมงานกับอนุมาศถ่ายหนังทหารเรือมาก่อน มี ร.อ.เนื่อง แผลงจันทึก กับ ร.อ.สล้าง ศราภัยวานิช เป็นช่างภาพโทรทัศน์สีคู่แรก มีเรือเอก เรือโท พันจ่าจากกองเดียวกัน ตัดสินใจปลดบ่ามากว่า ๑๐ คน
ส่วนทีมช่างเทคนิค ร.อ.ชายชาญ กรรณสูต บุตรชายของเรวดี เทียนประภาส และเป็นพี่ชายของ “คุณแดง” สุรางค์ เปรมปรีดิ์ อดีตเจ้าแม่ช่อง ๗ สี ซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน นนทบุรี นำลูกศิษย์ที่กำลังจะจบมาร่วม
ด้านข่าวนั้น ถาวร สุวรรณ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าข่าว พร้อมด้วยนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคน อาทิเช่น ทวี เกตะวันดี เจน จำรัสศิลป์ ปรีชา สามัคคีธรรม ผุสดี คีตวรนาฏ รวมทั้งมงคล วัชโรบล หัวหน้าข่าวของช่อง ๗ สีคนต่อมา มี ราชัณย์ ฮูเซ็น เป็นหัวหน้าข่าวต่างประเทศ และยังมี ชูพงษ์ มณีน้อย ละทิ้งอาชีพครูมาเริ่มงานข่าวเป็นครั้งแรก มี ชัชฎาภรณ์ ลักษณาเวช รองนางสาวไทยเป็นผู้ประกาศรายการตอนเปิดสถานี
หลังจากงานประกวดนางสาวไทย โทรทัศน์สีสถานีแรกต้องหยุดออกอากาศชั่วคราว เพราะฝ่ายรายการยังตั้งหลักไม่ทัน มาเริ่มใหม่ด้วยการถ่ายทอดแสงสีของพลุในงานปีใหม่ ๒๕๑๑ จากนั้นรถถ่ายทอดก็กลับมาจอดที่สถานีสนามเป้า ลากสายเข้าไปขอใช้ห้องส่งของช่องขาว-ดำ ทำรายการดนตรี รายการ “๒๐ คำถาม” ของ พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง ที่มี ดำรง พุฒตาล และ ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เป็นพิธีกร ผู้เขียนเป็นผู้กำกับรายการก็ยังนั่งอยู่ในรถ จากนั้นยังออกไปถ่ายทอดกีฬาเซียฟเกมส์ ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ บันทึกภาพรายการดนตรีลูกทุ่งนอกสถานที่ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกมิวสิควีดิโอ
ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งกันในกลุ่มผู้ก่อตั้ง ทีมงานสายเฑียรร์ กรรณสูต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักหนังสือพิมพ์จึงใช้ประเพณีคนหนังสือพิมพ์ “มาด้วยกันไปด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย” ยกทีมตามเฑียรร์ กรรณสูตออกมา เหลือแต่กลุ่มทหารเรือและเทคนิคไทย-เยอรมัน ซึ่งก็ออกอากาศได้โดยไม่สะดุด และก้าวต่อมาจนรุ่งเรืองในวันนี้
นี่ก็เป็นตำนานโทรทัศน์สีสถานีแรกของไทย ซึ่งทำให้โทรทัศน์เมืองไทยต้องเปลี่ยนระบบจาก NTSC ที่ใช้มา ๑๓ ปีแต่แรกเริ่ม มาเป็นระบบ PAL ในทุกวันนี้