ทุกอย่างล้วนมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นวัฏจักร
สัจธรรมดังกล่าวข้างต้น ถูกยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในความคิดเห็นในเว็บไซต์ยอดนิยม www.pantip.com ต่อกรณีการลาจอของรายการทอล์กโชว์ที่มีอายุยาวนานถึง 23 ปี อย่างรายการ “เจาะใจ” ของเจเอสแอล ที่อยู่ยั้งยืนยงคู่กับผังรายการของ ช่อง 5 มายาวนาน โดยไม่มีการย้ายช่อง ย้ายวัน (มีแต่เพิ่มเวลา)
ระยะเวลา 23 ปีของรายการ “เจาะใจ” นั้น นับได้ว่าเป็นรายการทอล์กโชว์ที่ออกอากาศอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว โดยเทปสุดท้ายของรายการ ออกอากาศไปเมื่อค่ำคืนของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12 มีนาคม 2558) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 2 ผู้หญิงเก่ง อย่าง "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ และ "รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก่อนจะอำลาตัวเองจากผังรายการช่อง 5 (แต่ยังไมได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีการย้ายผังไปอยู่ช่องหนึ่งช่องใดในอนาคตหรือไม่ ประการใด)
โดยในกระทู้เดียวกัน ก็มีการแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่เสียดาย และเห็นชอบด้วย
เบื้องหลัง เบื้องลึกของการปิดตำนานรายการน้ำดี อย่าง “เจาะใจ” ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากไปกว่า การพ่ายแพ้ต่อกระแสการแข่งขันอันเชี่ยวกรากของรายการทีวี ที่ไหนจะต้องแข่งกันเองในหมวดของฟรีทีวี แถมตอนนี้ยังมีคู่แข่งตัวฉกาจอย่างทีวีดิจิตอลเพิ่มเข้ามาอีก
ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าพักหลังเนื้อหาสาระใน “เจาะใจ” ก็เริ่มไม่มีอะไรให้ชวนติดตาม จริงอยู่ที่รูปแบบรายการ จะไม่ใช่ทอล์กโชว์ที่มีแขกรับเชิญแบบโหนกระแส ไม่มีการหยิบประเด็นฉาวของแขกรับเชิญมาสร้างจุดขาย เฉกเช่นรายการทอล์กโชว์อื่นๆ แต่ประเด็นของการพูดคุยกับแขกรับเชิญที่ถูกเลือกเฟ้นมาสัมภาษณ์ในรายการ ก็ไม่ได้ลุ่มลึกเหมือนแต่เก่าก่อน ระยะหลังเรตติ้งจึงไม่ได้อยู่ในระดับที่ชวนให้เหล่าเอเยนซีจะต้องทุ่มงบโฆษณาให้เหมือนเดิม
และก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ภาพรวมของช่อง 5 เอง ในภาวะนี้ก็ดูนิ่งสนิท รายการต่างๆ ในผัง ก็ไม่มีอะไรที่ หวือหวา น่าค้นหา น่าติดตาม พันธมิตรเบอร์ใหญ่ๆ ที่เคยเป็นกำลังหลักในการผลิตรายการ , ละครดีๆ อย่าง “เอ็กแซ็กท์” หรือแม้กระทั่ง “เวิร์คพ้อยท์ฯ” ก็ทยอยถอนรายการออกไป เพื่อไปสร้างคอนเทนต์ในช่องดิจิตอลของตัวเอง
“เจาะใจ” จะต่อสู้แบบ “หัวเดียวกระเทียมลีบ” ก็เหนื่อยเปล่า
ในอีกมุมหนึ่งการลาจากของรายการทีวีรายการใด รายการหนึ่ง ก็อาจจะนำพาให้เกิดรายการรูปแบบใหม่ ความคิดใหม่ มุมมองใหม่ ที่จะถูกนำมาบรรจุในผังของรายการแทนที่ อาจจะเป็นการดีกว่าที่จะทนทู่ซี้ดูรายการเดิมๆ ที่นับวันก็มีแต่จะร่วงโรยลงไป
เฉกเช่นเดียวกับเมื่อ 23 ปีที่แล้ว “เจาะใจ” ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแทนที่รายการเดิมที่หลุดผังไปเช่นเดียวกัน โดยในคราวแรกนั้นใช้ชื่อรายการว่า “เจาะใจใส่จอ” ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2534 โดยนำเสนอในรูปแบบทอล์กโชว์ และเกมโชว์ในช่วงท้าย มีเนื้อหาเน้นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว จนถึงปลายปีแรกที่ออกอากาศ จึงได้ตัดชื่อท้ายรายการเหลือเพียง "เจาะใจ" และปรับรูปแบบเป็นรายการทอล์กโชว์อย่างเต็มตัว
และอย่างที่บอกว่า “เจาะใจ” ไม่ใช่ทอล์กโชว์ประเภทโหนกระแส หรือขายประเด็นฉาว แขกรับเชิญส่วนใหญ่ของรายการ จึงมักจะเป็นบุคคลที่มีความน่าสนใจหรือมีความสำคัญ ในหลากหลายวงการ หลากหลายสถานะ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง กีฬา บันเทิง สังคม พูดง่ายๆ ว่าคนดังในเกือบจะทุกวงการ กระทั่งมหาเศรษฐีระดับโลก ก็ล้วนเคยมาออกรายการนี้แล้วทั้งสิ้น หรือบ่อยครั้งก็มีแขกรับเชิญเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีแง่มุมของชีวิตที่น่าสนใจ น่าติดตาม น่าค้นหา
สถิติที่น่าสนใจของรายการ “เจาะใจ” ที่ถูกบันทึกไว้ก็คือ เป็นรายการทอล์กโชว์ที่มีนายกรัฐมนตรีมาเป็นแขก รับเชิญในรายการมากที่สุดถึง 7 ท่านด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็มีการผลัดเปลี่ยนพิธีกรมาหลายยุคหลายสมัย ทั้ง ดำรง พุฒตาล, สัญญา คุณากร, นารากร ติยายน, ปิติ ภิรมย์ภักดี, จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์, ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์, เชษฐวุฒิ วัชรคุณ, สุวิกรม อัมระนันทน์, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดีเจ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร กวาดรางวัลต่างๆ มาแล้วจากหลากหลายสถาบัน
ไม่เพียงแต่ “เจาะใจ” เท่านั้น ที่มีเหตุให้ต้องลาจอ เพราะไม่อาจทานต่อกระแสการแข่งขันในวงการทีวีไปได้ อีกหนึ่งรายการระดับตำนาน ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องปิดตัวเองลงไปในเร็ววันนี้ ก็คือ “7 สี คอนเสิร์ต”
ทว่าเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ “7 สี คอนเสิร์ต” มีแนวโน้มว่าจะต้องลาจอ น่าจะมีมูลเหตุมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะยุคนี้ คนดูส่วนใหญ่อาจจะไม่นิยมการไปดูคอนเสิร์ตถ่ายทอดสดตามลานต่างๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะมีช่องทางอื่นๆ ให้ติดตามมากมาย ไม่ว่าจะดูจากเว็บไซต์ www.youtube.com หรือกระทั่งสถานบันเทิงต่างๆ ก็มีให้ติดตามกันไม่หวาดไหว พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้แฟนๆ สามารถพบปะตัวเป็นๆ ของศิลปินนักร้องคนโปรดได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปเบียดเสียด ยัดเยียดตากแดดตากลมดูจากรายการถ่ายทอดคอนเสิร์ตเหมือนก่อนเก่า
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ต้องยอมรับว่าศิลปินในยุคหลัง น้อยคนนักที่จะมีบารมีมากพอที่จะดึงผู้คนให้ออกมาติดตามรายการถ่ายทอดคอนเสิร์ต เมื่อไม่มีศิลปิน รายการก็ไม่มีคอนเทนต์ ระยะหลังเราๆ ท่านๆ จึงมักจะเห็น “7 สีคอนเสิร์ต” กลายเป็นรายการโปรโมตละครของช่อง ที่เกณฑ์ดารา-นักแสดงในสังกัดมาร้องเพลงโชว์ ในลักษณะเดียวกับที่ช่อง 3 มี “ทีวี 3 สัญจร” ซึ่งนับว่าเป็นคอนเทนต์ในรูปแบบเดียวกัน ทว่าแข็งแรงกว่า เพราะเล่นเดินสายไปตระเวนคืนความสุขแฟนๆ ของตัวเองกันทั่วประเทศ
และด้วยรูปแบบรายการเองที่ไม่สามารถจะ “ฉีก”ตัวเองไปไหนได้มากกว่านี้อีกแล้ว ก็ควรอยู่ที่จะต้องพิจารณาตัวเอง ว่ามิอาจจะหยัดยืนต่อสู้ท่ามกลางกระแสการแข่งขันเพื่อช่วงชิงเรตติ้ง ที่ห้ำหั่นกันด้วยเนื้อหา และการครีเอทีฟ ขณะที่รายการจากคลื่นลูกใหม่ที่สดกว่า เจ๋งกว่า ถาโถมเข้ามาไม่หยุด
“7 สีคอนเสิร์ต” เป็นรายการถ่ายทอดสอคอนเสิร์ตที่มีอายุยาวนานมากที่สุด ถึง 29 ปี (รายการ “โลกดนตรี” ที่บุกเบิกมาก่อน มีอายุเพียง 25 ปี) ออกอากาศครั้งแรกวันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2529 โดยในยุคแรกนั้น ถ่ายทอดสดจากลานเพลิน 7 สี ภายในบริเวณสถานีนั่นเอง ก่อนจะโยกย้ายมาหลายที่ กระทั่งมาสิ้นสุดที่ลานไนน์สแควร์ ศูนย์การค้าเดอะไนน์เซ็นเตอร์ ถนนพระราม 9 ในปัจจุบัน มีพิธีกรมาแล้วทั้งหมด 15 คน โดยแบ่งออกเป็น 9 คู่ เริ่มจากคู่ของ “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” กับ “มยุรา เศวตศิลา” มาจนถึงคู่ของ “น้ำ-รพีภัทร เอกพันธ์กุล” และ “เชียร์-ทิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์” ศิลปินเพลงเกือบทุกคน เกือบทุกค่ายล้วนเคยขึ้นเวทีนี้มาแล้วทั้งสิ้น แม้กระทั่งศิลปินต่างประเทศหลายคนก็ยังเคยมาเยือนแต่เมื่อ “ความเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์” แม้กระทั่งรายการระดับตำนานอย่าง “เจาะใจ” หรือ “7 สีคอนเสิร์ต” เอง ก็มิอาจหลีกหนีความจริงในข้อนี้ได้เช่นเดียวกัน
ในเมื่อหมดแรงจะ “ยื้อ” ก็จำต้อง “ยุบ” เป็นเรื่องธรรมดา
ที่มา นิตยสารASTV สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 280 14-20 มีนาคม 2558