xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์เมสเซนเจอร์ “มนตรี ฉันทะยิ่งยง” สองล้อ Premium Rush แห่งเมืองไทย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"BikeXenger" ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าชื่อนี้คงไม่คุ้นหูใครหลายคนเท่าใดนัก หากแต่บอกว่าเป็นอาชีพปั่นจักรยานทำงานสร้างรายได้อย่างในภาพยนตร์ Premium Rush ที่โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์ นำแสดง คงร้องอ๋อ! พร้อมๆ กับมโนนึกภาพบรรยากาศที่ประเทศอื่น

ทว่า "BikeXenger" ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือธุรกิจที่เกิดขึ้นในเมืองไทย และมีมานานกว่า 4 ปีแล้ว ท่ามกลางเมืองหลวงหนึ่งในมหานครที่การจราจรแออัดติดอันดับโลกแห่งนี้ โดยหนุ่มอดีตวิศวกร "มนตรี ฉันทะยิ่งยง" ที่เบื่อปัญหารถติด หันมาเลือกใช้จักรยานในการทำงาน ก่อเกิดเป็นกลุ่มก๊วนมิตร “จักรยาน” ที่นำไปสู่ต้นแบบความฝันของสิงห์นักปั่นจักรยานทุกคน

ก่อนจะเป็น...
สิงห์เมสเซนเจอร์

"จริงๆ เริ่มเลย ผมก็เป็นคนกรุงเทพฯ อยู่โตจนไปทำงานต่างจังหวัด เป็นวิศวกรประมาณ 10 ปี แล้วก็กลับมาทำงาน ทีนี้มันก็รู้ปัญหาการจราจร เวลาเดินทางไปทำงานหรือไปไหนมาไหน ลำบาก เสียเวลา รถติด ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ไม่ชอบ มันก็ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลง เลยเลือกที่จะขี่จักรยาน เพราะเป็นสิ่งที่รวดเร็วและควบคุมได้"

สิงห์เมสเซนเจอร์หัวเรือใหญ่สองล้อแห่ง BikeXenger เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่การจับพลัดจับผลูในการหลีกหนีปัญหาจราจร กลายมาเป็นความชอบและสามารถสร้างธุรกิจด้วยการปั่นจักรยานคนแรกของประเทศไทย

"คือหลายคนอาจจะสงสัยว่า เป็นถึงขั้นวิศวกร แต่มาปั่นจักรยานไปทำงาน ก็เพราะต้องบอกว่าผมเป็นวิศวกรก็จริง แต่ผมเป็นวิศวกรโรงงาน ผมก็เลยชอบอะไรลุยๆ หน้างานมากกว่า ผมไม่ใช่วิศวกรนั่งโต๊ะ ผมจะเป็นคนที่เคลียร์ปัญหา เข้าไปจัดการ ปัญหาต่อหน้า ก็แค่นั้น แล้วผมก็ไม่ได้มองว่าเพี้ยนด้วย เพราะสิ่งที่ไม่เพี้ยน คือผมเริ่มมาจากสิ่งที่เราทำมาก่อน ก็เราปั่นจักรยานมาทำงานระยะทาง 40 กิโลเมตร ไป-กลับ รวมไม่ถึง 4 ชั่วโมง ในขณะที่ก่อนหน้านั้น นั่งรถอย่างไร คิดหาวิธีที่สั้นที่สุดอย่างไร ก็ใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง ต้องตื่นต้องแต่ตี 4 กว่าเพื่อจะถึงที่ทำงานทันเวลา ไม่ได้นั่งรถไฟฟ้า นั่งรถเมล์ 3 ต่อ จากบ้านไปลงหัวลำโพงแล้วก็มีรถเมล์วิ่งยาวไปถึงลาดกระบัง แล้วสายนี้ผ่านเส้นรามคำแหงด้วย ก็เรียบร้อย ถึงลาดกระยังก็ต้องไปต่ออีก หรือจะนั่งรถเมล์ที่ขึ้นทางด่วนก็ติดแต่เช้าเหมือนกัน ตี 5 หรือ 6 โมงเช้าก็มากันเต็มแล้ว คือเดินทางอย่างนี้ทุกวันก็ไม่ไหวหรอก"

นั่นเองที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยน ซึ่งหนุ่มไบค์เมสเซนเจอร์เล่าว่า ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ปั่นเล่นหรือปั่นออกกำลังกาย ตามเทรนด์สมัยนิยมแต่อย่างใด หากย้อนกลับไปก็ต้องช่วงของวัยเรียนที่อาจจะมีโอกาสได้จับหยิบใช้สองล้อบ้างบางคราว

"ก็ไม่ปั่นเล่นเลย คิดได้ก็ไปปั่นเลย ก็ไหวนะ (หัวเราะ) เพราะเราปั่นเรื่อยๆ ไม่ได้เร่งไม่ได้รีบ ถามว่าเหนื่อยไหมมันก็เหนื่อย เพราะมันเป็นครั้งแรก แต่ว่าก็ใช้ใจ พอใช้ใจ มันก็ไม่เหนื่อย คือมันก็ยังดีกว่าเรามานนั่งทรมานไปแต่เช้า เช้านั่งเฉยๆ นอนหลับบนรถเมล์ มันก็ไม่เวิร์ก สู้ปั่นจักรยานดีกว่า มันตื่นตัวตลอดเวลา ชั่วโมงกว่าก็ถึงที่ทำงานแล้ว ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ปั่นเรื่อยๆ ถึงลาดกระบัง

"ปั่นไปปั่นมา ก็เริ่มรู้เส้นทาง จากนั้นเราก็อยากจะมารู้จักคนที่ขี่จักรยานด้วยกัน ก็ไปเจอกลุ่มคนจักรยานที่รวมตัวกันหลังเลิกงานแถวสยามสแควร์ เราก็เกิดการร่วมตัวกันที่จามจุรีสแควร์ เราก็ได้เพื่อนๆ ที่ชอบปั่นจักรยาน แล้วเราก็ปั่น ปั่นเล่นๆ เหมือคนที่ปั่นในสมัยนี้ เกิดเป็นกลุ่ม เกิดเป็นคอมมูนิตี้ เกิดสังคมขึ้นมา"

"ผ่านไป 2 ปี เราก็อยากจะทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง คือคนขี่จักรยานอยากจะทำอะไรเพื่อรณรงค์ให้คนมาขี่จักรยานอยู่แล้ว มาเป็นเพื่อนเรา มาขี่จักรยานกันเยอะๆ เราก็ทำกิจกรรมตัวหนึ่งขึ้นมา ก็เปิดเป็นร้านค้าจักรยานออนไลน์ ตอนนั้นร้านออนไลน์เริ่มเข้ามาแล้ว ก็รับบริการซื้อของที่จักรยาน ขายของที่เป็นจักรยานทุกอย่าง พอได้เงินส่วนนี้มา ก็เอาไปซื้อจักรยานให้กับเด็กที่เดินทางไปเรียนลำบาก มีปัญหา ตามต่างจังหวัด ทีนี้ ทำไปทำมาก็อยากจะทำให้มันยั่งยืน ตอนนั้นเราก็เลยเอาประสบการณ์การปั่นจักรยานเพื่อหารายได้ส่งไปประกวดของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.)"

ได้รับรางวัลและเงินทุนสนับสนุนจนเกิดเป็นโครง BikeXenger ด้วยความคิดที่ว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ ทำง่ายและทุนต่ำ ใช้เพียงแรงกาย แต่แล้วขั้นตอนการทำงานก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะด้วยการทำงานประจำเป็นวิศวกร ทำให้ไม่สามารถควบคุมดำเนินการได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังเนื่องด้วยประสบการณ์ของนักปั่นที่มีไม่มากพอ จนทำให้ BikeXenger เกือบจะต้องล้มลง

"ปีแรกก็เจอปัญหาเลย คือด้วยตอนนั้นทำงานประจำอยู่ด้วย เราเลยไม่ได้ลงลุยงานเอง เรารับนักศึกษาพาร์ตไทม์มาทำงาน เวลาเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า ยางแตก ยางรั่ว รถมีปัญหา ของก็หยุด ไม่ถึงมือบ้าง ถึงช้าบ้าง คือเราลองเล่นๆ เราทำได้ แต่เอางานจริงๆ เล่นไม่ได้ มันมีเวลาในการควบคุม มันมีลู่ที่คุณต้องชัดเจน มันมีรายละเอียดที่คุณจะต้องปฏิบัติ มันเป็นโพรเซส เป็นลอจิสติกส์ เป็นแมเนจเมนต์ ทุกอย่างคุณต้องเป็น ถ้าคุณไม่เป็น ทุกอย่างมันจะแย่ มันก็จะเสีย เลยต้องกระโดดลงมาทำเอง"

"นั่นคือจุดเริ่มที่ต้องออกจากวิศวกร"
มนตรีว่าถึงทางที่ต้องเลือก ซึ่งในขณะที่หลายคนอาจจะไม่กล้าสุ่มเสี่ยง

"เพราะมันจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สองอย่างไม่ได้ ตอนนั้นไม่ได้จริงๆ เพราะว่าถ้าเราไม่เลือกตรงงานประจำ ตรงนี้ที่เราทำมา สิ่งที่เรารักที่เราสร้าง มันไม่รอดแน่ๆ มันจะตายทันที เพราะไม่มีใครทำได้เลย ไม่มีผู้เสียสละในการที่จะออกมาทำงาน คือเราจะเอาเงินไปทุมอย่างเดียวแต่ว่าไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเลย ไม่ได้"

"คือหลายคนอาจจะไม่กล้า ซึ่งผมเข้าใจ เพราะว่าเรื่องของความมั่นคง เรื่องของรายได้ คือแรกๆ ต้องบอกว่าเฉือนเนื้อตัวเอง แต่ไม่ลึกมาก เพราะผมทำด้วยความพอเพียง คือผมก็มีในสิ่งพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ผมไม่ได้ขวนขวายที่เราต้องการบ้าน ต้องการรถเพิ่ม อีกอย่างแฟนผมก็ไม่มีด้วย ผมเลยคิดว่าภาระตรงนี้ผมมันน้อย ก็ตัดใจออกมาได้

"ต้องบอกว่าสิ่งที่คุณฝัน คุณต้องดูความสามารถว่าคุณมีความสามารถอะไร คุณต้องทำตรงนั้นให้เป็นมืออาชีพให้ได้ ไม่ว่ามันจะแป้กจะล้ม ล้มแล้วคุณต้องลุก ไม่มีสิ่งใดที่มันสวยหรูหรอก ของผมที่ทำก็มีล้มมีแป้กมีอะไร แป้กบ้างดีบ้าง คือทำแล้วคุณพอเพียง คุณอยู่ได้หรือเปล่า เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คุณสร้างมันขึ้นมา คุณต้องจัดการมันให้ได้ แล้วจะบริหารงานมันอย่างไร ให้มันอยู่ได้ เมื่อมันอยู่ได้ มันก็จะมีชื่ออยู่ตรงนั้นตลอดไป มันก็เป็นสิ่งที่คุณสร้างขึ้นม เอาอย่างไรก็ได้ ให้มันอยู่ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราทำงานแล้วมันทำงาน ในสิ่งที่รัก

"คือเราดูว่าชีวิตเราเรามีสิ่งใดบ้างที่เราขาด ที่เราต้องการ คือต้องบอกว่าบางอย่างถ้าคุณไม่รีบทำในตอนอายุที่สามารถทำได้ คุณจะไม่มีโอกาสได้ทำเลย ไม่มีโอกาสได้ทำมันเลย จะไปรอทำตอนแก่ ก็ทำไม่ได้ คุณก็เป็นแค่นักคิด ไม่ใช่นักปฏิบัติ ก็คล้ายๆ ที่เขาชอบพูดบอกว่า "ยามมีแรงเราไม่มีเงิน ยามมีเงินเรากลับไม่มีแรง"

ความสำเร็จบนสองล้อ
อย่าท้อ และปั่นไปให้ถึงฝัน

ด้วยเหตุนี้ หลังจากเลือกตัดสินใจลงมือทำด้วยตัวเอง ต่อให้มีปัญหาสักเพียงใดก็ต้องสู้ฝ่าฟัน

"ผมก็ลงมาปั่นเองกับเพื่อน เพื่อนก็อยู่ในกลุ่ม ก็ปั่น เขาก็เป็นทนายด้วย ก็ปั่นด้วยกันสองคน ปฏิบัติสองคน ปีหนึ่งเต็มๆ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมันหายไปทันที (ยิ้ม) คือหลักๆ ผมจะรู้จักกับทางร้านจักรยานทั่วๆ ไปเกือบทั้งหมด พอรู้จัก เวลามีปัญหา เราก็เดินทางไปหาในแหล่งที่เป็นร้านจักรยานใกล้ๆ แต่เราต้องมีอะไหล่สำรอง ยางในนะครับ ยางนอกไม่ต้อง สามารถเปลี่ยนถ่ายได้ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ที่สำคัญยางนอกที่เราใช้ต้องเป็นยางที่ทนต่อเศษแก้ว ตำปู เสี้ยน แล้วก็ต้องใช้ได้ดีด้วย ที่ผ่านมาผมใช้อย่างนี้ มันก็รั่วยาก ปีหนึ่งอาจจะครั้งเดียว

"คือถ้ามีปัญหา เราก็พยายามจะไปหาร้านพวกนี้ ร้านจักรยานใกล้ๆ ที่เรารู้จัก เหมือนเรามีคอนเนกชัน เราสร้างขึ้นมา ปัญหาตรงนี้มันก็ดับทันทีเลย กลายเป็นง่ายไปเลย" มนตรียกการแก้ปัญหาระหว่างทำงานด่านแรกเบื้องต้นที่ต้องรับมือให้ฟัง ก่อนที่ถัดไปจะเป็นการจัดระบบ รูปแบบ การทำงาน โดยยึดหลักการที่สำคัญ “เวลา” เป็นที่ตั้งอันดับแรก


"แก้ปัญหาเรื่องคนแล้ว ก็เป็นพวกเนื้องานที่เกี่ยวข้อง คือเรื่องการส่งงาน งานเอกสารมันค่อนข้างยาก เพราะสิ่งที่สำคัญก็คือการติดต่อสื่อสาร การเข้าใจ การทำงานมันต้องมีสเต็ปในการทำงานแล้วว่าต้องทำยังไง ต้องติดต่อกับใคร ต้องขึ้นที่ไหน ต้องอะไรบ้าง มันเริ่มต้นตั้งแต่สถานที่ๆ เราไปจอดจักรยาน เราจะไปจอดที่จอดมอเตอร์ไซค์ไหม เพราะว่าทุกอย่างมันมีเวลา เราทำไมต้องวนไปจอดในที่จอดมอเตอร์ไซค์ ที่จอดมอเตอร์ไซค์ ถามว่า ถ้าเราเป็นคนใหม่ๆ เรารู้จักไหม ก็ไม่ เราก็มึนหมุนอยู่ตรงนั้นแหละ จะจอดหน้าอาคารก็ไม่ได้

"มันก็มีบางอย่างให้เราสามารถจอดได้ คือมันเป็นถนนของสาธารณะทางเท้าก็ไปจอดก่อนกับเสาหรือเหล็ก อันนี้มันจะเร็วกว่าเราวิ่งเข้าไปจอดที่ช่องจอดมอเตอร์ไซค์ ยกเว้นในที่จอดมอเตอร์ไซค์อยู่ใกล้ๆ ทางประตูเข้า ทางขึ้นไปตึกอย่างนั้นถือว่าโอเค แต่บางทีเราจอดข้างถนน เรามีที่ล็อคที่ดี ดีพอที่จะป้องกัน ก็จอดข้างถนนก็สามารถขึ้นส่งได้เร็วกว่า เราไม่ต้องแลกบัตรตอนจอดอีกด้วย แลกตอนเข้าตึกอย่างเดียว

"คือมันก็จะช่วยลดเรื่องเวลา จากนั้นขั้นตอนการเดินเอกสารหรือพัสดุก็ตามขั้นตอน เพียงแต่ผมจะไม่รอตอนเซ็นรับ-ส่งของ เพราะตอนก่อนที่ผมกลับมาทำงานในกรุงเทพฯ ผมเคยสังเกตชีวิตของคนที่เป็นเมสเซนเจอร์มอเตอร์ไซค์ว่าเขาเป็นอย่างไร คือเขามาหาเรา ผมก็เข้าใจว่าเขามาหาผม เขาทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อะไร ก็จะเสียเวลานั่งรอ ผมก็เห็นว่าทำไมเขาต้องนั่งรอ คืองานพวกนี้ผมรู้ว่าไม่ควรจะเสียเวลา การรอคอยเป็นเรื่องศูนย์เปล่า ฉะนั้น ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ตั้งแต่เขาติดต่อมาแล้ว มันต้องมีของเตรียมให้เขาแล้วเรียบร้อย พร้อมที่จะให้เขาเซ็น ให้เขารับไปเลย"

ทุกครั้งก่อนจะถึงที่หมาย มนตรีจะโทรศัพท์ให้ลูกค้าเตรียมตัว จนเป็นมาตรฐานไปโดยปริยาย และด้วยระบบระเบียบจากกลุ่มลูกค้าหลักเดิมที่มีเพียงร้านอาหารที่เคยเห็นหน้าค่าตา ทำธุรกิจเกี่ยวกับสังคมด้วยกัน เรียกใช้บริการธุรกิจสองล้อดิลิเวอรีก็ขยับขยายมีกลุ่มลูกค้ามากมาย ทั้งเอกสาร พัสดุสิ่งของ สินค้า กระทั่ง เช็คการเงิน ฯลฯ

จนถึงวันที่เขาสามารถเอาชนะความเชื่อเดิมที่ว่า จักรยาน “คาวมช้า” เป็นอุปสรรค

"คือเขาเข้าใจความเคยชินไง มันมีคำถามอยู่ในใจของคนที่เป็นลูกค้า หรือทั้งคนที่ไม่ใช่ลูกค้า จักรยานจะเร็วกว่ามอเตอร์ไซค์ไหม มอเตอร์ไซค์ยังไงก็เร็ว ก็ยอมรับว่าเร็ว เร็วแต่สิ่งที่เราจะเร็วกว่าเขา เราเร็วมาจากความคล่องตัว เราชำราญ เรามีประสบการณ์ในการทำงานที่ดี ผมกล้าการันตีว่าในกรุงเทพชั้นในและชั้นกลาง ยังไงคุณก็ไม่มีหลุดหลอก ยังไงผมก็เร็วเท่าเขาแน่นอน เผลอๆ เร็วกว่าด้วยซ้ำ ชั้นใน ชั้นกลาง ชั้นนอกผมไม่การันตีเพราะว่าไกล เนี่ยผมจะเร็วกว่าได้ ผมเชื่อมั่นว่าผมมาตรงเวลา ตรงกว่าเขาแน่นอน ผมจะตรงเวลากว่าเขามากที่สุด ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไร นัด 11 โมงก็ถึง 11 โมง แต่ส่วนมากเราจะไปถึงก่อน

"แล้วงานของเราต้องไว้ใจได้ และทันเวลากำหนด ที่สำคัญก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติว่าการใช้ไบค์เมสเซนเจอร์ที่มันจะทำงานให้เขาได้อย่างไร ดีเพียงไร ถ้าเป็นงานส่งของทั่วไปผมก็ยอมรับว่าเรากับมอเตอร์ไซค์ก็เหมือนๆ กัน แต่ถ้าให้เราทำธุรกรรม ผมว่าผมเหนือกว่า เหนือกว่าในการจัดการ"

มนตรียืนยัน ก่อนจะขยายเพิ่มถึงเนื้องานการจัดการที่ว่า

"เพราะมันมีกำหนดในการทำงาน เวลาของการทำงาน เขาจะมีความสามารถในการทำงานแค่ไหน เวลาในงานแต่ละงานมันก็มีตาราง อย่างรับเช็ควางบิลอย่างนี้ ไม่เกินเท่าไหร่ ตั้งแต่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ มันก็จะมีเวลาที่ถูกบังคับ แล้วเวลาในแต่ละวันเราก็ถูกบังคับอยู่แล้ว พอถูกบังคับ เราก็ต้องดูว่าเวลาทั้งหมดทั้งมวลมันจะทำได้กี่งาน ต่องานต่อวัน กี่ชิ้นที่เราทำ

"การแบ่งก็ง่ายๆ เลย วันหนึ่งมี 8 ชั่วโมง ทำงาน ก็เหมือนตารางเรียน ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงก็จะมี 4 ชั่วโมงให้เราทำงาน บ่ายก็ 4 โมง แต่ว่าการรับเช็ควางบิลมันจะแค่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงครึ่ง พออย่างนี้ งานส่วนใหญ่มันก็ต้องออกมาช่วงประมาณ 10 โมง เราก็ 4 ชั่วโมง-5 ชั่วโมงครึ่ง พอเหลือน้อยมันก็ต้องให้ความสำคัญว่างานพวกนี้ความสำคัญลำดับที่หนึ่ง เราต้องไปทำก่อน ที่เหลือมันจะอัดมาต่อเนื่องมา พออัดมา เราก็ต้องวางแผนวางลำดับ"

ฟังอาจจะดูงงและสับสน ทว่าการเรียนวิศวกร บวกกับประสบการณ์ทำให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้สำเร็จลุล่วงอย่างไม่ติดขัด มนตรีจึงยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เรา

"ก็เหมือนผมเป็นโค้ชนักฟุตบอล ลูกทีมผม 11 คน ผมอยากให้กองหน้าเล่นอย่างไร ใครจะลงไป ใครจะเป็นเซ็นเตอร์ ใครจะเป็นปีก ก็เหมือนกันครับ คิดง่ายๆ นักปั่นก็ไปทำงานในพื้นที่ที่เขาได้ถูกวางตำแหน่งไว้ เราก็ส่งไปทำงาน พอได้งานมา เขาต้องผ่านพื้นที่นั้นแล้ว เขาอาจจะไม่ได้ย้อนกลับมา ผู้เล่นที่สองก็จะผ่านไปรับ ไปเก็บงานในส่วนที่ต้องผ่าน หรือถ้าอยู่ในรัศมีที่เขาอยู่ เราก็จะให้เขาเป็นคนเก็บ ทุกคนที่เก็บเข้ามา อาจจะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันโดยการช่วยกัน พอช่วยกันงานตัวนั้นอีกคนไม่ต้องดึงกลับมาก็โยนให้คนนี้ไป เพราะว่าอย่างที่บอกคือ มันจะสูญเสียเวลาเนื่องจากขั้นตอนเข้าไปติดต่อระหว่างตึก ใช่ไหม ผมไม่ให้ตรงนี้เสีย เอาคนที่ว่างไปใส่ ไปทำงานแทน แล้วก็ดึงงานให้อีกคนที่ออกไป ในเขตโซนพื้นที่หนึ่งให้เป็นคนเล่น เป็นคนจัดการ ต้องคิดอย่างนี้ งานออกมาถึงจะสะดุดน้อยมาก เพราะใช้หนึ่งกับสองคู่กัน หนึ่งวิ่งไปแล้ว สองวิ่งมาเก็บต่อไปตามช่วย"

"มันเป็นการคิดแบบเชิงลอจิสติกส์ ต้องบอกว่าคนที่เรียนวิศวกร จะคิดเรื่องพวกนี้ง่ายมาก ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร งานตัวไหนที่มีความสำคัญ เราต้องวางเอาไว้ก่อน มันต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่ถูกกำหนด พองานที่ 1 มันจบไปแล้ว งานที่ 2 ที่มันแทรกเข้ามา มีอะไร แล้วมีงานเร่งด่วนอะไรบ้างที่สามารถจัดใส่และแทรก ถ้ามันล้นเกินความสามารถของคนนี้ไปแล้ว เราจะให้คนที่ 2 เป็นคนเก็บ เพราะว่าคนที่หนึ่งเขาต้องเล่นตามเส้นทางของเขาให้เคลียร์ ในลู่ของเขา ทีนี้คนที่ 2 ก็ต้องไปเคลียร์ลู่ของเขาเหมือนกัน คนที่ 2 เป็นอย่างไรก็ตามที่ผมต้องวางไว้ ตามรูปแบบงาน งานมันก็จะวิ่งได้เรื่อยๆ 1-2-3-4 ถ้ามากกว่านี้แล้วตัวที่ 3 ก็จะเกิดขึ้น ก็จะวิ่งไปเคลม ไปรับ"

สนนราคาเริ่มต้นที่ 100 บาท จากเขตสาทรข้ามไปยังเขตอื่นเพิ่มอีกเขตละ 50 บาท ตีระยะการใช้เวลารับ-ส่ง ไม่เกิน 30 นาที นั่นจึงทำให้จากที่อาจจะไม่รอด ก็กลับกลายเป็นรุ่ง ในระยะเวลา 4 ปีที่ก่อตั้งขึ้นมา

"ถามว่าคิดว่ารอดไหม ที่รอดก็เพราะว่า มันเกิดมาก่อน พอมันเกิดมาอันแรกมันไม่มีทางที่จะใช้ตัวอื่นหรอก ยังไงผม ไอ้สิ่งที่มันเกิดก่อนมันก็จะมีเรื่องราว มีตำนาน มีโน่นนี่นั่น ขอแค่คุณอยู่กับมันให้นานที่สุด ยังไงทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ต้องมีการขับเคลื่อน การขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า สิ่งของ มันต้องมี ไม่มีแล้วคุณจะไปอย่างไร คุณก็ต้องเดินทาง ต้องเสียเวลาเอง เสียงานหลัก คุณคิดว่างานไหนสำคัญกว่า ก็ต้องแลกกันระหว่างมีคนทำงานให้คุณ"

"ทำงานในสิ่งที่รัก มันก็เติบโตได้ดี มันล้มอย่างไร เย็บหนัง เย็บผ้าต่อให้มันขาดหลายรอบ เราก็ยังทะลึ่งเย็บต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นงานที่รัก คนซ่อมรถก็เหมือนกัน ก็ยังซ่อมไปจนวันตาย ก็ไม่เปลี่ยนงาน

“งานที่ทำเขาสะสมความเป็นมืออาชีพขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะเก่งขึ้นเรื่อย จนถึงเวลาหนึ่ง เขาก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ มันไม่มีใครสู้เขาได้หรอก

"แต่ทั้งหมดนี้ ต้องผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาได้ พอผ่านมาได้จะรู้ว่ามันต้องเดินอย่างไร ต้องฝ่าฟันอย่างไร อันนี้หมายถึงงานทุกชิ้นเลย งานทุกชิ้นมันต้องมีช่วงเวลาที่คุณต้องประสบปัญหา เพียงแต่ว่าคุณกล้าที่จะสู้กับมันหรือเปล่า บางคนสู้ไม่ได้ ก็ลาออกเลย ไม่สนใจแล้ว ไม่ใช่งานผม งานบริษัทของใครก็ไม่รู้ แต่เขาลืมคิดไปว่าถ้าคุณทำงานตัวนี้ ถ้าคุณสู้ คุณได้ คุณจะได้รับรางวัลในอนาคต"
..........................................................................

เคล็ดลับการปั่นอย่างไรให้ปลอดภัย
เป็นมืออาชีพเมสเซนเจอร์ได้

เชื่อว่าข่าวคราวการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักปั่นจะทำให้หลายคนคิดถึงเรื่องความปลอดภัย สำหรับผู้ที่ส่วนหนึ่งแขวนอยู่บนถนนอย่างมนตรี มีวิธีแนะนำอย่างไรที่จะปั่นให้ถูกต้อง

"เพราะว่าการปั่นจักรยานในเมือง มันต้องมีทักษะที่ดี คือตอนนี้มันยังไม่มีโรงเรียนสอนการปั่นจักรยานที่ถูกต้อง ก็ไม่ต่างไปจากคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ธรรมดาแล้วไปขี่บิ๊กไบค์แล้วเกิดอุบัติเหตุ เพราะคุณคอนโทรลรถไม่ได้ คุณไม่รู้จักรถว่ามันเป็นอย่างไร การปั่นจักรยานก็เหมือนกัน คุณต้องรู้ว่าปั่นจักรยานบนถนนต้องมีให้สัญญาณมือ ต้องมีท่วงท่าอย่างไรบ้างให้มันปลอดภัย ต้องทรงตัวให้นิ่งๆ ขี่ไปตรงๆ ต้องเลี้ยวให้มั่นคง

"มันมีวิชาสอน แต่ว่าไม่มีใครสอน เพราะมันเป็นสิ่งที่คนออกมาปั่นใหม่ๆ คุณต้องเรียนรู้ ถามว่าเรียนรู้ด้วยตัวเอง กว่าจะเป็นก็นาน บางคนก็มาแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย ออกไปถนนก็เสร็จ ดังนั้นเราต้องเรียน แต่ไม่มีให้เรียน ก็ต้องไปหาพรรคพวก หาคนที่เป็นกลุ่มเป็นแก๊งเขาสอน เราก็จะได้ในสิ่งที่เขาผ่านมา ได้ประสบการณ์ตรงนั้น เพื่อมาจัดการตัวเองบนถนน"

นอกจากวิธีการปั่นที่ต้องใช้ประสบการณ์ สัญญามือคืออีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพื่อให้ปลอดภัยบนท้องถนน

"คือทำไงก็ได้ให้เขารู้ว่าเราจะไป มาตรฐานสากลมันก็มีอยู่ ถามว่าทำอย่างไรให้เขารู้ โบกซ้ายก็ไปซ้าย ขวาก็ไปขวา ใช่ไหม จะหยุดจะจอด เราก็ต้องชูมือชูไม้หน่อย เพราะว่ามันต่อหลายคน เราไม่มีไฟเบรก แต่ก็ชูมือขึ้นบอกว่าหยุด มอเตอร์ไซค์เขาก็ไม่รู้หรอก แต่ความเร็ว เราช้าอยู่แล้ว นอกจากเรามาด้วยความเร็วสูงจริงๆ เราก็ต้องมั่นใจว่าอยู่ในทิศทางที่มันปลอดภัย ขี่ในกลุ่ม เขาก็มีบอกว่าต้องทำอย่างไร ต้องรักษาอะไรกันไว้ มันก็มีสิ่งที่บอกเหมือนกัน มันมีครับ เมืองนอกเขามีวิชาเรียน"

ถ้ามีสองสิ่งนี้ ไม่จำเป็นต้องเก่งก็สามารถทำงานด้านนี้ได้ ที่เหลือที่จำเป็นต้องมีก็คือ ความรัก และการทำตามคำแนะนำ

"คือต้องบอกว่า พอคุณปั่นจักรยานเป็นแล้ว คุณต้องมีความเชี่ยวชาญด้วย ถึงคุณไม่เชี่ยวชาญ คุณต้องเป็นคนที่สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว หรือถ้าไม่รวดเร็ว คุณต้องทำตามผู้นำได้ดี ทำตามคำแนะนำของคนที่เป็นผู้นำได้ดี คุณเป็นผู้ตามที่ดี มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ถ้าคุณไม่ได้เป็นอย่างนี้ คุณก็ต้องอยู่ในหมวดที่ต้องทำตามคำสั่งให้ดีนะ ถ้าคุณเก่งมาเลย คุณก็ต้องมีอีกแบบหนึ่ง ไม่มีอะไรตายตัว แต่ที่สำคัญก็คือคุณต้องเรียนรู้ด้วย ไม่มีใครเก่งมาก่อน พร้อมที่จะเรียนรู้ในการทำงาน และที่สำคัญคือใจรักเพราะบางทีมันเหนื่อย ปั่นมันเหนื่อย ต้องบอกว่าคุณปั่นจักรยานแล้วให้เราพาจักรยานไป ไม่ใช่จักรยานพาเราไป ให้เราเอาใจนำไว้ก่อน แล้วพาจักรยานไป แล้วมันก็ไปได้เอง"



ขอบคุณสถานที่ ร้าน Moon Rider : 6 ซอยจันทร์ 18/7 แยก 17 แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทร. 09-8382-3487, 08-9479-8784
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ

กำลังโหลดความคิดเห็น