“ความรัก” บางทีก็มีความจำเป็นที่จะต้องเป็น “ความลับ” ด้วยเหตุผลทางสังคมหรือการเมือง ในสมัยก่อน แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีความจำเป็นในเรื่องนี้ จึงมี “โอรสลับ” เกิดขึ้นอยู่หลายองค์ แรกๆก็เป็นเพียงเรื่องกระซิบ ภายหลังก็กระซิบกันอย่างเปิดเผย จนเป็นเรื่องที่ไม่ลับอีกต่อไป
โอรสลับองค์แรกเกิดขึ้นเหมือนนิยาย เมื่อ สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะยังดำรงพระยศเป็นมหาอุปราช ได้เสด็จประพาสทางชลมารคล่องเรือลงมาจากกรุงศรีอยุธยา พอมาถึงเกาะบ้านเลนถูกพายุกระหน่ำจนเรือพระที่นั่งล่ม สมเด็จพระอนุชาทรงว่ายน้ำขึ้นเกาะ และ “ปะ”กับหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ “อิน” จนเกิดตำนานทำให้เกาะบ้านเลนได้ชื่อใหม่เป็น“บางปะอิน”
ทรงได้นางเป็นบาทบริจาริกา ต่อมานางตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นชาย สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงรับบุตรของนางไปเลี้ยงดู แต่ไม่ทรงเปิดเผยว่าเป็นพระโอรส มอบให้พระยาศรีธรรมมาธิราช ซึ่งเป็นสามีของพี่สาวพระสนมคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลในฐานะบิดาเลี้ยง แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า แท้ที่จริงแล้วกุมารผู้นี้เป็นใคร จึงเรียกกันว่า “พระองค์ไล”
พระองค์ไลก็รู้ว่าตัวเองเป็นใคร จึงวางตัวเป็นหัวโจกของเด็กรุ่นเดียวกัน ชอบเล่นเป็นกษัตริย์ขึ้นนั่งว่าราชการบนจอมปลวก โตขึ้นก็เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว
จนถึงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระราชโอรสอีกองค์ของสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ พระองค์ไลซึ่งฝากเนื้อฝากตัวมาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชเป็นพระพิมลธรรม ก่อนสึกมายึดอำนาจ จึงกลายเป็นคนโปรด ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ สมุหกลาโหม มีอำนาจยิ่งกว่าข้าราชการคนใดในแผ่นดิน
ในปี พ.ศ. ๒๑๗๑ พระเจ้าทรงธรรมประชวรหนัก ทรงปรึกษาเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ว่าจะยกราชสมบัติให้พระเชษฐาธิราช ราชโอรสพระชนม์เพียง ๑๔ พรรษา แทนที่จะให้พระศรีศิลป์พระอนุชาตามราชประเพณี เจ้าพระยาศรีวรวงศ์จึงสนองรับสั่ง นำทหารเข้าล้อมวังเมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต อัญเชิญพระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ กำจัดข้าราชการที่คัดค้านด้วยการประหารชีวิตไป ๕ คน ซึ่งสมเด็จพระเชษฐาธิราชได้ตอบแทนเจ้าพระยาศรีวรวงศ์โดยโปรดเกล้าฯขึ้นเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
แต่เป้าหมายของ “พระองค์ไล” ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้
ต่อมาเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้จัดงานศพมารดาอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดกุฎ ซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำกับพระราชวัง เป็นธรรมดาของงานศพมารดาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน บรรดาข้าราชการต่างไปช่วยงานกันเนืองแน่น เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกท้องพระโรงจึงเกือบไม่มีใครเฝ้า ทรงกริ้ว ซ้ำยังถูกยุยงให้ตื่นตกใจอีกว่าเจ้าพระยากลาโหมกำลังคิดกบฏ จึงตรัสสั่งชาวป้อมล้อมวังขึ้นประจำที่ แล้วรับสั่งให้ไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมฯมาเข้าเฝ้า แต่ก็มีผู้ภักดีแอบส่งหนังสือลับออกไปว่า
“...พระโองการจะให้หาเข้ามาดูมวย บัดนี้เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าคุณเข้ามานั้นให้คาดเชือกเข้ามาทีเดียว...”
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยได้โอกาส ป่าวประกาศต่อขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปช่วยงานว่า อุตส่าห์ยกราชสมบัติถวายก็ยังหามีความดีไม่ กลับมาหาว่ามาชุมนุมกันเป็นกบฏ ท่านทั้งหลายก็เห็นแจ้งกันอยู่แล้วว่า ถ้าเรารักราชสมบัติ จะพ้นจากเราเชียวหรือ แล้วตบท้ายว่า
“บัดนี้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินว่าเราทำการประชุมขุนนางพร้อมมูลครั้งนี้คิดการกบฏ ก็ท่านทั้งปวงซึ่งมาช่วยเราโดยสุจริตนั้น จะมิพลอยเป็นกบฏไปด้วยหรือ”
บรรดาข้าราชการทั้งหลายจึงพากันก้มกราบ แล้วว่า
“ถ้าท้าวพระกรุณาจะทำการใหญ่จริง ข้าพเจ้าทั้งปวงจะขอเอาชีวิตสนองพระคุณก่อนตาย”
ทุกอย่างจึงเข้าล็อค เมื่อจุดเพลิงเผาศพมารดาแล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็นำขุนนางและทหารสามพันคนพร้อมด้วยอาวุธครบมือบุกเข้าวัง ยุวกษัตริย์ผู้ยังอ่อนเชิงจึงต้องเผ่นหนี แต่ก็ถูกตามจับได้ นำไปประหารด้วยท่อนจันทน์ที่วัดโคกพระยาตามระเบียบ
หลังจากกำจัดพระเชษฐาธิราชไปแล้ว บรรดาเสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตก็นำเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวาย แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ฉลาดกว่านั้น ตอบว่า
“เราทำการครั้งนี้จะชิงราชสมบัติหามิได้ เพราะภัยมาถึงตัวแล้วก็จำเป็น พระอาทิตย์วงศ์ซึ่งเป็นราชบุตรพระมหากษัตริย์นั้นยังมีอยู่ ควรจะยกพระอาทิตย์วงศ์ขึ้นผ่านสมบัติโดยราชประเพณีจึงจะชอบ”
ด้วยเหตุนี้ พระอาทิตย์วงศ์ โอรสของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษาจึงได้รับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์
จากนั้นเพียงหกเดือน หลังจากกำจัดคนที่จะเป็นขวากหนามหมดสิ้นแล้ว เส้นทางสู่ราชบัลลังก์ของ “พระองค์ไล” ก็ปลอดโปร่ง บรรดาเสนาพฤฒามาตย์จึงได้อ้างว่า พระอาทิตย์วงศ์ยังเยาว์นักไม่รู้เรื่องว่าราชการ วันๆเอาแต่เที่ยวจับแพะจับแกะเล่น ต้องตามไปป้อนข้าวป้อนน้ำ ขืนปล่อยไว้การแผ่นดินจะเสียไป จำจะต้องยกพระอาทิตย์วงศ์ลงจากเศวตรฉัตร เอาราชสมบัติถวายเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๕ ต่อมาทรงพระสุบินว่า จอมปลวกที่เคยนั่งว่าราชการเล่นเป็นกษัตริย์ตอนเด็กนั้นมีปราสาททองฝังอยู่ และเมื่อให้คนขุดก็พบปรางค์แบบเขมรย่อส่วนทำด้วยทองคำฝังอยู่จริง จึงได้รับการถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงสร้างพระตำหนักบางปะอินขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์รักของพระราชบิดาและพระราชมารดา
โอรสลับองค์ต่อมาเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามพงศาวดารไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชโอรส คงมีแต่ พระปีย์ ลูกสามัญชนที่ทรงเลี้ยงเหมือนราชโอรสบุญธรรม กับพระศรีสิงห์ โอรสของพระไชยทิศซึ่งเป็นพระเชษฐา เมื่อพระเชษฐาสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงรับพระศรีสิงห์มาเลี้ยงไว้เหมือนพระราชโอรสบุญธรรม แต่พระศรีสิงห์เป็นเด็กมีปัญหา ครั้งแรกแอบซ่อนอาวุธเข้าไปเงื้อจะฟันสมเด็จพระนารายณ์ถึงแท่นพระบรรทม แต่สมเด็จพระนารายณ์ป้องกันพระองค์และจับพระศรีสิงห์ไว้ได้ ทรงเห็นว่าพระศรีสิงห์ยังเยาว์พระชนม์แค่ ๑๕ พรรษา จึงอภัยโทษให้ แต่พระศรีสิงห์ก็ไม่สำนึก กลับส้องสุมผู้คนคิดกบฏ จนสมเด็จพระนารายณ์พลาดท่าต้องเสด็จหนีออกจากวัง พระศรีสิงห์ทำพิธีราชาภิเษกครองราชย์ได้ ๑ วัน ๑ คืน สมเด็จพระนารายณ์ก็กลับมาจับพระศรีสิงห์ไปสำเร็จโทษได้
สมเด็จพระนารายณ์เลยเข็ดที่จะเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง ทั้งยังขยาดที่จะมีลูกกับพระสนม แต่ก็ทรงพระปริวิตกที่จะไม่มีพระโอรสสืบราชบัลลังก์ จึงโปรดให้พระมเหสีทั้ง ๒ พระองค์ตั้งสัตยาธิษฐานขอพระโอรส แต่ห้ามพระสนมขอ หากพระสนมคนใดตั้งครรภ์ก็จะถูกรีดออก
มาวันหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงสุบิน เทวดามาบอกว่าพระสนมที่ชื่อ นางกุสาวดี ซึ่งเป็นราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่มีครรภ์ และโอรสที่จะเกิดมานี้มีบุญญาธิการมาก พระสุบินนี้ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ไม่สบายพระราชหฤทัย จะรีดทิ้งตามที่ได้ตั้งสัตย์ไว้ ก็ติดที่พระโอรสองค์นี้มีบุญญาธิการ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปนิมนต์พระอาจารย์พรหม วัดปากน้ำประสบ เข้าวัง และทรงเล่าพระสุบินให้ฟัง
พระอาจารย์พรหมเป็นพระอาจารย์ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงนับถือมาก และมีสำนวนโวหารไม่แพ้หลวงพ่อคูณปริสุทโธแห่งวัดบ้านไร่
พงศาวดารฉบับขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า
“....พระมหาพรหมผู้เป็นอาจารย์จึ่งว่า อันทรงสุบินนี้ดีหนักหนา พระองค์จะได้พระราชโอรสเป็นกุมาร แต่กูนี้ไม่ชอบใจอยู่สิ่งหนึ่งว่า มีพระราชโอรสกับพระสนมกำนัลแล้วให้ทำลายเสีย อันนี้กูไม่ชอบใจยิ่งนัก พระองค์มาทำดังนี้ก็เป็นบาปกรรมนั้นประการหนึ่ง ถ้าในพระอัครมเหสีและมิได้มีพระราชโอรส มีแต่พระราชโอรสในพระสนมนี้ พระองค์ก็จะทำประการใดที่จะได้สืบศรีสุริยวงศ์ต่อไป ถ้าแลพระองค์จะไม่มีพระราชบุตรและพระราชธิดา สืบไปเบื้องหน้าแลพระองค์ทิวงคตแล้ว จะได้ผู้ใดมาสืบศรีสุริยวงศ์ต่อไป อันว่าน้ำพระทัยนี้ จะให้เสนาบดีเศรษฐีคหบดีและพ่อค้า ให้ขึ้นเสวยราชย์สืบศรีสุริยวงศ์หรือประการใด ถึงจะเป็นพระราชโอรสในพระสนมก็ดี ก็ในพระราชโอรสาของพระองค์ที่จะได้สืบศรีสุริยวงศ์ต่อไป อันนี้สุดแต่กุศลจะคู่ควรและไม่คู่ควร ถ้าแลพระองค์ไม่ฟังกูว่า ดีร้ายกรุงศรีอยุธยาจะสูญหาย จะเป็นเมืองโกลัมโกลีมั่นคง ถ้าและทำดังกูว่า กรุงศรีอยุธยาจะได้เป็นสุขสุภาพต่อไป”
สมเด็จพระนารายณ์ได้ฟังพระอาจารย์ว่าก็ไม่กล้ารีดทิ้ง แต่มาขัดอยู่ที่ได้ลั่นพระวาจาไปแล้วว่าจะไม่ให้พระสนมมีพระราชโอรส จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ ขุนนางคู่พระทัยมาเข้าเฝ้า ซึ่งเจ้าพระยาสุรสีห์ผู้นี้เป็นลูกของพระนม ทั้งยังเป็นครูช้างของสมเด็จพระนารายณ์ ตรัสเรียกเข้าไปในที่ลับและบอกเรื่องนางกุสาวดีมีครรภ์ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เอานางไปเลี้ยงเป็นภรรยา ถ้าลูกในครรภ์ออกมาเป็นชาย ก็ให้เป็นลูกเจ้าพระยาสุรสีห์ แต่ถ้าเป็นหญิงก็ให้ส่งคืนมา
ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาสุรสีห์ก็พานางกุสาวดีตามเสด็จไปด้วย แต่พอมาถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร นางได้คลอดบุตรเป็นชายที่โคนต้นมะเดื่อ และนำรกฝังไว้ที่โคนต้นมะเดื่อนั้น จึงตั้งชื่อให้กุมารว่า “เดื่อ”
ครั้นกุมารโตขึ้นรู้ความ ก็เข้าใจว่าเจ้าพระยาสุรสีห์คือบิดาของตัว จึงรักใคร่สนิทสนมกับบิดามาก ครั้นเจริญวัยถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสมีรูปโฉมสง่าผ่าเผย ท่าทางองอาจกล้าหาญ ก็ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก
วันหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ให้เจ้าพนักงานเชิญพระฉายมาตั้ง ทรงส่องพระฉายแล้วกวักพระหัตถ์เรียกนายเดื่อมหาดเล็กเข้าไปใกล้ รับสั่งว่า
“เอ็งจงดูเงากระจกเถิด”
นายเดื่อก็คลานเข้าไปส่องพระฉายข้างสมเด็จพระนารายณ์ ทรงดำรัสถามว่าเอ็งเห็นรูปเรากับรูปเอ็งนั้นเป็นอย่างไรบ้าง”
นายเดื่อก็กราบทูลว่า
“รูปทั้งสองอันปรากฏอยู่ในพระฉายนั้น มีพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกันพ่ะย่ะค่ะ”
และแล้วเส้นทางชีวิตของ “นายเดื่อ” ก็เหมือนกับ “พระองค์ไล”
ในปี พ.ศ. ๒๒๒๕ สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ข้าราชการทั้งปวงเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติ และรู้กันว่า “นายเดื่อ” ซึ่งเป็น เจ้าพระยาศรีสรศักดิ์ ในตอนนั้น แท้จริงแล้วเป็นใคร จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าพระยาศรีสรศักดิ์ว่า
“บิดาของเรายังอยู่ ท่านทั้งปวงจงเชิญบิดาของเราขึ้นครองราชย์สมบัติเถิด”
เจ้าพระยาสุรสีห์ จึงขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม พระเพทราชา ซึ่งนักประวัติศาสตร์จัดให้อยู่ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง อันเป็นบ้านเกิดของพระเพทราชาที่เมืองสุพรรณบุรี แต่เมื่อสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต “นายเดื่อ”ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ เรียกกันว่า “สมเด็จพระเจ้าเสือ” แต่กลับถูกจัดให้อยู่ในราชวงศ์ปราสาททองเช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า สมเด็จพระเจ้าเสือเป็นราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ส่วนโอรสลับอีก ๒ รายเกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี และมีเหตุผลต่างไปจาก ๒ พระองค์แรก
ทั้งนี้เมื่อครั้งพระเจ้าตากสินปราบปรามชุมนุมต่างๆ เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้แล้ว พระเจ้าตากสินก็ไม่ทรงถือว่าเจ้าพระยานคร (หนู) เป็นกบฏ เพราะต่างคนต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระเมื่อกรุงแตก เมื่อยอมสวามิภักดิ์ พระเจ้าตากสินจึงให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี เจ้าพระยานครได้ถวายธิดาคนโต ชื่อ “ฉิม” เป็นพระสนม มีพระเจ้าลูกยาเธอ ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าทัศพงษ์ และพระองค์เจ้าทัศภัย เจ้าจอมมารดาฉิมยังได้พาน้องสาวที่ชื่อ “ปราง” มาอยู่ในวังด้วยอีกคน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลก ทหารเอกของพระเจ้าตากสินคนหนึ่ง ลงมาราชการที่กรุงธนบุรี พบเจ้าจอมปราง ซึ่งก็เคยพบกันเมื่อครั้งไปตีเมืองนครศรีธรรมราช และคุมตัวกลับมาจากที่หนีไปเมืองตานี โดยรู้เหมือนคนทั่วไปว่า ธิดาของเจ้าพระยานครคนนี้ ติดตามพี่สาวมาอยู่ในวัง ไม่ได้เป็นพระสนมด้วย เกิดต้องตาต้องใจจึงแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอต่อเจ้าจอมมารดาฉิมพี่สาว แต่พอพระเจ้าตากสินทรงทราบก็กริ้วหนัก ดำรัสว่ามันบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน รับสั่งให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิต ตัดหัวเสียบประจานไว้ที่ริมประตูลงตำหนักแพ
ในเวลาใกล้ๆกันนั้น เจ้าพระยานคร (พัด) อุปราชเมืองนคร ได้มาเฝ้า พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบว่าภรรยาของเจ้าพระยานคร(พัด) ซึ่งเป็นพี่สาวคนหนึ่งของเจ้าจอมปรางถึงแก่กรรม จึงดำรัสว่า
“สงสารด้วยภรรยาตาย จะพระราชทานน้องสาวให้เป็นภรรยาแทน”
ครั้นแล้วจึงนำตัวเจ้าจอมปรางที่เพิ่งทำให้ทหารเอกหัวขาดไปหยกๆ พระราชทานเป็นภรรยาของอุปราชเมืองนคร
เจ้าพระยานคร (พัด) พาเจ้าจอมปรางมาถึงเมืองนคร เจ้าจอมก็กระซิบกับอุปราชว่า
“ระดูไม่มา ๒ เดือนแล้ว”
เจ้าพระยานคร(พัด) รู้ว่าเจ้าจอมปรางมีครรภ์กับพระเจ้าตากสินมาก่อน จึงมิกล้าแตะต้อง ยกขึ้นไว้เป็นแม่เมือง
ต่อมาเจ้าจอมปรางคลอดบุตรที่ตั้งครรภ์มาจากกรุงธนบุรี ตั้งชื่อให้ว่า “น้อย” ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นเจ้าพระยานครเช่นกัน ครองนครศรีธรรมราช ตลอดจนไทรบุรี กลันตัน เประ และเป็นผู้สำเร็จราชการทัพศึกทางภาคใต้ฝ่ายตะวันตก จนถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๓
นอกจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) แล้ว ยังมีโอรสลับของพระเจ้าตากสินอีกคน คือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ซึ่งเป็นต้นตระกูล อินทรกำแหง และ ณ ราชสีมา
โดยในปี พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าอนุเวียงจันทน์ได้ยกทัพเข้ามา พระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) เป็นทัพหน้า ในระหว่างทำสงครามนี้ ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาปิ่นถึงแก่อนิจกรรม พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพระเมตตาพระราชทานเจ้าจอมจวนให้ เจ้าพระยาปิ่นทราบว่าเจ้าจอมจวนตั้งครรภ์มาก่อนก็ไม่กล้าแตะต้อง ยกขึ้นเป็นแม่เมืองเช่นเดียวกับที่เจ้าพระยานคร (พัด) ปฏิบัติต่อเจ้าจอมปราง จนเจ้าจอมจวนคลอดบุตรเป็นชาย ให้ชื่อว่า “ทองอินทร์”
ทองอินทร์ได้รับโปรดเกล้าฯในรัชกาลที่ ๓ ให้เป็น เจ้าพระยากำแหงสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา อันเป็นเมืองเอกทางด้านอีสาน มีผลงานพระราชสงครามหลายครั้ง จนถึงอสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ รวมอายุได้ ๖๗ ปี หลังจากที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงอสัญกรรมแล้ว ๖ ปี
โอรสลับพระเจ้าตากสินทั้ง ๒ รายนี้เป็นที่รู้กันทั่วไป เหมือนอย่างที่ ร.๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “เล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย” แต่เหตุใดพระเจ้าตากสินจึงพระราชทานพระสนมที่ตั้งครรภ์ มีพระราชโอรสติดอยู่ในครรภ์ทั้ง ๒ รายให้แก่เจ้าเมืองที่ห่างไกล อาจจะเป็นเพราะต้องการให้พระราชโอรสไปครองเมืองที่มีความสำคัญยิ่งทั้งทางภาคใต้และภาคอีสาน เช่นที่ได้เตรียมจะส่งเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์พระราชโอรสองค์ใหญ่ไปครองราชบัลลังก์เขมร หรืออาจจะเป็นเพราะพระองค์ล่วงรู้ชะตากรรมของพระองค์เองดี จึงไม่ต้องการให้พระราชโอรสในครรภ์เจ้าจอมทั้ง ๒ นี้รับเคราะห์ไปด้วย ความจริงของเรื่องนี้ ไม่มีใครที่ล่วงรู้พระราชหฤทัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ นอกจากจะวิเคราะห์กันไป
อย่างไรก็ตาม “โอรสลับ” ทั้ง ๔ รายนี้ ก็ไม่ใช่เรื่อง “กระซิบ” กันแล้วในยุคนี้ เปิดเผยอยู่ในพงศาวดารให้คนรุ่นหลังได้รับรู้เหตุการณ์ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เหมือนนิยาย