ประจวบคีรีขันธ์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวง และมหามังคลาภิเษกพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ณ อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนแห่ร่วมพิธีจำนวนมาก
เมื่อเวลา 09.09 น.วันนี้ (19 ส.ค.) ณ มณฑลพิธีอุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวง และมหามังคลาภิเษกพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมพิธี และมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก และข้าราชการกองทัพบก และประชาชนให้การต้อนรับจำนวนมาก
เมื่อนายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางมาถึง นายกรัฐมนตรี และคณะนั่งประจำที่รับรองรับฟังการกล่าวรายงานจากประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ จากนั้นนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บังคับบัญชาชั้นสูงถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม และประกอบพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 7 พระองค์
หลังจากนั้น เป็นพิธีมังคลาภิเษก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพิธีฝ่ายฆราวาส และคณะผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้ถวายเครื่องราชสักการะแด่สมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 4 รูป และพระราชาคณะ จำนวน 6 รูป จากนั้นเป็นพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ พิธีจุดเทียนชัย และพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภช จากนั้นนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้ร่วมกันถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรี และคณะได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานครทันที
ส่วนในภาคบ่าย ได้มีพิธีสวดคาถาอุปปาตสันติ หรือมหาสันติงหลวง โดยมีพระสงฆ์ พระเกจิ จำนวน 108 รูปร่วมสวดคาถา มีประชาชนเข้าร่วมพิธีประมาณ 5,000 คน และพิธีดับเทียนชัยเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวง และมหามังคลาภิเษกพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม
ทั้งนี้ อุทยานดังกล่าว กองทัพบก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์” เป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดี และเพื่อเป็นการเทิดทูน และประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ได้แก่
1.พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)
2.สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
3.สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
4.สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)
5.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
6.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
และ 7.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
สำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้าง “อุทยานราชภักดิ์” เพื่อเป็นการเทิดทูน และประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่มาเยือนกองทัพบกอย่างเป็นทางการ
สำหรับอุทยานราชภักดิ์ มีเนื้อที่ 222 ไร่เศษ มีโครงสร้างหลัก 3 ส่วน คือ 1.พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 2.ลานอเนกประสงค์ ใช้สำหรับกระทำพิธีสำคัญของกองทัพบก และ 3.อาคารพิพิธภัณฑ์ และห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์