ในจำนวนนายกรัฐมนตรี ๒๙ คนของเมืองไทย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่บนเก้าอี้ได้นานเป็นอันดับ ๓ คืออยู่ในตำแหน่งติดต่อกันนานถึง ๘ ปี ๔ เดือน ๑๑ วัน รองจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งอยู่ ๑๐ ปี ๘ เดือน ๒๙ วัน และผู้ครองอันดับหนึ่งคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าของฉายา “นายกตลอดกาล” นานถึง ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน แต่อันดับสองกับอันดับหนึ่งเป็นคนละ ๒ ช่วง จอมพลถนอมมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้ามาคั่น จอมพล ป.ไปติดคุกข้อหาอาชญากรสงครามอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนทำรัฐประหารกลับมา ไม่ติดต่อกันเหมือน พล.อ.เปรม
ความจริง พล.อ.เปรมสามารถจะสร้างสถิติที่ยาวกว่านี้ก็ได้ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ร่วมรัฐบาลกันมา รวมทั้งกองทัพ ยังให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น แต่ “ป๋า” เกิดเอือมระอาการเมืองอย่างสุดขีด จึงเอื้อนเอ่ยวาจาเบาๆแต่สง่างามว่า “ผมขอพอ”
ทั้งนี้รัฐบาล “เปรม ๔” ต้องสิ้นสุดลงในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เมื่อรัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติ ๙ ฉบับเข้าสภา แต่กลับแพ้ฝ่ายค้านเมื่อลงมติ เพราะสมาชิกฝ่ายรัฐบาลบางกลุ่มตีรวน ไปออกเสียงให้ฝ่ายค้าน พล.อ.เปรมจึงประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ๑๐๐ เสียง จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ๓๔๗ เสียง แต่ก็ไม่ลงตัวกันในการจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องเชิญให้ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯต่ออีก
เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมา ๘ ปีเศษ ความเบื่อหน่ายเอือมระอานายกฯหน้าเก่าก็เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ตามประสาคนขี้เบื่อ อยากจะลองของใหม่อยู่เรื่อยๆ จึงพากันค่อนแคะกระแนะกระแหนกันต่างๆนานา จน “ป๋า”ไม่อยากอ่านและให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เลยถูกตั้งฉายาให้ว่า “พระเตมีย์ใบ้” ส่วนในสภา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ตีรวนกันสะบัด ขนาดไม่ยอมรับมติพรรคของตัวเอง พล.อ.เปรมจึงประกาศยุบสภาอีกครั้ง
หลังการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ร่วมกันมาในรัฐบาล “เปรม ๕” ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด จึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม นำหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปพบ พล.อ.เปรม กล่าวเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พล.อ.เปรมกล่าวขอบคุณแล้วว่า
“ผมขอพอ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยต่อไปด้วย”
พลันข่าวนี้ออกไปสู่ประชาชน เสียงที่เคยบ่นด้วยความเบื่อหน่ายเอือมระอา ก็กลับกลายเป็นเสียงชื่นชมที่ไม่ยึดติดกับอำนาจ ทั้งยังสรรเสริญความสามารถของ พล.อ.เปรมที่วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง แม้ในยุค พล.อ.ชาติชายที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูด้วยนโยบาย “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังกล่าวกันว่า เป็นการวางรากฐานมาดีในยุคของ พล.อ.เปรม
หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๒๐ วัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น “องคมนตรี” ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ ต่อมาในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น “รัฐบุรุษ” และในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๑ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็น “ประธานองคมนตรี”
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่ง ที่มีประวัติชีวิตงดงาม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี น่าเคารพ ...แต่ก็ยังถูกด่า
เมื่อไหร่จะรู้ซึ้งกันเสียที ที่จะ “...ส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”