xs
xsm
sm
md
lg

จากดงดอยสู่ดวงดาว “ลี อายุ จือปา” เจ้าของ “อาข่า อ่ามา” กาแฟไทยดังไกลระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระยะเวลาไม่กี่ปี ชื่อของแบรนด์กาแฟ “อาข่า อามา” จากร้านเล็กๆ ที่มีเพียงสองสาขา ก็กลายเป็นที่กล่าวถึงในหมู่คอกาแฟเมืองไทยไปจนถึงคอกาแฟสากลระดับต่างประเทศ ที่แม้ว่าจะอยู่ไกลถึงเกือบสุดเขตแดนสยาม คนก็ยังยินดีที่จะแวะเวียนไปชิม

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราสนใจเดินทางไปพบปะ "ลี อายุ จือปา" เด็กหนุ่มชาวดอยแม่สรวยวัย 29 ปี ผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งจากความฝันในวันวัยเพียง 17 ปี เพราะอยากเป็นผู้ให้กลับคืนอย่างที่ตนเองเคยได้รับโอกาสต่างๆ ในชีวิต ที่พลิกจากคนไร้สัญชาติสู่ความเป็นไทย จากอดีตเด็กวัดอาศัยข้าวก้นบาตรพระร่ำเรียนวิชาจนจบปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ ก่อนจะละทิ้งหน้าที่การงานไปสร้างความยั่งยืนคืนให้กับสังคมและชุมชนบ้านเกิด

กาแฟของเขาจึงไม่ได้มีแต่เรื่องราวรสชาติที่หอมหวานหรือสีสันน่ารับประทานเพียงอย่างเดียว หากแต่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณ ความหมาย และคุณค่า ในทุกห้วงอณู

เพื่อความยุติธรรม และการให้
จุดเริ่มต้นของกาแฟ “อาข่า อ่ามา”

"พ่อแม่ของผมเกิดที่เมืองจีน ตอนเด็กๆ บ้านเมืองเกิดสงครามคอมมิวนิสต์ ปู่ย่าตายายก็ต้องย้ายถิ่นฐานกันบ่อย ท่านก็หนีจากประเทศจีนลงมาพม่า ทีนี้เข้ามาพม่าได้สักระยะหนึ่ง ช่วงนั้นทางประเทศพม่าก็มีปัญหาเรื่องสงครามกลางเมือง ต่างรัฐ ต่างเผ่า เขาก็ยิงกัน ก็อยู่ไม่ได้อีก เพราะถูกเผาบ้านบ้าง ถูกทำลายเรือกสวนโน่นนี่ เป็นช่วงชีวิตที่ลำบาก อดๆ อยากๆ ต้องเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อหาอะไรกิน บางครั้งไม่มีก็ต้องกินใบไม้ใบหญ้ากัน หนักเข้าก็ต้องย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมาที่ชายแดนไทย แถวดอยแม่สลอง ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย"

ชายหนุ่มที่นั่งอยู่เบื้องหน้า เล่ายาวถึงรากเหง้าที่มาของตน ย้อนไปถึงบรรพชนปู่ย่าตายาย สมัยหมอนใบเสื่อผืน กว่าจะหยัดยืนและต่อสู้มาจนถึงรุ่นของเขา

"พอพ่อแม่ผมแต่งงานและสร้างบ้านที่อำเภอแม่สรวย เรายังไม่ได้รับสัญชาติไทย ยังถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในการพิสูจน์สิทธิ์ บ้านเมืองทางเขตของแม่สลองเองก็เป็นเขตปกครองพิเศษ เพราะตอนนั้นมันเป็นช่วงที่บ้านเมืองไทยยังมีประเด็นปัญหาเรื่องของจีนคณะชาติ ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ อะไรต่างๆ ทหารไทยพยายามผลักดันออก เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นความเสี่ยง แต่ว่าสุดท้ายแล้วทางจีนคณะชาติ เขาก็เป็นกันชนให้กับคนที่จะเข้ามาในไทย ก็เลยมีโอกาสได้อยู่ที่แม่สลอง ต่อมาย้ายไปแม่สรวย ก็มีผมเกิด"

"อายุ 15 ผมถึงได้รับสัญญาชาติไทย เนื่องจากว่าครบกำหนดทำบัตรประชาชน แต่ก่อนหน้านั้นก็คือต้องพิสูจน์สิทธิ์ สำรวจสำมะโนครัว คือตรงนี้แหละที่ค่อนข้างลำบาก เพราะหนึ่งตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีการระบุที่ชัดเจนถึงเกณฑ์กำหนดเวลาว่าคนที่เขามาอยู่อาศัยในประเทศต้องระยะนานเท่าไหร่ถึงจะได้พิจารณาสัญชาติ ต้องปฏิบัติอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร และข้อที่สองคุณพ่อคุณแม่เราไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แล้วผมก็ไม่มีใบเกิดด้วย เพราะผมเกิดก่อนการสำรวจสำมะโนครัว 1 ปี แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ถ้าไม่อย่างนั้น อาจจะยังไม่มีชื่อหรือว่สุทธิบัตรเลย"

นับว่าเป็นเวลาประจวบเหมาะพอดิบพอดีหลังจากปี พ.ศ. 2528 ที่ลีเกิด ปีถัดมาทางการก็มีนโยบายสำรวจสำมะโนครัวอีกครั้งหนึ่งทั่วประเทศ นั่นจึงทำให้ชื่อ 'ลี อายุ จือปา' อยู่ในการสำรวจครั้งนั้นและกลายเป็นทะเบียนยืนยันในเรื่องของระยะเวลาที่สามารถใช้ยืนยันแสดงสัญชาติได้

"จริงๆ ตอนนั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำทำไมมันต้องมี มันสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ (หัวเราะ) สมัยก่อนตอนเรียนหนังสือเราจะเห็นพวกใบ รบ.เอกสารต่างๆ ประทับตราว่า บุคคลที่ไม่มีสัญชาติ ใช่ไหม ด้วยความเป็นเด็กเราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอเราโตมาเรารู้สึกว่า เฮ้ย! ไปในเมืองก็ไม่ได้ เข้าเมืองโดนจับเพราะไม่มีหลักฐาน เรื่องต่างประเทศนี่ไม่ต้องไปพูดถึง"

ลีเล่าถึงจุดกำเนิดชีวิตตัวเองอย่างรวบรัด ก่อนที่จะเว้นวรรคเล็กน้อย เข้าสู่เรื่องราวต่อมาที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวเองและชาวดอยแม่สรวยชุมชนแม่จันใต้

"เสร็จแล้วประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า สังคมในเมือง สังคมส่วนใหญ่ เขายังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดูแลกลุ่มคนเหล่านั้น ทำไมต้องให้เกียรติ ทำไมเขาต้องเข้ามาอยู่ตรงนี้ คือหลายๆ คนอาจจะรู้จักชาวเขาในลักษณะของคนบนดอยที่ปลูกฝิ่น แต่ไม่ใช่ทุกที่ ไม่ใช่ อย่างบ้านผมจำได้เลยตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่เป็นชาวนา ทำนาปลูกข้าว ไร่ข้าวดอยเป็นขั้นบันได แล้วก็มีปลูกผักผลไม้บ้างเอาไว้ใช้กิน ไม่ได้มีไว้ขาย ทุกสิ่งอย่างที่เราปลูกเหมือนใช้แค่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องหาตังค์ด้วยนะ เพราะเนื่องจากว่าไม่จำเป็นต้องไปใช้เงิน ขอให้มีผัก มีผลไม้ กินก็พอ"

"แต่ทีนี้ในหลวงและสมเด็จย่า พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปปัญหามันเกิดแน่นอน อย่างที่บอกคือต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่มองเราในภาพนั้น ตอนนั้นเราก็ไม่รู้สาเหตุ แต่พอโตมาก็อ่านศึกษาหาความรู้ ก็ทำให้ผมเข้าใจว่า ในหลวงและสมเด็จย่าท่านตรัสว่า เขาก็คือคนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ซึ่งอาจจะมีสัญชาติหรือไม่มีสัญชาติ แต่ถ้าเรามัวแต่ไปผลักดันเขาออก หรือมัวแต่ปิดตาไม่รับเขา คือปัญหามันก็เกิดอยู่อย่างนั้น คือไม่รู้จะแก้ยังไง ไม่ดีกว่าหรือถ้าจะเข้าไปให้ความรู้ ให้เขามีการศึกษา แนวทางปฏิบัติให้เขาอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้คือแนวคิดปฏิบัติของพระองค์ท่าน"

"ช่วงนั้นเลยเป็นช่วงที่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรที่สูง โครงการหลวง โครงการต่างๆ เกิดขึ้นเยอะเลย เข้าไปพัฒนาพื้นที่ ก็เอาพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้เมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ หรือผักที่มันสามารถสร้างรายได้ เข้ามาส่งเสริมผ่านทางหน่วยงานเหล่านี้ แล้วก็เริ่มมีผลผลิตออกมา ทั้งเชอร์รี ลูกไหน ลูกท้อ มีปลูกกาแฟ ปลูกชาโน่นนี่นั่น"

ชีวิตดูเหมือนจะเรียบง่าย ใครใคร่ประสงค์แลกเปลี่ยนสิ่งใดก็แล้วแต่ความพึงพอใจ ไม่ต้องพะวงคิดถึงเรื่องของความคุ้มทุนคุ้มค่า ทว่าเมื่อความเจริญกระเถิบชิดเข้ามา แม้ว่าส่วนดีจะมีมากกว่าส่วนเสีย กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่จะหนีไปไม่ได้คือเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงภาพเหล่านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยและแรงผลักของแต่ละคน

"คือพอโตขึ้นมา เด็กๆ รุ่นผมก็ต้องเข้าโรงเรียนซึ่งมันเป็นกฎหมายของประเทศไทยว่า พ่อแม่ทุกคนต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่อย่างนั้นผิดกฎหมาย ก็เป็นประเด็นที่แปลกใหม่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ผมหรือคนอื่นๆ เพราะว่าท่านไม่เคยไปโรงเรียน คิดภาพตามมันจะยังไง แต่หลักๆ คือท่านรู้ว่ามันต้องใช้เงิน แล้วเมื่อมันต้องใช้เงิน มันก็เกิดการคิดว่าจะทำอย่างไรดี ทีนี้จะปลูกผักผลไม้กินเองไม่ได้แล้ว ไม่พอส่งลูกเรียน

"ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็โอ๊ยยย... เรามีกาแฟ เรามีผลไม้ เรามีผัก แต่ว่าราคามันไม่ดีสักอย่างเลย เวลาที่ขายผลผลิตให้พ่อค้าคนกลาง มันก็เกิดวัฏจักรปัญหา ไม่สามารถส่งเสียลูกหลานให้เรียนต่อไปได้ ไม่สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ ไม่สามารถที่จะมีเวลาไปคิดถึงเรื่องพัฒนาองค์ความรู้ เพราะเขาต้องคิดถึงแต่เงิน พอเป็นอย่างนี้ เรายิ่งเรียนสูงขึ้น มันก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้น อันนี้คือความจริงเลย"

จากรอบรั้วคือทิวเขาและเส้นขอบฟ้าของทุกคนบนพื้นที่ดอย ก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นฝาไม้แนวกั้นที่ชัดเจน อันนี้ของฉัน อันนี้ของเธอ...

"สิ่งที่ผมเห็นคือสังคมมันเปลี่ยนไป คือผมจะมองการศึกษาเป็นสองส่วน ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างเดียว แต่ของผมมีอีกแง่มุมหนึ่ง คือเมื่อความรู้เข้ามาทำให้สังคมเปลี่ยนไปเยอะ อย่างที่ผมบอก เมื่อก่อนนั้น เขามีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน ผมมีผลไม้ เพื่อนบ้านมีผัก หรืออะไรก็ตาม ก็แลกกัน สิ่งที่ได้ตรงนั้นคือความรู้สึกที่ดี ที่ไม่ต้องไปห่วงว่าใครจะมาให้มากให้น้อย แฟร์ๆ ทว่าพอถึงจุดหนึ่งที่ต้องสร้างรายได้ คนเริ่มเห็นแก่ตัว อันนี้ให้แลกไม่ได้นะ ต้องขาย เพราะว่าผมจะต้องส่งลูกไปเรียน สังคมมันเริ่มเปลี่ยน จากการที่ไม่เคยมีรั้วก็ต้องมีรั้วบ้าน เพราะกลัวคนจะมาเอา

"นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ผมมีความคิดที่จะส่งผมเรียนต่อสูงๆ ท่านบอกว่าต้องไปเรียนนะ ต้องเรียนเสมอ เพราะมันสำคัญ และอนาคตเรามันจะไม่เหมือนของเขา ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าจริงๆ เขารู้ได้อย่างไรในตอนนั้นหรือว่าตอนนี้ก็ตาม แต่ทุกวันนี้ผมก็ภูมิใจที่พ่อแม่มองเห็น

"จากนั้นพอจบ ป.6 ก็ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน เพราะบนดอยก็มีแค่ ป.6 เท่านั้น บังเอิญผมโชคดีไปเจอพระธุดงค์ผ่านมาบนดอย เราก็เข้าไปปรึกษาเรื่องอยากเรียนต่อ ท่านก็บอกว่าถ้าอยากเรียนเดี๋ยวไปฝากที่วัดให้ เราก็เลยได้เรียน"

โดยเรียนควบคู่ทั้งทางธรรมและทางโลกที่วัดหนองเจดีย์ จังหวัดลำพูน จนจบชั้นมัธยมปลายที่ 6

"ไปนี่ก็บวชเป็นเณรด้วยแล้วก็เรียนไปด้วยช่วง ม.1-3 คือเรียนทั้งสองทาง เป็นโรงเรียนวัด แต่อยู่ในส่วนของกระทรวง จากนั้นพอขึ้น ม.ปลายก็สึกไปเป็นเด็กวัด ก็ได้ทำกิจกรรม ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่น ทำให้รู้จักการช่วยเหลือ รู้จักให้ การให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ คือทำให้ผมนึกถึงวันเก่าๆ ที่อยู่บนดอย ทุกคนเขาให้กำลังใจ ทุกคนพ่อแม่เขาให้โอกาสเรา เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย สักวันหนึ่งเราอยากเป็นคนที่ให้บ้าง เราอยากจะให้แบบนี้บ้าง"

"แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรตอนนั้นนะ ก็เรียนไปก่อน (หัวเราะ)"
ลีเผยความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับเด็กเมืองใหญ่ที่มีโอกาสรับรู้ช่องทางมากมาย แต่ไม่ใช่สำหรับเขา เพราะแค่คิดแค่ฝันถึงอนาคตหรือการก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ก็นับว่าดีมากแล้ว

"ตอนที่เราใกล้จะจบ ม.6 เราถามตัวเองเลยว่าอยากไปทำอะไร แล้วนึกขึ้นได้ว่าตอนนี้ประเทศไทยเริ่มมีองค์กรต่างประเทศด้านช่วยเหลือ เข้ามาทำงานกันเยอะแยะ แต่สิ่งที่ขาดคือความเข้าใจขององค์กรเหล่านี้กับสังคมไทย เขาก็ยังไม่มากพอ เขาก็เหมือนเอาเงินมาทุ่มๆ มาวาง แต่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงเขาจะต้องทำอย่างไรให้มันแก้ได้ตรงจุด เพราะหนึ่งก็คือเรื่องของภาษา คนไทยก็ยังสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดีเท่าไหร่ คนที่สื่อสารได้ดีเขาก็ถูกบริษัทใหญ่ๆ ดึงไปหมด

"เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องไปเรียนภาษาอังกฤษแล้ว เพื่อที่จะได้ทำงานกับองค์กรเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่ชอบเรียน แต่ถ้าถามว่าทำไมผมถึงเลือกเรียน มันก็คือถ้าจะว่าไปมันก็ตอบสนองความรู้สึกของเรา อันนี้คือความรู้สึกเพียว จริงๆ ของเรา เราอยากทำ คือถ้าไปทำอย่างอื่นเราก็ไม่มีความสุข เราอยากทำอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของความหลงใหลจริงๆ คือ Passion ผมใช้คำนี้ เพราะว่าไม่ใช่แค่บอกว่าต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องมีกำลังใจ ไม่ใช่แค่นั้น ต้องมีความหลงใหลจริงๆ เหตุผลที่เป็นอย่างนั้น เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนที่เราเจอในเส้นทางของชีวิตเรา หลายครั้ง เขามามีบทบาทในการช่วยเหลือเรา แล้วเราก็ถามเขาได้อะไร เขาไม่ได้อะไรเลย แต่คิดดูทำไมเขาทำเพื่อเรา

"เขาไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน แล้วเรารู้สึกว่าดี บวกกับวัฒนธรรมเราก็เรียนรู้เรื่องของทางธรรมว่าอย่าให้ชีวิตมันตึงเกินไป มันหย่อนเกินไป รู้จักให้บ้าง รู้จักช่วยเหลือ การให้มันยิ่งใหญ่ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่คำลอยๆ มันเป็นสิ่งที่จริง แล้วโดยเฉพาะเราให้อะไรโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มันคือสิ่งที่ดีที่สุด คือการที่เราให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มันคือจบเลย คือความสุขเลย"

บนทางระหว่างฝัน
คนตั้งมั่นถึงทำได้

เมื่อค้นพบความฝันและสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำอย่างแน่วแน่ เขาก็ไม่รอช้าที่จะลุกขึ้นสู้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กับภาพเด็กดอยที่ลิ้นยังไม่ชัดคำในภาษาไทย และจะนับประสาอะไรกับภาษาอังกฤษที่บนดอยหรือโรงเรียนในตัวต่างจังหวัดเวลานั้น เขียนหรืออ่านออกท่องได้ก็อย่างมาก ABC

"คิดเอาเด็กวัด คือภาษาอังกฤษ ทักษะ มันไม่เท่าไหร่ เรียกว่าไม่เป็นก็ยังได้ ทีนี้รุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้ายที่เอนทรานซ์ ด้วยความที่ไม่อ่านหนังสือ เป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ก็ไม่ติดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจกลับบ้าน กลับไปคุณพ่อคุณแม่ก็ถามว่าอยากเรียนหนังสือไม่ใช่หรือ ทำไมกลับมาบ้าน เราก็ยังอายๆ ไม่กล้าบอกเพราะเราเอนท์ไม่ติด ก็บอกว่าตอนนี้พักอยู่ เดี๋ยวค่อยกลับไปเรียน"

ลีกล่าวแซมยิ้ม เพราะแม้ว่าการสอบเข้าเพื่อสานฝันครั้งแรกจะพังจนล้มกลับบ้าน แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เขาก็ต้องคิดถึงมันและลองดูกับมันอีกครั้งเป็นหนที่สอง

"ก็พอกลับไปอยู่ได้ประมาณสองอาทิตย์ มันก็ไม่ใช่เรา เราคิดถึงแผนของตัวเอง ก็เลยขอพ่อแม่ลงจากดอยเข้าเมือง ก็เจอเข้ากับวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ตอนนั้นเป็นปีแรกที่ทบวงของวิทยาลัยเปลี่ยนมาเป็นราชภัฏทั้งหมดเลยทั่วประเทศ เราก็เลยรู้สึกว่าไปดูดีกว่ามีโปรแกรมอะไรที่เขาเปิดสอนให้เราไปเรียนบ้าง เผอิญว่ามีโปรแกรมชื่อ 'English study' เป็นโปรแกรมหลักสูตรนานาชาติ คณะมนุษย์ศาสตร์ ก็เลยไปสอบเทียบดู (หัวเราะ) เพราะว่าเขาเปิดให้มีโอกาสสอบว่าเกณฑ์ของเราเนี่ยสามารถไปได้ไหม เราเลยกล้าลอง แต่ก็ไม่ได้ (หัวเราะ) คือคะแนนไม่ถึง ผมว่าน่าจะต้องได้อย่างน้องเกิน 60 ขึ้น แต่เราไม่ถึงอ่ะ

"จริงๆ ไม่ได้ด้วยนะ คือพอคะแนนสอบเราไม่ได้ ก็ไปหาท่านคณบดีเลย ดร.สมชาย ทุ่งไทยสง ท่านบอกว่า เฮ้ย ไปเรียนโปรแกรมอื่นดีไหม เพราะว่าอันนี้คะแนนมันไม่ได้ เราก็บอกว่าเราอยากเรียนๆ (ยิ้ม) สุดท้ายท่านก็บอกผมว่าถ้าผมอยากเรียน เดี๋ยวท่านจะลองสัมภาษณ์ด้วยตัวเองดู ถ้าผมสามารถสื่อสารกับท่านได้ท่านก็จะลองให้เรียน

"ถึงวันนัด เราก็ไปสัมภาษณ์ เขาก็พูดภาษาอังกฤษมารัวเลย เราก็ตอบทุกคำถามเลย ตอบๆๆ ตอบเหมือนกับรู้ (หัวเราะ) สุดท้ายคณบดีบอกว่า "นี่คุณรู้ไหมว่าที่คุณตอบมาไม่ตรงสักข้อเลย"

วูบแรก ความรู้สึกคงไม่ต่างจากประตูทางออกบานสุดท้ายที่แง้มไว้ถูกปิดลง แต่กระนั้น เรื่องมหัศจรรย์ของลีก็เช่นกัน

"แต่ผมชอบในความตั้งใจ ให้โอกาสให้เรียนดูว่าจะเรียนได้ไหม ท่านคณบดีกล่าวกับผม แล้วก็ให้ผมลองเรียนดู แต่จะประเมินผลเราเรียนสักอาทิตย์หนึ่งก่อน ก็ไม่รอด แต่ที่ได้เรียนต่อเพราะว่าในเชิงวิชาการเราตกก็จริง แต่ในเชิงพฤติกรรมและความตั้งใจท่านบอกว่าเราผ่าน ก็เลยให้ลองเรียนดูอีกหนึ่งเทอม ถ้าไหวก็เรียนต่อ ไม่ไหวก็ย้ายคณะ (ยิ้ม)

"พอหนึ่งเทอมผ่านไป ทางมหาวิทยาลัยก็ให้เรียนต่อ เพราะดูว่า เฮ้ย ไม่ธรรมดา (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องปรับเปลี่ยนนิดหนึ่งคือทักษะเรื่องของการฟัง แล้วก็การพูดอะไรต่างๆ ยังไม่ได้ ตอนนั้นก็เริ่มขวนขวายไม่ว่าเจออะไรก็ตามในชีวิตเราจะคิดเป็นภาษาอังกฤษ คือตอนนั้นพอเห็นปุ๊บ ผมจะมองเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย อย่างเห็นดอกไม้ ก็ ฟลาวเวอร์ เจออะไรเป็นสีดำ ก็ แบล็ก สีน้ำตาล ก็ บราวน์ โต๊ะก็ เทเบิล กาแฟก็ คอฟฟี่ มองเป็นคำนั้นๆ

"แล้วอีกอย่างหนึ่งก็ใช้วิธีดูหนัง เพื่อฝึกฟังและฝึกการใช้คำในประโยคต่างๆ ตอนแรกเราก็เปิดซับไตเติลดู คำนี้มันพูดอย่างนี้นะ พรินเตอร์ ไม่ใช่ ปินเตอร์ (หัวเราะ) ก็เริ่มฟังเริ่มพูดตาม วันละ 3-4 เรื่อง เกือบทุกเรื่องเลยสมัยนั้น ก็ดูเรียกได้ว่าทุกคนที่นั้นจะเห็นผมบ่อยมากนั่งอยู่ในห้องซาวด์แล็ป ดูแต่หนังฮอลลีวูด ก็เป็นจุดที่ทำให้ผมพัฒนา เวลาโปรเฟสเซอร์สอนอะไรในห้องเรียน เราก็ฟัง เราก็พยายามสื่อสาร ก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น"

การฟัง การอ่านและแปล เป็นที่น่าพอใจสามารถไต่ระดับจนชำนิชำนาญอย่างไม่อยากเย็น ที่ยากก็เห็นจะมีแต่ทักษะการเขียนสะกดที่เป็นปราการด่านสุดท้าย แต่เขาก็ผ่านมันมาได้และทำได้ด้วยดีสามารถจบก่อนหลักสูตร 4 ปี และได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 เพราะสิงโตน้ำเงินคราม “เชลซี” ทีมฟุตบอลทีมโปรดหนึ่งในสโมสรยักษ์ระดับโลก

"คือเพราะเราฟังเราอ่านเราแปลได้แล้ว เราก็ต้องเขียน เรื่องเขียนนี้ยากที่สุด เราด้อยมาก สิ่งที่ผมทำก็คือใช้เรื่องอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วย ผมก็เข้าไปอ่านในสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมชอบฟุตบอล ผมเชียร์ทีมเชลซี ผมก็จะไปดูไปอ่านข่าวออนไลน์ อย่าง BBC ที่เป็นภาษาอังกฤษ ไปอ่านว่าเขาพูดถึงอะไร เขาเขียนอย่างไร ก็เริ่มฝึกตามนั้น (หัวเราะ)

"ก็ค่อยๆ พัฒนามา จะว่ายากมันก็ยาก เพราะผมจากนักเรียนคนที่อ่อนที่สุดแล้วในคลาส สุดท้ายผมก็ใช้เวลา 2 ปี 8 เดือนจบ จากหลักสูตร 4 ปี เพราะว่าผมลงเรียน 3 เทอมตลอด อัดซัมเมอร์ๆ แต่ว่าตอนจบก็เป็นคนแรกๆ แล้วก็เป็นคนแรกของหมู่บ้าน ได้เกียรตินิยมอันดับที่ 2 ก็เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ภาษาไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากเรียนมาตลอด แต่ที่ทำให้ผมต้องเรียน คืออยากจะทำตามแผนการแบ่งปันที่เราวางไว้ เพราะฉะนั้น ผมไม่กลัว ถ้ามันจะต้องผ่านความยากลำบากอะไรต่างๆ ผมจะต้องเรียนภาษา"

และคำว่า "ไม่กลัว" ที่ลีว่า นอกเหนือไปจากอุปสรรคทางด้านการเรียน เรื่อง “เงิน” ก็ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการเรียนและใช้ชีวิต เขาก็ไม่หวั่น สู้เพนต์เสื้อ ร้อยสร้อยขายที่ตลาดนัดไนท์บาซาร์ หรือมีอะไรที่จะสามารถต่อยอดทุนด้านเงินได้ ลีก็กู้และขอหมด

"เรื่องเงินเป็นประเด็นที่ลำบากมาก ตอนนั้นผมจำได้เลยว่าเทอมแรก ผมต้องขอคุณแม่มาก่อน เพราะมันต้องมีทุน มีค่าเทอม ค่าที่พัก ค่าโน้นค่านี้ แต่พอเสร็จแล้วได้ทุน ผมโชคดีอย่างหนึ่ง ผมกู้เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ แล้วผมก็ได้ทุนมหาวิทยาลัย เพราะผมก็ไปสมัครไว้เวลาที่ทางมหา’ลัยเขาประกาศ มีหลายทุน ไม่ว่าจะทุนบุตรผู้มีรายได้น้อยบ้าง ทุนโน่นนี่ ผมรู้สึกว่าถ้าได้ก็ดี ก็ไป

"ขณะเดียวกัน ผมก็ทำงานไปด้วย ตอนนั้นผมขายของอยู่ไนท์บาซาร์ เสื้อผ้าวัยรุ่น สร้อยบ้าง เสื้อผ้าที่สกรีนแท่ๆ ทำเองบ้าง แล้วก็ทำให้เราสามารถมีรายได้ดูแลตัวเองได้ แล้วก็เอาทุนของ กยศ.ส่งกลับบ้าน ซึ่งจริงๆ มันผิดกฎหมายนะ แต่ว่าเราต้องทำ เพราะเราต้องช่วยคุณพ่อคุณแม่ ส่งน้องที่เรียนต่ออีก 3 คน"

ลี เผย ก่อนจะวกกลับเข้ามาเล่าเส้นทางชีวิตก้าวที่สองที่จะเดินตามความฝันที่ด่านแรกก็กินเวลาร่วมปีในการอธิบายงานที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง

จากดงดอยสู่ดวงดาว
ความลำบากบนย่างก้าวสู่ความสำเร็จ

"จบมา ผมก็ได้งานเกื้อฝันเด็ก ที่ผมเคยฝึกงานตอนเรียน พี่ๆ เขาก็รับเข้าทำงานเลย คือผมทำงานกับเด็กนักเรียนและเยาวชนมาตลอด เหมือนกับโชคที่วางให้ผมทั้งชีวิต ผมคิดอย่างนั้นนะ แต่ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็เหมือนพ่อแม่ทั่วไป คือลูกจบมาก็หวังให้ลูกของตัวเองต้องไปทำงานในบริษัทดีๆ ตำแหน่งดีๆ ในฐานะพ่อแม่ เขาไม่อยากให้ลูกของตัวเองลำบาก อันนี้เราเข้าใจ

"ปีแรกก็ลำบาก ก็ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี กว่าจะอธิบายว่ามูลนิธิคือองค์กรที่ช่วยเหลือโน่นนี่นั่น คือเขาจะถามว่ามีเงินเดือนไหม เงินเดือนพอดูแลตัวเองได้ไหม อย่างนี้ แต่สุดท้ายท่านก็ชื่นชมเรา เพราะว่าเรื่องราวที่เขาผ่านมาในชีวิตของเขา ที่เขาจะต้องหนีสงคราม หนีหัวซุกหัวซุน งานอย่างเราคือคนหนึ่งที่เขาไปช่วยเหลือในสถานการณ์อย่างนี้ให้เขาดีขึ้น ที่ผมบอกไปตอนต้นนั้นคือผมเพิ่งมารู้ทีหลัง เพราะพ่อกับแม่ไม่อยากเล่าเรื่องราวพวกนี้ มันเป็นเรื่องหดหู่ ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะมาเล่าให้ฟัง พ่อกับแม่เล่าให้ฟังตอนที่ผมโตแล้วมันก็ทำให้ผมรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก"

"ทีนี้ วันที่ผมบอกว่าจะออกมาทำกาแฟ พ่อแม่ก็เหมือนเดิม มึงจะออกทำไมวะ (หัวเราะ) งานก็ดีอยู่แล้ว ทำดีอยู่แล้วทำไมต้องออก แต่ความรู้สึกผมคือ ผมรู้สึกว่าเราถึงจุดจุดหนึ่ง ความฝันที่เราฝันตั้งแต่ ม.5 เป็นจริงแล้ว ผมได้ทำในสิ่งที่ตัวเองฝันตั้งแต่เด็ก แล้วเรามีการศึกษาที่มาก ได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เราอยากทำ ก็รู้สึกว่าอยากคืนสู่สามัญ คือจริงๆ ก็เป็นสามัญอยู่แล้วล่ะ แต่อยากกลับไปรากเหง้าของตัวเอง เวลาเรามองกลับบ้าน เรารู้สึกว่าหลายคนที่บ้านก็ยังเดือนร้อนเหมือนเดิม สภาพเดิมๆ ไม่ต่างจากตอนที่เรายังเป็นเด็ก"

เมื่อคิดเช่นนั้น ก็เลือกที่จะสละละทิ้งหน้าที่การงานช่วยเหลือที่ฝันใฝ่ พาตัวเองเข้าไปทั้งๆ ที่ไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร มีเพียงอุดมการณ์ติดบนบ่าและความคิดพัฒนาปกที่หน้าอกข้างซ้ายเท่านั้น

"ทีนี้กลับไปคุณพ่อคุณแม่ก็ถามว่าอยากทำอะไร เราก็ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่เราอยากทำอะไรที่เป็นประเด็นในการแก้ไขกับชุมชนของเราให้ดีขึ้น คือไม่ได้ตั้งเป็นตัวตั้งว่าอะไรจะทำ แต่ดูว่าชุมชนขาดอะไร จำเป็นอะไร พอกลับไป ไปคุยกับชาวบ้านก็เก็บข้อมูลต่างๆ มา ซึ่งเรามีพื้นฐานจากตอนที่ทำงานด้านนี้ ชาวบ้านเขาก็บอกว่า กาแฟ เพราะเขาปลูกกาแฟเยอะ แล้วทางหมู่บ้านก็ต้องการคนที่จะมาช่วยเหลือการกระจาย และมาช่วยพัฒนาแนวคิดในการผลิตกาแฟที่ได้คุณภาพและได้ตลาดที่ยุติธรรม ก็ตัดสินใจ ว่าเราจะก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม"

"ตอนนั้นเราก็มีทุนของเราเองที่เก็บจากการทำงานได้ 8 หมื่นบาท ตอนนั้นก็คิดอย่างเดียวคือเอาทุนของตัวเอง แล้วก็ที่ขาดเหลือเราจะไปนำเสนอให้ธนาคาร แต่เชื่อไหม ธนาคารบอกว่า แผนของคุณนี้เก่งมากเลยนะ แต่ธนาคารถามว่าคุณมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไหม คือผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันคือบ้าบอคอแตกอะไร ก็ถามโง่ๆ มันคืออะไรครับพี่ (หัวเราะ)

"เขาก็บอกว่าคุณมีที่ดินไหม มีรถไหม ที่กล่าวมานี้คือผมไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วที่แย่ที่สุดเลยเขาถามว่าคุณมีเครดิตทางสังคมไหม ก็คิดอยู่นาน เครดิตทางสังคมคืออะไร ที่แท้เป็นหนี้นั่นเอง คุณเป็นหนี้หรือเปล่า เราก็ อ้าววว...เครดิตบ้าบออะไร คนเป็นหนี้สามารถกู้เงินได้ ถ้าคุณไม่เคยเป็นหนี้ คุณไม่สามารถกู้ได้นะครับ ก็ทำให้ผมต้องคิดว่าจะเอายังไงต่อ"

แต่ด้วยความที่เคยทำงานในองค์กรมูลนิธิช่วยเหลือ "เกื้อฝันเด็ก" ลีจึงลองเลียบๆ เคียงๆ ส่งแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่วางไว้ 3 ปี รวมเบ็ดเสร็จก็ตกใช้เงินราวๆ 3 แสนกว่าบาท ให้กับเหล่าบรรดาผู้คนที่ร่วมสนับสนุนอุปถัมภ์ และก็สำเร็จได้ครอบครัวหนึ่งช่วยเกื้อหนุนฝันของเขา

"ตอนนั้นก็เลยต้องอาศัยคอนเนกชันที่ตัวเองมี รู้จักคนตอนที่ทำงานในองค์กรมูลนิธิ ก็เอาแผนนี้ส่งให้ดู ส่งไป แล้วมีครอบครัวหนึ่งเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ ครอบครัวนี้เขาทำงานร่วมกับมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก พูดง่ายๆ เป็นผู้สนับสนุนอยู่แล้วด้วย เขาก็บอกว่าเขากำลังจะทำโปรเจกต์หนึ่งที่ซัปพอร์ตคนที่จะเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคมในภูมิภาคต่างๆ คือเงินตั้งต้นสำหรับคนที่ประกอบกิจการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์ด้วย

"ตอนนั้นเราอายุแค่ 23 เสนอไป เขาก็บอกว่า งั้นตั้งอันนี้ขึ้นมาเลย ใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า 'seg' ก็เลยพาเขาไปที่บ้าน ว่าเราจะทำอย่างนี้ จะออกมาเป็นอย่างนั้น ตอนจะกลับเขาถามว่าจะเริ่มทำเมื่อไหร่ ก็บอกว่าจะเริ่มทำตอนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เขาก็บอกว่าทำได้เลย เงินที่เหลืออีกประมาณ 3 แสนบาท เขาจะร่วมด้วยทั้งหมดในแผน บวกของเราอีก 8 หมื่น ก็ได้ตามจำนวนที่วางไว้ 3 แสนกว่าๆ พอดี ก็ไปชักชวนชาวบ้านให้มาร่วม ชาวบ้านเขาบอกว่าดี แต่ยังไม่เห็นผลงาน เขาก็ไม่กล้าที่จะร่วมกับเราเอากาแฟของที่บ้านมาทดลองก่อน"

"ก็เลยเริ่มเปิดเป็นร้านในตัวจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ชื่อ “อาข่า อามา” เพราะมาจากแนวคิดที่ว่าเราเป็นธรรมชาติและเป็นธรรมดาที่สุด อาข่า ก็คือตัวเอง ชนเผาอาข่า อามา ก็คือแม่ ส่วนในโลโก้ที่เห็นก็คือคุณแม่ คือเราอยากให้คนที่เห็นคิดถึงตัวเอง คิดถึงรากเหง้า ไม่ต้องคิดถึงคนอาข่านะ คิดย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของเราตัวเรา"

ตรงกับในช่วงปี พ.ศ. 2553 ซึ่งจะเป็นเพราะความมือใหม่หรือด้วยระบบเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีจากทั่วทั้งโลก เนื่องจากผลกระทบด้านการเงินทางฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรป จึงทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย

"ตอนเริ่มก็เป็นปีที่ลำบากพอสมควร แต่ผมไม่รู้ว่ามันลำบากยังไงกันแน่ คือหมายความว่าเราไม่รู้ว่าธุรกิจเรามันจะเกิดขึ้นได้ไหม เพราะปีนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเจอปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจจากต่างประเทศแล้วก็การเมืองบ้านเราอีก อีกทั้งไม่มีความรู้เรื่องของธุรกิจ ที่เราทำที่เราเรียนมามันแทบคนละสายกันเลย ธุรกิจมองกำไรเป็นที่ตั้ง แต่สุดท้ายผมก็อาศัยเอาความรู้ที่เรามี ประสบการณ์ที่เราเป็น มาประยุกต์ใช้ อย่างเรื่องการลงพื้นที่ แทนที่จะไปคุยอย่างเดียว ก็เอากาแฟของเราติดไปด้วย ก็เสนอขาย คุยกับเขาบอกว่าเราทำอย่างนั้นอย่างนี้ ธุรกิจเราเป็นแบบนี้ เพื่อตรงนี้

"ก็ตั้งเป้าไว้เริ่มแรกต้องได้เดือนละ 18,000 บาท แต่พอผ่านไป 3 เดือน ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย 25,000 บาท (หัวเราะ) จากการที่ผมเคยกินข้าวสามมื้อ ลดมาเหลือ สองมื้อ จากที่กินอาหารกล้อง เริ่มที่จะพิจารณาไปซื้อน้ำพริกตาแดง เอาข้าวเหนียวมาจิ้มหรือไม่ก็ซื้อมาม่าแล้วเอาข้าวเหนียวมาจิ้ม"

จะมัวแต่วิ่งเที่ยวไปเสนอขายเป็นผลิตภัณฑ์แบบเม็ดอย่างเดียวก็คงจะไม่ไหว ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เปิดร้านนั้นเพื่อนๆ ที่ศึกษาร่ำเรียนมาด้วยกันก็แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาหาบ่อยๆ แต่กระนั้น มาร้านกาแฟ อาข่า อามา ของลีทีไร ก็ไม่เคยได้ลิ้มลองชิมสักที ด้วยเหตุนี้ ทั้งหมดจึงลงความเห็นสนับสนุนส่งลีเข้ามาเรียนชงกาแฟที่โรงเรียนชื่อดังในเมืองหลวง

"ตอนแรก เราตั้งใจจะขายแต่เมล็ดกาแฟอย่างเดียว แต่พอหลังๆ เพื่อนๆ มาหาเขาก็จะบ่นว่ามาแล้วไม่ได้กินกาแฟเลย (หัวเราะ) เราก็เลยไปเรียนพักลักจำจากบริษัทที่เขามาขายเครื่องกาแฟบ้าง แล้วก็ทางยูทูปบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นอาจารย์ยู (ยูทูป) มันก็ไม่เก่งแถมยังลำบาก กลุ่มเพื่อนๆ ก็เลยรวบรวมเงินให้ไปลงทะเบียนเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นไปเรียนที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ก็ถือว่าเป็นคอร์สที่ดีมากๆ

"แต่ตอนช่วงที่เรามาฝึกทำกาแฟตอนนั้นก็เสี่ยงนะ เพราะค่าครีมแพงมาก 2 ลิตร 5 ลิตร ร้อยกว่าบาทสองร้อยบาท สถานการณ์ตอนนั้นเรามีแต่รายจ่าย ถ้านับวันที่ไม่มีลูกค้ารวมกันผมว่าเกินหนึ่งเดือนแน่นอน แต่ว่ามันเป็นโอกาสของผมที่ผมจะมีเวลาฝึกซ้อมตัวเอง เป็นช่วงที่ฝึก เป็นเวลาที่พิสูจน์ตัวเองว่าเราจะผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ไหม แต่มันก็คือความเสี่ยงของผมที่เงินก็ร่อยหรอลงทุกวัน เราก็ลองผิดลองถูก โน่นนี่ ร่วม 8-9 เดือน"

หลังจากเคี่ยวกรำกับชีวิตอยู่นาน เหตุผลที่ทำให้ไม่ย่อท้อนั้นก็เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเส้นทางข้างหน้าต้องไปได้สว่างไปกว่าสีเมล็ดกาแฟ กระนั้น ถ้าย้อนกลับไปในเรื่องของความหลงใหลและพร้อมที่จะมุ่งมั่น เมื่อชีวิตผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว ฝีมือทักษะอายุงานรวมไปถึงความช่ำชองถึงที่ ก็ไม่ต่างจากสีละมุนและรสของกาแฟที่หอมหวานชวนรับประทาน และไม่ใช่การการันตีด้วยพวกพ้องน้องพี่ แต่ได้รับการยกย่องถึงระดับโลก

"พอได้สัก 9 เดือน ผมก็ส่งกาแฟอาราบิก้าของผมเข้าประกวดด้วยที่ลอนดอน เพื่อให้คัดเลือกไปใช้บนเวทีกาแฟโลก เราก็โชคดีมากที่เราได้รับการคัดเลือกจากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษ ชาวต่างชาติก็เริ่มรู้จักเรา แต่คนไทยยังไม่รู้นะ ก็ยังวิ่งแจกกาแฟที่เชียงใหม่ฟรีๆ มีคนเอาบ้างไม่เอาบ้างอยู่ (หัวเราะ) ก็ทำให้มีช่วงหนึ่งที่มีคนพูดถึงว่า มีเด็กบ้าคนหนึ่งวิ่งแจกกาแฟทั่วเมือง ทีนี้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปมันก็มีผลตอบรับที่กลับมานะ เทียบจาก 10 คน จาก 100 เราวิ่งไป อย่างน้อยก็มีกลับมาชิม

"ประมาณช่วงเดือนธันวาคม หน้าหนาวคนเริ่มไปเชียงใหม่เยอะขึ้น เฟซบุ๊กตอนนั้นบ้านเรายังไม่ฮิต บ้านเราใช้โปรแกรมมัลติพลาย ก็เริ่มมีคนบ้านเราที่เขามาให้กำลังใจ สุดท้ายก็ได้บทเรียนที่ดี มีคนเริ่มเข้ามาพูดคุย เริ่มเข้ามาให้กำลังใจเรามากขึ้น บอกชมส่งที่เราทำนั้นดี ทำไปเถอะ ไหนกาแฟเราได้รับการคัดเลือกบนเวทีโลกอีก เรารู้สึกว่าเจ๋ง เราไม่ได้ไปมโนเอง คิดเองว่ากาแฟเราดี แต่เขาเห็นว่ากาแฟเรา กาแฟไทยก็ดี เราก็มีกำลังใจ"

"จาก 5 ครอบครัวก็มา 8-9-10 ครอบครัว แต่ไม่ได้ตั้งใจจะให้ทุกคนต้องมาอยู่ใต้เรา เราต้องการให้เกิดความยุติธรรมในราคา เราทำออกมาก่อนเพื่อบอกให้เขารู้ว่าเราทำได้ นั่นคือสิ่งที่เราทำมา สุดท้ายเขามีความเข้าใจมากขึ้น เขาต้องพัฒนากาแฟของเขาอย่างไรให้ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ พ่อค้าคนกลางเขาต้องให้ราคาที่ดีขึ้น เพราะชาวบ้านเขารู้ แล้วว่าราคาที่ยุติธรรมสำหรับเขาคือตรงนี้

"จริงๆ เรื่องการปลูก เขาปลูกได้ดีอยู่แล้ว เพราะเขาปลูกด้วยรูปแบบแนวผสมผสาน ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว ไร่หนึ่งมีทั้งต้นชา กาแฟ ผลไม้ ผัก อะไรอย่างนี้รวมกันอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชื่นชม เพราะหนึ่งมันเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือส่วนมากจะนิยมทำเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว แต่เกษตรเชิงเดี่ยวมันจะทำลายดินให้เสื่อมคุณภาพ เสร็จแล้วยังไม่พอ มันเป็นเรื่องของเวลาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ราคากาแฟตก เขาก็ปลอดภัย เพราะเขาก็ยังมีผลไม้ เขาก็ยังมีชา แม้ว่าเราคาทุกอย่างตก เขาก็ยังมีผักดำรงชีพ แล้วประกอบกับแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยที่เราน้อมนำมาใช้

“คือผมคิดว่าหลายๆ คนคงจะไม่เข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง จริงๆ แล้วมันเป็นแนวคิดที่เราพึ่งพาตัวเองมากที่สุด มุ่งให้เราทำตามศักยภาพที่ตัวเองมี ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนติดหนี้หรือว่าอะไร และที่สำคัญคือทำให้เกิดความยั่งยืนของตัวเอง นี่เราพูดถึงแค่ครัวเรือนนะ

“เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมมองแล้วรู้สึกมันดี ไม่ได้หมายถึงต้องทำแค่น้อยๆ ทำแค่บนดอย เขาเรียกว่าไม่มีรายได้ คือทำให้มันมีรายได้ก็ได้ ทำให้มันใหญ่ก็ได้ แต่ต้องถามว่าศักยภาพตัวเองมีแค่ไหน คือถ้าทำแล้วมันโอเวอร์ ติดหนี้สิน เครียด มันก็ไม่ใช่แล้ว นี่เป็นแนวคิดที่ผมทำตามมาตลอด และเห็นผล ทุกวันนี้ก็ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ หลายคนเขาไม่จำเป็นต้องมารอคอยความช่วยเหลือจากเราแล้ว (ยิ้ม) เขาช่วยเหลือตัวเองได้ อันนี้คือเป้าหมายสูงสุดของเรา ผมชื่นชมในองค์ความรู้ของชุมชนมากที่เราทำกัน"

ปัจจุบันร้าน 'อาข่า อ่ามา' เปิดทำการเข้าสู่ปีที่ 6 มีด้วยกันทั้งหมด 2 สาขา ในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาคอกาแฟเป็นอย่างดี โดยในปีที่ 2 มีชาวบ้านมาเข้าร่วม 5 ครอบครัว กาแฟได้รับการคัดเลือกอีกทีหนึ่งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เริ่มมีสื่อทั้งจากต่างประเทศและสื่อบ้านรู้จัก ปีที่ 3 ได้ไปรับการคัดเลือกที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และขยายสาขาเพิ่มอีกหนึ่งร้าน ส่วนที่ปีที่ 4 ได้มีโรงคั่วกาแฟและโรงสีกาแฟเป็นของตัวเองเมื่อปีที่แล้วกับปีนี้

"ถ้าถามว่าทำไมผมไม่ย่อท้อหรือ..."
หนุ่มลีกล่าวย้อนถามเพื่อไขข้อสงสัยอยากรู้ถึงสิ่งที่คนคิดและมองตั้งคำถาม

"คือผมเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี เวลาผมเจอประเด็นอย่างนี้ ผมจะคิดว่า เศรษฐกิจบ้านเราอาจจะไม่ดี แล้วอีกอย่างหนึ่ง ทักษะเราอาจจะยังไม่พอ ก็ต้องฝึกซ้อมเยอะๆ พอถึงเวลาผมว่าเขาก็ยอมรับเราได้ แล้วมันก็เป็นจริงๆ คือถ้าผมคิด ปิดเถอะๆ หรือถอดใจง่ายๆ

"บางคนอาจจะคิดว่าผมอยู่มาได้เพราะที่บ้านปลูกกาแฟ ปลูกกาแฟอย่างเดียว ถ้าไม่รู้เรื่องอื่นมันก็ไม่ได้ แล้วหลายคนอาจจะมองเห็นภาพสุดท้าย เขาคนนี้คนนั้นหรือผมประสบความสำเร็จ แต่ถามว่าไม่มีใครรู้เลยว่าก่อนที่จะมาถึงทุกวันนี้ต้องผ่านอะไรบ้าง ที่ผมพูดว่าต้องยอมลดมื้อข้าว เราอดข้าวสักมื้อหนึ่งไหม คุณจะยอมสามารถรับฟังคำที่ติชมต่างๆ ผมเคยเอากาแฟไปให้ฟรีบางคนยังไม่รับด้วยซ้ำ ขนาดฟรี เขายังไม่เอา คุณจะรู้สึกอย่างไร นี่คือสิ่งที่คุณจะต้องถามสำหรับคนที่จะเริ่มต้น จะมีสักกี่คนที่มองเห็นภาพระหว่างนั้น"

"ทุกวันนี้ของผมก็คือทำทุกวันและงานหนักทุกวัน ไม่ใช่ว่าวันนี้มันจะเบากว่าเมื่อวาน ผมทำเท่าๆ กันทุกวัน เหมือนวันแรกที่ผมเริ่มต้น ไม่ใช่ว่าโอ๊ย หลายปีแล้ว อยู่ได้แล้ว ไม่มี"

กาแฟดริป สโลว์ไลฟ์
กับความหมายของคืนวันชีวิต

นอกจากแบรนด์ที่เริ่มโดดเด่นและโด่งดังในทางกาแฟ “อาข่า อามา” ยังเป็นเลิศในด้านกาแฟดริปที่กำลังฮิปและฮิตมากในหมู่ประชากรผู้นิยมสโลว์ไลฟ์ และหนุ่มลีก็ได้สิ่งนี้มาจากการแนะนำของสองพี่น้องเจ้าของแกลเลอรีกาแฟดริป "ปิยชาติ ไตรถาวร" และ "ณัฎฐ์ฐิติ อำไพวรรณ"

"เขาหลงใหลเหมือนกันกับผม ต้องชื่นชมพี่ๆ ที่เขาเริ่มต้นมา หลงใหลในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วเรารู้สึกว่าเฮ้ย มันก็ทำได้ แล้วมันก็มีคนหลงใหลในสิ่งที่เราทำ ชื่นชม ชื่นชอบ เราก็ปรึกษาพี่ๆ ก็ได้เรียนรู้มา แล้วก็ไปเปิดมุมหนึ่งที่ร้านในบาร์ คนก็เริ่มมีคำถามว่านี้มันคือกาแฟอะไร เราก็อธิบายไป ก็ทำให้รู้สึกว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ทุกวันนี้ลองดูซิทุกที่มีกาแฟดริป

"คือผมคิดว่าหลายคนอาจจะเข้าใจอะไรผิด คือคำว่า 'สโลว์ไลฟ์' มันไม่ได้แปลว่าคนที่ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด สโลว์ไลฟ์ในความหมายผมมันคือการบาลานซ์ทั้งนั้น คือการสร้างความสมบูรณ์ เพราะคนเรา มนุษย์เราไม่ได้สร้างมาให้เป็นคนที่บู๊ตลอดเวลาหรือสปีดตอลอดเวลา เราต้องมีช่วงจังหวะที่เราต้องนึกคิด มีจังหวะที่เราต้องผ่อนคลาย จังหวะที่เราต้องใช้สมาธิ วิเคราะห์ นี่ก็คือสโลว์ไลฟ์แล้วนะ

"กับบางคนที่เขาใช้แต่ความเร็ว สปีดแข่งขัน เราเห็นไหมว่าคนเหล่านี้เขามีความสุขไหม คนที่เขาต้องแข่งขัน แม้แต่ไปกินก็ต้องไปแย่งกัน แม้แต่ที่จะไปทำงานต้องแย่งตำแหน่งกัน มีแต่คำว่าแย่งๆ สโลว์ไลฟ์ไม่ได้หมายความว่าการใช้ชีวิตไปวันๆ แต่หมายถึง การมองถึงตั้งแต่อดีตไปถึงอนาคต"

"อันนี้คือขั้นตอน แต่แนวคิดเบื้องหลังมันยิ่งใหญ่กว่า อย่างผมมาทำงานกับองค์กรของ สโลว์ฟู้ด ตอนนี้ เขาพูดถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทำไมเขาถึงต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าต่อไปสิ่งเหล่านี้หรืออะไรต่างๆ ที่ดั้งเดิมมันจะหายไป เพราะเราทำลาย ฉะนั้น สโลว์ฟู้ดหรือสโลว์ไลฟ์ ผมถึงได้บอกว่าไม่ได้หมายความว่า คุณต้องด้อย คุณต้องไม่ไม่คิดถึงการพัฒนา ไม่ใช่ จริงๆ ต้องคิด ต้องมีความรู้เป็นสองเท่ากว่าคนที่ใช้สปีดไลฟ์ด้วยซ้ำ เนื่องจากมันไม่ได้แค่คิดถึงแค่ตัวคุณเอง มันคือการคิดถึงคนทุกคนว่า คิดถึงอากาศ คิดถึงสิ่งแวดล้อม คิดถึงคนกิน

"ผมว่า ไม่ว่าใครก็ไม่อยากไปแย่งกันอะไร แย่งทำงานในจุดจุดเดียวกัน เขาอาจจะพูดว่าฉันอาจไม่มีทางเลือก ฉันต้องทำอย่างนี้ ฉันเรียนมาอย่างนี้ เพราะคิดว่าสังคมบีบให้เป็นระบบอย่างนี้ แต่ทำไมหลายคน ผม เลือกได้ ทั้งๆ ที่โอกาสผมใช่ว่าจะมี มันอยู่ที่ตัวเองมากกว่า

คำว่า 'สโลว์ไลฟ์' หรือ 'สปีดไลฟ์' ก็คือแนวความคิด ที่แล้วแต่ใครจะเลือกใช้เลือกนิยาม

"มันคือแนวคิดในการใช้ชีวิต คุณจะนึกถึงอาหารที่ออกมาจากโรงงาน หรือคุณจะคิดถึงอาหารที่ผลิตจากเกษตรกรคนหนึ่งที่ตั้งใจทำ ใส่ใจทุกรายละเอียดความสดสะอาด คุณจะเลือกอะไร ผมเป็นอย่างหลัง แต่คนส่วนใหญ่เขายังเลือกอย่างแรก เพราะหนึ่งเขามองว่ามันดูดี มันมาในรูปแบบที่ตัวเองเคยเห็นมาตลอด แล้วมันสะดวก มันเร็ว

"สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นมันมาทำร้ายตัวเอง สุขภาพก็แย่ แล้วสิ่งที่ตัวเองทำมา ที่บู๊สู้มาทั้งชีวิต เงินที่ตัวเองเก็บได้ ต้องมาจากค่ารักษาพยาบาล หรือกับอีกกลุ่มหนนึ่งเขาอาจจะไม่ได้รวยมาก แต่เขามีความสุข เขามีแปลงผัก เขาปลูกผัก เขามีครัวเขาทำกินเอง เขารู้จักสังคม เขารู้จักชุมชน สุขภาพเขาดี เขาก็มีความสุข"

"จริงๆ กาแฟดริปมันมีมานานแล้วล่ะ แต่บ้านเราเรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็มักกินกาแฟโบราณหรือฟิลเตอร์ที่ไม่ได้เป็นลักษณะของคาเฟ่ ผมก็มองว่าแกลเลอรีกาแฟดริปเองทำให้เกิดวัฒนธรรมการบริโคกาแฟที่หลากหลายขึ้น ทำให้คนมองทางเลือกที่แตกต่าง และมีศิลป์ ผมก็เพิ่งได้ทำจริงจัง สองปีกว่าๆ เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นก็ทำให้ได้ความรู้และได้ประสบการณ์จากพี่ๆ ได้ถ่ายทอดและแนะนำ

"คือกาชงกาแฟไม่ใช่ว่าคุณอยู่ๆ ไปชงกาแฟแล้วได้นะ มันต้องมีความรัก ต้องมีความหลงใหล ลึกซึ้ง ต้องรู้ว่าเรากำลังชงกาแฟอะไร มันมาจากที่ไหน มันไม่ต่างจากคนที่เขาบริโภคไวน์ ไม่ต่างจากคนที่กินอาหารกินข้าวแล้วมีคำถามว่าข้าวหรือวัตถุดิบนั้นมาจากจังหวัดอะไร ใครปลูก ปลูกที่ไหน กาแฟก็เหมือนกัน รายละเอียดเหล่านี้มันกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เกิดการอุปโภคแล้วก็มีการแยกแยะในเรื่องของเอกลักษณ์ของกาแฟตัวนั้นๆ

"ทำให้จากแต่ก่อน เราอาจจะกินกาแฟอะไรก็ได้ บางก็รู้แค่ว่าอันนี้กาแฟจากทางเหนือ อันนี้กาแฟจากทางใต้ จบ... (ยิ้ม) ถัดอีกสมัยหนึ่ง คนเริ่มพูดว่ากาแฟนี้มาจากเชียงราย แต่ก็ยังเป็นเชียงรายที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วดูสมัยนี้เป็นอย่างไร มาจากจังหวัดเชียงราย ปลูกที่ตำบลนี้ ของหมู่บ้านนี้ ไร่คนปลูกชื่อนี้ ซึ่งมันเป็นการให้เกียรติให้ความเคารพคนที่อยู่ต้นทางกาแฟ คือเราอยู่ตรงนี้ เราอาจจะมองเห็นแค่ร้านกาแฟ คนชงกาแฟ แต่เบื้องหลังกาแฟ กว่าจะมาเป็นกาแฟที่เราชง มันยาวไกลมาก เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ทำไมพวกเราคนรุ่นใหม่ที่เขามากินกาแฟ แล้วมาอยู่ในวงการที่พัฒนากาแฟไทย เขาถึงให้เกียรติในการให้พิสูจน์เรื่องของออริจิ้นต้นฉบับ มีทั้งซื้อขายกันในราคาที่ยุติธรรมมากขึ้น มีการประกวด มีการให้กำลังใจเยอะแยะมากมาย ซึ่งผมว่าเป็นทิศทางที่ดี

"ตอนนี้ก็กำลังจะสร้างฐานการผลิตที่ขยับขยายออกไปอีก เรายังไม่ใหญ่พอสำหรับฐานที่เราจะขยายต่อในอนาคต เพราะเรามองว่าเราสามารถช่วยเหลือชุมชนได้มากกว่านี้ ผมมองว่าเป็นโอกาสของคนไทยมากกว่าที่จะได้พัฒนา ไม่ใช่แค่ในเรื่องวัฒนธรรมการกินกาแฟ แต่มันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย มันเป็นเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ให้มากขึ้น ก็จะมีทั้งทุกอย่าง โรงคั่ว โรงสี โรงเก็บกาแฟ โรงห้องเทรนด์นิ่งเรียบร้อย มีสอนหมด แต่เราเน้นกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มชนที่เขาจะกลายมาเป็นนักประกอบกิจการเพื่อสังคม"

"คือคำว่ากิจการเพื่อสังคม จริงๆ แล้วก็คือเป็นการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ชุมชนมีความยั่งยืนมากขึ้น คนที่ผลิตได้ราคาที่ยุติธรรมมากขึ้น คนที่บริโภคได้คุณภาพที่ดี อันนี้คือหัวใจ"

หนุ่มลีบอกถึงจุดมุ่งหมายทิศทางในอนาคตที่วางเป้าไว้ จากความชอบนำพามาและคืนสู่สั่งคมจนประสบความสำเร็จมีคนชื่นชม มองไปแล้วไม่ต่างจากเส้นทางของกาแฟที่เขากล่าวไว้ข้างต้น

"แล้วก็เรื่องของความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ซึ่งทุกอย่างที่เราทำ ถ้ามองแค่ผิวเผินก็อาจจะเหมือนธุรกิจกาแฟอันหนึ่ง แต่ถ้าเราซอยย่อยเข้าไป เราจะเห็นว่าคนที่เขาอยากให้ความสำคัญกับสังคมยังมี คนไทยจริงๆ น่ารัก ผมบอกเลยว่าทุกวันนี้เราโตมาได้ ก็เพราะคนไทยช่วยกันทั้งนั้น แต่เราไม่เคยขายในเรื่องของความน่าสงสารของคน เราขายคุณภาพ เราขายในเรื่องของความยั่งยืนจริงๆ

"แล้วชีวิต หลายคนอาจจะคิดว่ายุ่งยาก แต่คือตัวเราเองต่างหากที่ทำให้มันยุ่งยากมากกว่า ชีวิตเรา เราอยู่ตรงนี้ได้ไม่นาน เราอยู่บนโลกนี้ได้ไม่นานหรอก ถ้านับวันก็แค่หลักพันจะถึงหลักหมื่นหรือเปล่าไม่รู้ แต่ไม่นาน เราอาจจะคิดหนึ่งปีก็ตั้ง 12 เดือน แต่จริงๆ ไม่นาน แป๊บเดียว คำถามก็คือเราจะทำอะไรให้กับโลกนี้ที่เรามาอยู่ เหมือนกับเรามาอยู่แป๊บๆ แล้วไป แต่เราจะทิ้งอะไรไว้ให้กับคนรุ่นใหม่ คนที่จะเกิดขึ้น หรือว่าเรามาแค่ใช้ทรัพยากรให้หมดแล้วก็ไป แค่นั้นหรือ..."




Akha Ama Coffee : สาขาแรก ตั้งอยู่ที่ 9/1 Mata Apartment ถ.หัสดิเสวี ซอย 3 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, และสาขาที่สอง ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน (ถนนคนเดินวันอาทิตย์) หน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ติดธนาคารกรุงไทย จังหวัดเชียงใหม่
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

กำลังโหลดความคิดเห็น