xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยจิตละครไทย...ตลกร้ายๆ ไปกับแอดมินเพจ “ละครสะท้อนอะไร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากให้นึกถึง “ละครโทรทัศน์ไทย” ภาพแรกที่ให้นึกถึง คืออะไร บ้างก็นึกถึง การเชือดเฉือนกันระหว่างตัวนางเอกและนางร้าย ที่แทบเขม่นกันทั้งเรื่อง บ้างก็นึกถึงเหล่าตัวละครผู้หญิง ที่เวลามีฉากทะเลาะกัน มักลงเอยด้วยการตบตีเกือบทุกครั้งไป หรือบ้างก็นึกถึงเนื้อหาที่วนเวียนอยู่กับการแย่งไปมากันของผัวและเมีย ซึ่งเราอาจจะถือได้ว่า นี่แหละคือ “เอกลักษณ์” ของละครทีวีไทย

แต่ก็มีบางฉากในละครทีวีบ้านเรา ยังคงแสดงถึง “ความเกินจริง” ที่ในเรื่องจริงคงจะไม่มีเอาไปทำตามได้ ไม่ว่าจะเป็น ฉากข่มขืนโดยตัวพระเอกหรือผู้ร้าย ที่ยังไงก็ไม่มีทางรับโทษตามกฎหมาย, ฉากตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บและมีการพร่ำเพ้อพรรณนากันอยู่พักใหญ่ แทนที่จะพากันไปส่งโรงพยาบาลโดยทันที หรือ วิธีการพยาบาลเบื้องต้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นความเสียสละ ทั้งๆ ที่มันเป็นการทำที่ผิดวิธี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำพามาสู่การ “ป่วยจิต” ให้กับผู้ชมละครในที่สุด

และด้วยความป่วยจิตจากที่กล่าวมาคร่าวๆ นี่เอง จึงเป็นที่มาของแฟนเพจ ชื่อ “ละครสะท้อนอะไร” ที่มี แจน-อรอุษา เปิงสูง หญิงสาวจากคณะมัณฑณศิลป์ รั้วศิลปากร เป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับแฟนเพจแห่งนี้ โดยเพื่อรวบรวมความป่วยจิตของละครทีวีไทยผ่านทาง infographic น่ารักๆ พร้อมกับเพิ่มความรู้เสริม เพื่อให้ผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ จะได้เข้าใจถูกกันเสียที

เพราะหากเราได้รับรู้ถึงข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วนั้น เราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ก็จะไม่ต้องดูละครทีวีไทยแบบป่วยการ ยังไงล่ะ...

• ที่มาที่ไปของแฟนเพจนี้ เริ่มมาจากอะไร

ตอนแรกมันเป็นโปรเจกต์รายวิชา infographic ของสาขาวิชาที่เรียนน่ะค่ะ (สาขาออกแบบนิเทศศิลป์) ซึ่งอาจารย์ให้โจทย์มาว่าทำอะไรก็ได้ และเพราะความที่เราดูละครบ่อยๆ ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้น่าทำดีนะ คือตอนแรกแค่จะแซวหยอกๆ ประมาณว่า มันกรี๊ดกันกี่เดซิเบล มันทาปากเฉดสีอะไรบ้าง แต่พอหาข้อมูล เราเห็นว่า จริงๆ มันมีมากกว่าความซ้ำซากนั้น มันมีอะไรอยู่ในนั้นเยอะมาก อย่างเช่นมีความเข้าใจผิดที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมา เวลาผ่านไปนานแล้ว ก็ยังไม่เปลี่ยน

เช่น สมมติว่านางเอกโดนข่มขืน ฉากติดตาเลยก็คือ นางเอกต้องนั่งร้องไห้อยู่มุมเตียง โดยที่ต่อให้เป็นพระเอกหรือตัวร้ายที่กระทำการสำเร็จ ก็ไม่เคยถูกตำรวจจับเลย มันก็ยังซ้ำซากอยู่อย่างนี้ หรือบางทีฉากคนจมน้ำ จะทำการ CPR เมาท์ทูเมาท์ ซึ่งมันก็คือการช่วยชีวิต แต่ละครไทยใส่เพลงบรรเลงซึ้งซะอย่างงั้น

• เหตุผลในการตั้งแฟนเพจ มันเหมือนเราอัดอั้นตันใจ ประมาณนั้นใช่ไหม

ใช่ค่ะ (ตอบทันที) คือเวลาที่เราดูละคร เราจะรู้สึกตลอดว่าทำไมต้องทำแบบนี้กัน ก็จะไปเมาท์กับเพื่อนกัน ตอนแรกก็จะมาคุยกับเพื่อนแบบ เฮ้ย มันเพี้ยนเนอะ แต่หลังๆ ก็จะเริ่มเมาท์ว่า เฮ้ย มันผิดนะ อย่างฉากสงครามบางระจัน ผู้หญิงในสมัยนั้นผมยาวมาเลย ทั้งที่ยุคสมัยนั้นเขาตัดผมสั้นกัน เพราะถ้าผมยาว ทหารในสงคราม ก็จะจิกผมไปข่มขืน อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันก็ผิดนะ ก็เลยอยากให้แฟนเพจนี้เป็นสื่อหนึ่ง ที่ช่วยให้คนเข้าใจถูกต้องมากขึ้น ดังนั้น แฟนเพจแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่นอกจากจะเป็นแค่แซวๆ หยอกๆ ก็ให้ความรู้ที่แบบคนไม่รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ

• แฟนเพจนี้ คือตั้งใจจะจิกกัดละครทีวีไทยอย่างเดียว

จริงๆ ตั้งใจจะจิกกัดหนังด้วย เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีอยู่ในหนังด้วย เช่น เคยโพสต์เรื่องยิงกระสุน บางทีก็จะมีคนหยอกแบบว่า หนังฝรั่งมันก็ทำเหมือนกัน ยิงรัวๆ กระสุนไม่หมด บางทีก็ไม่ใช่แค่หนังไทยอย่างเดียว แต่รายละเอียด เราว่าหนังไทยไม่ค่อยเก็บเท่าหนังฝรั่ง (หัวเราะ) ซึ่งพอเราคิดว่าเกิดการคุยมากๆ เข้า ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเหมือนกัน อย่างเมื่อก่อน จะมีคนล้อว่า ทำไมนางเอกไม่สบายแล้วนางไม่โทรมเลย ยังแก้มแดงฟรุ้งฟริ้งอยู่เลย แต่พอมาช่วงหลังๆ เซตละครช่วงนี้ ระยะปีนี้เริ่มมีแบบแต่งหน้าให้เหมือนไม่แต่งขึ้น หรือเรื่องปาก นางไม่ปากแดงแล้วนะ อย่างน้อยนางก็สีนู้ดนะ (หัวเราะอีกครั้ง)

• มีคนบอกว่า ถ้าจะดูประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องดูที่ละครเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบด้วย เราเห็นด้วยมั้ย

เห็นด้วยนะคะ ถามว่าละครสะท้อนสังคมมั้ย มันก็สะท้อนนะ สะท้อนความคิด สะท้อนอะไรในยุคสมัยนั้น คือตอนที่ทำอินโฟกราฟิก ก็เก็บข้อมูลเหมือนกัน เก็บข้อมูลว่า 20 ปีก่อนละครเป็นยังไง 10 ปีก่อนละครเป็นยังไง เห็นความเปลี่ยนแปลงมั้ย มันก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะเกิดขึ้นในช่วงหลัง จากบางทีระบบเซ็นเซอร์ห้ามไม่ให้แสดง มันก็อาจจะสะท้อนไม่ได้เต็มที่

อย่างเมื่อก่อนมันไม่ค่อยเซ็นเซอร์เท่าไหร่ ละครก็จะมีความรุนแรงมาก มันจะมีฉากฆ่า หรือมีฉากแบบแย่ๆ เยอะ ซึ่งถ้าไปย้อนประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น คือสิ่งเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นจริงในสังคม ที่ช่วงยุคอันธพาลครองเมือง ถ้าเกิดเป็นละครในยุคนั้น ก็สะท้อนความอัดอั้นในสิ่งนั้นอยู่เหมือนกัน แต่ถามว่าหลังๆ มันควรจะเปลี่ยนมั้ย คนมีความคิดใหม่ๆ มากขึ้นแล้วนะ อย่าคิดว่า คนจะย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม มันควรจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้ได้แล้วตามยุคสมัย

• คิดยังไงกับคำว่า ละคร หรือ Soup Opera ในความเห็นส่วนตัว

(นิ่งคิด) ละครมันคือสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่ง สำหรับเรา คิดว่าละครมันคือสิ่งที่สะท้อนมุมมองของผู้หญิงในแต่ละยุคสมัย เพราะคนที่แต่งละครหรือนิยาย จะเป็นผู้หญิงซะส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือถ้าเป็นในสมัยก่อนจะเป็นผู้ชายแต่ง ดังนั้น ละครนอกและละครใน สมัยก่อนมันจะเป็นมุมมองของผู้ชาย คือจะเห็นว่าผู้หญิงจะถูกกดขี่เยอะๆ แต่ที่น่าแปลกคือละครในปัจจุบัน ผู้หญิงถูกกดขี่ยิ่งกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเป็นคนแต่ง ซึ่งนี่แหละเหมือนว่าผู้หญิงก็กดขี่ผู้หญิงด้วยกันเอง

• เขาอาจจะเขียนมาเพื่อขายก็ได้มั้ง โดยที่ไม่มองในแง่ความเป็นจริงเท่าไหร่

คือเราก็เคยอ่านเหมือนกันที่แบบว่า มีคนรู้สึกดีเหมือนกันกับฉากข่มขืนอย่างเงี้ย คือมันจะเด็กวัยรุ่น ถ้าย้อนอ่านนิยายในยุคปัจจุบันนะ จะเห็นเลยว่าฉากข่มขืนเยอะมาก เราคิดว่า มันจะมีช่วงวัยหนึ่งที่จะชอบเรื่องแบบนี้แล้วไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่พอโตขึ้น เหมือนกับสมัยนั้นภาษาหรือฉากละครมันบิลด์ว่าสวยงาม ภาษามันสวยคงไม่อะไรมากมั้ง แต่พอเราเห็นความเป็นจริงมากขึ้น มันก็รู้สึกว่า เฮ้ย ไม่ใช่แล้ว มันคือความรุนแรงแล้ว

อย่างญี่ปุ่น เวลาฉากข่มขืน แสงสีเสียง เราดูแล้วหดหู่ เราดูแล้วมันรู้สึกว่า เป็นอะไรที่ผิดนะ มันเป็นอาชญากรรม แต่ละครไทยมันเป็นเพลงซึ้งๆ แสงเบลอๆ ภาพสวยๆ เราเลยรู้สึกว่า มันไม่ใช่แล้ว มันกลายเป็นเรื่องดีเฉยเลย และมันก็ทำให้เกิดว่า คนยอมรับว่าให้เกิดสิ่งนี้ มันทำให้เกิดเป็นความรู้สึกธรรมดาปกติ

หรือว่าบางที ก็ทำให้เกิดการลงโทษผู้หญิง อย่างบางทีถามว่า ผู้หญิงถูกข่มขืนมาคนหนึ่ง สิ่งแรกที่คนคิดคือไปที่เปลี่ยวหรือเปล่า แต่งตัวโป๊หรือเปล่า ไปอยู่ที่อโคจรหรือเปล่า ผู้หญิงผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราควรคิดว่า ผู้ชายมันผิดนะ ไปทำเขานี่มันไม่ถูกนะ หรือ ฉากตบตี หลังๆ ก็ชักจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะสื่อที่มันออกมา ทำให้เรารู้สึกว่าใครๆ ก็ทำกัน

• ซึ่งเหมือนกับว่า พอดูละครไปเรื่อยๆ จนเหมือนกับเป็นสูตรสำเร็จแล้ว แต่คนเริ่มเบื่อ เริ่มเอือมระอา

จริงๆ เราก็เอือม จนไปดูซีรีส์เกาหลีบ้าง ดูหนังต่างประเทศบ้าง แต่ถามว่าที่ดูละครเยอะกว่า เพราะว่าละครไทย เราไม่ต้องมองจอก็ได้ไง ฟังแค่เสียงเราก็ทำงาน (หัวเราะ) แต่ซีรีส์เกาหลีไม่ได้นะ เขาแสดงด้วยหน้าตา บางทีเขาพูดอย่างหนึ่งแต่การแสดงสีหน้าเป็นอีกอย่าง แต่ละครไทย สมมติว่าฉากมุนินตบกับนพนภา ตบฉาดปุ๊บ ‘แกตบฉันเหรอ’ แค่นี้ก็รู้แล้วว่ามันตบกัน ไม่ต้องดูเลย

• นอกจากตัวเรื่องแล้ว การแสดงก็ถือว่าซ้ำไปซ้ำมาไหม

เราเคยดูนักแสดงคนหนึ่งสัมภาษณ์ออกทีวี ตอนโดนถามว่า ละครคืออะไร เขาบอกว่า เวลาเขาแสดงละคร ก็ต้องโอเวอร์แอกติ้งไว้ก่อนเพื่อให้คนหันมามอง คือเขามองว่า ละครไม่เหมือนภาพยนตร์ที่เขาซื้อตั๋วมา คุณก็ต้องดูจนจบเรื่อง แต่ละครมันไม่เหมือนกัน คือคุณสามารถเปลี่ยนช่องไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้น เขาต้องแสดงให้โอเวอร์ไว้ก่อน เพื่อดึงดูดความสนใจคน นั่นคือมุมมองของดารา ซึ่งในแง่ศิลปะ มันไม่ใช่แล้วนะ คิดว่าเขาค่อนข้างดูถูกคนดู คือคิดว่าคนดูไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจ ถ้าเขาไม่บอกตรงๆ อะไรอย่างงี้ ละครไทยเลยเป็นแบบนี้ คือทุกอย่างจะบอกตรงๆ ทื่อๆ เลย จะไม่ค่อยมีศิลปะในการสื่อสาร

• มองว่าอะไรที่ละครไทยควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น

การตีความคำว่าละครสร้างสรรค์สังคมของไทย คือมันตีความแค่ว่า ตัวเอกต้องทำดีนะ ต้องพูดดีนะ คิดดีนะ อันนั้นเขาจะตีว่าละครน้ำดี ฉันจะทำเพื่อสังคม ฉันจะไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ไอ้หนังแบบนี้จะพาดหัวไว้แบบสร้างสรรค์สังคม แต่การสร้างสรรค์สังคมจริงๆ แล้ว มันควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่า คือการให้ความรู้กับคนดูไงแล้วมันเป็นการให้จริงๆ กับชีวิตจริง มันจะเกิดประโยชน์มากกว่า มากกว่าการปลูกฝังแบบการพูดดี ทำดี ผลที่เกิดคือ คนดูย้ายช่องหนี หรือบางคนก็เกิดเบื่อ คือไม่มีศิลปะในการนำเสนอ มาบอกทื่อๆ แบบสีขาวเลย มันก็น่าเบื่อ คือถ้าเกิดจะทำอะไรมันก็ควรจะแบบสีเทาๆ หรือดำๆ แซมๆ บ้าง มันถึงจะน่าสนใจ มีสีฉูดฉาดมากขึ้น

• ถ้าจะนิยามละครไทยในความคิดของคุณ จะให้ความหมายว่าอย่างไร

คือมันเป็นภาพฝันอ่ะค่ะ เราคิดว่าละครไทยมันคือความฝันที่แบบว่า เราอยากจะรวยแล้วอยู่ตรงนั้น เราอยากอยู่บ้านที่มีหงส์บนหลังคา มีน้ำพุอยู่หน้าบ้าน มีสวนกว้างๆ 2 กิโลเมตรก่อนถึงบ้าน (หัวเราะ) ซึ่งเราคิดว่ามันคือความฝันของคนไทยด้วยแหละ คือฉากคุณหญิงคุณนายไม่เคยเห็นเลยนะว่านางทำงานอะไร มาถึงนางรวยเลย เราไม่รู้ว่าคุณหญิงแม่ทำงานอะไรมา หรือบางที อย่างเรื่อง “น้ำตากามเทพ” ก็ล้อเลียนอยู่อ่ะ แบบพระเอกทำงานมานั่งเซ็นอย่างเดียว ทั้งที่ชีวิตจริง คนเป็นซีอีโอหรือประธานบริษัท มันจะต้องรับผิดชอบอะไรเยอะแยะ ต้องทำงานมากมาย ที่ไม่ใช่เซ็นอย่างเดียว แล้วก็กลับบ้าน

• คิดว่าอะไรที่หล่อหลอมให้ละครไทยเป็นอยู่แบบนี้

บางทีมันอาจจะมีที่มาจากประวัติศาสตร์นะ การปลูกฝัง การเลี้ยงดู นิสัยพื้นฐานของคนไทย มันเลยเป็นอย่างงี้ด้วย อย่างญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ที่เห็นมากๆ คือ จะเป็นซีรีส์แนวการทำงานทำอาชีพ เพราะประวัติศาสตร์เขาจะให้ความสำคัญกับการทำงานตั้งแต่แรกแล้ว คือทำงานผิดพลาด คว้านท้อง ฆ่าตัวตาย หรือตะวันตกที่มีมุมมองค่อนข้างอิสระ คือปัจจัยของซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศคือ การก้าวข้ามอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเติบโต เหมือนจากดักแด้แล้วกลายเป็นผีเสื้อ นั่นคือปัจจัยของสิ่งบันเทิงต่างประเทศ

แต่ของคนไทยจะเป็นอีกแบบ คือนิสัยคนไทยมักไม่ค่อยก้าวข้ามอะไร ไม่ใช่การยึดมั่นกับหน้าที่ แต่สิ่งที่คนไทยเป็น คือต้องการรวย รวยทางลัด คือไม่ใช่รวยจากการทำงานอ่ะ จะเป็นแบบถูกหวยแล้วรวย คือต้องการรวยให้เร็วที่สุด มันเลยเกิดละครที่แบบว่า ตัวละครเอกรวยแบบคุณชายจ๋า แล้วนางเอกจะประสบความสำเร็จด้วยการแต่งงานกับคนรวยคนนั้น (หัวเราะ) นั่นคือปัจจัยของละครไทย ไม่ค่อยมีประเภทที่ก้าวข้ามอุปสรรคอะไร อุปสรรคของนาง จะมีแค่นางร้ายมั้ง ตบแย่งผู้ชายที่รวยๆ คนหนึ่ง อะไรประมาณนั้น

• เราคิดยังไงกับการนำละครมาสร้างใหม่แบบครั้งแล้วครั้งเล่า

คงเป็นเพราะเรตติ้งมันดีในสมัยนั้น คือเรตติ้งดี คนก็กลับมาทำใหม่ ก็คิดว่าจะเรตติ้งดีเหมือนเดิมนั่นแหละ น่าจะความคิดประมาณนี้ คืออยู่ที่ว่าเขาจะสร้างให้เป็นยุคอะไร อย่างเช่น ละครเรื่องหนึ่ง เนื้อหาสมัยนั้นมันคือปัจจุบัน แต่เอามาทำใหม่ แล้วไม่เล่าเรื่องราวในสมัยนั้น แบบไม่ใช้ชุดหรือฉากในสมัยนั้น แต่มาใช้ฉากสมัยนี้ แต่ทุกอย่างมันล้าหลังหมดแล้ว คือความคิดก็ไม่ใช่แล้ว มันจะเป็นความคิดแบบสมัยรุ่นแม่ๆ ผู้หญิงเป็นรอง ผู้หญิงจะไม่ทำงาน จะรอเป็นแม่บ้าน ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายหาเลี้ยง มันจะเป็นความคิดในสมัยนั้น แต่สมัยนี้สังคมเปลี่ยนแล้ว ผู้หญิงทำงานมากขึ้น เป็นผู้นำมากขึ้น แต่ละครเอามาทำใหม่ มันก็ไม่ใช่ในยุคสมัยนี้แล้ว ยังไงมันก็เปลี่ยน

• อีกอย่างละครก็สะท้อนถึงผู้ชมด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ผู้ดูเลือก มันก็สะท้อนอยู่ คือเน้นการบันเทิงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจอะไร
เคยมีคนบอกว่า จริงๆ ละครไทยเป็นสิ่งที่ดูแล้วคลายเครียด อารมณ์คนกลับมาเหนื่อยๆ ก็ไม่อยากที่จะมาคิดอะไรแล้ว อยากดูอะไรที่เบาสมอง แต่ที่เราเป็นห่วงที่สุดในละครไทยก็คือการให้ข้อมูลนี่แหละค่ะ อย่างเมื่อก่อน การดูพิษงูแล้วใช้ปากดูดเลย คือจะทำให้เกิดความโรแมนติกไง เสียสละให้ แต่คือการเอามาฉายซ้ำๆ อีก โดยข้อมูลมันเปลี่ยนไปแล้ว

อย่างตอนนี้ถามว่า ถ้าถูกงูกัดทำยังไง หลายคนจะบอกเลยว่า ต้องขันชะเนาะ แต่ทางการแพทย์เขาบอกว่า ไม่ให้ทำแล้ว เพราะมันอันตราย เพราะว่ามีหลายคนที่ขันชะเนาะไม่เป็น ก็อย่างว่า การศึกษาไทยสอนครึ่งๆ กลางๆ ไม่เคยให้ลองทำไง แต่เขาต้องให้ดามเหมือนกระดูกหักน่ะ ให้มันขยับน้อยที่สุด แล้วพาไปโรงพยาบาล ซึ่งละครไทยไม่เคยถ่ายทอด แล้วมานั่งดูดพิษงูอยู่อย่างงั้น มันก็ไม่ให้อะไรกับสังคม แต่ถ้าคิดว่าจะตบกันเหมือนเดิมก็ตามใจ แต่เอาแค่ว่าอยากให้ใส่ใจกับฉากเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น มันน่าจะดีกว่า คือแฝงความรู้ซ้ำๆ เข้า ก็จะเกิดภาพจำไปเอง

• ถึงแม้ว่าในภาพรวมของละครทีวีไทย จะยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ แต่ก็ยังมีละครที่มีพล็อตใหม่ๆ อยู่บ้างนะ

ช่วง 2-3 ปีหลัง คิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เกิดขึ้น คือเริ่มมีพล็อตใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่ค่อยเยอะอยู่ เพราะถือว่าเป็นช่วงลองตลาด อย่างเรื่องสุดแค้นแสนรัก ถือว่ามันค่อนข้างใหม่สำหรับช่อง 3 เลย เพราะเป็นละครที่จะไม่มีใครเป็นตัวดีและร้าย ทุกคนมีทั้งข้อดีและเสียหมด เราคิดว่าน่าจะเรื่องแรกๆ เหมือนกัน หรืออย่าง “แอบรักออนไลน์” ก็เป็นพล็อตที่แบบเขียนขึ้นมาใหม่ต่อคนในสมัยนี้ที่คนเริ่มแชตมากขึ้นแล้วแบบไม่กล้าเปิดเผยตัวตน คือมีพล็อตใหม่ แต่ก็ยังมีน้อย แบบมี 100 เรื่อง ก็จะเกิดสัก 5 เรื่อง แต่คิดว่าถ้าคนเริ่มแสดงออกว่าชอบพล็อตใหม่ๆ มากขึ้น มันก็น่าจะมีความเปลี่ยนแปลง คนแสดงออกว่า เบื่อแล้วนะ ตบอยู่นั่นแหละ แต่บางทีตบกัน เรตติ้งมันก็ยังดีอยู่ ผู้จัดก็จะทำซ้ำอีก เพราะเรตติ้งดี ของตาย

• ถ้าสมมติว่าเรามีโอกาสได้สร้างละคร คิดว่าบทของเราจะเป็นยังไง

(นิ่งคิด) ก็คงสร้างแบบจิกๆ สังคมล่ะมั้ง เล่าเรื่องแบบเอาเรื่องจริงมาเล่า แล้วก็แฝงๆ ให้รู้สึกว่าเออว่ะ เออใช่ว่ะ เพราะนิสัยเราจะแบบเล่นอะไรแบบนี้อยู่แล้วด้วย ก็อาจจะให้ตัวเองเข้าถึงได้ คือถ้าจะทำอะไร ตัวเองควรจะรู้ก่อน อาจจะเล่าเรื่องมหา’ลัย เล่าแบบเด็กนิเทศศิลป์ วันๆ จะต้องเจออะไรบ้าง เจออาจารย์ที่ (หัวเราะ) จิกกัด วิจารณ์งาน หรือเพื่อนทำน้ำหกใส่งานแล้วกรี๊ดกรีดร้อง หรือบางทีเด็กศิลปากร ขึ้นรถเมล์แล้วแบบเกร็ง เราคิดว่าถ้าเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้อยู่แล้ว มันจะมีข้อมูลจริงๆ คือถ้ารู้สึกกับมัน คนอื่นก็จะรู้สึกกับมันด้วย หรือถ้าจะทำหนังพีเรียด ก็เก็บข้อมูลดีๆ ให้เรารู้เรื่องนั้นแล้วก็ทำ ไม่ใช่จินตนาการว่า เขาคงใส่แบบนี้มั้ง แล้วก็ทำ บางทีเราเจอชุดลิเก สีสะท้อนแสงมาเลยในยุคนั้น

• หากเปรียบเปรยคนดูว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่ง คิดว่าเขาจะเป็นลักษณะยังไง

มันจะมีตัวละครในเพจตัวหนึ่งที่ทำหน้าตาย เราคิดว่านั่นแหละคือสายตาของคนดู คนที่ดูละครในยุคปัจจุบัน คิดว่าเขามองละครด้วยสายตาแบบนั้นแหละ ว่าแบบ...อีกแล้วเหรอ (หัวเราะ) ประมาณนั้นค่ะ มันจะมีตัวละครนางเอกที่จะนั่งกรี๊ดกร๊าดร้องไห้ตลอดเวลา หรือพระเอกที่เก๊กๆ ตัวละครนั้นก็จะมองว่า อีกแล้วเหรอหล่อน อีกแล้วเหรอนาย ทำงี้ไม่ได้นะ คือมันสะท้อนว่าเป็นคนจริงๆ ที่เข้าไปอยู่ในละคร ประมาณว่าถ้าเกิดจริงๆ แล้ว ต้องทำอย่างงี้ต่างหากล่ะ จะเหมือนตัวละครที่คอยเตือนสติอีพวกนี้ทั้งหลาย ที่นั่งทำแบบนั้น มองโลกในแง่จริง





เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช

กำลังโหลดความคิดเห็น