xs
xsm
sm
md
lg

“ไกรศักดิ์” ซัดทุน-การเมืองผูกขาดพลังงาน ปลุกคนท้องถิ่นกำหนดชะตากรรมตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
“ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เผยประเทศไทยมีสามตระกูลธุรกิจการเมือง ผูกขาดพลังงานงานแดด ลม ตั้งคำถามวงเสวนากลางดึกที่ จ.กระบี่ “รัฐ” ทำไมไม่ปล่อยให้พลังงานที่สร้างสรรค์ พลังงานที่เป็นของท้องถิ่น ชื่นชมการต่อสู้ของภาคประชาชนอันดามัน เป็นมิติใหม่ของโลกที่หอการค้า สมาคมการท่องเที่ยว ชมรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมประมงพื้นบ้านอันดามัน ร่วมมือกำหนดชะตากรรมการพัฒนาของตนเอง



วงเสวนา “เซฟอันดามันไม่เอาถ่านหิน” ซึ่งจัดขึ้นที่สวนสาธารณะธารา จังหวัดกระบี่ โดยมีภาคธุรกิจการท่องเที่ยว กำนันผู้ใหญ่บ้านจากเกาะลันตา ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน ได้เข้าร่วมในการรณรงค์ว่า หากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นที่จังหวัดกระบี่ หรือแม้แต่ที่ฝั่งอันดามันจังหวัดอื่น จะสร้างผลกระทบไปทั่วทั้งภาคใต้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัจจุบันนี้ จังหวัดทางภาคใต้เกือบทั้งหมด เป็นเมืองท่องเที่ยว สร้างรายได้นับแสนล้านบาท เมื่อ เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทาง ก็จะไม่กลับมาเที่ยวอีก เพราะรู้กันดีว่าจะ ก่อให้เกิดมลพิษหมุนวนตามกระแสลมทะเลจำนวนมาก รวมถึงระบบนิเวศน์ใต้น้ำ และวิถีชีวิตชาวประมงอีกด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวนั่งเครื่องบินผ่านปล่องควันของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่เคยเป็นเมืองท่องเที่ยว ธรรมชาติยังบริสุทธิ์ ความสกปรกของพลังงานถ่านหินจะทำลายรากฐานความเป็นกระบี่ไปจนหมดสิ้น

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิชาการนักการเมืองที่ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม พูดในวงเสวนาว่า ประเทศนี้มีเรื่องน่าเศร้าใจไม่น้อย ที่ทุนพลังงานขนาดใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลทางการเงินมาก เข้ามากำหนดมีอิทธิพลเหนือชีวิตชะตากรรมการพัฒนาของคนในท้องถิ่นอย่างไม่มีเหตุมีผล ทั้งๆ ที่จังหวัดกระบี่มีโรงงานปาล์มน้ำมันมาก มีวัสดุชีวมวลที่มาจากพืชหมุนเวียน สิ่งเหล่านี้เหลือเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าเลี้ยงคนเกินสามสี่จังหวัดในภาคใต้ ไม่เฉพาะเพียงพอต่อความต้องการใช้ในกระบี่เท่านั้น แต่ทำไมคนกระบี่ไม่สามารถกำหนดทิศทางตรงนี้ได้ ทุนขนาดใหญ่อย่างรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ปตท. เขามีอิทธิพลเหนือชะตากรรมของคนในท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

นายไกรศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่คนฝั่งอันดามันทั้ง 3 - 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาร่วมคัดค้านเท่านั้น แต่เป็นที่เดียวในโลก ที่มีหอการค้านักธุรกิจ สมาคมท่องเที่ยว กำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมประมงพื้นบ้าน ถือว่ามีกลุ่มคนครบทุกภาคส่วนร่วมคัดค้าน และพูดถึงการกำหนดชะตากรรมการพัฒนาของคนในท้องถิ่นกันเอง ไม่ให้ถูกทำลายจากการความโลภของกลุ่มทุนพลังงาน ที่มีอิทธิพลครอบงำรัฐ ขณะเดียวกันประเทศนี้ มีเรื่องน่าเศร้าใจ เรามีนักนักธุรกิจการเมืองผูกขาดพลังงานลม ผูกขาดแม้กระทั้งแสงแดด

ติดตามรายละเอียดได้ที่ช่อง NEWS1 รายการสภากาแฟ 14.30 น. วันศุกร์ที่ 12 มิ.ย. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น