xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตสุรพงษ์”เตือนระวังสหรัฐฯ อ้างช่วยโรฮีนจา ใช้ฐานบินในไทยสอดแนมเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ กับกิตติชัย ไพโรจน์ไชยกุล ผู้ดำเนินรายการเจาะข่าววงใน ทางช่อง NEWS1
อดีตเอกอัครราชทูต สุรพงษ์ ชัยนาม ชี้สหรัฐตั้งฐานการบินที่อู่ตะเภา อาจก่อปัญหาความมั่นคงกระทบต่อประเทศที่มีปัญหากับสหรัฐ เน้นให้รัฐบาลต้องระมัดระวัง ทำข้อตกลงอนุญาตให้ฐานการบินไทย ต้องระบุประเภทเครื่องบิน กรอบเวลาและภารกิจเฉพาะกิจช่วยโรฮีนจาให้ชัดเจน ป้องกันการบินสอดแนม

นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ให้สัมภารณ์รายการ"เจาะข่าววงใน"ช่อง NEWS1 กรณีสหรัฐอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานการบินที่อู่ตะเภาและภูเก็ต ลาดตระเวนสำรวจเรือโรฮีนจาว่า ฐานการบินถือเป็นอธิปไตยของประเทศไทย จำเป็นต้องระมัดระวังในแง่ที่ว่าการสำรวจนี้จะยืดยาวนาน จะต้องมีข้อตกลงว่าด้วยภารกิจเฉพาะกิจ กรอบเวลา และประเภทเครื่องบินที่จะใช้ลาดตระเวนสำรวจอย่างชัดเจน และถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการช่วยโรฮีนจาหรือผู้ย้ายถิ่นฐานผิดปกติ ห้ามใช้ฐานทัพนี้โดยที่ไทยไม่ได้อนุญาต เพราะเครื่องบินสหรัฐมีแนวโน้มจะใช้เครื่องบินออกนอกภารกิจสำรวจเรือโรฮีนจาได้ เช่น สอดแนมอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหากับสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศนั้นๆ ทำให้ประเทศไทยเสียหายเนื่องจากเป็น สหรัฐนำเครื่องบินขึ้นลงจากฐานทัพของไทย

“ ผมคิดว่าเราต้องระมัดระวังมากๆ ในแง่ที่ว่ามันจะเป็นการสำรวจที่ยืดยาวนาน ภารกิจที่ต้องใช้ฐานบินซึ่งเป็นอธิปไตยของไทย สหรัฐจะต้องบอกรายละเอียดว่าจะทำภารกิจอะไร ในกรอบเวลาเท่าไหร่ และฝ่ายไทยต้องอนุญาตกรอบเวลาว่าเครื่องบินจะขึ้นจะลงได้เมื่อไร ต้องชัดเจน ไม่ใช่ว่าอนุญาตแล้ว คุณจะบินไปไหนเมื่อไรก็ได้ หรือไม่ต้องบอกว่าใช้เครื่องบินประเภทอะไร เช่นสำรวจเรือผู้ย้ายถิ่นฐานผิดปกติ แต่คุณเล่นใช้เครื่องบินเอฟ 16 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบ หรือใช้เครื่องบินใหญ่ทันสมัย วี 52 ที่ใช้สอดแนมอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหากับสหรัฐ อันนี้ไม่ใช่ภารกิจสำรวจเรือโรฮีนจา”

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ชัยนาม ยังให้ความเห็นหลังการประชุมว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียของ 20 ประเทศวันที่ 29 พ.ค.ว่า ส่วนใหญ่พูดเรื่องหลักการทั้งนั้น แต่ครั้งหน้าควรทำหลักการให้เป็นรูปธรรม และเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ตั้งฐานลอยน้ำ ไม่ตั้งค่ายพักพิงผู้อพยพชั่วคราวที่กลายเป็นค่ายถาวร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีประสบการณ์ค่ายผู้อพยพมากที่สุดและยาวนานกว่า 30 ปี

นายสุรพงษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยควรสร้างปัจจัยผลักดัน คือ 1. จัดประชุมที่แสดงว่าไทยรับไม่ได้ 2. เปิดโปงความชั่วร้ายของประเทศที่มือถือสากปากถือศีล ไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองเทศน์ เช่นสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ชาวเม็กซิโกเข้า ขณะที่อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส ไม่ให้เรือขึ้นฝั่ง เรือล่ม คนตายหลายร้อย แต่ไม่มีใครว่า ถือปฏิบัติสองมาตรฐาน 3.ต้องแก้ที่รากเหง้าปัญหาโรฮีนจาเกิดจากนโยบายรัฐบาลพม่าที่ 40 ปีไม่เคยแก้ปัญหาความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยได้ เน้นปราบปรามไม่เจรจา และต้องบอกพม่าซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศอาเซียน อย่าเอาปัญหานี้มาเป็นปัญหาอาเซียน ให้อาเซียนเป็นทนายแก้ต่าง ซึ่งพม่ายึดยุทธศาสตร์นี้มาตลอด

“ผมมีประสบการณ์กว่า 30 ปีทำเรื่องนี้มา มีปัญหานี้เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเรื่องแรงงานทาส ยาเสพติด ปราบปรามจนอพยพ พม่านิ่งเฉยและบอกว่าถ้าคุณไม่อยากให้อาเซียนเสียชื่อเสียง คุณต้องมาช่วยผม เอาปัญหาพม่าเป็นปัญหาอาเซียน (ASEANIZED) พม่ายึดยุทธศาสตร์นี้มาตลอด ถ้าเราไม่รับเป็นปัญหาอาเซียน พม่าก็บอกว่าอย่ายุ่งเพราะเป็นปัญหาของเขา แต่เราจะยอมรับถ้าชนกลุ่มน้อยไม่อพยพทะลักมาไทย ทุกวันนี้ยาเสพติดทะลักมาไทย มาจากไหนล่ะ ทะลักมาจากการปราบปรามชนส่วนน้อย เราได้รับผลกระทบแล้วบอกว่าอย่ามายุ่งกับผม ถ้าบ้านพม่าไฟไหม้ เราไม่ไปดับ มันก็ไหม้บ้านเราด้วย ดังนั้นเราเห็นปัญหาคุณ คุณต้องแก้ เราก็ยินดีช่วย ให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ให้หมอให้ยา การที่เราช่วยดับไฟในพม่า เท่ากับช่วยประเทศไทยด้วย”

นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ไม่ควรคิดว่าเป็นคลื่นกระทบฝั่ง รัฐบาลขณะนี้ทำถูกต้องแล้ว แต่ไม่ควรหยุด หรือแค่สร้างภาพเท่านั้น นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีทิศทางการพูดแบบเดียวกัน เพื่อไม่เปิดโอกาสให้คนไม่หวังดีตอกลิ่มแตกแยก

หมายเหตุ - ติดตามสัมภาษณ์พิเศษ “สุรพงษ์ ชัยนาม”อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ในประเด็นมองอาเซียนกับปัญหาโรฮีนจา ได้ในรายการเจาะข่าววงใน ทางช่อง NEWS1 วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2558 เวลา 21.00-22.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น