xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ จี้ “ไทย” เร่งตรวจสอบกรณีหลุมฝังศพหมู่ชาวโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องวานนี้ (4 พ.ค.) ให้ไทยเร่งดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม กรณีพบหลุมฝังศพหมู่บนภูเขาสูงใน จ.สงขลา ที่เชื่อว่าศพหลายสิบร่างที่พบน่าจะเป็นของผู้อพยพชาวโรฮิงญา

เมื่อช่วงวันศุกร์และเสาร์ (1-2 พ.ค.) ตำรวจและอาสาสมัครได้ช่วยกันนำศพ 26 ร่างขึ้นมาจากหลุมฝังซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่พบค่ายชาวโรฮิงญาซ่อนตัวอยู่กลางป่าลึกบนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ม.8 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย โดยผู้คนในค่ายเกือบ 400 คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาจากพม่า และบังกลาเทศ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ได้ติดต่อประสานกับรัฐบาลไทย องค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เกี่ยวกับการค้นพบหลุมศพดังกล่าวซึ่งเข้าใจว่าทางการไทยเองก็กำลังเร่งตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับค่ายผู้อพยพโรฮิงญาในที่อื่นๆ อย่างจริงจัง

“เราสนับสนุนให้ไทยดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็ว... ขอให้รัฐบาลไทยตรวจสอบการตายของบุคคลเหล่านี้ รวมไปถึงค่ายผู้อพยพ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้”

เมื่อวานนี้ (4) ตำรวจได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหา 8 คนในข้อหาค้ามนุษย์ หน่วงเหนี่ยวกักขัง และเรียกค่าไถ่ โดยในจำนวนนี้จับได้แล้ว 4 คน คือ นายอ่าสัน หรือบังสัน อินทธนู อายุ 42 ปี สมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ นายร่อเอน สนยาแหละ อายุ 41 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ ทั้ง 2 คนทำหน้าที่จัดหาเสบียง นายอาหลี ล่าเม๊าะ อายุ 47 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ ทำหน้าที่ควบคุมแคมป์ และนายซอ เนียง อานู หรืออันวา อายุ 40 ปี ชาวพม่า ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ จ.นครศรีธรรมราช

การค้นพบค่ายชาวโรฮิงญาและจับกุมผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้จะช่วยสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์ที่นักเคลื่อนไหวและเจ้าหน้าที่ไทยบางคนยอมรับว่ากระทำกันอย่างเฟื่องฟูมานานหลายปี เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉย หรือไม่ก็สมรู้ร่วมคิดด้วยเสียเอง

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เวลานี้ยังสรุปไม่ได้ว่ามีคนของทางการไทยเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของค่ายชาวโรฮิงญาหรือไม่ แต่สหรัฐฯ เคยมีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่พัวพันการค้ามนุษย์มาแล้วในอดีต

เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลดอันดับไทยสู่ขั้นที่ 3 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศที่พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เทียบเท่าเกาหลีเหนือ ซีเรีย และอุซเบกิสถาน

รายงานผลสำรวจปัญหาการค้ามนุษย์ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ จะประกาศออกมาในเดือนมิถุนายนนี้ แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังไม่ยอมเปิดเผยว่าไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มใด



กำลังโหลดความคิดเห็น