xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแทน ปชช. 5 จังหวัด ร้องสื่อ ชาวบ้านป่วยตายจากเหมืองแร่ทองคำ ถูกยึดสิทธิทำกินเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตัวแทนภาคประชาชน 5 จังหวัด ร้องสื่อ ชาวบ้านป่วยเป็นมะเร็งจากการสูดดมโลหะหนักจากการทำเหมืองแร่ทองคำ หน่วยงานรัฐเอื้อผลประโยชน์กลุ่มนายทุน ไม่คำนึงผลกระทบที่ได้รับ จ.พิจิตร ปลูกข้าวเองไม่กล้ากินยังต้องส่งขายพื้นที่อื่น ร้องภาครัฐก็เตะถ่วง ใช้กฎหมายปล้นสิทธิชาวบ้านเอื้อนายทุน



วันนี้ (27 พ.ค.) ที่บ้านเจ้าพระยา ตัวแทนภาคประชาชน 5 จังหวัด ได่แก่ สระบุรี ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูณ์ เดินทางเข้าร้องสื่อในเครือ ASTVผู้จัดการ จากกรณี ชาวบ้านในหลายจังหวัดได้รับความเจ็บป่วย จากสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารพิษ หลังจากที่บริษัท อัคราไมนิ่ง หรือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เปิดดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำและพบหลักฐานว่าบริษัทดังกล่าว ได้ปล่อยสารปนเปื้อนในดินไหลลงสู่คลองในช่วงหน้าฝน ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ประกอบด้วย พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดการเจ็บป่วยและเป็นมะเร็งจากโลหะหนัก

นายณัฐพงษ์ แก้วนวล ตัวแทนภาคประชาชน ระบุถึงสาเหตุที่เดินทางมาขอให้สื่อช่วยกระจายข่าวผลกระทบดังกล่าวนี้ เนื่องจากชาวบ้านในจังหวัดพิจิตร และ เพชรบูรณ์ ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด เพราะในมรณบัตรยังระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิตของชาวบ้านรอบเหมืองแร่ ส่วนใหญ่มีสารโลหะหนัก แถมสารโลหะหนักยังปนเปื้อนอยู่ในอากาศไม่สามารถทำการเกษตรได้ ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบพร้อม หรือยังที่จะพิสูจน์ถึงเรื่องราวเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ย่ำแย่แล้ว ถ้าในอนาคตนโยบายแร่เปิดครอบคลุม 31 จังหวัด ครอบคลุมหลายๆ ล้านไร่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมาอนุมัติในรัฐบาลนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ชาวบ้านป่วยเป็นโรคมะเร็งและตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกาย ตอนนี้มีหน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาเยี่ยวยา หรือช่วยเหลือบ้างตรงนี้ นายณัฐพงษ์บอกว่า มีกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงสาธารณสุข พึ่งลงวันนี้ ขณะที่เมื่อก่อนเหมืองทำมา 15 ปี แต่วันนี้พึ่งจะมีการเข้ามาดูแล ขณะที่วันที่ 28 - 29 พ.ค. ที่จะถึงนี้ กรมควบคุมสิ่งแวดล้อม มีโครงการที่จะเอาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ส่วนของพิจิตร และ พิษณุโลก เข้าไปอบรมในหัวข้อ ปรับจิต อสม. ให้อยู่กับเหมืองแร่ได้ เพื่อที่จะทำเหมือนว่าชาวบ้านอยู่กับเหมืองแร่ได้

ที่จริงแล้วต้องมีกระบวนการสอบถามความคิดเห็นชาวบ้านและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ก่อน ณ วันนี้โรงงานถูกสร้างเสร็จด้วยงบประมาณ 4 พันกว่าล้าน แล้วค่อยมารับฟังความคิดเห็น แล้วก็จ้างมหาวิทยาลัยมารับฟังความคิดเห็นทีหลัง ขณะที่โรงประกอบการได้สร้างเสร็จแล้วพร้อมจะเดินเครื่อง 1 - 2 อาทิตย์ข้างหน้า ทางพี่น้องชาวพิจิตรได้ยื่นฟ้องโรงงานก็ปิดจริงแต่เบี้ยปรับน้อยมาก 2 - 3 แสนบาท พอมาถึงวันนี้โรงงานเดินเต็มสูบทั้งวันทั้งคืน ชาวบ้านหลับไม่ลง เสียงเครื่องจักร ฝุ่นละออง มลพิษ เยอะมาก การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คิดว่าจะจบตั้งแต่แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันทน์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ลงมาตรวจสอบแล้ว ผลตรวจนั้นน่าจะเป็นที่น่าเชื่อถือของคนทั้งประเทศแต่วันนี้กลับโยนไปหน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้คล้ายประวิงเวลาไปเรื่อยๆ ชาวบ้านก็ต้องตามเรื่องไปทุกๆ ที่ ไม่มีที่สิ้นสุดซักที ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามดึงเวลาออกไปชาวบ้านก็วิ่งตามเรื่องต่อไป นายณัฐพงษ์ กล่าว

ด้าน นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ตัวแทนจากจังหวัดสระบุรี ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่นายทุนเข้าไปสำรวจเหมืองแร่ มีการเอากฎหมายป่าไม้เข้าไปดำเนินการกับชาวบ้าน พยายามใช้กฎหมายเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไปดำเนินการกับชาวบ้านทั้งที่ที่ดินไม่มีสัตว์ป่า ขณะที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จะเอาพื้นที่คืนในกรณีที่ประชาชนไม่ทำกิน ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นแร่และหินมันขายชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกพืชไม่ได้ การไม่ทำกินก็ผิดกฏหมาย สปก.อีก กำลังถูกป่าไม้ดำเนินการเอาพื้นที่คืนแปลว่าทั้งกฏหมายป่าไม้และกฎหมาย ส.ป.ก. กำลังเดินทางเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ชาวบ้านขาดสิทธิ แต่นายทุนเข้าสำรวจแร่ไปแล้ว มองว่า พ.ร.บ.แร่ มาตรา 6 จัตวา บัญญัติชัดเจนว่า ตรงใดมีแร่ตรงนั้นต้องถูกกำหนดเป็นแหล่งแร่ ซึ่งผู้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือรัฐมนตรี ขณะที่รัฐมนตรีท่านนี้ลาออกจากบริษัทเหมืองทองคำมาเพียง 3 วัน ก่อนมานั่งเก้าอี้ ขั้นตอนทั้งหมดมีการทำเป็นขั้นเป็นตอนทำเป็นแบบขั้นบันได 1 คือ สำรวจและยึดครองพื้นที่ 2 ใช้กฎหมายมาดำเนินการกับประชาชน ขั้นต่อมาคือคนของเหมืองขึ้นมานั่งรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็มีการเสนอแก้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ เราจึงต้องค้าน พ.ร.บ.แร่ ไว้

เราจึงพยายามสะท้อนให้เห็นถึงประชาชนกำลังถูกปล้นสิทธิ ต่อมาทาง ส.ป.ก. บอกกับเราว่าไม่อยากเอากฎหมาย ส.ป.ก. ไปขวางกฏหมายอื่น ส.ป.ก. กำลังจะบอกว่ากำลังจะมอบที่ดินให้ทำเหมืองได้เพราะการทำเหมืองพฒนาประเทศได้ ป่าไม้ก็เมื่อนายทุนขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างถูกต้องป่าไม้ก็อนุญาตให้ทำเหมืองแร่ได้ การทำเหมืองไม่ได้สร้างประโยชน์เหมือนเขื่อนขณะที่การทำเหมืองเป็นสิทธิของนายทุนเพียงกลุ่มเดียว การทำเหมืองไม่มีการฟื้นฟู มันเต็มไปด้วยสารพิษ ชาวบ้านพิจิตรปลูกข้าวไม่กล้ากินเองต้องส่งไปขายยังจังหวัดอื่นแปลว่าสารพิษที่ตรวจเจอ ไซยาไนด์ สารหนู แมงกานีส มันไร้การควบคุม ไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง ประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมากยังไม่ได้รับการแก้ไขทุกอย่างกำลังถูกกลบพลางไว้ นางวันเพ็ญ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น